พิธีตักบาตรตอนเช้า เนื่องในวันมาฆบูชา เหตุที่พุทธศาสนิกชนถือว่า "วันมาฆบูชา" เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะมีเหตุการณ์พิเศษที่มาบรรจบกัน ๔ ประการ หรือที่เรารู้จักกันดีว่า "จาตุรงคสันนิบาต" อันเป็นประดุจการปฐมนิเทศในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่โลกต้องจารึก เพราะเป็นการประชุมของผู้บริสุทธิ์ล้วน ๆ และเป็นครั้งแรกที่มีการประชุมเพื่อรับฟังทิศทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จุดโคมมาฆประทีปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในวันมาฆบูชา เหตุอัศจรรย์ในวันมาฆบูชา ๔ ประการ คือ ๑. เป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ ดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันเพ็ญเดือน ๓ ) , ๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมโดยมิได้นัดหมาย, ๓. ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ผู้ทรงอภิญญา, ๔. พระภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ที่ได้รับการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ซึ่งพระบรมศาสดาทรงประทานการบวชให้

มีใครบ้างมาเข้าร่วมประชุม พระอรหันต์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ที่เข้าร่วมสันนิบาตในครั้งนี้ แบ่งเป็น ๒ กลุ่มด้วยกัน คือ

กลุ่มที่ ๑ คณะพระภิกษุอดีตชฏิล ๓ พี่น้อง มีท่านอุรุเวลกัสสปะเป็นหัวหน้า และบริวารทั้งหมด ๑,๐๐๐ รูป

กลุ่มที่ ๒ คณะที่เป็นบริวารของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ มีจำนวน ๒๕๐ รูป

การที่มีพระภิกษุจำนวนถึง ๑,๒๕๐ รูปมาเป็นองค์ประชุมสันนิบาตในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการปักหลักพระพุทธศาสนา โดยเริ่มจากแคว้นมคธ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ เพราะเป็นแคว้นใหญ่ที่สุดในอินเดียสมัยก่อน เป็นแหล่งรวมความเจริญในทุกด้าน และมีเจ้าลัทธิต่างๆ แข่งขันกันเรียกความศรัทธา ความเชื่อ จากประชาชนอยู่มากมาย การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงต้องทำอย่างเต็มที่โดยอาศัยกำลังจากภิกษุผู้เป็นคนท้องถิ่นของแคว้นนี้เป็นหลักก่อน ซึ่งภิกษุทั้ง ๒ คณะนี้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม คือแรกเริ่มเดิมทีก็เคยเป็นนักบวชอาศัยในเมืองนี้อยู่แล้ว การแนะนำสั่งสอนพระสัทธรรมอันบริสุทะิ์แก่ชาวชมพูทวีปจึงเป็นไปได้ง่าย การมาชุมนุมกันของพระอรหันตสาวกในครั้งนี้นั้น ถือว่าเป็นมหาสาวกสันนิบาตที่ต้องเร่งทำให้เร็วที่สุด คล้ายๆ จะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในพระทัยของพระพุทธองค์มาตั้งแต่ครั้งยังทรงเริ่มประกาศปฐมเทศนา เพียงแต่กำลังทรงรอคอยบุคคลผู้หนึ่ง ผู้ที่จะมาเติมเต็มความสมบูรณ์ของกองทัพธรรมอยู่ นั่นก็คือ พระสารีบุตร ซึ่งเมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ถือได้ว่าพระธรรมเสนาบดีได้บังเกิดขึ้น ดุจขุนพลแก้วบังเกิดแล้วแก่พระเจ้าจักรพรรดิ โดยท่านจะมาเป็นหัวเรือใหญ่รับสนองนดยบายภารกิจนี้โดยตรง เมื่อการรอคอยของพุทธองค์บรรลุผล จึงทรงทำการประชุมสาวกสันนิบาตทันทีในวันเดียวกันนั้นเอง โดยไม่มีการนัดหมายล่วงหน้า เพราะทรงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่กองทัพธรรมจะต้องเร่งรุดขยายให้ได้กว้างไกลที่สุด ฉะนั้นจำต้องมียุทธศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงได้ทรงประทาน "โอวาทปาฏิโมกข์" เพื่อไว้ใช้เป็นแม่บทในการประกาศพระศาสนา

ชาวต่างชาติร่วมกันจุดโคมมาฆประทีป การประชุมมหาสาวกสันนิบาตนั้น ในยุคของพระพุทธเจ้าบางพระองค์ มีการประชุมมากกว่า ๑ ครั้ง ดังเช่น ในสมัยของพระปทุมุตตรพุทธเจ้าได้ทรงประชุมสาวกสันนิบาตถึง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีพระอรหันตสาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ครั้งที่ ๒ มีจำนวน ๙๐,๐๐๐ โกฏิ ครั้งที่ ๓ มีจำนวน ๘๐,๐๐๐ โกฏิ แต่ละครั้งก็จะทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งมีเนื้อหาสาระเหมือนที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงประทานเอาไว้ทุกอย่าง

สาระสำคัญของโอวาทปาฏิโมกข์ โอวาทปาฏิโมกข์ชื่อว่าเป็นแม่บทในการเผยแผ่คำสอนพุทธศาสนา เป็นการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคำสอนที่ส่งเสริมให้มนุษย์มีความรักที่แท้จริงต่อกัน โอวาทปาฏิโมกข์แบ่งโครงสร้างออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ คือ อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ ดังนี้ ส่วนหนึ่งของกิจกรรมวันมาฆบูชา

อุดมการณ์ คือ เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิต มี ๓ ประการ ได้แก่

๑. ความอดทน คือ ทนต่อความยากลำบากทุกอย่างเพื่อจะได้เป็นตบะคอยเผาผลาญกิเลสให้หลุดร่อนจากใจ ทนได้ก็ไปนิพพานได้ (ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา)

๒. นิพพาน คือ เป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติทั้งหมด (นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา)

๓. ไม่เบียดเบียนกัน คือ การเลิกก่อเวรเบียดเบียนทำร้ายทางกายและจิตใจ อยู่อย่างสงบเหมือนสมณะ จึงจะสามารถทำใจให้หยุดนิ่งได้ง่าย (น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเห ฐยนฺโต)

จุดโคมบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันมาฆบูชา

หลักการ คือ หลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องมี ๓ ประการ ได้แก่

๑. ไม่ทำบาปทุกชนิด จะบาปมากหรือบาปน้อยก็ไม่ทำ เพราะมีกฏแห่งกรรมคอยบังคับอยู่ ต้องศึกษาจากท่านผู้รู้ว่าสิ่งใดควรทำ หรือไม่ควรทำ บาปแม้เพียงน้อยนิดไม่คิดทำ (สพฺพปาปสฺส อกรณํ)

๒. ทำความดีให้ถึงพร้อม ความดีอะไรที่มีอยู่ในโลกนี้ ถ้ามีโอกาสต้องทำให้เต็มที่ บุญแม้น้อยนิดก็ต้องคิดทำ ไม่ว่าคนอื่นจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม (กุสลสฺสูปสมฺปทา)

๓. กลั่นจิตของตนให้ใส โดยหมั่นนั่งสมาธิ(Meditation)ทุกวันไม่ให้ขาด เมื่อใจใสมากแล้ว พระนิพพานก็ไม่ไกลเกินจะไปถึง เพราะสมาธิก็คือใจที่ตั้งมั่นที่เป็นกุศล (สจิตฺตปริโยทปนํ)

โคมเอก ที่ใช้จุดในวันมาฆบูชา

วิธีการ คือ แนวทางปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนามี ๖ ประการ คือ

๑. ไม่ไปว่าร้ายกัน ผู้เผยแผ่คำสอนจะต้องไม่โจมตี ไม่นินทาใคร (อนูปวาโท)

๒. ไม่ไปล้างผลาญกัน ไม่เผยแผ่ศาสนาด้วยการฆ่า และต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน (อนูปฆาโต)

๓. สำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่ได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่ทรงอนุญาต (ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร)

๔. ต้องรู้จักประมาณในการกิน การใช้เครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่าง (มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสมึ)

๕. เลือกที่นั่งที่นอนในที่สงบ เพื่อให้ตนเองมีโอกาสในการบำเพ็ญเพียรเต็มที่ (ปนฺตญฺจ สยนาสนํ)

๖. ประกอบความเพียรในการทำใจหยุดนิ่งอยู่เสมอ มุ่งทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลส (อธิจิตฺ เต จ อาโยโค)

พุทธศาสนิกชนมาร่วมพิธีในวันมาฆบูชา

 

กิจกรรมเวียนเทียนเพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย โดยใช้เทียนธูปและดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชา ถือไว้ในมือแล้วเดินเวียน ๓ รอบ ขณะที่เดินรอบนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบท "อิติปิโส" ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน จนกว่าจะเวียนจบ ๓ รอบ

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 07 •มีนาคม• 2012 เวลา 22:04 น.• )