ประเพณีตักบาตรเทโว เป็นคำย่อมาจาก "เทโวโรหณะ" หมายถึง การเสด็จลงจากเทวโลกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามตำนานเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว

ได้เสด็จไปประกาศพระศาสนาในแคว้นทั่วชมพูทวีป เริ่มตั้งแต่เมืองราชคฤท์, พาราณสี, เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นราชปิตุภูมิของพระองค์ทรงเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ, พระพุทธบิดา, พระนางมหาปชาบดีโคตมี, พระนางยโสธราพิมพา และราหุลราชกุมาร ตลอดถึงพระประยูรญาติทั้งหลาย ให้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยของตนแล้วพระองค์ทรงรำลึกถึงพระนางสิริมหามายา ซึ่งได้สิ้นพระชนม์หลังจากพระองค์ประสูติได้ 7 วัน ทรงดำริที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา ซึ่งมีพระคุณมากมายยิ่งนัก จะหาอะไรเปรียบปานมิได้ทรงวินิจฉัยโดยรอบคอบแล้ว เห็นว่ามีสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา เป็นการใช้หนี้ค่าน้ำนมให้คู่ควรกันได้ นั่นคือ พระอภิธรรม ฉะนั้นในพรรษาที่ 7 นับแต่ปีที่ตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 

เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่หนึ่งพรรษา ครั้นออกพรรษาแล้ววันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธเจ้าจึงเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะ มีประชาชนไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่นด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงถือว่า วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเทวโลกลงมาสู่เมืองมนุษย์ จึงนิยมตักบาตรกันเป็นพิเศษ เป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกว่า "ตักบาตรเทโว"การตักบาตรเทโวนี้ เป็นประเพณีใหม่ที่เข้ามาในล้านนาไทย เริ่มตั้งแต่พุทธศักราช 2500 เป็นต้นมา พระสงฆ์และประชาชนได้ลัทธิประเพณีมาจากไทยภาคกลาง นำมาจัดทำกันในล้านนา ที่จัดประเพณีอย่างยิ่งใหญ่ มีผู้คนมาร่วมงานกันมาก นิมนต์พระสงฆ์เป็นจำนวนถึง 500 รูป มารับบิณฑบาต คือ ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นที่วัดฝายหินทุกปีในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ใต้ คือ เดือนเกี๋ยง แรม 1 ค่ำ ของล้านนาไทยการจัดงานตักบาตรเทโวโรหณะ ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับวัดฝายหิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 มีประวัติที่น่าสนใจและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คุณธรรมและวัฒนธรรมหลายด้าน ดังต่อไปนี้

1. เป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์หลักฐานในพระไตรปิฎก ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี กล่าวคือ สถานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 คือ วันออกพรรษาและวันตักบาตรเทโวโรหณะ หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาในเทวโลกนั้น ยังมีหลักฐานปรากฎที่สังกัสสะนคร ประเทศอินเดีย และสถานที่ทรงแสดงยมกปาฏิหารย์ก่อนเสด็จขึ้นไปยังดาวดึงส์ ก็มีหลักฐานชัดเจนที่เขตกรุงสาวัตถี อินเดีย การจัดประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะจึงเป็นการฟื้นฟู และอนุรักษ์วันที่พระพุทธองค์ เสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลก


2. เป็นการส่งเสริมสามัคคีธรรม คือ การทำบุญร่วมกันระหว่างคณาจารย์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับประชาชนทั่วไป

3. ก่อให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปไม้สักแกะสลัก คือ พระพุทธเทโวโรหณะศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุอันล้ำค่า และมีคุณค่าทางศิลปกรรมยิ่งนัก เนื่องจากสร้างจากไม้สักทั้งต้น และลงรักปิดทองเหลืองอร่าม ตั้งแต่พระเมาลีจนถึงพระแท่นบัวคว่ำบัวหงาย ตลอดจนพระหัตถ์และบาตรเป็นไม้สักท่อนเดียวกัน เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร โดยจำลองพระพักตร์จากพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย  อาจารย์พีระพงษ์ ดวงแก้ว ซึ่งจบการศึกษาทางประติมากรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ถวายการแกะสลัก และพระศรีธรรมบัณฑิต อดีตเจ้าอาวาสวัดฝายหินเป็นผู้ถวายพระนาม พระครูศิริธรรมจารี อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโสดา เป็นผู้ถวายนิลจากพม่าเพื่อเป็นพระเนตร เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระวิหารวัดฝายหิน

4. ก่อให้เกิดการเผยแพร่เกียรติคุณของวัดฝายหิน วัดประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้ วัดฝายหินเป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นวัดที่มีชื่อเสียง
เคร่งครัดในทางวิปัสสนาธุระ และการที่เป็นวัดประจำมหาวิทยาลัย ก็เป็นเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์น่าภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

5. ก่อให้เกิดการเผยแพร่เกียรติคุณของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยิ่งขึ้น จำนวนศรัทธาสาธุชน
ผู้มีใจบุญมาร่วมทำบุญใส่บาตรนับหมื่นนับแสน เป็นประจักษ์พยานว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนใจที่จะอนุรักษ์และเผยแพร่ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ


•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 24 •ตุลาคม• 2010 เวลา 11:28 น.• )