ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในเขตแอ่งลอง – วังชิ้น การที่เราจะเข้าใจแนวความคิดและการประพฤติปฏิบัติของคนๆ หนึ่ง เราต้องศึกษาภูมิหลังของคนๆ นั้นให้แจ่มแจ้ง จึงจะสามารถเข้าใจแนวความคิดและการปฏิบัติของคนๆ นั้นได้อย่างถ่องแท้ เช่นเดียวกับการจะศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของสถานที่ใด เราก็ต้องทำความเข้าใจถึงลักษณะพื้นที่และการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในที่ที่เราจะศึกษา เพราะว่ามนุษย์เป็นผู้ที่ทำให้เกิดประวัติศาสตร์ ดังรายงานลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในเขตแอ่งลอง – วังชิ้นฉบับนี้ก็เช่นกัน เป็นการทำความเข้าใจพื้นฐานของลักษณะกายภาพและการตั้งถิ่นฐานของผู้คน เพื่อที่จะเป็นฐานในการเข้าใจเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่จะทำการศึกษาต่อไปในภายภาคหน้าต่อไป

การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เป็นกิจกรรมที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยการพยายามดัดแปลงสิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบให้มีความเหมาะสม หรืออำนวยให้มนุษย์ดำรงชีพอยู่ได้ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ย่อมต้องมีความสัมพันธ์กับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ เพราะลักษณะทางกายภาพของพื้นที่บางบริเวณให้ความได้เปรียบแก่การตั้งถิ่นฐาน จนพัฒนาจากชุมชนขนาดเล็กให้เป็นเมืองที่มีความซับซ้อนขึ้น แต่ในทางกลับกันบางบริเวณสภาพแวดล้อมทางกายภาพก็มีความรุนแรงจนยากที่จะเข้าไปตั้งถิ่นฐาน หรือตั้งถิ่นฐานได้อย่างจำกัด

แอ่งลอง – วังชิ้นเป็นที่ราบลุ่มยาวแต่แคบ ตามแนวเหนือ - ใต้ มีส่วนที่ราบกว้างที่สุดอยู่บริเวณตอนกลางของแอ่ง มีภูเขาสูงล้อมรอบจึงทำให้มีพื้นที่ราบเป็นแนวยาวต่อเนื่องตั้งแต่ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง ไปจนถึงตำบลสรอย อำเภอวังชิ้นปัจจุบัน ถูกขนาบข้างด้วยที่ราบขนาดใหญ่กว่าคือด้านตะวันตกเป็นที่ราบลำปาง ด้านตะวันออกคือที่ราบแพร่ ทางตอนเหนือเป็นที่ตั้งของเมืองสองซึ่งติดต่อกับเมืองน่าน พะเยา และทางด้านตอนใต้ติดกับเมืองศรีสัชนาลัยของสุโขทัย แต่ถ้าพิจารณาพื้นที่ราบอย่างละเอียดลงไปอีก ก็จะสามารถแบ่งเป็นที่ราบเมืองลองกับวังชิ้นเนื่องจากมีเนินเขาเตี้ยๆ คั่นกลางที่ราบทั้งสอง จึงทำให้เกิดการกระจายตัวตั้งชุมชนขึ้นทั้ง ๒ จุดแอ่งลอง – วังชิ้นจะมีที่ราบลาดเอียงจากตะวันตกไปทางตะวันออกสู่แม่น้ำยม และทางตอนเหนือของแอ่งจะเป็นพื้นที่ราบสูงแล้วค่อยๆ ลาดต่ำลงมาจนถึงเขตวังชิ้น อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมเข้ามาสำรวจและพบเครื่องมือหินขัด ขวานและใบหอกสำริดในยุคโลหะตอนปลายกระจายทั่วไปในเมืองลอง ที่แสดงให้เห็นว่ามีคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ผ่านเข้ามา

การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในแอ่งลอง – วังชิ้น จะตั้งถิ่นฐานกระจายตัวในแนวเหนือ – ใต้ ตามลักษณะภูมิประเทศที่มีที่ราบแคบยาวในแนวเหนือ – ใต้ ชุมชนในระยะเริ่มแรกจะตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม เนื่องจากเป็นที่ราบกว้างมีลำห้วยสาขาต่างๆ ไหลลงสู่แม่น้ำยม ส่วนในฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ราบเล็กน้อยติดเชิงเขา และลำน้ำยมตอนที่ผ่านแอ่งลอง – วังชิ้น เป็นช่วงที่มีความลึกและเชี่ยวจึงยากต่อการเดินทาง ระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยม ดังนั้นพื้นที่ฝั่งตะวันออกจึงเหมาะที่ใช้เป็นพื้นที่ทำไร่ ไม่มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในอดีตยกเว้นปรากฏโบราณสถานเพียงแห่งเดียวคือ วัดพระธาตุแหลมลี่ ที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำยมโค้งอ้อมลักษณะเกือบเป็นเกาะ สาเหตุที่สร้างให้ไกลจากชุมชนอื่นๆ ไปอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำยม สันนิษฐานว่าเนื่องจากสร้างเป็นเวียงพระธาตุและเป็นวัดอรัญวาสี ดังปรากฏในตำนานพระธาตุห้าหลังในเมืองลองระบุว่า

“...ยังมีพระญาตน ๑ ชื่อว่าพรหมกุลี จักมาขุดดอนลี่เหลี้ยมนั้น หื้อปล่องแม่น้ำยมกล้ำใต้เลิก็ ๘ วา กว้าง ๓๒ วา แล้วพระญาจักหื้อแปลงขัวก่ายข้ามเปนปะตูหั้นหมื่นชะแล...แต่เวียงลองมารอดลี่เหลี้ยมได้คาวุตนึ่ง เปน ๒ พันวาแล ดอนลี่เหลี้ยมมีกลางแม่ยมนั้นแล น้ำแม่ยมหากแวดล้อมเกาะอันนั้น เปนดั่งเวียงนั้นแล...ยังมีพระตน ๑ ชื่อว่ามธุรัสสะ เปนลูกแห่งพระญาผุหลิกนั้นจักได้เปนหมื่นวัดในเมืองมหาธาตุเจ้านั้นมีเมื่อใด ...เมื่อนั้น พระญามธุ-รัสสะ จักหื้อขุดตัดดอนลี่เหลี้ยมอันนั้นหื้อกว้างเปนฅือ หื้อน้ำแม่ยมไหลเข้ามา แล้วจักก่อลำเวียงแวดล้อมทุกเบื้องทุกพาย เพื่อจักห้ามยังข้าเสิก็อย่า หื้อมาบีบเบียนกะทำร้ายได้ มีหมื่นชะแล...” (ตำนานพระธาตุแหลมลี่)

“...เมื่อนั้น ยังมีมหาป่าเจ้าตน ๑ อยู่ดอนลี่เหลี้ยม รู้ว่าธาตุพระเจ้าปรากฏที่นั้น...” (ตำนานพระธาตุศรีดอนคำ)

คติการสร้างเวียงพระธาตุแพร่หลายทั่วไปในล้านนา เช่น เวียงพระธาตุลำปางหลวง(ลำปาง) เวียงพระธาตุจอมทอง(พะเยา) และเวียงปู่ล่าม(พะเยา) ที่มีการค้นพบศิลาจารึกกล่าวชื่อวัด ”อารามป่าน้อย” ที่แสดงว่าเวียงปู่ล่ามอาจเป็นที่ตั้งของวัดป่าหรือวัดฝ่ายอรัญวาสีที่ตั้งอยู่นอกเวียงพะเยา จึงมีการขุดคูน้ำล้อมรอบเพื่อกำหนดเขตสังฆกรรมตามคตินทีสีมา ที่แพร่หลายในล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เช่นเดียวกับพระธาตุแหลมลี่ที่เป็นวัดอรัญวาสีนอกเวียงลอง(เมืองลอง) โดยสาเหตุที่พระธาตุแหลมลี่ไม่ได้สร้างคูน้ำคันดินจริงๆ ล้อมรอบดังเวียงปู่ล่าม สันนิษฐานว่าเนื่องจากพื้นที่ตั้งเหมาะที่จะสร้างเป็นเวียงพระธาตุตามคตินทีสีมาอยู่แล้ว คือแม่น้ำยมโอบล้อมทั้ง ๓ ด้านเหลือติดกับแผ่นดินเพียงด้านทิศตะวันออก แนวคิดของการสร้างวัดพระธาตุแหลมลี่จึงสะท้อนผ่านทางตำนาน

ชุมชนโบราณในที่แอ่งลอง – วังชิ้น พบว่าตั้งอยู่ติดกับสายน้ำหลักคือแม่น้ำยม ๒ ชุมชนคือ เวียงลอง (เมืองลอง) และเมืองตรอกสลอบ ส่วนชุมชนโบราณอื่นอยู่ลึกเข้าไปตามลำห้วยสาขาของแม่น้ำยม คือ เวียงต้า (ห้วยแม่ต้า) ชุมชนโบราณแม่สวก (ห้วยแม่สวก) ชุมชนบ้านบ่อ(ห้วยแม่ลาน) เหล่าเวียง (ห้วยแม่กาง) เมืองลัวะ (ห้วยแม่กาง) เหล่ารัง (ห้วยแม่รัง) แม่บงเหนือ (ห้วยแม่บง)

ชุมชนโบราณในแอ่งลอง – วังชิ้น มีการตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่บริเวณตอนกลางของแอ่ง เนื่องจากบริเวณตอนกลางมีที่ราบกว้างขวางกว่าส่วนตอนเหนือและตอนใต้ที่เป็นที่ราบยาวและแคบ อีกทั้งตอนกลางเป็นช่วงที่มีน้ำสาขาของแม่น้ำยมไหลผ่านหลายสาย เช่น ห้วยแม่สวก ห้วยแม่ลาน ห้วยแม่กาง ห้วยแม่ลอง ห้วยแม่รัง และห้วยแม่บง เป็นต้น

ในส่วนตอนกลางนี้จะพบชุมชนโบราณอยู่ ๖ แห่ง แห่งแรกอยู่ตอนเหนือสุดของที่ราบตอนกลาง คือชุมชนโบราณห้วยแม่สวก ปัจจุบันอยู่ลึกเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผากลอง ตำบลต้าผามอกประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นชุมชนโบราณไม่มีคูน้ำคันดิน พบแต่เป็นกลุ่มวัดและโบราณสถาน เช่น โบสถ์ วิหาร และเจดีย์ โดยวัดทั้ง ๗ วัดตั้งเรียงรายสองข้างลำห้วยแม่สวก ชุมชนโบราณแห่งนี้มีการค้นพบพระพุทธรูปทองเหลืองขนาดใหญ่หลายองค์ และได้อัญเชิญไปประดิษฐานตามวัดต่างๆ เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เช่น วัดผามอก วัดนำริน วัดใหม่พม่า และวัดบ้านปง ตำบลต้าผามอก เป็นต้น

ชุมชนโบราณแห่งที่ ๒ คือชุมชนโบราณบ้านบ่อ ตำบลบ้านปิน ตั้งอยู่ใต้ลงมาจากชุมชนโบราณห้วยแม่สวกประมาณ ๘ กิโลเมตร ไม่ปรากฏคูน้ำคันดิน มีวัดร้างอยู่ ๒ วัด คือวัดบ้านบ่อ และอีกวัดไม่ทราบชื่อ มีฐานวิหาร และเจดีย์ขนาดใหญ่ปรากฏอยู่ พบพระพิมพ์ยอดขุนพลเช่นเดียวกันกับชุมชนโบราณห้วยแม่สวก และพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่หลายองค์ปัจจุบันประดิษฐานตามวัดต่างๆ คือ วัดแม่ปาน ตำบลแม่ปาน วัดแม่ลาน วัดดอนมูล และวัดพระธาตุศรีดอนคำ ตำบลห้วยอ้อ

ชุมชนโบราณแห่งที่ ๓ คือเหล่าเวียง ปัจจุบันอยู่ในบริเวณบ้านนาหลวง ตำบลห้วยอ้อ อยู่ฝั่งตะวันออกของห้วยแม่กาง ปรากฏคูน้ำ ๑ ร่อง คันดิน ๒ ชั้น อยู่ใต้จากชุมชนโบราณบ้านบ่อประมาณ ๖ กิโลเมตร

ชุมชนโบราณแห่งที่ ๔ คือเมืองลัวะ ปัจจุบันอยู่ในบริเวณบ้านนาหลวง ตำบลห้วยอ้อ อยู่ห่างจากเหล่าเวียงไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๕๐๐ เมตร ตั้งอยู่บนเนินสูงปรากฏคูน้ำคันดิน ๑ ชั้น

ชุมชนโบราณแห่งที่ ๕ คือเวียงลอง ตั้งอยู่ทางใต้ห่างจากเหล่าเวียงประมาณ ๙ กิโลเมตรเป็นชุมชนโบราณตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมฝั่งตะวันตก ในเขตบ้านไฮสร้อย ตำบลปากกาง อำเภอลอง ภายในเขตเมืองพบเศษภาชนะดินเผาแบบธรรมดา แบบเผาแกร่ง และแบบเคลือบทั้งของสุโขทัยและล้านนาปะปนกัน ตรงกลางเมืองมีสถูปก่อด้วยศิลาแลงทรงสี่เหลี่ยมเป็นเจดีย์ประธาน (พระธาตุไฮสร้อยในปัจจุบัน) และพบศิลาจารึกอักษรสุโขทัย ๑ หลักบริเวณหน้าวิหารวัดไฮสร้อย เวียงลองโบราณใช้แม่น้ำยมที่กว้าง ลึก และเชี่ยว เพราะเป็นช่วงหักโค้งของลำน้ำยมตรงหน้าวัดพระธาตุไฮสร้อยเป็นวังน้ำวนเรียกว่าวังทะครัว(วังต๊ะครัว) เป็นปราการธรรมชาติด้านทิศตะวันออก มีกำแพงดินล้อมรอบด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก ๔ ชั้น และมีคูน้ำ ๓ ชั้น และร่องคูน้ำจะลึกลงเรื่อยๆ เมื่อเข้ามาใกล้กำแพงชั้นใน ส่วนด้านทิศใต้เป็นร่องน้ำลึก (ห้วยแม่ลองมาบรรจบกับแม่น้ำยมที่บ้านปากลอง)

ชุมชนโบราณแห่งที่ ๖ คือชุมชนโบราณเหล่ารังและแม่บงเหนือ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้เวียงลองประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่บ้านแม่รัง ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง และบ้านแม่บงเหนือ ตำบลแม้ป้าก อำเภอวังชิ้น ชุมชนเหล่ารัง(แม่รัง) มีคูน้ำคันดิน ๑ ชั้นมีลักษณะเป็นรูปวงรีหยักตรงกลาง ส่วนด้านใต้ของแนวคันดินถูกโอบล้อมต่อออกมาเป็นรูปครึ่งวงกลม(เป็นที่ตั้งหมู่บ้านแม่บงเหนือปัจจุบัน) ทั้งสองชุมชนเดิมอาจเป็นชุมชนเดียวกันแต่มีการต่อเติมแนวคันดินในภายหลัง เนื่องจากแนวคันดินเชื่อมต่อกันในลักษณะขยายขอบเขตเดิมให้กว้างขึ้นภายในเขตชุมชนโบราณแม่บงเหนือ พบเศษภาชนะดินเผาแบบธรรมดา แบบเผาแกร่งที่เรียกว่า Stoneware และภาชนะเคลือบ มีทั้งแบบสังคโลกสุโขทัยและจากเตาในเขตล้านนา กระจายอยู่ตามผิวดิน อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมได้ประมาณอายุโบราณวัตถุเหล่านี้ว่า น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา

ส่วนในตอนเหนือสุดของแอ่งลอง – วังชิ้น มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณอยู่ ๑ แห่ง คือเวียงต้า ปัจจุบันตั้งอยู่ระหว่างบ้านต้าม่อนและบ้านต้าเวียง ตำบลเวียงต้า อยู่เหนือชุมชนโบราณห้วยแม่สวกประมาณ ๒๑ กิโลเมตร (ห่างจากที่ว่าการอำเภอลองประมาณ ๓๐ กิโลเมตร) ปรากฏคูน้ำคันดิน ๑ ชั้น บริเวณชุมชนใกล้เคียงได้พบพระพุทธรูปทองสำริดขนาดใหญ่และขนาดรองลงมา เช่น พระเจ้าแสนทอง วัดต้าแป้น หน้าตัก ๕๙ เซนติเมตร และพระสำริดวัดต้าเวียง ตำบลเวียงต้า นอกจากนี้ก็พบเครื่องมือที่ทำจากโลหะและขวานหิน

ส่วนในตอนใต้สุดของแอ่งลอง – วังชิ้น มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณอยู่ตอนกลางของอำเภอวังชิ้นปัจจุบัน คือเมืองตรอกสลอบ อยู่ใต้ชุมชนโบราณเหล่ารังและแม่บงเหนือประมาณ ๑๔ กิโลเมตร ผังเมืองเป็นรูปเกือกม้า มีคูน้ำ ๑ ร่อง คันดิน ๒ ชั้น ด้านตะวันออกติดแม่น้ำยม คันดินโค้งมาบรรจบกับห้วยแม่สลก(แม่สลอบ) ทางด้านทิศใต้ ตรงริมห้วยสลกมาสบกับแม่น้ำยมเป็นที่ตั้งวัดปากสลก (บางสนุก) มีพระธาตุพระพิมพ์เป็นพระธาตุสำคัญบริเวณเมืองตรอกสลอบได้พบศิลาจารึกอักษรสุโขทัย ระบุศักราชว่าปีกัดเหม้า สันนิษฐานว่าเป็นปีพ.ศ.๑๘๘๒ นอกจากนี้ยังพบไหบรรจุพระพิมพ์เนื้อชินเป็นจำนวนมาก ลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน แต่ลักษณะการแต่งกายและทรวดทรง ยังแสดงให้เห็นว่ามีอิทธิพลของศิลปะแบบลพบุรีอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าพระพักตร์จะกระเดียดมาเป็นแบบท้องถิ่นก็ตาม จึงดูเข้ากันได้ดีกับเรื่องราวในศิลาจารึกวัดบางสนุก

ภูเดช แสนสา

พระธาตุที่วัดบ้านบ่อ (ร้าง) ตำบลบ้านปิน อำเภอลอง