ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๑๖ พากษ์ตำนานของเมืองนครลำปาง ๑๐ เรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองลอง (ต่อ)

๗. ตำนานม่อนพญาแช่ ตำนานม่อนพญาแช่เริ่มกล่าวนำโดยกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่นี่ ซึ่งเรียกว่าม่อนพญาแช่ พบกับฤาษี ๕ องค์พระพุทธเจ้าก็เทศนาให้ฟัง และประทานเกศาธาตุให้ ฤาษีจึงก่อพระธาตุบนปราสาทบรรจุเกศาธาตุที่พระอินทร์เนรมิตให้จมอยู่พื้นดิน หลังนั้นก็ได้ตรัสพุทธทำนายว่าจะมีพญามหันตามาสร้างพระธาตุที่นี้อีก แล้วก็เทศนาโปรดยักษ์และประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้สักการะในตอนนี้มีเนื้อหาความคล้ายคลึงกับตำนานเมืองลคร(ตำนานศรีล้อมเมืองนคร) แต่ตำนานม่อนพญาแช่มีการขยายความพรรณนามากและมีบาลีมากว่าตำนานเมืองลคร สันนิษฐานว่าตำนานเมืองลครหยิบยืมเนื้อความจากตำนานม่อนพญาแช่ อีกทั้งตอนกล่าวนำของตำนานเมืองลครก็กล่าวถึงชื่อม่อนพญาแช่อีกด้วย

ตอนต่อจากนี้ตั้งแต่พระอินทร์เนรมิตเป็นไก่เผือกมีเนื้อความเดียวกันกับตำนานเมืองลครคลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อยในตอนแรก ที่มีการเพิ่มขยายความหรือสลับเนื้อความก่อนหลัง ส่วนตั้งแต่พุทธทำนายเป็นต้นไปเป็นเนื้อความเดียวกัน อาจคลาดเคลื่อนจากการคัดลอกบ้างเท่านั้น และตำนานม่อนพญาแช่ก็ได้กล่าวเพิ่มในเรื่องของอานิสงส์ถวายพระธรรมในช่วงท้ายสุด

๘. ตำนานวัดกู่คำ เมืองนครลำปาง ตำนานวัดกู่คำเป็นตำนานที่มีโครงเรื่องที่คล้ายกับตำนานในแถบนี้ แต่ก็นำมาแต่งจนมีเนื้อความที่ดูเป็นเฉพาะของเรื่องวัดกู่คำ ตำนานเริ่มกล่าวนำถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดพญาเมืองทีฆรัฏฐนคร ซึ่งพญาเจ้าเมืองได้พาบริวารออกล่าสัตว์จนได้พบกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เทศนาปรมัตถธรรมโปรดพญาเจ้าเมืองพร้อมเหล่าบริวาร และกล่าวถึงอานิสงส์ของการทำนุบำรุงและมาบำเพ็ญภาวนาในสถานที่แห่งนี้ ต่อมาพญาเจ้าเมืองได้ขอพระธาตุพระพุทธเจ้าก็ทรงประทานโลหิตธาตุให้ แล้วทรงตรัสพุทธทำนายว่าชื่อสถานที่แห่งนี้จะเปลี่ยนเป็น ๓ ประการ คือแรกจะเรียกว่า “กู่คำ” ต่อมา ๓๐๐ ปีเรียกว่า “กู่แดง” และอีก ๔๐๐ ร้อยปีเรียกว่า “กู่ขาว” เรื่องชื่อของวัดนี้หากพิจารณาจากเวลาที่ตำนานกล่าวไว้ เห็นว่าเดิมเริ่มสร้างคงได้ปิดทองหรือหุ้มแผ่นทองจังโกจึงเรียกว่า “กู่คำ” แต่เวลาผ่านมาถึง ๓๐๐ ร้อยปีแผ่นทองที่หุ้มก็หลุดลอกจึงเห็นแต่อิฐที่มีสีแดงอยู่ข้างในจึงเรียกว่า “กู่แดง” และเมื่อกาลเวลาผ่านมาอีก ๔๐๐ ปีอิฐสีแดงก็ถูกภาวะธรรมชาติทำให้สีจางเป็นสีขาวจึงเรียกว่า “กู่ขาว”

จากนั้นกล่าวถึงพระอนุรุทธะจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาไว้ที่แห่งนี้ และกาลต่อมาพญา อโศกธรรมราชก็จะมาสร้างพระธาตุและเรียกว่าชื่อกู่คำ จนถึงสมัยของพระนางจามเทวีก็มาสร้างพระธาตุให้สูงใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งสร้างวิหาร พุทธรูป อุโบสถ และซุ้มประตูโขง สังเกตว่าตำนานได้เน้นให้เห็นความรุ่งเรืองของวัดเริ่มตั้งแต่สมัยที่พระนางจามเทวีเป็นผู้อุปถัมภ์ และเป็นการย้ำถึงความเก่าแก่และความสำคัญของสถานที่ หลังจากนี้ตำนานก็จะกล่าวถึงการเสื่อมโทรมจนเป็นวัดร้างแล้วก็จะมีผู้มาบูรณะบำรุงรักษาให้รุ่งเรืองอีกครั้ง โดยอธิบายตามรูปแบบของกฎไตรลักษณ์

๙. ตำนานเมืองเถิน ตำนานเมืองเถินเป็นตำนานเน้นอธิบายที่มาของพระธาตุ พระพุทธบาท และชื่อสถานที่ต่างๆ ภายในเมืองเถินและเขตใกล้เคียง มากกกว่าที่เป็นข้อมูลหลักฐานแสดงให้เห็นพัฒนาการในทางประวัติศาสตร์ของเมืองเถินโดยตรง ตำนานเริ่มกล่าวนำถึงพระพุทธเจ้าทรงเสวยชาติเป็นพญาวัว แล้วก็เล่าเรื่องต่างๆ ของพญาวัวจนถึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้วก็เสด็จขึ้นมาตามสถานที่ต่างๆ และกลายเป็นที่มาของชื่อบ้านนามเมืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน คือ ตำนานเริ่มกล่าวตั้งแต่ ลาวร่ม(หล่มสัก) ลับแล ท่าอิด ท่าเสา และทุ่งยั้ง ส่วนพระอานนท์ก็ไปเทศนาธรรมให้กับชาวอโยธิยาและชาวอโยธิยาก็ตามขึ้นมา ที่น่าสังเกตคือตำนานเมืองเถินเป็นตำนานที่กล่าวเชื่อมโยงถึงหัวเมืองที่อยู่ทางใต้ลงไปในความสัมพันธ์อันดีทางศาสนา แต่ไม่ปรากฏในตำนานอื่นๆ อีก ๙ เรื่องของเมืองลำปางที่อยู่ตอนเหนือเมืองเถินขึ้นไป ทั้งนี้สันนิษฐานว่าเขตแดนของเมืองเถินติดต่อกับหัวเมืองทางใต้ที่อยู่ในเขตอิทธิพลของอาณาจักรอยุธยาดังนั้นจึงปรากฏความสัมพันธ์ในตำนาน เหมือนตำนานพระธาตุแหลมลี่ เมืองลองที่อยู่ติดกันกับเมืองเถิน ก็กล่าวถึงเมืองละโว้ เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองทุ่งยั้งเช่นเดียวกัน

ต่อจากนั้นตำนานได้กล่าวถึงการเทศนาโปรดยักษ์ที่เฝ้าขุมทอง ขุมเงิน และขุมแก้วที่เมืองเถิน ทรงประทานเกศาธาตุและตรัสพุทธทำนายถึงที่มาของชื่อเมืองเถิน บ้านอุมลอง ในตอนนี้ตำนานกล่าวแสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์มีบทบาทอย่างมากต่อการปกครอง เพราะชี้ให้เห็นว่านอกจากผู้ปกครองจะมีความฉลาดและความสามารถแล้วก็ต้องมีคุณธรรมด้วย โดยตำนานแสดงผ่านพระสงฆ์ว่าเป็นผู้ตักเตือน จึงเป็นที่มาของชื่อ “เมืองสังฆะเติ๋น” (พระสงฆ์ตักเตือน) หลังจากนั้นก็กล่าวถึงที่มาของพระธาตุม่อนงัวนอน โดยยกอดีตชาติของพระพุทธเจ้าตอนเสวยชาติเป็นพญาวัว(งัว)มาแสดง ต่อมาตำนานก็กล่าวถึงประทับรอยพระพุทธบาทดอยน้อย แล้วกล่าวที่มาของชื่อแม่พลิก ทรงประทับพระพุทธบาทให้ลัวะ แล้วก็จบตำนานด้วยการกล่าวสั่งสอนให้บำรุงรักษาพระธาตุ พระพุทธบาท อันอยู่ในเมืองสังฆะเติ๋น(เถิน)

ตำนานเมืองเถินนี้มีลักษณะที่ให้ความสำคัญกับชาวอโยธิยา เห็นได้จากตอนพระพุทธเจ้าทรงประทานเกศาธาตุให้ยักษ์ พระพุทธเจ้าก็ตรัสให้ชาวอโยธิยาหาที่ใส่เกศาธาตุ หรือตอนจะประทับพุทธบาทชาวอโยธิยาก็เป็นผู้ขอ จึงเห็นว่าตำนานคงให้ยักษ์เป็นตัวแทนของคนพื้นถิ่นที่ยังไม่ได้รับพุทธศาสนา แต่ชาวอโยธิยาเป็นผู้ที่ได้รับพุทธศาสนาก่อนแล้วจึงทราบข้อปฏิบัติทางพุทธศาสนาเป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่นำพาความเจริญคือพุทธศาสนามาให้ดังที่ปรากฏในตำนานเมืองเถิน

๑๐. ตำนานม่อนทรายนอน เมืองงาว ตำนานม่อนทรายนอนเป็นตำนานที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด ว่ารับจารีตและรูปแบบการเขียนมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก เพราะวางแกนเรื่องเริ่มต้นโดยกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นเนื้อทรายแล้วหนีนายพรานไปในที่ต่างๆ แล้วก็กลายเป็นชื่อสถานที่และบ้านเมือง ช่วงหลังก็เปลี่ยนมากล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าเป็นที่มาของชื่อสถานที่ต่างๆ อีกครั้ง

ตำนานเริ่มกล่าวนำว่าพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นทรายคำ แล้วถูกนายพรานไล่ และระหว่างรายทางที่ทรายคำวิ่งหนีก็กลายเป็นที่มาชื่อต่างๆ ตามลำดับคือ ห้วยคะแนง แม่มาบ แม่เมียงหรือแม้เหมี้ยง บวกทรายนอน เมืองตีบ ดอยทรายเหงา จนแจ้ง โดยตำนานอธิบายถึงที่มาประกอบไว้ ต่อมาก็ตัดมากล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงที่แห่งนี้แล้วแสดงเทศนา และกล่าวถึงที่มาของชื่อเมืองงาว และประทานเกศาธาตุ ในตอนนี้ตำนานได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อท้องถิ่นไว้เป็นอย่างมาก เช่นกล่าวถึงที่มาของชื่อเมืองง่าว(งาว) มาจากที่ชาวบ้านไม่รู้จักพระพุทธเจ้าคิดว่าเป็นยักษ์เป็นเสื้อเมือง จึงจะเอาเป็ดไก่ไปเซ่นไหว้ หรือกล่าวถึงทำการสร้างหรือให้ทานในสถานที่นี้ก็ให้บูชาเทวบุตรที่ต้นมะม่วงก่อนเพื่อเป็นการบอกกล่าว ดังที่ตำนานกล่าวไว้คือ

“...บุคคละผู้ใดจักสร้างแปลงคึดจักทานใหย่ก็ดี หื้อบูชาเทวบุตต์ตนรักสาไม้ม่วง ด้วยเครื่องช่อเหลืองแปด ช่อขียว ๘ ดอก เทียน เข้าต้มเข้าหนม กล้วย อ้อย ของหวานทังหลายต่างๆ นานาเทอะ...”

แต่ที่น่าสังเกตคือผู้แต่งตำนานนี้น่าจะเป็นพระสงฆ์ เพราะมีอคติกับการเซ่นผีปู่เจ้าเสื้อเมืองของชาวบ้านที่ยังยึดถืออยู่และก็จบตำนานพระธาตุเจ้าม่อนทรายนอน พร้อมทั้งบอกที่มาของตำนานว่าได้มาจากถ้ำพุม(ถ้ำปุม)เมืองเชียงแสน แต่ตำนานได้เอาอีกตำนานหนึ่งมาต่อไว้คือพระบาทปู่หลาน ซึ่งการดำเนินเรื่องก็คล้ายกับตำนานม่อนทรายนอน คือกล่าวนำถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าในที่แห่งนี้แล้วมาพบปู่ย่าหลาน กล่าวอธิบายลากความถึงที่มาของการประทับรอยพระพุทธบาท และที่มาของชื่อสถานที่ต่างๆ เช่นวังแดง ที่ภายหลังเป็นวังเรียง แม่น้ำใบ้น้ำง่าว ภายหลังเป็นน้ำงาว วังเลียงวังแดงภายหลังกลายเป็นวังเลง เป็นต้น ตอนท้ายก็กล่าวจบตำนานตามรูปแบบตำนานพระเจ้าเลียบโลกว่า

“...พระพุทธเจ้าทำนายฉันนี้แล้ว ก็สระเด็จไปเลียบเมือง ไปด้วยหนวันตกก็มีวันนั้นแล...” ตำนานม่อนทรายนอน เมืองงาวนี้เป็นตำนานที่เชื่อมโยงกับตำนานพระธาตุองค์อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน โดยดำเนินตามโครงเรื่องเดียวกันเพียงแค่แทรกเรื่องของตำนานนั้นๆ ต่อเติมเข้าไปอีก ดังเห็นได้จากตำนานพระธาตุปูแจ ตำนานได้ดำเนินเรื่องต่อจากทรายคำวิ่งมาถึงจนแจ้ง ก็วิ่งต่อไปจนถึงแม่ยั้งห้อ แม่คำมี แม่ติ๊กหรือแม่เติ๊ก แม่ถาง จนสุดท้ายมาตายที่ดอนน้อยเพื่อเชื่อมให้มาถึงสถานที่ที่จะกล่าวถึง แล้วกลับเข้ามาตำนานม่อนทรายนอนจนจบก็กลับเข้ามาต่อด้วยกล่าวถึงที่มาของพระธาตุปูแจ ส่วนตำนานพระธาตุหนองจันทร์ก็เช่นเดียวกันโดยแทรกเรื่องต่อจากเมืองตีบ เพราะว่าที่ตั้งของพระธาตุหนองจันทร์อยู่ก่อนจะถึงพระธาตุปูแจ ตำนานกล่าวว่าทรายคำมาถึงก็ดื่มน้ำในหนองน้ำที่เทวดาเอาแก่นจันทน์มาฝนใส่ให้ จึงเรียกว่าหนองจันทน์(หนองจันทร์) แล้วจึงดำเนินเรื่องต่อไปแม่เติ๊ก แม่ถาง แล้วก็ต่อด้วยที่มาของพระธาตุหนองจันทร์ ดังนั้นตำนานกลุ่มนี้จึงใช้โครงเรื่องเดียวกัน คือยกเรื่องตำนานม่อนทรายนอนมาตั้งแต่ต้นจนจบโดยแทรกให้ทรายคำหนีมาถึงพื้นที่ที่ตำนานนั้นจะกล่าวถึง เมื่อจบก็ต่อด้วยอธิบายถึงที่มาของพระธาตุหรือพระพุทธบาทนั้นๆ หากพิจารณาแล้วตำนานที่กำลังวิพากษ์เรื่องตำนานม่อนทรายนอน เมืองงาวนี้ ก็คือเรื่องกล่าวนำก่อนจะมาสู่ตำนานพระพุทธบาทปู่หลานนั้นเอง

ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๑๗ วิพากษ์ตำนานของเมืองนครลำปาง ๑๐ เรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองลอง (ต่อ)

สรุป ตำนานฝ่ายวัดของเมืองลำปางทั้ง ๑๐ เรื่องนี้ ถึงแม้ว่าบางตำนานจะมีชื่อเป็นตำนานเมืองเช่น ตำนานเมืองละคร ตำนานเมืองเถิน แต่เนื้อหาของตำนานก็กล่าวถึงเรื่องราวของศาสนามากกว่าที่จะมีเนื้อหาหลักกล่าวถึงบ้านเมือง กลุ่มตำนานของลำปางมีลักษณะเป็นตำนานโทนคือมีผูกเดียว ตำนานลำปางที่สามารถให้ประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองในด้านประวัติศาสตร์คือ ตำนานพระธาตุลำปางหลวง ตำนานพระธาตุจุมพิต(จอมปิง) และตำนานพระธาตุเสด็จ นอกนั้นเป็นตำนานที่เน้นอธิบายการประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ การประทับรอยพระพุทธบาท หรืออธิบายที่มาของชื่อสถานที่ต่างๆ โดยกล่าวย้อนถึงเรื่องราวของอดีตอันไกลเพียงอย่างเดียว ตำนานมีลักษณะลากเนื้อความให้ยาวเชื่อมกับสถานที่หรือชื่อสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏในปัจจุบัน และส่วนใหญ่ตำนานก็ไม่ได้ระบุปีศักราชไว้ ส่วนตำนานที่ระบุไว้คือตำนานพระธาตุลำปางหลวง และตำนานพระธาตุจุมพิต แต่ปีศักราชก็มีความคลาดเคลื่อน ที่สามารถนำมาอ้างอิงได้ก็มีเพียงตำนานพระธาตุลำปางหลวง ในตอนที่กล่าวถึงการทำบุญของเจ้าหมื่นคำเพชรและเจ้าเมืองหาญสีทัตถ์ เพราะว่าตำนานได้คัดลอกเนื้อความมาจากจารึกที่สามารถตรวจสอบกันได้ นอกจากนี้ก็มีเรื่องราวบ้านเมืองแทรกอยู่บ้างในฐานะเป็นผู้อุปถัมภ์พระธาตุลำปางหลวง

ตำนานทั้ง ๓ เรื่องนี้ ถึงแม้ว่านำมาใช้ได้ในงานทางประวัติศาสตร์แต่ก็มีความจำกัดในตัวเอง คือตำนานมีเนื้อความที่กล่าวเป็นตอนๆ มาต่อกัน จึงทำให้ไม่สามารถเห็นพัฒนาการของบ้านเมือง ส่วนตำนานอีก ๗ เรื่องก็มีลักษณะลากเนื้อความแบบนิทานหรือเรื่องเล่าท้องถิ่นอยู่มาก

จากการวิพากษ์ตำนานฝ่ายวัดของลำปางทั้ง ๑๐ เรื่อง สามารถจัดแบ่งกลุ่มของตำนานตามโครงเรื่องที่เขียนได้ ๓ กลุ่ม คือ

๑. กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากเรื่องพระนางจามเทวีประกอบด้วย

ตำนานพระธาตุลำปางหลวง

ตำนานพระธาตุเสด็จ

ตำนานพระธาตุจุมพิต (พระธาตุจอมปิง)

ตำนานวัดกู่คำ เมืองนครลำปาง

ตำนานกลุ่มนี้จะสังเกตว่าอยู่บริเวณตอนกลางของลำปางเป็นส่วนใหญ่ คืออำเภอเกาะคา อีกทั้งพบตำนานที่กล่าวถึงพระนางจามเทวีในพื้นที่ใกล้เคียง คือตำนานพระธาตุศรีดอนคำ(ห้วยอ้อ) ตำนานจะเชื่อมโยงถึงพระนางจามเทวีว่าเป็นผู้สร้างหรืออุปถัมภ์สถานที่แห่งนี้ เพื่อยืนยันถึงความเก่าแก่ของสถานที่ และแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของหริภุญชัยที่แสดงผ่านทางตำนาน

๒. กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากเชียงแสน ประกอบด้วย

ตำนานพระแก้วดอนเต้า

ตำนานเมืองละคร(สรีล้อมเมืองนคร)

ตำนานม่อนพญาแช่

ตำนานพระธาตุปางม่วง

ตำนานกลุ่มนี้จะอยู่บริเวณตอนกลางของลำปาง คืออำเภอเมือง และมีตำนานพื้นที่ใกล้เคียงที่พบคือตำนานพระธาตุแหลมลี่ ที่ปรากฏชัดเจนถึงอิทธิพลจากเชียงแสนคือตำนานจะเรียกชื่อเมืองว่ากุกกุฏนคร โดยชื่อนี้อาจเรียกหรือเขียนได้หลายรูปแบบแต่มีความหมายเดียวกันว่าเป็นเมืองไก่ คือ ตำนานพระแก้วดอนเต้าเรียก เมืองกุกกุตนคร ลัมพะกุกกุตนคร และลัมพะกุกกุต ตำนานเมืองละครเรียก เมืองกุกกุฏตรัฏฐะ เมืองกุกกุฏนครไก่เผือก และเมืองกุกกุฏนคร ตำนานม่อนพญาแช่เรียก กุกกุฏรัฏฐะ เมืองกุกกุฏนครไก่เผือก และเมืองกุกกุฏนคร ตำนานพระธาตุปางม่วงเรียก เมืองกุกกุฏนครลำปาง และเมืองกุกุตตะระลำปาง และในตำนานพระธาตุแหลมลี่ก็ปรากฏเรียก เมืองสิริกุกกุกไก่เอิ้ก หรือเมืองกุกกุฏไก่เอิ้ก ตำนานกลุ่มนี้ที่น่าสังเกตคือจะเขียนว่าพระพุทธเจ้ามาโปรดยักษ์ทุกตำนาน ยกเว้นตำนานพระธาตุแหลมลี่ และตำนานจะให้ความสำคัญโดยกล่าวถึงพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ที่มาตรัสรู้ในภัทรกัปนี้ สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องที่เกิดจากความเชื่อที่เชื่อมโยงเรื่องของแม่น้ำกก หรือแม่น้ำกุกะนที ที่ปรากฏในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ กับเรื่องพระกกุสันธะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกในภัทรกัปนี้ และคงเป็นเรื่องที่รับรู้ทั่วไปของกลุ่มชาวเชียงแสน ต่อมาเมื่อเมืองเชียงแสนแตกและมีการกวาดต้อนชาวเชียงแสนมาไว้ที่เมืองลำปาง ชาวเชียงแสนจึงได้เอารูปแบบการเขียนตำนานของตนมาเขียนตำนานสถานที่ตนอพยพมาอยู่ใหม่

๓. กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ประกอบด้วย

ตำนานเมืองเถิน

ตำนานม่อนทรายนอน เมืองงาว

ตำนานทั้ง ๒ เรื่องนี้เป็นกลุ่มที่ใช้โครงเรื่องเดียวกันคือกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นสัตว์แล้วก็ไปในที่ต่างๆ เมื่อได้ผ่านสถานที่แห่งไหนก็กลายเป็นที่มาของชื่อสถานที่แห่งนั้นในปัจจุบัน และตำนานก็จะกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงที่นั้นๆ แล้วก็เชื่อมโยงเข้ากับอดีตที่เคยเสวยชาติเป็นสัตว์อธิบายที่มาของชื่อสถานที่ ที่มาของการบรรจุพระธาตุ หรือพระพุทธบาทอีกครั้ง โครงเรื่องของตำนานเมืองเถินกับตำนานม่อนทรายนอน เมืองงาว มีรูปแบบการใช้โครงเรื่องแบบเดียวกันคือตำนานเมืองเถินกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นงัว(วัว) และปรากฏมีชื่อว่า “ม่อนงัวนอน” ส่วนตำนานม่อนทรายนอน เมืองงาว ก็กล่าวถึงเสวยชาติเป็นทรายคำ และปรากฏมีชื่อว่า “ม่อนทรายนอน” ตำนานเหล่านี้จะปรากฏอยู่บริเวณตอนใต้ของลำปางคือเมืองเถิน และตอนเหนือของลำปางคือเมืองงาว โดยเฉพาะตำนานม่อนทรายนอน เมืองงาวนี้มีการใช้โครงเรื่องและเนื้อเรื่องเดียวกันกับตำนานพระธาตุที่อยู่ใกล้เคียงคือตำนานพระธาตุปูแจ อำเภอร้องกวาง และตำนานพระธาตุหนองจันทร์ อำเภอสอง ซึ่งทั้งสองแห่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดแพร่ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมร่วมทางตำนานของกลุ่มนี้

สิ่งที่น่าสังเกตของกลุ่มตำนานลำปางจะกล่าวให้ความสำคัญกับสตรี ทั้งนี้สันนิษฐานว่าเพราะมีตำนานที่เกี่ยวกับพระนางจามเทวีเข้ามามีอิทธิพลในแถบนี้ หรือสตรีมีบทบาทที่เกี่ยวกับการอุปถัมภ์ศาสนาและบ้านเมืองมากจึงปรากฏในตำนานหลายๆ เรื่องของลำปาง และยังเห็นได้จากจารึกของวัดสบญาว พ.ศ.๒๐๖๐ ก็มีการกล่าวถึงการกัลปนาที่นาและข้าวัดของพระมหาเทวีเจ้าด้วย แต่ก็กล่าวให้เห็นเพียงหลักฐานที่เป็นสตรีชั้นสูงเท่านั้น

ภูเดช แสนสา

ภาพปก อุโบสถหลังเก่าวัดเวียง เมืองเถิน (ที่มา : ล้านนาประเทศ)