ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๑๑ วิพากษ์ตำนานของเมืองนครลำปาง ๑๐ เรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองลอง (ต่อ) ตอนต่อจากนี้เป็นเหตุการณ์ตอนเจ้าหาญแต่ท้อง เจ้าเมืองลำปาง เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มีพระมหาอัฏฐทัสสีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์สร้างพระธาตุลำปางหลวง โดยได้ขออาณาเขตพระธาตุและวัดกับพระเจ้าติโลกราช เมื่อปีกัดไส้ ศักราชได้ ๘๑๑ (พ.ศ.๑๙๙๒) ได้ตัดไม้ขะจาวที่พญาพลราชทรงปลูกพร้อมทั้งขุดกระดูกคนทั้ง ๔ ออก แล้วจึงก่อพระธาตุลำปางหลวงขึ้น ในตอนนี้ตำนานขัดแย้งกันเองกับตอนก่อน คือ ตอนที่พระมหาเทวีเสด็จมาที่พระธาตุลำปางหลวง พร้อมทั้งกัลปนาไว้ที่นากับข้าพระมหาธาตุในปีพ.ศ.๑๙๕๖ แต่ในตอนหลังกลับมีการเขียนว่าเจ้าหาญแต่ท้องพร้อมกับพระมหาอัฏฐทัสสีสร้างพระธาตุลำปางหลวง และได้ตัดไม้ขะจาวที่พญาพลราชทรงปลูกพร้อมทั้งขุดกระดูกคนทั้ง ๔ ออกในปีพ.ศ.๑๙๙๒ ตรงกับสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ ๙ (พ.ศ.๑๙๘๔ - ๒๐๓๐)

หากถ้าเราพิจารณาเนื้อเรื่องในตอนที่พระมหาเทวีโดยตัดเรื่องปีศักราชที่ระบุออกไป เพราะปีที่ระบุในตำนานของแต่ละฉบับคลาดเคลื่อนกัน ต้องหาหลักฐานอื่นที่เป็นอิสระต่อกันมาตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง สันนิษฐานว่าผู้แต่งตำนานอาจสับสนระหว่างพระนางจามเทวีกับพระมหาเทวี หรืออาจเข้าใจว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน จึงได้นำตอนที่มหาเทวียกทัพไปรบที่แม่สลิด(ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดตาก) ขึ้นก่อนตอนเจ้าหาญแต่ท้อง เจ้าเมืองลำปาง สร้างพระธาตุลำปางหลวง แต่ตอนหลังตำนานกลับกล่าวถึงพระธาตุลำปางหลวงสร้างขึ้นในสมัยเจ้าหาญแต่ท้อง ดังนั้นสันนิษฐานว่าพระมหาเทวีควรยกทัพมารบในช่วงของพระเจ้าติโลกเป็นต้นมา ซึ่งพระมหาเทวีองค์นี้อาจเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าติโลกราช เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีพระมหาเทวีองค์ไหนของกษัตริย์ราชวงศ์มังรายเชี่ยวชาญการสงคราม นอกจากพระมหาเทวีของพระเจ้าติโลกราช ดังเห็นได้จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวว่า

“...เจ้าเหนือหัวไพรอดเมืองน่าน แล้วจิ่งแต่งพลเสิก็หื้อมหาเทวีแม่ตน หื้อมารบเอาเมืองแพล่ตวงได้...ท้าวแม่นคุณหัน มีใจกลัวนัก จิ่งอ่อน แล้วจิ่งเอาของแกมเข้าสานกับฅวายออกมาถวายแก่มหาเทวีเจ้า...”

ตอนต่อมาได้กล่าวถึงเจ้าหมื่นคำเป็กหรือเจ้าหมื่นคำเพชร ผู้เป็นขุนอยู่เมืองใต้เข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารของพระเจ้าติโลกราช พระองค์จึงได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองลำปาง เจ้าหมื่นคำเป็กจึงได้เป็นองค์ประธานทำการบูรณะก่อกำแพง สร้างวิหารหลวง หล่อพระพุทธรูป สร้างศาลา บ่อน้ำ และแผ้วถางทางเดิน พร้อมทั้งกัลปนาที่นาและข้าพระธาตุไว้กับพระธาตุลำปางหลวง เนื้อหาของตำนานในตอนนี้ผู้เขียนพบว่าผู้แต่งตำนานได้หยิบยืมเนื้อหามาจากศิลาจารึกวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่ในตำนานได้เพิ่มเติมหรือดัดแปลงหลายจุด เช่น ในศิลาจารึกระบุนามว่า “เจ้าหมื่นคำเพชร” แต่ในตำนานปรับเป็น “เจ้าหมื่นคำเพ็ก” ดังตัวอย่างดังนี้

“...เจ้าหมื่นคำเพชรมากินเมืองนคร มาเลิกศาสนาพระธาตุเจ้าในลำพาง...”

ส่วนในตำนานได้ขยายความเพิ่มเติมอีกว่า

“...เจ้าหมื่นฅำเพ็กเปนเชื้อขุนอยู่เมืองใต้ มาอยู่ในอำนาจอาญาแห่งพระธัมมราชติลก คือว่าพระญาลก อันเสวยเมืองพิงค์เชียงใหม่ ก็ใช้หมื่นฅำเพ็กมากินเมืองนคร แล้วก็ได้มาเลิกสาสนาพระมหาธาตุเจ้าลัมพาง...”

นอกจากนี้ยังมีบางคำที่คลาดเคลื่อนกันระหว่างศิลาจารึกกับตำนาน เช่น ในตำนานระบุว่า “ไว้ข้า ๔ คน” แต่ในศิลาจารึกระบุว่า “ไว้คนสี่ครัว” หรือบางส่วนก็สับเปลี่ยนตำแหน่งข้อความหรือตัดออก ดังเช่นในจารึกระบุว่า

“...จักปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าตนหนึ่ง ในกาลอันจักมาภายหน้านอ สัปปุรุษทั้งหลายจุ่งอนุโมทนาด้วยทุกคนทืน..ไว้นากับพระ ๒๐๐ ข้าวเจ้า ไว้ข้าครัวหนึ่งกับพระไว้นาร้อยข้าวนึ่งกับด้วยแล”

ส่วนในตำนานพระธาตุลำปางหลวงระบุว่า

“...ท่านก็ปราถนาเปนพระพุทธเจ้าตน ๑ ในกาลอันจักมาพายหน้าแลไว้นากับพระเจ้า ๒๐๐ เข้าแล สัปปุริสะเจ้าทังหลายจุ่งอนุโมทนาชุฅนเทอะ...”

สันนิษฐานว่าเมื่อผู้แต่งตำนานได้หยิบยืมเนื้อความในจารึกมาใช้ในการเขียนตำนาน ด้วยข้อจำกัดด้านเนื้อความของศิลาจารึก ผู้แต่งตำนานจึงเพิ่มเติมและสลับเนื้อความบางตอนให้ได้ใจความมากขึ้น พร้อมกับเอาเรื่องราวจากที่ตนทราบจากที่อื่นมาเพิ่มเติมเข้าไว้ด้วย เพื่อที่สามารถเห็นเนื้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกกับเนื้อความในตำนานพระธาตุลำปางหลวง ว่ามีความคลาดเคลื่อนของเนื้อความหรือมีการเพิ่มขยายความอย่างไรบ้าง ผู้เขียนจึงได้ทำเป็นตารางเปรียบเทียบเนื้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกและตำนานพระธาตุลำปางหลวงเป็นตอนๆ ดังนี้

 

ตอนต่อมาของตำนานพระธาตุลำปางหลวง เป็นตอนที่กล่าวถึงเจ้าหาญสีทัตถะมหาสุรมนตรี เจ้าเมืองลำปาง ได้ทำการบูรณะขยายองค์พระธาตุลำปางหลวงให้กว้างและสูงกว่าเดิม พร้อมกับได้ระบุรายละเอียดของข้าวของและจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการบูรณะพระธาตุ สร้างวิหารหลวง และหล่อพระเจ้าล้านทอง และตำนานยังได้ขยายความจากศิลาจารึกให้ละเอียดมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของเจ้าเมืองอ้าย หรือ เจ้าเมืองอ้ายอ่ำ เจ้าเมืองลำปางองค์ก่อน อีกทั้งในช่วงท้ายของตอนนี้ยังได้เพิ่มเหตุกาณ์ที่ศิลาจารึกไม่ได้ระบุไว้ คือ เรื่องนางเมือง(ชายา)ของเจ้าหาญสีทัตถะมหาสุรมนตรีได้หล่อพระพุทธรูปไว้วิหารด้านทิศเหนือ เป็นการบันทึกเหตุการณ์ต่อจากเจ้าหาญสีทัตถะมหาสุรมนตรีได้มาบูรณะแล้ว โดยพระราชครูเจ้านำเอาฉัตรทองคำมาใส่และเพิ่มแกนเหล็กของพระธาตุลำปางหลวงอีก ๑ วา หลังจากนั้นแผ่นดินไหวยอดพระธาตุหัก มหาสังฆราชาเจ้าอภัยทิฏฐะเมธังกรเจ้า มหาสังฆราชาวิจิตรญาณเมตตาเจ้า ได้ทำการบูรณะยอดพระธาตุและเพิ่มให้สูงขึ้นอีก ๑ ปลายอก พระธาตุลำปางหลวงจึงมีความสูงตามตำนาน ๒๒ วากับ ๑ ปลายอก เนื้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกของเจ้าหาญสีทัตถะมหาสุรมนตรีกับตำนานพระธาตุลำปางหลวงบางช่วงมีเนื้อความสอดรับกันเป็นอย่างดี แต่บางช่วงก็คลาดเคลื่อน เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบผู้เขียนจึงได้นำมาสอบเทียบกันเป็นตอนๆ ดังนี้

 

 

ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๑๒ วิพากษ์ตำนานของเมืองนครลำปาง ๑๐ เรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองลอง (ต่อ) ตอนต่อมาเป็นชื่อของผู้ที่กัลปนาผู้คนให้เป็นข้าพระธาตุลำปางหลวง เริ่มตั้งแต่ตำนานอ้างถึงพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แคว้นหริภุญไชยได้ไว้ข้าพระธาตุ ๙ คนในปีจุลศักราช ๗๗๕ (พ.ศ.๑๙๕๖) ซึ่งตำนานก็ขัดแย้งกันเองเหมือนดังข้างต้นเนื่องจากเวลาที่ระบุเป็นเรื่องในสมัยล้านนา ที่เป็นเช่นนั้นคงเป็นเพราะอิทธิพลของเรื่องพระนางจามเทวีคงเป็นที่แพร่หลายในแถบนี้ เห็นได้จากตำนานในลำปางเกือบทุกฉบับได้กล่าวถึงพระนางจามเทวี เสด็จมาเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาสถานที่ตำนานกล่าวถึงอยู่เสมอ จึงสันนิษฐานว่าผู้แต่งตำนานพระธาตุลำปางหลวงได้มีการรับรู้เรื่องพระนางจามเทวีเช่นกัน จึงปรากฏให้เห็นพระนามของพระนางจามเทวีเป็นผู้อุปถัมภ์พระธาตุลำปางหลวง ถึงแม้เนื้อความของตำนานจะแย้งกันเอง รวมทั้งรายชื่อของผู้ที่ถูกกัลปนาให้เป็นข้าพระธาตุลำปางหลวง ก็ยังมีการคัดลอกคลาดเคลื่อนกันไป คงต้องทำการสอบทานหลายๆ ฉบับเพื่อความถูกต้องในโอกาสต่อไป

ตอนต่อมาตำนานได้กล่าวถึงช่วงสมัยพม่าเข้ามาปกครองล้านนา ในตอนนี้ตำนานได้เริ่มกล่าวถึงจุลศักราช ๙๓๕ (พ.ศ.๒๑๑๖) ซึ่งระยะห่างของเวลาที่ตำนานพระธาตุลำปางหลวงขาดช่วงไม่ได้กล่าวถึงเป็นเวลาประมาณ ๗๐ ปี คือตั้งแต่หลังที่เจ้าหาญสีทัตถะมหาสุรมนตรีหล่อพระเจ้าล้านทอง เมื่อปีก่าไค้ ตรงกับจุลศักราช ๘๖๕ (พ.ศ.๒๐๔๖) และกล่าวถึงการบูรณะหลังลงมาอีกเล็กน้อยในปีกดสัน ตำนานได้กล่าวนำว่าก่อนหน้านี้มี “ลาวหงสา” ได้มาตีเมืองลำปางและเมืองเชียงใหม่ ยอดพระธาตุลำปางหลวงก็ได้หักพังลง ดังนั้นในปีจุลศักราช ๙๓๕ (พ.ศ.๒๑๑๖) มหาอุปราชาพญาหลวงนครไชยบุรี เจ้าเมืองลำปาง จึงมีศรัทธาสร้างฉัตรพระธาตุลำปางหลวงขึ้นใหม่ โดยมีพระมหาสมเด็จรัตนมงคลลัมภกัปปารามาธิปติ พระมหาสังฆราชาวัดหลวง และมหาสังฆโมลีเชียงยืน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ฝ่ายฆราวาสมีมหาอุบาสกแสนมหาธาตุ เป็นผู้อุปถัมภ์ ในช่วงหลังก็มีข้าศึกมาตีเมืองลำปางและทำลายรั้วพระธาตุ พระมหาราชครูศรีกลางนคร สมเด็จเจ้ารัตนมังคละเจ้าลำปาง พร้อมกับสังฆะเจ้าก็ร่วมกันสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง

ในปีจุลศักราช ๑๐๑๑ (พ.ศ.๒๑๙๒) ได้ทำการหล่อลำทองขึ้นใส่ยอดพระธาตุลำปางหลวง โดยมีศรัทธาคือ ฝ่ายพระสงฆ์มีมหาวนวาสี อรัญสีลา พระมหาพลปัญโญลัมภกัปปรามาธิบดี พระหลวงเจ้าป่าตัน และคณะสงฆ์เมืองลำปาง ฝ่ายฆราวาสมีแสนหนังสือ หลวงนคร พ่อเมืองทุกคน ขุนวัดทุกคน และผู้เฒ่าผู้แก่ชาวเมืองลำปางร่วมกันสร้าง แต่น่าสังเกตว่าช่วงนี้ไม่ปรากฏมีเจ้าเมืองลำปางมาร่วมทำบุญด้วย ทั้งที่เสนาอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยก็มาร่วมทำบุญในครั้งนี้ด้วย อาจเป็นไปได้ว่าเมืองลำปางช่วงนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองให้มาปกครอง

ตอนต่อมาเป็นการกล่าวถึงที่นาที่เป็นของพระธาตุลำปางหลวง โดยเริ่มต้นในปีจุลศักราช ๑๑๐๐ (พ.ศ.๒๒๘๑) หมื่นมโนปัญญา บ้านลำปาง กลัวเภทภัยต่างๆ จึงหนีไปอยู่บ้านสองแคว แต่ก็นึกห่วงใยในพระธาตุลำปางหลวงที่ตนได้เคยปฏิบัติธรรม และกลัวว่าเจ้านายขุนนางผู้รู้ทั้งหลายจะเบียดบังเอาที่นาของวัดไปเป็นที่นาส่วนตน ดังนั้นจึงได้เขียนรายชื่อที่นาที่ตำนานระบุว่าพระนางจามเทวีกัลปนาให้กับพระธาตุลำปางหลวง หมื่นมโนปัญญาผู้นี้สันนิษฐานว่าเป็นหัวหน้าของคนในชุมชนหมู่บ้านลำปาง ที่มีหน้าที่ควบคุมผลประโยชน์ของวัดที่ได้จากข้าวัด จึงรับรู้ที่นาที่เจ้านายในอดีตได้กัลปนาถวายไว้กับวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันตำนานยังให้สภาพสังคมช่วงนี้ของชุมชนบริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวงเกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย จนต้องอพยพหลบหนีกันออกไปอยู่ที่อื่น

ตำนานในตอนต่อมาได้กล่าวถึงข้าพระธาตุที่ถูกกวาดต้อนไปในช่วงสงคราม ๒ ครั้ง โดยครั้งแรกจากลาวหลวง และครั้งที่ ๒ จากทัพชาวใต้(อยุธยา) แล้วจึงกล่าวถึงพระสุทโธธัมมราชา หรือ ตลุนมิน กษัตริย์พม่า(พ.ศ.๒๑๗๒ – ๒๑๙๑) ที่เข้ามาปราบล้านนาอีกครั้งประมาณพ.ศ.๒๑๗๔ ได้ทรงมอบข้าคนไว้ตามจารีต โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ ข้าพระเจ้า(พุทธรูป) ข้าพระธาตุ และข้าพระเถระ และในช่วงท้ายสุดก็มีการกล่าวถึงพระราชประวัติของพระนางจามเทวี เพื่อเสริมกับที่กล่าวในตอนต้นของตำนานแต่เนื้อความช่วงแรกในตอนต้นก็ขัดกับประวัติของพระนางจามเทวีในตอนท้าย เพราะในตอนต้นกล่าวว่าพระมหาเทวียกทัพไปได้ทัพแม่สลิด แต่ตอนนี้กล่าวว่าพระนางจามเทวีเสด็จไปเยี่ยมพระญาติวงศ์และทรงเสด็จกลับขึ้นมาทางทัพแม่สลิด แล้วจึงลำดับเหตุการณ์ดังที่กล่าวไว้ดังตอนต้น เมื่อพิจารณาลักษณะของตำนานพระธาตุลำปางหลวงแล้ว สันนิษฐานว่ามีผู้แต่งหลายคนและหลายยุคหลายสมัย โดยมีการเพิ่มเติมเนื้อเรื่องเรื่อยมาจนมีลักษณะเป็นตอนๆ จึงทำให้บางตอนขัดแย้งกันเองภายในเนื้อความของตำนาน จนล่าสุดที่มีการบันทึกเพิ่มเข้าไปในตำนานพระธาตุลำปางหลวง คือ เรื่องของพระยาไชยสงคราม เมืองนครลำปาง ทรงได้ถวายข้าพระธาตุและช้างพังในปีจุลศักราช ๑๑๙๒ (พ.ศ.๒๓๗๓) ที่อยู่ช่วงสมัยราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ทั้งนี้โครงเรื่องสำคัญที่ผู้เขียนตำนานพยายามแทรกและกล่าวเน้นย้ำอยู่เสมอ คือพระราชประวัติของพระนางจามเทวีที่เกี่ยวโยงกับพระธาตุลำปางหลวง อันเป็นลักษณะร่วมหรือเป็นจารีตของผู้แต่งตำนานในบริเวณนี้ที่นิยมเชื่อมโยงเข้ามาให้เกี่ยวพันด้วยเสมอ เพื่อยืนยันความเก่าแก่ของวัตถุหรือสถานที่นั้นๆ

ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๑๓ วิพากษ์ตำนานของเมืองนครลำปาง ๑๐ เรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองลอง (ต่อ) ๒. ตำนานพระธาตุเสด็จ ตำนานพระธาตุเสด็จ เป็นตำนานที่ได้รับจารีตการแต่งแบบตำนานพระธาตุลำปางหลวง โดยอิงความสำคัญของพระธาตุเสด็จกับพระธาตุลำปางหลวง เนื่องจากพระธาตุลำปางหลวงเป็นพระมหาธาตุศูนย์กลางที่สำคัญของพื้นที่บริเวณนี้ ดังเห็นได้จากตำนานพระธาตุเสด็จเริ่มต้นตำนานว่า

“ทีนี้จักกล่าวตำนานสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า อันมีในเมืองนครไชยแห่ง ๑ ชื่อว่า(ลัมภ)กัปปะนคร(ลำปางหลวง) ที่ ๑ ชื่อว่าดอนประโหยง.......”

ตำนานฉบับนี้ เป็นตำนานที่เน้นจะให้ความสำคัญกับพระธาตุดอนประโหยง(พระธาตุเสด็จ)เป็นพระธาตุที่สำคัญ โดยได้ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้พระธาตุลำปางหลวงจะมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่มากเป็น ๒ เท่าของพระธาตุหริภุญไชย แต่พระธาตุเสด็จก็ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุมากกว่าพระธาตุหริภุญไชยถึง ๒ เท่าเช่นกัน และให้เหตุผลว่าพระมหาธาตุหริภุญไชยและพระธาตุลำปางหลวงเจริญรุ่งเรืองมาก่อน แต่พระธาตุดอนประโหยงจะรุ่งเรืองภายหลัง ดังนั้นพระอรหันต์ทั้ง ๗ องค์จึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้มากกว่าพระมหาธาตุทั้ง ๒ แห่งตำนานพระธาตุเสด็จเป็นตำนานที่ไม่ได้กล่าวเริ่มต้นว่ามีพระพุทธเจ้าเสด็จมาเหมือนตำนานอื่นๆ สันนิษฐานว่าเพราะเป็นตำนานที่อิงความสำคัญอยู่กับพระธาตุลำปางหลวงอยู่แล้วจึงตัดส่วนนี้ออกไป อีกทั้งในตำนานพระธาตุลำปางหลวงก็กล่าวถึงเรื่องราวการเสด็จมาพื้นที่บริเวณนี้ของพระพุทธเจ้าไว้แล้วอย่างละเอียด ตลอดจนเรื่องของพญาอโศกราชตำนานพระธาตุเสด็จก็กล่าวอย่างรวบรัดอีกเช่นกัน ด้วยผู้แต่งตำนานเห็นว่าเป็นที่ทราบกันดีของเนื้อความในตอนนี้จึงลดความสำคัญของเนื้อเรื่องส่วนนี้ลงไป

เนื้อความตำนานตอนต่อมาเป็นการกล่าวถึงพญา ๕ องค์มาชุมนุมกันตั้งทัพอยู่ ๕ แห่งเพื่อมาประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ปรากฏชื่อดังนี้ เวียงไชย เวียงอริยัง เวียงอ่างลวะ เวียงลี และเวียงสูง และได้ขุดหลุมประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ ด้านบนปลูกไม้ขะจาวเหมือนดังตำนานพระธาตุลำปางหลวง ในส่วนต่อมาเป็นการนำเรื่องที่เป็นพระราชประวัติของพระนางจามเทวีมาเขียนแทรกไว้ กล่าวถึงมหาพรหมฤาษีช่วยสร้างเมืองสรีนครไชย(เมืองเขลางค์นคร)ให้เจ้าอนันตยศ และช่วงท้ายได้กล่าวถึงพระนางจามเทวีกับเจ้ามหันตยศ ได้เสด็จไปไหว้พระธาตุลำปางหลวงพบว่าเมืองนี้แห้งแล้ง พระนางจามเทวีจึงทรงอธิษฐานให้น้ำผุดออกมา จึงเรียกว่า “บ่อน้ำเลี้ยง” ในตอนนี้เป็นเรื่องที่มีเนื้อความคล้ายกับตำนานพระธาตุลำปางหลวง โดยที่ตำนานพระธาตุเสด็จได้กล่าวเพิ่มว่าเมื่อพระนางจามเทวีทรงสักการะบูชาพระธาตุลำปางหลวงแล้ว ก็เสด็จมาไหว้พระธาตุที่ดอนประโหยงนี้อีก แต่ตำนานพระธาตุลำปางหลวงนั้นกล่าวว่าพระนางจามเทวีเสด็จกลับ สังเกตเห็นได้ว่าเป็นการลากขยายความให้เชื่อมกับพระนางจามเทวีตามจารีตการแต่งตำนานของบริเวณนี้

หลังจากนั้นตำนานได้ยกมากล่าวถึงตอนสมัยเจ้าหาญแต่ท้อง เป็นเจ้าเมืองศรีนครไชย(ลำปาง) กล่าวว่าในปีจุลศักราช ๘๙๓ (พ.ศ.๒๐๗๔) มีพระภิกษุม่าน(พม่า) ๒ รูป จาริกมาเพื่อสักการะพระธาตุหริภุญไชย พระธาตุลำปางหลวง และเสาะแสวงหาสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุธาตุที่ดอนประโหยง ซึ่งตำนานได้กล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของสถานที่นี้ แล้วก็ดำเนินเรื่องไปจนพบพระบรมสารีริกธาตุที่ฝังอยู่ ตอนต่อมาเป็นการกล่าวพรรณนาถึงที่มาของชื่อพระธาตุเสด็จ ว่าชาวบ้านได้ไปบอกให้เจ้าหาญแต่ท้อง เจ้าเมืองลำปาง เมื่อทราบแล้วจึงได้ให้คนแผ้วถางก่อสร้างพระธาตุเสด็จ วิหารหลวง และได้ยกเรื่องที่พระบรมสารีริกธาตุที่แสดงปาฏิหาริย์ขึ้นปลายไม้ต้นขะจาวเป็นมูลเหตุของชื่อพระธาตุและวัด แล้วจึงพากันเรียกว่าพระมหาธาตุเจ้าเสด็จตั้งแต่นั้นมา ถึงแม้ว่าตำนานพระธาตุเสด็จนี้จะมีการระบุปีศักราชไม่ชัดเจน มีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก แต่ก็สามารถทำให้ทราบว่าพระธาตุเสด็จสร้างขึ้นในสมัยของเจ้าหาญแต่ท้อง เป็นเจ้าเมืองลำปาง

ภูเดช แสนสา

วัดพระธาตุเสด็จ (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๗๐)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 09 •เมษายน• 2014 เวลา 17:22 น.• )