วิพากษ์ตำนานเมืองลอง (ต่อ) ตำนานเมืองลองตอนแรกนี้จัดเป็นกลุ่มตำนานที่ได้รับอิทธิพลจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก เพราะในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ผูกที่ ๘ กล่าวถึงพระธาตุลำปางหลวง พระธาตุแช่แห้ง และพระธาตุช่อแฮ ตำนานกลุ่มนี้มีรูปแบบและวิธีการเขียนตำนานแบบเดียวกัน โดยการเพิ่มเติมในส่วนของรายละเอียดของตำนานในเรื่องการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าพร้อมกับพระอรหันต์สำคัญอีก ๒ – ๔ รูป และวิธีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแบบพิสดาร เป็นต้น กลุ่มตำนานนี้คือตำนานในเมืองลำปาง (พระธาตุลำปางหลวงและพระธาตุเสด็จ) เมืองน่าน(พระธาตุแช่แห้ง) เมืองแพร่(พระธาตุช่อแฮ) เมืองพะเยา(พระเจ้าตนหลวง) เมืองฝาง(พระธาตุทุ่งยั้ง) และเมืองลอง(พระธาตุแหลมลี่) มีเค้าโครงการดำเนินเรื่องของตำนานพระธาตุลำปางหลวง ตำนานพระธาตุแช่แห้ง ตำนานพระธาตุช่อแฮ และตำนานพระเจ้าตนหลวง เริ่มกล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงรำพึงว่าพระองค์ใกล้เข้านิพพานแล้วจึงได้เสด็จมาถึงสถานที่นี้พร้อมกับพระอรหันต์และผู้ติดตามดังนี้

“...คันออกวัสสาแล้ว มีอรหันตเจ้า ๓ ตน ตนนึ่งชื่อโสณเถร ตนนึ่งชื่ออุตตเถร ตนนึ่งชื่อรตนเถร อันมีเจ้าอานนทเถรเปนถ้วน ๕ แลพระยาอินท์แลวิสุกัมม์เทวบุตต์ อันมีจตุโลกบาลทัง ๔ แลพระญาอโสกราชผู้กินเมืองกุสินาราย...” (ตำนานพระธาตุลำปางหลวง)

“...ในกาลเมื่อนั้นพระพุทธเจ้าหันอายุตนอันสั้น สระเด็จเดินด้วยเอาลูกสิกข์ ๔ ตน คือว่า เจ้าอานันทเถรถือบาตร แลเตนเถร แลโสนเถร แลอุตตรเถร อันเปนอรหันต์ กับอโสกธัมมราชเจ้ากุสินาราย สระเด็จจากเชตะวันอารามไปในวันปฏิปทรึก เดือนเจียง แรมค่ำ ๑ แล...พระญาอินทร์ก็ลงมาไปถือฉัตต์กั้นพระพุทธเจ้าไปแล...” (ตำนานพระธาตุแช่แห้ง)

“...คันว่าพระพุทธเจ้าร่ำเพิงฉันนี้แล้ว เมื่อวันปวารณาออกวัสสาแล้วได้วัน ๑ พระพุทธเจ้าค็ได้มีหมู่อรหันตาเจ้า ๓ ตน ตน ๑ ชื่อว่าโสณเถระ ตน ๑ ชื่อว่าอุตตรเถระ ตน ๑ ชื่อว่ารัตตนเถระ พร้อมกับด้วยพระอานันทเถระเปนถ้วน ๔ ได้ไพกับด้วยพระพุทธเจ้าแล ถัดนั้นพระญาอินทาค็ สระเด็จลงมาทือฉัตต์กั้งยังพระพุทธเจ้าแลไพ ถัดนั้นยังมีพระญาตน ๑ ชื่อว่าอโสกราชะ กินเมืองกุสินาราย ไพเปนอุปาสกอุปปฐากยังพระพุทธเจ้า...ค็ออกพรากจากพระ เชตะวันเมื่อเดือนเจียง แรมฅ่ำ ๑...” (ตำนานพระธาตุช่อแฮ)

“...กันออกพรรษาแล้วก็พาอรหันต์เจ้าทังหลาย ๓ ตน คือ เจ้าโสณะเถร เจ้าอุตตระเถร เจ้ารัตตะเถร กับมหาอานันทะถ้วน ๔ เป็นบริวาร มีพระอินทร์เป็นผู้กางฉัตรไปตามพระพุทธเจ้า ยังมีพระยาตนหนึ่งเป็นเจ้าเมืองกุสินาราชื่อว่าพญาอโสก....พระก็ลีลาออกจากป่าเชตะวันอารามในวันเดือนเกี๋ยง แรมค่ำหนึ่ง...” (ตำนานพระเจ้าตนหลวง)

ส่วนตำนานพระเจ้าเลียบโลกกล่าวเพียงพระพุทธเจ้า เสด็จมาพร้อมกับพระอรหันต์และพระเจ้าอโสกราช สังเกตได้ว่าตำนานทั้ง ๔ เรื่องได้มีการเขียนเพิ่มเนื้อหาตำนานในรูปแบบเดียวกัน สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการหยิบยืมหรือการใช้ต้นแบบจากที่เดียวกัน ตำนานเหล่านี้จัดเป็นตำนานยุคแรกๆ คือเขียนขึ้นในช่วงยุคทองของล้านนาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ และเป็นต้นแบบให้กับตำนานยุคหลังคือตำนานพระธาตุเสด็จ ตำนานพระธาตุทุ่งยั้ง และตำนานพระธาตุแหลมลี่(ตำนานเมืองลอง) ซึ่งเป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่ในหัวเมืองขนาดเล็ก มีความสำคัญรองลงมาจากหัวเมืองขนาดใหญ่ที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น และไม่ได้เขียนไว้ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก

ส่วนวิธีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแบบพิสดารนั้น พบมีเฉพาะกลุ่มตำนานพระธาตุลำปางหลวง ตำนานพระธาตุเสด็จ(เมืองลำปาง) ตำนานพระธาตุแช่แห้ง(เมืองน่าน) ตำนานพระธาตุทุ่งยั้ง(เมืองทุ่งยั้ง(อุตรดิตถ์)) ตำนานพระธาตุแหลมลี่(เมืองลอง) กล่าวถึงการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในท้องสิงห์หรือบนหลังสิงห์ ยกเว้นพระธาตุแหลมลี่กล่าวพิสดารกว่าที่อื่นๆ และใช้ช้างเอราวันแทนสิงห์ แสดงให้เห็นถึงการคลี่คลายรูปแบบการเขียนตำนานในชั้นหลังลงมาจากตำนานพระธาตุลำปางหลวงและตำนานพระธาตุแช่แห้ง ส่วนในบริเวณเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองเชียงราย และเมืองพะเยา จะกล่าวไว้โดยสังเขปว่าใส่ไว้ในขระอูบและวางประดิษฐานบนแท่น มีกล่าวแบบพิศดารบ้างเช่นตำนานพระธาตุดอยสุเทพ(เมืองเชียงใหม่) ที่กล่าวถึงเอาพระเกศาธาตุไว้บนหลังเต่าและมีแก้ว ๔ ลูกรองเท้าเต่า แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงสิงห์ดังที่พบในบริเวณเมืองลำปาง เมืองน่าน และเมืองทุ่งยั้ง(ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์) ดังปรากฏในตำนานดังนี้

“...ท้าวตนชื่อจันทะเทวราช(เมืองสุวรณภูมิ) ก็หื้อก่อด้วยละอิดเงินละอิดฅำสูงขึ้นประหมาณ ๔ สิบสอก แล้วพระญาก็หื้อแปลงรูปราชสีห์ฅำแล้วตัว ๑ สูงประหมาณ ๔ สอกแล้ว พระญาก็หื้อแปลงขระอูบอัน ๑ รองขระอูบแก้วธาตุอรหันต์ พระญาค็หื้อเอาใส่ขระอูบฅำ แล้วพระญาก็หื้อแปลงขระอูบเงินอัน ๑ รองขระอูบฅำนั้นเล่า ยังขระอูบทัง ๓ พระญาก็หื้อประดิษฐานไว้ในท้องสุวัณณสีหราชตั้วนั้นแล้ว เถิงวันดีไชยดิถีประกอบชอบด้วยสุภนักขัตฤกษ์ยามดี ยังชาวเจ้าสมณพราหมณ์ฝูงงามด้วยสีลาธิคุณหื้อมาประสุมชุมนุมกันแล้ว พระญาก็หื้อเอาราชสีห์ฅำตัวนั้นลงประดิษฐานไว้เหนือละอิดฅำไว้ในท่ำกลางขุมแล้ว

พระญาก็หื้อก่อเจติยะอัน ๑ มีสัณฐานดั่งปุ่มปวกน้ำ หื้อหุ้มยังสุวัณณสีหราชตัวนั้นแล้ว จิ่งแวดล้อมยังเครื่องยังเครื่องบูชาสักการะคือดอกไม้เงินดอกไม้ฅำ ไหเงินไหฅำ ประทีปเงินประทีปฅำ หื้อแวดล้อมรอดชุก้ำชุพายแล้ว ยังลำเงินอันใหย่นักก็หื้อไว้ทัง ๔ แจ่งแล้ว พระญาจันทะเทวราชก็หื้อแปลงยนต์ หื้อมีมือถืออาวุธไว้ เพื่อจักหื้อรักสายังสารีริกธาตุพระเปนเจ้าแล้ว พระญาก็หื้อก่อหุ้มยนต์ดีแล้ว ท้าวเทวราชก็หื้อก่อหลบเลือนด้วยแผ่นเงิน เพื่อจักหื้อยนต์นั้นหมั้นคุงดีแล้ว ท้าวจันทะเทวราชก็หื้อถมขึ้นมาด้วยหินแร่แลดินทังหลายเพียงแผ่นดินแล้ว” (ตำนานพระธาตุลำปางหลวง)

“...อโสกราชเสวยเมืองชื่อปาตลีบุตต์ปราบชุมพู มีสัทธาส้างสาสนาชินธาตุ ๘๔๐๐๐ หลัง...มาเถิงเมืองนันทบุรีจุที่พูเพียงถ้วน ๓ เล่าแล เมื่อนั้นชาวกาวไทยทังหลาย พร้อมกันอะส่อมพระเจ้าที่พูเพียง ลงขุดขุมเรียงลงเหนือธาตุที่เก่าเลิก็ ๑๐ วา กว้าง ๕ วาเปนมัณฑละ หื้อช่างแปลงอูปคำใส่ชินธาตุเต็มแครง ๑ หื้อหล่อรูปสิงหทองยืนอยู่ ใส่กระอูบธาตุในท้องสิงหะ ยืนอยู่กลางขุมธาตุแลตั้งต้ายแวดยนตทองอยู่รักสา แล้วก่อดินละอิดขึ้นเพียงพื้นธรณี...” (ตำนานพระธาตุแช่แห้ง)

“...พระญาสรีธัมมโสกราช สระเด็จมายั้งตั้งอยู่เมืองอุปปยาคือเมืองท่งยั้ง พระองค์ก็ได้หื้อขุดแท่นขึ้นที่ถ้ำท่งยั้ง เลิ๊กได้ ๑๘ วา กว้าง ๑๘ วาสี่แจ่งเสมอกัน แลจิ่งหื้อช่างหล่อ หล่ออ่างลูก ๑ เสี้ยงฅำล้าน ๑ ตักน้ำใส่หื้อเตม กับหล่อสิงห์ฅำตัว ๑ หื้อยืนอยู่ในอ่างฅำ แล้วก็หื้อหล่อภาน(พาน)ฅำลูก ๑ เสี้ยงล้าน ๑ ก็เอาตั้งเหนือภานฅำนั้นแล้ว ๒ มือตุ้มกระอูบแก้วผลิก พระญาสรีธัมมโสกราชแลพระอรหันตาเจ้าทังหลาย ค็ราทธนาธาตุพระพุทธเจ้ามาปะจุตั้งไว้ในกระอูบแก้วผลิกที่พระนารายณ์ตุ้มไว้นั้น แล้วค็อว่ายหน้าพระนารายณ์ไปทิสสะทังวันออก หล่อรูปปราสาทเสี้ยงฅำล้าน ๑ หล่อรูปพระอินท์ถือจักราวุธแล้วด้วยฅำอยู่ทิสะตะวันออก กับหล่อรูปวิรุฬหะทำเปนยนต์ผัดอยู่เปนนิจจกาลแล...” (ตำนานพระแท่นศิลาอาสน์,พระธาตุทุ่งยั้ง)

“...พระญาสรีธัมมโสกราชกับอรหันตาเจ้าทังหลายได้ ๕ ร้อยปลายตน ๑ จิ่งขึ้นมาตั้งทัพอยู่ในดอยลี่แหลมที่นั้น ประจุธาตุพระเจ้าเล่าแล ในถ้ำที่นั้น คูหาที่ไว้ธาตุพระเจ้ามีสณสัฏฐานดั่งเวียงนั้น มีปะตู ๔ ด้าน ลวงกว้างร้อยวา ลวงยาว ๒ ร้อยวา ลวงสูง ๒๑ วา หา เปลียวขึ้นมาปล่องถ้ำรอดดอยหั้นแล ในถ้ำคูหาที่นั้นมีหินก้อน ๑ ลวงกว้าง ๕๐ วา ลวงยาว ๑๐๐ วา มีสณสัฏฐานเปนดั่งรูปสะเพาหงายไว้ อยู่ท่ำกลางถ้ำหั้นแล พระญาก็หื้อหล่อเงิน ๑๘ โกฏเปนรูปช้างเอราวัณ สูงได้ ๑๘ สอก ยืนอยู่เหนือท้องสะเพาหั้นแล้ว พระญาก็หื้อหล่อฅำเปนไตร ๔ ลูก น้ำหนักแลแสนฅำ รองตีนช้างทัง ๔ นั้นแล้ว พระญาก็หื้อเอาคระอูบแก้วประหลิก อันใส่ธาตุพระเจ้านั้น ตั้งไว้ในปราสาทเวไชยยนต์ ๗ ร้อยชั้นตั้งเหนือหลังช้างเอราวัณนั้น ไว้ในถ้ำคูหาหั้นแล หื้ออว่ายหน้าช้างไปหนวันออกหั้นแล

พระญาสรีธัมมอโสกราช ก็หื้อหล่อฅำเปนรูป พระญาวิรุฬหกะ ถือจักรวุธอยู่รักสาปะตูถ้ำกล้ำใต้ แลพระญาก็หื้อหล่อฅำเปนรูปพระญาวิรูปักขะ ถือธนูสิลป์อยู่รักสาปะตูถ้ำหนวันตก แลพระญาค็หื้อหล่อฅำเปนรูปพระญาเวสสุวัณ กำฅ้อนเหล็กอยู่เฝ้าปะตูถ้ำหนเหนือ แลพระญาก็หื้อหล่อฅำเปนรูปพระญาธตรถะ ถือสรีกัญไชยอยู่รักสาปะตูถ้ำหนวันออก แลพระญาสรีธัมมโสกราชหล่อฅำเปนรูปท้าวจตุโลกปาลาทัง ๔ ตน แลมีน้ำหนักได้ ๒ แสน ๔ หมื่นฅำชู่ตน ลวงสูงได้ ๑๐ สอกทุกตนหั้นแล แต่ผิวดินลงเถิงที่ไว้ธาตุพระเจ้านั้น เพียงพื้นแม่น้ำยมแลพระญาจิ่งหื้อถมด้วยหินมาต่อเท้าเพียงผิวดินแล้ว จิ่งเอาไม้งัวเคี้ยวต้น ๑ มาปลูกไว้เหนือเปลียวถ้ำพายบนทังหลายที่ไว้ธาตุพระเจ้า ซื่อยอดปราสาทรูปช้างเอราวัณทัดนั้นแล แต่เปลียวถ้ำลงเถิงหินก้อนรูปสะเพาหงายไว้นั้น เลิ๊กได้ ๕๒ วาไม้งัวเคี้ยวนั้นไทว่าไม้มื่นแล...” (ตำนานพระธาตุแหลมลี่)

จากข้างต้นสันนิษฐานว่าตำนานพระเจ้าเลียบโลกเป็นต้นแบบของการเขียน ตำนานพระธาตุลำปางหลวง ตำนานพระเจ้าตนหลวง ตำนานพระธาตุแช่แห้ง และตำนานพระธาตุช่อแฮ และตำนานพระธาตุทั้ง ๓ ได้เป็นต้นแบบให้กับพระธาตุต่างๆ ที่สำคัญรองลงมาในหัวเมืองขนาดเล็กหรือพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ตำนานพระธาตุลำปางหลวงเป็นต้นแบบให้กับตำนานพระธาตุเสด็จ ตำนานพระธาตุช่อแฮเป็นต้นแบบให้กับพระธาตุจอมแจ้ง เป็นต้น กล่าวสรุปคือตำนานกลุ่มเมืองลำปาง เมืองพะเยา เมืองน่าน และเมืองแพร่ เป็นตำนานพระธาตุที่สำคัญถือว่าเป็นพระธาตุประจำเมืองหรือพระพุทธรูปประจำเมือง จึงมีการเขียนตำนานขึ้นในช่วงแรกๆ คือช่วงยุคทองของล้านนา โดยรับรูปแบบการเขียนมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก แล้วมีการเพิ่มรายละเอียดลงไปจนมีลักษณะเฉพาะกลุ่มของตำนานในบริเวณนี้ดังกล่าวไว้ข้างต้น เนื่องจากในช่วงสมัยของพระเจ้าติโลกราชพระภิกษุสงฆ์มีการติดต่อกันอยู่เสมอ และในเมืองเหล่านี้มีพระเถระผู้ทรงพระไตรปิฏก(มีความรู้)อีกด้วย ดังในตำนานวัดมหาโพธาราม(วัดเจ็ดยอด)กล่าวถึงพระมหาเถระผู้ทรงพระไตรปิฏกจากเมืองต่างๆ จำนวน ๒๒ รูปมาผูกพัทธสีมาวัดมหาโพธารามเมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๔ (จ.ศ.๘๗๓) มีพระเถระเมืองเชียงใหม่ ๑๑ รูป เมืองหริภุญไชย(ลำพูน) ๑ รูป เมืองเชียงราย ๑ รูป เมืองเชียงแสน ๓ รูป เมืองพะเยา ๒ รูป เมืองเขลางค์(ลำปาง) ๒ รูป เมืองน่าน ๑ รูป และเมืองสว่างคบุรี(เมืองฝาง, ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์) ๑ รูป ทั้งเมืองลำปาง เมืองน่าน และเมืองฝางต่างก็พระเถระผู้ทรงความรู้ (น่าสังเกตว่าเมืองแพร่ไม่ได้รับนิมนต์) จึงเป็นไปได้ว่ามีการเขียนตำนานเหล่านี้ขึ้นตามสำนักพระผู้ทรงไตรปิฏกเหล่านี้

ต่อมาตำนานกลุ่มแรกนี้ได้เป็นต้นแบบให้กับตำนานที่เขียนในยุคหลังลงมา เช่น ตำนานพระธาตุทุ่งยั้ง และตำนานพระธาตุในเมืองลอง โดยตำนานพระธาตุทุ่งยั้งอาจเขียนขึ้นก่อนเล็กน้อย และเป็นต้นแบบให้กับตำนานพระธาตุในเมืองลองอีกชั้นหนึ่ง เพราะทั้งสองตำนานปรากฏโครงเรื่องที่มีการเน้นเรื่องพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์จะต้องมาทุกองค์ในสถานที่ที่ตำนานกล่าว และมีการหยิบยืมเนื้อความกันในหลายๆ จุด เช่น การชักพระพุทธรูปจากน้ำน่าน พระเจ้าอโสกสั่งเทวดาให้รักษาพระธาตุ เป็นต้น ตำนานพระแท่นศิลาอาสน์หรือตำนานพระธาตุทุ่งยั้งจะให้รายละเอียดส่วนเกี่ยวกับเรื่องราวเล่านี้ละเอียดกว่า แต่ตำนานเมืองลองตอนต้นนี้จะให้รายละเอียดมากกว่าในส่วนของอภินิหารเช่น ตอนทำการบรรจุพระธาตุ สาวกผู้ติดตามในตำนานพระธาตุทุ่งยั้งคือพระอานนท์และพระเรวัตตเถร ส่วนตำนานเมืองลองตัดเหลือเพียงพระเรวัตตเถรเป็นผู้ติดตาม ที่น่าสังเกตคือไม่ปรากฏในตำนานอื่นๆ เลยที่มีพระเรวัตตเถรติดตามมาด้วย นอกจากตำนานพระแท่นศิลาอาสน์และตำนานเมืองลอง ประกอบกับตำนานเมืองลองในตอนต้นกล่าวเชื่อมโยงกับพระธาตุทุ่งยั้งอยู่หลายแห่ง แต่ไม่ปรากฏชื่อของเมืองลองในตำนานพระแท่นศิลาอาสน์หรือพระธาตุทุ่งยั้ง

ส่วนการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่แปลกจากที่อื่นๆ คือตำนานพระธาตุลำปางหลวง ตำนานพระธาตุเสด็จ ตำนานพระธาตุแช่แห้ง และตำนานพระธาตุทุ่งยั้ง ที่ใช้สิงห์เป็นที่บรรจุกระอูบพระบรมสารีริกธาตุ โดยตำนานพระธาตุทุ่งยั้งเพิ่มให้พระนารายณ์ยืนอยู่บนหลังสิงห์เอามือทูลกระอูบพระบรมสารีริกธาตุไว้ แสดงให้เห็นถึงการคลี่คลายการเขียนตำนานมาอีกขั้นหนึ่งและรับอิทธิพลความเชื่อศาสนาพราหมณ์เข้ามาแล้วในตำนาน จากเดิมที่บรรจุกระอูบไว้ในท้องสิงห์อย่างเดียว พอมาถึงตำนานพระธาตุแหลมลี่ก็เปลี่ยนมาเป็นนำกระอูบใส่ไว้ในปราสาทเวไชยนต์ตั้งบนหลังช้างเอราวัน ตั้งบนไถลคำ(ถาดทองคำ)บนหินรูปเรือสำเภาหงายอยู่ใต้ระดับพื้นน้ำยม และมีท้าวจตุโลกบาลรักษาทั้ง ๔ ทิศ แสดงให้เห็นว่าคลี่คลายรูปแบบการเขียนมากขึ้น สังเกตได้ว่าตำนานให้ความสำคัญกับพระอินทร์ เนื่องจากช้างเอราวันเป็นช้างทรงของพระอินทร์ ปราสาทเวไชยนต์เป็นปราสาทที่ประทับของพระอินทร์ รวมถึงท้าวจตุโลกบาลหรือท้าวทั้ง ๔ ที่รักษาทั้ง ๔ ทิศก็เป็นบริวารของพระอินทร์ หรือการกล่าวถึงแม่น้ำยมที่รอบเกาะดอนพระธาตุก็เป็นสระอโนดาต คล้ายกับคติจักรวาลโดยใช้พระธาตุแหลมลี่เป็นศูนย์กลางจักรวาลของเมืองลอง เหมือนดั่งในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวไว้ว่าพระเจดีย์หลวง เป็นศูนย์กลางจักรวาลของเมืองเชียงใหม่ และเปรียบเสมือนเป็นพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ของพระอินทร์

เป็นไปได้ว่าผู้เขียนตำนานต้องการให้พระธาตุแหลมลี่เป็นพระธาตุศูนย์กลางของเมืองลองในยุคที่แต่งตำนาน เพราะตำนานเน้นความสำคัญของพระธาตุองค์นี้อยู่เสมอ ตลอดจนถึงพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุก็กล่าวว่าเป็นส่วนกระหม่อม มีความประเสริฐกว่าส่วนกระดูกจอมบ่าซ้ายและกระดูกจอมบ่าขวาที่ประดิษฐานอยู่ในพระธาตุขวยปูและพระธาตุปูตั้บ และเน้นความสำคัญขององค์พระธาตุแหลมลี่ไว้ในตำนานตลอดทั้งเรื่อง พระธาตุแหลมลี่จึงเสมือนเป็นตัวแทนของพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังปรากฏการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระอินทร์อยู่เสมอ อีกทั้งตำนานมีการเน้นย้ำความสำคัญของวัดพระธาตุแหลมลี่อีกหลายแห่ง ทั้งสถาปนาให้เป็นเมืองมหาธาตุหรือเวียงพระธาตุมีคูน้ำล้อมรอบ เหมือนกับเวียงพระธาตุที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เมืองลำปาง หรือวัดพระธาตุจอมทอง เมืองพะเยา

เนื้อหาที่ปรากฏในตำนานเมืองลองตอนต้น(แหลมลี่ ขวยปู ปูตั้บ ไฮสร้อย) มีลักษณะการเขียนตามจารีตแล้วจึงเชื่อมต่อเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างพระธาตุทั้ง ๓ องค์เข้าไป ตำนานแบ่งออกเป็น ๔ ตอน(กัณฑ์) มีการระบุไว้อย่างชัดเจน ดังนี้ ตอนแรกกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาและกล่าวพุทธทำนาย ตอนที่ ๒ กล่าวถึงพระเจ้าอโสกนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในทั้ง ๓ แห่ง กล่าวถึงผู้สร้างและบูรณะพระธาตุทั้ง ๓ องค์ ตอนที่ ๓ กล่าวถึงอนาคตผู้ที่จะมาขุดดอนพระธาตุให้เป็นเมืองมหาธาตุ ชุมนุมธาตุ และตอนสุดท้าย สั่งให้ดูแลเอาใจใส่พระธาตุ และกล่าวสรุปพระธาตุแต่ละองค์ว่าเป็นพระธาตุประจำพระพุทธเจ้าพระองค์ใด

ในตอนแรกที่ตำนานกล่าวถึงพระพุทธเจ้าสระเด็จขึ้นมาแต่เมืองอาไลยราโม (ตำนานพระธาตุทุ่งยั้งให้รายละเอียดเพิ่มว่าเมืองอาไลยราโมคือเมืองสังคโลก(สวรรคโลก)) มาจากจอมเขาเจตขน(เจตขต) เพื่อมาโปรดพญาลัมพกัณณราช ที่เทพปุระนิคม สะท้อนให้เห็นว่าตำนานใช้พระพุทธเจ้าเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่นำพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในเมืองลอง คือมาจากเขา(อาจเป็นเขาลูกใดลูกหนึ่งจาก ๒ ลูกภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย)ในเมืองสังคโลกหรือศรีสัชนาลัยผ่านขึ้นมาเผยแพร่พุทธศาสนาในชนบทที่ชื่อเทพปุระนิคมหรือเทวะนิคม คือบริเวณพระธาตุขวยปูในปัจจุบัน โดยพญาลัมพกัณณราชอาจเป็นเจ้าเมืองลำปางที่มารอรับผู้เผยแพร่พุทธศาสนาที่เทพปุระนิคม อันเป็นเขตปลายแดนของเมืองลำปาง หลังจากนั้นก็มาอยู่เหนือดอยปูตั้บโดยพญาอาไลยราโม เจ้าเมืองศรีสัชนาลัย ถวายเข้าบิณฑิบาตร ๗ วัน ดังนั้นการเสด็จมาของผู้เผยแพร่พุทธศาสนาก็มีเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยตามมาด้วยหรือเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่า ผู้ที่มาเผยแพร่ศาสนาอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย จนกระทั่งไปถึงดอนลี่เหลี้ยม(แหลมลี่) จึงพบพญาสถัมพหุลี(พญาสถัมพา) เจ้าเมืองเมืองเววาทภาษิต(เมืองลอง)กำลังทำไร่ฝ้ายอยู่ แล้วจึงเทศนาธรรมที่ชื่อว่า “สารัมมจิตตสูตร” ตามพุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในภัทรกัปป์นี้ต้องมาเทศนาที่นี้ คือการเผยแพร่พุทธศาสนาหรือบอกเรื่องราวต่างๆ ให้เจ้าเมืองลองที่เป็นหัวหน้าผู้คนในเมืองลองนี้ได้ทราบก่อน และสิ่งที่สะท้อนออกมาจากตำนานอีกประการหนึ่งก็คือเส้นทางการคมนาคมในอดีต ที่มีการติดต่อกันของหัวเมืองต่างๆ ตามรายทางแม่น้ำยม เช่น เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย เมืองตรอกสลอบ เมืองลอง เมืองแพร่ เมืองสอง และเมืองสะเอียบ เป็นต้น หรืออีกประการหนึ่งก็คือวัฒนธรรมจากภายนอก โดยเฉพาะคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ขึ้นมาตามเส้นทางนี้จนเข้าสู่เมืองลอง

ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๘

วิพากษ์ตำนานเมืองลอง (ต่อ) ต่อมาตำนานได้กล่าวถึงการนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ทั้ง ๓ แห่งโดยพระเจ้าอโสกราช ตำนานอาจหมายถึงกษัตริย์หรือเจ้าเมืองทางใต้อาณาจักรล้านนาที่ขึ้นมา แม้ว่าตำนานไม่ได้บอกทิศทางที่มาของพระเจ้าอโสกราชแต่สังเกตจากเส้นทางการเดินทางมาจากทางทิศใต้คือเมืองศรีสัชนาลัย และขึ้นตั้งทัพอยู่ ๓ แห่งภายในเมืองลองแล้วจึงนำพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ โดยตำนานกล่าวว่าเริ่มบรรจุที่พระธาตุขวยปูก่อน แล้วขึ้นมาที่พระธาตุปูตั้บ และสุดท้ายมาบรรจุที่พระธาตุแหลมลี่ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือสุด และตำนานได้กล่าวว่าถึงผู้ทำการบูรณะพระธาตุแหลมลี่ในพ.ศ.๒๑๓๐(จ.ศ.๙๔๙) คือพญามิเนยยะ(พญามิเนยโย) เจ้าเมืองลอง พระภิกษุ ๒ รูปนามว่าพระจิตตะกโรและพระเทวะเถร พร้อมกับนักบุญชาวเมืองลองทั้งหลายในปี ภายหลังพญาจังโกปัฏฏะ เจ้าเมืองฝาง(ปัจจุบันอยู่ในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์) ได้ทราบข่าวว่ามีพระธาตุแหลมลี่อยู่ในเมืองลองก็ได้มาสักการบูชาและบูรณะพระธาตุ โดยขุดเอาพระบรมสารีริกธาตุจากขวยปูและปูตั้บมารวมไว้ที่พระธาตุแหลมลี่ อาจเป็นไปได้ว่า ระยะเวลานั้นพระธาตุขวยปูและพระธาตุปูตั้บทรุดโทรมจึงได้นำมารวมไว้ที่เดียวดั่งตำนานกล่าวเพื่อสะดวกต่อการรักษา

ภายหลังจึงสร้างพระธาตุขวยปูและพระธาตุปูตั้บบนฐานเดิมอีกครั้ง พระธาตุขวยปูมีหลักฐานการบูรณะเก่าสุดโดยพระมหาเถรเจ้าวัดนาตุ้มแต่ไม่ได้ระบุปีที่ทำการบูรณะ ต่อมาชำรุดเนื่องจากฟ้าผ่าพระมหาเถรเจ้าอินต๊ะ วัดพระยืน เมืองลำพูนมาทำการบูรณะ ต่อมาทรุดโทรมอีกไปตามกาลเวลาพระครูญาณวิลาศ(ครูบานันตา) วัดพระธาตุขวยปู เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต(เจ้าน้อยบุญทวงศ์ ณ ลำปาง) เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ ๑๒ (พ.ศ.๒๔๔๐ - ๒๔๖๕) เป็นองค์ประธานฝ่ายฆราวาสทำการบูรณะเมื่อปีพ.ศ.๒๔๔๖ ส่วนพระธาตุปูตั้บหลักฐานการบูรณะเก่าสุดเมื่อปีพ.ศ.๒๔๐๙ โดยพระครูอาโนชัยธรรมจินดามุนี(ครูบาอโนชัย) วัดปงสนุกเหนือ เมืองนครลำปาง และบูรณะครั้งล่าสุดในปีพ.ศ.๒๕๑๕ ดังนั้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพระธาตุแหลมลี่จึงเป็นพระธาตุองค์เดียวที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเมืองลองมากที่สุด

นอกจากนี้ตำนานยังกล่าวถึงพญาจังโกปัฏฏะ เจ้าเมืองฝาง ได้ให้ขุดเอายนต์มาหล่อเป็นพระเจ้าสิกขี สันนิษฐานว่าพระเจ้าสิกขีองค์นี้คือพระเจ้าฝนแสนห่า ที่เก็บรักษาไว้ที่วัดนาหลวง ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ในปัจจุบัน เนื่องจากการสัมภาษณ์ผู้ทำนาของพระธาตุแหลมลี่ที่บ้านนาหลวง ทราบว่าชาวบ้านนาหลวงอพยพมาจากบริเวณหมู่บ้านแหลมลี่ทางทิศตะวันตกของวัดพระธาตุแหลมลี่แล้วนำเอาพระพุทธรูปทองสำริดและฆ้องอุ้ยมาด้วย กรอปกับนาพระธาตุดังที่ตำนานกล่าวปัจจุบันอยู่ด้านทิศใต้บ้านนาตุ้มหมู่ที่ ๒ เดิมเป็นที่นาของชาวบ้านนาหลวงเป็นผู้ทำนา จึงเป็นสอดรับกับตำนานว่าชาวบ้านนาหลวงเป็นข้าพระธาตุแหลมลี่ ที่พญาพรหมกุลี เจ้าเมืองลองได้กัลปนาไว้ ๑๐๐ ครัวเรือนในปีพ.ศ.๒๑๖๗ อีกทั้งยังสอดรับการจารีตของชาวเมืองลองยึดถือว่าถ้าชาวบ้านนาหลวงไม่ได้นำเครื่องไทยทานแห่ขบวนเข้าวัดพระธาตุแหลมลี่ก่อนในวันสรงน้ำพระธาตุ(เดือนหกเป็ง)จะขึดเกิดอาเพศได้ ผู้ที่ไปร่วมงานจะตกแม่น้ำยมตาย หลังจากบูรณะเสร็จพญาจังโกปัฏฏะ เจ้าเมืองฝางได้ไปเป็นเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย จากตำนานสามารถเป็นภาพสะท้อนให้เห็นการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างหัวเมืองปลายอาณาจักร โดยเฉพาะในช่วงพม่าปกครองล้านนา เมืองลองที่เป็นหัวเมืองบริวารชายขอบของล้านนาจึงมีการติดต่อกันกับหัวเมืองอื่นๆ ที่อยู่ทางตอนใต้ลงไปอย่างเมืองฝางและเมืองศรีสัชนาลัย อันเป็นหัวเมืองบริวารชายขอบทางทิศเหนือของอาณาจักรอยุธยา

ในส่วนที่ตำนานกล่าวถึงเมืองศิริกุกุฏฏะไก่เอิ้กนั้น ว่าเป็นอีกชื่อหนึ่งของเมืองลอง สันนิษฐานว่าหมายถึงเมืองลองเก่าบริเวณบ้านไฮสร้อยในปัจจุบัน เนื่องจากตำนานได้ระบุว่าพระธาตุไฮสร้อย(มหาธาตุกลางเมือง)เป็นพระธาตุประจำพระกกุสันธะและพระโกนาคมนะ ดังนั้นเมืองที่เป็นพระธาตุประจำพระกกุสันธะจึงมีชื่อเป็นเมืองศิริรกุกกุฏฏะไก่เอิ้กด้วย ชื่อนี้ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายในตำนานกลุ่มเมืองลำปางที่หมายถึงเป็นชื่อหนึ่งของเมืองลำปางอีกเช่นกัน แต่เดิมมีการสันนิษฐานว่าตำนานกลุ่มนี้เขียนขึ้นโดยชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาไว้ในเมืองนครลำปางเมื่อปีพ.ศ.๒๓๔๗ เพราะได้รับอิทธิพลจากชื่อแม่น้ำกกหรือแม่น้ำกกุนที แต่เมื่อพบตำนานเมืองลองที่ถูกคัดลอกไปที่วัดเจดีย์หลวง เมืองนครเชียงใหม่จารขึ้นในปีพ.ศ.๒๓๔๒(จ.ศ.๑๑๖๑) ก่อนชาวเชียงแสนถูกต้อนมาไว้ที่ลำปาง ๔ ปี ดังนั้นตำนานเมืองลองที่แต่งในเมืองลองจึงมีมาก่อนชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาในรุ่นนี้

ตำนานตอนที่ ๒ คือตำนานพระธาตุดอนคำพงอ้อ(พระธาตุร่องอ้อ) หรือพระธาตุศรีดอนคำในปัจจุบัน ตำนานนี้เป็นตำนานที่แยกออกมาต่างหากจากตำนานพระธาตุตอนต้น โครงเรื่องเน้นพระราชประวัติของพระนางจามเทวี สังเกตได้ว่าตำนานตอนต้นที่กล่าวมาแล้วมีอิทธิพลจากแว่นแคว้นทางใต้ขึ้นมา แต่ตำนานตอนที่ ๒ นี้เป็นตำนานที่รับอิทธิพลมาจากทางตอนเหนือผ่านเมืองเขลางค์(ลำปาง)ลงมา ถึงแม้ว่าตำนานกล่าวถึงพระนางจามเทวีหลงทางมาทางแม่น้ำยม คราวเสด็จขึ้นมาครองเมืองหริภุญไชยตามแม่ปิงก็ตาม แต่ตำนานอื่นๆ เช่น จามเทวีวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ กลับไม่ได้กล่าวถึงการเสด็จหลงทางมาตามลำน้ำยมแต่อย่างใด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผู้เขียนตำนานภายในเมืองลองลากเรื่องราวให้เชื่อมโยงกันเพื่อสร้างความชอบธรรมและความสำคัญของพื้นที่ที่ตำนานกล่าวถึง และเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลเมืองหริภุญไชย(ลำพูน)ผ่านมาทางเมืองเขลางค์นคร(ลำปาง)เข้ามาสู่เมืองลอง

ตำนานฉบับนี้เริ่มกล่าวถึงปีพ.ศ.๒๑๔๒ พระมหาสังฆราชา วัดฟ่อนสร้อย เมืองเชียงใหม่ เดินจาริกแสวงบุญมานมัสการพระธาตุขวยปู พระธาตุปูตั้บ และพระธาตุแหลมลี่ แล้วมาพักอยู่ที่วัดม่วงเลียง สันนิษฐานว่าคือวัดม่วงคำหรือวัดโกนหลวง(ร้าง) อยู่ทิศเหนือของวัดพระธาตุแหลมลี่และทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านไฮสร้อยในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่าพระธาตุทั้ง ๓ องค์สร้างขึ้นก่อนพระธาตุศรีดอนคำ และสันนิษฐานว่าเขียนตำนานกลุ่มแรกขึ้นก่อนการสร้างพระธาตุศรีดอนคำเสร็จ(เริ่มสร้างครั้งสุดท้ายปีพ.ศ.๒๒๑๕) เนื่องจากหากแต่งตำนานภายหลังจากพระธาตุศรีดอนคำสร้างเสร็จ ตำนานต้องกล่าวถึงพระธาตุศรีดอนคำเป็นหนึ่งในพระธาตุประจำพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในภัทรกัปนี้ แต่ตำนานตอนต้นกลับไม่ได้กล่าวถึงพระธาตุศรีดอนคำเลย อีกทั้งย้ำในตอนท้ายว่าในเมืองลองมีพระธาตุเพียง ๔ องค์ และเนื่องจากพระธาตุไฮสร้อยเก่าที่สุดและร้างไป ผู้เขียนตำนานจึงไม่ทราบถึงประวัติที่มาจึงยกให้เป็นพระธาตุประจำพระพุทธเจ้ากกุสันธะและโกนาคมนะ ที่เคยเป็นพระธาตุที่เจริญรุ่งเรืองมาแล้วในอดีตดังปรากฏในตำนานว่า

“แห่งดอยพูทับหั้น เมื่อพระเมตเตยย์เจ้าจักมาพายหน้า มหาธาตุเจ้ารุ่งเรืองมากนักมีหั้นชะแล แห่งขวยปูแช่ฟ้านั้น เมื่อพระเจ้ากัสสปะนั้นเปนมหาธาตุเจดีย์รุ่งเรืองที่ ๑ แล้ววันนั้นแล แห่งวัดไรส้อยกิ่งย้อยนั้น เปนมหาธาตุแห่งพระเจ้ากกุสันธะ แลพระโกนาคมนะแล้ววันนั้นแล ในเมืองลองอันเปนพุทธภูมวิเสสแล วิตฺถารมฺมวนฺทานา วตฺถุฬาน เปนที่พระสัพพัญญูเจ้า มารอดจอดอยู่ปูชาสการคารวะ เข้าใน ๘ หมื่น ๔ พันหลัง เท่ามี ๔ หลังนี้แล...”

อีกสาเหตุหนึ่งที่พระมหาสังฆราชา วัดฟ่อนสร้อย เดินทางออกจากเมืองเชียงใหม่ คือ “พ่ายลาวหลวงเข้าแพงนัก” ในตำนานพระธาตุลำปางหลวงก็ปรากฏคำนี้หมายถึงชาวลาวเมืองหลวงพระบาง ซึ่งสอดรับกันเป็นอย่างดีว่าช่วงนี้ชาวลาวเมืองหลวงพระบางได้เข้าตีเมืองเชียงใหม่จนเกิดข้าวยากหมากแพงขึ้น ดังตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า “...สก ๙๖๐ ตัว(พ.ศ.๒๑๔๑) ปลีเปิกเส็ด ลาวหนีเสียเมืองหงสามาตกเชียงใหม่...” พระมหาสังฆราชาเมื่อเดินทางมาถึงเมืองลองในพ.ศ.๒๑๔๒ ได้มีหมื่นจ่าลอง บ้านนา มานมัสการ เป็นไปได้ว่าหมื่นจ่าทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในเมืองลอง เมื่อทราบว่ามีพระเถระชั้นผู้ใหญ่มาจากเมืองเชียงใหม่จึงมาต้อนรับพระมหาสังฆราชา

ส่วนตำนานตอนนี้ที่กล่าวถึงพระนางจามเทวี ผู้แต่งได้หยิบยืมมาจากตำนานพระธาตุหริภุญไชย “...คำทังมวลก็ด้วยนิยมดั่งตำนานหริภุญไชยนั้นชู่ประการแล...” ตำนานเหล่านี้มีต้นเค้ามาจากตำนานบอกเล่าอยู่ในเมืองลองอยู่ก่อนแล้วที่เกี่ยวกับพระนางจามเทวี เช่น ตำนานอธิบายที่มาชื่อของหมู่บ้านนาอุ่นนอง บ้านนาตุ้ม บ้านไฮสร้อย เป็นต้น ผู้แต่งตำนานพระธาตุศรีดอนคำจึงได้อธิบายถึงการเปลี่ยนชื่อจากเมืองเววาทภาษิต มาเป็นเมืองลองในสมัยพระนางจามเทวี เพื่อเน้นย้ำความเก่าแก่ของเมืองลอง ในส่วนการอธิบายถึงพระนางจามเทวีมาที่เมืองลองหรือการสร้างเมืองเชียงใหม่(ที่จริงคือเมืองเขลางค์)ให้พระโอรสของพระนางจามเทวี ผู้เขียนตำนานก็ดูสับสนเนื่องจากอาจไม่ทราบตำนานที่หยิบยืมมาอย่างถ่องแท้

และการที่ผู้เขียนตำนานพระธาตุศรีดอนคำไม่ได้กล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า เนื่องจากตำนานตอนแรก(ตำนานพระธาตุแหลมลี่)ได้กล่าวเชื่อมโยงถึงการเสด็จมาเมืองลองของพระพุทธเจ้าในขณะนั้นมีชื่อว่าเมืองเววาทภาษิต ดังนั้นตำนานพระธาตุศรีดอนคำจึงไม่ต้องกล่าวซ้ำ และได้นำเนื้อความตำนานตอนที่ ๒ เข้าไปต่อกับตำนานตอนแรก แล้วอธิบายต่อว่าช่วงสมัยของพระนางจามเทวีเสด็จมาเมืองนี้มีชื่อว่าเมืองเววาทภาษิต แล้วได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองลองในสมัยที่พระนางจามเทวีเสด็จมาถึงเมืองลอง ลักษณะโครงเรื่องของตำนานตอนที่ ๒ คล้ายกับตำนานพระธาตุเสด็จ เมืองลำปาง ที่ไม่กล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าแต่อ้างเชื่อมโยงกับพระธาตุลำปางหลวง ดังนั้นผู้แต่งตำนานตอนที่ ๒ ต้องได้อ่านตำนานตอนแรกก่อนแต่งตำนานตอนที่ ๒ แล้วนำมาต่อกันเป็นตำนานเมืองลอง ส่วนตำนานตอนแรกที่เรียกว่าตำนานพระธาตุแหลมลี่ที่แต่งอยู่ก่อนแล้ว ก็ยังคงมีการคัดลอกภายในเมืองลองควบคู่ไปกับฉบับที่รวมไว้ ๒ ตอน ดังนั้นในปัจจุบันจึงทำให้พบบางฉบับที่จารคัดลอกมีเพียงตอนเดียวและบางฉบับมีจารคัดลอกครบทั้ง ๒ ตอน ส่วนที่ระบุปีจุลศักราชผู้เขียนตำนานได้ระบุไว้ว่าผู้รู้ท่านได้กล่าวไว้ สันนิษฐานว่าผู้แต่งได้หยิบยืมเรื่องราวที่บันทึกไว้ก่อนหน้านี้มาเขียนเป็นตำนาน เหมือนกับผู้แต่งตำนานพระธาตุลำปางหลวงที่หยิบยืมเนื้อหาจากศิลาจารึกของเจ้าหมื่นคำเพชรและศิลาจารึกของเจ้าหานสีทัตถ์มหาสุรมนตรี เจ้าเมืองลำปาง มาแต่งขึ้นเป็นตำนานพระธาตุลำปางหลวง ผู้เขียนจะได้กล่าวรายละเอียดเรื่องนี้ต่อไปในภายหลัง

หลังจากหมื่นจ่าลองได้ทราบเรื่องราวของพระธาตุศรีดอนคำจากพระมหาสังฆราชา วัดฟ่อนสร้อยในปีพ.ศ.๒๑๔๒ แล้ว ต่อมาพระมหาป่าเจ้าดอนลี่เหลี้ยม(วัดพระธาตุแหลมลี่)ทราบว่ามีพระบรมสารีริกธาตุก็มาจำสงัดคอยดูก็เห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จกระทำปาฏิหาริย์ จึงเอาก้อนหินมาก่อเป็นที่สังเกตไว้ ตำนานตอนนี้ทำให้ทราบว่าวัดพระธาตุแหลมลี่เป็นวัดอรัญวาสี และมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ จนกระทั่งปีพ.ศ.๒๑๖๗ (กาบใจ้) มีพระสังฆราชาเจ้า วัดยอดใจ เมืองแพร่ ได้มาเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำ ได้ขอเขตแดนพระธาตุกับเจ้าเมืองลำปาง ขณะเดียวกันเจ้าเมืองลำปางก็ให้การอุปถัมภ์ในส่วนสิ่งของวัสดุก่อสร้าง แต่เมื่อก่อสร้างได้ถึงฐานเขียง ๓ ชั้นก็ต้องหยุดการก่อสร้างเนื่องจาก “พระญาน่านฟื้นม่านไปตกเมืองใต้” เรื่องพญาเจ้าน่านฟื้นม่าน(พม่า)นี้เป็นใหญ่มีผลกระทบไปทั่วทุกเมือง จึงรับรู้กันไปถึงเมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย และเห็นได้จากหัวเมืองขนาดเล็กอย่างเช่นเมืองลองก็ไม่สามารถสร้างพระธาตุศรีดอนคำต่อไปได้ต้องปล่อยทิ้งไว้ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานพื้นเมืองเชียงแสน ตำนานพื้นเมืองเชียงราย และตำนานพื้นเมืองน่านได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า

“...ศก ๙๘๗ ตัว(พ.ศ.๒๑๖๘) ปลีดับเป้า เมืองน่านฟื้นพระเจ้าสุทโธซ้ำไพเอาเมืองน่านได้...” (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่)

“...จุฬสักกพทได้ ๙๘๖ ตัวปีกาบใจ้(พ.ศ.๒๑๖๗) พระญาเชียงของฟื้นเจ้าภวมังทราแล ท่านก็แต่งหื้อเจ้าฟ้าสุทโธอังวะกับอุปราชามังแรทิพพ์ตนน้อง ขับเอาทัพขึ้นมาตั้งอยู่ที่นี้แล้ว ก็ยกล่องรบเชียงของเดือน ๑๒ ออก ๙ ฅ่ำ ได้แล ปีดับเป้า (พ.ศ.๒๑๖๘) ลุนนั้น เมืองน่านซ้ำฟื้นแถม ก็ยกทัพลงรบเมืองน่านได้แล้ว ฅืนมาตั้งอยู่เชียงแสนแถมแล้ว...” (ตำนานพื้นเมืองเชียงแสน)

“...สกพท ๙๘๗ ตัว(พ.ศ.๒๑๖๘) เมืองน่านฟื้น ซ้ำไปเอาเมืองน่านได้...” (ตำนานพื้นเมืองเชียงราย เชียงแสน)

“...สักกพท ๙๘๕ ตัว (พ.ศ.๒๑๖๖) ปีก่าใค้ เดือน ๑๒ เพ็ง เม็งวัน ๖ ฟื้นม่านหนีไปเมืองใต้ เดือน ๑๒ แรม กวาดเอากองหานเมือหงสา

ปีกาบใจ้ สักกพทได้ ๙๘๖ (พ.ศ.๒๑๖๗) เดือน ๑๐ ออก ๕ ค่ำ วัน ๓ ยามพลันรุ่ง โจรนาหลังพัวมาคุมเอาเมือง ฟ้าลายข้าหนีไปเมืองแพร่ เดือน ๑๒ ออก ๘ ค่ำ วัน ๓ อุ่นเมืองลุกล้านช้างมารอดตั้งอยู่วัดอุทธยานน้อย เดือน ๑๐ ออก ๑๐ ค่ำ วัน ยามแตรจักใกล้สู่เที่ยงวัน อุ่นเมืองยกเข้านั่งเมืองแล เดือนยี่เพ็ง วัน ๓ ยามตูดเช้า ชาวน่านหนี อุ่นเมืองก็หนี พระราชาคุรุเจ้าทัง ๒ ก็หนีทังลูกสิกข์แลสีลบาลแช่แห้ง สรีบุญเรืองหนีเมือล้านช้างทางบ่อว้า ลุงเจ้าฟ้าก็กวาดเอาชาวน่านไปหงสา ชาวน่านลวดฉิบหายเสี้ยงวันนั้นแล

ปีดับเป้า สักกพทได้ ๙๘๗ ตัว (พ.ศ.๒๑๖๘) เดือน ๔ ออก ๕ ค่ำ ฤกษ์ ๒๒ ตัว ชื่อภูมิบาล พระญาเมืองนคอรเข้าทางปะตูท่าช้าง มานั่งเมืองน่านแล...” (ตำนานพื้นเมืองน่าน)

สังเกตได้ว่าพื้นเมืองน่านที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุการณ์ จะระบุวัน เวลา อย่างละเอียด แต่ปีเกิดเหตุการณ์จะเร็วไป ๒ ปี คือพื้นเมืองน่านระบุว่าฟื้นม่านปีพ.ศ.๒๑๖๖ แต่พื้นเมืองอื่นโดยรอบระบุตรงกันว่า พ.ศ.๒๑๖๘ อาจเนื่องมาจากพื้นที่ที่ได้รับผมกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีช่วงเวลาไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าปีศักราชที่ระบุคลาดเคลื่อนกัน แต่ก็ทำให้เห็นภาพเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่าวุ่นวายทุกหัวเมืองรวมทั้งมีผลกระทบต่อเมืองลองด้วย แต่ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือเมื่อพญาเจ้าเมืองเชียงของฟื้นม่าน(ประกาศอิสระจากพม่า)ในปีพ.ศ.๒๑๖๗ ตรงกับปีที่เริ่มก่อสร้างพระธาตุกลับไม่มีผลกระทบต่อเมืองลอง อาจด้วยเมืองเชียงของเป็นหัวเมืองขนาดเล็ก อยู่ห่างไกลจากเมืองลองมาก และเหตุการณ์ไม่ใหญ่โตขยายเป็นวงกว้าง จนกระทั่งก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำได้ ๑ ปีจึงมีเหตุการณ์เมืองน่านฟื้นม่านขึ้นและมีผลกระทบกับเมืองลองโดยตรง เพราะในปีพ.ศ.๒๑๖๘ พญาเจ้าเมืองลำปางได้เป็นเจ้าเมืองน่านแทนเจ้าอุ่นเมือง เจ้าเมืองน่าคนเก่า ประกอบกับเมืองลองขึ้นอยู่กับเมืองลำปางด้วยความสัมพันธ์เดิมที่เจ้าเมืองลองมีต่อเจ้าเมืองลำปางคนก่อนที่ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองน่าน เมืองลองอาจเข้าร่วมศึกในครั้งนี้ด้วย จึงทำให้ต้องหยุดการก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำถึงเพียงแค่ฐานเขียง ๓ ชั้น

ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๙

วิพากษ์ตำนานเมืองลอง (ต่อ) เมื่อเหตุการณ์ครั้งนี้สงบลงเจ้าเมืองลำปางคนเดิมได้ไปเป็นเจ้าเมืองน่าน พระธาตุศรีดอนคำจึงขาดเจ้าเมืองอุปถัมภ์การก่อสร้าง กรอปกับบ้านเมืองมีเหตุการณ์วุ่นวายตลอดจึงทำให้ต้องสร้างค้างไว้ ๒๕ ปี จนกระทั่งมาเริ่มก่อสร้างอีกครั้งในปีพ.ศ.๒๑๙๓ โดยมีพระสังฆราชา วัดท่อนน้อย เมืองแพร่ กับพระหลวงเจ้า วัดดอนไฟ เมืองลำปาง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เจ้าเมืองแพร่และเจ้าเมืองลำปาง เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มีการขออนุญาตเขตแดนพระธาตุและวัดอีกครั้งต่อเจ้าเมืองลำปาง ก็ได้รับการอนุญาตตามที่เจ้าเมืองลำปางคนก่อนอนุญาต จากตำนานต่างๆ สังเกตได้ว่าในช่วงนี้หัวเมืองในล้านนาเริ่มกลับเข้าสู่ความสงบอีกครั้ง ดังตำนานพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่าทั้งเมืองเชียงใหม่และเมืองฝางเริ่มรุ่งเรืองกลับขึ้นมา ด้วยช่วงระยะเวลานี้บ้านเมืองเป็นปกติสุขจึงเริ่มก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำต่อจากที่สร้างค้างไว้ โดยการอุปถัมภ์จากทั้งเมืองแพร่และเมืองลำปาง แต่แล้วเมื่อสร้างต่อมาอีก ๙ ปีถึงปีพ.ศ.๒๒๐๒ ก็ต้องหยุดการสร้างไว้อีกเป็นครั้งที่ ๒ โดยตำนานระบุเพียงแค่ว่า

“...สราช ๑๐๒๑ ตัว ปีกัดเร้า(ที่ถูกเป็นปีกัดใค้) เดือนเจียง แรม ๔ ฅ่ำ วัน ๓ (วันอังคาร) ยามแตรจักใกล้รุ่งค้านเสียแล...”

เมื่อตำนานเมืองลองไม่ระบุสาเหตุที่ทำให้หยุดก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำ จึงได้ตรวจสอบกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ทำให้ทราบว่าในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ คือ พ.ศ.๒๒๐๓(จ.ศ.๑๐๒๒) มีกองทัพจากอยุธยาขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่ทำการตีไม่สำเร็จจึงเคลื่อนทัพไปตีเมืองเชียงแสน ดังกล่าวไว้ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และตำนานพื้นเมืองเชียงแสนว่า

“...สก ๑๐๒๒ ตัว ปลีกดใจ้ ชาวใต้ยอพลขึ้นมารบเมืองเชียงใหม่ บ่ได้ เชียงแสนพ่ายชาวใต้ปลีนั้น...”

“...สักกราชได้ ๑๐๒๒ ตัว พ่ายชาวใต้อโยธิยาปางเมื่ออุปราชาตนชื่อว่า เอกาทศรถ ขึ้นมาปราบได้เมืองเชียงใหม่ แล้วมาเอาเมืองฝางได้ แล้วมาตั้งอยู่เมืองฝางนั้นแล ชาวเมืองเชียงแสนเหล่านี้ก็พากันไป ตอมรอมกันอยู่ในป่าหนใต้ ที่หว่างกลางเชียงของกับสวนดอกนั้น ลวดตั้งเวียงพรางอยู่หั้น ที่นั้นลวดได้ชื่อว่า เวียงเชียงแสนน้อย ว่าอั้นแล เช่นนี้เมืองเชียงใหม่แลเมืองฝางก็ได้เปนลุกเมืองใต้อโยธิยาเล่าแล...”

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กับตำนานเชียงแสนให้ข้อมูลตรงกันว่าเมืองเชียงแสนแตก แต่ขัดกันตรงส่วนที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าเมืองเชียงใหม่ไม่แตก แต่ตำนานพื้นเชียงแสนกล่าวว่าเมืองเชียงใหม่และเมืองฝางแตก ส่วนตำนานพื้นเมืองน่านนั้นไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวในช่วงนี้ ขณะที่เรื่องราวเหตุการณ์ของเมืองลำปาง เมืองแพร่ หรือเมืองลองช่วงนี้ก็ไม่ได้กล่าวไว้ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ แต่ปรากฏในพระราชพงศาวดารอยุธยาว่าในปีศักราช ๑๐๒๒ (พ.ศ.๒๒๐๓) รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กษัตริย์อยุธยา ได้ขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อทราบว่าเป็นกลลวงของพญาแสนหลวง เมืองเชียงใหม่ที่ส่งคนมาล่อลวงทัพอยุธยาขึ้นไป กองทัพอยุธยาจึงได้เข้าตีเมืองลำปางและเมืองเถินก่อนเพราะทั้งสองเมืองขึ้นตรงต่อเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเชดกายแลแหงกับชายฉกรรจ์ก็ออกมาสวามิภักดิ์ต่อกองทัพอยุธยา ส่วนเจ้าฟ้าหลวงลายข้า เจ้าเมืองลำปางหนีไปพึ่งเมืองเชียงใหม่ เมื่อยึดเมืองลำปางและเมืองเถินได้แล้ว กองทัพอยุธยาได้ให้พระยานครราชสีมา พระราชสุภาวดี และพระสุพรรณบุรียกกองกำลังไปตีเมืองตัง(ต้า) และพระยามหาเทพ ขุนหมื่นข้าหลวง และพลทหารอีก ๕๐๐ คนยกมาตีเมืองลอง กองทัพอยุธยาจึงได้แสนเมืองลอง เจ้าเมืองลอง กับไพร่พลชายฉกรรจ์ชาวเมืองลอง ส่วนทางเมืองต้าได้สังฆราชาเขมราช หมื่นจิตร เจ้าเมืองต้า พร้อมกับไพร่พลจำนวน ๖๘ คน มาไว้ที่เมืองพิษณุโลก ประกอบกับนอกจากเกิดเหตุการณ์ศึกกวาดต้อนจากอาณาจักรอยุธยา ในปีพ.ศ.๒๒๐๒ เจ้าเมืองแพร่ผู้อุปถัมภ์การก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำก็ได้ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

จากเหตุการณ์ปีพ.ศ.๒๒๐๓ ที่กองทัพอยุธยาได้ขึ้นมาตีได้เมืองลำปาง เมืองเถิน เมืองลอง และเมืองต้า แม้ว่าตำนานพระธาตุศรีดอนคำไม่ได้ระบุว่าการ “ค้าน”(ออกเสียงว่า “ก๊าน” หมายถึง “แพ้”)หรือที่ต้องหยุดก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำเพราะเหตุใด แต่สามารถทราบจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และทราบรายละเอียดจากพระราชพงศาวดารอยุธยาว่าเมืองลอง เมืองต้า รวมถึงเมืองลำปางที่เมืองขึ้นอยู่เกิดศึกสงครามกับอยุธยา ส่งผลให้หยุดการก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำอีก ๑๓ ปี ก่อนกลับมาก่อสร้างอีกครั้งในปีพ.ศ.๒๒๑๕ โดยมีครูบามหาเถรเจ้าสุททธนะ วัดนาหลวง หมื่นชินธาตุ พร้อมกับศรัทธาชาวเมืองลองทั้งหลายได้ร่วมกันก่อสร้างจนแล้วเสร็จ สะท้อนถึงสภาพบ้านเมืองของเมืองลองในช่วงเวลานี้กลับเข้าสู่ความสงบสุขอีกครั้งจึงได้ร่วมใจกันสร้างจนแล้วเสร็จ

การก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๑๖๗ ถึงเริ่มก่อสร้างครั้งสุดท้ายในปีพ.ศ.๒๒๑๕ กว่าจะแล้วเสร็จใช้เวลาทั้งหมดร่วม ๕๐ กว่าปี จากตำนานนี้ทำให้เห็นสภาพของหัวเมืองชายแดนขนาดเล็กของอาณาจักรล้านนาที่มีความผันแปรอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเมืองลองตั้งอยู่ชายแดนระหว่างแคว้นสุโขทัย(หรือภายหลังคืออาณาจักรอยุธยา)กับอาณาจักรล้านนา อีกทั้งตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออกของอาณาจักรล้านนา และเป็นทางผ่านระหว่างเมืองแพร่กับเมืองลำปาง ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยเฉพาะศึกสงครามกับเมืองลำปาง เมืองแพร่ เมืองน่าน หรือแม้กระทั่งเมืองเชียงใหม่ก็มีผลกระทบต่อเมืองลองและเมืองต้าไปด้วย เมืองลองจึงเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจให้กับชาวเมืองที่ต้องรับกับความผันแปรอยู่ตลอดเวลา ดังปรากฏมีการสร้างคติการเป็นเมืองพระมหาธาตุ มีคติบูชาพระธาตุประจำพระเจ้า ๕ พระองค์ ตลอดจนมีการแต่งตำนานเมืองลองขึ้น เพื่อใช้เป็นสื่อเน้นย้ำผลิตซ้ำวิธีคิดเหล่านี้ของกลุ่มผู้ปกครองเมืองลองในอดีต

สรุป ตำนานเมืองลองสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ตอน คือตอนแรกเป็นตำนานพระธาตุแหลมลี่ พระธาตุขวยปู พระธาตุปูตั้บ และพระธาตุไฮสร้อย ผู้แต่งตำนานคือพระมหาพุทธคุณเถร สันนิษฐานว่าเป็นพระภิกษุในเมืองลอง ส่วนในตอนที่ ๒ เป็นตำนานพระธาตุศรีดอนคำ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่สันนิษฐานว่าคือครูบามหาเถรเจ้าสุทธนะ วัดนาหลวง ผู้นำในการก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำจนแล้วเสร็จ ตำนานกลุ่มแรกแต่งขึ้นก่อนคือหลังปีพ.ศ.๒๑๖๗ เป็นปีสุดท้ายที่ปรากฏในตำนานแต่ต้องไม่ช้าไปกว่าพ.ศ.๒๒๑๕ เพราะเป็นปีที่เริ่มก่อพระธาตุศรีดอนคำครั้งสุดท้ายสำเร็จ ส่วนตอนที่ ๒ ตำนานแต่งขึ้นหลังปีพ.ศ.๒๒๑๕ แต่ต้องไม่ช้ากว่า พ.ศ.๒๓๔๒ เพราะปีนี้ปรากฏตำนานถูกรวมไว้ทั้งสองตอนและคัดลอกไว้ที่วัดเจดีย์หลวง เมืองนครเชียงใหม่ แต่ระยะเวลาของการแต่งสามารถกล่าวเป็นภาพรวมได้ว่าตำนานเมืองลองทั้งสองตอนแต่งขึ้นในช่วงสมัยพม่าปกครองล้านนา

ส่วนรูปแบบการเขียนของตำนานตอนแรก ได้รับอิทธิพลจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ผ่านตำนานพระธาตุต่างๆ ที่เขียนขึ้นในช่วงยุคทองของล้านนา ที่อยู่ในบริเวณเมืองลำปาง เมืองพะเยา เมืองน่าน และเมืองแพร่ และมีสิ่งปรากฏให้เห็นว่ามีการหยิบยืมจากตำนานบริเวณเชียงใหม่ไว้ด้วย ที่มีลักษณะรูปแบบจารีตการเขียนตำนานที่คล้ายคลึงกัน และเป็นต้นแบบการเขียนให้กับตำนานพระธาตุต่างๆ ที่สำคัญรองลงมาในตอนช่วงหลัง เช่น ตำนานพระแท่นศิลาอาสน์(พระธาตุทุ่งยั้ง) และตำนานพระธาตุในกลุ่มแรกของเมืองลอง ตำนานพระแท่นศิลาอาสน์มีรูปแบบการเขียนคลี่คลายมาจากกลุ่มตำนานช่วงยุคทอง และคงแต่งก่อนตำนานกลุ่มแรกของเมืองลองไม่นานมากนัก เพราะตำนานทั้งสองมีลักษณะการเขียนร่วมกันหลายจุดที่ไม่ปรากฏในตำนานอื่นๆ เช่น พระสาวกผู้ติดตามที่ชื่อพระเรวัตตเถร การชักพระพุทธรูปจากแม่น้ำน่านทั้งที่แม่น้ำน่านไม่ได้ผ่านเขตเมืองลอง เป็นต้น

จากตำนานกลุ่มแรกของเมืองลอง ได้คลี่คลายรูปแบบการเขียนมาจากตำนานพระแท่นศิลาอาสน์อีกชั้นหนึ่ง ตำนานฉบับนี้จึงทำให้เห็นถึงอิทธิพลต่างๆ โดยเฉพาะพุทธศาสนาจากทางใต้มาตามสายแม่น้ำยมขึ้นมาถึงเมืองลอง รวมถึงทำให้เห็นความสัมพันธ์ของเมืองต่างๆ ตามลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านที่ได้รับอิทธิพลของแคว้นสุโขทัย ขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลที่มาจากตำนานกลุ่มลำปางคือปรากฏชื่อเมืองลองว่าเมืองศิริกุกกุฏฏะไก่เอิ้ก แต่เดิมมีผู้สันนิษฐานว่ามาจากอิทธิชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาไว้เมืองนครลำปางและเมืองลองในปีพ.ศ.๒๓๔๗ แต่เมื่อพบตำนานเมืองลองฉบับจารคัดลอกไว้ที่วัดเจดีย์หลวง เมืองนครเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ.๒๓๔๒ ผู้เขียนจึงสันนิษฐานใหม่ว่าอาจเป็นอิทธิพลชาวเชียงแสนรุ่นก่อนหน้านั้นที่เข้ามาสู่เมืองลำปางและเมืองลอง หรือได้รับอิทธิพลการเขียนจากการติดต่อสัมพันธ์ของพระสงฆ์ผู้เขียนตำนานระหว่างเมืองเชียงเชียงแสน เมืองลำปาง และเมืองลอง

ส่วนตำนานตอนที่ ๒ เป็นตำนานที่แต่งขึ้นหลังจากตำนานกลุ่มแรก ตำนานกลุ่มนี้มีปีศักราชกำกับไว้แน่นอนน่าเชื่อถือกว่าตำนานกลุ่มแรก และระยะเวลาที่ตำนานเขียนสั้นๆ ประมาณ ๗๐ กว่าปี แม้ว่าในตอนต้นจะหยิบยืมเรื่องราวตำนานของพระนางจามเทวีมาเชื่อมโยงเข้ากับสถานที่ต่างๆ ในเมืองลอง แต่ใจความสำคัญของตำนานนั้นคือเหตุการณ์และปีที่ก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำ โดยใช้เรื่องราวของพระนางจามเทวีอธิบายความเก่าแก่และความสำคัญของพื้นที่ที่ตั้งองค์พระธาตุ สันนิษฐานว่าเดิมเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระนางจามเทวีมีอยู่แล้วในเมืองลองรวมถึงในเมืองลำปางด้วย เนื่องจากทั้ง ๒ เมืองนี้ปรากฏนิยมมีเรื่องเล่าประวัติสถานที่สำคัญเชื่อมโยงพระนางจามเทวี เมื่อมีการแต่งตำนานพระธาตุศรีดอนคำผู้เขียนตำนานจึงได้นำเอาเรื่องเหล่านี้ที่มีภายในท้องถิ่นมาเขียนไว้ แล้วเชื่อมต่อเข้ากับการบันทึกของท้องถิ่น ดังปรากฏมีการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ ปีศักราช วัน ยาม และข้างขึ้นข้างแรม ที่ค่อนข้างถูกต้องและละเอียดเมื่อเทียบกับตำนานจากภายนอกฉบับอื่นๆ ตำนานตอนที่ ๒ นี้จึงเป็นตำนานที่ทำให้เข้าใจเหตุการณ์และบริบทต่างๆ ของเมืองลองเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเรื่องราวของเมืองลองในยุคก่อนราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนไม่ได้กล่าวไว้ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานพื้นเมืองเชียงแสน หรือตำนานพื้นเมืองน่าน

ดังนั้นจากตำนานทั้งสองตอนที่รวมไว้เป็น “ตำนานเมืองลอง” จึงทำให้เข้าใจถึงความเป็นเมืองลองผ่านความคิดของผู้เขียนตำนานในแต่ละช่วงมากยิ่งขึ้น ทำให้เห็นอิทธิพลต่างๆ โดยเฉพาะความเจริญทางพุทธศาสนาศาสนาที่เผยแผ่ขึ้นมาจากแว่นแคว้นทางทิศใต้เข้ามาสู่เมืองลอง หรือการติดต่อสัมพันธ์ของเมืองลองกับหัวเมืองต่างๆ ทางตอนใต้ลงไป เช่น เมืองศรีสัชนาลัยและเมืองฝาง เป็นต้น ไปพร้อมกับมีการติดต่อสมัพันธ์กันกับหัวเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือด้วยกัน เช่น เมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองแพร่ และเมืองน่าน เป็นต้น

ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๑๐

วิพากษ์ตำนานของเมืองนครลำปาง ๑๐ เรื่อง ที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองลอง เมืองลำปางเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยตำนานฝ่ายศาสนา แต่ในขณะเดียวกันก็ขาดตำนานที่กล่าวถึงฝ่ายบ้านเมืองของลำปางเอง เท่าที่ผู้เขียนพบในขณะนี้ตำนานฝ่ายเมืองของลำปางมีเพียง ๓ ฉบับ คือ ตำนานเจ้าเจ็ดตนหรือตำนานปฐมมัชฌิมตำนานเมืองละคอร ที่ตัดเนื้อความมาจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์กับหอคำมงคล เขียนโดยแสนปัญญา ขุนนางเมืองนครลำปางเมื่อพ.ศ.๒๓๖๕ และปัคคทืนเชียงแสนละกอน แต่ตำนานทั้ง ๓ ฉบับมีการบันทึกเรื่องราวของเมืองนครลำปางไว้เพียงช่วงระยะสั้นๆ จึงไม่เห็นความสืบเนื่องเหมือนตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานพื้นเมืองน่าน หรือตำนานพื้นเมืองเชียงแสน ส่วนการวิพากษ์ตำนานของเมืองลำปางผู้เขียนได้เลือกเฉพาะตำนานฝ่ายวัดมาวิพากษ์ เนื่องจากตำนานฝ่ายวัดของเมืองนครลำปางมีจำนวนมากมายหลายเรื่อง แต่ทว่ายังขาดการนำมาวิเคราะห์วิพากษ์และตรวจสอบ ซึ่งมักเกิดปัญหาเมื่อนำข้อมูลจากตำนานเหล่านี้มาใช้ในงานเขียนทางประวัติศาสตร์ ตำนานฝ่ายวัดของลำปางที่ผู้เขียนเลือกมามีจำนวน ๑๐ เรื่อง คือ

๑. ตำนานพระธาตุลำปางหลวง

๒. ตำนานพระธาตุเสด็จ

๓. ตำนานพระธาตุจุมพิต (พระธาตุจอมปิง)

๔. ตำนานพระธาตุปางม่วง

๕. ตำนานวัดพระแก้วดอนเต้า

๖. ตำนานเมืองละคร (ศรีล้อมเมืองนคร)

๗. ตำนานม่อนพญาแช่

๘. ตำนานวัดกู่คำ เมืองนครลำปาง

๙. ตำนานเมืองเถิน

๑๐. ตำนานม่อนทรายนอน เมืองงาว

๑. ตำนานพระธาตุลำปางหลวง ตำนานพระธาตุลำปางหลวงเป็นตำนานที่มีเนื้อเรื่องกล่าวถึงปูชนียสถานสำคัญของเมืองลำปาง คือ พระธาตุลำปางหลวง และมีการกล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นเป็นตอนๆ ไป เช่น กล่าวถึงชื่อเจ้าเมือง ลำดับเจ้าเมือง ที่มาของเจ้าเมือง และเสนาอามาตย์ การนำเสนอของตำนานพระธาตุลำปางหลวงมีลักษณะเป็นการนำเอาเรื่องมาร้อยเรียงเป็นตอนๆ เนื้อหาบางส่วนหยิบยืมมาจากศิลาจารึกของวัดพระธาตุลำปางหลวงเข้าไว้ด้วย โดยสามารถแบ่งการวิพากษ์ออกเป็นส่วนๆ ได้ดังนี้

ตอนต้นเรื่องมีแนวการเขียนเหมือนตำนานอื่นๆ คือกล่าวถึงการเสด็จมาสถานที่แห่งนี้ของพระเจ้าพุทธเจ้าพร้อมกับผู้ติดตาม พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานเกสาให้บรรจุไว้แล้วก็ตรัสพุทธทำนาย

ต่อมาเป็นการกล่าวถึงที่มาของตำนานพระธาตุลำปางหลวง คือกล่าวว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเป็นเวลานานมาก จึงมีพระภิกษุจากเมืองมหาราชขุนน้ำพิง(เชียงใหม่) ได้เดินทางไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองอโยธิยา(อยุธยา) และได้รับทราบว่านอกจากมีพระธาตุหริภุญไชยที่เมืองลำพูนแล้ว ยังมีพระธาตุลำปางหลวงจากพระภิกษุชาวอโยธิยา พร้อมทั้งได้คัดลอกตำนานพระธาตุหริภุญไชยและตำนานพระธาตุลำปางหลวงมาจากเมืองอโยธิยาด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าทำไมพระภิกษุจากเมืองเชียงใหม่จึงไม่ทราบมาก่อนว่ามีพระธาตุลำปางหลวง แต่พระภิกษุที่เมืองอโยธิยาซึ่งอยู่ห่างไกลมากกลับมีความรู้เรื่องตำนานพระธาตุลำปางหลวงเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีตำนานไว้อีกด้วย ตำนานตอนนี้อาจเป็นเพียงต้องการแสดงให้เห็นถึงการจาริกแสวงบุญของพระเถระชาวเมืองเชียงใหม่ที่เดินทางไปไกลถึงอาณาจักรอยุธยา มากกว่าต้องการเสนอให้เห็นว่าไปทำการคัดลอกต้นฉบับตำนานทั้ง ๒ เรื่องมาจากอยุธยา

ในส่วนต่อมาของตำนานเป็นการกล่าวย้อนถึงพญาศรีธรรมโศกราช ทรงต้องการสถาปนาพระธาตุไว้ ๘๔,๐๐๐ องค์ จึงได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ที่เมืองลัมภกัปปนคร(ลำปาง) โดยก่อนหน้านี้ตำนานได้ให้รายละเอียดว่ามีการนำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน ณ ที่นี้แล้ว ๒ ครั้ง คือครั้งแรกนำมาโดยพระอรหันต์ชื่อกุมารกัสสปะ และครั้งที่ ๒ นำมาโดยพระอรหันต์ชื่อเมฆิยะ ในช่วงนี้ของตำนานพยายามเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของพระธาตุลำปางหลวง และเพื่อเป็นการสอดรับกันกับในส่วนข้างต้นที่กล่าวถึงที่มาของตำนานพระธาตุลำปางหลวง ว่ามีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานถึง ๓ ครั้ง

“...จารึกอันประจุธาตุพระเปนเจ้าไว้นั้น อันมีในเมืองหริภุญไชย ๒ ส่วน อันประจุไว้ในเมืองลัมพาง ๓ ส่วน...”

ดังนั้นอาจสันนิษฐานได้ว่าพระธาตุลำปางหลวงมีการสถาปนาขึ้นมาหลายครั้ง หลังจากตำนานกล่าวถึงตอนนี้จบได้ต่อด้วยตอนใหม่ คือ มีพญาจันทเทวราช เสวยราชสมบัติอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิ ได้ทรงทราบว่าพระธาตุลำปางหลวงที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พญาอโศกราช ทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาไว้ที่เมืองลัมภกัปปนครได้ทรุดโทรมหักพัง พระองค์ทรงอยากได้พระบรมสารีริกธาตุจึงยกทัพขึ้นมา แต่ก็มีเหตุที่นำไปแล้วพระบรมสารีริกธาตุเสด็จกลับมาที่เดิม พระองค์จึงได้ขุดหลุมประดิษฐานไว้แต่ไม่ได้สร้างพระธาตุครอบ และในตอนนี้มีการกล่าวถึงชื่อเมืองเตริน(เถิน) ตำนานตอนนี้จึงเป็นการเน้นย้ำความชอบธรรมของสถานที่ว่าพระบรมสารีริกธาตุต้องการบรรจุไว้แห่งนี้

ช่วงต่อมาเป็นตอนที่กล่าวถึงพญาพลราช ผู้เสวยราชสมบัติใกล้กับเมืองลัมภกัปปนคร ได้ทรงทราบว่ามีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ จึงยกกองทัพขึ้นมาขุดแต่ก็มีเหตุให้ไม่สามารถอัญเชิญไปได้อีกเช่นกัน เนื่องจากยนต์ที่ป้องกันไว้อย่างแน่นหนา พญาพลราชจึงฆ่านักโทษฝังไว้ด้านบนและใช้ดินกลบ พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ขะจาวไว้เป็นที่สังเกตเพื่อที่จะกลับมาเอาแล้วจึงเสด็จกลับ สิ่งที่น่าสังเกตจากเนื้อเรื่องของตำนานในทั้งสองช่วงนี้ก็คือ ทำไมพญาจันทเทวราชและพญาพลราชถึงยกกองทัพใหญ่ขึ้นมาขุดได้โดยที่ไม่มีการต่อต้านจากคนในพื้นที่ และทำไมพระธาตุจึงทรุดโทรมโดยไม่มีผู้ดูแลในช่วงที่พญาจันทเวราชขึ้นมา สันนิษฐานว่าช่วงนี้ทางตอนใต้ของเมืองลำปางอาจเกิดปัญหาสงครามหรือเป็นชุมชนร้าง แต่ก็ไม่สามารถทำการตรวจสอบได้กับหลักฐานอื่นๆ เพราะในช่วงนี้ตำนานไม่ได้ระบุระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์ ถ้าหากพิจารณาในแง่ที่ตำนานแต่งเพื่อให้ดูยิ่งใหญ่ในตอนที่พญาจันทเทวราชหรือพญาพลราชยกทัพขึ้นมา โดยในความเป็นจริงอาจมีเพียงไม่กี่คน ที่ขึ้นมาในลักษณะลักลอบเข้ามาขุดจึงทำให้ไม่กระทบกับเจ้าเมืองหรือคนในท้องที่

ต่อมาเป็นตอนที่มหาเทวี เมืองเชียงใหม่ ยกกองทัพไปตีเมืองทางใต้ได้ทัพแม่สลิดแล้ว จึงได้ยกทัพมาพักที่สบยาว พระมหาเทวีได้เห็นดวงไฟจึงคิดว่าเป็นไฟโตรดที่ชาวบ้านจุด พระมหาเทวีทรงไม่พอพระทัยถือว่าเป็นการไม่เคารพในพระองค์ ตอนหลังทรงทราบว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุแสดงปาฏิหาริย์ ครั้นรุ่งเช้าพระมหาเทวีจึงเสด็จไปนมัสการพระธาตุ และได้สอบถามความเป็นอยู่ของชาวเมืองก็ทรงทราบว่าเกิดความแห้งแล้งจึงอธิษฐานให้เกิดน้ำที่สะดือเมือง แล้วก็เสด็จกลับไปถึงเมืองตาล(บริเวณอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง) แต่เมื่อมีคนนำน้ำที่เกิดจากการอธิษฐานของพระมหาเทวีไปถวายจึงเสด็จกลับไปบูชาพระธาตุลำปางหลวงอีก พร้อมทั้งกัลปนาที่นาและข้าพระธาตุ แล้วจึงเสด็จกลับเมืองเชียงใหม่ เหตุกาณ์ตำนานในตอนนี้มีจุลศักราชระบุไว้อย่างชัดเจน แต่ปัญหาคือตำนานแต่ละฉบับมีปีที่ปรากฏคลาดเคลื่อนกัน ดังเช่น ตำนานพระธาตุลำปางหลวง ที่ทางวัดพระธาตุลำปางหลวงปริวรรตจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ปีจุลศักราชที่พระมหาเทวีเสด็จมาคือ เมื่อจุลศักราช ๔๗๗ (พ.ศ.๑๖๕๘) ส่วนฉบับของวัดพระสิงห์ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระบุว่า “...ปีก่าไส้ สักกราชได้ ๗๗๕ ตัว (พ.ศ.๑๙๕๖)” ส่วนช่วงท้ายของตำนานในตอนนี้มีความสบสนและขัดแย้งกันเองในการเขียน คือ ตำนานกล่าวว่าเป็นพระนางจามเทวี แต่ในบริบทของตำนานกลับเป็นมหาเทวีสมัยราชวงศ์มังราย ดังที่ปรากฏคือ

“...มหาราชเทวีจิ่งเมือสู่เชียงใหม่อันเปนที่สำราญตนวันนั้นแล จาห้องจามเทวีแล้วเท่านี้ก่อนแล...”

ขณะเดียวกันตำนานพระธาตุลำปางหลวงตอนนี้ ทำให้ทราบว่าช่วงนี้เมืองลำปางเกิดความแห้งแล้งอย่างมาก และพระธาตุลำปางหลวงได้สร้างขึ้นแล้ว เพราะในตอนก่อนหน้านั้นคือพญาพลราชได้เสด็จขึ้นมาขุดพระบรมสารีริกธาตุและได้กลบดินถมไว้ยังไม่ได้ก่อเป็นองค์พระธาตุขึ้นมา แต่ตำนานก็มีการขัดแย้งกันเองอีกดังผู้เขียนจะกล่าวต่อไป

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 21 •พฤศจิกายน• 2013 เวลา 12:21 น.• )