วิพากษ์ตำนานเมืองลอง  (ต่อ) ส่วนตำนานตอนที่ ๒ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง  สันนิษฐานว่าเป็นพระภิกษุอยู่ในเมืองลองอีกเช่นกัน  เพราะตำนานนี้เป็นตำนานที่กล่าวถึงมูลเหตุและเหตุการณ์ในการก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำเพียงระยะเวลาสั้นๆ  ๗๓  ปี  คือช่วงพ.ศ.๒๑๔๒ – ๒๒๑๕และผู้แต่งตำนานทราบเหตุการณ์ต่างๆ  ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี  อาจมาจากการบอกเล่าหรือจากการจดบันทึกไว้  เพราะตำนานกล่าวว่า “ผู้รู้กล่าวไว้ว่า” และภายหลังจากที่สร้างเสร็จก็นำเอาบันทึกมาเขียนเป็นตำนานขึ้นเพราะมีระบุปีศักราช วันยาม  และข้างขึ้นข้างแรมอย่างละเอียด ส่วนตำนานพระนางจามเทวีนำพระธาตุมาบรรจุไว้ที่ดอนคำพงอ้อ  สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องเล่าที่แพร่หลายในเมืองลองอยู่แล้ว  ดังนั้นผู้เขียนตำนานจึงนำเรื่องเล่าและบันทึกมาเขียนขึ้นเป็นตำนาน  และผู้เขียนตำนานอาจเขียนหลังพระธาตุสร้างเสร็จนานหลายปีเพราะไม่เช่นนั้นต้องระบุปีที่สร้างเสร็จไว้ในตำนานด้วย  แต่ที่ปรากฏในตำนานกล่าวถึงเพียงปีที่ก่อสร้างครั้งสุดท้ายเป็นองค์พระธาตุที่ปรากฏดังในปัจจุบัน  และลักษณะของตำนานกล่าวเริ่มด้วยปีศักราชเป็นตอนๆ คล้ายการจดบันทึกหรือปูมโหร  คือ

พ.ศ.๒๑๔๒ พระมหาสังฆราชา  วัดฟ่อนสร้อย  เมืองเชียงใหม่  เดินทางมาไหว้พระธาตุขวยปู  พระธาตุปูตั้บ  และพระธาตุแหลมลี่ในเมืองลอง

พ.ศ.๒๑๖๗  พระสังฆราชา  วัดยอดใจ เมืองแพร่  มาสร้างพระธาตุศรีดอนคำ  แต่สร้างได้ฐาน ๓ ชั้นก็หยุดการสร้างเนื่องจากพญาน่านฟื้น(ประกาศอิสระ)พม่า

พ.ศ.๒๑๙๓  พระสังฆราชา  วัดท่อนน้อย เมืองแพร่  กับพระหลวงเจ้า  วัดดอนไฟมาร่วมกันก่อสร้างอีกรอบแต่สร้างถึงพ.ศ.๒๒๐๒  ก็มีเหตุให้หยุดไปเป็นครั้งที่ ๒

พ.ศ.๒๒๑๕ พระมหาเถรเจ้าสุทธนะ  วัดนาหลวง  กับคณะสงฆ์ในเมืองลอง  และหมื่นชินธาตุ  ได้ชักชวนศรัทธาชาวเมืองลองร่วมช่วยกันก่อสร้างจนสำเร็จ

รูปแบบของตำนานฉบับนี้คล้ายกับตำนานพระธาตุจุมพิต(พระธาตุจอมปิง)  เมืองลำปาง  เพราะกล่าวถึงมูลเหตุและเหตุการณ์สร้างโดยไม่กล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า  แต่ได้ให้ความสำคัญกับพระนางจามเทวี  ปฐมกษัตริย์แคว้นหริภุญไชย  ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของตำนานในพื้นที่บริเวณนี้ ที่พยายามเชื่อมโยงประวัติวัด  ประวัติพระธาตุ  หรือสถานที่สำคัญของบ้านเมืองให้เข้ากับเรื่องราวของพระนางจามเทวี  ดังปรากฏในตำนานพระธาตุลำปางหลวง  ตำนานพระธาตุเสด็จและตำนานพระธาตุจุมพิต(พระธาตุจอมปิง)อันเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของแคว้นหริภุญไชยผ่านทางตำนานและความเชื่อมาถึงกลุ่มคนในบริเวณนี้  ส่วนปีพุทธศักราชที่ระบุไว้ในตำนานฉบับนี้เมื่อเทียบเคียงกับตำนานอื่นๆ  เช่น  ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่  ตำนานพื้นเมืองน่าน  และตำนานพื้นเชียงแสน  มีความคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อย  โดยสิ่งที่ช่วยในการตรวจสอบได้มากก็คือแม่ปีที่กำกับตัวเลขศักราชไว้ จึงถือได้ว่าศักราชตำนานตอนที่ ๒ (ตำนานพระธาตุศรีดอนคำ) มีความน่าเชื่อถือมากกว่าตำนานพระธาตุกลุ่มตอนต้น(ตำนานพระธาตุแหลมลี่  พระธาตุขวยปู  พระธาตุปูตั้บ)

สังเกตว่าพระมหาพุทธคุณเถรผู้แต่งตำนานในตอนแรก เป็นผู้ที่อ่านตำนานอย่างกว้างขวางกว่าครูบามหาเถรเจ้าสุทธนะผู้แต่งตำนานตอนที่ ๒  เพราะพระมหาพุทธคุณเถรได้หยิบยืมเนื้อความจากตำนานหลายฉบับ  อาจรวมถึงหยิบยืมมาจากตำนานพระเจดีย์หลวง  เมืองเชียงใหม่ด้วย  เพราะกล่าวถึงการสักการบูชาพระธาตุแหลมลี่ด้วยการลาดผ้าบูชาเหมือนกับพระเจดีย์หลวง ที่ไม่พบการกล่าวถึงสักการะบูชาแบบนี้ในตำนานพระธาตุอื่นๆ

“...พ.ศ.๒๐๖๐  เดือนเจียง  ขึ้น ๗ ค่ำ  วันอาทิตย์  ตั้งแต่นั้นต่อมาพระยาถึงวันเพ็ญเดือน ๔  พระยาก็เอาผ้าลาดปกหุ้มพระมหาเจติยะตั้งแต่ยอดลงมาถึงฐานธรณี  แล้วผ้าแพร  และผ้าเทศ  ผ้าจันทน์...ตั้งแต่นั้นมาพระเมืองเกษเกล้า  และท้าวซายคำได้เป็นพระยาสืบมา  ก็ให้ลาดผ้ามหาเจดีย์เจ้า...เมื่อพระแม่กุวิสุทธิวงศ์...ก็ให้ลาดผ้า  จุดประทีปบูชาตามจารีตทุกปีมิไดขาด...”

“...เมื่อในสักกราชพอพันปีนั้น มหาธาตุเจ้าดอนลี่เหลี้ยมนี้ ยังมีพระญา  ๒  ตนกับทังสังฆเถร  ๔  ตน จักมาลวาดผ้าปูชาสการ กะทำหื้อเปนฅำหลบใส่ถม  ๓  ชั้นมีหั้นเล่าชะแล...”

ส่วนครูบามหาเถรเจ้าสุทธนะผู้แต่งตำนานพระธาตุศรีดอนคำในตอนที่ ๒ นั้นมีโลกทัศน์ทางตำนานที่แคบกว่าพระมหาพุทธคุณเถร  เพราะเขียนเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเมืองลองเท่านั้น  แม้กระทั่งเจ้าเมืองลำปางและแพร่ที่ร่วมอุปถัมภ์ก็ไม่ได้ระบุนามไว้  ต่างจากตำนานในบริเวณศูนย์กลางของเมืองลำปาง  เช่นตำนานพระธาตุลำปางหลวงตำนานพระธาตุเสด็จ และตำนานพระธาตุจอมปิง จะกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์ที่เมืองเชียงใหม่และเจ้าเมืองลำปางผู้มาสร้างและผู้อุปถัมภ์พระธาตุและวัด  ส่วนตำนานพระธาตุศรีดอนคำระบุไว้เพียงชื่อวัดพระเถระที่มาร่วมเป็นผู้นำก่อสร้างพระธาตุในเมืองลอง  มีการหยิบยืมเนื้อหาจากตำนานอื่นบ้าง  คือการนำพระราชประวัติของพระนางจามเทวีมาเชื่อมโยงให้เข้ากับเรื่องราวมูลเหตุของพระธาตุศรีดอนคำและที่มาของชื่อว่า “เมืองลอง” เป็นไปได้ว่าธรรมเนียมการแต่งตำนานแบบเดิมที่รับรูปแบบคัมภีร์มหาวงศ์ของภิกษุในเมืองลองได้คลี่คลายลงเมื่อถึงสมัยที่แต่งตำนานพระธาตุศรีดอนคำในช่วงพุทธศตวรรษที่  ๒๓  ดังปรากฏมีการตัดในส่วนที่กล่าวถึงการเสด็จมาโปรดของพระพุทธเจ้าออกไป  แล้วนำพระราชประวัติของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์มากล่าวไว้แทนที่ในตำนาน

จุดมุ่งหมายของการเขียนตำนานเมืองลอง นอกจากเป็นการเขียนขึ้นเพื่ออานิสงส์ส่วนบุญและเพื่อให้คนรับรู้ถึงประวัติความเป็นมาและความสำคัญของพระธาตุทั้ง ๕  องค์แล้ว ผู้เขียนสันนิษฐานว่ายังเขียนขึ้นเพื่อสร้างสำนึกเรื่องเมืองพระธาตุ  อันจะนำมาสู่ความเป็นกลุ่มก้อนของคนในเมืองลองเพราะในอดีตพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก  ดังนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่มีพลังสามารถเชื่อมคนให้มีสำนึกร่วมกันว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน  ดังเช่นในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช  กษัตริย์ล้านนาพระองค์ที่ ๙(พ.ศ.๑๘๙๔-๒๐๓๐)ได้ทรงมีนโยบายการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง  นอกจากใช้วิธีทางการเมืองแล้วพระองค์ก็ทรงใช้ศาสนาเป็นวิธีในการดึงอำนาจมาไว้ที่พระองค์  และสร้างความสำนึกให้เกิดเป็นกลุ่มคนเดียวกัน  เห็นได้จากการสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดมหาโพธาราม(เจ็ดยอด) เมืองเชียงใหม่  เป็นครั้งที่ ๘ ของโลกเมื่อปีพ.ศ.๒๐๒๐หรือการสร้างคติบูชาพระธาตุประจำปีเกิดขึ้นมาเพื่อให้คนมีสำนึกร่วมกันในเรื่องพื้นที่ของอาณาจักรและพุทธอาณาจักร

ประกอบด้วยเมืองลองมีพื้นที่เป็นแอ่งกระทะล้อมรอบด้วยภูเขาสูง  เป็นเสมือนจักรวาลขนาดย่อมโดยมีภูเขาที่ล้อมรอบเมืองเป็นกำแพง(ขอบ)จักรวาล  ดังนั้นผู้คนที่อยู่ในเมืองนี้จึงมีการสร้างสำนึกร่วมกันโดยใช้คติทางพุทธศาสนามาเชื่อมโยงกับสภาพทางภูมิศาสตร์  คือ  สร้างคติบูชาพระธาตุประจำเมืองทั้ง ๕ องค์  โดยมีตำแหน่งที่ตั้งเรียงตามแนวยาวเหนือ – ใต้ของที่ราบแอ่งลอง-วังชิ้น คือ พระธาตุศรีดอนคำพระธาตุแหลมลี่  พระธาตุไฮสร้อย  พระธาตุปูตั้บ(พูทับ)  และพระธาตุขวยปู (แต่ถ้าลงไปอีกไม่กี่กิโลเมตรก็เป็นที่ตั้งของพระธาตุพระกัปป์ที่บูรณะพ.ศ.๒๕๒๗  และพระธาตุพระพิมพ์ หรือพระธาตุปากสลก บูรณะเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๗๓ ในเขตเมืองตรอกสลอบ) การใช้พระธาตุเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนภายในเมืองลอง  ปรากฏในตำนานพระธาตุแหลมลี่ที่กำหนดให้พระธาตุต่างๆ  ในเมืองลองเป็นพระธาตุประจำของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕  พระองค์  และกำหนดให้พระธาตุแต่ละองค์จะเจริญในพระพุทธเจ้าต่างองค์กันไป  ถ้าหากพิจารณาแล้วจะมีโครงเรื่องคล้ายกับ“ตำนานพระธาตุ ๕ หลังในเมืองลวง”ที่กำหนดให้พระธาตุทั้ง ๕ องค์เป็นหมุดหมายอายุศาสนาพระโคตมะ ๕๐๐๐  พระวัสสา  คือครบรอบ ๑,๐๐๐ ปี  พระธาตุก็จมลงพื้นดิน ๑ องค์  เมื่อครบ ๕,๐๐๐ ปี พระธาตุองค์สุดท้ายก็จมลง  เป็นการย้ำเตือนให้พุทธศาสนิกชนทุกคนไม่ประมาทและเร่งทำบุญกุศล

โดยเฉพาะพระธาตุแหลมลี่นั้น มีการสถาปนาให้เป็นพระธาตุประจำพระโคตมะ  พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันภายในเมืองลองพระธาตุแหลมลี่จึงถูกกำหนดให้มีความสำคัญมากที่สุด  ขณะเดียวกันจากตำนานนี้ก็สร้างแนวความคิดให้กับชาวเมืองลองว่า ถึงแม้ว่าสิ้นยุคของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ก็ยังเหลือพระธาตุที่จะรุ่งเรืองอีกในยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดพระพุทธศาสนาของพระศรีอริยเมตไตร ที่เป็นการย้ำเตือนให้คนทำบุญอุปฐากรักษาพระธาตุในเมืองลอง

“...แห่งดอยพูทับหั้น เมื่อพระเมตเตยย์เจ้าจักมาพายหน้ามหาธาตุเจ้ารุ่งเรืองมากนักมีหั้นชะแล แห่งขวยปูแช่ฟ้านั้น เมื่อพระเจ้ากัสสปะนั้นเปนมหาธาตุเจดีย์รุ่งเรืองที่ ๑ แล้ววันนั้นแล แห่งวัดไรส้อยกิ่งย้อยนั้น เปนมหาธาตุแห่งพระเจ้ากกุสันธะแลพระโกนาคมนะแล้ววันนั้นแล...”

และตำนานพระธาตุแหลมลี่ยังกล่าวเน้นย้ำความสำคัญอีกว่า

“...ต่อเท้าชุมนุมธาตุเจ้าสาสนาเสี้ยงหมื่นชะแล เมื่อดั่งอั้นมหาธาตุเจ้าลัมพางแลมหาธาตุละพุนชื่อหริภุญเชยย์นั้น จักห่างสูญเสียชะแล เท่ามีแต่มหาธาตุเจ้าที่นี้รุ่งเรืองกาละเมื่อซ้อย  มีหั้นชะแล...”

“...ในเมืองลองอันเปนพุทธภูมวิเสสแล วิตฺถารมฺมวนฺทานาวตฺถุฬาน เปนที่พระสัพพัญญูเจ้า มารอดจอดอยู่ปูชาสการคารวะ เข้าใน  ๘  หมื่น  ๔  พันหลัง เท่ามี  ๔  หลังนี้แล นักบวชเจ้าทังหลายตนใดก็ดี อุปาสักกะอุปาสิกาผู้ใดก็ดี จุ่งมีใจใสสัทธายินดีไพไหว้นบครพอยำ สักกระปูชาใน  ๔แห่งนี้ก็ดี ได้ส้างกุฎีวิหารแลทำบุญหื้อทานค็ดี ค็เสมอดั่งหื้อทานฟังธัมม์จำสีลแลส้างหื้อพระเจ้าเรายังธอรมานเปนตนในที่อยู่นั้นแล ชาวเจ้าแลฅนแลเทวดาทังหลาย ได้ฟังตำนานเสลธาตุทิปกรัมมวิสุทธิอันนี้ยังมีใจใสสัทธาสาธุการยินดีตวงนักเทอะ...”

จากตำนานข้างต้นจึงเป็นการเน้นย้ำให้คนภายในเมืองลองทำบุญกับพระธาตุแหลมลี่ และพระธาตุองค์อื่นๆ  ในเมืองลองส่วนสื่อและกระบวนการของการถ่ายทอดการปลูกจิตสำนึกร่วมกันของคนในเมืองลองคือ ตำนานเมืองลอง ที่มีการคัดลอกโดยพระภิกษุสามเณรและผู้ผ่านการบวชเรียนที่เรียกว่า  “พ่อน้อย”(ผ่านการบรรพชา)  “พ่อหนาน”(ผ่านการอุปสมบท)  เมื่อคัดลอกเสร็จก็นำไปถวายวัดที่เรียกว่าการ  “ทานธรรม”  เมื่อทานธรรมไว้ที่วัดในโอกาสสำคัญก็จะนำมาใช้เป็นพระธรรมเทศนาให้อุบาสกอุบาสิกาฟังดังหน้ารับตำนานฉบับวัดดอนแก้วเขียนว่า“หน้ารับธัมม์ตำนานเมืองลอง”ดังนั้นเมื่อมีทานธรรมในแต่ละปีและมีการเทศนาธรรมตำนานพระธาตุทั้ง ๕ องค์จึงเป็นการผลิตซ้ำที่ตัวสื่อและกระบวนการสร้างสำนึกและศรัทธาร่วมกันของคนในเมืองลอง

ภูเดช  แสนสา

หมายเหตตุ พระธาตุพระพิมพ์  อำเภอวังชิ้น  จังหวัดแพร่ (ที่มา :ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๐)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 03 •ตุลาคม• 2013 เวลา 13:37 น.• )