วิพากษ์ตำนานเมืองลอง เมืองลองเป็นหัวเมืองขนาดเล็กของอาณาจักรล้านนา ไม่มีบทบาทปรากฏเด่นชัดดั่งเมืองอื่นๆ เช่น เมืองเชียงของ เมืองฝาง เมืองเทิง เมืองพาน และเมืองลอ ประกอบกับตำนานพื้นเมืองต่างๆ ทั้งตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่(ในช่วงราชวงศ์มังราย) ตำนานพื้นเมืองเชียงแสน ตำนานพื้นเมืองเชียงราย ตลอดถึงตำนานพื้นเมืองน่าน ตำนานพื้นเมืองเหล่านี้ก็มีศูนย์กลางการแต่งอยู่ห่างไกลจากเมืองลองและไม่มีความสัมพันธ์กับเมืองลองโดยตรง ส่วนเมืองลำปางที่เมืองลองขึ้นอยู่หรือเมืองแพร่ที่มีอาณาเขตติดต่อกันกับเมืองลอง

ทั้งสองเมืองก็ขาดหลักฐานฝ่ายเมือง คือ ตำนานพื้นเมืองลำปางและตำนานพื้นเมืองแพร่ ประกอบกับเมืองลองเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยที่อยู่ชายขอบทางฝั่งทิศตะวันออกของอาณาจักรล้านนา เรื่องราวต่างๆ ของเมืองลองจึงไม่ได้รับการกล่าวถึงจากพื้นเมืองอื่นๆ เลย ดังนั้นหลักฐานการรับรู้เมืองลองจากตำนานต่างถิ่นจึงมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อจะทำการศึกษาเมืองลองจึงต้องใช้หลักฐานด้านอื่นๆ เข้ามาประกอบเพื่อทดแทนในส่วนนี้ที่ขาดหายไป ในเบื้องต้นนั้นผู้เขียนจึงได้ศึกษาจากตำนานภายในเมืองลองก่อนที่มีอยู่เพียงเรื่องเดียว คือ “ตำนานเมืองลอง”

ตำนานเมืองลองจารลงบนใบลานด้วยอักษรธรรมล้านนา(ตัวเมือง) มีลักษณะเป็นคัมภีร์โทนคือมี ๑ ผูก และพบว่ามีการนำมาจารรวมกับตำนานอื่นๆ ไว้ด้วย ตำนานเมืองลองได้มีการจารคัดลอกแพร่หลายในเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูน ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถ่ายไมโครฟิล์มไว้พบว่ามีจำนวน ๙ ฉบับ โดยตำนานมีชื่อแตกต่างกัน เช่น ตำนานเมืองลอง ตำนานธาตุ ๕ หลังในเมืองลอง ตำนานขวยปู ตำนานธาตุสี่หลัง ตำนานธาตุเจ้า ๔ หลัง ร่องอ้อ แหลมลี่ ขวยปู พูทับ ตำนานแหลมลี่ ร่องอ้อ และตำนานเสลธาตุ เป็นต้น การที่มีชื่อเรื่องแตกต่างกันไป เนื่องจากบางฉบับเรียกตามสถานที่ตั้งของพระธาตุ(ตำนานเมืองลอง) หรือเรียกตามพระธาตุที่ตำนานกล่าวถึง ๕ องค์ในเมืองลอง คือ พระธาตุแหลมลี่ พระธาตุขวยปู พระธาตุปูตั้บ พระธาตุศรีดอนคำ และพระธาตุไฮสร้อย(ตำนานพระธาตุ ๕ หลังในเมืองลอง) บางฉบับเรียกชื่อพระธาตุองค์ใดองค์หนึ่งเป็นตัวแทนของตำนาน(ตำนานพระธาตุขวยปู) บางฉบับเรียกเฉพาะตามที่ตำนานกล่าวถึงประวัติความเป็นมาโดยละเอียด โดยไม่นับรวมพระธาตุไฮสร้อยเข้าไว้ด้วย เพราะตำนานกล่าวถึงสั้นๆ ว่าเป็นพระธาตุประจำพระพุทธเจ้ากกุสันธะและพระพุทธเจ้าโกนาคมนะเท่านั้น (ตำนานธาตุสี่หลัง, ตำนานธาตุเจ้า ๔ หลัง ร่องอ้อ แหลมลี่ ขวยปู พูทับ) บางฉบับก็เรียกชื่อตามตำนานตอนแรกและตอนที่สอง(ตำนานแหลมลี่ ร่องอ้อ) และบางฉบับก็เรียกตามที่ตำนานเรียกพระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๓ องค์ที่นำมาบรรจุไว้ในพระธาตุแหลมลี่ พระธาตุขวยปู และพระธาตุปูตั้บว่า “เสลธาตุ” หมายถึงพระธาตุหินหรือดั่งหิน (ตำนานเสลธาตุ) ถึงแม้ว่าชื่อตำนานที่ปรากฏเหล่านี้แตกต่างกันแต่เนื้อความที่จารนั้นเหมือนกันทุกฉบับ ต่างกันเพียงเล็กน้อยที่เกิดจากการคัดลอกตกหล่นหรือเพิ่มเติมเข้าไปบ้างเท่านั้น ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการเรียกชื่อผู้เขียนจึงใช้ชื่อว่า “ตำนานเมืองลอง” โดยตำนานที่นำมาสอบเนื้อความเพื่อนำมาใช้วิพากษ์ทั้งที่ยังมิได้ตีพิมพ์และพิมพ์มีทั้งหมดจำนวน ๗ ฉบับ คือ

๑. ฉบับวัดนาตุ้ม บ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่

๒. ฉบับวัดเจดีย์หลวง ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไมโครฟิล์ม ๗๘.๐๑๐.๐๑L.๐๔๙ – ๐๔๙. (พ.ศ.๒๓๔๒)

๓. ฉบับวัดเหมืองหม้อ ตำบลทุ่งศรี อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ รหัสไมโครฟิล์ม ๘๑.๐๖๖.๐๑L.๐๗๖ – ๐๗๖. (พ.ศ.๒๔๒๗)

๔. ฉบับวัดดอนแก้ว ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไมโครฟิล์ม ๘๐.๐๔๔.๐๑L.๐๖๑ – ๐๖๑. (พ.ศ.๒๔๖๐)

๕. ฉบับวัดป่าเปอะ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไมโครฟิล์ม ๘๐.๐๔๔.๐๑L.๐๓๑ – ๐๓๑.

๖. ตำนานพระธาตุวัดศรีดอนคำ(ห้วยอ้อ) และประวัติเมืองลอง, บุญชู ชุ่มเชื้อ, ไทยวิริยะกิจ : พระนคร, ๒๔๙๕.

๗. ตำนานพระธาตุแหลมลี่,วัดพระธาตุแหลมลี่,บรรณกิจพริ้นติ้ง : แพร่, ม.ป.ป.

ตำนานเมืองลองเป็นตำนานที่รวบรวมตำนานไว้ ๒ เรื่อง คือตอนต้นเป็นตำนานที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของพระธาตุแหลมลี่ พระธาตุขวยปู และพระธาตุปูตั้บ(พูทับ) และตอนที่สองเป็นตำนานพระธาตุดอนคำพงอ้อ หรือ พระธาตุร่องอ้อ ปัจจุบันเรียกว่า “พระธาตุศรีดอนคำ” รูปแบบเดิมของหลักฐานเป็นตำนานที่จารลงบนใบลานอยู่ก่อนแล้ว และก็มีการคัดลอกต่อๆ มา เพราะเนื้อความของตำนานเหมือนกันทุกๆ ฉบับ ยกเว้นบางฉบับที่พบในเมืองลอง ที่มีการจารแยกตำนานพระธาตุแหลมลี่ พระธาตุขวยปู และพระธาตุปูตั้บ แล้วไม่นำตำนานพระธาตุศรีดอนคำมาต่อไว้ และเรียกชื่อว่าตำนานพระธาตุแหลมลี่ ดังนั้นในตอนแรกๆ ตำนานเมืองลองอาจยังไม่รวมไว้ครบทั้ง ๒ ตอน จึงทำให้มีการจารคัดลอกตำนานแยกกันระหว่างตำนานตอนแรกและตอนที่ ๒ แต่ในภายหลังได้นำมาจารคัดลอกรวมกันไว้ ตำนานเมืองลองที่รวมทั้ง ๒ ตอนก็ได้คัดลอกและแพร่หลายมาในเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูน เพราะที่พบในเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูนมีการจารคัดลอกรวมกันทั้ง ๒ ตอนทุกฉบับ และเรียกชื่อตำนานต่างๆ กันดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น

ตำนานเมืองลอง ฉบับจารคัดลอกเก่าที่สุดพบในเมืองเชียงใหม่ คือ ฉบับวัดเจดีย์หลวง ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รหัสไมโครฟิล์ม ๗๘.๐๑๐.๐๑L.๐๔๙ – ๐๔๙ จารคัดลอกปีพ.ศ.๒๓๔๒ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้ากาวิละ เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พระองค์แรก(พ.ศ.๒๓๒๕ – ๒๓๕๘) ตำนานเมืองลองในตอนต้นปีสุดท้ายที่ตำนานกล่าวคือพ.ศ.๒๑๖๗ (จ.ศ.๙๘๖) ดังนั้นตำนานตอนต้นต้องเขียนขึ้นหลังพ.ศ.๒๑๖๗ ลงมา เป็นช่วงที่ล้านนาอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ส่วนตอนที่ ๒ ปีสุดท้ายที่ตำนานกล่าวคือพ.ศ.๒๒๑๕ (จ.ศ.๑๐๓๔) ดังนั้นตำนานตอนที่ ๒ ต้องเขียนหลัง พ.ศ.๒๒๑๕ ลงมา แต่ไม่ช้าไปกว่าปีพ.ศ.๒๓๔๒ เพราะในปีนี้ตำนานทั้ง ๒ ตอนพบคัดลอกไว้ที่วัดเจดีย์หลวง เมืองนครเชียงใหม่แล้ว ส่วนที่เคยมีการสันนิษฐานจากนักวิชาการก่อนหน้านี้ว่าคำว่า “แหลมลี่” ตามชื่อของวัดที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นคำที่หยิบยืมจากคำภาคกลางมาใช้ ดังนั้นจึงสรุปว่าตำนานนี้เขียนขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ถ้าอ่านจากตำนานต้นฉบับคัมภีร์ใบลานคำที่ตำนานใช้เรียกพระธาตุแหลมลี่ทุกๆ ฉบับจะเรียกว่า “ลี่เหลี้ยม” ปรากฏมีคำว่า “แหลม” เพียงคำเดียว คือ “ลี่เหลี้ยมแหลมลี่” เท่านั้น ยกเว้นฉบับที่คัดลอกในเมืองเชียงใหม่สมัยหลังๆ บางฉบับ เช่น ฉบับวัดดอนแก้ว จารปีพ.ศ.๒๔๖๐ ที่จารคลาดเคลื่อนเป็น “หลี่หลัม” หรือ “หลี่หลม”

ที่สำคัญพบว่าในปีพ.ศ.๒๓๔๒ มีการคัดลอกแพร่หลายมาถึงเมืองนครเชียงใหม่แล้ว ดังนั้นก่อนหน้านั้นต้องมีการเขียนขึ้นที่เมืองลองหลายปี สาเหตุที่สันนิษฐานว่าตำนานทั้งสองตอนเขียนขึ้นในเมืองลอง เนื่องจากผู้แต่งทราบเรื่องเกี่ยวกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของสถานที่ภายในเมืองลองเป็นอย่างดี เช่น ตอนแรกกล่าวถึงภูเขาอยู่ด้านทิศตะวันตกของเมืองลองชื่อว่าดอยตากฟ้า และเป็นที่อยู่ของมโนฤาษี (ปัจจุบันยังปรากฏมีชื่อเรียกว่ากิ่วระสี(ฤาษี) เป็นช่องทางไปเมืองลำปาง) ดอนแหลมลี่มีอยู่กลางแม่น้ำยม และขุดดอนแหลมลี่ให้ทะลุแม่น้ำยมด้านใต้ เป็นต้น ทราบระยะทางจากเวียงลอง(เมืองลองเก่า บ้านไฮสร้อยปัจจุบัน) มาถึงพระธาตุแหลมลี่ ๒ พันวา (๔ กิโลเมตร) พระธาตุแหลมลี่ถึงพระธาตุปูตั้บ ๒ พันวา จากพระธาตุปูตั้บถึงพระธาตุขวยปู ๘ พันวา (๑๖ กิโลเมตร) ส่วนตอนที่ ๒ ผู้เขียนตำนานก็ทราบสถานที่ต่างๆ ทราบแม้กระทั่งลำห้วยอยู่ทิศทางไหน ไกลประมาณเท่าไหร่ และไปถึงได้อย่างไร

ผู้เขียนตำนานตอนแรกได้บอกชื่อของตนไว้ในบทยอคุณพระแก้วเจ้าทั้ง ๓ ว่าชื่อพระมหาพุทธคุณเถร สันนิษฐานว่าเป็นพระภิกษุอยู่ในเมืองลอง หรืออาจย้ายจากที่อื่นมาจำพรรษาอยู่ในเมืองลองแต่ต้องจำพรรษานานพอสมควรจึงคุ้นเคยกับสถานที่ต่างๆ เป็นอย่างดี และพระมหาพุทธคุณเถร อาจจำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุแหลมลี่ เพราะตำนานเน้นความสำคัญพระธาตุแหลมลี่มากเป็นพิเศษจนเห็นได้ชัด ตำนานตอนต้นนี้(พระธาตุแหลมลี่ พระธาตุขวยปู และพระธาตุปูตั้บ) กล่าวว่าได้มาจาก พระมหาโพธิสัมภารเมธังกร เมืองเชียงใหม่ และพระมหาโพธิสัมภารเมธังกร ก็ได้สืบมาจากสำนักพระมหาสังฆะราชาสารจินตาเจ้า ผู้เป็นเจ้าศาสนาในลังกา พระมหาโพธิสัมภารเมธังกรรูปนี้อาจเป็นองค์เดียวกับพระมหาโพธิสมภาร ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่กล่าวว่าอาศัยอยู่เชิงเขาดอยเกิ้ง เมืองเชียงใหม่ เป็นผู้คัดลอกตำนานพระเจ้าเลียบโลกจากพระมหาธรรมรส ภิกษุหงสาวดี เมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๖ และพระมหาธรรมรสได้ไปคัดลอกมาจากเมืองลังกา ดังนั้นสิ่งที่สะท้อนออกมาก็คือตำนานตอนต้นนี้ได้รับอิทธิพลการเขียนตำนานมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก โดยพระมหาพุทธคุณเถรได้นำเรื่องราวเหตุการณ์และเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพระธาตุทั้ง ๓ องค์ภายในเมืองลองร่วมกับหยิบยืมเรื่องราวจากตำนานเมืองอื่นๆ ที่ปรากฏชัดเจนก็คือกลุ่มตำนานในเมืองลำปาง โดยอาศัยโครงเรื่องและแนวการเขียนตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก ซึ่งเป็นตำนานที่ได้รับรูปแบบการเขียนมาจากคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกามาอีกชั้นหนึ่ง

ภูเดช แสนสา

“ระสี” หรือ “ฤาษี” ของล้านนา ภาพนี้ถ่ายที่วัดพระธาตุจอมศีล อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา (ที่มา : พระครูใบฎีกาเฉลิมพล อริยวํโส)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 24 •กันยายน• 2013 เวลา 21:20 น.• )