คัมภีร์ใบลานเอกสารสำคัญที่ได้จากการสำรวจวัดสะปุ๋งหลวง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ในระหว่างวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ - ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ผู้เขียนได้ร่วมกับคุณเจษฎา อิ่นคำ เข้าทำการสำรวจคัมภีร์ใบลานของวัดสะปุ๋งหลวง ตำบลม่วงน้อย อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน (การสำรวจบางช่วงเว้นระยะเวลาร่วมเดือนหรือหลายสัปดาห์และแต่ละสัปดาห์ไม่ได้สำรวจทุกวัน) มีคัมภีร์ใบลานทั้งหมดจำนวน ๑,๕๒๔ ผูก(ฉบับ) พบเอกสารที่สำคัญจำนวนหลายฉบับ ที่สำคัญที่สุดฉบับแรก คือ คัมภีร์จรุกกนิบาตชาตกะ จารเมื่อพ.ศ.๒๐๘๐ อายุ ๔๗๕ ปี มีจารึกท้ายลานว่า “ส้างปีเมืองเร้า สักกราช ๘๙๙ ตัว จรุกนิบาตชาดกอันนี้เจ้าแก้วปะขา เจ้าผัวเมียส้างไว้กับวัดพันคล้าวแล ผูก ๑ จรุกนิบาตชาดก เจ้าแก้วปะขา เจ้าผัวเมียส้างไว้กับวัดพันคล้าว ในปีเมืองเร้า สักกราชได้ ๘๙๙ ตัว” คัมภีร์จรุกกนิบาตชาตกะผูกนี้แม้ว่าจะมีอายุเก่าเป็นอันดับที่ ๑๐ ของล้านนาเท่าที่มีการสำรวจในขณะนี้

แต่ก็มีความสำคัญเนื่องจากผู้จารและถวายคือ เจ้าแก้วปะขากับพระชายา สันนิษฐานว่าเจ้าแก้วปะขาอาจเป็นเจ้านายในราชวงศ์มังรายพระองค์หนึ่ง ซึ่งอยู่ในรัชสมัยพระเมืองเกษเกล้า(พญาเกสเชษฐราช) กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ ๑๒ (๒๐๖๙ – ๒๐๘๑ และ ๒๐๘๖ - ๒๐๘๘) และถือว่าเป็นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดที่พบภายในจังหวัดลำพูน ส่วนคัมภีร์ใบลานที่เก่าที่สุดของล้านนาในขณะนี้คือคัมภีร์ปฐมสมโพธิ เก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ จารเมื่อพ.ศ.๒๐๑๓ อยู่ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ ๙ (พ.ศ.๑๙๘๔ – ๒๐๓๐) อายุของใบลานจรุกกนิบาตชาตกะวัดสะปุ๋งหลวงมีอายุน้อยกว่าปฐมสมโพธิ ๖๗ ปี

ส่วนคัมภีร์ใบลานที่พบที่วัดสะปุ๋งหลวงซึ่งมีอายุเก่าแก่รองลงไปอีก ๗ ลำดับ มีดังนี้ ลำดับที่ ๒ คือ โวหารวิธูรบัณฑิต มีจำนวน ๕ ผูก จารเมื่อพ.ศ.๒๑๖๑ โดยพระมหารัตนปัญโญ มีอายุ ๓๙๔ ปี ลำดับที่ ๓ คือ วิมานวัตถุ ผูก ๓ จารเมื่อพ.ศ.๒๒๕๔ โดยคันธสรภิกขุ วัดบ้านม้ากลาง มีอายุ ๓๐๑ ปี ลำดับที่ ๔ มี ๒ ผูก คือ คิหิสามีจิปฏิปทาสูตร ผูก ๙ จารเมื่อพ.ศ.๒๒๗๓ โดยคันธสรภิกขุ วัดป่างอย เมืองขาน(ขึ้นเมืองเชียงใหม่) และรัฏฐปาลสูตร ผูกต้น จารเมื่อปีเดียวกันโดยพระคันธะภิกขุ วัดพระธาตุหริภุญชัย เมืองลำพูน มีอายุ ๒๘๒ ปี ลำดับที่ ๕ คือ โปฆิตลิยะสูตร ผูก ๓ จารเมื่อพ.ศ.พ.ศ.๒๒๘๑ โดยคันธสรณะภิกขุ(เกิดพ.ศ.๒๒๐๑) วัดพระธาตุหริภุญชัย เมืองลำพูน

มีอายุ ๒๗๔ ปี ลำดับที่ ๖ คือ โวหารสุตันตะ ผูก ๓ จารเมื่อพ.ศ.๒๒๘๓ ชวนะสามเณร มีอายุ ๒๗๒ ปี ลำดับที่ ๗ คือ โวหารวิธูร ผูก ๓ จารเมื่อพ.ศ.๒๒๘๖ โดยชินาสามเณร วัดบ้านท่ง(สะปุ๋ง) มีอายุ ๒๖๙ ปี และลำดับที่ ๘ คือ ศัพท์จุลวัคคะ ผูก ๕ จารเมื่อพ.ศ.๒๒๘๙ โดยธรรมลังกาภิกขุ มีอายุ ๒๖๖ ปี โดยคัมภีร์ใบลานตั้งแต่ลำดับที่ ๒ - ๘ ล้วนจารขึ้นในสมัยล้านนาเป็นประเทศราชของพม่า แสดงให้เห็นว่าในยุคนี้ยังมีความนิยมจารคัมภีร์ใบลานถวายวัดและมีการใช้อักษรธรรมล้านนาเป็นปกติ นอกจากนี้ก็พบคัมภีร์ใบลานที่จารก่อนพ.ศ.๒๓๕๐ ซึ่งเป็นยุคของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน(ทิพจักราธิวงศ์)มีจำนวนประมาณ ๕๒ ผูก ส่วนคัมภีร์ใบลานที่สำคัญทางด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ประเภทตำนาน ทั้งตำนานฝ่ายเมือง(พื้นเมือง)และตำนานฝ่ายวัดที่ผู้เขียนสำรวจพบ มีตัวอย่างดังนี้

ตำนานบ้านเมืองหรือตำนานวีรบุรุษ เช่น ตำนานนางจามเทวี ตำนานเมืองยอง ตำนานเวียงละพูน(มีกล่าวถึงพระราชประวัติพระนางจามเทวี)

ตำนานวัด พระธาตุ พระพุทธรูป เช่น ตำนานพระแก้วดอนเต้า(พบ ๒๐ กว่าผูก) ตำนานพระธาตุดอยเกิ้ง ตำนานพระธาตุทรายนอน ตำนานพระเจ้าตนหลวงเมืองพะยาว และตำนานมหาธาตุเจ้าทะโค้งแลสิงคุตระ(พระธาตุชเวดากอง)

ตำนานคำสอนหรือเรื่องราวทางศาสนา เช่น ตำนานนางธรณีบอกจารีตโบราณบ้านเมือง ตำนานพญาอินทาธิราช ตำนานพญาธรรม ตำนานกวางคำ ตำนานน้ำแม่ระมิงค์ ตำนานอ้ายแขนสั้น ตำนานสะเปาหลงท่า และตำนานไม้ศรีมหาโพธิ์

ส่วนตำราองค์ความรู้ด้านอื่นๆ ก็มีจำนวนหลากหลาย เช่น เภลามหาชาติ ศัพท์มหาพน หนังสือหรคุณ(ตำราคำนวณปฏิทิน) ตำรายาสมุนไพร วินัยธรสอนโลก หนังสือมูลโลก มหามูลสันติง และวินัยดอกเดื่อ

คัมภีร์ธรรมเรื่องอานิสงส์ที่เป็นเรื่องราวสร้างความจูงใจให้ผู้คนทำบุญทาน ก็พบมีหลายเรื่อง เช่น อานิสงส์ดอกไม้ อานิสงส์สร้างธรรมเขียนธรรมปิฏกะ อานิสงส์สร้างหีด(หีบใส่พระไตรปิฎก) อานิสงส์ทานไปหาคนตาย และอานิสงส์สร้างจัณฑฆรังต๊อมวิจ(ห้องส้วม)

วรรณกรรมทางพุทธศาสนา เช่น ปฐมยาม วิสาขะปูชา เทวตาสูตร นางขวัญข้าว และสุวรรณหงส์คำ(ธรรมหงส์สองหัว)

รวมถึงธรรมมหาเวสสันตระ ซึ่งเป็นที่นิยมจารถวายในช่วงที่มีการตั้งธรรมหลวงก็พบที่วัดสะปุ๋งหลวงมีหลายสำนวน(ฉบับ) ได้แก่ ฉบับสร้อยพร้าวเมืองหาง ฉบับวิงวอนน้อย(พ.ศ.๒๔๔๑)

บับกลางเวียง (พ.ศ.๒๓๙๐) ฉบับท่าแป้นริมคง ฉบับอุโมงค์คำเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๓๙๖) ฉบับป่ายางพวง (พ.ศ.๒๔๗๖) ฉบับหิ่งแก้วมโนวอน (พ.ศ.๒๔๗๒) และฉบับภู่ชมดวง (พ.ศ.๒๔๖๕)

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าบางผูกผู้จารได้แต่งคำสร้อยต่อท้ายให้กับคัมภีร์ธรรมแต่ละเรื่อง คล้ายกับเป็นประโยคจำกัดความของเรื่องอย่างคล้องจอง ดังปรากฏในหน้าทับเค้า(หน้าปกแรก)แต่ละผูกของมหาเวสสันตระ ฉบับท่าแป้นริมคง จารไว้ว่า “มหาราชกัณฑ์ทุกข์ยาก หลานแก้วทุกข์พรากป่าไม้เมือง” “ชูจกไชยกัณฑ์ยาก พราหมณ์เถ้าพรากลงเรือน” “วันนปเวสน์ถ้วนถี่ น้ำตาคลี่คลาหนีไป” หรือเรื่องบัวรวงศ์หงส์อามาตย์ก็มีการใส่ชื่อสร้อยว่า “บัวรวงศ์หลงป่า พ่อพญาด่าขับหนี ก็เพราะอี่การะกิกาไวยเมียน้อย” และผู้เขียนยังได้พบว่าคัมภีร์ใบลานของวัดสะปุ๋งหลวงที่จารหลัง พ.ศ.๒๕๐๐ ได้ลดลงมากมีเพียงประมาณ ๒๔ ผูก ซึ่งคัมภีร์ใบลานที่มีอายุน้อยที่สุดของวัดสะปุ๋งหลวงมีอายุ ๔๔ ปีคือ “กรรมวาจา” กับ “มูลตีนกาเผือก” จารโดยครูบาเจ้าอิ่นคำ คัมภีโร เมื่อพ.ศ.๒๕๐๙ จากการสัมภาษณ์พระครูวิมลธรรมจารี เจ้าอาวาสวัดสะปุ๋งหลวงรูปปัจจุบัน ซึ่งช่วงที่ครูบาเจ้าอิ่นคำยังมีชีวิตอยู่ท่านพระครูวิมลธรรมจารียังเป็นสามเณรอยู่ที่วัดนี้ ทำให้ทราบว่าหลังจากที่ครูบาเจ้าอิ่นคำถึงแก่มรณภาพในพ.ศ.๒๕๑๑ ก็ไม่มีผู้ที่สามารถจารคัมภีร์ใบลานได้อีก แต่พระภิกษุสามเณรของวัดสะปุ๋งหลวงก็ยังใช้คัมภีร์ใบลานเทศนาสืบต่อมาจนถึงช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐

จากการสำรวจจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานของวัดสะปุ๋งหลวงทั้ง ๑,๕๒๔ ผูก ผู้เขียนได้เลือกเพียงเอกสารสำคัญนำมาเสนอในบทความนี้ แต่ยังอีกจำนวนมากที่ต่างก็มีคุณค่าในตัวเอง ที่สามรถนำมาใช้ได้หลากหลายด้าน ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม โหราศาสตร์ ยาสมุนไพร และดาราศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าหากแต่ละวัดในล้านนา(ภาคเหนือตอนบน)รวมถึงวัดในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ได้ทำการสำรวจข้อมูลคัมภีร์ใบลานและเอกสารโบราณชนิดอื่นทั้งภายในวัดของตนเองหรือวัดที่อยู่ใกล้เคียง แล้วนำมาจัดจำแนกแยกแยะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ ก็จะสามารถเติมเต็มประวัติศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่นได้ในเชิงลึก และโดยเฉพาะสามารถใช้เป็นหลักฐานชั้นต้นให้กับงานเขียนประวัติศาสตร์ของวัดและชุมชนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดียิ่ง

 

คัมภีร์จรุกกนิบาตชาตกะ จารเมื่อพ.ศ.๒๐๘๐ มีอายุได้ ๔๗๕ ปี มีความเก่าแก่เป็นลำดับที่ ๑๐ ของคัมภีร์ใบลานล้านนา และเก่าที่สุดของคัมภีร์ ใบลานที่พบในจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•ศุกร์•ที่ 13 •กันยายน• 2013 เวลา 16:15 น.• )