ความรักคืออะไร?

ความรัก คือความรู้สึกทางจิตใจอันลึกซึ้ง ละเมียดละไมที่มีต่อกันระหว่างบุคคลที่มีศรัทธาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ คนเราเมื่อศรัทธาในสิ่งใดก็จะค่อย ๆ โน้มน้าวจิตใจให้เกิดความรู้สึกรัก โดยพัฒนามาเป็นขั้น ๆ อันประกอบด้วยความเมตตา ความอาทร ความหวังดี และให้อภัยเป็นประการสำคัญ

การที่เรารักพ่อแม่ก็เพราะเรามีศรัทธาที่ท่านเป็นผู้ให้กำเนิด เลี้ยงดู สั่งสอนอบรม และให้ความรักต่อเรา ความรู้สึกจะบอกเราอยู่เสมอว่าท่านเป็นบุคคลที่เราต้องให้เกียรติให้ความเคารพรัก ให้ความช่วยเหลือและอุปการะท่าน เรารักครู เพราะศรัทธาในตัวครูเนื่องด้วยท่านได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้เรา ให้แสงสว่างแห่งอนาคตอันมั่นคงแก่เรา

ความรักในกรอบของอัล-กุรอาน

ความว่า : จงประกาศเถิด มาตรแม้นพวกท่านมีความรักในอัลลอฮ์ พวกท่านก็จง (ประพฤติ) ตามฉันแน่นอนอัลลอฮ์จะรักพวกท่านและทรงให้อภัยแก่พวกท่าน บรรดาความผิดของพวกท่าน และอัลลอฮ์ทรงให้อภัย อีกทั้งทรงเมตตายิ่ง (ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน โองการที่ 31)

ความรักในกรอบของอัล-หะดีษ

ความว่า : คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจะยังไม่ศรัทธา จนกว่าเขาจะรักพี่น้องของเขาได้รับเท่ากับที่เขาปรารถนาจะได้รับ (รายงายโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)

ขาดความรักแน่แท้ขาดสันติสุข

ความรัก เป็นปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนเราอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข หากมนุษย์ขาดความรักโลกมนุษย์ก็จะปั่นป่วนโกลาหลวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด

ความรู้สึกทางกามารมณ์เป็นเพียงความใคร่เท่านั้น หาใช่ความรักไม่ ความรักที่จริงแท้มาจากความศรัทธาที่แท้จริง และต้องแยกความรักและความใคร่ออกจากกัน แล้วใช้ความมีเหตุผลจากการศรัทธาเข้าควบคุมให้อยู่ในกรอบของศาสนา

ใครบ้างที่ต้องแสดงความรัก

อัลลอฮ์ (ซ.บ.) มุสลิมทุกคนต้องศรัทธาอย่างมั่นคงเด็ดเดี่ยวว่า อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงเป็นพระเจ้า พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก มีอำนาจเหนือทุกสิ่ง แม้แต่ชีวิตของเราล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้อำนาจ และอภิสิทธิ์ของพระองค์ ดังนั้นเราจึงมอบความรักอันสูงสุดแด่พระองค์ หากเรามอบความรักที่จริงแท้และสูงสุดแด่พระองค์ รักในสิ่งที่พระองค์ทรงรัก และรักเพื่อพระองค์ เราก็จะเป็นที่รักใคร่แห่งพระองค์ ดังอัล-กุรอานได้ระบุไว้ในซูเราะฮ์ อัล-มาอิดะฮ์ โองการที่ 57 ความว่า : อัลลอฮ์จะนำคนกลุ่มหนึ่งมา พระองค์ทรงรักเขา และพวกเขาก็รักพระองค์

รอซูลุ้ลลอฮ์ รองลงมาจากความรักพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) คือความรักใน นบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) ผู้เป็นศาสนทูติของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ผู้ประกาศสัจธรรมชี้นำชาวโลกให้ออกจากความมืดบอด สู่แสงสว่างแห่งสัจธรรม อยู่บนฐานและแนวทางอันถูกต้องของพระองค์ ในที่สุดเราจักต้องมอบความรักอันยิ่งใหญ่ เหนือสิ่งอื่นใดให้แก่ท่านนบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) ดังคำสอนที่ระบุว่า : คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจะยังไม่มีศรัทธาอันสมบูรณ์ จนกว่าเขาจะรักอัลลอฮ์และรอซู้ลของพระองค์ยิ่งกว่าตัวเขาเอง ยิ่งกว่าครอบครัวของเขา ยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติของเขา และยิ่งกว่ามนุษย์ทั้งปวง

บิดา มารดา โดยแสดงออกถึงความรัก ด้วยการกตัญญูกตเวที และปฏิบัติต่อท่านอย่างอ่อนโยน ดังอัล-กุรอานซูเราะห์ อัล-อิสรออ์ โองการที่ 24 ระบุว่า ความว่า : จงปฏิบัติต่อท่านทั้งสองด้วยความอ่อนน้อมและแสดงออกด้วยจิตใจอันมีเมตตา จงวิงวอนต่ออัลลอฮ์ เพื่อให้ทรงเมตตาท่านทั้งสองด้วย

ญาติพี่น้อง โดยหยิบยื่นความรักให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และสานสัมพันธ์อันดีต่อกันและกันดังที่ท่านศาสดามูฮำหมัด (ซ.ล.) ได้กำชับว่า : ผู้ใดรักที่จะได้รับโภคปัจจัยอันอุดม และมีอายุขัยยืนยาวก็จงสานสัมพันธ์อันดีกับญาติพี่น้อง (รายงานโดย บุคอรี)

ผู้นำ คือสัญลักษณ์ของความเป็นเอกภาพของสังคมมุสลิม ดังนั้นมุสลิมทุกคนจักต้องให้เกียรติและแสดงออกถึงความรักความปรารถนาดี และเชื่อฟังต่อผู้นำ ในกรณีที่ไม่ขัดแย้งกับ หลักธรรมคำสอนทางศาสนาดังที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ อัน-นิซาอ์ โองการที่ 59 ความว่า : ผู้ศรัทธาทั้งหลายจงเชื่อฟังอัลลอฮ์ เชื่อฟังศาสดา และผู้นำที่มาจากพวกเจ้ากันเองเถิด

ผู้ทรงความรู้ คือธรรมทายาทผู้สืบทอดมรดกแห่งความดีงามจากเหล่าศาสดา จึงจำเป็นที่มุสลิมทุกคนจักต้องให้เกียรติ แสดงออกถึงความรักต่อท่านเหล่านั้นในฐานะเป็นผู้นำพาคบเพลิงประภาคารแห่งวิทยาการมาสู่สังคมมนุษย์ชาติให้มีความสว่างไสว

เพื่อนบ้าน หมายถึงผู้ที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ใกล้เคียงกัน ใช่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเพื่อนบ้านแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ด้วยกัน อันได้แก่เพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิม และเป็นญาติใกล้ชิดด้วย และเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิม แต่ไม่ได้เป็นญาติใกล้ชิด และเพื่อนบ้านที่ไม่ใช่มุสลิม ดังนั้นจึงจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้าน และให้ปฏิบัติดีต่อเขาด้วยไมตรีจิต มีความรัก และความบริสุทธิ์ใจต่อกัน

มุสลิมทั่วไป อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาให้ดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ โดยกำหนดให้มนุษย์ครองตนใช้ชีวิตอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นสังคมโดยมิอาจโดดเดี่ยวลำพังตัวเองได้ เมื่อมนุษย์เป็นหนึ่งในองคาพยพของสังคมแล้ว จักต้องมีกติกาและกรอบในการใช้ชีวิตร่วมกัน เพื่อความเป็นระเบียบ ความสงบสุขสันติในสังคม เพราะหากไม่มีกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันแล้วแน่นอนแต่ละคนอาจกระทำการใด ๆ ตามความปรารถนาของตนเองที่ไปสู่การละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคม และสร้างความเดือดร้อนในที่สุด ดังนั้นการอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้คนนั้นจะต้องเคารพต่อกฎกติกาของสังคม มีความรักความสามัคคีต่อกันอันจะนำมาซึ่งความสุข ความสันติแผ่ปกคลุมสังคมอย่างแท้จริง

สรรพสิ่งทั่วไป โดยการมอบความรักแผ่เมตตาต่อมวลสรรพสิ่งในโลก ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ตกทุกข์ได้ยาก รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีเมตตาต่อสัตว์ ซึ่งความเมตตาดังกล่าวในทัศนะของอิสลามนั้นย่อมส่งผลให้ผู้ที่มีความเมตตาต่อสรรพสัตว์ได้รับภาคผลจากพระผู้เป็นเจ้าอีกด้วย

พฤติกรรมที่ถือว่าขาดความรัก

ทำให้ผู้อื่นต้องประสบกับความเดือดร้อนด้วยคำพูดที่หยาบโลน หยาบกระด้างแข็งกร้าว

ความอิจฉาริษยา อันเป็นกิเลสซึ่งให้โทษทางจิตใจ ทำให้ความรักต้องมลายสิ้น ผู้อิจฉามักจะเป็นทุกข์เป็นร้อนอยู่ตลอดเวลา จิตใจไม่มีความสงบ อารมณ์จะอ่อนไหว ขาดความมั่นคง ทำลายศรัทธาในจิตใจ

ความโกรธ เป็นความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อความต้องการของตนเองไม่สมหวัง ความหักเหของอารมณ์จะอุบัติขึ้นกลายมาเป็นความโกรธ ความเกลียดชัง ไร้ซึ่งความรัก ความเมตตาสงสารต่อผู้คน ที่สำคัญที่สุดความโกรธจะทำลายบุคลิกภาพของเราเองและทำลายคุณธรรมต่าง ๆ ที่เราสะสมกักตุนไว้

ความมักมากในการพูดจา เพราะใครพูดมากย่อมผิดพลาดได้มาก และใครผิดพลาดมาก บาปของเขาก็จะมาก นรกย่อมคู่ควรกับเขาอย่างที่สุด ซึ่งผลจากความมักมากในการพูดจา จะส่งผลให้ขาดความเมตตา ความรัก ความปรารถนาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ความยโสโอหัง จะเกิดขึ้นจากความสำคัญผิดคิดว่าตนมีอะไรดีกว่าคนอื่น เหนือกว่าบุคคลอื่นและจะดูถูกดูแคลนคนอื่นว่าต่ำต้อยด้อยกว่าตน เป็นการแสดงออกทางคำพูดและการกระทำเป็นต้น

บทสรุปแห่งความรัก

อันที่จริงการทำความดีด้วยการคิดดี ทำดี พูดดีมีมธุรสวาจา เป็นเหตุแห่งการเสริมสร้างสัมพันธภาพแห่งความรักให้มีอานุภาพ สร้างความปรารถนาดี ความเอื้ออารี มีไมตรีจิต เพื่อสร้างสังคมแห่งสันติสุขให้ปกคลุมโลกใบนี้ ทั้งนี้เพราะอิสลามนั้นมีหลักธรรมคำสอนที่มุ่งเน้นการสร้างความรัก ความปรารถนาดีเป็นวิถีที่หยั่งรากลึกสู่สังคมแห่งความน่าอยู่ควบคู่คุณธรรมค้ำจุนโลก โดยผ่านกระบวนการสามัคคี ความรักใคร่ให้เกียรติต่อกันด้วยความสุจริตใจ

โดย อ.ปริญญา ประหยัดทรัพย์