เราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง จากโรงเรียนเราะมะฎอน ? ตอนที่ 3 บทเรียนด้านสังคม

10. การบริจาคให้ทาน เป็นที่ทราบกันดีว่าเดือนเราะมะฎอนนั้นเป็นเดือนแห่งความเอื้ออาทรและการให้ เป็นเดือนแห่งการเผื่อแผ่และบริจาคทาน ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผู้เป็นแบบอย่างของเรานั้น ในเดือนเราะมะฎอนท่านจะเป็นผู้ที่รีบเร่งต่อการเอื้ออาทรและเผื่อแผ่ต่อผู้ยากไร้อย่างไม่รีรอ ยิ่งกว่าสายลมที่พัดผ่าน (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม) ไม่ว่าผู้ใดร้องขออะไรจากท่าน ท่านก็จะให้ (บันทึกโดย อะหฺมัด)

สิ่งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้ถือศีลอด เป็นการฝึกฝนให้เขาเป็นผู้ที่มีความเอื้ออาทรและเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ยากจนยากไร้และผู้ขัดสน ลองพิจารณาดูสภาพของผู้ถือศีลอดในขณะที่เขาได้สัมผัสกับความอ่อนเพลียและความหิวกระหาย เขาจะรู้สึกเช่นไร? เมื่อเขาเผื่อแผ่ทำดีต่อผู้ยากไร้ที่ขัดสนเงินทอง แน่นอนว่าเขาย่อมรับรู้ได้ถึงความทุกข์ทรมานและความหิวโหยที่ผู้ยากไร้คนดังกล่าวต้องเผชิญในเดือนอื่นๆ นอกจากเดือนเราะมะฎอนซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เขามีความเอื้ออาทรและเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น

การบริจาคทานนั้นอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนด้วยผลบุญอันยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคในเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นๆ เพียงแต่ผลบุญของการบริจาคในเดือนเราะมะฎอนนั้นจะมากกว่าเป็นทวีคูน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ในสวรรค์นั้นมีห้องหับต่างๆ ซึ่งผู้ที่อยู่ด้านบนสามารถมองเห็นผู้ที่อยู่ด้านล่าง และผู้ที่อยู่ด้านล่างก็สามารถมองเห็นผู้ที่อยู่ด้านบนได้” เศาะหาบะฮฺกล่าวถามว่า “มันถูกเตรียมไว้สำหรับผู้ใดหรือครับท่านเราะสูล?” ท่านตอบว่า “สำหรับผู้ที่พูดจาไพเราะ บริจาคอาหาร ถือศีลอดอย่างสม่ำเสมอ และละหมาดยามค่ำคืนขณะที่ผู้อื่นกำลังหลับใหล” (บันทึกโดยอะหฺมัด)

เราะมะฎอนจึงเป็นเดือนที่ส่งเสริมให้ผู้ศรัทธามีความเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นไปได้ว่าด้วยสาเหตุดังกล่าวอัลลอฮฺจึงได้ทรงบัญญัติให้มุสลิมซึ่งบรรลุศาสนภาวะแล้ว และมีอาหารเพียงพอสำหรับวันอีดต้องจ่าย ‘ซะกาตฟิฏรฺ’

11. ความเป็นปึกแผ่นของชาวมุสลิม การที่ชาวมุสลิมถือศีลอดอย่างพร้อมเพรียงในช่วงเวลาเดียวกัน ร่วมละหมาดตะรอวีหฺพร้อมกัน ละศีลอดและทานอาหารสะหูรฺพร้อมกัน รวมไปถึงการฉลองรื่นเริงในอีดวันเดียวกัน ล้วนเป็นภาพที่แสดงออกถึงความเป็นปึกแผ่นและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวมุสลิม มุสลิมทุกคนจึงควรยึดภาพอันงดงามนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการรวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพบนพื้นฐานของทางนำและความถูกต้อง อันจะนำซึ่งความผาสุกและความดีงามทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และจำเป็นที่มุสลิมจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นสาเหตุของความแตกแยกร้าวฉาน ซึ่งเป็นภัยต่อความเป็นปึกแผ่นของมุสลิมยิ่งกว่าอาวุธของข้าศึกศัตรู อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า

﴿ وَٱعۡتَصِمُواْ بِحَبۡلِ ٱللَّهِ جَمِيعٗا وَلَا تَفَرَّقُواْۚ وَٱذۡكُرُواْ نِعۡمَتَ ٱللَّهِ عَلَيۡكُمۡ إِذۡ كُنتُمۡ أَعۡدَآءٗ فَأَلَّفَ بَيۡنَ قُلُوبِكُمۡ فَأَصۡبَحۡتُم بِنِعۡمَتِهِۦٓ إِخۡوَٰنٗا ﴾ [آل عمران: ١٠٣]

ความว่า "และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮฺโดยพร้อมกันทั้งหมด และจงอย่าแตกแยกกัน และจำรำลึกถึงความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีแต่พวกเจ้าขณะที่พวกเจ้าเป็นศัตรูกัน แล้วพระองค์ได้ทรงให้สนิทสนมกันระหว่างหัวใจของพวกเจ้า แล้วพวกเจ้าก็กลายเป็นพี่น้องกันด้วยความเมตตาของพระองค์" (อาล อิมรอน: 103)

บทส่งท้าย

พี่น้องมุสลิมที่รัก เดือนเราะมะฎอนนั้นถือเป็นช่วงเวลาแห่งความดีอันประเสริฐที่สุด ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่มุสลิมจะทำความดีและรับผลบุญอันใหญ่หลวง แต่ผู้ศรัทธาที่ชาญฉลาดนั้น ความมุ่งมั่นของเขาจะไม่หยุดอยู่เฉพาะในเดือนเราะมะฎอน แต่เขาจะใช้โอกาสของเดือนเราะมะฎอนเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่คุณความดีในเดือนอื่นๆ และเป็นเสมือนโรงเรียนที่ให้ผู้ศรัทธาได้ปรับปรุงทบทวนเจตนาและความตั้งใจของตน พร้อมมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดในการเคารพภักดีอัลลอฮฺ ทั้งนี้ การงานที่อัลลอฮฺทรงชอบที่สุดนั้น คือการงานที่ได้รับการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แม้จะเป็นการงานเพียงเล็กน้อยก็ตาม และพึงตระหนักไว้เสมอว่าพระผู้อภิบาลของเดือนเราะมะฎอนนั้น ก็คือพระผู้อภิบาลของเดือนอื่นๆ เช่นเดียวกัน และสิ่งใดที่อัลลอฮฺทรงชอบให้กระทำในเดือนเราะมะฎอน พระองค์ก็ทรงชอบให้กระทำสิ่งนั้นในเดือนอื่นๆ เช่นกัน

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•ศุกร์•ที่ 04 •ตุลาคม• 2013 เวลา 09:55 น.• )