เราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง จากโรงเรียนเราะมะฎอน ? ตอนที่ 1 ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ เราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง จากโรงเรียนเราะมะฎอน? มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พวกเราขอสรรเสริญพระองค์ ขอความช่วยเหลือจากพระองค์ และขออภัยโทษต่อพระองค์ ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองพวกเราให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายที่เกิดจากตัวเราและการงานของเรา ผู้ใดที่อัลลอฮฺทรงชี้นำทางจะไม่มีผู้ใดทำให้เขาหลงทางได้ และผู้ใดที่พระองค์ทรงทำให้เขาหลงทางก็ไม่มีผู้ใดชี้นำทางเขาได้ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

เดือนเราะมะฎอนอันเป็นเดือนที่มีความประเสริฐ ทั้งยังอัดแน่นไปด้วยการงานที่ดีและผลบุญมหาศาลนั้น เปรียบได้ดัง ‘โรงเรียน’ ซึ่งเปิดประตูให้ผู้ศรัทธาได้ตักตวงความรู้ที่มีคุณค่าและมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อเดือนเราะมะฎอนสิ้นสุดลงและผ่านพ้นไป ผลลัพธ์ที่ผู้ศรัทธาได้รับก็จะยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ อันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเขาได้ใช้โอกาสในเดือนนี้อย่างเกิดประโยชน์

เช่นนี้แล้ว มีแนวทางใดบ้างที่จะช่วยให้เราสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากโรงเรียนแห่งนี้ได้มากที่สุด? ให้จิตวิญญาณของเราได้อิ่มเอิบกับความดีงาม ให้พฤติกรรมจรรยามารยาทของเราได้รับการอบรมขัดเกลาด้วยหลักคำสอนต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรของเดือนอันประเสริฐนี้ และให้ร่างกายตลอดจนทุกอิริยาบถของเราได้ถือศีลอดอย่างสมบูรณ์แบบ?

บทเรียนด้านจิตวิญญาณ

1. ความยำเกรง การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดประการหนึ่ง ที่ช่วยให้จิตใจและจิตวิญญาณมีความบริสุทธิ์ ผู้ใดถือศีลอดในเดือนนี้ด้วยจิตที่เปี่ยมศรัทธาและหวังในผลบุญตอบแทน จิตใจของเขาก็จะมีความผุดผ่อง ห่างไกลจากความชั่วร้ายและการฝ่าฝืน ทั้งนี้ การขัดเกลาจิตใจให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดประการหนึ่งของการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ ١٨٣ ﴾ [البقرة: ١٨٣]

ความว่า "บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้คนก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 183)

ชัยคฺ อับดุรเราะหฺมาน อันนาศิรฺ อัสสะอฺดีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “อัลลอฮฺตะอาลาตรัสถึงประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของการถือศีลอด โดยพระองค์ตรัสว่า ﴿ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ ﴾ หมายถึง เพื่อให้การถือศีลอดนำพาพวกเจ้าสู่การบรรลุซึ่งตักวา และด้วยการถือศีลอดนี้ พวกเจ้าก็จะเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่มีความยำเกรง ซึ่งคำว่าตักวานั้นครอบคลุมทุกสิ่งที่อัลลอฮฺทรงโปรดและพอพระทัย ไม่ว่าจะเป็นการทำสิ่งซึ่งเป็นที่รักของอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ หรืองดเว้นสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮฺและเราะสูล

การถือศีลอดจึงเป็นหนทางที่สำคัญที่สุด ในการที่จะบรรลุซึ่งเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ซึ่งมีความสำคัญ และนำไปสู่ความสุขความสำเร็จ ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ถือศีลอดนั้นจะมุ่งเข้าหาอัลลอฮฺตะอาลา ด้วยการงดเว้นสิ่งที่จิตใจของเขาถวิลหา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม รวมไปถึงสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความรักที่มีต่ออัลลอฮฺมีความสำคัญเหนือความรักที่มีต่อตัวเขาเอง” (อัรริยาฎ อันนาซิเราะฮฺ โดย ชัยคฺ อับดุรเราะหฺมาน อัสสะอฺดีย์)

การได้บรรลุเป้าหมายสูงสุด ซึ่งก็คือ ‘ตักวา’ หรือความยำเกรงอัลลอฮฺนั้น เป็นบทเรียนแรกจาก ‘โรงเรียนเราะมะฎอน’ ที่ผู้ถือศีลอดพึงตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ผู้ถือศีลอดที่มีความศรัทธาอย่างแท้จริงและหวังในผลบุญนั้น เป้าหมายสำคัญและความมุ่งมั่นของเขาจะไม่หยุดอยู่ที่การขวนขวายเพื่อให้ได้มาซึ่งตักวาเฉพาะในช่วงเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น แต่ปณิธานความมุ่งมั่นของเขาสูงกว่านั้น กล่าวคือเขาจะถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนด้วยความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะตอกย้ำคำมั่นสัญญาของความเป็นบ่าวอย่างแท้จริง ที่เขามีต่ออัลลอฮฺ อันส่งผลให้เขางดเว้นสิ่งที่เป็นบาปความผิดและข้อห้ามต่างๆ ตราบที่ยังมีชีวิตอยู่

เดือนเราะมะฎอนสำหรับผู้ศรัทธาที่มีความมุ่งมั่นและความสัตย์จริงนั้น คือช่วงเวลาที่เขาจะปรับปรุงตักวาที่เขามีต่ออัลลอฮฺ เป็นโอกาสที่จะลบล้างบาปความผิดต่างๆ และเป็นวาระแห่งการเตาบัตกลับตัว เขาจะตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ที่จะยืนหยัดเชื่อฟังอัลลอฮฺจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ดังกล่าวนี้คือสภาพของผู้ศรัทธาที่ตระหนักถึงเป้าประสงค์ของเดือนเราะมะฎอน และเข้าใจบทเรียนที่ควรได้รับจากเดือนนี้อย่างถ่องแท้ ความเกรงกลัวที่เขามีต่ออัลลอฮฺจึงมิได้จำกัดแค่ในช่วงเดือนเดียว แต่เป็นความเกรงกลัวที่มีต่อเนื่องตลอดทั้งชีวิต

2. การละหมาดยามค่ำคืน ผู้ศรัทธาจะให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการละหมาด ‘กิยามุลลัยลฺ’ หรือละหมาด ‘ตะรอวีหฺ’ ในช่วงค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอน และแม้เราะมะฎอนจะผ่านพ้นไปเขาก็ยังดำรงไว้ซึ่งการละหมาดยามค่ำคืน ระลึกถึงอัลลอฮฺ สำนึกในความผิดบาป รวมถึงความดีอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ เนื่องจากว่าผู้ศรัทธานั้น เมื่อได้ละหมาดในเดือนเราะมะฎอนด้วยความศรัทธาที่เต็มเปี่ยมและหวังในผลบุญแล้ว เขาจะรับรู้ถึงความหอมหวานของการยืนละหมาดยามค่ำคืน ซึ่งส่งผลให้จิตใจมีความสุขความสงบ เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาก็คงจะไม่ยอมละทิ้งสิ่งดีๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาตระหนักดีว่าการละหมาดยามค่ำคืนนั้นบ่งบอกถึงความมีเกียรติของเขา และเป็นโอกาสสำคัญที่คำวิงวอนขอของเขาจะได้รับการตอบรับและตอบสนอง อีกทั้งบาปความผิดต่างๆ ก็จะได้รับการอภัย

การละหมาดยามค่ำคืนในเดือนเราะมะฎอน เป็นการฝึกฝนให้ผู้ศรัทธาตระหนักถึงความสำคัญของการละหมาดยามค่ำคืนในเดือนอื่นๆ การได้ยืนละหมาดยามค่ำคืนในเดือนนี้หรือเดือนใดก็ตาม ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับผู้ศรัทธา และเป็นการลบล้างความผิด ทั้งยังเป็นสาเหตุให้ได้รับผลบุญตอบแทนอันใหญ่หลวง ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

﴿ وَمِنَ ٱلَّيۡلِ فَتَهَجَّدۡ بِهِۦ نَافِلَةٗ لَّكَ عَسَىٰٓ أَن يَبۡعَثَكَ رَبُّكَ مَقَامٗا مَّحۡمُودٗا ٧٩ ﴾ [الإسراء: ٧٩]

ความว่า "และจากบางส่วนของกลางคืนเจ้าจงตื่นขึ้นมาละหมาดในเวลาของมัน เป็นการสมัครใจสำหรับเจ้า หวังว่าพระเจ้าของเจ้าจะทรงให้เจ้าได้รับตำแหน่งที่ถูกสรรเสริญ" (อัล-อิสรออ์: 79)

3. การใคร่ครวญอัลกุรอาน การอ่านอัลกุรอานในเดือนเราะมะฎอนทำให้ผู้ศรัทธาได้รับบทเรียนอันล้ำค่าที่นำพาสู่สัจธรรมและหนทางแห่งความดีงาม ทั้งยังมีส่วนทำให้ความศรัทธาของเขาที่มีต่ออัลลอฮฺเพิ่มพูนขึ้นอีกด้วย เมื่อได้สัมผัสผลลัพธ์อันน่าประทับใจที่ได้จากการอ่านอัลกุรอานในเดือนนี้ เขาก็ย่อมมีความรักความผูกพันต่ออัลกุรอาน และอ่านอัลกุรอานทุกวันอย่างสม่ำเสมอแม้เดือนเราะมะฎอนจะล่วงผ่านไปแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ เพราะเขาได้รับรู้ถึงผลของการอ่านอัลกุรอานที่มีต่อจิตวิญญาณของเขา และต่อการดำเนินชีวิตอยู่บนทางนำอย่างเที่ยงตรง จึงกล่าวได้ว่าเดือนเราะมะฎอนนั้น นอกจากจะเป็นเดือนที่ผู้ศรัทธาปลีกตัวเพื่อทุ่มเทให้กับการอ่านอัลกุรอานแล้ว ยังเป็นโอกาสให้เขาได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งเตือนสติให้เขาระลึกถึงอัลลอฮฺ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดก็คืออัลกุรอาน ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ إِنَّ هَٰذَا ٱلۡقُرۡءَانَ يَهۡدِي لِلَّتِي هِيَ أَقۡوَمُ وَيُبَشِّرُ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ ٱلَّذِينَ يَعۡمَلُونَ ٱلصَّٰلِحَٰتِ أَنَّ لَهُمۡ أَجۡرٗا كَبِيرٗا ٩ ﴾ [الإسراء: ٩]

ความว่า "แท้จริง อัลกุรอานนี้นำสู่ทางที่เที่ยงตรงยิ่ง และแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ประกอบความดีทั้งหลายว่า สำหรับพวกเขานั้นจะได้รับการตอบแทนอันยิ่งใหญ่" (อัล-อิสรออ์: 9) อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสในหะดีษกุดสีย์บทหนึ่งว่า

« كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَم لَهُ، الحَسَنَةُ بَعَشرَةِ أَمْثَالِهَا إلى سَبْعِ مِائَة ضِعْفٍ إِلا الصِّيَام ؛ فَإِنَّهُ لي وَأَنَا أَجْزِيْ بِهِ ، إنَّهُ تَرَكَ شَهْوَتَهُ وَطَعَامَهُ وَشَرَابَهُ مِن أَجْلِي. للصَائِمِ فَرْحَتَان: فَرْحَةٌ عِنْدَ فِطْرِهِ، وَفَرْحَةٌ عندَ لِقَاءِ رَبِّهِ ، ولَخلُوْفُ فَمِ الصَائِمِ أَحَبُّ عندَ اللهِ مِنْ رِيْحِ المِسْكِ » [رواه البخاري ومسلم]

ความว่า “การงานทุกประการของมนุษย์นั้นจะได้รับผลบุญตามส่วนที่เขาได้กระทำ โดยความดีหนึ่งจะได้รับผลบุญตอบแทนสิบเท่าเรื่อยไปจนเจ็ดร้อยเท่า ยกเว้นการถือศีลอด โดยผลตอบแทนของการถือศีลอดนั้นเป็นสิทธิของข้า และข้าจะตอบแทนตามความประสงค์ของข้าเอง แท้จริงเขาได้งดเว้นอารมณ์ความใคร่ อาหาร และเครื่องดื่มเพื่อข้า สำหรับผู้ถือศีลอดนั้นมีความเบิกบานใจอยู่สองครั้ง: เมื่อเขาละศีลอดเขาจะเบิกบานใจกับการละศีลอดนั้น และเมื่อเขาได้พบองค์อภิบาลของเขา เขาจะเบิกบานใจ (กับผลบุญที่ได้) จากการถือศีลอดของเขา และแท้จริงแล้วกลิ่นปากของผู้ที่ถือศีลอดนั้น

การอ่านอัลกุรอานของผู้ศรัทธานั้นมิได้จำกัดช่วงเวลาเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น แต่ยังต่อเนื่องไปถึงหลังเดือนเราะมะฎอน ตราบเท่าที่เขายังจำเป็นต้องได้รับการเตือนสติ ซึ่งแน่นอนว่าความจำเป็นดังกล่าวนั้นไม่มีวันสิ้นสุดตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่!

เราะมะฎอนคือโรงเรียนแห่งอัลกุรอาน โดยอัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในเดือนนี้ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ شَهۡرُ رَمَضَانَ ٱلَّذِيٓ أُنزِلَ فِيهِ ٱلۡقُرۡءَانُ ﴾ [البقرة: ١٨٥]

ความว่า "เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 185)

ด้วยเหตุนี้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงหมั่นทบทวนใคร่ครวญอัลกุรอาน พร้อมๆ กับท่านญิบรีลในเดือนเราะมะฎอน ดังปรากฏรายงานที่ถูกต้องซึ่งบันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม

ซึ่งถ้าหากเราพิจารณาไตร่ตรองความสัมพันธ์ระหว่างท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กับอัลกุรอาน จะพบว่าท่านเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการอ่านและใคร่ครวญอัลกุรอานมากที่สุด ดังนั้น เมื่อมีผู้ถามท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ถึงอุปนิสัยของท่านเราะสูล นางจึงตอบว่า “อุปนิสัยของท่านก็คือคำสอนของอัลกุรอาน”

ทั้งนี้ ท่านมิได้ให้ความสำคัญกับการทบทวนศึกษาอัลกุรอานเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น เพียงแต่ว่าในเดือนเราะมะฎอนท่านจะทบทวนใคร่ครวญอัลกุรอานมากกว่าเดือนอื่นๆ ดังนั้น พวกเราก็ควรจะให้เดือนเราะมะฎอนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทบทวนศึกษาและอ่านอัลกุรอานอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการปรับปรุงขัดเกลาจรรยามารยาทให้สอดคล้องกับสิ่งที่อัลกุรอานสอนสั่ง จะเห็นว่าอัลลอฮฺตะอาลา ทรงใช้ให้เราอ่านและทบทวนอัลกุรอานอย่างใคร่ครวญทั้งในเดือนเราะมะฎอนและเดือนอื่นๆ โดยพระองค์ตรัสว่า

﴿ كِتَٰبٌ أَنزَلۡنَٰهُ إِلَيۡكَ مُبَٰرَكٞ لِّيَدَّبَّرُوٓاْ ءَايَٰتِهِۦ وَلِيَتَذَكَّرَ أُوْلُواْ ٱلۡأَلۡبَٰبِ ٢٩ ﴾ [ص : ٢٩]

ความว่า "คัมภีร์ (อัลกุรอาน) เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้าซึ่งมีความจำเริญ เพื่อพวกเขาจะได้พินิจพิจารณาอายาตต่างๆ ของอัลกุรอานและเพื่อปวงผู้มีสติปัญญาจะได้ใคร่ครวญ" (ศอด: 29)

แต่เหตุใดผู้คนส่วนใหญ่จึงทุ่มเทให้กับการอ่านอัลกุรอานในเดือนเราะมะฎอน แต่กลับทอดทิ้งอัลกุรอานในเดือนที่เหลืออีกตลอดทั้งปีอย่างไร้เยื่อใย?

4. ความบริสุทธิ์ใจ และจากโรงเรียนเราะมะฎอนนี้ ผู้ศรัทธายังได้เรียนรู้เรื่อง ‘อิคลาศ’ หรือความบริสุทธิ์ใจ และการมีเจตนาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ การถือศีลอดของผู้ศรัทธาในเดือนเราะมะฎอนนั้น มีเพียงเขากับอัลลอฮฺเท่านั้นที่รู้ว่า ในความเป็นจริงแล้วเขาถือศีลอดหรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงความหมายของความบริสุทธิ์ใจอย่างชัดเจนยิ่ง ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺจึงทรงตอบแทนผู้ถือศีลอดด้วยผลบุญที่ยิ่งใหญ่มหาศาล

อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสในหะดีษกุดสีย์บทหนึ่งว่า

« كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَم لَهُ، الحَسَنَةُ بَعَشرَةِ أَمْثَالِهَا إلى سَبْعِ مِائَة ضِعْفٍ إِلا الصِّيَام ؛ فَإِنَّهُ لي وَأَنَا أَجْزِيْ بِهِ ، إنَّهُ تَرَكَ شَهْوَتَهُ وَطَعَامَهُ وَشَرَابَهُ مِن أَجْلِي. للصَائِمِ فَرْحَتَان: فَرْحَةٌ عِنْدَ فِطْرِهِ، وَفَرْحَةٌ عندَ لِقَاءِ رَبِّهِ ، ولَخلُوْفُ فَمِ الصَائِمِ أَحَبُّ عندَ اللهِ مِنْ رِيْحِ المِسْكِ » [رواه البخاري ومسلم]

ความว่า “การงานทุกประการของมนุษย์นั้นจะได้รับผลบุญตามส่วนที่เขาได้กระทำ โดยความดีหนึ่งจะได้รับผลบุญตอบแทนสิบเท่าเรื่อยไปจนเจ็ดร้อยเท่า ยกเว้นการถือศีลอด โดยผลตอบแทนของการถือศีลอดนั้นเป็นสิทธิของข้า และข้าจะตอบแทนตามความประสงค์ของข้าเอง แท้จริงเขาได้งดเว้นอารมณ์ความใคร่ อาหาร และเครื่องดื่มเพื่อข้า สำหรับผู้ถือศีลอดนั้นมีความเบิกบานใจอยู่สองครั้ง: เมื่อเขาละศีลอดเขาจะเบิกบานใจกับการละศีลอดนั้น และเมื่อเขาได้พบองค์อภิบาลของเขา เขาจะเบิกบานใจ (กับผลบุญที่ได้) จากการถือศีลอดของเขา และแท้จริงแล้วกลิ่นปากของผู้ที่ถือศีลอดนั้น

มีกลิ่นหอม ณ อัลลอฮฺ ยิ่งกว่ากลิ่นของน้ำหอมมิสกฺ(ชะมดเชียง)เสียอีก” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

ซึ่งการที่อัลลอฮฺทรงปิดผลบุญที่ผู้ถือศีลอดจะได้รับไว้เป็นความลับ ก็เนื่องจากความอิคลาศบริสุทธิ์ใจที่เขามีต่ออัลลอฮฺ ด้วยการงดเว้นอารมณ์ความใคร่และการรับประทานอาหารเพื่อพระองค์ ทั้งนี้ หากว่าเขาจะแสดงออกแต่ภายนอกว่าถือศีลอดทั้งที่ความเป็นจริงมิได้ถือก็ย่อมทำได้ โดยที่ไม่มีผู้ใดจะล่วงรู้ความจริงได้นอกจากอัลลอฮฺ ดังนั้น เมื่อเขาถือศีลอดเพื่ออัลลอฮฺอย่างบริสุทธิ์ใจ และยำเกรงอัลลอฮฺแม้ในขณะที่อยู่ตามลำพังเพียงคนเดียวก็ตาม ก็เป็นการสมควรที่เขาจะได้รับผลบุญตอบแทนอย่างไร้ขีดจำกัด

สิ่งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ผู้ถือศีลอดจะได้รับจากเดือนเราะมะฎอน เป็นการเน้นย้ำถึงความเป็นบ่าวอย่างแท้จริงต่ออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ดังที่พระองค์ตรัสว่า

﴿ قُلۡ إِنَّ صَلَاتِي وَنُسُكِي وَمَحۡيَايَ وَمَمَاتِي لِلَّهِ رَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ١٦٢ لَا شَرِيكَ لَهُۥۖ وَبِذَٰلِكَ أُمِرۡتُ وَأَنَا۠ أَوَّلُ ٱلۡمُسۡلِمِينَ ١٦٣ ﴾ [الأنعام: ١٦٢، ١٦٣]

ความว่า "จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า แท้จริงการละหมาดของฉัน การอิบาดะฮฺของฉัน การมีชีวิตของฉัน และการตายของฉัน ทั้งหมดนั้นล้วนเพื่ออัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลก ไม่มีภาคีใดๆ แก่พระองค์ และด้วยสิ่งนั้นแหละข้าพระองค์ถูกใช้ และข้าพระองค์คือคนแรกในหมู่ผู้สวามิภักดิ์ทั้งหลาย" (อัล-อันอาม: 162-163) และพระองค์ตรัสว่า

﴿ قُلِ ٱللَّهَ أَعۡبُدُ مُخۡلِصٗا لَّهُۥ دِينِي ١٤ ﴾ [الزمر: ١٤]

ความว่า "จงกล่าวเถิด เฉพาะอัลลอฮฺเท่านั้นที่ฉันเคารพภักดีโดยเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาของฉันต่อพระองค์" (อัซ-ซุมัรฺ: 14)

ซึ่งอิบาดะฮฺหรือการเคารพภักดีนั้นครอบคลุมทุกคำพูด การกระทำภายนอกหรือสิ่งที่อยู่ภายในใจ อันเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงพอพระทัย ทั้งนี้ หากว่าความอิคลาศเป็นสาเหตุให้ผู้ถือศีลอดได้รับผลบุญอันใหญ่หลวงแล้ว ความอิคลาศในอิบาดะฮฺอื่นๆ ไม่ว่าจะในเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนใด ก็ถือเป็นสาเหตุของการได้รับผลบุญอันยิ่งใหญ่เช่นกัน ทั้งนี้ ความอิคลาศซึ่งเป็น

เงื่อนไขที่จะทำให้อิบาดะฮฺถูกต้องใช้ได้นั้น ถือเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่สุดข้อหนึ่งที่ผู้ถือศีลอดได้เรียนรู้จากเราะมะฎอน เป็นบทเรียนที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวเขาทั้งในด้านศาสนาหรือการใช้ชีวิตในโลกดุนยา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•ศุกร์•ที่ 30 •สิงหาคม• 2013 เวลา 22:26 น.• )