ประวัติโดยสังเขปของคริสตจักรที่ 1 แพร่กิตติคุณ คริสตจักรที่ 1 แพร่กิตติคุณ มีความหมายถึงเป็นคริสตจักรแห่งแรกในจังหวัดแพร่ และเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ขยายของพระกิตติคุณไปสู่ที่อื่น ๆ ในเขตจังหวัดแพร่และอุตรดิตถ์ ซึ่งการเข้ามาของพระกิตติคุณในจังหวัดแพร่มีความเป็นมาดังต่อไปนี้

พระกิตติคุณเข้าสู่จังหวัดแพร่อย่างไร พระกิตติคุณของพระเยชูคริสต์เข้าสู่จังหวัดแพร่ ก็เพราะการทำงานอย่างจริงจังของมิชชั่นนารีคณะเพรสไบทีเรียนแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2435 ) ซึ่ง ดร. แมคกิลวารี หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พ่อครูหลวง” เป็นมิชชั่นนารีคนแรก ที่เข้ามาสำรวจและเผยแพร่พระกิตติคุณ พ่อครูหลวงมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ได้ใช้รูปแบบการเผยแพร่คริสต์ศาสนาที่แพร่คือ ออกเยี่ยมเยียน รักษาคนเจ็บป่วย พร้อมกับประกาศพระกิตติคุณควบคู่ไปด้วย ท่านได้ใช้วิชาการแพทย์แผนใหม่รักษาชาวบ้านได้ผลดีกว่าการรักษาแผนโบราณ นี่คือจุดหนึ่งที่ทำให้ท่านเข้ากับชาวบ้านได้ดี

ในปี ค.ศ. 1893 ( พ.ศ. 2436 ) เกิดข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้เกิดขาดแคลนอาหารทั่วภาคเหนือ โดยเฉพาะเกิดภาวะฝนแล้ง ทำนาปลูกข้าวไม่ได้ผล ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนข้าวสารบริโภคความแห้งแล้งกันดารอาหารแผ่คลุมมาถึงจังหวัดแพร่ด้วย ความทราบถึง ดร. พี.เอส.พีเปิล ซึ่งเป็นศาสนาจารย์และมิชชั่นนารีประจำที่จังหวัดลำปาง จึงได้นำข้าวสารบรรทุกหลังม้าต่างยกเป็นขบวนนำมาแจกแก่ชาวบ้านที่อดอยากหิวโหย โดยมีคริสเตียนตำแหน่งผู้ปกครอง 2 คน ได้แก่ นายน้อย และนายธรรมชัย จากลำปางได้ออกไปเผยแพร่ข่าวประเสริฐขององค์พระเยซูคริสต์ที่หมู่บ้านเวียงทอง อำเภอสูงเม่น พร้อมได้เล่าการแจกข้าวสารของ ดร. พีเปิล ให้ชาวบ้านฟังด้วย

หลังจากแจกข้าวสารเสร็จแล้ว คณะมิชชั่นนารีก็กลับลำปาง มีชาวบ้านจากแพร่ติดตามไปด้วยจำนวนหนึ่ง และได้พักที่ลำปาง 1 เดือน ระหว่างนั้นก็มีโอกาสได้ฟังคำสอนเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา ได้เห็นการประพฤติปฏิบัติที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักเมตตาของมิชชั่นนารีจึงเกิดศรัทธเลื่อมใสในคริสต์ศาสนาในที่สุดก็ตัดสินใจรับเชื่อในพระเยซูคริสต์ 10 คน ครั้นคริสเตียนทั้ง 10 คนกลับสู่จังหวัดแพร่ จึงนำข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ไปบอกเล่าให้เพื่อนฝูงและญาติพี่น้องฟัง ทำให้อีกหลายครอบครัว ตัดสินใจเชื่อรับบัพติศมาประกาศตัวเป็นคริสเตียน จนสามารถตัวกันตั้งเป็นคริสตจักร “แห่งแรก” ของจังหวัดซึ่งได้แก่คริสตจักรที่ 1 แพร่กิตติคุณ

ในปี ค.ศ. 1894 (พ.ศ. 2437) ศาสนาจารย์ ดร.ฟิเอส พีเปิ้ล ได้จัดการซื้อที่ดินแห่งหนึ่งในหมู่บ้านเชตะวันอันมีเนื้อที่ประมาณ 3ไร่ เศษ ที่ดินดังกล่าวนี้อยู่ใกล้ ๆ ฝั่งแม่น้ำยมฟากด้านตะวันตกใกล้ ๆ บริเวณห้างบอมเบย์เบอร์ม่า บริษัทที่ได้รับสัมปทานป่าไม้เขตภาคเหนือ เวลานั้นที่ดินอาณาเขตที่มิชชั่นซื้อครั้งนั้นติดอยู่ให้บริษัททำการป่าไม้บอมเบย์เบอร์ม่ามิชชั่นใช้เป็นที่ตั้งโรงพยาบาลขนาดเล็ก ( คลินิก ) และสร้างอาคารเรียนตั้งเป็นสถานที่ทำการสอนหนังสือ สร้างบ้านพักของมิชชั่นนารี บ้านพักคนงาน เรือนพักคนไข้ และโรงสวดเป็นสถานที่สวดนมัสการพระเจ้า

ในปี ค.ศ. 1894 ดร. วิลเลียมบริ๊กส์ เอ็ม ดี ( Dr.Rilliam Briggs M.D. ) ได้ย้ายมาเป็นมิชชั่นนารีประจำเมืองแพร่ เป็นครอบครัวแรก ต่อมาไม่นานอาจารย์และแหม่มวิลเลียมซิลต์ ( Rev. Mrs. William Child ) ได้มาประจำด้วยต่อมาครอบครัวของ ดร.เจเอสโทมัส ( Rev. J.S. Thomas M.D. ) ได้มาประจำแทนครอบครัว ดร.วิลเลียม บริ๊กส์ ซึ่งกลับไปเยี่ยมบ้านที่สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นก็มีนางสาวจูเลียแฮ๊ทช์ ( Miss Julia Hatch ) ได้มาร่วมงานด้วย ส่วนคนงานซึ่งเป็นคนไทยในเวลานั้นก็มี ผป.หนานใจ อินทวิพันธ์

ผู้ปกครอง 2 คนแรกในคริสตจักรเมืองแพร่ คือ นายมา ชาติเงี้ยว และนายน้อยปัญญา มณีวงศ์ และอีกผู้หนึ่งซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของคริสตจักร คือ นายหนานชัย นุภาพ บุคคลดังกล่าวนี้มาจากเชียงใหม่ มาทำงานกับบริษัท ป่าไม้บอมเบย์เบอร์ม่าก่อนที่คณะมิชชั่นนารีจะมาเปิดสำนักงานมิชชั่นนารีที่นั่นและอีกผู้หนึ่งซึ่งเป็นกำลังของคริสตจักรอันสำคัญยิ่งคือ นายหลุม พันธุพงศ์ ซึ่งเป็นบิดาของศาสนาจารย์ทองคำ พันธุพงศ์ ท่านผู้นี้ได้อพยพจากจังหวัดเชียงใหม่ ได้มารับเชื่อรับศีลบัพติศมาเป็นคริสต์สมาชิกคริสตจักรในเมืองแพร่รุ่นแรก นอกจากนี้มี ผป.น้อยเนียม ศรีมูลชัย ผป.น้อยวงศ์ ศรีมูลชัย ผป.หนานชัย นุภาพ ผป. ผิ่ว ฯลฯ ได้ร่วมกันดำเนินงานของคริสตจักรนายหลุม พันธุพงศ์ และนายหนานชัย นุภาพ ได้รับสถาปนาแต่งตั้งเป็นผู้ปกครอง บรรดาเหล่านี้ได้เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการบริหารกิจการงานของคริสตจักรในระหว่างที่ว่างมิชชั่นนารีหลายปี ท่านทั้งสองได้ร่วมงานกันมาจนตลอดชีวิต ท่านทั้งสองได้ถึงแก่กรรมในเดือนเดียวกันในปี ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467)

ในปี ค.ศ. 1913(พ.ศ. 2456) สมัยที่ท่านอาจารย์ ซี อาร์ คารเลนเดอร์พร้อมทั้งครอบครัวไปอยู่ประจำที่เมืองแพร่ ในปีนี้เองคณะมิชชั่นนารีได้มีมติให้ย้ายสำนักงานมิชชั่นนารีจากบ้านเชตะวันไปอยู่ที่ดินแปลงใหม่คือบ้านทุ่ง ตำบล ในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อันเป็นที่ดินที่โรงเรียนและโรงพยาบาลตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้ เหตุที่มิชชั่นนารีต้องย้ายไปตั้งอยู่ที่ใหม่นี้ เนื่องจากบริเวณเขตเก่าของมิชชั่นนารีที่บ้านเชตะวันถูกน้ำยมเชาะตลิ่งพังกินเนื้อที่ของมิชชั่นนารีไปทุกที ในไม่ช้าก็ถูกแม่น้ำยมกลืนหมด จนปัจจุบันนี้บริเวณที่ดินดังกล่าวตกอยู่กลางแม่น้ำยมทีเดียว ผืนแผ่นดินบริเวณเขตของมิชชั่นนารีที่หมู่บ้านเชตะวันไม่เหลือเลยแม้แต่น้อย

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) ท่านศาสนาจารย์ เอช เคย์ จอห์นน๊อกส์ มิสซิส ลีลา เอส น๊อกส์ พร้อมทั้งครอบครัวย้ายจากเมืองตรังมาเป็นมิชชั่นนารีประจำเมืองแพร่ และเป็นครอบครัวมิชชั่นนารีอยู่ประจำเมืองแพร่นานกว่าครอบครัวมิชชั่นนารีอื่น ๆ ที่เคยอยู่มา ท่านมาประจำอยู่นานถึง 40 ปีเศษ จนกระทั่งปลดเกษียณอายุ

ระหว่างที่ครอบครัวของท่านอาจารย์เอชเกย์หลอดน๊อกส์อยู่ประจำเมืองแพร่ ทางคริสตจักรที่ 1 ในเมืองแพร่ไม่มีชื่อเฉพาะ เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็นคริสตจักรแพร่กิตติคุณในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง คริสตจักรแรกเริ่มยังขาดศิษยาภิบาลประจำ ต้องอาศัยคณะธรรมกิจของคริสตจักรบริหาร ในความร่วมมือของท่านศาสนาจารย์เอชเกย์ หลอดน๊อกส์ ในบางทีท่านศาสนาจารย์เอชเกย์หลอดน๊อกส์กลับไปเยี่ยมพักผ่อนที่บ้านเมืองนอกชั่วคราว ก็จะมีมิชชั่นนารีเก่าแก่บางท่านขันอาสามารักษาการแทนในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) คริสตจักรได้จัดการฉลองอายุครอบ 40 ปี ของการตั้งคริสตจักร ในโอกาสนั้นคริสตจักรได้มีศิษยาภิบาลประจำคนแรกคือ ศิษยาภิบาลดวงชื่น พันธุพงศ์ อดีตเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนเจริญราษฎร์ และต่อมาได้ถูกเลื่อนมาเป็นผู้รั้งศิษยาภิบาลอยู่หลายปี จนกระทั่งได้รับการสถาปนาเป็นศิษยาภิบาลประจำคริสตจักรอย่างสมบูรณ์ และท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้มาประมาณ 5-6 ปี ท่านได้ถึงแก่กรรม

เมื่อศิษยาภิบาลดวงชื่น พันธุพงศ์ ถึงแก่กรรมแล้ว คริสตจักรก็ว่างศิษยาภิบาลอยู่หลายปี การดำเนินการบริหารของคริสตจักรอยู่ในความดูแลปกครองของคณะธรรมกิจ โดยมีศาสนาจารย์ ซี อาร์ คาเรนเดอร์เป็นประธานธรรมกิจ พร้อมด้วยหมอบุญศร วรรณาลัย ผป.เฮือน นุภาพ ผป.จันทร์ป้อง พันธุพงศ์ ผป.นวล วัฒนาพร ผป.คำปัน แสงสุพรรณ ผป.ธรรมชัย บุญยงค์ ผป.สิงห์แก้ว ดีตันนา ผป.บุญทา นันทิยา ผป.ดำรง สารสมุทร เป็นต้น

ครั้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1940 คริสตจักรได้สถาปนา ผป.ทองอยู่ ธราวรรณ เป็นศาสนาจารย์และให้ดำรงตำแหน่งเป็นศิษยาภิบาลประจำคริสตจักร กิจการงานของคริสตจักรก็ดำเนินตามปกติท่านศิษยาภิบาลทองอยู่ ธราวรรณ ได้ดำเนินงานมาประมาณ 8 ปีเศษ ประจวบกับสุขภาพของท่านไม่ปกติจึงได้ลาพักผ่อน กิจการงานของคริสตจักรตกอยู่ในความดูแลเอาใจใส่ของคณะธรรมกิจ อันมีศาสนาจารย์เอชเกย์หลอดน๊อกส์เป็นประธานพร้อมด้วยผู้ปกครองในคณะองค์ธรรมกิจเป็นผู้บริหารกิจการงานของคริสตจักร อันมี

1. ผป.บุญทา นันทิยา

2. ผป.สิงห์แก้ว ดีตันนา

3. ผป.อินถา มณีวงศ์

4. ผป.คำอ้าย ถาวร

5. ผป.สว่าง สิงหเนตร

6. ผป.ทงไชย วุฒิการณ์

7. ผป.บุญเลิศ อินทะพันธุ์

8. ผป.คำปัน แสงสุพรรณ

9. ผป. ลีลา เอสน๊อกส์

10. ผป.ดำรง สารสมุทร เป็นเลขานุการประจำคริสตจักร

มัคนายกประกอบด้วย

1. มน.สุพัตร วงศ์สงคราม

2. มน.สุพจน์ พรมรัตน์

3. มน.ฟองจันทร์ นันทิยา

4. มน.คำป้อ ดีตันนา เป็นอาทิ

กิจการงานของคริสตจักรได้ดำเนินลุล่วงมาด้วยดี จนกระทั่งถึงวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1939 ถึง เดือนมีนาคม ค.ศ. 1951 ศาสนาจารย์เอชเกย์ หลอดน๊อกส์พร้อมกับครอบครัวกลับไปเยี่ยมบ้านที่สหรัฐ ฯ ชั่วคราว ในระหว่างที่ครอบครัวอาจารย์น๊อกส์กลับไปสหรัฐ ฯ นั้น ทางคณะมิชชั่นนารีได้ส่งมิชชั่นนารีพาร์ค ( แม่เลี้ยงพาร์ค ) มาดำรงตำแหน่งเป็นมิชชั่นนารีแทน ทรงคริสตจักรก็เชิญศาสนาจารย์เมืองโพธิ์ จันทรบูรณ์ มาเป็นประธานธรรมกิจแทนอาจารย์น๊อกส์

ต่อมาทางคริสตจักรเห็นว่าคริสต์สมาชิกเจริญก้าวหน้ามามากแล้ว เห็นสมควรที่จะต้องสร้างโบสถ์ขึ้นใหม่ ให้เป็นตึกอาคารถาวร ตึกคอนกรีตเสริมเหล็กให้ทันสมัย สมาชิกรวมทั้งคณะธรรมกิจจึงได้ตกลงให้สร้างขึ้นใหม่ในสถานที่ดินแห่งใหม่อันเป็นที่ดินของมิชชั่นนารีที่ซื้อไว้แต่เดิม ในนามของบอร์ดออฟฟอเรนส์ มิชชั่นนารี สมัยนั้น ต่อมาที่ดินแห่งใหม่นี้ทางบอร์ดได้สลายตัวและมอบให้เป็นของมูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นเจ้าของ มีเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ 1 งาน 18 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อันเป็นที่ตั้งโบสถ์คริสตจักรที่ 1 แพร่กิตติคุณ ในปัจจุบัน

ต่อมาในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1952 ได้เซ็นสัญญาการรับเหมาก่อสร้างโบสถ์ 150,000 บาท การก่อสร้างโบสถ์จึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โบสถ์ได้สร้างเสร็จบริบูรณ์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1952 สิ้นค่าก่อสร้างสิ้น 154,263.65 บาท พิธีการฉลองโบสถ์ใหม่กระทำเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1952 ถึงวันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1952

หลังจากคริสตจักรได้ย้ายมาสร้างที่นมัสการพระเจ้า ( โบสถ์ ใหม่) ซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียนเจริญราษฎร์ ทางทิศใต้ ซึ่งเป็นสถานที่ปัจจุบันนี้ ในปี ค.ศ. 1952 คริสตจักรได้ดำเนินงานมาตามปกติ โดยการดำเนินงานของคณะธรรมกิจ เพราะช่วงนี้คริสตจักรยังไม่มีศิษยาภิบาล จวบจนราวปี ค.ศ. 1957 คริสตจักรจึงได้มีศิษยาภิบาลประจำการจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีรายนามดังต่อไปนี้

1. ศาสนาจารย์ อินแหลง โกวรรณ

2. ศาสนาจารย์ทรงเดช กุสาวดี

3. ศาสนาจารย์ถาวร สุตีคา

4. ศาสนาจารย์โพธิ์ ถิ่นวงศ์ญวณ

5. ศาสนาจารย์คุณากร คุณาสวัสดิ์

6. ศาสนาจารย์สุทัศน์ คำตุ้ย

7. ครูศาสนาปริญญา ระวีศรี

8. ศาสนาจารย์ถาวร สุตีคา(ปัจจุบัน 2011)

รายชื่อศิษยาภิบาลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คริสตจักรที่ 1 แพร่กิตติคุณ

1. ศิษยาภิบาล ดวงชื่น  พันธุวงศ์   ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475)

2. ศาสนาจารย์ ทองอยู่  ธราวรรณ  ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2483)

3. ศาสนาจารย์ เมืองโพธิ์  จันทรบูรณ์  ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494)

4. ศาสนาจารย์ อินแหลง  โกวรรณ   ค.ศ. 1957 (พ.ศ.2500)

5. ศาสนาจารย์ ทรงเดช  กุสาวดี   ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505)

6. ผู้ร่วมพันธกิจ  อ. ธวัชชัย ธรรมาธิษฐาน  ค.ศ. 1975 (พ.ศ.2508)

7. ศิษยาภิบาล ถาวร  สุตีคา   ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521)

8. ศิษยาภิบาล โพธิ์  ถิ่นวงศ์ญวน  ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524)

9. ศิษยาภิบาล คุณากร  คุณาสวัสดิ์  ค.ศ. 1989 - 1993 (พ.ศ. 2532-2536)

10. ศิษยาภิบาล สุทัศน์  คำตุ้ย   ค.ศ. 1996 - 2000 (พ.ศ. 2539- 2543)

11. ศิษยาภิบาล ปริญญา  ระวีศรี   ค.ศ. 2001 – 2006 (พ.ศ. 2543-2549)

12. ศิษยาภิบาล ถาวร  สุตีคา   ค.ศ. 2011 – (พศ. 2554)

รายชื่อคณะธรรมกิจและเลขานุการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คริสตจักรที่ 1 แพร่กิตติคุณ ประธานคณะธรรมกิจ เลขานุการ ระยะเวลา

1. ศจ.ซีอาร์ คาร์เรนเดอร์ - ค.ศ. 1938 (พ.ศ.2481)

2. ศจ.เอชเกย์ หลอดน๊อกส์ ผป.ดำรง สารสมุทร ค.ศ. ๑๙๔๘ (พ.ศ. 2489)

3. ศจ.เมืองโพธิ์ จันทรบูรณ์ ผป.ดำรง สารสมุทร ค.ศ. 1951-1953 (พ.ศ.2494-2496)

4. ศจ.เอชเกย์ หลอดน๊อกส์ ผป.ดำรง สารสมุทร ค.ศ. 1953-1958(พ.ศ. 2496-2501)

5. ศจ.สิงห์โต รัตนรินทร์ ผป.ดำรง สารสมุทร ค.ศ.1958-1959 (พ.ศ. 2501-2502)

6. ศจ.อินแหลง โกวรรณ ผป.ดำรง สารสมุทร ค.ศ.1959-1962 (พ.ศ. 2502-2505)

7. ผป.น.พ.บุญทา นันทิยา ผป.ดำรง สารสมุทร -

8. ผป.ดำรง สารสมุทร ผป.จำเนียร วุฒิการณ์ -

9. ผป.คำอ้าย ถาวร ผป.ดำรง สารสมุทร -

10. ผป.สถาบน์  ชินพงศ์ ผป.จินตนา บุณยเกียรติ ค.ศ. 1996-1997 (พ.ศ. 2539-2540)

11. ผป.จำเนียร  วุฒิการณ์ ผป.จินตนา บุณยเกียรติ ค.ศ. 1997-1998 (พ.ศ. 2540-2541)

12.คศ.สุทัศน์ คำตุ้ย ผป.วีนัส นันทิยา ค.ศ.1998 (พ.ศ.2541)

13.ผป.จำเนียร  วุฒิการณ์  ผป.วีนัส นันทิยา ค.ศ.1998-2001 (พ.ศ.2543-2544)

14. ผป.เพ็ญพรรณ เพชรภักดิ์ ผป.ปราโมทย์ บุณยเกียรติ ค.ศ. 2001-2002 (พ.ศ. 2544-2545)

15.ผป.พ.อ.น.พ.นิวัฒน์ บุญยืน ค.ศ.ปริญญา ระวีศรี ค.ศ. 2002-2003(พ.ศ. 2545-2546)

16.ผป.พ.อ.น.พ.นิวัฒน์ บุญยืน ผป.ธีรวัฒน์ คำทิพย์ ค.ศ. 2003-2005 (พ.ศ. 2546-2548)

17. ผป.ทวิชาติ จันทรวงศ์ ผป.ธีรวัฒน์ คำทิพย์ ค.ศ. 2005- 2006(พ.ศ. 2548-2549)

18. ผป.ทวิชาติ จันทรวงศ์ ผป.ทิวา นิลุบล ค.ศ. 2007-2010(2549-2553)

19. ผป.วารุณี แย้มรับบุญ ผป.จีราพร วุฒิการณ์ ค.ศ. 2011- (พศ. 2554-)

ผป.ธีรวัฒน์ คำทิพย์ บันทึกและเรียบเรียง (อ้างถึงการบันทึกการประชุมคณะธรรมกิจฉบับปี 1951 และ ปี 1996) 6 มิถุนายน 2011

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 27 •มีนาคม• 2013 เวลา 18:40 น.• )