อัลฮัมดุลิลลาฮฺ... พี่น้องที่รักครับ วันนี้เรามาดูกันอีกนิดหน่อย ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ ท่านนบีมุหัมมัดกล่าวไว้ว่า “บุคคลใดที่เลียนแบบชนกลุ่มอื่น ดังนั้น เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มนั้นด้วย”  ตำนานของวันสงกรานต์มาจากความเชื่อที่ปรากฏในเทพนิยายของศาสนาพราหมณ์ ฮินดู โดยเชื่อว่าเมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ตาม เช่น วันตรงกับวันอาทิตย์ วันศุกร์ หรือวันอื่นๆ ภายในสัปดาห์ เหล่าธิดาของท้าวกบิล มหาพรหม จะทำหน้าที่ออกมาอัญเชิญพระเศียรบิดาของพวกนางตามวันที่ถูกกำหนดไว้ เช่นนั้นสมมติว่าวันที่ 13 เมษายนตรงกับวันพุธเท่ากับว่านางมณฑาเทวีจะออกมารับพระเศียรของเท้ากบิลมหาพรหม เพื่อนำมาแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุของปีนั้น ความเชื่อดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบันสำหรับบุคคลที่นับถือและเชื่อถึงการร่วมพิธีกรรมในวันสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพราหมณ์ ฮินดู หรือศาสนาพุทธก็ตาม ส่วนของศาสนาอิสลามได้กำหนดขอบเขตของความเชื่อไว้ว่าความเชื่อนั้นๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของอัล-กรุอานและแบบฉบับของท่านนบีมุหัมมัดเท่านั้น ส่วนความเชื่อที่ขัดกับหลักการของอิสลามหรืออิสลามไม่ได้กำหนดไว้ถือว่ามุสลิมทุกคนจะกระทำมิได้โดยเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้เองท่านนบีมุหัมมัดจึงกล่าวสอนไว้ว่า “โลกนี้ (ดุนยา) เปรียบเสมือนห้องขังของผู้ศรัทธาและเป็นสวรรค์สำหรับผู้ไม่ศรัทธา (ต่ออิสลาม)”

คำสอนของท่านนาบีมุหัมมัด นัยหมายการดำเนินชีวิตของมุสลิมจะต้องอยู่ในขอบเขตและระเบียบที่ศาสนากำหนดไว้ตลอดเวลา จึงคล้ายกับบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องขังที่ไม่มีอิสระมากนัก การกระทำอะไรต้องอยู่ภายใต้กฎเกณท์ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับบุคคลที่มิใช่มุสลิม ซึ่งพวกเขามีอิสระเต็มที่ในการดำรงชีวิตของตัวเองโดยไม่มีขอบเขตและหลักเกณฑ์ตายตัว กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามอำเภอใจภายใต้จิตสำนึกแห่งความต้องการของตนเองเสมอ ฉันใดก็ฉันนั้น แม้มุสลิมปรารถนาเข้าร่วมกิจกรรมในวันสงกรานต์มากเพียงใด ก็ไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ เพราะวันดังกล่าวเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามความเชื่อของชาวพุทธ ส่วนมุสลิมมีวิถีชีวิตที่ถูกกำหนดบนพื้นฐานของพระผู้เป็นเจ้า อีกทั้งไม่ใช่วันรื่นเริง หรือวันแห่งการเฉลิมฉลองของศาสนาอิสลามเพราะฉะนั้นมุสลิมจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวันดังกล่าวแม้แต่น้อย

การเล่นสาดน้ำสงกรานต์ “วิธีเล่นสาดน้ำสงกรานต์นั้นคงมีลักษณะนั้นคงมีลักษณะคล้ายกันในทุกภาค ของราชอาณาจักรไทย แต่บางท้องถิ่นอาจมีการเล่นน้ำกันรุนแรงไป การสาดน้ำวันสงกรานต์มักแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง และการเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์นี้เกิดจาก ความเชื่อว่า การสาดน้ำจะช่วยให้ฝนตกตามฤดูกาล” การเล่นน้ำสาดน้ำในวันสงกรานต์เป็นประเด็นที่ผู้เขียนต้องการเขียนถึงมากที่สุด เนื่องจากมุสลิมบางกลุ่มโดยเฉพาะบรรดาเยาวชนมุสลิมทั้งชายและหญิง นิยมเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์กันอย่างแพร่หลาย มีกล่าวกันว่าในบางท้องที่มุสลิมจะเล่นสาดน้ำ ก่อนวันสงกรานต์ (คือก่อนวันที่13) และเลิกสาดน้ำภายหลังวันสงกรานต์ (คือเลิกภายหลังวันที่ 15) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามุสลิมบางกลุ่มนิยมเล่นสาดน้ำสงกรานต์มากกว่าผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเสียอีก

ภาพลักษณ์ของมุสลิมจึงดูมัวหมองอย่างเห็นได้ชัดถึงการไม่มีจุดยืน และไม่ได้ศึกษาค้นคว้าถึงที่มาของวันสงกรานต์ และการเล่นสาดน้ำว่าเป็นอย่างไร? ซึ่งถ้าหากมุสลิมทราบก็คงจะได้ใคร่ครวญถึงความผิดพลาดของตนในอดีตที่ได้ร่วมเล่นสาดน้ำเป็นแน่ เพราะการสาดน้ำในวันดังกล่าวมากความเชื่อที่ว่าจะช่วยให้ฝนตกตามฤดูกาล เป็นการมอบหมายให้ฝนตกด้วยการสาดน้ำ ด้วยเหตุนี้เองที่มุสลิมไม่สามารถจะร่วมเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเยาวชนซึ่งหวังเพียงความสนุกสนานจนอาจลืมนึกถึงสิ่งที่อาจส่งผลเสียกระทบต่อความศรัทธาของตน

โปรดพิจารณาหลักฐานดังต่อไปนี้

ภายหลังการนมาซศุบหฺที่ตำบลหุดัยบิยะฮฺ ท่านนบีมุหัมมัดจึงกล่าวถามขึ้นว่า “พวกท่านทราบไหมว่า พระผู้อภิบาลตรัสไว้อย่างไรกับพวกท่าน?” บรรดาสหายของท่านนบีกล่าวตอบว่า “พระองค์อัลลอฮฺ และศาสนฑูตของพระองค์ย่อมรู้ดียิ่ง” ท่านนบีกล่าวว่า พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า “ในตอนเช้า ส่วนหนึ่งจากปวงบ่าวของฉันนั้นศรัทธาต่อฉันและปฏิเสธต่อฉัน(กล่าวคือ)บุคคลหนึ่งกล่าวว่า เมื่อฝนตกลงมายังเรา นั่นเป็นความโปรดปรานจากพระองค์อัลลอฮฺ เขาผู้นั้นศรัทธาต่อฉันและปฏิเสธต่อดวงดาว (เพราะดาวต่างๆ บนท้องฟ้าไม่สามารถทำให้ฝนตกได้), ส่วนบุคคลหนึ่งกล่าวว่า เมื่อฝนตกมายังเรานั่นเป็นเพราะดวงดาวต่างๆ โคจรที่นั้นไปยังที่โน้น เช่นนั้นแหละที่เขาได้ปฏิเสธต่อฉัน และเชื่อมั่นศรัทธาต่อดวงดาวต่างๆ

ผู้เขียนจึงใคร่ขอเรียนให้ผู้ปกครองหรือครูอาจารย์ได้ช่วยกันกำชับ และรณรงค์ให้มุสลิมละทิ้งการร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นสาดน้ำ ยิ่งต้องตักเตือนกันอย่างจริงจังและเข้มงวดอย่างที่สุด หวังเพียงให้เยาวชนมุสลิมในวันนี้ได้ยืนหยัดและรักษาจุยืนแห่งความเป็นมุสลิมที่แท้จริงตลอดไป

จากรายละเอียดที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด พอที่จะสรุปให้เป็นบทเรียนและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของมุสลิมได้ดังนี้

1. มุสลิมจะต้องไม่นำสิ่งอื่นที่มิใช่อิสลามมาปฏิบัติ มุสลิมจ ะต้องดำเนินชีวิตด้วยการยึดแนวทางที่ถูกกล่าวไว้ใน อัล-กุรฺอาน และแบบฉบับที่มาจากท่าน นบีมุหัมมัด เพราะพระองค์อัลลอฮฺจะทรงรับการงานจากแนวทางทั้งสองนี้เท่านั้น และพระองค์ยังทรงสั่งกำชับอย่างเน้นหนักมิให้นำสิ่งที่มิใช่อิสลามมาปฏิบัติดังนี้ “และบุคคลใดก็ตามที่แสวงหาแนวทางอื่นจากอิสลาม ( นำมาปฏิบัติ ) ศาสนานั้นจะไม่ถูกรับจากเขา (หมายถึงพระองค์อัลลอฮฺจะไม่ทรงรับการงานที่เป็นแบบฉบับอื่นจากอิสลามอย่างเด็ดขาด)” ท่านนบีมุหัมมัดได้กล่าวไว้ว่า “ฉันได้ทิ้งไว้สำหรับพวกท่านสองสิ่ง ซึ่งพวกท่านจะไม่มีวันหลงทาง ตราบเท่าที่พวกท่านยึดมั่นสองสิ่งนี้ไว้ นั่นคือคัมภีร์ของอัลลอฮฺและแบบฉบับจากศาสนาทูตของพระองค์ (คือสุนนะฮฺของท่านนบีมุหัมมัด )” จึงสรุปได้ว่า ไม่มีช่องทางใดที่ทำให้มุสลิมสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในวันสงกรานต์ได้เลย เพราะเพียงแค่หลักฐานที่นำมาเสนอข้างต้นก็เป็นที่แน่ชัดตรงประเด็นอยู่แล้ว

2. พฤติกรรมของมุสลิมจะต้องแตกต่างจากศาสนิกอื่นท่านนบีมุหัมมัด กล่าวไว้ว่า “พวกท่านจงมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากบรรดาผู้ที่ตั้งภาคี” คำกล่าวของท่านนบีมุหัมมัดบ่งบอกให้รู้ว่ามุสลิมะต้องอยู่ร่วมกับสังคมทั้งที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิม โดยแสดงภาพลักษณ์แห่งการเป็นมุสลิมให้เป็นประจักษ์ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าชีวิตความเป็นอยู่ จริยธรรมแห่งอิสลาม การประกอบศาสนกิจ และอื่นๆ เพื่อให้ต่างศาสนิกได้รู้ถึงมาตรฐานและจุดยืนแห่งความเป็นมุสลิมซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองในทุกๆ ด้าน เมื่อเป็นเช่นนี้หากมุสลิมผู้หนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมในวันสงกรานต์ ย่อมชี้ให้เห็นว่ามุสลิมผู้นั้นมิได้ทำตัวแตกต่างไปจากสังคมส่วนใหญ่ที่มิใช่มุสลิม ทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งดังกล่าวไม่เป็นที่อนุมัติของศาสนา อีกทั้งท่านนบีมุหัมมัดได้กำชับไว้ว่า จงทำตัวให้แตกต่างจากบรรดาผู้ที่ตั้งภาคี ซึ่งหมายรวมถึงความเชื่อและการปฏิบัติ ภาพลักษณ์ของมุสลิมควรจะเด่นชัดกว่านี้ มิเช่นนั้นแล้วผู้คนทั่วไปจะตัดสินได้อย่างไรว่าสังคมไหนคือสังคมมุสลิม และสังคมไหนมิใช่สังคมมุสลิม

3. มุสลิจะต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางสังคมอย่างมีจุดยืน ท่านนบีมุหัมมัดได้กล่าวไว้ว่า “พวกท่านอย่าเป็นบุคคลที่ไร้จุดยืน (เขาจะมีสภาพเป็นเช่นไร) หากผู้คนทั้งหลายกระทำความดี (ที่สอดคล้องกับอิสลาม) เราก็กระทำความดีนั้นด้วย และหากว่าผู้คนทั้งหลายกระทำความชั่วร้าย เราก็กระทำความชั่วร้ายนั้นด้วย แต่ทว่าพวกท่านจงเป็นบุคคลที่มีจุดยืน (หมายถึง) หากว่าผู้คนทั้งหลายกระทำความดี เราก็กระทำความดีนั้นด้วย แต่ถ้าผู้คนทั้งหลายกระทำความชั่วร้าย เราก็ไม่กระทำความชั่วร้ายนั้น” วจนะของท่านนบีมุหัมมัด ชี้ประเด็นที่ชัดเจนและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของมุสลิม ขณะอยู่ร่วมปะปนกับผู้คนในสังคมส่วนใหญ่โดยที่ท่านนบีได้สอนให้มุสลิมแสดงจุดยืนอย่างเด่นชัดมุสลิมจะไม่คลุมเคลือและไร้แก่นสารอย่างเด็ดขาด เพราะมุสลิมมีแนวทางเป็นของตนเอง และต้องดำเนินไปตามแนวทางนั้นถึงแม่ว่าคิดว่าดีงาม ซึ่งมีพื้นฐานมากความเชื่อ ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะได้รับอิทธิพลมากจากศาสนา ลัทธิ หรือความคิด มุสลิมถือว่าจะนำสิ่งนั้นมาปฏิบัติด้วยไม่ได้ เพราะไม่มีคำสอนมาจากศาสนาอิสลาม ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า หากมุสลิมในปัจจุบันยึดมั่นอุดมการณ์มีจุดยืนชัดเจนเฉกเช่นที่กล่าวมาข้างต้น มุสลิมจะพัฒนาคุณภาพและยกระดับการเป็นมุสลิมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไม่ต้องสงสัย

4. ใก้ลวันกิยามะฮฺ (วันสิ้นโลก) มุสลิมจะต้องมีสภาพเหมือนบุคคลที่กำเถ้าถ่านไฟไว้ในมือ ท่านนบีมุหัมมัดได้กล่าวไว้ว่า “ช่วงสมัยหนึ่งจะเกิดขึ้นกับประชาชาติของฉัน (หมายถึงสภาพก่อนใกล้วันกิยามะฮฺ) จะมีบุคคลในหมู่พวกเขาที่ยืนหยัดอยู่บนศาสนาของเขา ประหนึ่งว่าเขากำถ่านไฟ (ร้อน ๆ ไว้ในมือของเขา)” ท่านนบีมุหัมมัดได้กล่าวถึงสภาพใกล้ๆ วันสิ้นโลกว่ามุสลิมจะมีสภาพเหมือนบุคคลที่กำถ่านไฟร้อนๆ ไว้ในมือของตนเอง นั่นย่อมหมายถึง มุสลิมในยุคใกล้วันสิ้นโลกจะต้องต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเอง มิให้เดินตามสังคมที่มีพฤติกรรมอันสวนทางกับอิสลาม ต้องต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเองมิให้ละทิ้งการประกอบศาสนกิจในช่วงนั้นและอื่น ๆ ซึ่งดูราวกับว่าตนเอง ต้องใช้ความอดทนพอ ๆ กับการกำถ่านไฟร้อนๆ ไว้ในกำมือของตนนั่นเอง แต่ถ้าไม่ต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเองอย่างจริงจังแล้ว เชื่อแน่เหลือเกินว่าเขาอาจเป็นบุคคลหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาพที่พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ สภาพของมุสลิมในปัจจุบันคงไม่แตกต่างอะไรกับมุสลิมในยุคใกล้วันสิ้นโลก (หรือว่ายุคนี้อาจจะถึงยุคใกล้วันสิ้นโลกก็เป็นได้) เนื่องจากมุสลิมในปัจจุบันต้องต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเองอย่างหนักหน่วง มิเช่นนั้นแล้ว มุสลิมจะไม่สามารถแสดงภาพลักษณ์แห่งอิสลามได้เลย อย่างเช่น การร่วมกิจกรรมหรือการเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ เป็นบทพิสูจน์การต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของมุสลิมได้เป็นอย่างดี มุสลิมคนใดที่พ่ายแพ้ให้แก่ค่านิยมความเชื่อของสังคมแล้วเข้าไปมีส่วนร่วมในวันสงกรานต์ และมุสลิมคนใดบ้างที่ต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเองโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในวันสงกรานต์ ประหนึ่งผู้ที่กำลังกำถ่านไฟร้อนๆ ไว้ในมือของตน

....วัลลอฮุอะลัม....

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 14 •เมษายน• 2013 เวลา 22:50 น.• )