วาจาที่ไม่มีโทษ

ภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และวิญญูชนไม่ติเตียน. องค์ ๕ ประการอย่างไรเล่า ? ๕ ประการ คือ :-

กล่าวแล้วควรแก่เวลา (กาเลน ภาสิตา โหติ).

กล่าวแล้วตามสัจจ์จริง (สจฺจ ภาสิตา โหติ).

กล่าวแล้วอย่างอ่อนหวาน (สณฺหา ภาสิตา โหติ).

กล่าวแล้วอย่างประกอบด้วยประโยชน์ (อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา โหติ).

กล่าวแล้วด้วยเมตตาจิต (เมตตฺตจตฺเตน ภาสิตา โหติ).

ภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เหล่านี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษและวิญญูชนไม่ติเตียน.

ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๗๑/๑๙๘.

 

อนึ่ง คนเราเมื่อมีการอยู่ร่วมกันกับคนที่สะอาด หรือคนที่ไม่สะอาดก็ตาม ต้องมีสติกำกับอยู่ด้วยเสมอ, แต่นั้นพึงสามัคคีต่อกัน มีปัญญาทำที่สุดทุกข์แห่งตนเถิด.

อฏ.ฐก. อํ. ๒๓/๑๗๐/๑๐๐.

 

วาจาของสะใภ้ใหม่ - สะใภ้เก่า

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหญิงสะใภ้ใหม่ อันเขาเพิ่งนำมาชั่วคืนชั่ววันตลอดเวลาเท่านั้นก็ยังมีความละอายและความกลัวที่ดำรงไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ในแม่ผัวบ้าง ในพ่อผัวบ้าง ในสามีบ้าง แม้ที่สุดแต่ในทาสกรรมกรคนใช้.

ครั้นล่วงไปโดยสมัยอื่น เพราะอาศัยความคุ้นเคยกัน หญิงสะใภ้นั้น ก็ตวาดแม่ผัวบ้าง พ่อผัวบ้าง แม้แต่กะสามี ว่า ‘หลีกไปๆพวกแกจะรู้อะไร’ ดังนี้, นี้ฉันใด;

ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้น : ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ออกบวชจากเรือน เป็นผู้ไม่มีเรือนได้ชั่วคืนชั่ววัน ตลอดเวลาเพียงเท่านั้น หิริและโอตตัปปะ ของเธอนั้นยังดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง ในภิกษุ ในภิกษุณี ในอุบาสก ในอุบาสิกา แม้ที่สุดแต่ในคนวัดและสามเณร.

ครั้นล่วงไปโดยสมัยอื่น เพราะอาศัยความคุ้นเคยกัน เธอก็กล่าว ตวาดอาจารย์บ้าง อุปัชฌาย์บ้าง ว่า ‘หลีกไปๆ พวกท่านจะรู้อะไร’ ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอทั้งหลายพึงทำการศึกษาสำเหนียก อย่างนี้ว่า “เราจักอยู่อย่างมีจิตเสมอกันกับหญิงสะใภ้ใหม่ผู้มาแล้วไม่นาน” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลาย พึงทำการศึกษาสำเหนียกอย่างนี้แล.

จตุกฺก.อํ.๒๑/๑๐๐/๗๓.

 

ราชกุมาร ! ตถาคตรู้ชัดซึ่ง วาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบ ด้วยประโยชน์และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น.

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และ ไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น.

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ ไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเลือกให้เหมาะกาล เพื่อกล่าววาจานั้น.

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น.

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ก็เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น.

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และ เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเป็นผู้ รู้จักกาละที่เหมาะ เพื่อกล่าววาจานั้น.

ม. ม. ๑๓/๙๑/๙๔