ภิกษุทั้งหลาย บุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมกล่าวภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ (อมาตาปุตฺติกภย) ว่ามีอยู่ ๓ อย่าง. สามอย่างคือ

มีสมัยที่ไฟไหม้ใหญ่ตั้งขึ้น ไหม้หมู่บ้าน ไหม้นิคม ไหม้นคร. ในสมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้).

ภิกษุทั้งหลาย บุถุชนไม่มีการสดับ ย่อมเรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติก-ภัย อย่างที่หนึ่ง.

ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก คือมีสมัยที่มหาเมฆตั้งขึ้น เกิดน้ำท่วมใหญ่ พัดพาไปทั้งหมู่บ้าน ทั้งนิคม ทั้งนคร. ในสมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร(เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้).

ภิกษุทั้งหลาย บุถุชนไม่มีการสดับ ย่อมเรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่สอง.

ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก คือมีสมัยที่มีภัยคือการกำเริบ (กบฏ) มาจากป่า ประชาชนขึ้นยานมีล้อ หนีกระจัดกระจายไป. เมื่อภัยอย่างนี้เกิดขึ้นสมัยนั้น มารดาไม่ได้บุตร (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้), บุตรก็ไม่ได้มารดา (เป็นผู้ช่วยเหลืออะไรได้).

ภิกษุทั้งหลาย บุถุชนไม่มีการสดับ ย่อมเรียกภัยนี้ว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย อย่างที่สาม.

ภิกษุทั้งหลาย บุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมกล่าวภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ ว่ามีอยู่ ๓ อย่าง เหล่านี้.

ภิกษุทั้งหลาย บุถุชนผู้ไม่มีการสดับ กล่าวสมาตาปุตติกภัย (ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันได้) แท้ ๆ ๓ อย่างนี้ ว่าเป็น อมาตาปุตติกภัย (ภัยที่มาดาและบุตรช่วยกันไม่ได้) ไปเสีย.

ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๓ อย่าง ที่มารดาและบุตรช่วยกันได้นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

สามอย่าง คือ สมัยที่ไฟไหม้ใหญ่ เป็นอย่างหนึ่ง, สมัยที่น้ำท่วมใหญ่ เป็นอย่างที่สอง, สมัยที่หนีโจรขบถ เป็นอย่างที่สาม; เหล่านี้ บางคราวมารดาและบุตรก็ช่วยกันและกันได้ แต่บุถุชนผู้ไม่มีการสดับมากล่าวว่าเป็นภัยที่มารดาและบุตรก็ช่วยกันไม่ได้ไปเสียทั้งหมด.

ภิกษุทั้งหลาย ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ (โดยแท้จริง) ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. สามอย่าง คือ

ภัยเกิดจากความแก่ (ชราภยํ),

ภัยเกิดจากความเจ็บไข้ (พฺยาธิภยํ),

ภัยเกิดจากความตาย (มรณภยํ).

ภิกษุทั้งหลาย มารดาไม่ได้ตามปรารถนากะบุตรผู้แก่อยู่ อย่างนี้ว่า เราแก่เองเถิด บุตรของเราอย่าแก่เลย ; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนากะมารดาผู้แก่อยู่ อย่างนี้ว่า เราแก่เองเถิด มารดาอย่าแก่เลย ดังนี้.

มารดาก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราเจ็บไข้เองเถิด บุตรของเราอย่าเจ็บไข้เลย ; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่าเราเจ็บไข้เองเถิด มารดาของเราอย่าเจ็บไข้เลย ดังนี้.

มารดาก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่าเราตายเองเถิด บุตรของเราอย่าตายเลย ; หรือบุตรก็ไม่ได้ตามปรารถนาว่า เราตายเองเถิด มารดาของเราอย่าตายเลย ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้แลเป็นภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้ ๓ อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย หนทางมีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ ย่อมเป็ นไปเพื่อเลิกละ ก้าวล่วงเสีย ซึ่งภัยทั้งที่เป็ นสมาตาปุตติกภัยและอมาตาปุตติกภัยอย่างละสามๆเหล่านั้น.

ภิกษุทั้งหลาย หนทางหรือปฏิปทานั้น เป็นอย่างไรเล่า?

นั่นคือ อริย-อัฏฐังคิกมรรคนั่นเอง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.

ภิกษุทั้งหลาย นี้แหละหนทาง นี้แหละปฏิปทา เป็นไปเพื่อเลิกละ ก้าวล่วงเสียซึ่งภัยทั้งที่เป็นสมาตาปุตติกภัยและอมาตาปุตติกภัยอย่างละสาม ๆ เหล่านั้น.

ติก. อํ. ๒๐/๒๒๘ - ๒๓๑/๕๐๒.

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 22 •กรกฏาคม• 2013 เวลา 11:27 น.• )