สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่เกสปุตตนิคม ซึ่งอยู่ในโกศลชนบท สมัยนั้นพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าขจรไปไกลแล้วว่าพระองค์ทรงเป็นสัพพัญญู เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เมื่อชาวนิคมรู้ว่าพระพุทธองค์เสด็จมาจึงพากันมาเฝ้า ช่วงหนึ่งชาวกาลามะกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในเกสปุตตนิคมนี้ มีสมณพราหมณ์คือนักบวชในศาสนาต่าง ๆ เดินทางเข้ามาเผยแพร่คำสอนศาสนาของตนอยู่เสมอ ๆ และสมณพราหมณ์ นักสอนศาสนาเหล่านั้นได้กล่าวยกย่อง คำสอนแห่งศาสนาของตน แต่ได้ติเตียนดูหมิ่น เหยียดหยาม คัดค้านศาสนาของคนอื่นแล้วสมณพราหมณ์นักสอน ศาสนาเหล่านี้ก็จากเกสปุตตนิคมไป ต่อมาไม่นาน ก็มีสมณพราหมณ์ นักสอนศาสนาพวกอื่นได้เข้ามายังนิคมนี้ แล้วก็กล่าวยกย่อง เชิดชูศาสนาของตนแต่ดูหมิ่น เหยียดหยาม ติเตียน คัดค้านศาสนาของคนอื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกข้าพระองค์ก็มีความสงสัยเกิดขึ้นว่าบรรดาศาสดาหรือนักสอนศาสนาเหล่านั้น ใครเป็นคนพูดจริงใครเป็นคนพูดเท็จ ใครถูกใครผิดกันแน่"

พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเห็นใจต่อประชาชนเหล่านั้นว่า"ชาวกาลามะทั้งหลาย น่าเห็นใจที่ ท่านทั้งหลายตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ พวกท่านทั้งหลายควรสงสัยในเรื่องที่ควรสงสัยเพราะท่านทั้งหลายตกอยู่ใน ฐานะที่ต้องสงสัย ตัดสินใจไม่ได้ แต่เราเองจะบอกให้ ชาวกาลามะทั้งหลาย"

พระพุทธเจ้าแทนที่จะตรัสเหมือนกับสมณพราหมณ์เหล่าอื่นที่เคยพูดมาแล้ว พระองค์ไม่ได้ทรงสรรเสริญคำสอนของพระองค์ และก็ไม่ทรงติเตียนคำสอนศาสนาของผู้อื่นแต่พระองค์กลับตรัสอีกแบบหนึ่ง การพูดแบบนี้เป็นลักษณะของวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน คือพระองค์ได้กล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ ๑๐ ประการโดยตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงฟัง

๑. มา อนุสฺสวเนน อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา

๒. มา ปรมฺปราย อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา

๓. มา อิติกิราย อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ

๔. มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา

๕. มา ตกฺกเหตุ อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง

๖. มา นยเหตุ อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา

๗. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ

๘. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน

๙. มา ภพฺพรูปตา อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้

๑๐. มา สมโณ โน ครูติ อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา

คำหรือธรรมใดเป็นกุศล ธรรมใดไม่มีโทษ ธรรมใดผู้รู้สรรเสริญ ธรรมใดทำตามแล้วเกิดประโยชน์ เกิดความสุขฯลฯ ธรรมนั้นแหละควรเชื่อ แล้วเอาอะไรเป็นตัววัด หาตัววัดง่าย ๆ คือศีล ๕ ข้อ ๑ - ๔ ครับ

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 25 •มิถุนายน• 2013 เวลา 21:50 น.• )