สารรักษ์หัวใจตอนที่ ๑๘ โรคหัวใจกับการเป็นอัมพาต อัมพาตที่พบบ่อยมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองเกิดการตีบตัน หรือไม่ก็แตก สัมพันธ์กับโรคหัวใจดังนี้คือ ๑. ปัจจัยเสี่ยงต่อหลอดเลือดสมองตีบตันเป็นปัจจัยเสี่ยงเดียวกันกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนั่นเอง ได้แก่ โรคเบาหวาน, โรคความดันสูง, โรคไขมันในเลือดผิดปกติ, การสูบบุหรี่, อายุที่มากขึ้น, ความอ้วน และการขาดการออกกำลังกาย ดังนั้นเราสามารถป้องกันได้ทั้งโรคหัวใจ และโรคอัมพาตได้ทั้ง ๒ โรคถ้าดูแลหรือแก้ไขปัจจัยเสี่ยงให้ดี นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงจากหลอดเลือดสมองแตกได้ด้วยครับ หลอดเลือดสมองถ้ามีภาวะหลอดเลือดแข็งตัวสามารถทำให้ตีบตัน หรือทำให้แตกก็ได้เพราะจะมีความเปราะแตกง่ายของหลอดเลือดด้วย ๒. หลอดเลือดสมองอุดตันที่สัมพันธ์กับโรคหัวใจโดยตรง เช่นโรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว, โรคหัวใจเต้นพลิ้วไม่สม่ำเสมอ หรือโรคหัวใจบีบตัวอ่อนอย่างรุนแรง โรคที่กล่าวมานี้ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดในห้องหัวใจไม่ดี จนทำให้เลือดในห้องหัวใจ เกิดเป็นลิ่มเลือด (ใครเคยเห็นกองเลือด ลิ่มเลือดก็คือเลือดที่แข็งตัวคล้ายวุ้นนั่นแหละครับ) ถ้าโชคร้ายลิ่มเลือดนี้กระเด็นออกจากหัวใจ ไปที่หลอดเลือดใด หลอดเลือดนั้นๆก็จะอุดตัน ถ้าไปหลอดเลือดสมองก็จะเป็นอัมพาตได้ครับ บางรายเกิดอัมพาตขึ้นมาทันทีโดยไม่รู้ว่ามีโรคหัวใจมาก่อนก็มี ดังเช่นเจ้าหน้าที่ของ ร.พ.แพร่รายนี้ ซึ่งภายหลังเพิ่งมารู้ว่ามีโรคลิ้นหัวใจตีบมาก ร่วมกับโรคหัวใจเต้นพลิ้วไม่สม่ำเสมอครับ

แต่ก็มีอาการนำที่ทำให้เรารู้ตัวก่อนได้ และจะได้แก้ไขหรือป้องกันได้ทัน อาการของโรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว และอาการของโรคหัวใจบีบตัวอ่อน ก็คืออาการเหนื่อยง่ายผิดปกติกว่าที่เคยเป็น ร่วมกับการนอนราบไม่ได้ นอนราบแล้วเหนื่อยง่ายต้องลุกมานั่ง และอาการของโรคหัวใจเต้นพลิ้วไม่สม่ำเสมอ ก็จะมีอาการใจสั่น สลับใจหวิว บางรายจะมีอาการวูบบ่อยๆ สมาชิกท่านใด หรือคนที่เรารู้จักมีอาการดังกล่าวก็ควรจะไปตรวจนะครับ ทีนี้สมาชิกทุกท่านก็คงไม่แปลกใจแล้วนะครับว่าทำไมผมมาเล่าเรื่องโรคอัมพาตให้ฟัง และคงไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมผู้ป่วยบางรายเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการของโรคอัมพาต แต่ตอนออกจากโรงพยาบาล แพทย์กลับบอกว่าเป็นโรคหัวใจ ให้ยาหัวใจมากิน แทนที่จะเป็นยาทางโรคสมอง ความดันโลหิตสูงกับโรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูงมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผนังหลอดเลือดสมองมีการหนาตัวขึ้น รูของหลอดเลือดแดงตีบแคบลงจนอุดตันหรือทำให้หลอดเลือดแดงเล็กๆที่สมองโป่งพองออกเป็นกระเปาะเล็กๆ ซึ่งมีโอกาสแตกได้ผลของหลอดเลือดแดงในสมองอุดตันหรือแตก รวมเรียกว่า โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดสมองมีอาการอย่างไรบ้าง

* แขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรง หรือชา ( อัมพาต อัมพฤกษ์ ) พูดไม่ชัด พูดไม่ออก ลิ้นแข็ง เดินเซ ตามองไม่เห็น ตามัว ซึม หมดสติ

การป้องกันการเกิดอัมพาต อัมพฤกษ์ ผู้ที่เคยเห็นหรือมีญาติเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ต่างก็กลัวว่าตนเองจะเป็นเช่นนั้นบ้าง และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น วิธีการป้องกันที่สำคัญ มีดังนี้

* รักษาโรคความดันโลหิตสูงให้ดีและสม่ำเสมอ คนทั่วไปให้ระดับความดันโลหิตต่ำกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท ผู้ป่วยเบาหวานหรือไตวายให้ระดับความดันโลหิตต่ำกว่า ๑๓๐/๘๐ มิลลิเมตรปรอท * งดสูบบุหรี่ * ควบคุมระดับไขมันที่ดี ( เอชดีแอล ) ในผู้ชายมากกว่า๔๐ ในผู้หญิงมากกว่า๕๐ * ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความอ้วน

ถ้าเป็นโรคหัวใจหรือลิ้นหัวใจผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ซึ่งอาจต้องใช้ยาป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจ

นายแพทย์มงคล มะระประเสริฐศักดิ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ร.พ.แพร่

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 19 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 08:36 น.• )