สารรักษ์หัวใจตอนที่ ๓ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน [Acute coronary syndrome] เป็นโรคเดียวกันกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน หรือโรคเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอเฉียบพลัน โรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตกะทันหันในผู้ใหญ่สูงถึง ๘๐% สาเหตุเกิดจากการมีคราบไขมันที่สะสมอยู่ที่ผนังหลอดเลือดหัวใจมาหลายปี (โดยที่เราไม่รู้ตัวมาก่อน หรืออาจจะรู้ตัวมาก่อนแต่ดูแลรักษาไม่ดี) ได้แตกออกทำให้ไขมันแตกเข้าไปในท่อหลอดเลือดแล้วกระตุ้นให้มีเกล็ดเลือดและลิ่มเลือดมาอุดตันท่อหลอดเลือดหัวใจจนตีบตันทันที  หากท่านมีอาการดังต่อไปนี้ ขอให้ท่านไปพบแพทย์โดยเร็ว

๑. มีอาการเจ็บอก บริเวณตรงกลางอก โดยต้องเจ็บแบบแน่นๆ หนักๆ อาการนี้เป็นอาการที่พบบ่อยและชัดเจนว่าเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเจ็บอกเวลาออกแรงใช้กำลัง แต่เวลาพักแล้วหายไป

๒. อาจมีเจ็บอก ร่วมกับร้าวไปที่คาง หรือวงแขนซ้ายด้านใน

๓. บางรายอาจไม่เจ็บอกชัดเจน แต่รู้สึกอึดอัดและเหนื่อยขึ้นมามากทันที

๔. บางรายอาจไม่เจ็บอกชัดเจนเช่นกัน แต่เจ็บจุกๆที่บริเวณลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะ แต่เจ็บมากกว่าปกติ เจ็บจนเหนื่อย เจ็บจนเหงื่อเปียก แบบนี้ก็อาจเป็นโรคหัวใจได้

การขอความช่วยเหลือ จากรถฉุกเฉิน เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น โทร. ๑๖๖๙ โดยแจ้งอาการ บ้านเลขที่ หมู่ ซอย ตำบล สถานที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียง

การตรวจพิเศษเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่

วิธีวิ่งสายพานตรวจสมรรถภาพหัวใจ

ทำโดยติดคลื่นไฟฟ้าหัวใจไว้ ขณะวิ่งบนสายพาน และให้ผู้ป่วยวิ่งจนเหนื่อย หรือมีอาการเจ็บอกแล้วดูคลื่นไฟฟ้าขณะมีอาการนั้นว่าคลื่นไฟฟ้าแสดงถึงภาวะหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่

แต่การวิ่งสายพานก็มีข้อจำกัดเช่นผู้ป่วยไม่สามารถเดินได้เร็วตามเกณฑ์เพราะเจ็บเข่า เวียนหัว หรือคลื่นไฟฟ้าผิดปกติบางอย่างที่เป็นอุปสรรคในการแปรผลการตรวจ

แต่ก็มีข้อดีมากอย่างหนึ่งคือ สามารถวัดสมรรถภาพตามความเป็นจริงได้ว่าเหนื่อย ว่าเจ็บอก หรือมีอาการที่สงสัยแล้ว คลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นอย่างไร

วิธีตรวจสแกนหัวใจด้วยเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรือด้วยเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

การตรวจนี้จะมีเฉพาะในโรงพยาบาล หรือจังหวัดใหญ่ๆ และเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสูง แต่ความแม่นยำในการตรวจ ด้านกายภาพว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่  และตีบมากคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ จะมีสูงกว่าการวิ่งสายพาน แต่ข้อเสียคือวัดสมรรถภาพ จนเหนื่อย จนเจ็บอกไม่ได้อย่างการวิ่งสายพาน เพราะบางทีการมีเส้นเลือดหัวใจตีบ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีอาการเสมอไป ถ้ามีการตีบไม่ถึง ๗๐% อาจจะไม่มีอาการก็ได้

วิธีตรวจโดยวิธีสวนหลอดเลือดหัวใจ

การสวนหัวใจนี้ โดยใช้สารทึบรังสีที่ฉีดผ่านหลอดพลาสติกเล็กๆ ที่สอดผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ หรือหลอดเลือดแดงบริเวณข้อมือ แล้วดูว่าสีวิ่งไปในหลอดเลือดหัวใจโดยมีการติดขัดหรือไม่ ซึ่งแปลว่ามีการตีบ  ถ้าสีวิ่งไปไม่ได้เลยแปลว่ามีการตัน

นายแพทย์มงคล มะระประเสริฐศักดิ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ ร.พ.แพร่

ภาพแสดงเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นรอยขอด โดยวิธีสวนหัวใจ

อาจารย์สนิท บุญพิทักษ์ นายกสมาคมโรคหัวใจโรงพยาบาลแพร่

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 16 •กรกฏาคม• 2012 เวลา 09:27 น.• )