การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจภาคประชาชน เครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจจังหวัดแพร่ เริ่มดำเนินงาน ปี ๒๕๕๐

• วัตถุประสงค์การมีเครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจ กลุ่มผู้ป่วย/ผู้ดูแล โรคเดียวกันที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันมารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาร่วมกัน  โดยใช้ประสบการณ์และความรู้ที่มีอยู่  ด้วยความสมัครใจ และดำเนินการโดยสมาชิกเพื่อสมาชิก ซึ่งมีกิจกรรมเครือข่ายเป็นแกนนำ  มีการช่วยเหลือเพื่อนช่วยเพื่อนแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดความสุขและความหวังในชีวิต  โดยมีพยาบาลเฉพาะทางเป็นแกนนำ  เป็นที่ปรึกษาและประสานงาน ก่อกำเนิด ภายใต้ชื่อ เครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจแพร่  เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เริ่มก่อตั้ง  เมื่อ  ๒๑  สิงหาคม  ๒๕๕๐  จัดประชุม เลือกประธานและคณะกรรมการทั้ง ๘  อำเภอ มีสมาชิกเครือข่ายเริ่มต้น ๗๖ คน  และมีการรับสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ทั้งจังหวัด  โดยสมาชิก จะเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ  และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง  เช่น  ความดันโลหิตสูง  เบาหวาน  ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น โดยมีนางจินตนา  มีวรรณสุขกุล  และนางรัญญา  กันทะรส  เป็นพยาบาลแกนนำสร้างเครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจ       นายแพทย์มงคล  มะระประสริฐศักดิ์  เป็นที่ปรึกษา  และเป็นวิทยากร ต่อมา  ได้มีการจดทะเบียนเป็น  “สมาคมผู้ป่วยโรคหัวใจจังหวัดแพร่ ”เมื่อ  ๓๑  มี.ค. ๒๕๕๓ เพื่อให้เกิดองค์กรที่มั่นคงและยั่งยืน มีการเลือกคณะกรรมการดำเนินงาน มีระเบียบสมาคม ซึ่งนายก สมาคมผู้ป่วยโรคหัวใจจังหวัดแพร่ คือ นายสนิท บุญพิทักษ์ ส่วนคณะกรรมการ มาจาก ทั้ง ๘ อำเภอ

วัตถุประสงค์ของสมาคมผู้ป่วยโรคหัวใจจังหวัดแพร่

• เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ เรื่องโรคหัวใจ การรักษา และการดูแลฟื้นฟูสุขภาพ ให้กับผู้ป่วย ญาติและประชาชนทั่วไป ในจังหวัดแพร่

• เพื่อส่งเสริมให้สมาชิก มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

• เพื่อดำเนินการร่วมกับเครือข่ายอื่น ๆ ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ กิจกรรมเพื่อสุขภาพ กิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่น

• ไม่ดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และการพนัน

การดำเนินกิจกรรม

๑. เชิญวิทยากร บรรยายความรู้ให้แก่สมาชิก ฯ เรื่องโรคหัวใจและการดูแลตนเอง

๒. รับสมัครจิตอาสาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยความสมัครใจ ซึ่งมีการอบรมความรู้ เรื่องโรคหัวใจ โรคกลุ่มสี่ยง และการปฏิบัติตัว แก่จิตอาสาฯ ก่อนปฏิบัติงาน จิตอาสาฯ ส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด หรือทำบอลลูนหัวใจมาแล้ว และมีการปฏิบัติตัวได้ดี โดยจะหมุนเวียนกันมาทำกิจกรรมเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วยโรคหัวใจในโรงพยาบาลแพร่ ใช้ประสบการณ์การเจ็บป่วยของตนเอง  เล่าให้ผู้ป่วยโรคหัวใจในโรงพยาบาลแพร่ ทุกวันพุธ เป็นการช่วยเหลือเพื่อนช่วยเพื่อนแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดความสุขและความหวังในชีวิต

๓.  อาสาฯให้คำปรึกษาและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องไปรับการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยใช้ประสบการณ์ตรง ซึ่งผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำไปรักษาด้วยการทำผ่าตัด หรือทำบอลลูน มักเกิดความวิตกกังวล หวาดกลัวการรักษา  บางคนเกิดความท้อแท้สิ้นหวัง หลายราย ปฏิเสธการไปรับการผ่าตัด  ดังนั้น หากมีผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์การเจ็บป่วยและการผ่าตัด มาเล่าประสบการณ์ตรงรวมถึงการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องให้ฟัง จะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ  และพร้อมไปรับการรักษา และรับการผ่าตัดได้

๔. จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจที่ขาดแคลน  เพื่อไปรับการรักษาและผ่าตัดที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  และ โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง   ซึ่งจากทำกิจกรรมจิตอาสา  และออกสัญจรตามอำเภอต่างๆ  พบว่า  มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ขาดญาติดูแล  ยากไร้  ไม่มีเงินเดินทางไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลศูนย์ลำปางได้  เครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจจึง การจัดหาทุนช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านั้น  โดยจัดทำผ้าป่าการกุศล ครั้งที่ ๑ เมื่อ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ได้รับเงินจำนวน ๑๔๐,๐๐๐ บาท และครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๔ ก.ย. ๒๕๕๓ และทำเสื้อสมาคมฯ ขาย ได้รับเงิน ๑๓๒,๘๐๓ บาท นอกจากนี้ เงินกองทุน ยังนำมาใช้ในการซื้อของเยี่ยมผู้ป่วยโรคหัวใจที่จิตอาสาฯมาทำกิจกรรม รวมทั้งการจัดกิจกรรมออกสัญจรหัวใจตามอำเภอต่างๆด้วย

๕. จิตอาสาเป็นญาติ ไปส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาและผ่าตัดที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง ในรายที่ผู้ป่วยไม่มีญาติไปส่ง จิตอาสาฯ จะเดินทางไปกับผู้ป่วยด้วย โดยสมาคมผู้ป่วยโรคหัวใจ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่ผู้ป่วยและจิตอาสา

๖. จิตอาสาเยี่ยมผู้ป่วยโรคหัวใจที่บ้าน ในราย ก่อนหรือหลังผ่าตัดหัวใจ เพื่อให้กำลังใจและแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง

๗. รับสมัครสมาชิกเครือข่ายฯ โดยรับสมัครจากการออกสัญจรให้ความรู้ตามอำเภอต่างๆ และการออกเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วยของจิตอาสา สมาชิกไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

๘. ส่งสารความรู้แก่สมาชิก โดยพยาบาลแกนนำ จะเป็นผู้จัดทำสารความรู้ และแจ้งข่าวสาร จัดส่งให้สมาชิกทางไปรษณีย์เดือนละ ๑ ฉบับ

๙. ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลชุมชน โดยมีพยาบาลแกนนำในทุกโรงพยาบาลชุมชน ในการออกทำกิจกรรมหัวใจสัญจร และติดตามผู้ป่วย

๑๐. ร่วมกับแพทย์ พยาบาลออกสัญจรให้ความรู้แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจและกลุ่มเสี่ยงตามอำเภอต่างๆ ทุกปี ตั้งแต่ ปี ๒๕๕๑ ถึงปัจจุบัน ปีละ ๑๐ – ๑๔ ครั้ง วิทยากรโดย นายแพทย์มงคล มะระประเสริฐศักดิ์ พยาบาลแกนนำ เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับ พยาบาลแกนนำในแต่ละโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ ในการเชื่อมประสานกับ รพ.สต. และองค์กรส่วนท้องถิ่น ในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงในท้องที่ มารับฟังความรู้ ตลอดจนการจัดสถานที่ การออกสัญจรด้วย ในการออกสัญจรหัวใจ ได้มีการประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจแก่ผู้มารับฟังความรู้ด้วย เพื่อที่หน่วยงานในท้องที่  เช่น  โรงพยาบาลชุมชน   รพ.สต.  จะได้นำข้อมูลที่ได้  ไปจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้ป่วย  เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจต่อไป

๑๑. การจัดกิจกรรมพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และกิจกรรมสันทนาการแก่สมาชิก ปีละ ๑ ครั้ง ที่โรงพยาบาลแพร่

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 10 •กรกฏาคม• 2012 เวลา 09:51 น.• )