เปิดตำนานเงี้ยวของเมืองแพร่ เมืองแพร่ เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งทางภาคเหนือ มีเจ้าผู้ครองนคร เหมือนเมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง เมืองลำพูน และเมืองน่าน แต่จะสร้างในสมัยใดนั้นไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ค้นหาที่ไหนก็ไม่พบ มีแต่คนแพร่เล่าสืบมาไม่ปรากฏหลักฐานด้านวรรณกรรมแต่มีความชื่อถือได้สังเกตจากภาษาเมืองที่เราพูดอยู่ก็ไม่ได้สูญหายไปไหนเด็กระดับอนุบาลก็ยังให้ภาษาที่ผู้ใหญ่วัยหกสิบใช้กัน และถ้าคำนวณจากการสันนิษฐานที่ว่าเมืองแพร่มีอายุพันกว่าปีนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเมื่อเทียบกับความยาวของอายุขัยของคนผ่านมาไม่กี่ช่วงดังนั้นเรื่องเล่าจึงเชื่อถือได้ ส่วนด้านวัตถุนั้นเช่นกำแพงเมืองเก่า ประตูเมือง และวัดวาอารามที่เก่าแก่ ก็ยังคงตั้งอยู่ให้ผู้สนใจได้มาศึกษา ที่สำคัญมีเจ้าครองนคร ณ แพร่ แต่ต่อมา ณ แพร่หายไป คือเปลี่ยนจากนามสกุล ณ แพร่ มาเป็น มหายศปัญญา หัวเมืองแก้ว

ทั้งนี้ก็ตามที่เล่าต่อกันมาว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ พวกเงี้ยวบ้านบ่อแก้ว อำเภอเด่นชัยได้ยกพลเข้าปล้นเมือง ฝ่ายรักษาเมืองแพร่สู้ไม่ได้ แต่ไม่ยอแพ้อย่างราบคาบเรื่องมีอยู่ว่า พวกเงี้ยวพอเข้าปล้นเมืองได้ก็เข้าควบคุมเจ้าหลวง คือ เจ้าผู้ครองนครพิริยเทพวงศา ขอให้ลงนามร่วมขับไล่คนไทยให้ออกจากจังหวัดแพร่ ด้วยการอ้างเหตุที่กล่าวไปแล้วในบทความก่อนหน้า เจ้าผู้ครองนครไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่มีอาวุธ เพราะอาวุธได้รวบรวมไว้ที่ข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ ผู้กำกับราชการเมืองแพร่ คือ พระยาไชยบูรณ์ (นายทองคำ สุวรรณบาตร) ก็จำยอมลงนามเข้าร่วมไปก่อน “อาตมาภาพคิดพิจารณาดูแล้วว่า ก็คล้ายกับทหารญี่ปุ่นบุกไทย สมัยท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ ต้องลงนามร่วมรบร่วมรุกกับกองทัพญี่ปุ่น ที่ประวัติชาติไทยเราบันทึกไว้ว่า เจ้าหลวงเมืองหรือเจ้าครองนครแพร่กบฏนั้น น่าจะเป็นการเข้าใจผิด เรื่องนี้เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ อาตมาภาพ กับพระมหาสงบเข้มขัน(ถึงแก่กรรมไปแล้ว)ได้ทราบข่าวว่าพ่อเจ้าหนานขัด เตมีย์ ฃึ่งเป็นทหารอาทมาท ของพ่อเจ้าพิริยเทพวงศาที่ติดตามพ่อเจ้าฯไปอยู่เมืองหลวงพระบางเมื่อกลับมาเมืองแพร่อาตมภาพได้ไปเยี่ยมและสนทนาถึงเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองแพร่แต่ความจริงนั้นอาตมภาพทั้งสองไม่อยากจะรู้เกี่ยวกับเรื่องกบฎหรอกหาแต่ว่าอยากจะได้คาถาอาคมหายตัวมากกว่าเพราะทราบข่าวว่าเมื่อเวลาพ่อเจ้าหลวงพิริยเทพวงศากับทหารคนสนิทอีก ๘ คนหนีออกจากคุ้มเจ้าหลวงไปได้โดยไม่มีตำรวจ ทหาร หรือใครๆเห็นเลยสักคน เข้าใจว่าเพราะเจ้าหลวงกับทหารคนสนิทมีคาถาหายตัวนั้น จึงทำทีไปเยี่ยมเพื่อขอคาถาดังกล่าวพ่อเจ้าหนานขัดตอบว่าเรื่องคาถาหายตัวไม่มีหรอกที่ว่าท่านเจ้าหลวงกบฏนั้นว่ากันทีหลัง ความจริงนั้นมีอยู่ว่าเรื่องเงี้ยวจะปล้นเมืองแพร่นั้นรู้ล่วงหน้ากันหลายวันพ่อเจ้าได้เรียกให้พระยาไชยบูรณ์เข้าเฝ้าแล้วแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบว่าพวกเงี้ยวบ่อแก้วประมาณ ๕๐๐ คนจะเข้าปล้นเมืองแพร่เพราะพวกมันไม่พอใจตำรวจขอให้ข้าหลวงเบิกปืนและกระสุนให้พวกตำรวจด้วยแต่พระยาไชยบูรณ์ไม่เชื่อว่าพวกเงี้ยวจะทำได้ พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆจึงทำอะไรไม่ทันพวกเงี้ยวก็เข้ามาคุมตัวเจ้าหลวงให้เซ็นนามรบกับพวกมันพ่อเจ้าก็ต้องจำยอมทีว่าลักหนีนั้นก็ไม่เป็นความจริง การที่หนีไปหลวงพระบางนั้นเพราะได้รับคำแนะนำจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งแนะนำให้หนีหลีกเคราะห์ไปก่อน เมื่อบ้านเมืองสงบแล้วค่อยกลับมาใหม่ส่วนครอบครัวนั้นจะเลี้ยงเอาไว้ที่กรุงเทพฯ วันที่จะออกเดินทางนั้นทางเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรียังได้จัดแถวตำรวจ ทหาร ทำการเคารพเดินผ่านแถวทหารออกจากคุ้มแล้วข้ามแม่น้ำยม ที่ประตูศรีขุม เดินผ่านอำเภอสองเข้าอำเภอปง จังหวัดน่าน เจ้าหลวงจังหวัดน่านจัดช้างมารับ ๘ เชือก ต่อจากนั้นก็เดินทางตามแผนที่ที่วางไว้จนถึงเมืองหลวงพระบางเรื่องนี้เท็จจริงอย่างไร อาตมาภาพก็บอกเล่าตามที่ได้รับฟังมาจากพ่อเจ้าหนานขัด แต่เวลานี้จะไปตามหาท่านไม่ได้อีกแล้วเพราะท่านเสียชีวิตไปนานแล้ว ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้นก็สุดแล้วแต่พิจารณา

จากหนังสือ ไข่มุกต์ วงศ์บุรี ประชาศรัยสรเดช หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าไข่มุกต์ ณ ฌาปนสถานประตูมาร วันเสาร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เวลา ๑๖.๐๐ ว่าด้วยเรื่อง ๑๐๑ ปี ความลับกรณีกบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ ยุวดี มณีกุล เปิดเผยประวัติศาสตร์ บอกเล่าของคนท้องถิ่น ทายาทเจ้าวังซ้ายผู้กุมความลับสำคัญของแผ่นดินมาเนิ่นนาน การปกครองของไทยในยุคปฏิรูปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งผลให้หัวเมืองทางล้านนาต้องเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบบเจ้าหลวงมาเป็นเทศาภิบาล เป็นจังหวะเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ อันเป็นเหตุไม่มีนามสกุล “ณ แพร่” เหมือนจังหวัดอื่น

ชายชราวัย ๗๘ ปี ผู้คงบุคลิกกระฉับกระเฉง และมีความทรงจำแจ่มชัด นั่งอยู่เบื้องหน้าคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งแกเชื่อเหลือเกินว่าคนเหล่านี้ 'ถูกเลือก' ให้เป็นผู้เปิดเผยความลับสำคัญของตระกูล และเป็นความลับสำคัญของแผ่นดิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นความลับที่ คุณลุงรัตน์ วังซ้าย ทายาทคนสุดท้องในบรรดา ๑๒ คนของเจ้าน้อยหมวก (บุตรของเจ้าวังซ้าย) และเจ้าแสงแก้ว เก็บงำมาตลอดเพราะหวั่นอาถรรพณ์น้ำสาบานที่พระมหากษัตริย์รับสั่งให้ผู้รู้ความดื่มร่วมกัน สยามประเทศยุคนั้นมีผู้ร่วมดื่มน้ำสาบานและรู้ความลับนี้เพียง ๘ คน ยังสัญญาใจที่มารดากำชับไม่ให้บอกใคร จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม แม้แกไม่ใช่ผู้ร่วมดื่มน้ำสาบานโดยตรง แต่อาถรรพณ์ที่เกิดกับบุพการีเป็นประจักษ์ อย่างไรก็ตามในวัยขนาดนี้แกไม่กลัวความตายอีกแล้ว ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๖ คือเวลาเหมาะสมที่ชายชราเมืองแพร่ตัดสินใจเผยความลับนั้น ก่อนที่สังขารจะพรากความทรงจำไป

"เจ้าหลวงเมืองแพร่ไม่ได้เป็นกบฏ"

"ท่านเป็นคนทันสมัย ท่านอยากพัฒนาเมืองแพร่ให้เจริญ ตอนแรกท่านไม่รู้หนังสือภาษาไทย เขียนได้แต่ภาษาพื้นเมือง แต่ท่านคุ้นเคยใกล้ชิดกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านก็พาเจ้าหลวงไปเรียนภาษาไทยที่พระนคร เรียนรู้ระบบการปกครองแบบใหม่จนท่านเห็นดีงาม สมัยนั้นรัชกาลที่ ๕ เริ่มเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล เลิกระบบเจ้าหลวง มีแต่ข้าหลวงไปทำงาน เจ้าหลวงท่านเต็มใจทำตามรับสั่งนี้ ยอมสละยศ ตำแหน่งทุกอย่างเพื่อความเจริญของบ้านเมือง"

"เรื่องกบฏเงี้ยวเกิดเพราะอังกฤษกับฝรั่งเศสต้องการเฉือนแผ่นดินสยาม อังกฤษเฉือนภาคใต้กับอีสาน แล้วสมคบจะมาเอาทางเหนือจากเชียงรายไปสุดเขตแดนพม่า ภาคอีสานก็ข้ามโขงมาสมคบตั้งกองบัญชาการที่หลวงพระบาง สองชาตินี้หาเรื่อง ใช้วิธีหมาป่ากับลูกแกะ"

"หลังเจ้าหลวงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ ๕ ก็ส่งเจ้าหน้าที่จากบางกอก คือพระยาไชยบูรณ์ ในนามข้าหลวงประจำจังหวัดมาฝึกงานให้ แล้วในปีหนึ่งๆ จะมีการตรวจเงินแผ่นดิน วันหนึ่งปรากฏว่าเขาเปิดประตูเซฟบนศาลากลางจังหวัดปรากฏว่าเงินขาดไป ๕๕,๐๐๐ บาท คนตรวจก็สั่งอายัดตัวเจ้าหลวงไปขัง เป็นเหตุให้อังกฤษเห็นเป็นช่องทางจะมาบังคับเรา ตอนหลังลูกหลานก็หาเงินมาใช้ให้ เจ้าหลวงจึงถูกปล่อยตัว คนแพร่โกรธกันมากเพราะเป็นการลงโทษโดยไม่ฟังความใดๆ"

"อังกฤษเอาปมนี้เป็นเหตุทำให้คนแตกสามัคคี เพราะคนเมืองแพร่ทั้งหมดเกลียดคนกรุงเทพฯ อังกฤษส่งเงี้ยวชื่อพะกาหม่องมาเกลี้ยกล่อมเจ้าหลวงว่าท่านโดนรังแก อังกฤษจะช่วยยึดแผ่นดินคืนให้ จะให้เงี้ยวมาก่อการกบฏ สมัยนั้นเงี้ยวอยู่ในความปกครองของอังกฤษ เพราะเป็นลูกจ้างทำไม้ให้ มีการตกลงกันว่าจะไม่ให้เจ้าหลวงเดือดร้อน เสบียง อาวุธจะหามาเองทั้งหมด แผนของอังกฤษคือจะให้เราฆ่าเงี้ยวแล้วเรียกค่าเสียหาย"

"แต่เจ้าหลวงรายงานให้รัชกาลที่ ๕ ทรงทราบ ท่านก็เรียกเจ้าหลวงไปพบ แล้วท่านก็สั่งเจ้าหลวงให้ยอมรับเงื่อนไขของอังกฤษ เป็นแผนซ้อนแผน บอกให้เจ้าหลวงยอมเป็นกบฏ เพื่อที่จะเป็นข้ออ้างปราบเงี้ยว เพราะถ้าไม่ยอมรับเป็นกบฏก็ไม่มีเหตุปราบ"

"พอตกลงกันดีแล้ว เจ้าหลวงกลับมาบอกอังกฤษขอเวลาสามเดือน อ้างว่าจะต้องตรวจสอบกำลัง ที่จริงก็เพื่อในหลวงจะได้เตรียมจัดกำลังสำรอง"

"ข้อตกลงร่วมกันในการก่อกบฏ อังกฤษมีข้อแม้ว่าจะไม่ทำอันตรายชีวิตและทรัพย์สินของคนเมือง จะทำเฉพาะคนไทยจากเมืองใต้ เจ้าหลวงเสนอกลับไปว่าตกลง แต่เพิ่มอีกข้อว่าห้ามฆ่าผู้หญิงกับเด็กไทยที่มาฝึกงาน ห้ามฆ่าตำรวจ ก่อนเงี้ยวปล้น คืนนั้นไม่ได้นอนกันทั้งคืน เพราะเตรียมรับมือ เจ้าหลวงก็วางแผนจัดกำลังไปซ่อนในป่า แล้วรัชกาลที่ ๕ ท่านบอกให้จัดคนที่ไว้ใจได้ประมาณ ๕-๖ คนมาร่วมงาน ให้ปิดเป็นความลับ หากความลับรั่วไหล เหตุจะอ้างว่าปราบเงี้ยวเพราะเป็นกบฏจะไม่เป็นผล"

"เจ้าหลวงท่านรับเป็นกบฏ แต่รัชกาลที่ ๕ ไม่ค่อยไว้ใจ ท่านให้เจ้าหลวงดื่มน้ำสาบานว่าไม่คิดคดทรยศ และให้นำน้ำสาบานนี้ติดตัวมาไปเมืองแพร่ด้วย ให้ทุกคนที่รู้เรื่องร่วมดื่ม แล้วกำชับว่าถ้าหากคนเหล่านี้ถูกจับไปข่มขู่ถึงตายก็ให้ยอมตาย ถ้าไม่ทำตามนี้หรือไปบอกใครขอให้ตายด้วยคมหอกคมดาบคมเขี้ยวคมงา"

"เจ้าหลวงรับคำมาปรึกษากับเจ้าราชบุตร หรือบุตรเขยของท่าน ตกลงกันว่าจะเอาเจ้าวังซ้ายมาร่วมงานด้วย เรียกเจ้าวังซ้ายมาบอกว่าถ้าจะร่วมงานต้องกินน้ำสาบาน ถึงตอนนี้มีคนรู้แผนนี้ ๖ คน ที่กรุงเทพฯ มี ๓ คน คือ รัชกาลที่ ๕ กรมดำรงราชานุภาพ และกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ที่แพร่มี ๓ คน คือ เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าราชบุตร ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน และเจ้าวังซ้าย

"อังกฤษบอกให้เจ้าหลวงอยู่เฉยๆ ไม่เอาอาวุธด้วย แต่ขอกำลังคนเมืองแพร่ เจ้าหลวงเลยหารือว่าให้เอาชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธไปซ่อนในป่า ป้องกันไม่ให้เงี้ยวมาขอกำลังเสริม ท่านก็หารือกันว่าต้องมีคนคุมกำลังในป่า เจ้าวังซ้ายเสนอชื่อไปว่ามีสองคนคือไม่ลูกก็เมีย ในที่สุดท่านเลือกลูก คือเจ้าน้อยหมวกมาคุมกำลังรบ เจ้าน้อยหมวกนี้คือพ่อของผมเอง ท่านก็เรียกเจ้าน้อยหมวกไปดื่มน้ำสาบาน"

"เจ้าน้อยหมวกคิดเรื่องคนดูแลเสบียง เลยเลือกเมียคือเจ้าแสงแก้ว ก็กลับมาบอกสามคนแรกว่าได้ปรึกษาเมียแล้ว เขายอม ทางนี้จะยอมไหม เลยเรียกเจ้าแสงแก้วมาดื่มน้ำสาบานอีกที ตอนนี้มีคนรู้ความลับทั้งหมด ๘ คน"

"แต่การบอกเมียถือเป็นการเปิดเผยความลับแม้จะไม่ตั้งใจ พ่อผมเลยโดนอาถรรพณ์เป็นคนแรก คือพอแม่คลอดผมได้เพียง ๘ เดือนพ่อก็ถูกช้างเหยียบตาย ทั้งที่พ่อเป็นผู้เชี่ยวชาญการจับช้างตกมัน พ่อยังบอกว่ากลัวควายมากกว่าช้าง"

"เจ้าแสงแก้วรวบรวมลูกเมียข้าราชการไทยมาไว้ที่คุ้มของเจ้าวังซ้าย ซ่อนไว้บนเพดาน คืนนั้นก็เกณฑ์คนกับอาวุธมาเก็บไว้ในคุ้ม ป้องกันไม่ให้ทั้งสู้เงี้ยวและสู้ไทย ประมาณตีสองตีสาม เจ้าแสงแก้วจัดคนไปบ้านข้าราชการไทย เอาผู้หญิงที่เคยรับใช้บ้านข้าราชการมาเพื่อให้คนไทยเมืองใต้ไว้ใจ แต่มีจำนวนหนึ่งไม่มาเพราะพวกนี้ไม่ค่อยชอบเจ้าหลวง พวกที่มาก็เป็นห่วงสามียอมตายด้วยกัน"

"พอเงี้ยวปล้นโรงพัก ปล้นไปรษณีย์ ยึดศาลากลางจังหวัด ก็ยึดได้สบายเพราะไม่มีการต่อต้าน พวกเงี้ยวออกสำรวจทุกบ้านว่ามีคนไทยเท่าไร จะจับมาฆ่าให้หมด"

"จนไปถึงบ้านเจ้าวังซ้าย ซึ่งเจ้าแสงแก้วกำลังทำกับข้าวให้คนไทยที่หลบซ่อนตัวอยู่ มันก็ถามว่าทำให้ใครกินมากมาย แม่ผมบอกว่าตอนแรกก็ตกใจ แต่ทำใจดีสู้เสือเพราะมันจะขอค้นว่ามีคนไทยไหม แม่บอกค้นไม่ได้ เจ้าหลวงกับเจ้าวังซ้ายสั่งห้ามค้น แล้วแม่ก็พูดไปว่าทำอาหารให้พวกสูกินนั่นล่ะ เจ้าหลวงให้ทำ ถ้าพวกสูเสร็จธุระให้ไปรอที่ศาลากลางเดี๋ยวเอาไปให้ แล้วแม่ก็เรียกกำลังออกมา แกล้งพูดว่าจะเลี้ยงอาหารแล้วมันยังมาข่มขู่ ถ้าจะค้นบ้านก็ให้จัดการสู้กัน เงี้ยวฟังแล้วจึงยอมไป เจ้าแสงแก้วรีบส่งคนไปบอกเจ้าหลวง ท่านบอกให้ทำอาหารเพิ่มแล้วเอาไปเลี้ยงมันอย่างที่บอก"

"ในเอกสารจดหมายเหตุที่ว่ามีการส่งเสบียงให้พวกเงี้ยว สาเหตุที่แท้จริงเป็นอย่างนี้"

"ปรากฏว่าพวกเงี้ยวฆ่าผู้หญิงกับเด็กคนไทยที่ไม่ได้มาอยู่กับเรา เจ้าหลวงโกรธมาก เรียกหัวหน้าเงี้ยวมาคุย ชื่อพะกาหม่อง มาบอกว่าผิดสัญญา ท่านก็มีกำลังอยู่นะ พะกาหม่องขอโทษขอโพย พอรู้ว่าเจ้าหลวงพูดว่ามีกำลังก็เริ่มกลัว มันเลยเรียกเจ้าหลวง กับเจ้าวังซ้ายไปทำสัญญาร่วมรบกัน บอกเจ้าหลวงว่าถ้าเราทำตามที่ตกลงก็จะไม่มีอะไร แต่ถ้าเจ้าหลวงเอากำลังมาสู้เมื่อไร เงี้ยวจะเอาสัญญานี้ไปแฉให้รัชกาลที่ ๕ ทรงทราบ ซึ่งเจ้าหลวงได้บอกกับรัชกาลที่ ๕ ว่าเงี้ยวบังคับทำ จำเป็นต้องทำ รัชกาลที่ ๕ ก็รู้"

"หลายวันต่อมา..กรุงเทพฯส่งกำลังมาปราบกบฏ โดยที่ได้เตรียมกำลังแถวอุตรดิตถ์ พิษณุโลกไว้แล้ว จึงปราบได้ภายใน ๓-๔ วัน"

"รัชกาลที่ ๕ เอาประกาศนียบัตรกบฏของเจ้าหลวงไปอ้างกับอังกฤษ ตามกฎแล้วผู้เป็นกบฏต้องถูกประหารเจ็ดชั่วโคตร แต่มีการช่วยเหลือทางลับ คือรัชกาลที่ ๕ สั่งแม่ทัพว่าห้ามตั้งข้อหากับเจ้าหลวงและลูกหลานว่าเป็นกบฏแต่ไม่บอกเหตุผล ท่านยังกำชับว่าการพิจารณาโทษกบฏต้องส่งเรื่องให้ท่านสั่งการเอง แล้วท่านยังให้นำลูกหลานของเจ้าหลวงไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ในบรรดานี้มีคนสกุลศรุตานนท์ด้วย"

"ในสัญญาที่อังกฤษทำกับเจ้าหลวงระบุว่าถ้าทำการกบฏไม่สำเร็จจะพาเจ้าหลวงหนีไปที่กองบัญชาการใหญ่ของเงี้ยวที่หลวงพระบางเมืองลาว ถ้าเจ้าหลวงไม่ยอมเป็นกบฏก็คงได้ตำแหน่งนายพลเพราะว่าตอนหลังเจ้าหลวงทางตอนเหนือได้เป็นนายพลกันหมดทุกคน"

"รัชกาลที่ ๕ ตอบแทนเจ้าหลวงในทางลับ นอกจากนี้ท่านยังเลี่ยงอาญาให้คนคุมตัวเจ้าหลวงไปส่งนอกประเทศ คือหลวงพระบาง ซึ่งนี่ก็เป็นแผนอีกข้อหนึ่ง รัชกาลที่ ๕ ต้องการให้เจ้าราชบุตรผูกสัมพันธ์กับเงี้ยว เพื่อเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างเจ้าหลวงกับรัชกาลที่ ๕ ท่านให้เจ้าราชบุตรเอาเงินเดือนไปจ่ายให้เจ้าหลวงทุกเดือน แต่เป็นในนามว่าเจ้าราชบุตรเอาเงินไปให้พ่อตาใช้"

"อยู่ทางโน้นเจ้าหลวงก็ทำบันทึกใส่สมองเจ้าราชบุตรกลับมารายงานรัชกาลที่ ๕ เพราะรัชกาลที่ ๕ กำชับว่าอย่าบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เจ้าหลวงคอยรายงานแผนการของเงี้ยวที่จะพยายามไปเกลี้ยกล่อมเจ้าหลวงล้านนาอื่นๆ พอรู้ข่าวก่อนว่าจะไปจังหวัดไหนก็เตรียมการรับทัน ทำให้ไม่มีเหตุการณ์เงี้ยวกบฏได้สำเร็จ และเจ้าหลวงจังหวัดอื่นๆ ก็ได้เป็นนายพล" "ผมยังมีหลักฐานบันทึกของพันตำรวจเอกชาวฝรั่งชื่อ พ.ต.อ.พระแผลงสะท้าน หรือ C.N Springer เขาแปลกใจว่าทำไมเห็นเจ้าหลวงเดินจากคุ้มหนีออกไปทางประตูศรีชุมคนเดียว บันทึกนี้ลูกของตำรวจฝรั่งผู้นี้เอามาให้ผม เป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนป่าไม้ ชื่อ อ.เทิด สุขปรีชากร"

"ตัวผมเองยังมีปืนสำคัญ ๒ กระบอกที่ ร.ต.ตาด กับภรรยาคือนางคำใช้ยิงต่อสู้กับพวกเงี้ยวจนตัวตาย เดี๋ยวนี้ทางจังหวัดก็ทำประตูตาดคำเป็นอนุสรณ์ให้ท่าน ปืนนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงผม และผมก็ได้ส่งมอบให้กับผู้ว่าฯ เพราะทราบมาว่าท่านมีโครงการบูรณะคุ้มเจ้าหลวงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ผมจึงอยากมอบเป็นสมบัติของส่วนรวม"

"เรื่องปืนนี่ก็มีที่มาเบื้องลึก เพราะเจ้าหลวงท่านขอให้ไม่ฆ่าตำรวจ แต่ท่านรู้นิสัยของ ร.ต.ตาด ว่าจะไม่ยอมหนี ปืนยาวนี้เจ้าหลวงมอบให้เจ้าวังซ้าย แล้วเจ้าวังซ้ายทำทีมามอบให้ ร.ต.ตาด ไว้ป้องกันตัว แต่จะบอกตรงๆ ไม่ได้ เลยบอกว่าปืนเสียให้ ร.ต.ตาด ช่วยซ่อมและให้ทดลองยิงดูจนแน่ใจว่าใช้การได้แล้ว คือให้กระสุนมาอีกเป็นย่ามๆ ร.ต.ตาด ก็ได้ใช้ปืนยาวนี้สู้เงี้ยว แล้วเอาปืนสั้นของตัวเองให้นางคำไว้ป้องกันตัว ในที่สุดเงี้ยวยิงถูก ร.ต.ตาด ตาย นางคำวิ่งหนีก็ถูกเงี้ยวไล่เอาดาบฟันตายเช่นกัน"

"ตามเอกสารจดหมายเหตุ..บอกว่าพระยาไชยบูรณ์ที่เป็นข้าหลวงวิ่งไปหาเจ้าหลวงให้ช่วย แต่เจ้าหลวงช่วยไม่ได้ ความจริงก็คือเจ้าหลวงส่งตัวลงเรือไปฝากไว้ที่บ้านกำนันบ้านร่องกาศ กลางคืนนอนบนบ้าน กลางวันลงไปซ่อนในป่า จนเงี้ยวประกาศล่าตัวให้ค่าหัว ๔๐ บาท นายวงศ์ คนบ้านร่องกาศไปพบโดยบังเอิญเลยแจ้งพวกเงี้ยว พระยาไชยบูรณ์เลยถูกจับตัวไปตัดหัวที่บ้านร่องคาว"

"ปีที่แล้ว ครบรอบเหตุการณ์ ๑๐๐ ปี ผู้ว่าฯ จังหวัดแพร่ขณะนั้นคือ ท่านอนุกูล คุณาวงศ์ บอกลูกหลานสร้างอนุสาวรีย์ให้เจ้าหลวงที่หน้าคุ้มของท่าน ซึ่งเป็นจวนผู้ว่าฯ ต่อๆ มา ท่านอยากให้ทำสำเร็จก่อนท่านเกษียณ ปัจจุบันท่านเป็นประธาน กกต.แพร่ เราก็ไปปรึกษากับคุณปลอดประสพ สุรัสวดี เนื่องจากคุณย่าของภรรยาคุณปลอดประสพเป็นลูกสาวของเจ้าอยู่คำ ธิดาของเจ้าหลวง"

"อนุสาวรีย์นี้สร้างเสร็จปีที่แล้ว (พ.ศ. ๒๕๔๔) นักวิชาการบางคนก็ค่อนขอดว่ามาทำอนุสาวรีย์ให้กบฏทำไม" "ผมคิดว่าการที่เจ้าหลวงเสียสละแต่ถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏมันเป็นมลทิน ทุกวันนี้ลูกหลานเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ใช้สกุลเทพวงศ์ ส่วนลูกหลานเจ้าวังซ้ายใช้สกุลวังซ้าย ภรรยาเจ้าวังซ้ายเป็นลูกหลานของเจ้าหลวง ผมก็ใช้สกุลวังซ้าย ตระกูลนี้ต้นรากแล้วมาจากเชียงแสน ส่วนแม่ผมเป็นหลานของเจ้าวังขวา"

ลุงรัตน์ วังซ้าย เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๘ หลังเหตุการณ์ปราบกบฏเงี้ยว ๒๓ ปี ครั้นอายุประมาณ ๓๐ ปีเศษ เจ้าแสงแก้วผู้มารดาได้บอกความลับนี้แก่บุตรชาย

"ตอนนั้นแม่อายุ ๗๗ ย่าง ๗๘ ปี แม่บอกว่าอย่าบอกใครเพราะกลัวจะโดนอาถรรพณ์เหมือนพ่อ แม่เล่าให้ผมฟังคนเดียว แม่กลัวเรื่องนี้จะตายไปกับตัวแม่ แม่บอกได้ไม่นานก็เป็นความดันสูง พอรักษาตัวก็พบว่าเป็นมะเร็งปอด แม่ทรมานอยู่ปีกว่าๆ ก็จากไป"

น่าประหลาดใจว่าลุงรัตน์ตัดสินใจเปิดเผยความลับในขณะที่อายุ ๗๗ ย่าง ๗๘ ปี เท่ากับอายุของมารดาเมื่อครั้งบอกเรื่องนี้

ข้อเท็จจริงด้านหนึ่งจากคนในท้องถิ่นโดยปราศจากหลักฐานบันทึก อาจเป็นสิ่งไม่น่าเชื่อถือสำหรับนักประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ กรณีนี้มี

นัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ในอนาคต นั่นคือถึงเวลาแล้วที่ต้องคืนประวัติศาสตร์ให้คนท้องถิ่น ในเมืองแพร่ยังมีเจ้านายพื้นเมืองอยู่หลายแห่งจึงไม่ปรากฏหลักฐานโดยตรงแต่ได้มีคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่นนั้นคือเจ้านายพื้นเมืองสืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ครองนครคือ ลูกหรือหลานมิใช่ว่านามสกุลข้างต้นยังมีอีกมากที่เรายังไม่รู้จักเช่นกัน ปล. ตอนมีกบฏเงี้ยวในสมัย ร.๕ เจ้าเมืองแพร่ได้ยินยอมไม่แข็งขืนต่อเงี้ยวตอนนั้น แต่พระยาไชยบูรณ์ไม่ยอม จึงถูกตัดศีรษะ ต่อมา ร. ๕ จึงไม่พระราชทาน นามสกุล ณ แพร่ให้แก่ลูกหลานเจ้าเมืองแพร่ ซึ่ง ตอนหลังต้องหลบหนีไปอยู่เมืองลาว ส่วนพระชาไชยบูรณ์ก็ได้รับการสรรเสริญสร้างเป็นอนุสาวรีย์ยกย่อง ตั้งอยู่ ณ ถนน ยันตรกิจโกศล อ. เมือง จ. แพร่ มาจนถึงทุกวันนี้

ข้อสงสัยของนายตำรวจฝรั่ง

วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ เวลาเย็น ข้าพเจ้า ร.อ. สปริงเกอร์ ผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากเจ้ากรมตำรวจภูธรให้มาปราบโจรเงี้ยว ได้ถูกท่านแม่ทัพใหญ่คือ นายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เรียกตัวไปพบที่กองบัญชาการที่เค้าสนามหลวง เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้บอกข้าพเจ้า ร.อ. สปริงเกอร์ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เจ้าผู้นครแพร่ได้หลบหนีไปแล้วเมื่อเวลาประมาณเที่ยงวัน ให้เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะไปตามจับตัวมา โดยให้นำกำลังผสมทหาร-ตำรวจประมาณครึ่งโหลออกไปตามจับ ท่านแม่ทัพได้ถามข้าพเจ้าว่า "พร้อมจะออกเดินทางได้เมื่อใด" แต่เมท่อข้าพเจ้าตอบว่าตำรวจพร้อมที่จะเดินทางได้ภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง ท่านแม่ทัพกลับกล่าวว่า ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่จะต้องตระเตตรียมอีก และสั่งว่าหน่วยติดตามไม่ควรออกเดินทางก่อนรุ่งเช้า นายละเอียดในคำสั่งมีดังนี้

"ให้ร.อ. สปริงเกอร์ ไปเชิญเจ้าหลวงกลับอย่างสุภาพ หากเจ้าหลวงยอมกลับโดยดี ให้ ร.อ. สปริงเกอร์พร้อมด้วยกองกำลังผสมทหาร-ตำรวจที่ยกไปนั้น ทำหน้าที่กองเกียรติยศนำเจ้าหลวงกลับ ถ้าหากเจ้าหลวงไม่ยอมกลับก็ให้จบทันที และถ้าหากเจ้าหลวงพยายามหลบหนีหรือต่อสู้ด้วยอาวุธ ก็ให้ใช้กำลังบังคับตามสมควรแก่เหตุ"

วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ กำลังผสมทหาร-ตำรวจภายใต้การนำของข้าพเจ้าได้เดินท่างออกจากเมืองแพร่เมื่อเวลาเช้าตรู่ มีเจ้าราชวงศ์เป็นผู้นำทาง การออกเดินทางล่าช้าด้วยคำสั่งของท่านแม่ทัพใหญ่ เป็นเหตุให้เจ้าหลวงมีโอกาสล้ำหน้ากองกำลังติดตามไปกว่า ๑๘ ชั่วโมง และได้ข้ามแม่น้ำโขงไปยังเมืองหลวงพระบางในที่สุดหากว่ากองกำลังติดตามซึ่งใช้ม้าเป็นพาหนะ ได้ออกเดินทางระหว่าง ๔ ทุ่มถึง ๒ ยามในคืนวันที่ ๒๕ กันยายน ก็คงจะตามเจ้าหลวงทันในวันรุ่งขึ้น แต่อาจจะไม่ใช่ความประสงค์ของราชการที่จะทำให้เป็นเช่นนั้นก็ได้...

การหลบหนีของเจ้าหลวงเมืองแพร่เกิดขึ้นเมื่อตอนสายของวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ข้าพเจ้าผู้พักแรมอยู่ที่วัด (ปัจจุบันคือวัดพระบาทมิ่งเมือง) ด้านตรงข้ามกับคุ้มหลวง ได้เห็นเหตุการณ์ตลอด โดยเห็นเจ้าหลวงเสด็จลงจากคุ้มเดินลัดสนามหญ้าที่ว่าการเค้าสนามหลวงไปทางประตูศรีชุม ซึ่งเป็นประตูเมืองด้านทิศเหนือออกสู่แม่น้ำยม เจ้าหลวงเสด็จเพียงลำพังองค์เดียวไม่มีผู้ติดตามหรือผู้คุ้มกันแต่อย่างใดจึงรู้สึกประหลาดใจมาก

จนถูกเรียกตัวไปพบท่านแม่ทัพใหญ่ในตอนเย็น และได้รับสั่งให้ติดตามไปในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งก็ตามไม่ทัน เพราะเวลาทิ้งห่างกันมาก จึงทำให้เกิดการสันนิษฐานอย่างที่กล่าวมาแล้ว

ใจทะนง วงศ์บุรี

เคยสงสัยไหมว่า มีราชสกุล ณ เชียงใหม่ ณ น่าน ณ ลำปาง ของทายาทอดีตเจ้าผู้ครองนครในดินแดนล้านนาโบราณ แต่เหตุใดไม่มี “ณ แพร่” ตามประวัติว่า เหตุเกิดเมื่อราว ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา มี “กบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่” ร.ศ. ๑๒๑ ก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านอำนาจการปกครองของกรุงรัตนโกสินทร์จนสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงส่งจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีขึ้นไปปราบเป็นเหตุให้เจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่ ผู้ต้องหาเป็นผู้ก่อการต้องหลีกเร้นไปหลบภัยไกลถึงเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว

ทรงถอดยศ ถูกริบทรัพย์สมบัติ แล้วนับแต่นั้นก็ไม่ได้โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเจ้าหลวงองค์ใหม่มาแทน จวบจนเมืองแพร่กลายเป็นจังหวัดแพร่ ตามระเบียบการปกครองใหม่มาตราบจนทุกวันนี้ อันส่งผลให้ไม่มีราชสกุล “ณ แพร่” เกิดขึ้น นักประวัติศาสตร์สายเลือดแพร่อย่าง อาจารย์เสรี ชมภูมิ่ง วิเคราะห์ว่ากรณีนี้จะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงไม่ได้ เพราะเมื่อรัฐบาลที่กรุงเทพ ฯ ประกาศใช้พระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ ร.ศ. ๒๒๙ เพื่อรวมดินแดนล้านนาให้เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐตนโกสินทร์นั้นเจ้านายเมืองแพร่ยังตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน อีกทั้งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณที่ถูกส่งมาจากกรุงเทพฯ ไปบริหารงานตาม พ.ร.บ. ใหม่ ก็มีทั้งที่กระทำตัวดีและที่ประพฤติมิชอบแรงต่อต้านจึงเกิดขึ้น โดยใช้กองกำลังชาวเงี้ยว (ชื่อเรียกในเชิงดูถูกชาวไทยใหญ่) ที่มี พะกาหม่อง เป็นหัวหน้า บุกปล้นเมืองแพร่แล้วเลือกฆ่าฟันข้าราชการและคนไทยที่พูดภาษากลางทั้งหมด ก่อนจะถูกปราบจนกลายเป็น “กบฏเงี้ยว”ในที่สุด ดังนั้น พ้นจากกรณีนี้แล้ว การเรียกชาวไทใหญ่ว่า “เงี้ยว” จึงไม่สมควรอย่างยิ่ง อย่างไนก็ตาม ร่องรอยของอดีตเจ้าเมืองแพร่ที่หลงเหลืออยู่ นอกจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นคุมเจ้าหลวงเมืองแพร่เก่าแล้ว ยังมี “บ้านวงศ์บุรี” ของทายาทผู้สืบตระกูลเจ้าหลวงเมืองแพร่อีกด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ลูกหลานปัจจุบันตระหนักถึงคุณค่า  แล้วดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี จนได้รับการยกย่องเป็น “เรือนอนุรักษ์ดีเด่น” บ้านวงศ์บุรีสร้างด้วยเจ้าพรหม (หลวงพงษ์พิบูลย์) และเจ้าสุนันตา วงศ์บุรี ธิดาพระยาบุรีรัตน์ น้องเขยเจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้าย ผู้มีอาชีพทำป่าไม้สัมปทาน สร้างเป็นบ้านไม่ขนาดใหญ่สองชั้น ทรงปั้นหยา ประดับลวดลายขนมปังขิงแบบยุโรป ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในสยามประเทศเมื่อราวร้อยปีที่ผ่านมา ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมประดับลวดลายขนมปังขิงที่รู้จักกันดี คือพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งไม่เพียงแต่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระที่นั่งไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากยังเป็นเรือนขนมปังขิงที่วิจิตรบรรจงที่สุดของโลก ไม่ใช่แค่ที่สุดของไทย สงสัยมานานแล้วว่า “ขนมปังขิง” มาเกี่ยวข้องอะไรกับงานสถาปัตยกรรม ? ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ศิลปะ กรมศิลปากร อธิบายไว้ในบทความชื่อน่ารัก “มนต์ขลังขนมปังขิง” ว่า “ขนมปังขิง” แปลจาภาษาอังกฤษ Ginger bread เป็นคำที่ใช้เรียกลวดลายตกแต่งทางสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะหงิกงอเป็นแง่งคล้ายขิง

ตั้งแต่สมัยพระนางเจ้าวิกตอเรียที่ ๒ แห่งอังกฤษ แล้วแพร่หลายไปในยุโรปในกลุ่มประเทศอาณานิคมอังกฤษเลยมาจนถึงสยามประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕ (จากหนังสือ “เยี่ยมเรือนอดีต” ๒๕๓๗) “ขนมปังขิง” จึงเป็นเพียงชื่อลวดลาย เหมือนลายกนก ลายประจำยามของไทยไม่ใช่รูปทรงหรือ “สไตล์” เหมือน กอทิก นีโอคลาสสิก หรือชิโน โปรตุกิส ฯลฯ แต่ผมก็ยังสงสัยอีกว่า ลักษณะลวดลายหงิกงอเหมือนแง่งขิงนั้นพอจะเข้าใจ แต่ไปเกี่ยวอะไรกับขนมปัง ? ติดตามถามไถ่เพื่อนที่เป็นฝรั่ง ได้ความว่าในเทศกาลคริสต์มาสแต่อดีตชาวตะวันตกนิยมทำขนมปังที่มีส่วนผสมของขิง เรียกกันว่า Ginger bread แต่ที่สำคัญคือยังนิยมนำขนมปังขิงมาต่อเป็นรูปบ้านให้แลดูน่ารักเหมือนบ้านตุ๊กตาด้วยจะถึงขั้นทำลายฉลุในขนมปังด้วยหรือเปล่านั้นไม่แน่ใจ แต่ก็ทำให้ในเวลาต่อมาเมื่อมีโครงสร้างบ้านไม้แล้วประดับลายฉลุรูปร่างคล้ายแง่งขิง แลดูน่ารักเหมือนบ้านตุ๊กตา ก็จะเรียกขานกันว่า “เรือนขนมปังขิง” หรือ Ginger bread house แต่ไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไร ถึงวันนี้ ความน่ารักของเรือนขนมปังขิงก็เข้าไปสถิตในใจใครต่อใคร รวมถึงผมอย่างยากจะถอนตัว โดยเฉพาะบ้านวงศ์บุรี นอกจากความวิจิตรตาของลวดลายแล้ว ที่ถือเป็นความกล้าของช่างสมัยนั้น คือกล้าใช้สีชมพูได้อย่างไม่ประเจิดประเจ้อ ซึ่งแม้ว่าทายาทรุ่นหลังจะทาสีบ้านใหม่ทับ แต่ก็ยึดเอาสีเดิมเป็นที่ตั้ง จะมีเพียงหลังคาเท่านั้นที่หันมาใช้สังกะสีเพราะความที่เป็นไม้แป้นเกล็ดแบบเก่านั้นหายากและราคาแพงขึ้น ปัจจุบันเรือนหลังใหญ่ของบ้านวงศ์บุรีจัดเป็น “พิพิธภัณฑ์เอกชน” ในขณะที่เรือนด้านหลังเป็นที่พักอาศัยของทายาทหลวงพงษ์พิบูลย์และเจ้าสุนันตา ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ภายในคุ้มเจ้านายฝ่ายเหนือเมื่อหนึ่งศตวรรษก่อน และยังประโยชน์อเนกอนันต์สำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของเยาวชนสืบเนื่องไปอีกนานเท่านาน ขอบคุณและชื่นชมจากใจจริง แทนลูกหลานไทยทั้งมวล ที่ทายาทบ้านวงศ์บุรีช่วยดูแลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่าขึ้นนี้ไว้ให้เรา ถึงตรงนี้ ผมก็เข้าใจแล้วว่าการจะมี หรือไม่มี ราชสกุล “ณ แพร่” คงไม่สำคัญไปกว่าที่คนในราชสกุลนี้ทะนงในคุณค่าของตน

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 12 •มกราคม• 2012 เวลา 11:44 น.• )