ส่างกราน ส่างยอน เงี้ยวบังคับอังกฤษประหารนายร้อยตรีตาด ส่างกราน อายุ ๔๐ ปี เป็นเงี้ยวมาจากเชียงตุง บังคับอังกฤษ ภรรยาชื่ออีโกน มีฐานะดีมาก ตั้งบ้านเรือนเป็นร้านค้าอยู่นอกประตูชัยได้ ๘ ปี ขายเสื้อผ้า สินค้าต่าง ๆ รวมทั้งดินปืนกระสุนปืน ก่อนหน้าวันเกิดเหตุเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ พวกเงี้ยวได้พากันมาซื้อดินปืนได้ตระเตรียมไว้ล่วงหน้า ก่อนการปล้น ๗ วัน ก็ได้รับคำสั่งจากเจ้าอินแปง เจ้ายวงคำ บุตธิดาเจ้าหลวงแพร่ ให้ไปนอนเฝ้าคุ้มเจ้าหลวงพร้อมพวกอีก ๑๗ คน

ได้ค่าจ้างคนละ ๒๐ รูเปีย รุ้งเช้าก็ไปขายของตามปกติ ค่ำก็มานอน ก่อนวันเกิดเหตุ เจ้าหลวงแพร่บอกว่า "เงี้ยวจะปล้นแพร่พรุ่งนี้รู้หรือไม่" พร้อมกับสั่งให้เอาปืน ๑๒ นัดที่บ้านไชยสงคราม ปืนกระบอกนี้พระไชยสงครามมอบให้พะก่าหม่องพร้อมกับลูกปืน ๑ ห่อ บนเค้าสนามที่ว่าการ ในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)

 

เมื่อพะก่าหม่องไปปล้นเมืองนครลำปาง และสล่าโปชัยไปขัดตาทัพทหารไทยที่ช่องเขาพลึง ส่างกรานได้รับมอบหมายให้ดูแลปกครองเมืองแพร่แทน แต่มาได้ไปคอยตั้งรับสกัดทัพที่บ้านสูงเม่นพร้อมกับพระยาไชยสงครามและเจ้าราชบุตรแล้วก็ถอยหนีกลับมา ทำการเกณฑ์เอาข้าวสารจากบ้านท่าล้อไปไว้บนที่พักกรมตำรวจที่นั้นมากมาย

ส่างยอนอายุ ๒๖ ปี เป็นเงี้ยวเชียงตุง บังคับอังกฤษ ไม่มีภรรยา มาเช่าร้านขายของอยู่หน้าบ้านพระยาบุรีรัตน์ ในเวียงแพร่ได ๖ ปี เป็นหัวหน้าผู้นำไปเปิดคุกปลดปล่อยนักโทษออกทั้งหมด ได้สบคบร่วมมือกับส่างกรานตามล่านายร้อยตรีตาด และช่วยกันทำร้ายจนถึงแก่ความตาย

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) นายร้อยตรีตาด ตำรวจเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งเข้ามาในเมืองแพร่ก่อนวันนั้น เพื่อรายงานการวิสามัญฆาตกรรมเงี้ยว ๓ ศพที่บ้านเด่นชัย พักอยู่บ้านพักตรงข้ามกับโรงพักพลตำรวจเมืองแพร่ ในเช้าวันนั้น ขณะที่เงี้ยวเข้าปล้นโรงพักพลตำรวจได้ยิงต่อสู้เงี้ยว เงี้ยวยิงทะลุฝาถูกภรรยาตาย และตามเข้ามาในบ้าน ยิงคนใช้หญิงคลุมโปงอยู่ตายเข้าปล้นเก็บทรัพย์สินไปรวมทั้งกระบี่ตำรวจด้วย หนีทะลุฝาด้านหลังออกไปได้ ไปซ่อนตัวอยู่บนกำแพงเมือง หรือที่คนเมืองแพร่เรียกว่า “เมฆ” ด้านเหนือประตูชัย มีพืชพันธุ์ไม้ปกคลุม ตอนเวลาโพล้เพล้ก็เอาโสร่งคลุมศีรษะเดินลงมาจากกำแพงเมืองเข้าไปในบ้านหม่องโปซึ่งอยู่บริเวณนั้น สอบถามว่าเงี้ยวผู้ร้ายหนีไปจากเค้าสนามหลวงแล้วหรือยัง หม่องโปตอบว่าขอให้หนีไปไกลๆ เงี้ยวกำลังเสาะหาตัวอยู่ นายร้อยตรีตาดก็รีบออกจากบ้านขึ้นกำแพงด้านเหนือไปซ่อนตัวอยู่

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) ปู่ปันผู้รับสินบนเงี้ยวนำจับคนไทย ถือดาบเดินนำส่างกรานถือปืนเดินนำหน้า ส่างยอนถือดาบเดินตามกันมาเข้าประตูชัย ขึ้นไปค้นหาบนกำแพงเมืองก็พบนายร้อยตรีตาดซ่อนตัวอยู่แถวบริเวณด้านหลังวัดน้ำคือด้านตะวันตก ส่างกรานใช้ปืนยิงไป ๑ นัด นายน้อยตรีตาดหนีลงจากกำแพงลุยน้ำข้ามฟากคูเมืองไปทางโรงเหล้า เมื่อถึงฝั่งเงี้ยวมีส่างกรานส่างยอนส่างอ่อนกับพวกช่วยกันรุมฟันจนถึงความตาย ริบเอาปืนโก๊ะและแหวนไป แล้วเอาศพไปทิ้งกลางทุ่งนา ต่อมาเมื่องกองทหารไทยขึ้นมาถึงแพร่ จับตัวคนทั้งสองได้ นำขึ้นฟ้องศาลต่างประเทศ ศาลตัดสินจำคุกส่างกราน ๑๐ ปี ส่างยอน ๒ ปี จำเลยทั้ง ๒ อุทธรณ์และได้ถูกส่งตัวมาจำคุกที่กรุงเทพ ฯ ด้วยความกดดันจากฝ่ายอังกฤษ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องปล่อยตัวจำเลยไป ฝ่ายไทยขอให้เนรเทศออกไปนอกประเทศ กงสุลอังกฤษคัดค้านอ้างว่าจำเลยพ้นข้อหาไปแล้วสิทธิอยู่ในประเทศไทยแต่ไทยไม่ยอม พร้อมให้เฮดแมนอังกฤษจำหน่ายทรัพย์สินที่มีอยู่ในเมืองแพร่ส่งเป็นตัวเงินตามไปให้โดยผ่านทางมิสเตอร์เบคเกตกงศุลอังกฤษที่เชียงใหม่

หม่องน้อยเล พม่า ทวากนันต๊ะ ต้องซู่ บังคับอังกฤษประหารนายสิบเอกอ่วม

หม่องน้อยเล อายุ ๔๒ ปี เป็นพม่า บังคับอังกฤษ มีภรรยาชื่อวี ตั้งบ้านเรือนเป็นร้านค้าขายเสื้อผ้าอยู่ที่ศาลาเค้าธง (กระทง) ริมวัดเงี้ยวตรงทางแยกเข้าเมืองแพร่ เป็นคนงานของห้างบอมเบ เบอร์ม่าด้วยตอนเช้าวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) สมทบกับเงี้ยวบ้านบ่อแก้วเข้าปล้นโรงพักพลตำรวจและบ้านพักของนายร้อยตรีตาด ได้กระบี่นายร้อยตรีตาดมาชูออกมารำอวดป้ออยู่กลางถนน เป็นการอวดข่มขวัญชาวบ้านให้เลื่อมใสปนกับความเกรงกลัว ทวากนันต๊ะหรือน้อยนันตา เป็นต้องซู่ บังคับอังกฤษ ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านทุ่ง เป็นบุตรอำแดงกู้ ภรรยาชื่ออำแดงปวง สารภาพว่าที่ฆ่าสิบเอกอ่วมก็เพราะเคยโดนสิบเอกผู้นี้จับตอนลักลอบเล่นการพนั้นอีโจ่ง จึงมีความอาฆาตแค้นผูกใจเจ็บเรื่อยมา เมื่อสบโอกาสก็ทำการแก้แค้นอย่าสาสมใจ ในวันนั้นหลังจากเที่ยวซอกแซกตระเวนค้นกาคนไทยมาแต่เช้า ตอนบ่ายก็ได้ตัวสิบเอกอ่วมมา  หม่องน้อยเลมีปืนโก๊ ๑ กระบอก มือหนึ่งถือกระบี่ของนายร้อยตรีตาดมืออีกข้างหนึ่งจับแขนสิบเอกอ่วมไว้ ทวากนันต๊ะมีทั้งปืนและดาบยึดแขนไว้อีกข้างหนึ่งส่างมิถือดาบเดินคุมตามหลังมา พากันเดินตามถนนเจริญเมืองเข้าประตูชัย เมื่อผ่านหน้าเค้าสนามที่ว่าการ พบส่างกรานบอกว่า “ให้ไปปล่อยเมืองมันเสีย” คำว่า ปล่อย นั้นแปลว่าฆ่าเสีย และก็พากันเดินต่อไป ครั้นมาถึงประตูศรีชุมนอกกำแพงเมืองด้านตะวันตก หม่องน้อยเลก็ใช้ปืนโก๊ยิงด้านหลังนายสิบเอกนายอ่วม ๑ นัดแม้ถูกยิงอย่างจังนายสิบเอกนายอ่วมก็หาล้มลงไม่ ทวากนันต๊ะตรงเข้าไปผลักให้ล้มลง แล้วใช้ดาบฟั่นคอ ๑ ครั้ง ฟันเอวอีก ๑ ครั้ง นายสิบเอกนายอ่วมจึงถึงแก่ความตาย

เสร็จแล้วหม่องน้อยเลกับพวกก็พากันไปกินเหช้าที่ร้านจีนซุ่ย ตั้งอยู่ในประตูชัยในเวียงทวากนันต๊ะคุยโออวดให้จีนซุ่ยฟังว่า มันฆ่านายสิบเอกอ่วมตายแล้ว

เมื่อกองทหารไทยจากกรุงเทพฯ มาถึงแพร่หม่องน้อยเลลงทุนโกนหัวปลอมตัวเป็นพระ พยายามจะหนี แต่ถูกจับตัวได้

ทวากนันต๊ะไปปล้นเมืองนครลำปางกับพะก่าหม่องในเวลาต่อมา ถูกยิงต้นขาได้รับบาดเจ็บ หนีกลับมาซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านใกล้เมืองแพร่ ถูกจับตัวได้เช่นเดียวกัน

ทั้ง ๒ คนถูกศาบต่างประเทศพิพากษาลงโทษให้ประหารชีวิตทั้งคู่ แต่จำเลยทั้งสองอุทรธณ์ ด้วยความกดดันจากอังกฤษ ฝ่ายไทยจำต้องยอมลดโทษประหารให้จำคุกตลอดชีวิตและเนรเทศไปจำคุกในพม่าแทน

รายชื่อผู้เสียชีวิต

๑. พระยาฤทธานนท์ ข้าหลวงนครแพร่ (พระยาไชยสมบูรณ์)

๒. หลวงวิมล ข้าหลวงผู้ช่วย

๓. พระเสนามาตย์ รองมหดไทย

๔. หลวงศรีพินัย พระทำมะรง

๕. ร้อยตรีตาด ตำรวจอุตรดิตถ์

๖. อำแดงคำ ภรรยา ร.ต.ตาด

๗. คนใช้หญิง ของ ร.ต.ตาด

๘. นายสิบเอกอ่วม ตำรวจภูธรเมืองแพร่

๙. ขุนพินิจ

๑๐. อำแดงขาว ภรรยาขุนพิพิธโกษา ข้าหลวงคลัง

๑๑. อำแดงนาด ภรรยาขุนพิพิธโกษา ข้าหลวงคลัง

๑๒. นายจัน บุตรขุนพิพิธโกษา รองนายแขวงเมืองสอง

๑๓. หนูศรี อายุ ๗ ขวบ บุตรขุนพิพิธโกษา

๑๔. นายเกลี้ยง

๑๕. หนายไหล เสมียน

๑๖. หลวงปลัด รองนายแขวงเมืองแพร่

๑๗. นายราง

๑๘.นายสิทธิ

๑๙.คนใช้ชายข้าหลวงแพร่

๒๐.คนใช้ชายข้าหลวงแพร่

๒๑.คนใช้หญิงข้าหลวงแพร่

๒๒.คนใช้หญิงข้าหลวงแพร่

๒๓.พลตำรวจอุตรดิตถ์ มากับ ร.ต.ตาด

๒๔.พลตำรวจอุตรดิตถ์ มากับ ร.ต.ตาด

๒๕.พลตำรวจวัน มาจากสวรรคโลก

๒๖.พลตำรวจแก้ว มาจากสวรรคโลก

๒๗.พลตำรวจเมืองแพร่ไปเป็นข้าหลวงแพร่

๒๘.แสนพรม นายแขวงเมืองสอง

๒๙.จีนติด คนขายหมู

๓๐.พลตำรวจสูงเม่น

๓๑.พลตำรวจสูงเม่น

๓๒.คนใช้นายเฟื่อง ผู้พิพากษา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 12 •มกราคม• 2012 เวลา 11:38 น.• )