ตั้งอยู่เลขที่ ๒๐๒ ถนนยันตรกิจโกศล ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ ป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นโดยชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) เป็นศิลปะแบบพม่า วิหารสร้างด้วยไม้สักฉลุไม้ประดับ กระจก งดงาม โดยเฉพาะเพดานส่วนของวิหาร ในวิหารหลังนี้ได้แสดงศิลปะวัตถุโบราณ เช่น คัมภีร์โบราณ ที่ทำจากงาช้าง เรียกว่า คัมภีร์ปฏิโมกข์ จารึกเป็นภาษาพม่า พระพุทธรูปงาช้าง ดอกไม้หิน ปืนคาบศิลา หลวงพ่อสาน เป็นต้น ประวัติความเป็นมา และสิ่งสำคัญ สร้างขึ้นโดยชาวไทยใหญ่(เงี้ยว) เป็นศิลปะแบบพุกาม จะเห็นได้จากสภาพวัดต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง อายุของวัดมีมานานหลายร้อยปี

 

เดิมที่เป็นวัดที่สร้าง ในป่ารกร้างป่าร่มครึ้มน่ากลัว มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาทึบ มีลำคลองตัดผ่าน ขณะนั้น ยังไม่มีหมู่บ้านและผู้คนอาศัยอยู่เลย จนกระทั่งพ่อเฒ่ากันตี และนายฮ้อยคำมาก สองพ่อค้าเงี้ยว อพยพครอบครัวมาปักหลักอยู่ที่ป่าทึบใกล้บริเวณที่ตั้งวัดจอมสวรรค์ มาเห็นสภาพวัด ซึ่งเป็นศิลปะแบบของต้นจึงเกิดความ เลื่อมใสมีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งนักจึงทำการบูรณะซ่อมแซม ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากพวกเงี้ยวที่อพยพติดตามมากับพ่อเฒ่ากันตี แม่เฒ่าหล้า เจริญกุศล และนายฮ้อยคำมาก นับแต่นั้นมาชาวเงี้ยว ได้อพยพมาสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณวัดมากมาย จนกลายเป็นหมู่บ้านใหม่ เรียกว่า “หมู่บ้านใหม่” จนทุกวันนี้ ในขณะนั้นตรงกับสมัยของเจ้าผู้ครองนครแพร่ ชื่อ เจ้าพิมพิสาร (เจ้าหลวงขาเค) พ.ศ.๒๔๑๕ และต่อมาคุณพ่อของแม่เตียว อักษรมินทร์ ชื่อ นายจองนั่นตา (เฮดเมนอังกฤษ) และแม่กุยได้เป็น ผู้ดำเนินการสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จ พร้อมทั้งสร้างเจดีย์ รูปทรงแบบพม่า(พุกาม)ไว้ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบันรวมบูรณะปฏิสังขรณ์ ที่ทำให้งดงาม ด้วยศิลปะลวดลายต่างๆ ซึ่งเกิดจากฝีมือของช่างพม่า ประมาณหนึ่งร้อยปีเศษ(ล่วงมาแล้ว) จากรูปถ่ายของ “นายจองนั่นตา” (เฮดแมนอังกฤษ) ระบุไว้ว่า จองนั่นตาถึงแก่กรรม เมื่อ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ รวมอายุได้ ๖๖ ปี ดังนั้นเราจึงทราบได้ว่า ท่านผู้นี้เกิดใน พ.ศ. ๒๔๑๓ ท่านมาภูมิลำเนา เดิมอยู่ทางเหนือของพม่า เคยคลุกคลีกับชาวอังกฤษมาก่อน ต่อมาได้ย้ายเข้ามาค้าขายที่เมืองแพร่จนร่ำรวย จึงคิดสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ ประจวบกับ ในขณะนั้นพวกเงี้ยวก็กำลังคิดสร้างถาวรวัตถุให้กับพุทธศาสนา ท่านเลยถือโอกาส ร่วมแรงใจกันสร้างเพิ่มเติม วัดจอมสวรรค์ ซึ่งเป็นศิลปะแบบของตน ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ในสมัยนั้นชาวไทยใหญ่(เงี้ยว)ได้สร้างวัดไว้ที่เมืองแพร่ถึง ๓ วัด ด้วยกันคือ วัดจองใต้ (วัดต้นธง) วัดจองกลาง (สระบ่อแก้ว) วัดจองเหนือ(วัดจอมสวรรค์) วัดนี้จึงเป็นโบราณสถาน และมีโบราณวัตถุที่มีคุณค่าหลายอย่า ของเมืองแพร่ และชาติไทยเป็นศิลปะอันล้ำค่าของพระพุทธศาสนา กรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญของโบราณสถาน และโบราณวัตถุอันล้ำค่า จึงได้จดทะเบียนไว้เป็นสมบัติของชาติ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๓ เพื่อจะได้อนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานดูปัจจุบันนี้จึงอยู่ในโครงการสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่ และองค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย วัดจอมสวรรค์ มีมีความวิจิตรงดงามหลายอย่าง หากจะมองดูแต่ภายนอกก็จะเป็นรูปทรงขอวัดพม่า จะแปลกอยู่ตรงที่วิหารสร้างด้วยไม้สักฉลุไม้ประดับกระจกอย่างงดงามโดยเฉพาะเพดาน ส่วนหนึ่งในวิหารหลังนี้ได้แสดงศิลปะวัตถุโบราณไว้มากมาย เช่น คัมภีร์โบราณที่ทำจากงาช้าง ดอกไม้หิน ปืนคาบศิลา หลวงพ่อสาน เป็นต้น ซึ่งเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ทรงคุณค่ายิ่ง

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 12 •มกราคม• 2012 เวลา 11:53 น.• )