“ขุนฟ้า” จารบุรุษของพระเจ้าเม็งราย ครั้งหนึ่ง พระเจ้าเม็งรายผู้ครองนครเงินยาง ทรงพระราชดำริว่า ราชอาณาจักรล้านนาไทยประเทศนี้ มีท้าวพระยาหัวเมืองซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ดำรงราชครองนครอยู่เป็นสัดส่วนย่อมมีการวิวาทแย่งชิงดินแดน และส่วยไร่ ตลอดจนไพร่พลต่อกันมิได้ขาด หาทางสามัคคีปรองดองกันมิได้ พระเจ้าเม็งรายทรงรำพึงต่อไปอีกว่า ประเทศราชธานีใดถ้ามากเจ้าหลายนาย ไพร่บ้านพลเมืองก็เป็นทุกข์ เนื่องจากมีความระแวงสงสัยซึ่งกันและกันระหว่างผู้เป็นใหญ่ จำตูจะประปรามพระยามหานครทั้งหลายเหล่านี้เข้ารวมกันเข้าเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้เป็นความผาสุกแก่ราษฎรภายหน้า ด้วยฉะนี้ พระเจ้าเม็งรายก็ส่งคนไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อขอความร่วมมือในการรวมอาณาจักร ที่เมืองใดไม่เห็นด้วยก็จะแต่งกองทัพไปปราบปราม ถอดเจ้าเมืองออกเสียจากตำแหน่งและตั้งขุนนางของตนขึ้นรั้งตำแหน่งแทน แต่นั้นมาหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหลายต่างอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้นแต่พระเจ้าเม็งราย ครั้นแล้วผู้ครองนครเงินยางก็คิดจะปราบปรามหัวเมืองฝ่ายใต้ต่อไป ได้ยกกองทัพไปที่ตำบลเต่าร้อย และได้ไปสร้างเมืองเชียงราย ประทับอยู่เมืองใหม่นี้ได้สามปีก็ยกจากมืองเชียงรายไปประทับอยู่ที่เมืองฝางเนื่องด้วยเมืองฝางอยู่ติดกับเมืองหริภุญไชย

พ่อค้าวาณิชย์มีการติดต่อค้าขายกัน ครั้งนั้นเมืองหริภุญไชยเป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ เป็นศูนย์กลางการค้าขายของนครต่าง ๆ ทางน้ำก็ติดต่อถึงเมืองละโว้ และโยธยา ทางบกก็ไปถึงได้ทุกเมือง ชาวเมืองและเจ้าเมืองมีฐานะร่ำรวยยิ่งนัก พระเจ้าเม็งรายได้ทราบกิตติศัพท์ก็คิดจักใคร่ได้เมืองหริภุญไชยซึ่งขณะนั้นปกครองด้วยพญายี่บา ได้ปรึกษากับบรรดามุขมนตรีทั้งหลาย แต่ก็ไม่มีผู้ใดถวายความเห็นว่าควรจักดำเนินกโลบายประการใดจึงจะได้เมืองหริภุญไชยมาเป็นขององค์พระเจ้าเหนือหัว ขณะนั้นก็มีขุนผู้หนึ่งมีชื่อว่า “อ้ายฟ้า” เป็นคนที่พระเจ้าเม็งรายชุบเลี้ยงรับราชการเป็นผู้ดูแลเก็บส่วยภาษีอากร เป็นคนมีสติปัญญาเฉลี่ยวฉลาด อ้าฟ้าผู้นี้ได้กราบทูลพระเจ้าเม็งรายว่า “ข้าแต่เจ้าเหนือหัวเป็นเจ้า ซึ่งเจ้าเหนือหัวจักใคร่ได้เมืองหริภุญไชยนั้น บ่สู้ยากนัก” พระเจ้าเม็งรายตัดถามว่า “ทำไมจึงว่าบ่ยาก ในเมืองเมืองหริภุญไชยเป็นเมืองใหญ่บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติรีพลกลไกร ที่สูว่าบ่ยากนั้นฉันใด” อ้ายฟ้ากราบทูลว่า “ไหว้สาเจ้า อันการที่จะยกกองทัพไปรบด้วยกำลังรี้พลโยธานั้นหากจักยากอยู่ ผิแลว่าเราจักรบเอาด้วยปัญญายุทธ คือริปองเอาด้วยกลอุบายก็หากจักสำเร็จได้บ่ยาก” พระเจ้าเม็งรายเพ่งเนตรมองดูอ้ายฟ้าดำริจะกระทำเพื่อให้ได้เมืองหริภุญไชย “ข้าแต่พระเจ้า อันอุบายที่จะริปองนั้นมีอยู่ แต่หาควรที่จะสำแดงต่อเฉพาะองค์มหาราชเจ้าในที่สงัดจึงจะชอบ” พระเจ้าเม็งรายก็โปรดให้อ้ายฟ้าเข้าเฝ้าในที่รโหฐาน อ้ายฟ้าก็ทูลอาสาจักไปริปองเอาเมืองหริภุญไชยด้วยกลอุบายดังนี้ “ขอเจ้าเหนือหัวจงแสดงอาการพิโรธแก่ข้าเจ้าเนื่องด้วยข้าเจ้าด้วยประพฤติผิดอาญาอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วให้ริเอาลูกเมียข้าคนทรัพย็สมบัติของข้าเจ้ามาเป็นของพระองค์จนสิ้น ต่อจากนั้นขอให้ขับข้าเจ้าเสียจากเมืองของพระองค์พระเจ้าเหนือหัวเพื่อข้าเจ้าจะได้หนีไปพึ่งพระยายี่บายังเมืองหริภุญไชยโพ้น” พระเจ้าเม็งรายพยักพระพักตร์อย่างทรงเข้าพระทัยอันแจ่มแจ้งแต่ไม่ทรงออกโอษฐ์ประการใด คงปล่อยให้ขุนฟ้ากราบทูลเรื่องกลอุบาย ที่จะเป็นช่องทางให้ได้เมืองหริภุญไชยมาครอบครองต่อไป “ข้าเจ้าหนีไปถึงเมืองหริภุญไชยแล้ว ก็จักได้สำแดงถึงความทุกข์อันเกิดจาการที่ลูกขับออกจากเมือง โดยโทษผิดอันใดมิได้ พระเจ้าเม็.รายหากฟังคำยุยงส่อเสียดจากอำมาตย์อื่นริบเอาบุตรภรรยาไพร่พลและทรัพย์สมบัติของข้าเจ้าจนหมดสิ้น ข้าเจ้าจึงมาขอบรมโพธิสมภารเจ้าเหนือหัวผู้ครองเมืองหริภุญไชยผู้ชอบธรรม ว่าฉะนี้ พระยายี่บาก็คงจะต้องเชื่อคำของข้าเจ้าแน่นอน” “แล้วต่อไป เจ้าจะทำฉันใดอีกเจ้าขุนฟ้า” “ต่อไป ข้าเจ้าก็จักอาสากระทำการอันที่พระยายี่บาจะชอบพระทัยเสียก่อนและพรากเพรียนประกอบการงานอันเป็นที่พอพระทัยของเจ้าเมืองหริภุญไชย เมื่อเป็นได้ดังนี้แล้วข้าเจ้าก็จักดำเนินการทางด้านชาวเมืองให้ชาวเมืองเชื่อในถ้อยคำผู้ข้าต่อไปเดมื่อพระยายี่บาเห็นความดีของผู้ข้า ผู้ข้าก็จักดำเนินงานขั้นสุดท้ายคือให้ชาวเมืองเกลียดชับพระยายี่บาแล้วผู้ข้าก็จักได้กล่าวถึงเจ้าเหนือหัวทางนี้ในทางดีงามทุกอย่างอันจะทำให้ชาวเมืองเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเมื่อใดชาวเมืองเชื่อฟังคำผู้ข้าแล้วก็จะได้ส่งคนมากราบทูลพระองค์ให้ทราบเพื่อจะได้กรีฑาทัพไปโจมตีเมืองหริภุญไชยได้โดยง่าย” พระเจ้าเมงรายได้ฟังคำกราบทูลของขุนฟ้าดังนั้นก็พอพระทัยยิ่งนักจึงให้กระทำตามความคิดของขุนฟ้าทุกประการเมื่อนั้นขุนฟ้าก็หนีไปพึ่งพระยายี่บายังเมืองหริภุยไชยและกราบทูลเรื่องราวต่างๆตามที่คิดไว้กับพระยายี่บา พระยายี่บาทรงเชื่อและรับเอาขุนฟ้าเลี้ยงไว้ในราชสำนักหริภุญไชยตั้งแต่นั้นมา ขุนฟ้า จอมจารบุรุษผู้รับอาสามาจากพะรเจ้าเมงรายแห่งเมืองหิรัญนครเงินยางก็เริ่มปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด เร่ิมตั้งแต่กระทำตนให้เป็นที่รักใคร่ของพระยายี่บา และต่อมาก็เหล่าอามาตย์ราชบริพารทั้งหลายตามวิสัยผู้มีปัญญาหลีกเลี่ยงการแสดงออกซึ่งความหยิ่งยะโสแสดงแต่การอ่อนน้อมถ่อมตน สมกับที่ตนได้ชมซานมาพึ่งโพธิสมภารกาลเวลาล่วงไปพระยายี่บาก็ยิ่งเล็งเห็นแต่ความดีของขุนฟ้าขึ้นทุกขณะ จนวันหนึ่งพระยายี่บาก็เรียกขุนฟ้าไปเฝ้าและตรัสถาม “นี่แน่ะ ขุนฟ้า สูก็ได้มาพำนักอยู่ ณ เมืองหริภุญไชยนี้เนิ่นนานนักหนา ปฏิบัติงานอันเป็นความดีความชอบก็มากมายหลายประการ ข้าอยากจะรู้ว่าเมื่อสูอยู่กับพระเจ้าเม็งรายพู้น พระเจ้าเม็งรายได้แต่งตั้งให้สูเป็นตำแหน่งใดฤา” “ข้าแต่พระยาเจ้า” ขุนฟ้ากราบลงแทบเทาพระยายี่บาผู้เป็นเหนือหัวหิริภุญชัยอย่าสุดแสนจะจงรักภักดี “อันตัวผู้ข้านี้ เมื่อครั้งอยู่ในราชสำนักพระเจ้าเม็งรายนั้น ก็ได้เป็นที่ขุนต่างใจแทนพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าเม็งราย ให้อาชญาสิทธิพิจารณาไต่ถ้อยตัดความ (คือชำระความ) และขับเอาสินส่วยไร ค่าไร่ค่านาทุกอย่าง ทุกอันเป็นดั่งนี้หล่ะ พระยาเจ้า” พระยายี่บาได้ฟังก็มีความเชื่อถือในคำบอกเล่าของขุนฟ้าประกอบกับได้ประจักษ์ด้วยตัวเองในความสามารถฉลาดเฉลียวของขุนฟ้าหลายครั้งหลายหน พระยาผู้ครองเมืองหิริภุญไชยก็ตั้งขุนฟ้าผู้ยิ่งด้วยปัญญาไว้ในฐานันดรที่จะพิจารณาถ้วยความ ขับเอาสินส่วยไรค่าไร่ค่านา จากราษฎรชาวเมืองหริภุญไชยตั้งแต่วาระนั้น ขุนฟ้าได้บรรลุผลในความพากเพียรพยายามอีกขั้นหนึ่งแล้วในตำแหน่งอันมีเกียรตินี้จอมจารบุรุษได้ตั้งใจปฏิบัติด้วยความสัตย์ซื่อตรงไปตรงมา การตัดสินความก็เป็นไปโดยชอบธรรมไม่มีลำเอียง การขับเอาสินสาวยไร่ ค่าไร่ค่านาก็ผ่อนผันมิให้ไพร่บ้านพลเมืองต้องเดือดร้อน กระทำดังนี้ได้สองสามปีจนเป็นที่ประจักษ์แก่พระยาเจ้ายี่บาและไพร่ฟ้าชาวเมืองหริภุญไชย มุขอำมาตย์ข้าราชการก็พากันสรรเสริญว่า ขุนฟ้าผู้นี้มีความชอบเที่ยงธรรมยิ่งนัก คราทีนั้นขุนฟ้าจารบุรุษคนสนิทของพระเจ้าเม็.รายก็ระลึกถึงหน้าที่ ๆ คนรับอาสาเจ้านายมา ซึ่งเป็นเวลาหลายปีล่วงแล้วสมควรจักปฎิบัติการตามแผนที่คิดไว้แต่ต้น จึงแต่งกายเข้าเฝ้าองค์พระเจ้าเหนือหัวหริภุญไชย กราบทูลถวายความเห็นว่า “ไว้สาเจ้า อันว่าเมืองหิริภุญไชยนี้ก็เป็นเมืองใหญ่มีเดชานุภาพอำนาจอาชญายิ่งใหญ่ ผู้ข้าเห็นว่าไพร่พลชาวบ้านชาวเมือง มิควรต่อปาก (คือไม่ควรพูด) กับเจ้าเหนือหัว หากเขามีถ้อยคำเยี่ยงใด ก็ขอให้มีการต่อปากกับตัวผู้ข้า และผู้ข้าก็จักได้รับสนองพระบรมราชโองการให้เป็นตามพระประสงค์ทุกอัน” พระยายี่บาไดสดับดังนั้นก็ทรงเห็นชอบ และมอบอำนาจให้ขุนฟ้าเป็นผู้รับฟังคำร้องเรียนของราษฎรแต่นั้นมา

จารกรรมของขุนฟ้า

ภายหลังจากที่พระยายี่บาได้มอบให้ขุนฟ้า จารบุรุษของพระเจ้าเมงรายดำรงตำแหน่งขุนต่างใจแทนพระเนตรพระกรรณจนกระทั่งขุนฟ้าได้ถวายความเห็นว่าพระยาไม่ควรจะลดตนลงไปเจรจากับชาวบ้านชาวเมืองแล้ว ขุนฟ้ายังทูลถวายความเห็นอีกต่อไปว่า “ไหว้สาพระยาเจ้า บ้านเมืองของพระยาเจ้านี้กว้างใหญ่ไพศาลนัก แต่ส่วนไร ค่าไร่ ค่านานั้นเก็บได้น้อยไม่สมกับเป็นบ้านเมืองใหญ่ที่เมืองเชียงรายโพ้นเป็นเมืองน้อยเปล่าดายแต่ส่วยค่าไร่ค่านานั้นเก็บได้มาพ่ำเพ็ย เต็มคลังเต็มฉางมากนักเจ้าเมงรายผู้เหนือหัวก็บ่ห่อนได้ต่อปากกับพวกไพร่ไทยผู้น้อย หากผ่านมาทางผู้ข้าเป็นคนรับมาเสนอพระองค์ท่านทุกสิ่งทุกอัน” พระยายี่บาได้ฟังก็หลงไปกับถ้อยคำของขุนฟ้า จึงออกพระโอษฐ์ว่า “บ้านเมืองกูก็ใหญ่โตกว้างขวางนักมีเดชุอาชญาสองเท่าของเมืองเชียงราย แต่กกลับเก็บได้สินส่วยไร่ค่าไร่ค่านาน้อยฉันนี้บ่ควรต่อแต่นี้ไป ก็ไว้อาญาแก่ขุนฟ้าได้พิจารณาจุอัน(ทุกประการ)สันใดสินส่วยไร่ค่าไร่นาจักได้มาเต็มคลังเต็มฉางก็สุดแท้แต่ขุนฟ้าจะจัดการตามที่เห็นควรดังนี้” ขุนฟ้าก็ยกมือขึ้นอภิวาทและทูลว่า “ขอเจ้าเหนือหัวสำแดงคำอันตั้งอาชญาสิทธินี้แก่ผู้ข้าในท่ามกลางท้องพระโรง ต่อหน้ามุขอำมาตย์และชาวบ้านชาวเมืองทั้งมวลที่มาชุมนุมพร้อมกันให้รู้ว่าพระองค์ได้มอบหมายอาชญาสิทธิแก่ผู้ข้าตามรับสั่งเถิด” พระยายี่บาก็ทรงจัดการตามที่ขุนฟ้าประสงค์ทุกสิ่ง นับแต่วันนั้นขุนฟ้าก็ได้จัดคนเฝ้าประตูวังอย่างแน่นหนาไม่ยอมให้ราษฎรได้เข้าเฝ้าพระยาเจ้าได้ ก็ได้แต่บ่ายหน้าไปหาเจ้าไฝ นายมันเมื่อขุนฟ้าเก็บเอาสินส่วยไรค่าไร่ค่านาจากชาวบ้านเป็นจำนวนมากหลายพวกนั้นก็ครวญครางว่าเก็บมากเกินไป ขุนฟ้าก็บอกแก่พวกเขาว่า “พวกท่านอย่าโอดครวญไปเลยจงส่งมาให้เราเก็บเสียโดยดีเพราะนี่เป็นความประสงค์ของพระยาเจ้า หาใช่เป็นความต้องการของตัวเราเองไม่” พวกนั้นเกรงพระราชอาชญาก็ต้องยอมตามที่ขุนฟ้าแจง แล้วขุนฟ้าก็เริ่มกลอุบายขั้นที่สอง เข้าเฝ้าถวายความเห็นต่อพระยายี่บาอีกว่า “ไหว้สาพระยาเจ้า ข้าเจ้าได้เลียบดูบ้านเหมืองเจ้าเหนือหัวทุกแห่งทุกันไร่พันนา ด้วยความใคร่รู้ว่าข้าวกล้าดีหรือบ่ดี ก็ได้เห็นพันนาทวนกับภูคาลุมเหมืองฝาย(ทำนบ)บ่ดี ข้าวตายแดดมากนักข้าจึงจักให้ชาวบ้านชาวเมืองได้แปลงฝาย(คือสร้างทำนบ)เอาน้ำเข้านา พระยาเจ้าจักเห็นควรประการใด" พระยายี่บาก็เห็นชอบ อนุญาตให้ขุนฟ้าจัดการตามประสงค์ขุนฟ้ารับอาชญาสิทธิ์เจ้าเหนือหัวมาแล้วก็มาป่าวร้องให้ชาวเมืองทั้งหลายมาขุดคลองให้เป็นเหมืองไปต่อน้ำแม่พิงค์เหนือสบแม่แตงฝ่ายตะวันออกล่องมาระยะยาวได้ ๑๗,๐๐๐ วาขุนฟ้าได้เลือกการกระทำนี้ในฤดูแล้ว อากาศก็ร้อนจัดคนทั้งหลายมาขุดเหมืองนั้นก็มีความร้อนไหม้ลำบากนักหนาต่างก็บ่นรำพันครวญครางและเจ็บป่วยกัน ขุนฟ้าซึ่งไปคุมอยู่ก็บอกว่า “อันนี้เป็นพระประสงค์ของพระยาเจ้า หาใช่เพราะผู้ข้ามาแต่งให้พวกสูไม่ ฉะนั้นให้สุจุ่งอดทนทำต่อไปเถิด” พวกชาวเมืองก็ก้มหน้าก้มตาทำต่ำไปจนสิ้นฤดูร้อนเป็นเวลาสี่เดือนเต็มคนทั้งหลายก็บ่นว่า เราขุดเหมืองครั้งนี้แข็งนัก(คงหมายถึงดินแข็งเพราะเป็นหน้าแล้ง)เหมืองที่ขุดจึงได้ชื่อว่าเหมืองแข็ง(ปัจจุบันเรียกเหมืองแก้ว)ถัดต่อมาขุนฟ้ายังได้เกณฑ์คนมาฝึกหัด(คงจะคล้ายฝึกทหาร)เพื่อเตรียมป้องกันหรือคุ้มกันพระยายี่บา วันละแปดหมื่นคนทุกวัน ทำความลำบากยากใจให้แก่ราษฎรชาวเมืองยิ่งนักแล้วจอมจารบุรุษเอกของพระเจ้าเมงราย ก็เพ็ดทูลอีกไปว่า “ข้าแต่พระยาเป็นเจ้า เมืองเชียงรายเป็นเมืองน้อยแต่ยังสร้างตำหนักที่ประทับใหญ่โตนัก ควรที่เจ้าเหนือหัวจักทรงสร้างตำหนักที่ประทับเสียใหม่ให้ใหญ่โตโอฬารยิ่งกว่าเก่า ข้าเจ้าขุนฟ้าจักรับอาสาเป็นผู้คุมงานก่อสร้างด้วยตัวเองให้สุดฝีมือเลยพระเจ้าข้า” พระยี่บาก็ทรงเห็นชอบ ตรัสว่า “อันใดจะดีก็แล้วแต่ขุนฟ้าเถิด ข้าให้อำนาจแก่เจ้าทุกอัน” ขุนฟ้ารับราชานุญาตแล้วได้เวลาดูที่ข้าวกำลังจะออกรวงเต็มทุ่งนาพ่อจารบุรุษผู้มีแผนการก็สั่งให้พ่อเวียก(นายการ)ขึ้นไปตัดไม้บนดอยในป่าเพื่อจะเอามาสร้างตำหนักถวายแก่เจ้าเหนือหัส แล้วก็ชักลากไม้เสาไม้ต้นที่ตัดจากป่าดอยลัดผ่านทุ่งนาราษฎร ทำให้ต้นข้าวในนาเสียหายมากนัก เจ้าข้าวเจ้านาก็ร้องไห้มาฟ้องขุนฟ้า ขุนฟ้าก็บอกว่า “บ่เป็นแต่กูนาหากเป็นแต่พระยาเจ้าสั่งให้ทำทั้งสิ้น” ชาวเมืองมีความน้อยใจนักบ่นแต่ว่า “แต่ก่อนพระพระยาเจ้าของเราบ่ห่อนกระทำดังนี้ แต่บัดนี้เจ้าพระยากลับมากระทำผิดคลองธรรมจนเราฉิบหายหนอ เราบ่พึงยินดีกับพระยาตนนี้แล” ภายหน้าแต่นั้นมา ขุนฟ้าก็คิดแต่สิ่งที่จะทำให้ราษฎรเกลียดชังพระยายี่บามากยิ่งขึ้นครั้นได้โอกาส ขุนฟ้าก็แสร้งทำเป็นสรรเสริญนิยมยินดีในบุญสมภารของพระเจ้าเมงรายให้ชาวเมืองฟังเป็นนัยด้วยวิธีและชั้นเชิงต่างๆ ชาวเมืองซึ่งมีใจเกลียดชังพระยายี่บาเป็นทุนอยู่แล้วก็มีความใฝ่ใจใคร่จักได้พระเจ้าเมงรายมาครองเมืองพวกตนแทน ขุนฟ้าเห็นสมควรปรารถนาที่ตนได้มานะพากเพียรมาเป็นเวลา ๗ ปีบัดนี้ก็บรรลุผลสำเร็จแล้วขอเชิญพระเจ้าเหนือหัวเสด็จยกรี้พลลงไปเอาเมืองหริภุญไชยเถิด พระเจ้าเมงรายมิรอช้า ให้เร่งเกณฑ์จตุรงค์พลโยธาเป็นทัพใหญ่ยกจากเมืองเชียงรายมาตั้งทัพชัยที่ตำบลแจ้สัก ที่ประชุมพลนั้นให้สร้างเวียงไว้หนึ่งให้ชื่อว่าเวียงพร้าว ยกจากเวียงพร้าวมาทางเมืองแกนตั้งพักกันอยู่ตำบลหนึ่งชาวเมืองเป็นอันมากพากันเอาของมาถวายพระเจ้าเมงรายจนชานพลับพลาที่ประทับทานน้ำหนักมิได้ก็หักลงต้องหาไม้มาค้ำไว้ ตำบลนั้นมีชื่อว่า บ้านค้ำชาน ตอนหลังเลือนเป็นบ้านค้ำจานไป ทางเมืองหริภุญไชยนครได้ทราบข่าวศึกพระเจ้าเมงรายยกมามากก็พากันตื่นตกใจพระยายี่บาจึงให้หาขุนฟ้าและเสนาอำมาตย์ทั้งหลายมาประชุมปรึกษากันว่าจะจัดการป้องกันบ้านเมืองฉันใดขุนฟ้ากราบทูลว่าดังนี้ “ข้าแต่พระยาเจ้า พระเจ้าเมงรายยกทัพมาครั้งนี้เป็นการจู่โจมรวดเร็วยากนักที่จะป้องกันได้ทันท่วงทีข้าเจ้าเห็นควรจักแต่งกองทัพไปตั้งรับหน่วงไว้แต่กลางทางก่อนส่วนตนเจ้าเหนือหัวควรย้ายครอบครัวไปไว้ ณ เมืองเขลางค์นครโน้นกับพระยาเบิกโอรสเพื่อจะได้รวบรวมไพร่พลมาช่วยค้ำข้าเจ้า ส่วน้าเจ้าก็จักต้อนรับพระเจ้าเมงรายไว้ไปพลางก่อนเพื่อมิให้เสียเมืองหริภุญไชยทั้งพระยาเจ้าจักได้รอดพ้นจากภัยอันตรายและอาจยกทัพมาต่อรบกับพระเจ้าเมงรายได้อีก” พระยายี่บาได้ฟังก็เห็นชอบด้วยคำแนะนำของขุนฟ้าตามเคย จึงจัดการอพยพพาครอบครัวออกจากเมืองหริภุญไชยไปยังเมืองเขลางค์เพื่อพำนักอยู่กับพระยาเบิกผู้ครองเมืองเขลางค์อยู่ฝ่างทางเมืองหริภุญไชยพลเมืองก็แตกตื่นกันจนคุมไม่ติด พอกองทัพพระเจ้าเมงรายยกมาถึงก็เข้าเมืองได้โดยสะดวกทหารของพระเจ้าเมงรายก็จุดเพลิงเผาบ้านเรือนในเมืองหริภุญไชยไหม้ไปทั่วทุกแห่งเว้นแต่หอพระแก้วเท่านั้นหาไหม้เพลิงไม่ พระยายี่บาเดินทางข้ามไปเขาชุณหบรรพตเหลียวหลังกลับมาทอดประเนตรเมืองหริภุญไชยด้วยอาลัย ก็เห็นควันไฟตลบกลบกลุ้มถึงอากาศ ก็คาดรู้ว่าเสียเมืองแก่ข้าศึกแน่แล้ว ทรงเสียพระทัยเป็นที่สุดก็กันแสงไห้พิไรร่ำอยู่ ณ ที่นั้นภูเขาลูกนั้นจึงได้นามว่า “ดอยบาไห้” ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบันนี้เรียกสั้นๆว่า “ดอยบา” อยู่ในระหว่างทางจากลำพูนถึงลำปาง ฝ่ายขุนฟ้าเมื่อตามเสด็จพระเจ้าเหนือหัวหริภุญไชยถึงเชิงเขาแล้วก็กลับมากินข้าวที่ทุ่งแสนเข้าเสชียงเรือ นายบ้านผู้หนึ่งชื่ออ้ายหลอ จัดห่อข้าวมาต้อนรับ จึงได้รับความดีความชอบรับตำแหน่งเป็น “แสนข้าวห่อ” ในโอกาสต่อมา (คำว่า “แสน” เป็นยศขุนนางสมัยโบราณทางเหนือ เทียบยศร้อยตรี) แล้วขุนฟ้าก็กลับมารับพระเจ้าเมงรายเข้าเมืองหริภุญไชยในเมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำเดือนแปดเหนือ (เดือนหกใต้) จุลศักราชได้ ๖๔๓ ปีมะเส็งตรีศก ยามสาย ชนมายุพระเจ้าเมงรายได้ ๔๓ พรรษาอายุเมืองหริภุญไชยตั้งแต่แรกตั้งเมือง รวมได้ ๖๑๘ ปีจำนวนกษัตริย์ที่ครองราชสมบัติตั้งแต่พระนางจามเทวีเป็นต้นมาถึงพระยายี่บา รวมได้ ๔๙ พระองค์