พระนางจามเทวีซึ่งเสด็จจากกรุงละโว้มาครองนครลำพูนโดยต้องตัดสินพระทัยสละพระราชสวามีเพื่อกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ในขณะที่ทรงครรภ์อ่อนๆ และก็ได้มาประสูติที่เมืองลำพูนอันเป็นถิ่นกำเนิดของสาวงามในสมัยปัจจุบัน พระนางมีพระชนมายุยืนนานถึง ๙๒ พรรษา พระนางมีราชบุตรแฝดทรงพระนามว่ามหันตยศและอนันตยศ ราชกุมารทั้งสองพระองค์เคยมีชัยชนะในการรบ คือรบกับขุนลัวะ พระนางก็มองราชสมบัติแก่พระราชบุตรทั้งสองให้ครองร่วมกัน แต่เจ้าชายอนันตยศไม่พอพระทัยที่จะครองราชย์สมบัติร่วมกับเชษฐา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เป็นหน้าที่ของพระนางที่จะต้องแก้ปัญหา ดังนั้นพระนางจึงได้เสด็จไปเฝ้าพระฤาษีทั้งสองคือวาสุเทพกับสุกทันตฤาษี แจ้งความที่เป็นมาให้ทราบ พระฤาษีทั้งสองก็แนะนำให้ไปหาพระสุพรหมฤาษีที่เขาสามง่าม พระนางกับราชบุตรก็เสด็จไปตามคำแนะนำนั้น ให้พรานนำทางไป พอไปถึงแจ้งสารคดีให้ทราบแล้วพระสุพรหมฤาษีก็พาพระนางกับพระราชบุตรไปยังดอยเขลางค์ พระสุพรหมฤาษีก็ให้พระนางกับพระอนันตยศกุมารยับยั้งอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่งเรียกกันว่าบ้าน “ข่วงเมง แล้วพระสุพรหมฤาษีก็ขึ้นไปเขาข่วงเมง เล็งแลไปทางด้านตะวันตกแห่งแม่น้ำวังนที ทัศนาการเห็นว่ามีสถานที่เป็นชัยภูมิพอสร้างเมืองได้ ก็เลยเนรมิตรเมืองขึ้นและวางศิลาก้อนหนึ่งไว้ ณ กลางใจเมือง ที่ตรงนั้นก็ได้ชื่อว่าบ้าน “ผาบ่อง” มาจนทุกวันนี้” เป็นอันว่าพระเจ้าอนัตยศก็ได้ครองเมืองเขลางค์ คือเมืองลำปางเดี๋ยวนี้

ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าอินทรเกิงการ ต่อมาก็มีหมู่ลักขะมาพึ่งบรมโพธิสมภารเป็นอันมาก พระเจ้าอินทรเกิงการหรืออนันตยศกุมารก็กระทำปฏิบัติบูชาคุณพระสุพรหมฤาษีมิได้ขาด วันหนึ่งพระองค์ก็เสด็จไปเมืองลำพูน ทูลขอคณะสงฆ์และสมณพราหมณาจารย์จากพระเชษฐา พระเจ้ามหันตยศก็อำนวยให้เป็นไปดังประสงค์ พระเจ้าอนันตยศเฝ้าเวียนไปปฏิบัติพระมารดาอยู่มิได้ขาดภายหลังก็เลยไปขอให้พระฤาษีเนรมิตรเมืองขึ้นอีกแห่งใกล้ๆเมืองเขลางค์ ให้ชื่อเมืองว่า “อาลัมพางค์นรค” ตอนหลังก่อนจะสร้างเมืองอาลัมพางค์นครนี้ เจ้าอนันตยศได้อัญเชิญพระนางจามเทวีให้เสด็จไปประทับอยู่ที่เขลางค์นครและพระองค์ก็เสด็จมาปฏิบัติพระราชมารดาทุกวันมิได้ขาด ทั้งสองเมืองก็เลยกลายเป็นเมืองเดียวกัน คนทั้งหลายก็เลยเรียกรวมๆกันไปว่าเมืองนครเขลางค์ลำปาง ซึ่งเลือนมาจากคำว่าอาลัมพางค์นครกับเขลางค์นคร ทั้งสองพระองค์ได้ช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนาสร้างวัดวาอารามวิหารใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก พระนางจามเทวีประทับอยู่เมืองเขลางค์ได้หกพรรษาก็ประชวรหนัก พระเจ้ามหันตยศจึงได้รับพระราชมารดากลับคืนไปสู่ลำพูนและสวรรคตที่ลำพูน พระเจ้ามหันตยศกับพระเจ้าอนันตยศก็ช่วยกันจัดการฌาปนกิจพระศพแล้วก่อเจดีย์หุ้มทองบรรจุพระอัฐิธาตุไว้ด้านตะวันตกเมืองลำพูนเรียกว่าสุวรรณจังโกฏเจดีย์ คือเจดีย?ที่บรรจุอัฐิธาตุของพระนางจามเทวี แต่มาภายหลังยอดเจดีย์หรือสถูปนี้มีอันหักหายไป ชาวเมืองก็เลยเรียกกันว่าเจดีย์กู่กุดเรื่อยมา ตอนที่ยังอยู่เมืองลำพูนหรือหริภุญไชยนั้นราชบุตรทั้งสองได้สดับข่าวลือว่าพญามิลักขะราชนั้นมีราชธิดาสองพระองค์ทรงสิริโฉมงดงามเป็นยิ่งนัก ก็ได้จัดส่งทูตไปสู่สำนักมิลักขะ มีข้อความในเชิงท้าทายให้สองราชธิดาออกไปกระทำยุทธนาการต่อกัน แต่พญามิลักขะรู้เชิงก็รับจะยกพระราชธิดาทั้งสองถวาย เพื่อเป็นการผูกสัมพันธไมตรีกับฝ่ายหริภุญไชย พระนางจามเทวีทราบดังนั้นก็ได้จัดแต่งเครื่องบรรณาการและมีพระราชสาส์นไปสู่ของสองราชธิดาแห่งเมืองมิลักขะราช ก็ตกลงปลงใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย มิลักขะราชก็ส่งราชธิดาทั้งสองมาถวาย พระนางก็ได้กระทำการอาวาหะมงคลการตามราชประเพณี ตอนที่พระนางจามเทวีเสด็จไปนมัสการพระธาตุที่อาลัมพางค์นรคนั้นเป็นในฤดูแล้ง หาน้ำกินไม่ได้ ตามปกติทุกวันนี้เมืองลำปางก็อดน้ำในฤดูแล้งอยู่เสมอ ครั้งนั้นพระนางจามเทวีได้ไปตั้งสัตยาธิษฐานขุดบ่อน้ำเพื่อให้ได้น้ำมาใช้และดื่ม ก็ได้น้ำออกมาสมดังคำอธิษฐาน บ่อน้ำนั้นต่อมาเขาเรียกกันว่า “บ่อน้ำเลี้ยง” แล้วก็มีอีกครั้งหนึ่งพระนางได้ไปนมัสการพระบรมธาตุอีกเหมือนกัน ได้ไปประทับพักใต้ร่มสักใหญ่สองต้นคู่กัน พระนางก็ได้ตั้งสัตยาธิษ,นว่าขอให้ไม้สักสองต้นนี้มีอายุยืนนานถึงพันปี เขาว่าทุกวันนี้สักสองต้นนั้นยังมีอยู่ที่วัดพระธาตุเสด็จเมืองลำปาง ราชวงค์จามเทวีได้ครองเมืองหริภุญไชยอยู่ถึง ๓๘๔ ปีกับอีก ๒ เมือง นับว่าเป็นเวลายืนยาวมากที่สุด

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 18 •สิงหาคม• 2012 เวลา 22:51 น.• )