เขาเป็นยอดกวีที่มีประวัติชีวิตพิสดารยิ่งกว่าทุกคนในล้านนาประเทศ คล้ายกับมหาหวีศรีปราชญ์ในบางเรื่อง ละม้ายกับท่านสุนทรภู่ในบางตอนและบางทีก็ทำท่าว่าจะใกล้เคียงกับเจ้าฟ้าธรรมมาธิเบศร์ (กุ้ง) แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผู้นั้นคือ “พรหมมินทร์” จินตกวีเอกแห่งล้านนาไทย หรือ “พญาพรหมโวหาร” แห่งราชสำนักเชียงใหม่ ราชสำนักลำปางและราชสำนักแพร่ผู้มีชีวิตอยู่ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๓๔๕ – ๒๔๒๖ ผู้ซึ่งเสียงกวีของเขาแผ่คลุมไปตลอดลุ่มน้ำแม่ระมิงค์ แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน แม้ในปัจจุบันนี้ ชื่อเสียงของเขา ก็ยังก้องกังวานเช่นเดียวกับชื่อเสียงของมหากวีแห่งกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้ออกนามและพระนามมาแล้ว

เขาเกิดที่จังหวัดลำปาง บิดาเป็นเสนาผู้ใหญ่ในราชตระกูลเจ้าเจ็ดตนชื่อ “แสนเมืองมา” มารดาชื่อ “จันทร์เป็ง” (แปลเป็นภาษาทางภาคกลางว่า จันทร์เพ็ญ) เหมือนกับเด็กชายชาวเหนือในสมัยนั้นทั่ว ๆ ไป ที่การศึกษาของเขาได้เริ่มต้นที่วัด เติบโตขึ้นมาก็ได้บรรพชาอุปสมบท เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ที่วัดสิงหชัย พระภิกษุพรหมมินทร์ได้แสดงความสามารถเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้อยู่ใกล้เคียงหลายประการ และก็ได้ศึกษาหาความรู้ไม่ได้ขาด เป็นพระเทศน์เสียงดีและมีปฏิภาณดีเยี่ยม เขาได้เริ่มแต่ง “ค่าว” (กลอน) ขึ้นตั้งแต่ในตอนนั้น เพราะมีแววแห่งความฉลาดและทรงปัญญา พระอาจารย์ของเขาก็ใคร่จะให้ศิษย์ได้รับรู้แตกฉานยิ่งขึ้น ก็ได้นำขึ้นไปฝากไว้ยังสำนักอาจารย์วัดสุขมิ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เรียนอยู่ได้สองสามปี ความที่จิตใจฝังแน่นในความที่จิตใจฝังแน่นในความเป็นกวีมากกว่าในทางพระธรรมวินัย พระภิกษุรักในวิชากวีก็หอบย่ามกลับคืนสู่นครเขลางค์ (นครลำปาง) และไม่นานนักก็สึกจากสมณะเพศโดยได้รจนากลอนเรื่อง “ใคร่สึก” ไว้อย่างไพเราะ ออกจากสมณะเพศแล้ว เขาก็ทำงานอยู่กับศาลาลูกขุนความหรือศาล และใช้เวลาว่างแต่งบทกลอนหรือเพลงยาวออกขายให้แก่หนุ่มสาวสมัยนั้นซึ่งมักจะติดต่อรักกันด้วยการใช้เพลงยาวหรือหนังสือค่าวส่งไปมาถึงกัน เมื่อเขียนไม่เป็นก็ต้องจ้างทิดพรหมมินทร์จนชื่อเสียงของเขากระจายไปทั่วเวียงลำปางว่าเป็นคนเขียนเพลงยาวได้ไพเราะนัก อยู่มาไม่นานบิดาก็พาไปฝากท่าวกวีอาวุโสท่านหนึ่งชื่อ “พญาโลมะวิสัย” อาลักษณ์เลขของเจ้าหลวงวรญาณรังสี และต่อมาก็ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กของเจ้าหลวงองค์นั้น เกือบจะคล้ายๆกับท่านมหากวีสุนทรภู่ ที่จำเป็นต้องกลายเป็น “ผู้บังอาจ” ทักคำบางคำในบทพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทองต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หากแต่ไม่มีเรื่องอะไรร้ายแรงเป็นแต่ว่าเมื่อคราวพญาโลมะวิสัยอาจารย์ของเขาได้นิพนธ์เรื่อง “หงศ์หิน” เป็นคำกลอนจบแล้วได้มีการชำระกันต่อพระพักต์องค์พระประมุขแห่งนครนั่นเองที่เขาได้แสดงลวดลายกวีซึ่งเหนือกว่าครูออกมาอย่างชัดแจ้งด้วยการเพ็ดทูลถวายด้วยภาษากวีทั้งหมด จึงโปรดให้เป็นคนหนึ่งซึ่งทำการชำระเรื่องหงศ์หินและได้รับตำแหน่ง “กวีแก้ว”แห่งราชสำนักประทานให้เป็นที่ “พญาพรหมโวหาร” เมื่อเรื่องราวที่จะต้องโต้ตอบกับเจ้านครต่างๆในแคว้นเดียวกันเจ้าหลวงวรญาณรังสีก็โปรดให้ “พญาพรหมฯ”เป็นผู้นิพนธ์สาส์นนั้นจนเป็นที่เล่าลือกันไปตลอดแคว้นลานนาไทยในสมัยนั้น ครั้นแล้วเขาก็ได้เข้าสู่พิธีสมรสกับเชื้อพระวงค์ในสกุล “ณ ลำปาง” ชื่อเจ้าสุนา ณ ลำปาง สำหรับ “ชีวิตความเป็นชาย” ของเขานั้นลือกันว่ามีภรรยาถึง ๔๒ คนแต่จะเท็จจริงแค่ไหนนั้นไม่มีใครยืนยันแต่ตามประวัติก็จัดว่าเป็นคน “เจ้าชู้” เอาเรื่องคนหนึ่งจากความเฉลียวฉลาดรอบรู้ในศาสตร์ต่างๆ เช่น ไสยศาสตร์ คุณศาสตร์ โหราศาสตร์ และคชศาสตร์ ไม่นับอักษรศาสตร์ซึ่งเขาเชี่ยวชาญเป็นพิเศษนี่เอง ทำให้เขาต้องมีชีวิตโลดโผนโจนทะยานยิ่งขึ้น โดยมีชาวคชาจารย์ได้มาทูลเจ้าหลวงวรญาณรังสีว่าที่เมืองแพร่มีช้างงามๆลักษณะดีเขาจะขายในราคาราว ๒,๐๐๐ รูปีเจ้าหลวงก็ตรัสสั่งให้กวีแก้วของพระองค์ลงไปดูช้างที่เมืองแพร่พร้อมกับสหายร่วมทางสองคน เดินทางรอนแรมไปยังเวียงโกสัยพร้อมด้วยช้างหนึ่งเชือกเป็นพาหนะ ได้แต่งนิราศไว้บทหนึ่งระหว่างเดินทางว่ากันว่าเป็นบทกลอนที่ไพเราะเรื่องหนึ่ง ไปถึงเวียงโกสัยคือเมืองแพร่ พญาพรหมฯ กับสหายก็ไปพากันเพลิดเพลินกับการพนันเสียและก็ไปบ่อนการพันนั้นเองเขาก็พบกับนวลนางสำอางรูปหนึ่งเป็นภรรยาเจ้ามือในบ่อนเบี้ยนั้นความจริงเขาเองก็เลยไปกับเขาอย่างน้นเองแต่เขาชอบอิสตรีนั้นแน่นอนที่สุด นอกจาก “บัวชม” เมียเจ้ามือบ่อนเบี้ยแล้วยังมี “บัวเกี๋ยง” อีกนางหนึ่งกลายเป็น “ดอกไม้ริมทาง” ของกวีเอกเมื่อเงินที่พกมาสำหรับ “ซื้อช้าง” หมดไปในบ่อนการพนันพญาพรหมโวหารก็ได้ใช้สติปัญญาของตน รจนากลอนเรื่องลักษณะของช้างขึ้นบทหนึ่งซึ่งตอนหลังได้กลายเป็นตำราว่าด้วยคชศาสตร์เล่มหนึ่ง บทกลอนนั้นกล่าวถึงลักษณะของช้างที่ไม่ดี อัปมงคลไม่น่านำมาใช้อะไรเหล่านี้ แล้วส่งขึ้นไปถวายเจ้าหลวงวรญาณรังสีผู้เป็นประมุขแห่งเวียงเขลางค์อ่านแล้วก็พิโรธ ถึงแก่ทรงคาดโทษไว้ว่า “มาเมืองลำปางวันไหนเป็นหัวขาด” จอมกวีผู้มีกรรมจึงต้องเร่ร่อนไปยู่ในอาณาเขตเมืองแพร่ จนกระทั่งทราบถึงพระกรรณเจ้าหลวงวิชัยราชาแห่งเวียงโกสัยผู้เคยนิยมความสามารถของกวีแก้วมาก่อนก็ได้รับเอา “พรหมมินทร์” เข้าไว้ในราชสำนักของพระองค์ จากราชสำนักลำปางสู่ราชสำนักแพร่ ยอดกวีแห่งลานนาไทยก็ได้มาอยู่ใน “ชุมนุมแห่งนารี” ผู้แต่ละนางสำอางโฉมเป็นที่ประโลมใจชายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ชื่อเสียงความเป็นกวีก็เป็นเสน่ห์แก่เหล่านารีนั้นอยู่แล้ว ยิ่งมาได้ฟังคำเกี้ยวพาราสีจากปากเขาเข้าอีก เจ้าจอมหม่อมห้ามหลายคนก็แทบจะพากันมาหลงใหลในตัวกวีเอกเพราะ “ฝีปาก” อันคมคายของเขา ข้างฝ่ายตัวเขาเองเล่า ชายชาตรีผู้มีพรสวรรค์มาในตัวได้ยลโฉมอันพิลาสพิไลของเหล่านางในแล้วก็ได้กลิ่นกระแจะจันทน์อันหอมระรื่นชื่นใจได้ยินเสียงขับลำนำบำเรอโสตประสาทให้เคลิบเคลิ้มยั่วยวนใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น อารมณสวาทก็ค่อยๆคุขึ้นในดวงใจ ยอกกวีเอกจึงได้เกิดความสัมพันธ์ขึ้นกับ "หม่อมจันทร์” ผู้เป็นที่โปรดปรานของเจ้าหลวงวิชัยราชามาก่อนและทรงหวงแหนเป็นยิ่งนักสืบทราบมาได้ความชัดแล้วเจ้าหลวงขาพิการผู้มีสมญานามว่า “เจ้าหลวงขาซื่อ” ก็ออกประกาศิตด้วยโมหะโทสะและพิษรักแรงหึงว่า “จับอ้ายพรหมเข้าคุก พอถึงวันเสาร์ เดือนห้า แรมเจ็ดค่ำ ให้ดับชีวิตมันเสีย” นั่นเองคือที่มาของ “คำจ่ม” (หรือคำริร่ำรำพัน) อันมีชื่อเสียงของพรหมมินทร์จิตกรที่ถูกไพร่พลของเจ้าหลวงขาซื่อบุกเข้าจับตัวในคุกพร้อมด้วยใส่เครื่องพันธนาการแน่นหนาดังที่เขาได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของ “คำจ่ม” ดังนี้ “เถิงเดือนห้าฝ่ายตังแรม พระจันทร์แซมแปดค่ำ วันพุธพ่ำกฎหมาย คนหลวงหลายนายไพร่ ยับข้าใส่เหล็กจ๋ำ โซ่หนาหนำว้องจด มัดล้วงสอดสุบตี๋น จะเจ๋จิ๋มจอดพร้อม มันฮอดอ้อมตังเอว...” ซึ่งหมายถึงว่าแทบจะพยุงร่างไม่ไหวเพราะหนักโซ่และขื่อคาที่พันธนาการทั้งขาทั้งเอว ท่ามกลางความเห็นอกเห็นใจห่วงใยของประดา “แฟน” ทั้งหลาย และก็ภายในคุกนั่นเองที่พรหมมินทร์ได้รจนาคำจ่มเขียนลงบนกระเบื้องดินเผาเป็นแผ่นๆ(เพราะไม่มีกระดาษ)จนกระทั่งจบ ขณะที่รอวันประหารชีวิตอยู่ในคุก ได้รับความทุกขเวทนาแสนสาหัส ทุกๆคำที่หลั่งออกมาจากสมองและหัวใจของเขาจึงเผ็ดร้อนห้าวหาญด้วยถ้อยคำสำนวนอันเยาะเย้ยไยไพและน้อยเนื้อต่ำใจ-เจ็บแค้น ขมขื่นที่เรื่องเล็กถูกหาเป็นเรื่องใหญ่บทกวีที่แต่งในคุกบทนี้น่าอ่านและน่าชมยิ่งนัก อ่านได้ไม่รู้เบื่อเขา(ผู้แต่ง)คงคิดแต่งเพื่อจะไว้บาย เพราะคิดว่าคงจะตายแน่ แต่โชคชะตาของเขายังดีอยู่คือแทนที่จะถูกประหารชีวิตเหมือนกับท่านมหาหวีศรีปราชญ์ กลับมาผู้เข้ากราบทูลขอเลื่อนวันประหารออกไปเขาผู้นั้นคือเจ้าราชวงษา “เจ้าวังหน้า” แห่งเวียงแพร่ผู้โปรดปรานความเป็นกวีของพรหมมินทร์เป็นอย่างมาก และในตอนต่อมา เขาก็สามารถหนีออกจากคุกมาได้ ออกไปอยู่ที่ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์และเกิดมีนิยายรักลือโลกอีกครั้งหนึ่งกับสาวงามชื่อ “บัวชม”ซึ่งทำให้เกิด “ค่าวสี่บท” กลอนรันทดอันยิ่งใหญ่ขึ้นอีกเล่มหนึ่งและสุดท้ายได้ขึ้นไปถึงเชียงใหม่และไปได้ภรรยาอีกคนหนึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ “ ณ เชียงใหม่” ชื่อ บัวจันทร์ ณ เชียงใหม่ มีบุตรีกับเจ้าบัวจันทร์คนหนึ่ง มีชาวตะวันตกที่เคยไปสอนศาสนาที่เชียงใหม่ได้พยายามเรียนอักษรพื้นเมืองจนแตกฉานแล้วก็แปลคำกลอนของพรหมมินทร์เป็นภาษาอังกฤษหลายเล่ม ผู้รู้ท่านหนึ่งยืนยันว่าได้เห็นหนังสือที่แปลแล้วด้วยตาของท่านเอง