ความเป็นมาและ/หรือความเชื่อของการจัดงานประเพณี ไทยพวน เดิมตั้งรากฐานอยู่ที่ เมืองพวนแขวงเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสเปิดศึกอินโดจีน  ทำให้ไทยจ้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือ ประเทศลาวทั้งหมดรวมถึงเมืองพวนด้วย ชาวลาวพวนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถทนต่อการบังคับบัญชา ของฝรั่งเศสได้ จึงได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้ทรงกำหนดพื้นที่ ให้ลาวพวนตั้งถิ่นฐานตามพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงจังหวัดแพร่ด้วย

ประวัติของชาวไทยพวน  บ้านทุ่งโฮ้ง  อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ จากคำบอกเล่าของคนแก่คนเฒ่าในหมู่บ้านเล่าว่าบ้านทุ่งโฮ้ง เป็นหมู่บ้านของชาวไทยพวนที่ถูกกวาดต้อน และอพยพมาจากแขวงเมือง  เชียงขวางประเทศลาวเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๔๐ – ๒๓๕๐ โดยคนกลุ่มแรกได้เดินทางมาถึง เมืองแพร่และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงเมือง ทางทิศเหนือด้านประตูเลี้ยงม้า คือวัดสรรคนิเวศในปัจจุบัน อยู่มาระยะหนึ่งจึงได้ย้ายมาจากที่เดิมมาตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่  บริเวณที่เป็นบ้านทุ่งโฮ้งใต้ในปัจจุบันและอยู่กันเรื่อยมาจนประมาณ  พ.ศ. ๒๓๖๐ - ๒๓๘๐ จึงมีกลุ่มไทยพวนกลุ่มใหญ๋ อพยพเข้ามาบ้านทุ่งโฮ้งหรือเดิม  เรียกว่า บ้านทั่งโห้ง  คำว่า “ทั่ง” หมายถึง ทั่งรองรับตีเหล็กส่วน คำว่า “โห้ง” เป็นภาษาไทยพวน หมายถึง สถานที่เป็นแอ่งลึกลงไปเป็นรูปก้นกระทะ ทั่งเมื่อถูกตีเป็นประจำจึงทำให้มันเป็นแอ่งลึกลงไปคนพวนเรียกว่า “มันโห้งลงไป” ในสมัยก่อนนั้น คนพวนบ้านทุ่งโฮ้งจะมีเตาตีเหล็กกันแทบทุกหลังคาเรือน เขาจึงเรียกว่า “บ้านทั่งโห้ง” ต่อมาได้เรียกเสียงเพี้ยนไปเป็น “ทุ่งโฮ้ง” ชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากชาวพื้นเมืองทั่วไป คือ ภาษาพูดมีประเพณี วัฒนธรรมที่แตกต่างและโดดเด่น คือ ประเพณีกำฟ้า มีอาชีพที่นำรายได้และนำชื่อเสียงมาสู่ท้องถิ่น จังหวัดแพร่  คือ การผลิตผ้าหม้อห้อม ซึ่งลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ ทำให้ชาวไทยพวน บ้านทุ่งโฮ้ง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ประวัติกำฟ้า ตามประวัติศาสตร์ที่เล่าต่อกันมา  “เจ้าชมพู” กษัตริย์เมืองพวน  เมื่อก่อนเป็นเมืองขึ้นของหลวงพระบาง  ต่อมาได้มารวมกันเวียงจันทร์  แล้วยกทัพไปรบกับหลวงพระบางได้รับชัยชนะ เจ้าชมพูจึงประกาศเอกราชไม่เป็นเมืองขึ้น ทำให้เจ้านนท์   แห่งนครเวียงจันทร์โกรธเองมาก จึงยกทับมาปราบเมืองพวนและจับเจ้าชมพูประหารชีวิต ในขณะที่ทำพิธีประหารชีวิต เกิดฟ้าผ่าลงมาถูกด้ามหอกที่ใช้ประหารจนสะบั้นลงเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้  ทหารเมืองเวียงจันทร์  จึงได้กราบทูล เจ้านนท์ เมื่อทราบเหตุอัศจรรย์นั้น เจ้านนท์ จึงสั่งให้นำเจ้าชมพูกลับไปครองเมืองพวนตามเดิม นับตั้งแต่นั้นมา ชาวพวนจึงได้นับถือฟ้า มีความเชื่อศรัทธาต่อไฟอย่างมั่นคงว่า ฟ้า คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยคุ้มครองชีวิตของผู้นำบรรพชน  และชีวิตของชาวพวนให้พ้นจากภัยพิบัติ จึงเกิดประเพณีกำฟ้าตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้งให้ยึดถือเป็นประเพณีสำคัญเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น จนมาถึงปัจจุบัน

ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีกำฟ้า กำฟ้าตามความเชื่อของชาวไทยพวน หมายถึง การนับถือสักการบูชาฟ้า การแสดงกตเวทิตาต่อฟ้าที่ท่านได้คุ้มครองให้มีอายุยืนยาว ให้อยู่ดีกันดี มีฝนตกต้องตามฤดูกาล มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์  โดยชาวไทยพวนทุกคนจะหยุดทำงานทุกชนิดคือ หยุดทำไร่ ทำนา ทอหูก  ปั่นด้าย ตีเหล็ก เป็นต้น  แม้แต่อุปกรณ์ เครื่องมือ ทำมาหากินก็ต้องเก็บเข้าที่ให้หมด คงเหลือแต่อุปกรณ์ในการหุงหาอาหารในแต่ละมื้อเท่านั้น และชาวไทยพวนจะมีกิจกรรมร่วมกัน คือการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าการละเล่นในตอนกลางวัน และการพบปะสังสรรค์ระหว่างเครือญาติด้วยกัน

ในวันกำฟ้าจะเริ่มตั้งแต่รุ่งเช้าไปถึงค่ำ  ในสมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่จะพูดกับสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ว่า “สู เอย กำฟ้าเน้อ อยู่สุข ขออย่าแซว (อย่าเสียงดัง อย่าทะเลาะกัน) อยู่ดีมีแฮงเด้อ.........เอ้อ” (พูดเองเออเอง)  ประเพณีกำฟ้าไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง   จะมี  ๓  ครั้ง ครั้งแรก  (เดือน ๓ ใต้) เดือน ๕ เหนือ วันขึ้น ๒ ค่ำ เริ่มกำฟ้า (หยุดทำงานทุกชนิด) ตั้งแต่หลังจากรับประมาณอาหารเย็น ไปจนถึงวันรุ่งขึ้น ๓ ค่ำ หลังรับประทานอาหารเย็นแล้วจึงพ้นกำหนด ในตอนเช้าของวันขึ้น ๓ ค่ำ จะมีการทำบุญตักบาตรที่วัด ครั้งที่สอง วันขึ้น ๘ ค่ำ  เดือน ๕ เหนือ เริ่มกำฟ้าหลังรับประทานอาหารเย็นแล้ว ไปจนถึงขึ้น ๙ ค่ำ หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้วจึงพ้นกำหนด ครั้งที่สาม วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ เริ่มกำฟ้าหลังรับประทานอาหารเย็นแล้ว ไปจนถึงขึ้น ๑๔ ค่ำ หลังรับประทานอาหารเช้าแล้วจึงพ้น กำหนด ประเพณีกำฟ้า เป็นมรดกแห่งสังคม ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพชนชาวไทยพวนที่แฝงไว้ด้วยคุณค่า แห่งความกตัญญูกตเวที การสร้างขวัญกำลังใจ ความสัครสมานสามัคคีในหมู่คณะโดยมีความเชื่อศรัทธาในพิธีกรรมบูชาฟ้าเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ จึงทำให้ชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้งมีวัฒนธรรมอันเข้มแข็งยากที่วัฒนธรรมอื่นจะเข้าครอบงำได้ ข้อมูลจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดแพร่