ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๘ ถนนน้ำคือ ตำบลในเวียง อำเมืองแพร่ จังหวัดแพร่  เป็นวัดที่มีศิลปะการก่อสร้างเป็นแบบพม่าและเป็นวัดที่ชาวพม่าสร้างขึ้นเพื่อปฏิบัติกิจทางศาสนา ประวัติความเป็นมา มีชนชาวพม่า ๓ เผ่าคือเผ่าพม่า เผ่าต่อสู้ และเผ่าไทยใหญ่หรือเงี้ยวที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเพื่อค้าขาย ทำงานในบริษัทที่ได้รับการสัมปทานการทำไม้และขุดพลอยที่ตำบลบ่อแก้ว ต่อมาได้ภรรยาเป็นคนไทย ต่างก็นับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกับคนไทยในจังหวัดแพร่ แต่มีพิธีกรรมต่างๆ ที่แตกต่างจากชาวไทยทำให้มีอุปสรรคทั้งการใช้ภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมในการบำเพ็ญกุศลตลอดจนถึงทำนองในการสวดมนต์ไหว้พระแม้แต่ภาษาบาลีก็ไม่เหมือนกับพระสงฆ์ไทยชาวพม่าจึงได้ร่วมใจกันสร้างวัดของแต่ละกลุ่มชนขึ้นเพื่อเป็นที่ทำบุญบำเพ็ญกุศลของตนขึ้นดังนี้

๑. วัดจองเหนือ (วัดจอมสวรรค์) สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗

๒. วัดจองกลาง (วัดสระบ่อแก้ว) สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๙

๓. วัดจองใต้ (วัดต้นธง) สร้างขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน

วัดสระบ่อแก้วหรือวัดจองกลาง เป็นวัดที่ชาวพม่าซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณสองข้างถนนน้ำคือ และถนน ยันตรกิจโกศลเป็นผู้สร้าง วัดนี้ได้ชื่ออีกหนึ่งว่าวัดสามโพธิ์ เนื่องจากมีชนชาวพม่าตระกูล โพ สามตระกูลเป็นผู้สร้างและปฏิสังขรณ์ ผู้ริเริ่มสร้างวัดนี้ คือ หม่องโพอ่าน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ เมื่อหม่องโพอ่านเสียชีวิต หม่องโพหยิ่น และภรรยาชื่อ อูนุ ได้ร่วมกับชาวพม่าที่มาจากเมืองหงสาวดี เมืองย่างกุ้ง และเมืองมันตะเลย์ ปฏิสังขรณ์กุฏิ วิหาร โบสถ์ และพระเจดีย์ ของวัดจองกลางอีกครั้งหนึ่ง ขณะนั้นวัดนี้มีพระพม่าจำพรรษาเพียง ๑ รูป คือ พระอูมาลา เมื่อพระอูมาลามรณภาพก็ไม่มีพระพม่าจำพรรษา ไม่มีเจ้าอาวาส วัดนี้จีงกลายเป็นวัดร้างหลายปี จนกระทั้ง พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๐๙ ชาวพม่าตระกูลโพ คือหม่องโพเส่ง ภรรยาชื่อแม่จันทร์ ได้เป็นผู้อุปัฏฐากจากวัดจองกลาง และได้สืบเสาะหาพระพม่ามาเป็นเจ้าอาวาสและได้พระอู่ปัญญาสิรินันทะมา เป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๘ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้แก่ หลวงพ่อสมนึก ขันติจาโรซึ่งได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๐

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญในวัดประกอบด้วย วิหารซึ่งเป็นลักษณะศิลปะแบบพม่าเช่นเดียวกับ วัดจอมสวรรค์ คือจะเป็นทั้งโบสถ์ ศาลา กุฏิในอาคารหลังเดียวกัน หลังคาเดิมมุงด้วยไม้ต่อมาเมื่อมีการบูรณะใหม่จะใช้กระเบื้อง อุโบสถมีลักษณะ ๒ ชั้น จะเปิดใช้เมื่อมีพิธีกรรมทางศาสนา พระพุทธรูปที่ประดิษฐานในวัดนี้เป็นพระพุทธรูปที่นำมาจากเมืองมันดะเลย์ ประเทศพม่า เป็นหินอ่อนก้อนเดียวจำลองจากพระมหาอัญมณีฉลุในเครื่องทรง แกะสลักด้วยฝีมือที่ ละเอียดและมีความประณีตมาก ปิดทองทั้งองค์ยกเว้นพระพักตร์ เนื่องจากองค์พระพุทธรูปจะปิดทองหนามาร องค์พระจึงนิ่มชาวบ้านเรียกว่าพระเจ้าเนื้อนิ่ม ทุกเช้าเวลาตี ๔ จะต้องมีการสรงพระพักตร์พระพุทธรูปด้วยน้ำอบน้ำหอม

ประเพณีทำบุญตักบาตรเป็งปุ๊ต หรือ ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนเป็นประเพณีนิยมเฉพาะในภาคเหนือเท่านั้น ซึ่งประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ตนี้ได้รับอิทธิพลมาจากพม่า หลังจากพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่ายกทัพมาตีเชียงใหม่ อาณาจักรล้านนาก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าในปีพ.ศ. 2101 เรื่อยมาเป็นระยะเวลานานกว่า ๒๑๖ ปี (๒๑๐๑ - ๒๓๑๗) ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมล้านนาจึงเป็นการผสมผสานระหว่างขนบธรรมเนียมของไทลื้อ แสดงว่าได้รับอิทธิพลมาจากพม่า และชาวไทลื้อจีนใต้ ผนวกกับชาวไทยรัฐฉานของพม่า จึงทำให้ประเพณีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากพม่ามีความเชื่อว่า พระอุปคุตมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณ ชาวพม่ามักจะตื่นแต่ดึก เตรียมอาหารไว้มาใส่บาตรพระอุปคุต ซึ่งจะทำให้ชีวิตรุ่งเรืองด้วยโชคลาภ แคล้วคลาดจากอุบัติภัยทั้งปวง

ประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ต หรือประเพณีตักบาตรหลังเที่ยงคืน ซึ่งถือว่าเป็นรุ่งอรุณของวันใหม่แล้ว พระภิกษุสามเณร จะออกบิณบาตรตอนหลังเที่ยงคืน ของวันพุธ ๑๕ ค่ำ โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าต้องอยู่ในเดือนใด บางปีอาจมีครั้งเดียว สองครั้ง หรืออาจไม่มีเลยก็ได้

การตักบาตรเป็งปุ๊ต มีเรื่องเล่าขานกันว่า จะสามารถบันดาลในเกิดโชค มั่งมีศรีสุข ดังเช่น คนขายพลูชาวพม่า ที่เคยตักบาตรพระอุปคุตในวันเพ็ญพุทธ แล้วกลับกลายเป็นคหบดี ด้วยผลบุญตักบาตรพระอุปคุต หรือดังเช่น เรื่องครูบาศรีวิชัยเจ้าศรีวิชัย ก็เคยเจอพระอุปคุตเมื่อตอนเป็นสามเณร แล้วได้ถวายภัตตาหารและไตรจีวรแด่พระอุปคุต ซึ่งตอนนั้นไม่ทราบว่าเป็นพระอุปคุต และอธิษฐานจิตขอสร้างบรามีช่วยเหลือพระพุทธศาสนาในภาคเหนือให้มั่นคงสืบไป ซึ่งกาลเวลาผ่านไปก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ และเรื่องลูกศิษย์ของครูบาเจ้าที่เคยเป็นคหบดี ร่ำรวยประสบปัญหาต่างๆ มากมาย แต่กลับมาร่ำรวยได้อีกครั้ง ก็เพราะเคยได้ตักบาตรพระอุปคุต แล้วอธิษฐานจิตขอพรพระอุปคุตเถระเจ้านั่นเอง

จากการสันนิษฐานตามตำนาน พระเถระอุปคุต น่าจะเป็นชาวเมืองปาตลีบุตร เมื่อบวชแล้วบำเพ็ญเพียร จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ สำเร็จอภิญญาต่างๆ จนสามารถแสดงอภินิหาร เป็นที่เล่าลือมาจนทุกวันนี้ มีปฏิปทาดำเนินไปในทางสันโดษ มักน้อย นัยว่าท่านเนรมิตเรือนแก้ว (กุฏิแก้ว) ขึ้นในท้องทะเลหลวง (สะดือทะเล)   แล้วก็ลงไปอยู่ประจำ ที่กุฏิแก้วตลอดเวลา เมื่อมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นในพระศาสนา หรือเมื่อมีพิธีกรรมใหญ่ๆ หรือมีผู้นิมนต์ ท่านก็จะขึ้นมาช่วยเหลือ ด้วยความเต็มใจเสมอ

สรุปรวมความได้ว่า ท่านเป็นพระเถระสำคัญองค์หนึ่ง ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ผู้นำกองทัพธรรมแผ่กระจายไปทั่วโลก) เป็นพระเถระผู้เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ และฤทธิ์เดชเกรียงไกร สามารถปราบพญามารและกำจัดสิ่งชั่วร้าย ที่จะมาทำลายพิธีกรรมใหญ่ ๆ มาแต่ครั้งโบราณ

เรื่องราวก็มีอยู่ว่า เมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒ หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาตลีบุตราชธานี (ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ ภาคใต้อินเดีย) พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ตามตำนานกล่าวว่า ได้ทรงสร้างพระวิหารและพระสถูป มากมายทั่วทั้งชมพูทวีป (เค้าว่ามากถึงแปดหมื่นสี่พันองค์) เป็นผู้รวบรวมและขุดค้นพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อจะนำไปบรรจุในสถูปที่พระองค์ทรงสร้างไว้ทุกแห่ง  

เมื่อการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ก็ทรงปรารภ ที่จะจัดให้มีการฉลองสมโภช พระสถูปเจดีย์ทั้งหมดนั้น เป็นการมโหฬารยิ่ง ตลอด ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน และเพื่อให้การฉลองสมโภช เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปราศจากอุปสรรค จึงใคร่จะอาราธนาพระสงฆ์ขีณาสพ ที่ทรงอิทธิฤทธิ์ มาเป็นผู้คุ้มครองงาน ให้ปราศจากการรบกวนจากมารร้ายต่าง ๆ

แต่พระสงฆ์ในนครปาตลีบุตร ไม่มีรูปใดที่จะสามารถ เป็นผู้คุ้มครองงานมหกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ ให้พ้นจากภัยทั้งหลายทั้งปวงได้ (โดยเฉพาะภัยจากพญาวัสสวดีมาร ผู้มีฤทธิ์ยิ่งกว่าภูตผีปีศาจทั้งหลาย) นอกเสียจากพระอุปคุตเถระผู้เดียวเท่านั้น พระสงฆ์ทั้งปวงจึงตั้งตัวแทน ๒ รูป ลงไปอาราธนาพระอุปคุตเถระผู้เรืองฤทธิ์   มาช่วยรักษาความปลอดภัย ในงานสมโภชครั้งนี้ ซึ่งกล่าวกันว่า พระอุปคุตเถระองค์นี้ มีปกติสันโดษอยู่องค์เดียว เข้าฌานสมาบัติเสวยวิมุตติสุข อยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ภายในปราสาทแก้วที่เนรมิตขึ้น เหนือรัตนะบัลลังก์ จะออกจากสมาบัติ เหาะขึ้นมาบิณฑบาต ในโลกมนุษย์ ในวันพุธเพ็ญกลางเดือนเท่านั้น


และในครั้งนี้เอง พระอุปคุตเถระ ถูกพระภิกษุสองรูป ผู้ได้อภิญญาสมาบัติ ชำแรกมหาสมุทร ลงมาถึงตัวท่านแจ้งว่า ให้ท่านจงเป็นธุระ ป้องกันพญามารอย่าให้รบกวนงานฉลองพระสถูปเจดีย์ ของพระเจ้าอโศกมหาราชได้

เมื่อพระอุปคุตเถระได้รับนิมนต์ ก็เดินทางมานมัสการ และรายงานตัวต่อคณะสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าอโศกมหาราช จึงได้เสด็จเข้ามานมัสการคณะสงฆ์ เพื่อขอทราบเรื่อง ผู้จะที่จะมาทำหน้าที่รักษาการ งานฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ เมื่อพระองค์ทรงทราบ ว่าผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้ คือพระอุปคุตเถระ   ก็ทรงนึกแคลงพระทัย เนื่องจากพระอุปคุตเถระนั้น มีร่างกายผ่ายผอมดูอ่อนแอ ก็ทรงไม่แน่ใจ เกรงจะทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ แต่ไม่ทรงตรัสว่ากระไร

ครั้นรุ่งเช้าวันใหม่ ขณะที่พระอุปคุตหาเถระ ออกบิณฑบาตในนครปาตลีบุตรนั้น พระเจ้าอโศกมหาราช ใคร่จะทดสอบฤทธิ์พระเถระ   จึงทรงปล่อยช้างซับมัน (ช้างตกมัน) ให้เข้าทำร้ายพระเถระ พระมหาอุปคุตเถระเห็นดังนั้น จึงสะกดช้าง ที่กำลังวิ่งเข้ามา ให้หยุดอยู่กับที่ ไม่ไหวติงประดุจช้างที่สลักด้วยศิลา พระเจ้าอโศกมหาราช ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงเลื่อมใส จึงเสด็จไปขอขมาพระเถระ พระมหาอุปคุตเถระ ก็ให้อภัยทั้งแก่พระเจ้าอโศกมหาราช และพญาคชสาร

เมื่อเห็นว่าพระอุปคุตเถระ มีฤทธิ์เดชมาก พระเจ้าอโศกมหาราช ก็ทรงวางพระทัย   ตรัสสั่งให้เตรียมฉลองสมโภช พระสถูปเจดีย์ทั้งหมด ด้วยการปลูกปะรำร้านโรง ประดับธงทิว และประทีปโคมไฟ ตลอดระยะทางกึ่งโยชน์ ทำให้ตามแนวฝั่งแม่น้ำคงคา สว่างไสวไปทั่วทั้งบริเวณ

บรรลุฤกษ์งามยามดีตามที่กำหนดไว้ บรรดาพระสงฆ์ขีณาสพ และพระสงฆ์ปุถุชน ตลอดจนพุทธศาสนิกชน ทั้งในนครปาตลีบุตร และต่างแดนจากจตุรทิศ ก็เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่บริเวณงาน พร้อมเครื่องสักการบูชา เพื่อร่วมพิธีฉลองสมโภช พระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในมหาเจดีย์   และเจดีย์ ทั้งแปดหมื่นสี่พันองค์ ด้วยความเลื่อมใส ศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง

และในเวลานี้เอง พญามาร (พญาวัสสวดีเทพบุตรมาร) ก็มุ่งหน้าเข้ามาในงานกับเค้าเหมือนกัน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะก่อความวุ่นวาย ต่างๆ นานา ทั้งบันดาลให้เกิดลมพายุ ทั้งแปลงร่างเป็นสัตว์ป่า และสัตว์หิมพานต์ แต่ทุกครั้งก็โดนพระอุปคุตเถระ กำราบได้หมด และสุดท้าย เพื่อให้พญามาร ออกไปจากบริเวณพิธี พระอุปคุตเถระ จึงเนรมิตร่างหมาเน่าขึ้นมาตัวหนึ่ง แล้วดึงประคตจากเอวของท่าน ออกมาผูกร่างหมาเน่านั้น คล้องคอพญามารไว้ แล้วสำทับว่าไม่ว่าใครก็ตาม (นอกจากท่านเอง) จะเอาหมาเน่านี้ออก จากคอพญามารไม่ได้ แล้วขับพญามารออกไป จากบริเวณงานทันที

ด้วยความอับอาย พญามารก็ออกมาจากบริเวณงาน และพยายามแก้ร่างสุนัขเน่า ออกด้วยฤทธานุภาพ แต่ทำอย่างไร ก็ไม่สามารถแก้ได้ เพราะเมื่อเอามือทั้งสอง ต้องสายประคตที่คล้องคอทีไร ต้องมีไฟลุกขึ้นไหม้คอ และมือทันที สุดจะแก้ไขด้วยตนเองได้ ก็ไปหาที่พึ่งอื่น (ที่คิดว่าน่าจะช่วยได้)

แต่ถึงแม้จะไปหาท้าวมหาราชทั้งสี่ พระอินทร์ ท้าวยามา ท้าวสันดุสิต ท้าวนิมิตเทวราช ตลอดจนท้าวสหัสบดีพรม ก็ไม่มีใครสามารถช่วยได้ ต่างได้แต่แนะนำว่า ให้พญามารไปขอขมา และขอความเมตตา จากพระเถระผู้นั้นเสียดีกว่า

พญามารเห็นดังนั้น จึงจำใจต้องกลับไปหาพระเถระ อ้อนวอน ให้ช่วยเอาซากหมาเน่าออกจากคอให้ แล้วจะไม่มารบกวน การจัดงานอีก พระอุปคุตเถระก็อนุโลมตาม แต่ยังไม่ไว้ใจพญามารนัก   เกรงพญามาร จะกลับมาทำลายพิธีในภายหลัง จึงเดินนำพญามาร ไปยังเขาใหญ่ลูกหนึ่ง แล้วเอาร่างหมาเน่าทิ้งลงเหว และเนรมิตให้สายประคตยาวขึ้น แล้วพันคอพญามาร ไว้กับเขาลูกนั้น พร้อมทั้งแจ้งว่า เมื่อเสร็จพิธีฉลองสมโภช พระมหาเจดีย์สิ้นสุดลงแล้ว   จึงจะแก้โซ่ออก ปล่อยให้พญามารเป็นอิสระ (๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน)

เวลาผ่านไปตามที่ตกลงกัน การจัดงานสมโภชน์ ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี พระอุปคุตเถระ จึงกลับมาหาพญามาร โดยแอบอยู่ห่างๆ เพื่อฟังเสียงพญามารว่า ละพยศร้ายหรือยัง

พญามารเอง เมื่อจากทิพยวิมานอันบรมสุข มารับทุกขเวทนาเช่นนี้ ก็ละพยศร้ายในสันดาน หวนนึกถึงพระพุทธโคดม จึงกล่าวสดุดี ในความเมตตากรุณา ของพระพุทธเจ้า ในเรื่องที่ทรงมีมหากรุณาธิคุณ อันยิ่งใหญ่ว่า “ทรงบำเพ็ญสิ่งอันเป็นที่สุดหามิได้ เป็นที่พึ่งพำนักแก่สัตว์โลกทั้งมวล ในกาลทุกเมื่อ พระองค์นั้น เป็นผู้ประเสริฐหาผู้เสมอเหมือนมิได้ อนึ่ง   ในกาลก่อน ข้าพเจ้าได้ทำร้ายพระองค์ โดยประการต่างๆ แต่พระองค์ ก็ยังทรงมหากรุณาธิคุณ มิได้กระทำการโต้ตอบ แก่ข้าพเจ้าเลย มาบัดนี้ สาวกของพระองค์นามว่าอุปคุต ไม่มีเมตตาแก่ข้าพเจ้าเลย กระทำกับข้าพเจ้า ให้ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส และได้รับความอับอาย เป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าข้ายังมีบุญกุศล ที่ได้สั่งสมไว้แต่กาลก่อน ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐาน ปรารถนาเป็นพระสัพพัญญูในอนาคต ดังเช่นพระองค์ต่อไป”
กล่าวได้ว่า การตกระกำลำบากในครั้งนี้ ทำให้พญามาร ซึ่งความจริงแล้ว ในอดีตชาติ (ในยุคของพระกัสสปพุทธเจ้า) เคยมีจิตตั้งมั่น ที่จะบำเพ็ญเพียร ให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นกัน แต่ที่ได้กระทำการขัดขวาง พุทธศาสดาของพระพุทธโคดม ก็ด้วยความริษยา พระพุทธโคดม (มีมิจฉาทิฐิ) เนื่องด้วยพระองค์ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก่อนตน ทั้งๆ ที่ตนบำเพ็ญบารมี มามากพอสมควรเหมือนกัน แต่การกระทำในแต่ละครั้ง ก็มิได้ล่วงเกิน ทำบาปหนักแต่ประการใด

เมื่อพระอุปคุตเถระ ได้ยินคำปรารภดังนั้น ก็เห็นว่าพญามารสิ้นพยศแล้ว จึงแก้โซ่ออก ปล่อยให้พญามารเป็นอิสระ พร้อมทั้งขอขมาพญามาร และบอกว่า การกระทำครั้งนี้ ก็เพื่อให้พญามาร ระลึกได้ถึงพุทธภูมิ ที่ท่านเคยปรารถนาไว้เท่านั้นเอง มิได้มีเจตนา ที่จะล่วงเกินประการใด ซึ่งพญามารก็เข้าใจด้วยดี  
ต่อจากนั้นพระเถระ ก็ได้ขอให้พญามาร เนรมิตกาย เป็นพระพุทธองค์ เพื่อจะได้เห็น เป็นพุทธานุสติบ้าง ซึ่งพญามารก็รับคำ แต่ขอร้องว่า เมื่อเห็นเขาเนรมิตกาย เป็นพระพุทธองค์แล้ว อย่าหลงกราบไหว้เป็นอันขาด เพราะจะให้เขาบาปหนัก

ครั้นเมื่อพญามารเนรมิตกาย เป็นพระพุทธเจ้า ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ และฉัพพรรณรังสี อันวิจิตร มีพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวา แวดล้อมด้วย มหาสาวกทั้งหลายเป็นบริวาร เสด็จเยื้องย่าง ด้วยพุทธลีลาอันงดงามยิ่ง พระเถระ และบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย เห็นเช่นนั้น ก็ลืมตัวพากันถวายนมัสการ ทำเอาพญามารตกใจ รีบคืนร่างเดิม และท้วงติงว่า ทำให้ตนมีบาปหนัก แต่พระเถระ ก็กล่าวให้พญามารสบายใจว่า ทุกคนกราบไหว้พระพุทธเจ้า และพญามารก็ไม่บาปหรอก จะได้กุศลมากกว่า
จากนั้นพญามาร ก็กลับคืนสู่สวรรค์ ชั้นที่ ๖ วิมานของตน และนับแต่นั้นมา พญามารได้มีจิตอ่อนน้อมเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา หมดสิ้นน้ำใจริษยา และบำเพ็ญบารมี เพื่อพุทธภูมิต่อไป

หมายเหตุ
เนื้อเรื่องได้กล่าวถึง พระพระกัสสปพุทธเจ้า ดังนั้นเพื่อความเข้าใจ ในการอ่าน ขอเสริมว่าตามตำนาน โลกเรานั้น แบ่งช่วงเวลาเป็นกัลป์ ซึ่งแต่ละช่วง ในแต่ละกัลป์ ก็จะมีพระพุทธเจ้า ที่มาตรัสรู้ โปรดบรรดาสัตว์โลก เป็นคราวไป ดังนั้นพระพุทธเจ้า จึงมีหลายพระองค์ ซึ่งเวลาหนึ่งกัลป์นั้นนานนัก (กัลป์ที่เราอยู่นี้ มีพระพุทธเจ้า มาตรัสรู้แค่ ๕ พระองค์ และมีหลายๆ ช่วงในแต่ละกัลป์ ที่ปราศจากพระพุทธศาสนา โดยสิ้นเชิง ดังนั้นถือว่าเราโชคดีมาก ที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนาในชาตินี้

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 05 •มีนาคม• 2013 เวลา 19:31 น.• )