วัดเหมืองค่า สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๒ ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของบ้านเหมืองค่า ตั้งอยู่เลขที่ ๖๙ หมู่ ๖ ตำบลเหมืองหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ มีพุทธบริษัทศรัทธาทำนุบำรุง ๒ หมู่บ้าน คือบ้านสะบู และบ้านเหมืองค่า สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ๗๕ ตารางวา มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดเลขที่ ๖๗๓๙๓, ๖๗๓๙๔, ๖๗๓๙๕ และอีกแปลงหนึ่งยังไม่มีเอกสิทธิ์ที่ดินแต่ได้ขึ้นทะเบียนที่ดิน ศาสรสมบัติ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองไว้แล้วทะเบียนเลขที่ ๑๔๕ วัดเหมืองค่าตามตำนาน เดิมชื่อว่า วัดสงัดดงเย็น สร้างขึ้นเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประมาณปี พ.ศ.๒๑๘๐ ที่วัดเหมืองค่า มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือและเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ชื่อว่า "หลวงพ่อลือ" หรือ "หลวงพ่อฤๅ"

หลวงพ่อลือ เป็นพระนามที่เรียกยอพระเกียรติ ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ คือ พระ เจ้าลิไท หรือ พระเจ้าฤๅไท กรุงสุโขทัย ด้วยพระองค์ทรงเป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียสถานที่สำคัญของเมืองแพล (คือเมืองแพร่) เดิมหลวงพ่อลือ มีขนาดหน้าตักกว้าง ประมาณ ๒ ศอก สูง ๓ ศอก ประดิษฐานอยู่ภายในวัดเหมืองค่า ซึ่งคำนวณตามกาลเวลาของสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ อยู่ในราว พ.ศ.๒๑๘๐ แต่หาหลักฐานยืนยันเป็นหนังสือหรือจารึกไม่ได้ ได้แต่อาศัยคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่บอกเล่าสืบต่อกันมา หลวงพ่อลือ เดิมหล่อด้วยทองเนื้อแปด เมื่ออัญเชิญไว้ในโบสถ์วัดเหมืองค่าประมาณ พ.ศ.๒๓๑๐ เป็นยุคที่กรุงศรีอยุธยาราชธานีของไทยจะสูญเสียกรุงให้กับพม่า ชาวพุทธในยุคนั้นจึงก่ออิฐถือปูนไว้พรางตาไม่ให้ข้าศึกเข้ามาทำลาย ปัจจุบันนี้ หลวงพ่อลือ ประดิษฐานอยู่ที่โบสถ์น้อยวัดเหมืองค่า สาเหตุที่ชาวบ้านเรียกว่าโบสถ์น้อยเนื่องจากอุโบสถที่ "หลวงพ่อลือ"ประดิษฐานนั้นมีขนาดเล็ก มีพื้นที่อุโบสถเพียง กว้าง ๒ วา ๑ ศอก ยาว ๓ วา ๒ ศอก ชาวบ้านที่มีความศรัทธาและมีความเชื่อว่า หลวงพ่อลือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ผู้กระทำผิดศีลธรรมหรือไปจับต้องของในอุโบสถ ทำให้ได้รับความเสียหาย ต้องมีเหตุเภทภัยต่างๆ นานา ดังเช่น นายศรีนวล ลือโลก สมัยหนุ่มๆ ปีนขึ้นไปบนแท่นที่หลวงพ่อลือ ประดิษฐานพอกลับลงมาขาได้พับไป ต่อมาขานายศรีนวลก็ค่อยๆ ลีบเล็กลง บิดามารดาของนายศรีนวล ต้องนำดอกไม้ธูปเทียนและนิมนต์พระมาทำบุญสังฆทาน หลังจากนั้นอาการของนายศรีนวลได้หายเป็นปกติเหมือนคนธรรมดาทั่วไป นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีความเชื่อว่าโบสถ์น้อยที่ "หลวงพ่อลือ"ประดิษฐานอยู่มีความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกันกับหลวงพ่อลือ จึงห้ามผู้หญิงเข้าเด็ดขาด เพราะเชื่อกันว่ามีอาถรรพณ์ ชาวบ้านได้เล่าสืบกันมาว่า เคยมีผู้หญิงวัยรุ่นจากกรุงเทพฯ มากับคณะทอดผ้าป่าสามัคคีไม่เชื่ออาถรรพณ์เหล่านี้ หญิงวัยรุ่นคนดังกล่าวได้เดินเข้าไปโบสถ์น้อย เพื่อจะทดลองว่าจะเป็นจริงหรือไม่ พอพ้นธรณีประตูโบสถ์น้อยเท่านั้นก็ซวนเซทำท่าจะล้มลง จึงรีบออกมาและบอกว่าหน้ามืดจะเป็นลมแล้วเธอก็ไม่เข้าไปอีก นอกจากวัดเหมืองค่าจะมีหลวงพ่อลือ ที่ศักดิ์สิทธิ์ ยังมีเจดีย์เก่าแก่ศิลปะสุโขทัย อีก ๑ องค์ภายในวัด ประมาณต้นเดือนเมษายน ของทุกปี หรือเดือน ๗ เหนือ ทางคณะกรรมการวัด และพี่น้องคณะศรัทธาวัดเหมืองค่าจัดงานนมัสการ "หลวงพ่อลือ" และงานไหว้เจดีย์วัดเหมืองค่า ในช่วงนั้นพี่น้องชาวพุทธมีโอกาสขึ้นไปจังหวัดแพร่แวะกราบขอพร "หลวงพ่อลือ" ที่ศักดิ์สิทธิ์ได้

ลำดับเจ้าอาวาส

๑ ครูบาจุมปู มรณภาพ

๒ ครูบาอินใจ มรณภาพ

๓ ครูบาอนุ มรณภาพ

๔ ครูบาต๋า มรณภาพ

๕ พระโยย (ปิยะดา) มรณภาพ

๖ พระมหาอินทร์ (จักแสน) ลาสิกขา

๗ พระจันทร์ กติปุญฺโญ ลาสิกขา

๘ พระมหาเหรียญ (คำอิสระ) ลาสิกขา

๙ พระจันทร์ ลาสิกขา

๑๐ พระแก้ว ย้ายสำนัก

๑๑ พระจินดา ย้ายสำนัก

๑๒ พระครูจันทร์ กลฺยาโน พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๓๐

๑๓ พระปลัดสิงห์หล ปภสฺสโร พ.ศ. ๒๕๓๐ – ปัจจุบัน

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•เสาร์•ที่ 15 •มิถุนายน• 2013 เวลา 22:38 น.• )