ตำบลป่าแดง เดิมเป็นชุมชนเผ่าลัวะ ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน อยู่เชิงเขาธชัคบรรพต (วัดพระธาตุช่อแฮปัจจุบัน) ก่อนพุทธกาล เท่าที่ปรากฏในตำนานพระธาตุช่อแฮ มีหัวหน้าเผ่าที่ปรากฏชื่อว่า พ่อขุนลัวะอ้ายก้อม (เจ้าพ่อหลวงก้อม) เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ออกบวช ได้ตรัสรู้อนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ทรงเสด็จโปรดเวเนยสัตว์ ได้ออกประกาศพระพุทธศาสนา มาถึงดินแดนแห่งล้านนา เมืองโกศัยนคร ได้มาพักที่ดอยธชัคบรรพต ได้มีขุนลัวะอ้ายก้อม พร้อมด้วยชาวบ้านขึ้นต้อนรับอุปัฎฐาก พระองค์ทรงมอบพระเกศา ๒ เส้น ให้ขุนลัวะอ้ายก้อมเก็บรักษาไว้ในตัว ณ ที่ดอยธชัคบรรพต พร้อมทั้งได้สร้างเจดีย์ครอบไว้ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า พระธาตุช่อแฮ (พระธาตุประจำคนเกิดปีขาล) (ปียี่) เป็นพระธาตุประจำจังหวัดแพร่จนถึงปัจจุบัน ได้มีตำนานบ้านป่าแดง ตำนานวัดป่าแดง เล่าไว้ว่า เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๑๓๙ ประมาณ ๑๔๑๖ ปี ชาวบ้านได้อพยพจากอำเภอเชียงแสน ประมาณ ๕๐ ครอบครัว ได้มาตั้งรกรากสร้างบ้านแป๋งเมือง อยู่ทาง ทิศตะวันออกของแม่น้ำยมประมาณ ๑๐ กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ ดอยธชัคบรรพต (พระธาตุช่อแฮ) ประมาณ ๕ กิโลเมตร อยู่นอกเมืองพลนคร เป็นชุมชน นอกเมือง โดยมีท่านปุณณะเป็นผู้นำ ประกอบกับสถานที่ตั้งเป็นต้นศรีก้ำกันอยู่หนาแน่น จึงเป็นชื่อบ้านสะหลีปุณณะ สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งชื่อว่า วัดลอมศรีก้ำ ต่อมาประชาชนเพิ่มมากขึ้นและย้ายมาจากถิ่นอื่น เช่น เชียงแสน จึงได้ขยายอาณาเขตขึ้นมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จนถึงดอย ธชัคบรรพต ซึ่งเป็นชุมชนเล็กของชนเผ่าลัวะอยู่ก่อน ชาวบ้านจากบ้านสะหลีปุณณะมีความเจริญรุ่งเรือง ขนานตั้งขึ้นเป็นเมืองๆ หนึ่งชื่อว่าเมืองสะหลีปุณณะ เมื่อขยายบ้านเมืองออกไปทำให้ชนเผ่าลัวะ ได้ร่นถอยออกจากที่อยู่เดิมขึ้นไปอยู่ตามไหล่เขาข้ามดอยผาด่านขึ้นไป ซึ่งเป็นอุปนิสัยของชนเผ่าลัวะที่ชอบความสงบ หนีความเจริญไปอยู่ตามป่าตามเขา ณ ที่นั้นจึงมีชื่อว่า บ้านแม่ลัว คงเพี้ยนมาจากคำว่าลัวะนั่นเอง ส่วนชนเผ่าลัวะบางส่วนก็ปรับตัวเข้ากับสังคมเมือง คือเมืองสะหลีปุณณะ ดังนั้นชาวตำบลป่าแดงจึงมีสายเลือดที่ผสมกันระหว่างชนพื้นราบกับชน เผ่าลัวะ ดังนั้นชาวบ้านตำบลป่าแดงเปรียบเสมือนเป็นลูกหลานเหลนของพ่อขุนลัวะอ้ายก้อม ชาวบ้านของตำบลป่าแดง จึงเคารพนับถือพ่อขุนลัวะอ้ายก้อม เป็นบรรพบุรุษจะมีการบูชาบวงสรวงเป็นประจำปี คือ เดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ ของทุกปี ตำบลป่าแดงเดิมมีจำนวนหมู่บ้าน ๑๔ หมู่

หมู่ที่ ๑ บ้านหนองแขม หมู่ที่ ๒ บ้านป่าแดง หมู่ที่ ๓ บ้านงิ้ว หมู่ที่ ๔ บ้านมุ้ง – บ้านหมื้น หมู่ที่ ๕ บ้านสะหลีปันเจิน หมู่ที่ ๖ บ้านพันเชิง หมู่ที่ ๗ บ้านธรรมเมือง หมู่ที่ ๘ บ้านต้นไคร้ หมู่ที่ ๙ บ้านใน หมู่ที่ ๑๐ บ้านปงทุ่งส่วย หมู่ที่ ๑๑ บ้านน้ำกลาย หมู่ที่ ๑๒ บ้านน้ำจ้อม หมู่ที่ ๑๓ บ้านนาตอง หมู่ที่ ๑๔ บ้านแม่ลัว

ต่อมาทางราชการได้แบ่งเป็น ๒ ตำบล คือ ตำบลป่าแดง และตำบลช่อแฮ ตำบลป่าแดง (ปัจจุบัน) แบ่งเขตการปกครองมี ๑๐ หมู่บ้าน หมู่ที่ ๑ บ้านหนองแขม หมู่ที่ ๒ บ้านป่าแดง หมู่ที่ ๓ บ้านป่าแดง (บ้านงิ้ว) หมู่ที่ ๔ บ้านแม่ลัวเหนือ หมู่ที่ ๕ บ้านน้ำกลาย หมู่ที่ ๖ บ้านแม่ลัวใต้ หมู่ที่ ๗ บ้านปากกลาย หมู่ที่ ๘ บ้านห้วยหยวก หมู่ที่ ๙ บ้านสันกลาง หมู่ที่ ๑๐ บ้านหนองแขม

ลักษณะทั่วไปของชุมชน ลักษณะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบสูง และพื้นราบประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ มีถนนช่อแฮ ตัดผ่านและถนนป่าแดง – ทุ่งโฮ้ง ถนนยุทธศาสตร์คือ เมืองแพร่ – อุตรดิตถ์ มีแม่น้ำสำคัญ ๒ สาย ไหลผ่าน ๑. น้ำแม่สาย ๒. น้ำแม่ก๋อน มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลสวนเขื่อน ทิศใต้ ติดกับตำบลช่อแฮ ทิศตะวันออก ติดกับบ้านน้ำพร้า จังหวัดอุตรดิตถ์ ทิศตะวันตก ติดกับตำบลกาญจนา ตำบลนาจักร

ลักษณะภูมิอากาศ ลักษณะภูมิอากาศต้องตามฤดูกาล ฤดูร้อนต่ำสุด ๒๔ องศา สูงสุด ๔๓ องศา ฤดูฝนตกตามฤดูกาล ฤดูหนาว ลบศูนย์องศา ที่บ้านแม่ลัว หมู่ที่ ๔ – ๖ การเดินทาง เดินทางด้วยยานพาหนะรถยนต์ จากเมืองเมืองแพร่สู่ตำบลป่าแดง ๑๐ กิโลเมตร

จุดเด่นของตำบลป่าแดง ๑. พระธาตุช่อแฮ ๒. ดอยเป็นรูปช้างเรียกว่า ช้างผาด่านผาแดง ๓. ความร่มรื่นของชุมชน เข้าเขตตำบลป่าแดงจะเห็นต้นมะพร้าว ต้นหมากเป็นส่วนใหญ่

แหล่งท่องเที่ยว ๑. วัดพระธาตุช่อแฮ ๒. งานประเพณีไหว้สาพระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง ๓. งานประเพณีเดือนยี่เป็งที่วัดป่าแดง ๔. งานประเพณีไหว้และลอดพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีสะหลีปุณณะ วัดป่าแดง นับตามจันทรคติ เอาวันขึ้น ๑๓ – ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เหนือทุกปี (ส่วนใหญ่ตรงวันมาฆบูชา) ๕. ชมพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นบ้านวัดป่าแดง

วัฒนธรรมประเพณี ๑. ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าพ่อผาด่าน ๒. ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าพ่อหลวงก้อม ๓. ประเพณีเลี้ยงผีเฮือน (ผีปูย่า) ๔. ประเพณีไคว่ผีเฮือน งานแต่งงาน ๕. ประเพณีดาปอย เป็กตุ๊ บวชพระ ๖. ประเพณีกินสลาก ๗. ประเพณีตานขันข้าว ๘. ประเพณีไหว้และลอดพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีสะหลีปุณณะ วัดป่าแดง ๙. ประเพณีเอาขวัญข้าว ๑ มกราคมของทุกปี ณ วัดป่าแดง ๑๐. ประเพณีสืบชะตา ส่งเคราะห์ ขึ้นท้าวทั้งสี่ ๑๑. ประเพณีสวดเบิก

ประเพณีสวดเบิก ประเพณีเอาขวัญข้าว แหล่งเรียนรู้ในชุมชน ๑. กลุ่มจักสานของผู้สูงอายุวัดป่าแดง ๒. กลุ่มผ้าด้นมือหมู่ ๒ – ๓ ๓. โครงการวัฒนธรรมสายใยชุมชนวัดป่าแดง ๔. โฮงคำหลวง เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นบ้านวัดป่าแดง

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ๑. ดนตรีพื้นเมือง พ่อสวิง ปัดเป่า  ๒. จักสาน พ่อใหญ่แก้ว สมใจ พ่อสังวาล ปลาลาศ พ่อมี ก้อนสวรรค์ พ่อสวิง ปัดเป่า สอนดนตรีไทย แม่จ๋ำ เบิกบาน แม่ยอด เป็นทุน และกลุ่มผู้สูงอายุตำบลป่าแดง จักสาน ๓. ด้านความเชื่อพระครูวิมลปัญญารัตน์ เจ้าอาวาสวัดป่าแดง ผู้นำกินนำตาน นำจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ พระครูวิมลปัญญารัตน์ สืบชะตา แม่ขาวปฏิบัติธรรมในช่วงเข้าพรรษา

ความเชื่อของชุมชน

๑. นับถือพระพุทธศาสนา

๒. นับถือบรรพบุรุษ มีผีปู่ย่า (ผีเฮือน)

๓. เทพเจ้าผู้ปกป้องคุ้มครองชุมชน เช่น

- เจ้าพ่อผ่าด่าน เชื่อว่าท่านจะดูแลน้ำฟ้าสายฝน รักษาน้ำแม่แนง น้ำแม่สาย โฮงไจย (ศาลา) ตั้งอยู่หน้าฝายท่าช้าง บวงสรวงเครื่องเซ่นสังเวย คือ ควาย ๑ ตัว ชาวบ้านเรียกว่า เลี้ยงผีเจ้าผ่าด่าน ๒ ปีฮาม ๓ ปีไคว่ คือว่า ครบ ๓ ปี เลี้ยง ๑ ครั้ง

- เจ้าพ่อสันใน เจ้าพ่อพญาซ้าย เจ้าพ่อพญาขวา เจ้าแม่นางสนิม รักษาป่าและน้ำแม่ก๋อน

- เจ้าพ่อหลวงก้อม เจ้าพ่อเต๊ปปะดา รักษาชาวตำบลป่าแดงให้พ้นภัยพิบัติทั้งปวง โฮงไจยหรือหอ (ศาลา) ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เครื่องเซ่นสังเวย หมู ๑ ตัว เลี้ยงทุกปี ก่อนงานไหว้พระธาตุช่อแฮ ตามปฏิทินจันทรคติ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ

๔. งานศิลปะใบตอง ขันศรี พานเทียนแพ นางวันเพ็ญ จันทร นางบัวผัน เรืองรอง นางบัวลอย สมใจ นางสาวอำพร อินหอม นางรุ่งทิพย์ อยู่คง นางชุลีกร ประไพพาณิชย์ กลุ่มแม่บ้านตำบลป่าแดง บายศรีและกลุ่มผู้จัดทำบายศรี

๕. สืบชะตาหลวง สืบชะตาน้อย พระครูวิมลปัญญารัตน์ วัดป่าแดง พระครูถาวรปัญญาคุณ วัดหนองแขม

๖. ส่งเคราะห์ เข้าขวัญขึ้นท้าวทั้งสี่ ส่งเปิ่ง ส่งจน ๑. พ่อหนานอิ่นคำ อินหอม ๒. พ่อหนานสิงห์แก้ว นันติวงศ์ ๓. พ่อหนานด้วง สูงศักดิ์ ๔. พ่ออาจารย์ผจญ แสงทอง มัคคทายกของวัดทุกวัด

๗. ความเชื่อเรื่องหมอดู แม่หมอปิ่นแก้ว สมศรี พ่ออาจารย์ด้วง สูงศักดิ์ แม่หล้า บ้านหนองแขม

๘. ทำตุง นาม ๑๒ ราศี แม่บุญยงค์ แดงป่า นางวันเพ็ญ จันทร

ปฏิทินกิจกรรมที่สำคัญประจำปีของชุมชน

๑. วันที่ ๑ มกราคมของทุกปี ประเพณีตานข้าวใหม่ เอาขวัญข้าว ณ วัดป่าแดง

๒. วันที่ ๑๓ – ๑๗ เมษายนของทุกปี ประเพณีปี๋ใหม่เมือง ตานขันข้าว ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย ดำหัว ป่อแม่ คนเฒ่าคนแก่ ครูบาอาจารย์ ส่งเคราะห์บ้าน สังคหะสวดเบิกบ้าน ๓ แยก ๔ แยก ในชุมชน

๓. ประเพณีวันวิสาขะ เดือน ๘ เป็ง

๔. ประเพณีเข้าพรรษา ออกพรรษา

๕. ประเพณีเดือนยี่เป็ง

๖. ประเพณีไหว้และลอดพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีสะหลีปุณณะ วัดป่าแดง

อาหารประจำถิ่น แก๋งส้มปู ต๋ำกบ ต๋ำเขียด น้ำพริกเป้อเหร้อ ส่ามะเขือแจ้ แอ๊บปลา ข้าวปันป่าแดง ที่มาของข้อมูล พระครูวิมลปัญญารัตน์ เจ้าอาวาสวัดป่าแดง รองเจ้าคณะอำเภอเมืองแพร่ เอกสารสำคัญ

๑. ประวัติวัดพระธาตุช่อแฮ

๒. ธรรมพระเจ้าเลียบโลก

๓. ประวัติบ้านป่าแดง

๔. ประวัติวัดป่าแดง

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 17 •มกราคม• 2013 เวลา 13:17 น.• )