ตำบลร่องฟอง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ดั่งเดิมหมู่บ้านร่องฟองเป็นชาวไทยใหญ่ ชาวบ้านตั้งหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ที่ ที่มีห้วยน้ำไหลผ่านหมู่บ้าน ห้วยน้ำนั้นถูกเรียกชื่อว่าห้วยฮ่องฟอง ซึ่งคำว่า “ฮ่องฟอง” เป็นภาษาพื้นเมือง ที่บรรพบุรุษได้ตั้งชื่อไว้เนื่องมาจากเมื่อถึงฤดูฝน จะมีน้ำไหลลงมาจากภูเขาด้านตะวันออก น้ำที่ไหลลงมาจะกระทบกับโขดหินตามลำห้วย แตกกระเซ็นเป็นฟองเต็มลำห้วยทุก ๆ ปี จึงเรียกชื่อลำห้วยนี้ว่า “ห้วยร่องฟอง” และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของลำห้วยแห่งนี้ บรรพบุรุษจึงตั้งรกรากตามแนวลำห้วย และเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ตามชื่อของลำห้วยว่า “หมู่บ้านร่องฟอง” ตั้งแต่เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๐๑ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่ที่ ๓ ของตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ มีประชากรประมาณ ๓๐ กว่าหลังคาเรือน โดยมีบ่หลักเสนา เสนาธรรม เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านร่องฟอง (ผู้ใหญ่บ้านแต่เดิมเรียก “บ่หลัก”) อาชีพหลักคือการเกษตร อาชีพเสริมคือรับจ้างเย็บผ้าที่ตำบลทุ่งโฮ้ง นอกจากนี้ยังมีอาชีพทำล้อเกวียนจำหน่าย เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนในขณะนั้น และได้ร่วมกันสร้างวัดร่องฟองขึ้นมี ตุ๊หลวงสุรินทร์ เป็นเจ้าอาวาส หลังจากนั้นประชากรก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จนกระทั่งประ พ.ศ. ๓๕๓๓ บ้านร่องฟองแยกจากตำบลทุ่งโฮ้งเป็นตำบลร่องฟอง สภาตำบลได้ยกฐานะเป็น อบต. ในวันที่ ๒๓ ก.พ. ๒๕๔๐ ตาม พรบ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ อบต. ร่องฟองตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองแพร่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือระยะทาง ๖ กิโลเมตร มีพื้นที่ ๙.๕ ตารางกิโลเมตร มีเขตความรับผิดชอบทั้งสิ้น ๕ หมู่บ้าน โดยที่ผ่านมามีกำนันทั้งหมด ๓ คน ๑. กำนันบุญศรี กาทองทุ่ง ๒. กำนันสิงห์คาร แอบแฝง ๓. คือกำนันชัยตุรงค์ วงศ์ศักดิ์สิทธิ์ จนถึงปัจจุบัน การปกครองมี นายอินสอน ใจโฮ้ง เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และมีพระครูบวรธรรมกิติ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดร่องฟอง

ตำบลร่องฟองมีจำนวนทั้งหมด ๑,๔๕๙ ครัวเรือน ชายจำนวน ๑,๗๔๒ คน หญิงจำนวน ๑,๙๒๕ บาท รวมประชากรทั้งหมด ๓,๖๙๔ คน (ข้อมูล ณ เดือน มีนาคม ๒๕๕๕) สภาพของบ้านร่องฟอง ทิศเหนือ ติดกับ ต.ห้วยม้า, ต.แม่หล่าย อ.เมือง จ.แพร่ ทิศใต้ ติดกับ ต.เหมืองหม้อ, ต.บ้านถิ่น อ.เมือง จ.แพร่ ทิศตะวันออก ติดกับ ต.ห้วยม้า, ต.สวนเขื่อน อ.เมือง จ.แพร่ ทิศตะวันตก ติดกับ ต.ทุ่งโฮ้ง, ต.แม่หล่าย อ.เมือง จ.แพร่

ภาษาของบ้านร่องฟองนั้นเป็นภาษาถิ่นหรือภาษาเมือง ภาษาของบ้านร่องฟองนั้นคำบางคำจะไม่เหมือนกับที่อื่น เช่นคำว่า ไปไหน จะใช้คำว่า ไปแหน่ ,ของไผ จะใช้คำว่า ของแผ่ คือจะใช้ สระแอ แทน สระไอ เป็นต้น

การแต่งกายของชาวบ้านร่องฟอง แต่เดิมคนเฒ่าคนแก่จะแต่งกายตามพื้นบ้านทั่วไป ชายใส่ขาก๊วย เสื้อคอเฮง คาดผ้าขาวม้า หญิงใส่ซิ่นแหล้ เสื้อคอกลมแขนยาว แต่ในปัจจุบันนี้ จะแต่งกายแบบสากลทั่วไปจะไม่ค่อยเห็นผ้าซิ่นมากนัก แต่ส่วนมากจะใส่หม้อห้อม ทั้งชายและหญิง

การประกอบอาชีพ แต่เดิมเป็นหมู่บ้านผลิตเครื่องมือเกษตรที่ทำจากเหล็ก เช่น จอบ เสียม มีด พร้า เคียว ชมวิธีการตีเหล็ก และการทำผลิตภัณฑ์จากผ้าร่ม การเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข ๑๐๑ (สายแพร่-น่าน) ประมาณ ๔ กม.แยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๑๐๑ จะพบป้ายบอกทางเข้าหมู่บ้าน และต่อมามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้น จึงหันมาเปลี่ยนจากการรับจ้างเย็บผ้าและรับจ้างตีเหล็กจากตำบลทุ่งโฮ้ง มาทำโรงงานตีเหล็กและเย็บผ้ากันเองที่หมู่บ้านร่องฟอง ในสมัยก่อนยังมีในการประกอบอาชีพตีเหล็กและเย็บผ้าน้อย บางครัวเรือนจึงรวมทุนกันทำโดยใช้แรงงานในครัวเรือนและบรรดาญาติพี่น้องเป็นหลัก ยังไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัยจึงใช้แรงงานคนในการทำงาน เช่น การตีหุ่นมีด , การสูบลมเป่าไฟ , การลับและขัดมีดให้มีความขาวคม และทำการเผาถ่านเองเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการเผาเหล็ก ต่อมาการบริหารงานของฝ่ายปกครองมีความสามัคคี ประชากรมีความเข้มแข็ง ประกอบกับเพื่อการได้มาซึ่งงบประมาณมาพัฒนาชุมชนอย่างเป็นเอกเทศ เพื่อความเจริญในหลาย ๆ ด้าน จึงมีการแยกหมู่บ้าน ออกเป็นห้าหมู่บ้าน และสถาปนาตนเองตั้งเป็นตำบลร่องฟองขึ้น ตำบลร่องฟอง เป็นตำบลเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมในครัวเรือน มีอาชีพหลักตีเหล็กและเย็บผ้า ส่วนด้านการเกษตรเป็นอาชีพเสริม โดยรวมแล้วประชาชนภายในตำบลร่องฟองผู้ชายจะตีเหล็ก ผู้หญิงจะเย็บผ้า สามารถสร้างรายได้ภายในครอบครัวตลอดทั้งปี จึงมีสโลแกนด์ว่า “ชายตีเหล็ก หญิงเย็บผ้า นำหน้าเศรษฐกิจ พิชิตความจน ชุมชนให้ความร่วมมือ”

คนในตำบลร่องฟองจึงมีอาชีพที่มั่นคงไม่ค่อยจะออกจากบ้านไปทำงานที่อื่น เพราะว่ามีอาชีพที่ทำรายได้ให้อยู่ดีกินดี อาหารการกินที่บ้านร่องฟองนิยมก็มักจะเป็นอาหารพื้นบ้าน เรียบง่าย ตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย เช่น แกงแค แกงอ่อม แกงผักต่าง ๆ น้ำพริกผักลวก ต้มยำต่าง ๆ และลาบ วันใดว่างเว้นจากการทำงานก็จะเข้าป่าแพะเมืองผีหาหน่อไม้หรือหาปลาตามท้องร่องหรือเหมืองร่องฟอง และเหมืองชลประทานเป็นต้น ถ้าใครไม่ไปหาก็สามารถหาซื้อได้ในตลาดห่วงหอง ซึ่งเป็นตลาดแห่งเดียวในหมู่บ้าน ที่มีผู้คนหลายหมู่บ้านนำอาหารทั้งสำเร็จรูปและอาหารที่ยังไม่ได้ปรุงขายในราคากันเอง ชาวบ้านร่องฟองจำนวนร้อยละ ๙๕ นับถือศาสนาพุทธ ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งก็จะมีโบสถ์ของคริสตจักรที่สวย โอ่อ่า อยู่ในตำบลอีกด้วย ชาวร่องฟองยึดถือศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันเก่าแก่ ซึ่งสืบทอดกันมาช้านาน เช่น ประเพณีการแต่งงาน การบวชนาค ทำบุญบ้าน ประเพณีสงกรานต์ สรงน้ำพระดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ทำบุญตักบาตรในวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา และที่สำคัญถ้าหากว่า พ่อ แม่ หรือญาติพี่น้องได้เสียชีวิตครบ ๑๐๐ วัน ก็จะมีการทำบุญครั้งใหญ่ส่วนมากก็จะมีการทำบุญถวายผ้าป่า ให้วัด โรงเรียน หรือหมู่บ้าน เป็นต้น ในทำนองเดียวกันถ้าหมู่บ้านใกล้เคียงมีงานวัดหรืองานฉลอง ทางชาวบ้านร่องฟองก็จะนำขบวนแห่หรือการแสดงศิลปะการฟ้อนรำไปแสดง เพื่อช่วยงานให้คึกครื้น ซึ่งการแสดงที่ทำกันมาช้านานก็คือการแสดงรำดาบของหนุ่มในหมู่บ้าน ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นเอกลักษณ์การแสดงศิลปะการฟ้อนรำ ประจำบ้านร่องฟอง

สถานที่ถาวรวัตถุที่สำคัญของตำบลร่องฟองเราก็จะมี วัด โรงเรียน โบสถ์คริสต์ สนามกีฬา ศูนย์ขายสินค้า OTOP สถานีอนามัย และร้านค้าจำหน่ายสินค้าที่ผลิตขึ้นในหมู่บ้าน สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวก็จะมีโรงงานเย็บผ้า โรงงานผลิตอุปกรณ์การเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านซึ่งมีหลายแห่งด้วยกัน

หลักความเชื่อ ชาวบ้านร่องฟองนั้นมีความเชื่อในด้านเครื่องราง ของขลัง รวมถึงนับถือผีต่าง ๆ เช่น ผีบ้านผีเรือน ผีนา ผีเตาเส่า ผีปอบ ผีครู ผีหม้อนึ่ง และยังนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมทั้งพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ส่งเคราะห์ สืบชาตาต่ออายุ ส่งเคราะห์ เป็นต้น และนอกจากนั้นยังมีความเชื่อในเรื่องเข้าทรง หมอดู หมอเป่า หมอแฮกโป่งยำ เป็นต้น

ผู้ให้ข้อมูล ๑. พระครูบวรธรรมกิติ์   อายุ ๖๙ ปี   เจ้าอาวาสวัดร่องฟอง ๒. นายประมวล สิงห์พล   อายุ ๕๙ ปี  ม.๑ ตำบลร่องฟอง ๓. นางอนงค์เนตร รอดทุกข์  อายุ ๖๐ ปี  ม.๒ ตำบลร่องฟอง (ข้าราชการบำนาญ)

เหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ที่ทำให้ชาวบ้านจำมาจนถึงปัจจุบัน คือ  เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ ได้มีเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านทั้งหมดจำนวน ๕ หลัง ซึ่งเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางวัน เหตุเกิดจากเจ้าของบ้านตีเหล็ก แล้วเหล็กร้อนกระเด็นไปหากองฟางที่เก็บไว้ให้ควายกิน เพลิงลุกไหม้ลามไปหาบ้านจำนวนทั้งหมด ๕ หลัง สร้างความเสียหายมากมาย ชาวบ้านทุ่งโฮ้งเห็นเปลวไฟจึงได้ช่วยกันเอาถังน้ำมาช่วยดับก่อนที่รถดับเพลิงจะมาถึง (ซึ่งในสมัยนั้นมีอยู่คันเดียวทั้งจังหวัด) เมื่อเดือน กันยายน พ.ศ.๒๕๑๒ มีเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ คือเกิดน้ำท่วมหมู่บ้านเป็นเวลา ๓ วัน ซึ่งปริมาณน้ำสูงจากถนน เมตรครึ่งเคราะห์ดีที่บ้านเรือนนั้นไม่ได้รับความเสียหายคนก็ไม่มีใครล้มตาย เสียหายเฉพาะการเกษตรเท่านั้น

ปราชญ์ชาวบ้าน

๑. พระครูบวรธรรมกิติ์  ด้านภาษาล้านนา  อายุ ๖๙ ปี  เจ้าอาวาสวัดร่องฟอง

๒. คุณอรุณ ปัญญาไวย์  ด้านการเกษตร  อายุ ๕๓ ปี  ม.๔ ตำบลร่องฟอง

๓. คุณม่วน ชิดชอบ  ด้านศิลปะ  อายุ ๗๓ ปี  ม.๕ ตำบลร่องฟอง

๔. คุณพ่อฟอง กาทองทุ่ง  ด้านดนตรี  อายุ ๗๖ ปี  ม.๔ ตำบลร่องฟอง

๕. คุณพ่อฟอง ทาทอง   ด้านหัตถกรรม  อายุ ๘๐ ปี  ม.๒ ตำบลร่องฟอง

๖. คุณประมวล สิงห์พล  ด้านวัฒนธรรมฯ  อายุ ๕๙ ปี  ม.๑ ตำบลร่องฟอง

๗. คุณพรหมมินทร์ กาทองทุ่ง  ด้านสมุนไพร   อายุ ๓๑ ปี  ม.๔ ตำบลร่องฟอง

๘. คุณสุทิน ชัยวุฒิพงศ์  ด้านดนตรี  อายุ ๕๙ ปี  ม.๓ ตำบลร่องฟอง

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พฤหัสบดี•ที่ 29 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 10:51 น.• )