วัดพระร่วง ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๑๓ ถนนพระร่วง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เป็นวัดที่เก่าแก่มีมาตั้งแต่โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อ ปี พุทธศักราช ๑๓๑๐ ที่มาของชื่อวัดพระร่วง วัดพระร่วงแต่เดิมสันนิษฐานว่ามิใช่ชื่อนี้ แต่จะเป็นชื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ทราบว่า สมัยก่อนวัดนี้เดิมมีผู้คนเรียกว่า “วัดพญาฮ่วง” “ฮ่วง” ซึ่งเป็นสำเนียงภาษาพื้นเมือง ตรงกับภาษาไทยกลางว่า “ร่วง” เพราะภาษาเหนือออกเสียงตัว “ร” เป็นเสียงตัว “ฮ” เช่น “เรือน” เป็น “เฮือน” “รัก” เป็น “”ฮัก” “เรา” เป็น “เฮา” เป็นต้น ดังนั้นถ้าจะเรียกชื่อวัดนี้เป็นภาษาไทยกลางก็คือ “วัดพญาร่วง” ซึ่งคำๆ นี้จะตรงกับคำที่ชาวไทยล้านนานิยมเรียกชื่อพ่อขุนรามคำแหงว่า “พญาร่วง” คือ “พญาฮ่วง” นั่นเอง (ร่วง แปลว่า รุ่ง,เรือง) ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ว่า ผู้สร้างวัดพระร่วง (พญาฮ่วง) คือ พญาลิไท สร้างขึ้น นอกจากจะสืบทอดพระพุทธศาสนาแล้วคงสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติยศ ถวายเป็นพระราชสดุดีแด่พ่อขุนรามคำแหงตามที่ชาวล้านนานิยมเรียกพระนามว่า “พญาร่วง” ซึ่งเป็น “...พระมหาธรรมราชาผู้ปู่ฯ..) ที่ปรากฏในศิลาจารึกที่สอดคล้องกันทั้งสองหลักคือ ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงและศิลาจารึกวัดป่าแดง วัดพญาฮ่วง จะเปลี่ยนเป็นวัดพระยาฮ่วง หรือวัดพระร่วง เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่ปัจจุบันผู้คนทั่วไปก็จะเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดพระร่วง” ซึ่งก็เช่นเดียวกับชื่อของวัดหลวงสมเด็จที่พระมหาธรรมราชาลิไทโปรดพระราชทานนามไว้ พอเวลาผ่านมานานผู้คนได้เรียกชื่อวัดว่า “วัดหลวง” โดยตัดคำว่า “สมเด็จ” ออกไป ซึ่งคนรุ่นหลังก็ไม่สามารถหาเหตุผลได้ และ “วัดพระยาฮ่วง” ก็ถูกตัดคำว่า”ยา” ออกไป (คำว่า “พระยา” เป็นคำที่แสดงถึงบรรดาศักดิ์ที่ต่อจาก “พระ” ขึ้นไป) คงเหลือเพียงคำว่า “วัดพระร่วง” ตราบเท่าทุกวันนี้

อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ จด ถนนพระร่วงและถนนพระร่วงซอย ๒ ทิศตะวันออก จด ถนนพระร่วง ซอย ๒ และซอยสาธารณะ ทิศใต้ จด ซอยสาธารณและถนนพระร่วงซอย ๓ ทิศตะวันตก จด ถนนพระร่วง ซอย ๓ และถนนพระร่วง บริเวณวัดมีเนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๓๗ ตารางวา ที่ธรณีสงฆ์ มี ๓ งาน ๔๕ ตารางวา วัดพระร่วงได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๒๖

ลำดับเจ้าอาวาส เนื่องจากวัดพระร่วงเป็นวัดที่เก่าแก่ รายชื่อและปีที่เจ้าอาวาสในชั้นต้นๆ ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงนั้นๆ จึงไม่สามารถหาหลักฐานได้ จึงได้รวบรวมได้ดังนี้ ๑. พระอธิการหนัก (ไม่ทราบฉายา) ๒. พระอธิการหมื่น วิรัชกร ๓. พระอธิการหลี้ วังใน ๔. พระอธิการทองคำ ไม่ทราบฉายา ๕. พระมหาอินผ่อง ไม่ทราบฉายา ปี พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๐๑ ๖. พระครูภัทรธรรมโกศล (กุศล อคฺควโร) ๒๕๐๑-๒๕๕๔ ๗. พระครูใบฎีกาประสงค์ ชินวํโส ๒๕๕๔-ปัจจุบัน

สภาพเดิม พระวิหารหลังเห่าสร้างด้วยอิฐถือปูน สถาปัตยกรรมเชียงแสน (ล้านนา) เป็นพระวิหารขนาดกลางหันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีบันได้ขึ้นสองด้านคือด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ราวบันไดทั้งสองด้านมีลักษณะเป็นหางหวัน (ตัวเหงา) มีหลังคาคลุมสองชั้น ส่วนด้านหลังของพระวิหารทำเป็นทางขึ้นสองด้านเช่นกันแต่ขนาดเล็กกว่า ทางขึ้นด้านทิศใต้เป็นประตูสำหรับขึ้นลงของพระสงฆ์ที่เข้าไปปฏิบัติศาสนาพิธีต่าง ๆ ส่วนพุทธศาสนิกชนทั่วไป ใช้ประตูใหญ่ด้านหน้าพระวิหาร หลังคาพระวิหารทั้งหลังซ้อนกันสองชั้น แบ่งเป็นสองส่วนเสมือนมีสองหลังเชื่อมต่อด้วยรางริน หน้าต่างมีลักษณะเจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้แผ่นไม้ทำเป็นบานปิด – เปิด ลั่นดานแผ่นไม้ที่ทำเป็นบานปิด – เปิด และลั่นดานดังกล่าวนี้รวมถึงบานประตูทั้งสี่แห่งด้วย

จากการสอบถามนักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญงานด้านศิลปะสถาปัตยกรรม และประติมากรรม ทำให้ทราบว่า พระวิหารวัดพระร่วงหลังเก่าที่รื้อไปนั้นเป็นศิลปกรรมสมัยเชียงแสน หรือล้านนาแน่นอน ซึ่งอาจจะมีการสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์จากของเก่าขึ้นมาใหม่ในช่วงรัชกาลระหว่างพระเจ้าติโลกราชถึงรัชกาลพระเมืองแก้ว (พ.ศ. ๑๙๘๖ – พ.ศ. ๒๐๔๗) กล่าวเช่นนี้เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ เป็นปีที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้มีการสังคยานาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๘ ณ วัดเจ็ดยอด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากที่พระองค์ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่แล้ว ๓๔ ปี พระเจ้าติโลกราชทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นผู้สถาปนาคำว่า “ล้านนา” ขึ้น พระองค์ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง การสงคราม การเศรษฐกิจ และเป็นการส่งเสริมศิลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมพระพุทธศาสนาในยุคของพระองค์ถือได้ว่ามีความเจริญอย่างสูงสุด

พ.ศ. ๒๐๓๘ – พ.ศ. ๒๐๖๘ เป็นยุคสมัยของพระเมืองแก้วครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกยุคหนึ่งที่การพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีระบุว่า พระเมืองหรือพระเจ้าเมืองแก้วเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปทองหล่อ พระพุทธศิลป์ดูงดงามมากคือ “พระเจ้าเก้าตื้อ” (พ.ศ. ๒๐๔๗ – พ.ศ. ๒๐๔๘) หลังจากนั้น พ.ศ. ๒๐๕๒ จึงอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบัน การที่นำเหตุการณ์ความเจริญทางพระพุทธศาสนาทั้งสองสมัยมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์เมืองแพร่ในช่วงนั้นมีสถานการณ์อย่างไร ปี พ.ศ. ๑๙๘๖ ขณะที่พระเจ้าติโลกราชกำลังยกทัพไปตีเมืองแพร่น่านนั้นได้แบ่งกองทัพให้พระมหาเทวีผู้เป็นชนนียกตีเมืองแพร่อีกทัพหนึ่ง เมืองแพร่ขณะนั้นมีท้าวแม่คุณเป็นผู้ปกครองเมือง และมีกำลังน้อยกว่าเกรงว่าชาวเมืองจะล้มตายกันมากจึงออกไปถวายบังคมต่อพระมหาเทวี เมืองแพร่จึงรวมอยู่ในขอบขัณฑสีมาของเชียงใหม่ เรื่อยมาจนถึงสมัยพระเมืองแก้วได้ส่งตัวท้าวเมืองคำข่าย (ชาวบ้านในสมัยนั้นนิยมเรียกว่าเฒ่าคำข่าย) เป็นชาวเมืองลำปาง มีฐานะความเป็นอยู่อยู่ดีมากมีข้าทาสบริวารนับจำนวนร้อย ๆ คนมาปกครองเมืองแพร่ นอกจากท้าวเมืองคำข่ายแล้ว พระเจ้าเมืองแก้วยังได้ส่งและสับเปลี่ยนเจ้าเมืองคนอื่น ๆ มาปกครองเมืองแพร่ต่อจากเจ้าเมืองคำข่ายอีกหลายองค์

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในช่วงสองยุคสมัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้คำนวณได้ว่าพระวิหารวัดพระร่วงหลังเก่าคงต้องได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช หรือไม่ก็สมัยพระเมืองแก้ว เพราะบ้านเมืองใดไม่ว่าจะอยู่ในขอบขัณฑ์ธสีมาของเมืองที่ใหญ่กว่า มีกำลังมากกว่ามีความพร้อมหรือศักยภาพมากกว่าได้รับอิทธิพลด้านต่างๆ นำไปผสมผสามเป็นวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของตนเองที่เห็นได้ชัดเจนคืองานด้านศิลปะสถาปัตยกรรมเชียงแสนหรือล้านนา มีอายุมากกว่า ๕๐๐ ปี มีข้อน่าสังเกตว่า วัดโบราณที่มีอายุการก่อสร้างพระวิหารและพระอุโบสถออกจากกันเนื่องจากมีวัตถุประสงค์ในการใช้ต่างกัน(วิหารหรือพระวิหารโดยทั่วไปหมายถึง วัดโดยวัตถุประสงค์หมายถึงที่อยู่ของสงฆ์ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปส่วนพระอุโบสถหรือเรียกสั้นๆว่าโบสถ์มักมีขนาดเล็กกว่าวิหารเป็นสถานที่ซึ่งพระสงฆ์ใช้ประชุมกัน ทำสังฆกรรมต่างๆ เช่น ประกอบพิธีบวชพระดังนั้นจึงมักมีก้อนหินหรือการปั้นรูปใบเสมา ที่เรียกว่า พัทธสีมาฝังไว้โดยรอบพระอุโบสถ) ทั้งพระวิหารและพระอุโบสถต่างก็ต้องมีพระพุทธรูปเป็นพระประธานประดิษฐานไว้ การบันทึกของพระครูภัทรธรรมโกศลอดีตเจ้าอาวาสวัดพระร่วงได้บันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งรักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๖ ได้ดำเนินงานตามโครงการสร้างพระวิหารหลังใหม่แทนพระวิหารหลังเก่าซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ด้วยสาเหตุได้กล่าวมาแล้วว่าพระวิหารหลังเก่ามีอายุการก่อสร้างมานานถึง ๕๐๐ ปีเศษ โครงสร้างของพระวิหารที่สร้างด้วยอิฐปูนย่อมหมดอายุการใช้งานตลอดการใช้งานตลอดถึงหลังคาก็รั่วในฤดูกาลเข้าพรรษา ศรัทธาชาวบ้านรวมถึงพระสงฆ์ที่ปฏิบัติกิจพิธีกรรมทางศาสนาได้รับความสะดวกรักษาการเจ้าอาวาสในขณะนั้นจึงได้เชิญคณะกรรมการวัดและคณะศรัทธามาประชุมปรึกษาหารือกันขอความเห็นในที่สุดที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวได้ โดยให้รื้อพระหลังเก่าออกแล้วสร้างพระวิหารหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเดิม วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๕ จึงได้ฤกษ์รื้อถอนพระวิหารหลังเก่าลงและได้ดำเนินการก่อสร้างโดยมีสล่า(ช่าง)คือนายสุรพล เวียงนาค บ้านเวียงทอง ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่(ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) เป็นหน้าหน้าสล่า งบประมาณที่ใช้ดำเนินการส่วนใหญ่ได้รับจากผู้มีจิตศรัทธาในโอกาสต่างๆ เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า หรือญาติโยมรับเป็นเจ้าภาพส่วนต่างๆ เช่น เสาวิหาร ประตู ช่อฟ้า ใบระกา รูปแบบโครงสร้างของพระวิหารเป็นแบบทวิมุข ผนังยกสูงรับหลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดนาคซ้อนกันสองชั้น มีช่อฟ้าประดับยอดหน้าจั่วซึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงสูงเช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์โดยทั่วไป ซุ้มประตู หน้าต่าง ประดับด้วยกระจกสีต่างๆในรูปแบบผสมผสานซุ้มมงกุฎและซุ้มปราสาทเข้าด้วยกัน การก่อสร้างพระวิหารหลังใหม่เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๕๑๑  ใช้เวลาก่อสร้าง ๗ ปี ค่าก่อสร้างประมาณ ๘๕๐,๐๐๐ บาทเศษในจำนวนนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมการศาสนา ๕๐,๐๐๐ บาท ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ได้มีการจัดงานทำบุญเฉลิมฉลองค่อนข้างยิ่งใหญ่ ปี พ.ศ.๒๕๑๓ ได้จัดให้มีงานทำบุญครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คืองานฟื้นฟูประเพณีทำบุญกิ๋นสลาก (สลากภัต)

ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญของวัด

๑.พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๐.๙๐ เมตร สูง ๑.๒๐ เมตร ปัจจุบันลงรักปิดทอง ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วซึ่งทำเป็นลักษณะอุโมงค์ลึกเข้าไปในผนัง พระวิหาร ถือเป็นพระประธานในพระวิหารที่บูรณะใหม่นี้ด้วย

๒.พระพุทธรูปปั้นศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัย จำนวน ๒ องค์ประดิษฐานอยู่บนแท่นฐานไม้สักที่แกะสลักลวดลายอย่างสวยงามพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ดังกล่าว มีขนาดเท่ากันคือ หน้าตักกว้าง ๑.๕๐ เมตรสูงจากฐานถึงยอดพระเมาลี ๒.๒๐ เมตร

๓.ธรรมมาสน์ทรงประสาท สร้างด้วยไม้สักลงรักปิดทองทั้งหลังจำนวน ๒ หลัง

๔.โต๊ะหมู่บูชา ทำด้วยไม้สัก หมู่ ๙ หมู่ ๗ หมู่ ๕

๕.ฆ้องระฆังขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๐ เซนติเมตร

๖.ระฆังทองเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐ เซนติเมตร

๗.ภาพถ่ายพระวิหารหลังเก่า (สถาปัตกรรมล้านนา)

๘.ตู้หนังสือพระไตรปิฎก