กลุ่มทายาทเจ้าเมืองลองกับการรื้อฟื้นความเป็น “เจ้า” และความเป็นเมืองลอง กลุ่มเชื้อสายเจ้าเมืองลองได้เป็นกลุ่มแรกเริ่ม ที่แสดงออกของสำนึกท้องถิ่นอย่างชัดเจนในอำเภอลอง ดังปรากฏมีการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองมาตั้งแต่ทศวรรษ ๒๔๙๐ ผ่านการนำตำนานพระธาตุศรีดอนคำและเขียนประวัติเมืองลองจัดพิมพ์เป็นหนังสือ แต่ทว่าก็ไม่ได้ปรากฏว่ามีกลุ่มทายาทได้พยายามรื้อฟื้นหรือแสดงความเป็น “เจ้า” ในช่วงระยะเวลานี้ มีเพียงนำเรื่องราวของเจ้าเมืองลองผู้เป็นต้นตระกูลมาเขียนแสดงถึงวีรประวัติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณูปการอันยิ่งยวดต่อเมืองลองและชาวเมืองลองในอดีตที่ผ่านมา จนกระทั่งในทศวรรษ ๒๕๔๐ จึงเกิดกระแสรื้อฟื้นความเป็น “เจ้า” ขึ้นทั่วทุกหนแห่ง โดยเฉพาะทายาทเจ้าผู้ครองนครและเจ้าเมืองในภาคเหนือ(ล้านนา)ด้วยมีปัจจัยการเกิดกระแสที่หลากหลายประการ

ภายหลังคณะราษฎรล้มการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นประชาธิปไตยเมื่อพ.ศ.๒๔๗๕ รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติไปอยู่ต่างประเทศทำให้สถานภาพของเจ้านายราชวงศ์จักรีลดลง จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ราชวงศ์จักรีได้พยายามสร้างสถาบันกษัตริย์ให้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง จากการสนับสนุนของคณะนักการเมืองระดับสูงในรัฐบาลชุดใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้หนุนกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือขึ้นเพื่อเพิ่มสถานะพระบารมีของราชวงศ์จักรี กลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือจึงมีการรื้อฟื้นสถานภาพขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ค่อยหมดบทบาทลงตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูป “ล้านนาประเทศ” นำโดยกลุ่มราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนที่มีสิทธิธรรมและบารมีมากกว่าเจ้านายสายอื่นของภาคเหนือ เพราะมีส่วนสำคัญในการสถาปนาราชวงศ์จักรีและมีความผูกพันกับราชวงศ์จักรีทางการเสกสมรส มีเครือข่ายการเสกสมรสอย่างกว้างขวางทั้งกับเจ้านายไทเขิน ไทลื้อ ไทใหญ่ และกะเหรี่ยง ตลอดถึงเชื้อสายเจ้าเมืองเดิมที่ตกค้างในล้านนา สั่งสมคุณความดีให้แก่บ้านเมืองมาเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นตระกูลใหญ่ครอบคลุมถึงราชตระกูล ณ เชียงใหม่, ณ ลำปาง(ณ เชียงตุง) และ ณ ลำพูน รวมถึงสายสกุลแยกย่อยออกไปของทั้ง ๓ เมือง(พระราชบัญญัติให้มีนามสกุลใช้พ.ศ.๒๔๕๖) เช่น สิโรรส, สุริโยดร, พรหมศรี, เหล็กสมบูรณ์, ลังกาพินธุ์, ดาราวรรณ, ธนันชยานนท์ และ มณีอรุณ ฯลฯ และสายสกุลย่อยที่แตกออกไปเป็นเจ้าเมืองต่างๆ ในเชียงแสน เชียงราย พะเยา ฝาง ฯลฯ เช่น เชื้อเจ็ดตน, ชายฝั้น, อินทวงค์, ชื่นชม, ศีติสาร และ บุญทาวงศา ฯลฯ ประกอบกับทายาทของเจ้าผู้ครองนครชั้นราชบุตรธิดาและราชนัดดายังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นเมื่อพระราชวงศ์จักรีเสด็จขึ้นมาเมืองเหนือเจ้านายฝ่ายเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง จึงได้เข้ารับเสด็จและเข้าเฝ้าอยู่เสมอ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงครองราชย์ครบ ๔๐ พรรษาในพ.ศ.๒๕๓๙ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้จัดการเฉลิมฉลองเพื่อเทิดพระเกียรติ ในโอกาสเดียวกันเมืองเชียงใหม่ก็ครบรอบ ๗๐๐ ปี ทางจังหวัดเชียงใหม่จึงจัดการเฉลิมฉลองสมโภช กลุ่มเจ้านายเมืองเชียงใหม่จึงทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและสมโภชเมืองเชียงใหม่ เช่น จัดพิมพ์หนังสือเจ้าหลวงเชียงใหม่ ฯลฯ ประกอบกับเรื่องราวและกิจกรรมของเจ้านายเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปางที่ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ กำลังเป็นที่สนใจของคนไทยภาคอื่นๆ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การรื้อฟื้นความเป็น “เจ้า” ของกลุ่มผู้ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าผู้ครองนครและเจ้าเมืองต่างๆ ในภาคเหนือเกิดความตื่นตัว แต่ทว่าการรื้อฟื้นความเป็น “เจ้า” ก็มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไปของแต่ละกลุ่ม

ดังกรณีกลุ่มเจ้านายเมืองแพร่ที่มีต้นสกุลวงศ์เป็นคนภายในท้องถิ่น มีเครือข่ายความ สัมพันธ์น้อยกับราชวงศ์จักรีและราชวงศ์อื่นๆ ในล้านนา ได้มีการสร้างและรื้อฟื้นความเป็น “เจ้า” ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่หมดบทบาทคราว “กบฏเงี้ยว” และปิดตัวเงียบเพราะกลัวพัวพันกับคดี “กบฏ” แต่พอมาถึงในช่วงนี้ได้พยายามเปิดเผยตัว เช่น จัดพิมพ์หนังสือเชื้อสายเจ้าหลวงเมืองแพร่ ๔ สมัย(พ.ศ.๒๓๖๑ - ๒๔๔๕) แต่การรื้อฟื้นนี้ก็มีความขัดแย้งภายในกลุ่ม ดังมีกลุ่มเชื้อสายอีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย และไม่ยินยอมให้เอารายชื่อต้นสกุลและบุตรหลานมาเผยแพร่ในหนังสือ ที่สำคัญมี “การสร้าง” ประวัติต้นราชตระกูลวงศ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อแอบอิงกับกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือข้างต้น ที่บางคนยังมีสถานภาพมั่นคงและมีบทบาทในปัจจุบัน ทั้งภายในจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ โดยสร้างเชื้อสายของเจ้าผู้ครองนครแพร่ว่ามาจากราชวงศ์มังรายกับราชวงศ์เจือง (เจ้าหลวงเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์แรก เป็นราชบุตรเจ้าฟ้าชายสาม เจ้าผู้ครองนครเชียงตุง กับเจ้านางไทลื้อ สิบสองพันนา) ได้สมรสกับเจ้านายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน(เจ้าหญิงคันธิมา ราชธิดาเจ้าหลวงคำฝั้น เจ้าผู้ครองนครลำพูนภายหลังขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่) ที่ไม่เคยปรากฏหลักฐานที่ไหนมาก่อนทั้งตำนานพื้นเมือง เอกสารของล้านนา หรือพระราชพงศาวดาร เอกสารของสยาม และไม่มีใครหยิบยกขึ้นมากล่าวก่อนหน้านี้ ซึ่งต่อมาโดยเฉพาะหนังสือเชื้อสายเจ้าหลวงเมืองแพร่ ๔ สมัย ได้กลายเป็นต้นแบบของงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องเจ้านายเมืองแพร่ที่นำไปใช้อ้างอิงอย่างกว้างขวาง

ดังนั้นการสร้างและรื้อฟื้นความเป็น “เจ้า” ของเชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่ นอกจากเพื่อแสดงถึงความมีตัวตนและยกสถานภาพของทายาท จุดประสงค์สำคัญของสร้างสิทธิธรรมขึ้นมาใหม่ คือตอบโต้รอยบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่บรรพบุรุษถูกตีตราว่าเป็น “กบฏ” เพื่อประกาศให้สังคมรับรู้โดยนัยว่าถึงแม้จะเป็นเชื้อสาย “กบฏ” แต่ก็มีความยิ่งใหญ่ เพราะพระราชวงศ์ทั้งหลายได้รวมเข้าไว้แห่งเดียวที่เชื้อวงศ์เจ้านายเมืองแพร่ จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและขณะเดียวกันก็เป็นการทดแทนหรือปลดปล่อยของทายาท ที่ถูกกดทับไว้เป็นระยะเวลาอันยาวนานให้มีพื้นที่ในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งการสร้างให้ต้นสกุลวงศ์เจ้าเมืองเป็นเชื้อสายราชวงศ์สำคัญของ

ล้านนาของเหล่าทายาทรุ่นปัจจุบันใช่ว่าปรากฏขึ้นในจังหวัดแพร่เท่านั้น แต่หน่วยอำเภอหรือตำบลต่างๆ ของภาคเหนือ โดยเฉพาะที่เคยมีสถานะเป็นหัวเมืองขึ้นชั้นที่ ๓ หรือบางเมืองของเมืองขึ้นชั้นที่ ๒ ที่อดีตเจ้าผู้ครองนครทรงโปรดแต่งตั้งขุนนาง ข้ารับใช้ใกล้ชิด หรือผู้นำในชุมชนขึ้นเป็น “เจ้าเมือง” หรือ “พ่อเมือง” แต่เหล่าทายาทในรุ่นปัจจุบันที่ถูกเร้าด้วยกระแสรื้อฟื้น “ความเป็นเจ้า” จึงมักพบว่ามีการพยายามสร้างให้ต้นสกุลวงศ์เป็นสมาชิกของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนหรือราชวงศ์มังราย

ส่วนในอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ตั้งแต่มีกระแสเฉลิมฉลองครองราชสมบัติครบรอบ ๔๐ พรรษาในพ.ศ.๒๕๓๙ มีการสร้างกระแสทั้งภาครัฐและเอกชนที่ผ่านโครงการและสื่อต่างๆ จึงมีอิทธิพลต่อชาวบ้าน ดังมีการตื่นตัวเสาะหาพระบรมฉายาลักษณ์มาติดประดับภายในบ้านเรือน ขณะก่อนหน้านี้จะมีติดเฉพาะตามวัดหรือสถานที่ราชการเป็นส่วนใหญ่ เพราะตามความรู้สึกของชาวบ้านพระราชวงศ์จักรีอยู่ห่างไกลไม่ได้มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต จนกระทั่งพ.ศ.๒๕๓๒ พระราชวงศ์จักรีเสด็จมาประกอบพระราชกรณียกิจภายในอำเภอลองเป็นครั้งแรก และครั้งที่ ๒ ในพ.ศ.๒๕๓๖ จึงเริ่มเกิดกระแสของพระราชวงศ์จักรีขึ้นภายในอำเภอลอง และมากขึ้นในช่วงเฉลิมฉลองครองราชสมบัติ(พ.ศ.๒๕๓๙)

ขณะเดียวกันทางเจ้านายฝ่ายเหนือ ก็มีกระแสการรื้อฟื้นตัวตนของเจ้านายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนและเจ้านายเมืองแพร่ ทำให้กลุ่มทายาทเจ้าเมืองลองได้ร่วมกับกลุ่มคนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์รื้อฟื้นตัวตนขึ้นมาในช่วงพ.ศ.๒๕๔๑ แต่ลักษณะการรื้อฟื้นไม่ได้เหมือนทายาทเจ้านครประเทศราช(จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดน่าน จังหวัดแพร่) หรือทายาทเจ้าหัวเมืองขึ้นที่การปกครองในปัจจุบันได้มีฐานะเป็นจังหวัด(จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน) ที่แต่ละจังหวัดได้พยายามเสาะหาอัตลักษณ์และเอกลักษณ์เฉพาะของตน เหล่าทายาทจึงรื้อฟื้นความเป็น “เจ้า” ขึ้นมาอีกครั้ง โดยพยายามรวมกลุ่มจัดทำกิจกรรมต่างๆ ต่อสาธารณชนเพื่อแสดงตัวตนและความเป็นกลุ่มชนชั้นพิเศษของจังหวัดนั้นๆ และทายาทเจ้าเมืองลองก็ไม่เหมือนทายาทของเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักในสังคมมีหน้าที่การงานใหญ่โตถึงระดับประเทศ แต่กลุ่มลูกหลานเจ้าเมืองลองกลายเป็นเพียงชาวบ้าน พระสงฆ์ ผู้นำชุมชน(กำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน,เจ้าเหมืองเจ้าฝาย ฯลฯ) หรือข้าราชการ(ครู ตำรวจ ฯลฯ)ภายในอำเภอลองเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับเป็นเพียงหน่วยอำเภอเชื้อสายเจ้าเมืองจึงเป็นที่รู้จักของผู้คนภายในท้องถิ่นอยู่แล้ว และเชื้อสายเจ้าเมืองลองก็ไม่ได้ถูกตีตราว่า “เป็นกบฏ” จึงไม่ได้รับความกดดันจากสังคมภายนอก

ดังนั้นการรื้อฟื้นตัวตนของเชื้อสายเจ้าเมืองลอง จึงอยู่ในรูปของพิธีกรรมและความเชื่อเป็นหลัก โดยการสร้างรูปปั้นและศาลของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลองคนสุดท้ายขึ้นในพ.ศ.๒๕๔๑ ที่หน้าวัดแม่ลานเหนือ พร้อมกับจัดสร้างเหรียญและแผ่นผ้ายันต์พญาขัณฑสีมาโลหะกิจให้บูชา ที่เป็นสื่อสัญลักษณ์ผ่านทั้งภาพและอักษรบนเหรียญและผืนแผ่นผ้ายันต์ นำประวัติเรื่องราวและความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าเมืองลอง ที่ผูกเชื่อมกับความเป็นเมืองลองติดไปด้วยทุกตำแหน่งแห่งที่ที่วัตถุมงคลทั้งสองอย่างสามารถกระจายไปถึง มีการรวบรวมและจัดทำประวัติของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจขึ้น ซึ่งในช่วงนี้ใช่ว่าจะมีเฉพาะในอำเภอลองเท่านั้นที่มีการสร้างศาล เจ้าเมืองขึ้นเป็นที่เคารพบูชา แต่ในพื้นที่อื่นๆ ก็เริ่มมีการสร้างศาลเจ้าเมืองขึ้นหลายแห่ง เช่น สร้างศาลพญาไชยวงศ์ พญาเทพณรงค์ และพญาขัณฑเสมาบดี เจ้าเมืองป่าเป้าทั้ง ๓ คน ที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

เดิมผีพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ มีการนับถือเฉพาะกลุ่มทายาทและชุมชนบ้านแม่ลานเหนือ ภายหลังเมื่อมีการสร้างศาลเจ้าเมืองลอง มีการกำหนดให้มีงานบวงสรวงประจำปีในทุกวันที่ ๑ เดือนมกราคม มีปราชญ์ท้องถิ่น(พ่อหนานคำมูล บุญส่ง)แต่งคำบวงสรวงพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ(พ.ศ.๒๕๔๑)และเป็นเจ้าพิธีการบวงสรวง พร้อมกันนั้นคณะทายาทก็ได้นำเครื่องเทียมยศและเครื่องอุปโภคของเจ้าเมืองลองมาแสดงในงาน มีการจัดผ้าป่าระดมทุนมาจัดงาน ภายในงานมีการแสดงมหรสพ และว่าจ้างช่างทำบายศรีขนาดใหญ่และครบชุดมาจากภาคอีสานซึ่งจัดยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี จึงได้กระจายความนับถือเป็นวงกว้างออกไป กอปรกับเมื่อตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ วิทยาเขตเมืองลองในพ.ศ.๒๕๔๓ ก็ได้กลายเป็น “เจ้าพ่อพญาคันธสีมา” เจ้าพ่อผู้ปกปักรักษามหาวิทยาลัยวิทยาเขตเมืองลอง มีการสร้างศาลและมีพิธีบวงสรวงพลีกรรมประจำปี ที่มีการจัดขึ้นโดยเหล่าคณาจารย์และนักศึกษา ผีพญาขัณฑสีมาโลหะกิจจึงมีการเพิ่มให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นในช่วงนี้ ดังการบวงสรวงที่ศาลหน้าวัดแม่ลานเหนือเคยมีการประทับทรงครั้งหนึ่ง และในอนาคตอาจเกิดมีร่างทรงถาวรของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เหมือนกับอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีร่างทรงของพระยามหามหิทธิวงศาราชาธิบดี(เจ้าน้อยมหาวงศ์ บุญทาวงศา) เจ้าเมืองฝางองค์สุดท้าย

เจ้าผู้ครองนครหรือเจ้าเมืองถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเป็นเมือง ดังนั้นเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้าเมืองทั้งหลายของล้านนา ในช่วงรอยต่อยุคจารีตกับยุครวมเข้ากับสยามเหล่านี้ จึงอาจถือได้ว่าเป็น “ผีเมือง” อีกตนหนึ่ง ที่ได้รับการเคารพบูชาจากเหล่าทายาทและชาวบ้านชาวเมืองในปัจจุบัน อันมีรากฐานมาจากผู้คนยังมีความคิดความเชื่อฝังในใจเกี่ยวกับเจ้าบ้านผ่านเมือง ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ เนื่องจากในยุคจารีตชาวเมืองถือว่าเจ้าผู้ครองนครและเจ้าเมืองเป็น“บุคคลศักดิ์สิทธิ์” ของบ้านเมือง เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมของบ้านเมือง สามารถทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ทำให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์และสงบสุข ประกอบกับเป็น “วีรบุรุษ” ที่ยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คน และเป็นเสมือน “บุคคล” หรือ “ภาพตัวแทน” ที่เชื่อมโยงรอยต่อของอดีต(จารีต)เข้ากับปัจจุบัน “เจ้าเหนือหัวของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน” ในอดีต จึงกลายเป็น “ผีอารักษ์” ที่ได้รับการเซ่นสรวงเคารพบูชาให้คอยคุ้มครองรักษา และเป็นที่พึ่งพาทางจิตวิญญาณของชาวบ้านชาวเมืองในยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามกระแสการรื้อฟื้นความเป็น “เจ้า” ของเมืองลอง ก็ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสประวัติศาสตร์ชาติไทย มีความเป็น “ท้องถิ่นชาตินิยม” ที่ยึดเอาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นแกนหลักในการอธิบายประวัติศาสตร์ ดังนั้นจึงมีการพยายามเชื่อมโยงประวัติเจ้าเมืองลองให้เข้าสัมพันธ์กับราชวงศ์จักรี ดังปรากฏเรื่องเล่าต่างๆ ที่มาจากกลุ่มทายาทและผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังเหลือความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องเจ้าเมืองลอง โดยเฉพาะพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลองคนสุดท้าย ที่ชาวเมืองเรียกพ้องกับนามเดิมว่า “พญาคันธสีมา” หรือเรียกสามัญว่า “พ่อเฒ่าเจ้า” ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนแต่เติบโตมาท่ามกลางกระแสสร้างความเป็นชาติไทย และผ่านระบบการศึกษาระบบโรงเรียน ประกอบกับการถูกฆาตกรรมของเจ้าเมืองลองคนสุดท้ายก็ถูกปิดให้เป็นปมเงื่อนงำ ที่อดีตแม้แต่ทายาทรุ่นบุตรธิดาที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ก็ไม่อยากจะนำเรื่องราวมาบอกเล่า แต่หลังทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นต้นมาเริ่มมีเรื่องเล่าจากทายาทรุ่นหลานที่เชื่อมโยงเจ้าเมืองลอง “วีรบุรุษของท้องถิ่น” เข้ากับสยาม(ราชวงศ์จักรี) เรื่องเล่าที่สำคัญ คือ

(๑) เจ้าเมืองได้นำเหล็กลองส่งไปเป็นเครื่องราชบรรณาการ ให้พระเจ้าอยู่หัว(สยาม)ที่กรุงเทพฯ ทุกปี

(๒) พญาคันธสีมานำ “ไม้สักซาวก๋ำซาววา”(๒๐ กำ ๒๐ วา) จำนวน ๒ ต้นไปถวายรัชกาลที่ ๔ และได้ทรงนำไปทำเสาชิงช้าที่กรุงเทพฯ

(๓) รัชกาลที่ ๔ โปรดปรานพญาคันธสีมามาก เพราะได้นำ “ไม้ซาวก๋ำซาววา” และเหล็กลองลงไปถวาย จึงจะยกเมืองลองขึ้นเป็นเมืองเอก(ประเทศราช) แต่เจ้าผู้ครองนครลำปางอิจฉาจึงได้ส่งเงี้ยวมาฆ่า ตั้งแต่นั้นมาจึงไม่มีเจ้าเมืองลอง

อีกทั้งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับอภินิหารของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เมื่อตอนยังมีชีวิตอีกมากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องไม้สักที่นำไปทำเสาชิงช้าที่กรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับทายาทและคนในอำเภอลองมากที่สุด จึงปรากฏแต่ละท้องที่ภายในอำเภอลองแม้แต่บริเวณที่เคยเป็นเมืองต้า ต่างก็กล่าวว่าพญาขัณฑสีมาโลหะกิจเข้ามาตัดไม้ในบริเวณพื้นที่ไปถวาย เช่น บ้านปิน ตำบลบ้านปิน เล่าว่าตัดไม้จากห้วยแม่ยาก(บ้านปิน) บ้านไฮสร้อย ตำบลปากกาง เล่าว่าตัดไม้จากห้วยแม่พอก(ทิศใต้วัดพระธาตุปูตั้บ) หรือบ้านม่อน ตำบลเวียงต้า เล่าว่าตัดไม้จากห้วยไม้ทุง(ป่าแม่ต้า)

หลังจากที่ระบบการปกครองตนเองของเมืองลองล่มสลาย มาสู่ยุคปัจจุบันที่กลายเป็นเพียงอำเภอชายขอบของจังหวัดแพร่และประเทศไทย เมื่อเกิดเรื่องเล่าลักษณะนี้ขึ้นและเสาชิงช้าก็ถูกสร้างให้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีแหล่งที่มาจากอำเภอลองและเจ้าเมืองลองเป็นผู้จัดหาถวาย จึงแสดงถึงความจงรักภักดีของเจ้าเมืองลอง ขณะเดียวกันก็ยกระดับสถานภาพของทายาทเจ้าเมืองลองและอำเภอลองให้สูงขึ้นในสังคมไทยไปพร้อมกัน และเป็นการสร้างความรู้สึกของคนภายในอำเภอลองว่าไม่ได้โดดเดี่ยวจากส่วนกลาง เป็นพื้นที่ที่มีความหมาย มีคุณค่าต่อสังคมไทย ซึ่งเรื่องเล่าเหล่านี้บางส่วนมีต้นเค้ามาจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริง(ดังกล่าวรายละเอียดในบทที่ ๒) แต่ผู้คนในยุคหลังที่ถูกปรับเปลี่ยนครอบงำทางความคิด จึงเก็บเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาเชื่อมเรื่องราวความทรงจำในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้ากับประวัติศาสตร์ชาติไทย ขณะเดียวกันวัตถุประสงค์สำคัญอีกประการก็เพื่อให้เห็นความสำคัญของ “วีรบุรุษท้องถิ่น” ที่แอบอิงอยู่กับสถาบันกษัตริย์ไทย ดังนั้นเรื่องราวประวัติของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจจึงเป็น “ตำนานวีรบุรุษ” ของอำเภอลองอีกชุดหนึ่งในยุคปัจจุบัน แต่ก็เป็นเรื่องที่มีอิทธิพลแพร่หลายจำกัดอยู่เฉพาะภายในอำเภอลอง หรืออำเภอวังชิ้นที่อยู่ใกล้เคียงผู้คนไปมาหาสู่กันอยู่เสมอเท่านั้น เพราะไม่ปรากฏมีการจัดพิมพ์เผยแพร่หรือรับรู้จากส่วนกลาง หรือแม้แต่เอกสารภายในอำเภออื่นๆ ของจังหวัดแพร่เอง

ส่วนต้นปฐมสกุลวงศ์ของเจ้าเมืองลอง คือ “เจ้าช้างปาน” ก็เป็นวีรบุรุษอีกผู้หนึ่งของเมืองลอง ที่มีการจดจำและเล่าสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น การเป็นวีรบุรุษของท้องถิ่นสะท้อนจากคนในพื้นที่นำเอาเรื่องราววีรกรรมของเจ้าช้างปาน มาผูกเชื่อมโยงในลักษณะของตำนานเข้ากับสถานที่เพื่ออธิบายที่มาของพื้นที่ในท้องถิ่น เช่น

“เจ้าช้างปานเดินทางไปคล้องช้างผ่านสถานที่แห่งหนึ่งจึงนำผ้ามาตาก ที่นั่นจึงเรียกว่า “ห้วยไม้ฮาว” เดินต่อไปอีกก็เอาซ้า(ตระกร้า)ไปห้อยกิ่งไม้ไว้จึงเรียกสถานที่นั้นว่า “ม่อนซ้าห้อย” เมื่อไปคล้องช้างที่มีลายเสือคล้ายปานได้จึงเรียกบริเวณนี้ว่า “น้ำแม่ปาน” ภายหลังตั้งหมู่บ้านขึ้นจึงเรียกว่า บ้านแม่ปาน”

“เจ้าช้างปาน” จึงเป็นวีรบุรุษของเมืองลองอีกผู้หนึ่งที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนในเมืองลอง จึงมีการจัดสร้าง “พระธาตุพญาช้างปาน” ในปีพ.ศ.๒๕๔๙ ขึ้นที่วัดแม่ปาน ตำบลแม่ปาน อันเป็นแหล่งที่ต้นบรรพบุรุษจับช้างลายเสือที่ออกกินข้าวไร่ของชาวเมืองลองได้ และนำถวายเจ้าเมืองลำปางเพื่อขอรับรองแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองเมื่อพ.ศ.๒๑๔๒ นำโดยพระครูวิจิตรนวการโกศล หรือ ครูบาสมจิต เจ้าอาวาสวัดสะแล่ง ผู้สืบเชื้อสายหนึ่งของเจ้าเมืองลองสกุลวงศ์นี้ เป็นหลานลุงและลูกศิษย์ของพระครูเกษมรัตนคุณ(ครูบาแก้ว) เจ้าคณะอำเภอลอง ที่มีส่วนเริ่มต้นผลักดันการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนเมืองลองมาตั้งแต่ยุคแรก ซึ่งครูบาสมจิตได้สืบทอดเจตนารมภ์ของการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง และเป็นหนึ่งในผู้นำการรื้อฟื้นอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของเมืองลอง ตลอดจนสนับสนุนผู้ที่รื้อฟื้นกลุ่มต่างๆ อยู่เสมอตราบปัจจุบัน จนกระทั่งได้รับรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณ “คนดีศรีเมืองลอง” ในพ.ศ.๒๕๓๘ ซึ่งเป็นรางวัลของทางข้าราชการอำเภอ นักการเมืองท้องถิ่น และสภาวัฒนธรรมอำเภอลองที่มอบให้กับ “ชาวเมืองลอง” ผู้ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับ “เมืองลอง”

การสร้างพระธาตุพญาช้างปาน จึงเป็นการนำบุคคลที่เคยปรากฏในตำนานออกมาปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านสัญลักษณ์ของ “พระธาตุ” แสดงถึงพัฒนาการของการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองที่สามารถนำทุนวัฒนธรรมความเป็นเมืองลองทั้ง ๓ (เจ้า,พุทธ,ผี) มาหลอมรวมเข้าไว้ในที่แห่งเดียวผ่านสัญลักษณ์ของ “พระธาตุพญาช้างปาน” ขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำความสำคัญของเจ้าช้างปานในฐานะปฐมบรรพบุรุษของเจ้าเมืองลอง และเป็นตระกูลที่มีความเก่าแก่ ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับทายาทตลอดจนผู้คนที่มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพื้นที่เมืองลอง และความภาคภูมิใจนี้ก็นำมาสู่ความพยายามค้นหาตัวตนของเหล่าทายาทของเจ้าเมืองลอง จึงปรากฏมีความคิดจะจัดทำสายสาแหรกตระกูลเจ้าเมืองลองที่สืบมาถึงลูกหลานในรุ่นปัจจุบัน โดยการสัมภาษณ์ทายาทเจ้าเมืองลองรุ่นหลานและผู้เฒ่าผู้แก่เท่าที่จะสามารถย้อนไปได้ไกลที่สุด

การรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองผ่าน “เจ้าเมืองลอง” ไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มของผู้สืบเชื้อสาย ขณะเดียวกันจากที่เคยประสานการสร้างและรื้อฟื้นกับกลุ่มพระสงฆ์ในช่วงต้น ก็ค่อยขยายส่งผ่านถึงกลุ่มข้าราชการ ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาให้เกิดความสำนึกหวงแหนในความเป็นเมืองลองที่ผูกติดเชื่อมโยงกับเจ้าเมืองลอง ดังปรากฏคำกล่าวของเยาวชนผู้ที่มีส่วนร่วมในการสืบค้นประวัติของเจ้าเมืองลองว่า

“...เมืองลอง เมืองอ้อมกอดแห่งขุนเขา เมืองแห่งมหาธาตุศักดิ์สิทธิ์ เมืองหน้าด่านแห่งล้านนา นครอันรุ่งเรืองในอดีต แลมาบัดนี้เหลือเพียงซากอิฐ ฝากไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษ และเจ้าเมืองทุกองค์ที่ปกครองเมืองลองมา สืบไปภายหน้า...”

ด้วยความสำนึกหวงแหนรักษา จึงมีคนหลากหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองผ่านทุนวัฒนธรรมเจ้าเมืองลอง ดังเช่นกรณีของเจ้าอาวาสวัดแม่ลานเหนือร่วมมือกับทายาทเจ้าเมืองลอง โดยเฉพาะทายาทที่เป็นข้าราชการหรือนักการเมืองภายในท้องถิ่น จัดสร้าง “คุ้มเจ้าพระยาคันธสีมาโลหะกิจฯ เจ้าครองเมืองลอง” ในปีพ.ศ.๒๕๔๙ ที่จำลองจากแบบจริงของโฮงไชยหรือคุ้มของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจแต่ย่อขนาดให้เล็กลง แล้วพยายามรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ ชิ้นส่วนไม้คุ้มเก่า และรูปภาพทายาทจัดแสดงไว้ ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดแม่ลานเหนือ(วัดคันธารส) อันเป็นวัดที่พญาขัณฑสีมาโลหะกิจสร้างและอุปถัมภ์ ต่อมาสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับเจ้าเมืองลอง และวัฒนธรรมภูมิปัญญาพื้นบ้านชุมชนวัดแม่ลานเหนือ มีการจัดตั้งมูลนิธิเจ้าพญาคันธสีมาเพื่อนำเงินมาใช้เนื่องในกิจกรรมที่เกี่ยวกับเมืองลอง และช่วงพ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้นมาได้ติดป้ายประกาศและระดมจัดหาทุนเพื่อสร้างศาลหลังใหม่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม ซึ่งสร้างแล้วเสร็จในพ.ศ.๒๕๕๓

ขณะเดียวกันส่วนที่อื่นๆ ของอำเภอลองก็มีการนำเรื่องราวของเจ้าเมืองลองตลอดจนเจ้าเมืองต้ามาเผยแพร่ เช่น พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง มีห้องจัดแสดงจำลองแท่นที่นั่งออกว่าการเมืองของเจ้าเมืองลอง จัดแสดงเครื่องเทียมยศ ข้าวของเครื่องใช้ของเจ้าเมืองลอง เจ้าเมืองต้า และเริ่มขยายการตื่นตัวถึงเชื้อสายกลุ่มผู้ปกครองเมืองลองลำดับรองลงมา ดังปรากฏทายาทกลุ่มผู้ปกครองเมืองลองทั้งพ่อเมือง แม่ทัพ แสน ท้าว หาญ และหมื่น ได้มอบสิ่งของและบอกเล่าประวัติความเป็นมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงคณะนักเรียนโรงเรียนลองวิทยา ก็จัดตั้งกลุ่มสืบค้นประวัติพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะครู ทายาทพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ(รุ่นหลาน) คณะสงฆ์ ข้าราชการอำเภอ(นายอำเภอลอง)และผู้รู้ท้องถิ่น และจัดพิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่ในพ.ศ.๒๕๔๙ พร้อมกับมีการแต่งคำสดุดีอดีตเจ้าเมืองลอง และคำสดุดีพญาขัณฑสีมา โลหะกิจ เจ้าเมืองลองคนสุดท้ายออกเผยแพร่เกียรติประวัติออกเผยแพร่เกียรติประวัติ เช่น

“กลอนสดุดีเจ้าเมืองลอง

ไหว้สานบบาทเจ้า เมืองลอง

แดนดินถิ่นเมืองทอง กู่บ้าน

เชียงชื่นมิ่งเมืองธรรม บุญถิ่น เวียงเอ่

บุญบาทเจ้าหล่อล้อม ปกเกล้า จาวเมือง

ได้เอาใจ๋ใส่สร้าง เวียงงาม

สักก์สิทธิ์ชุโมงยาม ยอดแล้ว

กุกุฏไก่เอิกนาม โบราณ งามเอ่

เมืองลองแม่นเมืองแก้ว ม่วนแม้น แดนสวรรค์

ชุมชนนบบาทเจ้า มิ่งเมือง

ปางอดีตเกยรุ่งเรือง กู่ฟ้า

เกษมสุขแสนฉนำ ฤาหน่าย องค์เอ่

สร้างเสกเมืองลองมา หน้าด่าน ล้านนาไทย”

“โคลงสี่สุภาพล้านนาสดุดีพระยาคัณธสีมาโลหะกิจ

คัณธสีมาอาราชเรื้อง เมืองลอง

เจิญส่งศรีทิพย์ปอง นึ่งร้า

เทียนตุงจักถวาย เป็นส่วน บุญเอ่

จูงจ่องเมือเมืองฟ้า เสกสร้าง สุราลัย

กราบกงลงเบื้องบาท พ่อเจ้า

แดนดินถิ่นเคยเนา นอนเนื่อง

นามแห่งคัณธสีมา อาราชเรื้อง

น้อมบูชาหื้อรุ่งเรือง พ่อเมืองลอง

ขอน้อมนบดวงวิญญาณ์ มหาบุรุษ

งามล้ำเพ็ญพิสุทธิ์ สว่างหล้า

สมญานามแต่งตั้ง คัณธสีมา

สถิตย์อยู่คู่โลกหล้า ชั่วฟ้านิรันดร์ เทอญ”

ด้วยเจ้าเมืองลองที่ถูกกลุ่มคนภายในอำเภอลองนำมารื้อฟื้นให้เป็นที่รู้จักอีกครั้ง ทั้งแก่คนภายในอำเภอลองเองและคนภายนอก เพราะเจ้าเมืองลองหรือที่มีการนับถือยกย่องเป็น “เจ้าผู้ครองนครเมืองลอง” ในยุคนี้ กลายเป็นสัญลักษณ์หรือแสดงถึงความมีตัวตนของ “เมืองลอง” ได้ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะเจ้าเมืองลองคนสุดท้าย “...พระยาคัณธสีมาฯ เจ้าเมืองผู้ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของเมืองลอง...” จึงสามารถสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนภายในท้องถิ่น และกลายเป็นจุดสำคัญที่ได้รับการเน้นย้ำและนิยมนำมาเผยแพร่ ดังนั้นกรณีการรื้อฟื้นความเป็น “เจ้า” ของเมืองลอง จึงไม่ได้รื้อฟื้นเพื่อให้เห็นความมีตัวตนของเหล่าทายาทที่ยังดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ยังผูกติดกับการแสดงถึงความมีตัวตนของกลุ่มคนทั้งหลายในชุมชน หรือท้องถิ่นอำเภอลองให้มีความหมายและมีคุณค่าในสังคมไทยปัจจุบัน อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์การรื้อฟื้นความเป็น “เจ้า” ของเจ้านายฝ่ายเหนือกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นแต่ละแห่งในภาคเหนือ(ล้านนา) ว่ามีความหลากหลาย โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากสภาพเงื่อนไขตามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ตลอดถึงสถานะของหน่วยทางการปกครอง และสถานภาพของเหล่าทายาทในรุ่นปัจจุบัน

การสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองในช่วงที่สองนี้ จะมีความหลากหลายทั้งรูปแบบของการรื้อฟื้นและกลุ่มคนที่เป็นแกนนำ คือ มีการหยิบยกเอาทุนวัฒนธรรมหัวใจของความเป็นเมืองลองในยุคจารีตมาใช้สร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองครบทั้ง ๓ อย่าง คือ “เจ้า” “พุทธ” “ผี” มีกลุ่มเชื้อสายเจ้าเมืองลองที่แสดงตัวชัดเจน และกลุ่มประชาชนทั่วไปก็เกิดการตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วมหรือมีบทบาทในการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองมากขึ้น โดยมีกลุ่มหน่วยงานสภาวัฒนธรรมอำเภอลอง สภาวัฒนธรรมตำบล องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น และข้าราชการเป็นกลุ่มแกนนำ ที่สามารถเปิดพื้นที่ให้กับจุดต่างๆ ภายในอำเภอลอง ได้รื้อฟื้นความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมากขึ้นและมีพลังมากกว่ายุคก่อนที่ผ่านมา

แต่ทว่าการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนความเป็นเมืองลองตั้งแต่แรกเริ่มจนมาถึงปัจจุบัน เป็นการผูกติดท้องถิ่นเข้ากับความเป็นชาติไทยและกษัตริย์ไทย ยังไม่สามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงของความเป็น “เมืองลอง” อิสระจาก “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ได้ เพราะมีปัจจัยสำคัญมาจากระบบราชการของ “รัฐไทย” ที่ได้สร้างหน่วยการปกครองรูปแบบใหม่มาตั้งแต่พ.ศ.๒๔๔๒ ค่อยปรับเปลี่ยนความทรงจำร่วมจากการรับรู้ในหน่วย “เมือง” เป็นหน่วยจังหวัด อำเภอ และตำบล โดยเฉพาะหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่สุด คือ “จังหวัด” ได้ถูกผลิตซ้ำส่งการรับรู้ผ่านสื่อที่หลากหลาย จึงมีอิทธิพลต่อมุมมองการรับรู้ “ความเป็นกลุ่มคน” ของคนทั้งภายในท้องถิ่นและจากคนภายนอกในยุคปัจจุบัน มากกว่าหน่วยขนาดเล็กอื่นๆ ในรูปของอำเภอและตำบล ที่เคยมีรากฐานความเป็นบ้านเป็นเมืองและมีประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมของตนเอง ควบคู่กันมากับเมืองที่ได้รับการจัดตั้งจากรัฐไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางและนำชื่อบ้านนามเมืองมาเป็นชื่อของจังหวัด

โดยเฉพาะ ณ ปัจจุบันประวัติศาสตร์ความเป็นชาติไทย “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐผไทของไทยทุกส่วน” ชุดนี้ ยังคงทรงพลังและทรงอิทธิพลสูง ได้เข้าไปกล่อมเกลาเยาวชนตั้งแต่แรกจำความได้ ถูดสอดแทรกให้รับรู้ผ่านสื่อทั้งหลายโดยทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวอยู่เสมอ ทุกที่ และทุกขณะเวลา ประวัติศาสตร์เรื่องราวความเป็นชาติไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ที่ภาครัฐได้หยิบยื่นเชิดชูขึ้นเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก จึงเข้ามาแทนที่และบั่นทอนความทรงจำร่วมของผู้คนในท้องถิ่น ลดทอนความมีลักษณะเฉพาะของความเป็น “เมืองลอง” “เมืองต้า” หรือ “คนเมืองลอง” “คนเมืองต้า” ลงไปอย่างไม่รู้ตัว จนมีผลต่อการขาดความเข้าใจตัวตนของผู้คนในท้องถิ่นกับประวัติศาสตร์ของท้องที่ตนอยู่อาศัย รวมถึง “รากเหง้า” “บรรพบุรุษ” ที่กำลังถูกตัดขาดให้หลุดลอยห่างไกลจากความเป็นตัวตนของท้องถิ่นออกไปทุกขณะ ซึ่งการสนับสนุนให้คนในพื้นที่ศึกษาทำความเข้าใจรากเหง้าของตนเอง แม้ว่ารากเหง้านั้นอาจสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้คนยุคปัจจุบัน แต่ก็สามารถชี้ชัดถึงเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ให้แก่คนในพื้นที่ได้เข้าใจอย่างมีเหตุผล จะส่งผลให้แต่ละชุมชนเกิดความภาคภูมิใจและนำมาสู่พลังของท้องถิ่นที่เข้มแข็ง มากกว่ามีประวัติศาสตร์คลุมเครือและลับลวงพราง ที่รั้งแต่จะทำให้ภายในท้องถิ่นหรือระหว่างแต่ละท้องถิ่นเกิดความแตกแยก ดังนั้นแต่ละชุมชนทั่วทุกมุมของ “ประเทศไทย” ในยุคปัจจุบัน หากคนในพื้นที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ “รากเหง้า” ของความเป็นท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัย แม้จะมีนโยบายสนับสนุนให้ “สำนึกรักบ้านเกิด” กี่ร้อยกี่พันโครงการ ก็เป็นเพียงนำ “ใบ ดอก ผล” ติดยอด “กิ่ง ก้าน สาขา” แต่ไร้ “ราก” หล่อเลี้ยงหยั่งลึกลงผืน “แผ่นดิน”

การสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง เป็นวาทกรรมที่หยิบมาจากทุนวัฒนธรรมเดิมมาสู่การแสดงตัวตนของ “เมืองลอง” พร้อมกับนิยามความหมายให้คนในพื้นที่ โดยได้ “เลือก” “เว้น” “คัดสรร” “ปรับเปลี่ยน” บางอย่างเพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน ประกอบกับความเป็นเมืองลอง ได้ถูกสร้างและรื้อฟื้นขึ้นในท่ามกลางบริบทของการสร้างความเป็นชาติไทย และมีการติดต่อประสานงานกับภาครัฐอยู่เสมอ ดังนั้นแต่ละกลุ่มคนภายในเมืองลองจึงไม่ได้ผูกขาดการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนอย่างอิสระ แต่มีลักษณะเป็นการแสดงตัวตนในรูปแบบของ “ท้องถิ่นชาตินิยม” ที่แอบอิงอยู่กับกษัตริย์ไทยหรือชาติไทย ซึ่งแต่ละกลุ่มที่สร้างและรื้อฟื้นในแต่ละช่วงเวลาจะมีพลังแตกต่างกันไปตามบริบทและเงื่อนไข โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญของการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง คือ เพื่อทั้งให้คนในท้องถิ่นมีความภาคภูมิใจในถิ่นเกิด ขณะเดียวกันก็ให้บุคคลภายนอกเห็นคุณค่าและรับรู้ความมีตัวตนของเมืองลองในสังคมไทยควบคู่กัน

การสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองช่วงแรก ได้ดึงเอาทุนวัฒนธรรมพุทธศาสนามาเป็นหลัก โดยมีพระสงฆ์เป็นศูนย์รวมหรือผู้นำเชื่อมคนหลากกลุ่มเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน กลุ่มคนที่เข้าร่วมยังไม่มีความหลากหลาย ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ในกลุ่มของพระสงฆ์ ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น พ่อค้าแม่ค้า และปราชญ์ท้องถิ่น จนกระทั่งถึงช่วงที่สองเมื่อบริบททางการเมืองเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นแสดงความเป็นตัวตนมากขึ้น จึงนำเอาทุนวัฒนธรรมความเป็นเมืองลองทั้ง “เจ้า” “พุทธ” “ผี” กลับขึ้นมาสร้างและรื้อฟื้น ช่วงนี้จึงได้ขยายวงกว้างครอบคลุมถึงพระธาตุทั้งห้าองค์ มีจัดงานแบบใหม่ที่แอบอิงเข้ากับประเพณีของพระธาตุที่มีมาแต่โบราณ ในส่วนของ “ผี” และ “เจ้า” ก็เริ่มปรากฏนำมาสร้างผ่านการสร้างรูปเคารพ วัตถุเครื่องลางของขลัง ผ้าซิ่นตีนจก หรือมีการแสดงตนตัวรื้อฟื้นความเป็น “เจ้าเมืองลอง” ชัดเจนขึ้น กลุ่มทายาทเจ้าเมืองลองจึงเป็นอีกกลุ่มที่มีบทบาทในช่วงนี้ พร้อมกับกลุ่มประชาชนทั่วไปก็เข้ามามีส่วนร่วมมากกว่าที่ผ่านมา โดยมีสภาวัฒนธรรมอำเภอลองเป็นแกนนำหลักประสานกับคนกลุ่มต่างๆ ส่งผลให้การสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองช่วงนี้มีเครือข่ายขยายวงกว้างและทรงพลัง ดังนั้นการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือชั่วครู่ แต่มีอย่างสืบเนื่องเป็นกระบวนการและพลวัต ที่ส่งผ่านทั้งประเพณี พิธีกรรม การศึกษา เศรษฐกิจการค้า และสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่โลกแห่งการติดต่อสื่อสารไร้พรมแดน เปิดกว้างให้มีสิทธิเสรีภาพทางความคิด จึงยิ่งทำให้มีการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของเมืองลองมาจากกลุ่มคนที่มากมายหลากหลายรูปแบบและมีพลังเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ อีกทั้งยังจะมีต่อไปในอนาคตอย่างที่ไม่สามารถหยุดยั้ง หรือควบคุมการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นตัวตนของเมืองลองนี้ได้

ผ้ายันต์พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ (ที่มา : วัดแม่ลานเหนือ, สร้างเมื่อพ.ศ.๒๕๔๑)

 

เหรียญพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ  เจ้าเมืองลองคนสุดท้าย (ที่มา : วัดแม่ลานเหนือ, สร้างเมื่อพ.ศ.๒๕๔๑)

 

พระครูเกษมรัตนคุณ (ครูบาแก้ว) (ภาพซ้าย) พระครูวิจิตรนวการโกศล (ครูบาสมจิต) (ภาพขวา)

 

พิพิธภัณฑ์วัดแม่ลานเหนือที่จำลองรูปแบบคุ้มของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๔)

 

ศาลเจ้าพ่อพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ  เจ้าเมืองลอง  ที่หน้าวัดแม่ลานเหนือในปัจจุบัน (ที่มา : ภูวดล  แสนสา, ๒๕๕๔)

 

จัดจำลองแท่นนั่งของเจ้าเมืองลองในพิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง ด้านขวาวางบนพานเป็นกุบละแอจิกคำของเจ้าเมืองลองคนสุดท้าย (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง)

 

ทายาทรุ่นหลานของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจในปัจจุบัน พระอธิการจันทร์คำ  ญาณคุตฺโต  อายุ  ๘๖  ปี

 

พ่อหนานอินจันทร์  ไชยขันแก้ว  อายุ  ๙๔  ปี

 

แม่บัวจิ๋น  ปิ่นไชยเขียว  ทายาทรุ่นหลานที่อายุน้อยที่สุด  อายุ  ๘๒  ปี(ภาพซ้าย) (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๔)

พระธาตุพญาช้างปาน บนยอดม่อนดอยบ้านแม่ปาน (ที่มา : ภูวดล  แสนสา, ๒๕๕๔)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 19 •มิถุนายน• 2013 เวลา 09:32 น.• )