ก้อนแร่เหล็กลอง “ตับเหล็กลอง” และก้อนหินรูปลักษณะเหมือนขมิ้น “ขมิ้นหิน” : ทุนวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องผีเมืองสู่สัญลักษณ์ของเมืองลอง วัตถุมงคลและเครื่องลางของขลังได้กลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยเฉพาะของคนในพื้นที่ เป็นทุนมรดกทางวัฒนธรรมอีกสิ่งหนึ่งของเมืองลองที่ถูกนำมาผูกติดกับเศรษฐกิจ ขณะ เดียวกันก็ประทับตรา “เมืองลอง” ให้เป็นที่รับรู้ติดไปด้วยทุกหนแห่ง ช่วงก่อนหน้านี้นิยมขุดหาพระเครื่องจากกรุวัดร้างภายในอำเภอลองและวังชิ้น แต่เมื่อเริ่มหายากและมีราคาสูงจึงจัดสร้างพระใหม่ขึ้นแทนโดยใช้พระจากกรุเก่าของเมืองลองเป็นต้นแบบ การสร้างพระเครื่อง วัตถุมงคล และเครื่องรางของขลังเหล่านี้ จึงมีส่วนในการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองด้วย เพราะสามารถเป็นตัวที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของสถานที่ ตลอดจนเจ้าพิธี และผู้จัดทำ ซึ่งในอำเภอลองมีการสร้างเหรียญพระเครื่องขึ้นครั้งแรกในพ.ศ.๒๕๐๐ หลังจากนั้นก็มีประปราย เช่น สร้างเหรียญครูบาสมจิตรุ่น ๑ พ.ศ.๒๕๑๔ ซึ่งเป็นครั้งแรกในอำเภอลองที่สร้างเหรียญพระเถระที่ยังมีชีวิตอยู่ และรุ่น ๒ พ.ศ.๒๕๑๘ หรือสร้างเหรียญครูบาอินทจักร วัดต้าเวียง บ้านม่อน ตำบลเวียงต้า พ.ศ.๒๕๑๗ แต่มาในช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐ เป็นต้นมาประเทศไทยเกิดเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลทำเกิดวิกฤตทางความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจหน้าที่การงาน ผู้คนจึงนิยมแสวงหาพระเครื่องเครื่องรางของขลังเพื่อเพิ่มความมั่นใจ วงการพระเครื่อง วัตถุมงคล และเครื่องรางของขลังจึงมีความตื่นตัว ส่งผลถึงในอำเภอลองก็เกิดการตื่นตัวขึ้นด้วย ดังนั้นช่วงนี้ภายในอำเภอลองจึงมีการสร้างวัตถุมงคลที่หลากหลายมากกว่าช่วงก่อนที่ผ่านมา ที่จำกัดอยู่เฉพาะสร้างเหรียญพระพุทธรูป พระมหาครูบาเถระ แต่ช่วงนี้ได้มีการนำผีบ้านผีเมือง ผีเจ้าเมืองนำมาสร้างเป็นวัตถุมงคล หรือแม้แต่วัตถุของขลังภายในท้องถิ่นก็ถูกนำขึ้นมาทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น

วัตถุเครื่องรางของขลังที่มีในท้องถิ่นเมืองลองมีมากมายหลายอย่าง เป็นที่เชื่อถือของคนภายในท้องถิ่นและบริเวณใกล้เคียงมาแต่โบราณ แต่มาถึงยุคนี้วัตถุเครื่องลางของขลังเหล่านี้ได้ถูกนำมาทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางถึงในระดับประเทศ ที่ผูกติดอยู่กับสัญลักษณ์ของความเป็นเมืองลอง โดยมีกลุ่มพระสงฆ์เป็นผู้นำสำคัญในการจัดสร้าง ซึ่งเครื่องลางของขลังที่ผูกติดกับความเป็นเมืองลองได้ชัดเจนมี ๒ อย่าง คือ

(๑) ตับเหล็กลอง ที่ดอยบ่อเหล็กลอง(บ่อแฮ่) ระหว่างบ้านนาตุ้มหมู่ที่ ๒ ตำบลบ่อเหล็กลองกับบ้านแม่ลอง ตำบลบ่อเหล็กลอง

(๒) ขมิ้นหิน ที่ม่อนเข้าหมิ้น ระหว่างบ้านนาตุ้ม(ทุ่งเจริญ)หมู่ที่ ๓ ตำบลบ่อเหล็กลองกับบ้านไฮสร้อย ตำบลปากกาง

ความเป็นเมืองลองผ่าน “ตับเหล็กลอง” และ “ขมิ้นหิน” แหล่งที่มีตับเหล็กลองและขมิ้นหิน อยู่ในขอบเขตบริเวณของการพัฒนาจากชุมชนระดับหมู่บ้านแล้วเกิดการสร้างบ้านแปลงเมืองลองขึ้นแห่งแรกในแอ่งลอง และแร่เหล็กก็เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาในครั้งนั้น ตลอดถึงการธำรงอยู่ของความเป็นเมืองลองที่ผ่านทั้งจากผลิตผลจากแร่เหล็กโดยตรงและพิธีกรรม ทั้งแร่เหล็กและผู้นำครอบครอง(พ่อเฒ่าหลวง)ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จึงได้รับการเคารพนับถือจากคนในท้องถิ่นเสมอมา ดังผีอารักษ์บ่อเหล็กลอง(พ่อเฒ่าหลวง)มีการสถาปนาให้เป็นผีหลวงของเมืองผู้ปกปักรักษาเมืองลองมาตั้งแต่ยุคจารีต ซึ่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐ ชาวบ้านชาวเมืองในแขวงเมืองลองก็บนบานให้ผีอารักษ์บ่อเหล็กคุ้มครอง ปรากฏว่าลูกระเบิดขนาดใหญ่ที่ทหารทิ้งบริเวณอำเภอเมืองลองครั้งนั้นจำนวน ๔ ลูก เกิดระเบิดเพียงลูกเดียวที่สะพานห้วยแม่ต้า ส่วนอีก ๓ ลูกลูกระเบิดเกิดด้านไม่ระเบิด (ช่วงพ.ศ.๒๕๑๖ ได้นำระเบิดไปถวายวัดเพื่อทำเป็นระฆัง คือ วัดพระธาตุศรีดอนคำ วัดแม่ลานเหนือ และวัดนาตุ้ม) จึงยิ่งเน้นย้ำความเชื่อถือเกี่ยวกับผีบ่อเหล็กและตับเหล็กลองว่าสามารถปกปักรักษา “เมืองลอง” ให้เป็น “บ้านข่ามเมืองคง” ผู้พกพาก็อยู่ยงคงกระพันไปด้วย

ส่วนขมิ้นหินคนท้องถิ่นก็เชื่อว่าทำให้ “เมืองลอง” เป็น “บ้านชุ่มเมืองเย็น” รวมถึงผู้ที่ได้ครอบครองอยู่เย็นเป็นสุข และวัตถุทั้ง ๒ ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ภายในตัวด้วยมีผีบ้านผีเมืองรักษา ซึ่งหากอยากให้ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นต้องให้ผีพ่อเฒ่าหลวงที่ผ่านร่างทรง “มนต์” คาถาเสกเป่าให้ และต้องเข้าไปนำเอาออกมาจากแหล่งพื้นที่ในวันเลี้ยงผีเมือง(ผีบ่อเหล็ก) จึงแสดงถึงการเป็นศูนย์กลางอำนาจของผีเมืองที่มีต่อชาวเมืองลองสืบเนื่องต่อมาทุกยุคทุกสมัยได้อย่างชัดเจน

มาถึงยุคนี้เมื่อเกิดการค้นหาตัวตน ค้นหาอดีตอย่างเข้มข้น จึงเกิดการหยิบยกนำเอาวัตถุเครื่องรางทั้ง ๒ ขึ้นเป็นเป็นตัวชูโรงของเมืองลองในรูปของแร่ธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีพลังคุณวิเศษสนองตอบความต้องการของคนทั้งด้านอยู่ยงคงกระพันของ “ตับเหล็ก” และด้านเมตตามหานิยมอยู่เย็นเป็นสุขของ “ขมิ้นหิน” ประกอบกับสามารถแสดงถึงตำแหน่งแห่งที่ แสดงถึงความมีตัวตนของท้องถิ่นเมืองลองผ่านวัตถุศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๒ เหล่าพระสงฆ์หลายวัดจึงได้นำเอาก้อนแร่ตับเหล็กลองและขมิ้นหิน ทั้งที่เป็นแบบตามธรรมชาติสรรค์สร้าง และที่มีการนำมาแปรรูปจัดสร้างเป็นพระเครื่อง มีดหมอ(ดาบสรีกัญไชย) เจียรนัยเป็นหัวแหวน ลูกประคำ มาแจกหรือให้เช่าบูชาสำหรับผู้ที่เข้ามาทำบุญในอำเภอลอง ทั้งที่มาจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ตลอดจนต่างประเทศ เช่น วัดนาตุ้ม นำก้อนตับเหล็กแจกให้ผู้มาทอดผ้าป่าและถวายผ้ากฐินเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะ วัดสะแล่งที่มีคณะศรัทธาจากต่างจังหวัดจำนวนมากมาทำบุญตลอดทั้งปี เนื่องจากเคารพศรัทธาในปฏิปทาของท่าน “ครูบาสมจิต” เจ้าอาวาส ทางวัดจึงได้นำขมิ้นหินและตับเหล็กลอง ทั้งที่เป็น ก้อนแร่ ตลอดจนที่ทำเป็นพระเครื่อง เจียรนัยเป็นหัวแหวน ลูกประคำ เพื่อแจกหรือให้เช่าบูชา และได้มีการศึกษาและให้ความหมายแก่ “ตับเหล็กเมืองลอง” เพิ่มเติมว่าคือ “โคตรเหล็กไหล” เป็นแร่ธาตุสายตระกูลหนึ่งของเหล็กไหล จึงเป็นการเพิ่มความสำคัญและสถานะความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสากลของแร่เหล็กลอง ผ่านความหมายเป็น “เหล็กไหลธาตุกายสิทธิ์”

รวมถึงนำเอาเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ ตำนานประวัติความเป็นมาของก้อนแร่ตับเหล็กและขมิ้นหินของเมืองลอง ออกในรายการสื่อต่างๆ ทั้งรายการวิทยุโทรทัศน์ หนังสือ(เช่น หนังสือนิตยสารโลกทิพย์ หนังสือนิตยสารโลกลี้ลับ และหนังนิตยสารสือทิพย์ ฯลฯ) หรือเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ประกอบกับในช่วงพ.ศ.๒๕๕๐ เกิดกระแสนิยมบูชาท้าวจตุคามรามเทพ ภายในอำเภอลองและอำเภอวังชิ้น ก็มีการสร้างขึ้นหลายรุ่นและมีการประกาศว่านำเอาตับเหล็กเมืองลองเป็นมวลสารผสมด้วย อีกทั้งพระสงฆ์ในอำเภอลองก็มีการนำตับเหล็กลองส่งเข้าร่วมกับมวลสารอื่นๆ เพื่อสร้างวัตถุมงคลถึงกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในช่วงนี้จึงมีการรับรู้เกี่ยวกับแร่ธาตุศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๒ อย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งในวงการพระเครื่องก็ปรากฏนำแร่ธาตุศักดิ์สิทธิ์จากเมืองลองไปเปิดประมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือเจ้าพิธีจัดสร้างวัตถุมงคลจากต่างจังหวัดเข้ามาขอ ตับเหล็กลองเพื่อเป็นมวลสารสร้างวัตถุมงคล ตลอดจนเกิดกรณีมีผู้คนจากต่างจังหวัดแอบเข้ามาขุดก้อนตับเหล็ก ที่ดอยบ่อเหล็กลองเพื่อนำไปจัดทำเครื่องรางของขลังอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อสามารถผลักดันให้ตับเหล็กลองและขมิ้นหินเป็นที่รู้จักของสังคมไทย จึงมีการนำวัตถุอาถรรพ์ทั้ง ๒ ที่เดิมเป็นความเชื่อเรื่องผีเข้ามาเป็นวัตถุมงคลทางพุทธศาสนา ถึงแม้ว่าปัจจุบันในส่วนคติความเชื่อของชาวบ้านยังเน้นเรื่องผี แต่ทว่าพระสงฆ์ในอำเภอลองบางส่วนก็ได้นำเอาคติความเชื่อเรื่องผีมาปรับให้เข้ากับพระพุทธศาสนา เพราะต้องนำเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักแก่คนภายนอกอำเภอลอง ที่อาจมีความแตกต่างด้านสำเนียงภาษาหรือวัฒนธรรมคติความเชื่อ ซึ่งความเชื่อเรื่องผีสำหรับคนบางกลุ่มในยุคปัจจุบันมีทัศนคติแง่ลบว่า “งมงายล้าหลัง” ประกอบกับผีอารักษ์บ่อเหล็กลองหรือผีพ่อเฒ่าหลวงจัดเป็นผีท้องถิ่นไม่ใช่ผีสากล ดังนั้นความเป็นผีท้องถิ่นเมืองลอง(อำเภอลอง)อย่างเดียว ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมยุคใหม่ได้ พระสงฆ์จึงให้ความหมายใหม่ “ผีพ่อเฒ่าหลวง” ที่เป็นผีผู้รักษาบ่อเหล็กลองและเป็นผีหลวงเมืองลองว่าเป็นท้าวเวสสุวรรณ(กุเวร) หัวหน้าแห่งยักษ์ตามคติทางพุทธศาสนา ทั้งที่จากเดิมตำนานบ่อเหล็กลองที่จารไว้ในคัมภีร์ใบลานให้สัญลักษณ์ความเป็น “ลัวะ” ของพ่อเฒ่าหลวงว่า “เป็นยักษ์” และระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “พ่อเฒ่าหลวง” ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา

ประกอบกับมีการนำก้อนแร่ตับเหล็กลองมาผ่านพิธีสวดมนต์ปลุกเสกโดยพระสงฆ์ จึงเท่ากับเป็นการทาบทาและประทับตราความเป็นวัตถุมงคลทางพระพุทธศาสนา ทั้งรูปธรรมผ่านการสร้างเป็นพระเครื่อง ลูกประคำ ฯลฯ และนามธรรมผ่านพิธีกรรมของการจัดสร้าง หรือเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ที่วัดนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง มีการจัดสร้างพระเจ้าทันใจพร้อมกับบรรจุตับเหล็กใส่ไว้ภายในพระพุทธรูป และตั้งนามพระเจ้าทันใจองค์นี้ว่า “พระเจ้าตับเหล็กลอง”(พระเจ้าวัชรธาตุทันใจ) ส่วนขมิ้นหินนั้นก็เป็นความเชื่อเรื่องผีมาแต่ดั้งเดิมเช่นกัน ภายหลังก็เกิดตำนานเชื่อมเข้ากับพุทธศาสนาว่าเป็นขมิ้นที่เหลือจากการนำมาย้อมผ้าจีวรที่บริเวณผาขวาง น้ำแม่ลอง(หน้าวัดนาตุ้ม) ของพระเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าองค์แรกจากห้าองค์ในภัทรกัปนี้ แล้วได้นำหัวขมิ้นที่เหลือมาปลูกที่ม่อนเข้าหมิ้น ด้วยเวลาที่ยาวนานจึงได้กลายเป็นหิน ซึ่งก็มีการขุดขึ้นมาผ่านพิธีกรรมปลุกเสกโดยพระสงฆ์ เพื่อทำให้กลายเป็นวัตถุมงคลทางพระพุทธศาสนาเหมือนกับตับเหล็กเมืองลอง ดังนั้น “ตับเหล็ก” และ “ขมิ้นหิน” ทุนวัฒนธรรมผีเมืองลองในยุคนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์ทางความเชื่อที่ผูกติดกับความเป็นเมืองลองได้อย่างทรงพลัง ที่ผ่านการทาบทาความเป็นพุทธศาสนา เพื่อให้สอดรับกับความคิดและความเชื่อของคนในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะบุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีความทรงจำร่วมของทุนวัฒนธรรมผีเมืองลอง

รวมถึงรูปแบบของการจัดงานประเพณีเลี้ยงผีอารักษ์บ่อเหล็กลอง ที่เริ่มมีหน่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อบต.บ่อเหล็กลอง)และสภาวัฒนธรรมตำบลบ่อเหล็กลองเข้ามาจัดการ ก็มีการปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อให้เข้ากับกระแสการท่องเที่ยวในปัจจุบัน เช่น ยกระดับความเป็น “ผี” ขึ้นเป็น “เจ้าพ่อ” เพราะต้องประชาสัมพันธ์ให้กับคนภายนอกได้รับรู้ เพื่อไม่ให้ดู “งมงายล้าหลัง” สำหรับสายตาคนภายนอก ดังนั้นคำว่า “เลี้ยงผี” แบบเดิมจึงใช้พูดคุยกันภายในท้องถิ่น หากเป็นใช้เป็นทางการหรือให้คนภายนอกรับรู้จะใช้คำว่า “เลี้ยงเจ้าพ่อ” ซึ่งในช่วงนี้ภายในอำเภอลองไม่ว่าจะเป็น “ผีเมือง” “ผีปู่ย่า” “ผีเจ้าที่” ล้วนกลายเป็น “เจ้าพ่อ” “เจ้าแม่” เช่น ผีปู่หนานสิกข์ใหม่ ผีเจ้าที่บริเวณบ้านแม่ลาน เมื่อสร้างมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาลัยเขตเมืองลอง และเผยแพร่ทางสื่อได้มีการเรียกชื่อใหม่ว่า “เจ้าพ่อทิดสึกใหม่” หรือผีอารักษ์บ่อเหล็ก ก็ได้เรียกใหม่เป็น “เจ้าพ่อบ่อเหล็กลอง” ฯลฯ เพื่อให้เข้ากับสมัยนิยม ขณะเดียวกันก็เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงท้องถิ่น ที่ได้พยายามเปิดพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักแก่สังคมภายนอกมากขึ้น