เมืองลองผ่านสัญลักษณ์พระพุทธรูปประจำเมือง พระเครื่อง และวัตถุมงคล จากคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชนเรื่องอายุพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี ที่หากสิ้นช่วงอายุพระศาสนานี้ไปก็จะเป็นกลียุคไม่มีพุทธศาสนาให้ผู้คนได้พึ่งพิงอีกต่อไป จนกว่าพระศรีอริยเมตตรัย พระพุทธเจ้าองค์ต่อไปจะตรัสรู้และประกาศพุทธศาสนาครั้งใหม่ ซึ่งต้องรอระยะเวลาที่ยาวนานมากจนยากคณานับได้ อาศัยความเชื่อนี้รัฐบาลจึงจัดเตรียมงานฉลองพระพุทธศาสนาอายุครบ ๒๕ พุทธศตวรรษในพ.ศ.๒๕๐๐ จึงทำให้พระสงฆ์แต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอในท้องที่ประเทศไทยเกิดตื่นตัว มีการจัดเตรียมการต่างๆ เพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองปีสำคัญทางพุทธศาสนาครั้งนี้ ทางส่วนกลางรัฐบาลได้จัดหล่อพระพุทธลีลาขนาดใหญ่สูง ๒,๕๐๐ นิ้วขึ้นที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พร้อมจัดสร้างเหรียญ ๒๕ พุทธศตวรรษ ขณะที่ทางจังหวัดแพร่ก็ได้หล่อพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแพร่ในพ.ศ.๒๔๙๘ ตั้งพระนามว่า “พระพุทธโกศัยฯ” พร้อมจัดสร้างเหรียญพระพุทธโกศัยด้วยเช่นกัน มีการจัดพิธีอย่างใหญ่โตโดยมีสมเด็จพระสังราช(ปลด กิตฺติโสภณ) วัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพฯ มาเป็นประธานในพิธี การเตรียมงานฉลองกึ่งพุทธกาลกับการจัดสร้างพระพุทธรูปประจำเมืองแพร่ จึงเป็น ๒ กระแสหลักในช่วงนี้ที่เข้ามาสู่อำเภอลอง

ขณะที่ในอำเภอลองเองก็เริ่มเกิดกระแสนิยมพระเครื่องขึ้น ที่สืบเนื่องมาจากช่วงเกิดสงครามอินโดจีนในพ.ศ.๒๔๙๗ พนักงานรถไฟสถานีบ้านปิน ทหาร และตำรวจที่เป็นคนไทยภาคกลาง เริ่มหาซื้อพระเครื่องเพื่อบูชาและนำไปจำหน่ายที่ตลาดพระกรุงเทพฯ โดยให้ชาวบ้านเก็บพระที่กระจายอยู่ตามพื้นดินท้องนาของวัดร้างบ่อแก้ว(บ้านปิน)มาขายให้องค์ละ ๕๐๐ บาท และขยายไปตามวัดร้างในอำเภอลองและกิ่งอำเภอวังชิ้น ทำให้คนในอำเภอลองเห็นว่าพระเครื่องมีค่ามีราคาซื้อขายได้จึงเริ่มเสาะหามาไว้ครอบครอง จึงเริ่มเกิดกระแสนิยมพระเครื่องในอำเภอลองและเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้มีการสร้างเหรียญพระเครื่องขึ้นครั้งแรกในพ.ศ.๒๕๐๐ ที่จากเดิมชาวล้านนาไม่นิยมมีพระไว้ที่บ้านหรือมีพระเครื่องติดตัวเพราะถือว่า “พระเจ้า” เป็นสิ่งที่ควรกราบไหว้บูชาจึงควรอยู่ในเขตวัด ไม่ใช่ผีที่ต้องกราบไหว้เซ่นสรวงบนบานขอให้คุ้มครองป้องกันภัย หากนำพระมาไว้บ้านเรือนจะผิดผีหรือขึด ซึ่งในเมืองลองก็เช่นกันที่บ้านเรือนมีหิ้งผีปู่ย่าคุ้มครองรักษาอยู่แล้ว ส่วนของที่นิยมนำติดตัวก็เป็นของศักดิ์สิทธิ์ในท้องถิ่น เช่น ตับเหล็ก ขมิ้นหิน หม่าล้านผีป่าย(ลูกพระเจ้าห้าพระองค์) ยันต์ ฟันของพ่อแม่ หรือเศษผ้าซิ่นของแม่ที่ใส่ตอนคลอด ฯลฯ

เมื่อมีกระแสเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ กระแสนิยมพระเครื่อง และกระแสสร้างพระพุทธรูปประจำเมืองแพร่ จึงส่งผลให้อำเภอในจังหวัดแพร่ที่เคยเป็น “เมือง” มาก่อนได้จัดสร้างพระพุทธรูปประจำเมืองขึ้นพร้อมกับเฉลิมฉลองอายุพระพุทธศาสนากึ่งพุทธกาล ดังอำเภอสอง จังหวัดแพร่ ได้จัดสร้าง “พระศรีสรรเพชญ” เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสอง รวมถึงอำเภอลองก็หล่อพระประจำเมืองลองขึ้นในพ.ศ.๒๕๐๐ ที่วัดปากกาง(บุญเย็น) ตำบลปากกาง โดยการนำของกลุ่มพระสงฆ์เมืองลองที่ได้รับการสนับสนุนจากพระธรรมราชานุวัตร(ฟู อตฺตสิโว) เจ้าคณะจังหวัดแพร่ และตั้งพระนามว่า “พระพุทธเชียงชื่น” พร้อมกับจัดสร้างเหรียญพระพุทธเชียงชื่น ที่เป็นการสร้างพระเครื่องครั้งแรกในอำเภอลอง ซึ่งกลายเป็นอีกสัญลักษณ์ที่เน้นย้ำเรื่องเมืองเชียงชื่นคือเมืองลอง (ปัจจุบันเหรียญพระพุทธเชียงชื่นรุ่นนี้ ชาวเมืองลองนิยมเสาะแสวงหาด้วยเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์จนบูชากันถึงหลักหมื่น) มีเจ้าคณะอำเภอลองและนายอำเภอลองเป็นแกนนำในการจัดสร้าง และเปิดรับบริจาคแผ่นทอง เหรียญสตางค์จากชาวบ้านทุกตำบล จึงเท่ากับสร้างสำนึกให้พระพุทธ เชียงชื่นเป็นสมบัติร่วมของคนเมืองลอง และมีการผลิตซ้ำทุกปีผ่านประเพณีและพิธีกรรม ในงานนมัสการพระพุทธเชียงชื่นที่ยึดเอาวันทำพิธีหล่อ(ขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๕)เป็นวันจัดงาน

ดังนั้นการหล่อพระพุทธเชียงชื่นให้เป็นพระประจำเมืองลองหรือพระคู่บ้านคู่เมืองลองนั้น จึงเป็นการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง ที่ใช้ฐานข้อมูลจากประวัติเมืองลองที่ได้พิมพ์เผยแพร่เมื่อ ๕ ปีก่อน โดยได้ผูกติดชื่อบ้านนามเมืองให้ผ่านสัญลักษณ์ของ “พระพุทธรูปประจำเมือง” และแอบอิงการรื้อฟื้นกับประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะชื่ออื่นของเมืองลองกลับไม่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อของพระพุทธรูป แต่กลับเลือกเอาชื่อ “เชียงชื่น” ที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยและรับรู้กันทั่วไปในช่วงนี้มาตั้งแทน อีกทั้งเป็นการขยายพื้นที่การสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของเมืองลอง ให้กระจายออกไปจากจุดเริ่มที่วัดพระธาตุศรีดอนคำ และเน้นการประสานความร่วมมือระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ทั้งพระสงฆ์ ข้าราชการ คหบดี รวมถึงดึงประชาชนทั่วไปให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองมากขึ้น

พร้อมกันนั้นทางวัดพระธาตุศรีดอนคำ พระครูเกษมรัตนคุณ(ครูบาแก้ว) เจ้าคณะอำเภอลองก็จัดสร้างเหรียญพระครูจันทรังสี(ครูบาอภิไชย) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีดอนคำและเจ้าคณะแขวงเมืองลองรูปที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๘๗) เพื่อร่วมเฉลิมฉลองกึ่งพุทธกาลดังปรากฏจารึกหลังเหรียญว่า “ที่ระลึกในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ” ซึ่งเป็นครั้งแรกในอำเภอลองที่จัดสร้างเหรียญพระครูบาเถระ เป็นการผูกความเป็นเมืองลองเข้ากับบุคคลที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองลอง เพราะเจ้าคณะแขวงถือว่าเป็นประมุขฝ่ายสงฆ์ของเมืองลอง ที่มีรูปแบบคล้ายกับมหาครูบาหลวง(พระสังฆราชา)ที่เคยมีในเมืองลองยุคจารีต ซึ่งการสร้างพระเครื่องที่ผูกติดกับชื่อบ้านนามเมืองของเมืองลองในช่วงพ.ศ.๒๕๐๐ ทำให้เกิดกระแสการจัดสร้างพระเครื่องของอีกหลายวัดภายในอำเภอลอง และที่สำคัญได้เลือกนำเอาพระพุทธรูปที่มีชื่อหมายถึงเมืองลองมาจัดสร้างเป็นพระเครื่อง เช่น เหรียญพระเจ้านอนเววาทะภาษีต์ วัดพระธาตุแหลมลี่ ตำบลปากกาง พ.ศ.๒๕๒๕, เหรียญพระเจ้าเววาทะภาษีต์ วัดนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง พ.ศ.๒๕๓๗

ส่วนพระเครื่องจากกรุวัดร้างหรือวัดเก่าของเมืองลองที่มีมาตั้งแต่ช่วงพ.ศ.๒๔๙๗ เป็นต้นมา เช่น พระยอดขุนพล บ้านบ่อแก้ว(บ้านปิน)และสารภี(สวนหิน), พระยอดธง วัดพระธาตุแหลมลี่, พระคง กรุวัดตุ๊เจ้าเฒ่า(บ้านนาหลวง) และกรุบ้านค่า(วัดนาไผ่) ฯลฯ เมื่อกระจายเข้าสู่ตลาดพระภาคกลาง มีคำเล่าลือจากกลุ่มทหารตำรวจว่ามีพุทธคุณแคล้วคลาดป้องกันภัย อีกทั้งมีการรับรู้ผ่านประวัติเมืองลองและคำบอกเล่าว่าอดีตเมืองลองเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านนา โดยเฉพาะ ที่ผูกติดความเป็นเมืองลองผ่านไปกับเมืองเชียงชื่น จึงยิ่งทำให้พระเครื่องในบริเวณพื้นที่อำเภอลอง มีพุทธคุณด้านแคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพันเด่นชัดขึ้นในมโนทัศน์ของผู้แสวงหา ประกอบกับในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ มีเรื่องนายทหารยศ “พลเอก” ๒ ท่านที่ได้เข้ามานมัสการครูบาในอำเภอลองและได้พระเครื่องจากกรุเมืองลองไปบูชา ระยะเวลาต่อมาไม่นานได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีทั้ง ๒ ท่าน อาจเป็นช่วงเหตุการณ์ประจวบเหมาะ แต่ก็ทำให้เกิดกระแสพระเครื่องกรุเมืองลองโด่งดังเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วถึงในระดับประเทศ พระเครื่องกรุเมืองลองจากราคา ๕๐๐ บาทในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ จึงเพิ่มราคาสูงขึ้นเป็นหลักหมื่นถึงหลักแสนในปัจจุบัน ตามสภาพความงามและพุทธคุณที่ล่ำลือขจรขจายออกไป

องค์พระพิมพ์(พระเครื่อง)อดีตบรรพบุรุษชาวเมืองลอง ชาวเมืองต้า ชาวเมืองช้างสาร หรือชาวเมืองตรอกสลอบได้สร้างบรรจุไว้ในพระธาตุ พระพุทธรูป เพื่อให้เป็นมิ่งขวัญบังเกิดความศิริมงคลแก่บ้านเมือง อีกทั้งเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ครบ ๕,๐๐๐ พระวัสสา ตลอดจนแสดงถึงสถานะบารมีของผู้จัดสร้าง พระพิมพ์จึงไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้ใครนำไปแขวนไว้ป้องกันตัวหรือให้คนนิยมชมชอบ พระพิมพ์อาจไม่มีชื่อเรียก และไม่ได้สร้างอยู่ในพื้นที่บริเวณของเมืองลองทั้งหมด เช่น พระคง พระบาง วัดสบปุง อยู่ในอาณาเขตของเมืองต้า พระยอดขุนพล กรุสารภี อยู่ในอาณาเขตของเมืองช้างสาร(เมืองสวก)

แต่ในปัจจุบันเมื่อพระพิมพ์เหล่านี้กลายเป็นพระเครื่องที่ผู้คนแสวงหามาบูชา มีการติดป้ายชื่อสร้างความเชื่อถือว่ามีพุทธคุณที่หลากหลายติดไว้กับพระเครื่องกรุต่างๆ ที่สำคัญทั้งหมดอยู่ภายในอาณาเขตอำเภอลองจึงถือว่าเป็นพระเครื่องเมืองลอง ความเป็นเมืองลองจึงได้ผูกตำแหน่งแห่งที่ให้รับรู้ติดไปกับพระเครื่องไปทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะพระเครื่องเมืองลองที่ร่วมอยู่ในชุดพระเครื่องจังหวัดแพร่เคยชนะเลิศการประกวดในปีพ.ศ.๒๕๓๘ และพระยอดขุนพล กรุบ้านปิน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตลาดพระเครื่องของภาคเหนือและระดับประเทศ มีการนำรูปภาพพระเครื่องเมืองลอง พร้อมชื่อ หรือแหล่งที่มาลงประชาสัมพันธ์ในหนังสือพระเครื่องต่างๆ และมีการเน้นย้ำโดยการก่อตั้งชมรมพระเครื่องเวียงเชียงชื่นในปีพ.ศ.๒๕๓๖ เพื่อเป็นศูนย์รวมคนในวงการพระเครื่องของอำเภอลองและอำเภอวังชิ้น จึงเป็นเสมือนแหล่งประทับตราความเป็น “เมืองลอง” ไปกับพระเครื่องแต่ละองค์ภายในอำเภอลอง ที่ผ่านจากการพิจารณาของชมรมพระเครื่องเวียงเชียงชื่น

พระพุทธโกศัย (ที่มา : ตำนานเมืองเหนือ)

 

หม่าล้านผีป่าย

 

ฟันของพ่อแม่ที่ภายหลังนิยมใช้ตะกั่วพอกทำเป็นพระเครื่อง

 

พระพุทธเชียงชื่น (ที่มา : ประวัติวัดบุญเย็น  อำเภอลอง)

 

เหรียญพระพุทธเชียงชื่นรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๐๐

 

เหรียญพระพุทธเชียงชื่น รุ่น พ.ศ.๒๕๒๙

 

 

ตารางแสดงรายการพระเครื่องกรุเมืองลองและพุทธคุณที่เชื่อถือในวงการพระเครื่อง

จัดทำโดย : ภูเดช แสนสา รวบรวมจากสัมภาษณ์นายเรียง อารีเอื้อ(ตี๋ เมืองลอง) รองประธานชมรมพระเครื่องจังหวัดแพร่และประธานชมรมพระเครื่องเวียงเชียงชื่น(อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น)

 

พระยอดขุนพลกรุแม่สวก

 

พระยอดขุนพลกรุบ้านปินเนื้อดิน

 

พระยอดขุนพลเนื้อตะกั่วสนิมแดง

 

พระร่วง พระสาม

 

พระร่วงนั่ง

 

กรุสวนส้ม(เวียงตรอกสลอบ)

 

พระยอดธง กรุวัดพระธาตุแหลมลี่ (ที่มา : บุญฤทธิ์ โพธิจันทร์)

 

เหรียญพระเจ้านอนเววาทะภาษีต์ วัดพระธาตุแหลมลี่ พ.ศ.๒๕๒๕

 

เหรียญพระเจ้าเววาทะภาษีต์ วัดนาตุ้ม พ.ศ.๒๕๓๗

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 29 •เมษายน• 2013 เวลา 08:43 น.• )