เน้นย้ำความเก่าแก่ของเมืองลองผ่านการสร้างอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีพ.ศ.๒๕๒๘ ทุนวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาของเมืองลอง ที่ถูกคนหลายกลุ่มนำมาสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองมาระยะเวลากว่า ๓๐ ปี ทั้งนำมาสร้างผ่านตำนานพระธาตุศรีดอนคำ หรือในช่วงพ.ศ.๒๕๒๕ ทางวัดพระธาตุแหลมลี่ก็ได้มีการแปลตำนานพระธาตุแหลมลี่(ตำนานจะกล่าวรวมถึงพระธาตุขวยปู พระธาตุปูตั้บ พระธาตุไฮสร้อย)และจัดพิมพ์เป็นหนังสือแจก ซึ่งตำนานเหล่านี้จะมีการพิมพ์แจกซ้ำอยู่เป็นระยะ แต่ทว่ามาถึงช่วงนี้ในพ.ศ.๒๕๒๘ เกิดพัฒนาการของการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของเมืองลองอีกระลอกหนึ่ง คือมีการสร้างอนุสาวรีย์ของพระนางจามเทวีขึ้นที่ลานวัดพระธาตุศรีดอนคำ บ้านห้วยอ้อ ที่เป็น “ใจ” กลางเมืองลองในยุคจารีต และสืบเนื่องต่อมาเป็นศูนย์กลางของอำเภอลองถึงยุคปัจจุบัน ปรากฏการณ์การของการก่อสร้างอนุสาวรีย์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรืออุบัติขึ้นอย่างทันทีทันใด แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสการสร้างอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ที่ประดิษฐานไว้ ณ สวนสาธารณะหนองดอก

กลางจังหวัดลำพูนใน พ.ศ.๒๕๒๕ ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาลไทยจัดให้มีการเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี การสร้างพระราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีในครั้งนี้ จึงเป็นการตอกย้ำความเก่าแก่ของพระธาตุศรีดอนคำและเมืองลอง โดยเฉพาะเรื่องที่ตำนานกล่าวถึงพระนางจามเทวีเสด็จมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุตรงบริเวณนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นได้อย่างชัดเจน การก่อสร้างครั้งนี้นำโดยพระครูเกษมรัตนคุณ เจ้าคณะอำเภอลอง(เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีดอนคำ) ผู้ที่มีส่วนรื้อฟื้นตัวตนของเมืองลองมาแต่เริ่มแรก พร้อมกับกลุ่มข้าราชการ คหบดี พ่อค้าแม่ค้าในกาดหมั้ว(ตลาดห้วยอ้อ)และประชาชนทั่วไปในอำเภอลองร่วมกันบริจาคเงินจัดสร้างขึ้น และการนำพระนางจามเทวีมาจัดสร้างเป็นอนุสาวรีย์ก็มีรากฐานทางความเชื่อเดิมอยู่แล้วภายในเมืองลอง โดยเฉพาะพระนางจามเทวีถือว่าเป็นทุนมรดกทางวัฒนธรรมในส่วนของผีเมือง ที่ได้มีการสถาปนาขึ้นเป็นผีเมืองลองตนหนึ่งมาตั้งแต่ยุคจารีต ดังปรากฏในคำโอกาสเวนทานเมื่อมีการทำบุญและอุทิศให้กับผีเมืองลองว่า  “แม่นว่ากุศลบุญราสีมีหลายหลาก มูลละสัทธาจักอยาดน้ำอุทิสสะไพหาเทพา อารักข์ อันรักสาเมืองลองแก้วกว้าง ..แม่เจ้าจามเทวีตนหื้อกำเนิดเวียงไชย ขอจุ่งมารับเอากุศลผลบุญแด่เทอะ”

การปรากฏนำเอาทุนวัฒนธรรมทางความเชื่อเรื่องผี มาสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของเมืองลองในช่วงนี้ เนื่องจากความเป็นผีเมืองของพระนางจามเทวีสามารถเชื่อมโยงเข้ากับพุทธศาสนาได้โดยแนบสนิท ที่สำคัญสามารถเน้นย้ำความเก่าแก่และทำให้เรื่องราวในตำนานของพระธาตุศรีดอนคำเป็นรูปธรรมขึ้นมาชัดเจน โดยรูปแบบของการก่อสร้างได้จำลองมาจากอนุสาวรีย์ที่จังหวัดลำพูน แต่ได้ปรับพระหัตถ์เบื้องซ้ายจากถือดาบสะหรีกัญไชย(พระขรรค์)มาถือขะอูบ(ผอบ)พระบรมสารีริกธาตุ ได้นำประดิษฐานไว้ด้านทิศตะวันตกและหันพระพักตร์เข้าหาองค์พระธาตุศรีดอนคำ พร้อมกับมีจารึกประวัติของพระนางจามเทวีในส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองลองตามที่ตำนานพระธาตุศรีดอนคำได้ระบุไว้ การสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความเก่าแก่ของเมืองลอง ที่ผ่านทั้งตัวรูปอนุสาวรีย์ และป้ายประวัติที่เป็นกรอบชี้นำทางความคิดให้ผู้พบเห็นเข้าใจตามที่ผู้สร้างต้องการสื่อ ขณะเดียวกันก็ผูกโยงความเก่าแก่ของเมืองลองเข้ากับเมืองลำพูน(หริภุญไชย) ที่มีการศึกษาค้นคว้าจากนักวิชาการ มีหลักฐานต่างๆ รองรับ และมีการยอมรับว่าเป็นเมืองเก่าแก่ถึงยุคหริภุญไชย ซึ่งอนุสาวรีย์ของพระนางจามเทวีก็ไม่ได้มีความเป็นอนุสาวรีย์อย่างแท้จริง แต่ยังคงแฝงความเป็นรูปเคารพบูชาอยู่สูง เพราะสร้างขึ้นจากพื้นฐานของการเป็นผีบ้านผีเมืองของท้องถิ่น จึงมีการปฏิบัติจากชาวเมืองลองเฉกเช่นรูปเคารพ ดังเห็นจากมีการนำผ้าสไบ ผ้าคลุม พวงมาลัยไปสวมให้รูปปั้น มีการสักการะบูชาบนบานสานกล่าว ด้วยการเป็นเสมือนรูปเคารพและประดิษฐานใกล้กับองค์พระธาตุศรีดอนคำ จึงเป็นแรงดึงดูดผู้คนให้เข้าไปสัมผัสพบเห็น ซึ่งอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีถือเป็นอนุสาวรีย์องค์แรก และองค์เดียวของเมืองลองที่จัดสร้างขึ้นในช่วงแรกนี้ และการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองก็ยังเน้นอยู่ภายในบริเวณปริมณฑลของวัดพระธาตุศรีดอนคำ

การเน้นย้ำพระนางจามเทวีให้เกิดภาพชัดขึ้นโดยการสร้างอนุสาวรีย์ และมีบริบทของการสร้างและรื้อฟื้นให้คนรับรู้ผ่านการจัดพิมพ์ตำนาน และประเพณีพิธีกรรมต่างๆ จึงทำให้ตัวตนของเมืองลองมีความชัดเจนขึ้นตามความมีตัวตนของพระนางจามเทวีอยู่ทุกขณะ มีผลทำให้แต่ละพื้นที่ภายในเมืองลองมีความตื่นตัวที่จะใช้พระนางจามเทวีหรือที่เกี่ยวข้องกับเมืองลำพูน มาเป็นสัญลักษณ์แสดงความเก่าแก่และความสำคัญของพื้นที่มากขึ้น ดังมีการบูรณะพระธาตุขะอูบคำ ของวัดสะแล่งในพ.ศ.๒๕๒๗ ก็จำลองแบบมาจากรูปทรงของพระธาตุหริภุญไชย หรือในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ ก็เกิดมีร่างทรงของพระนางจามเทวีขึ้นภายในเมืองลองเป็นครั้งแรกที่บ้านห้วยอ้อ

ดังนั้นในช่วงนี้การหยิบยกเอาพระนางจามเทวีมานำเสนอให้เห็นเป็นรูปธรรม จึงเป็นกระบวนการที่พัฒนาของการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองมาจากเริ่มแรก และสามารถกระจายออกไปส่งผ่านทางพระสงฆ์ ผู้นำชุมชน หรือปราชญ์ท้องถิ่น ให้กับบริเวณพื้นที่ต่างๆ ที่เคยมีเครือข่ายตำนานของพระนางจามเทวีปรากฏอยู่ ให้มีการสร้างและรื้อฟื้นขึ้นในลักษณะที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน พระนางจามเทวีในรูปอนุสาวรีย์ที่เกิดขึ้นช่วงนี้ จึงสามารถตอกย้ำความสำคัญและความเก่าแก่ของเมืองลองได้อย่างมีพลังและพลวัต และจะเป็นต้นแบบแนวคิดให้กับคนเมืองลองกลุ่มต่างๆ นำมาจัดสร้างรูปเคารพ(อนุสาวรีย์)ของผีเมืองลองตนอื่นๆ เมื่อมีการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนความเป็นเมืองลองอย่างเข้มข้นในช่วงที่สองต่อไป

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 24 •เมษายน• 2013 เวลา 19:35 น.• )