๒. “พุทธศาสนา” ส่วนหนึ่งในความเป็นเมืองลองยุคจารีต กับการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองระยะเริ่มต้น ช่วงพ.ศ.๒๔๙๕ - พ.ศ.๒๕๓๘ การสร้างและรื้อฟื้นของเมืองลองในช่วงแรก เป็นการนำเอาเฉพาะทุนวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาหรือที่เกี่ยวพันมาสร้างและรื้อฟื้น โดยมีประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อ เป็นเครื่องมือรักษาทุนวัฒนธรรมเหล่านี้ส่งผ่านจากยุคจารีตมาจนถึงปัจจุบัน และกำลังจะส่งต่อไปในอนาคต จึงทำให้คนเมืองลองที่ปรากฏเป็นกลุ่มชัดเจนในยุคแรกของสร้างและรื้อฟื้นนี้ ทั้ง (๑) กลุ่มพระสงฆ์ (๒) กลุ่มข้าราชการ (๓) กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น (๔) ปราชญ์ท้องถิ่น (๕) กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า และ(๖) ประชาชนทั่วไป มีพระสงฆ์เป็นผู้นำหลักในการหยิบยกทุนวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาขึ้นมาสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง เข้าแอบอิงกับประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อที่มีการผลิตซ้ำอยู่เสมอ ซึ่งทุนวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาของเมืองลองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในช่วงแรกนี้ คือ พระธาตุศรีดอนคำ ตำนานพระธาตุศรีดอนคำ พระพุทธรูป และครูบามหาเถระ ฯลฯ

๒.๑ การแสดงความมีตัวตนของเมืองลอง ผ่านการเขียนประวัติเมืองลองและตำนานพระธาตุศรีดอนคำ พ.ศ.๒๔๙๕ จุดเริ่มต้นของการรื้อฟื้นตัวตน เป็นขุมทรัพย์ทางข้อมูลอันทรงคุณค่าและทรงพลังให้มีการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของความเป็นเมืองลองกว่าครึ่งศตวรรษสืบมาจวบจนปัจจุบัน คือ การเขียนประวัติเมืองลอง และนำตำนานพระธาตุศรีดอนคำแปลจากอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทยในพ.ศ.๒๔๙๕ เพื่อมอบสมนาคุณให้ผู้บริจาคเงินบูรณะและจำหน่ายเพื่อบำรุงรักษาพระธาตุ ในงานประเพณีขึ้น(ไหว้)พระธาตุศรีดอนคำวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ที่ในวันนี้จะมีขบวนแห่ครัวทานทุกหัววัด ทุกหมู่บ้านในอำเภอลองมาเข้าร่วมประเพณี และเหตุที่กลุ่มคนในท้องถิ่นเลือกวัดพระธาตุศรีดอนคำเป็นจุดแรกเริ่มของการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนความเป็นเมืองลอง เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุศรีดอนคำ(สร้างสำเร็จพ.ศ.๒๒๑๕) และพญาชื่นสมบัติ เจ้าเมืองลอง เมื่อย้ายศูนย์กลางการปกครองเมืองลองมาตั้งที่บ้านห้วยอ้อในพ.ศ.๒๓๑๘ ได้สถาปนาขึ้นเป็นวัดหลวงกลางเมือง(วัดหลวงสะหรีดอนคำปงอ้อ) โดยใช้พระธาตุศรีดอนคำเป็นพระมหาธาตุกลางเมือง เป็น “ใจ” หรือ “หลัก” ของเมืองลอง ซึ่งมีประเพณีพิธีกรรมผลิตซ้ำอยู่เสมอ โดยเฉพาะประเพณีขึ้นพระธาตุศรีดอนคำวันยี่เป็งที่เป็นหนึ่งในประเพณี ๑๒ เดือนของเมืองลองและกระทำประจำทุกปี

ประกอบกับพระธาตุศรีดอนคำ มีตำนานที่จารไว้ในคัมภีร์ใบลานและพับสาเป็นลายลักษณ์อักษร อธิบายความเป็นมาของพระธาตุที่เชื่อมโยงกับเมืองลองและประวัติของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แคว้นหริภุญไชย จึงสามารถแสดงถึงความสำคัญและความเก่าแก่ของ เมืองลอง ดังตำนานกล่าวไว้ว่า “...เมื่อสุเทวะรสีส้างเมืองหริภุญไชยวันนั้น สหายมาช่วยกันยังมีรสี ๓ ตน ตน ๑ อยู่เมืองพุกามชื่อกัสสะรสี ตน ๑ อยู่ยังเขางามชื่อว่าพรหมเทวะรสี ตน ๑ อยู่ยังเมืองละโว้ชื่อว่าสุกกทันตะรสีแล.. สุเทวะรสีจิ่ง..ไพขอเอานางลูกพระญาละโว้.. นางจามผู้นั้นค็แต่งดาอันเปน ด้วยคณะสังฆะ นักปราชญ์ ปุริสพลนิกายทังหลายอันมากนัก แล้วนางค็ขอเอาธาตุพระเจ้าแก่พระญาตนพ่อ.. เถิงฤกษ์นามยามดีค็ยาตราขึ้นมาด้วยล่ำดับมาด้วยเรือตามขระแสน้ำแม่ยมหั้นแล ทีนั้น ยังขานเมื่อนั้นประเทสนิคมอันนี้ปรากฏชื่อว่า เววาทะภาสิต นางก็หันช่องน้ำขึ้นมาดั่งอั้น จิ่งคระนิงใจว่าเรามานี้รอยบ่หล้างผิดกระแสแม่น้ำเสียเพิงมีชะแล เราลองขึ้นไปก่อนเทอะว่าอั้น เหตุดั่งอั้น แต่นั้นมาจิ่งได้ชื่อว่า เมืองลอง เพื่ออั้นแล..  แล้วจิ่งคณาจากับด้วยนักปราชญ์ปุริสะทังหลาย ว่าข้าค็ได้ขอเอาธาตุแก่พระญาตนพ่อมาองค์ ๑ เปนธาตุดูกอกสัพพัญญูเจ้า แต่เมื่อโทณพราหมณ์ปันอุปราชสืบสืบมาแลว่าอั้น บัดนี้เราทังหลายได้มารอดแล้ว ข้าค็ใคร่ประจุไว้ในประเทสที่นี้ดีหลีแล เจ้าจุ่งไพแสวงที่อันควรจุธาตุเจ้าดูว่าอั้น ..นางจามเทวีรู้แจ้งแล้วจิ่งประสุมชุมนุมกันยังสังฆะ นักปราชญ์ ปุริสะทังหลาย เถิงวันดียามดีพร้อมกันประจุธาตุเจ้าไว้ท่ำกลางดอนคำที่ควร แล้วค็ปลูกไม้แงต้น ๑ ไว้เปนสังเกตวันนั้นแล แล้วจิ่งทำนวายไว้ว่าเมื่อใดน้ำห้วยน้อยอันนี้ไหลเข้าปล่องพงอ้อนี้เมื่อใด จักมีภิกขุสองตนเปนมูลสัทธามาริรังส้างแปลงหื้อเปนเจติยะ ที่จุธาตุพระพุทธเจ้า จักปรากฏรุ่งเรืองยามนั้นมีหั้นชะแล ว่าอั้น แล้วนางจามเทวีจิ่งเอาริพลล่องไพตามน้ำแม่ยม แลจิ่งขึ้นมาด้วยขระแสแม่น้ำ ระมิงค์ไพด้วยล่ำดับ ค็ไพรอดเมืองหริภุญไชยหั้นแล อยู่บ่นานเท่าใดนางค็ประสูตได้ลูกชาย ๒ ฅน จิ่งใส่ชื่อนามปัญญัตติกุมมารทัง ๒ ว่า มหันตยส อนันตยส ตามล่ำดับคัพภชาติหั้นแล...”

ตำนานพระธาตุศรีดอนคำ จึงเป็นตัวเน้นย้ำถึงความเก่าแก่และเป็นสัญลักษณ์ของเมืองลองที่เคยรับรู้ผ่านการคัดลอกตำนานฉบับนี้อย่างแพร่หลายในบ้านเมืองแถบล้านนายุคจารีต แม้ว่าตำนานฉบับนี้เขียนขึ้นภายหลังยุคหริภุญไชยมาก (รวบรวมจากเรื่องเล่าท้องถิ่นเขียนเป็นตำนานลายลักษณ์อักษรต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓) จึงไม่อาจชี้ชัดว่าเป็นเหตุการณ์จริงหรือไม่ เพียงสะท้อนให้เห็นว่าแคว้นหริภุญไชยได้แผ่อิทธิทางการเมืองการปกครอง ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมมาถึงบริเวณเมืองลองและมีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่สำหรับคนในท้องถิ่นและภายนอก(ลำปาง, แพร่)เชื่อว่าเป็นเรื่องจริงตามที่ตำนานกล่าวไว้ทุกถ้วนถ้อยกระบวนความ ดังพ่อหนานบุญชู ชุ่มเชื้อได้เขียนไว้ในคำนำ หรือพระธรรมราชานุวัตร(ฟู อตฺตสิโว) เจ้าคณะจังหวัดแพร่และเจ้าคณะผู้ตรวจการภาค ๕ ได้กล่าวไว้ในอนุโมทนากถาของหนังสือประวัติเมืองลองครั้งนั้น(พ.ศ.๒๔๙๕)ว่า  “...โปรดเข้าใจว่า.. ในตำนานนั้น ข้าพเจ้า(บุญชู ชุ่มเชื้อ-ผู้เขียน)ไม่ได้เปลี่ยนสำนวนและภาษา เพราะต้องการรักษาซึ่งสำนวนและภาษาเดิมของเขาไว้ และขอให้ท่านเข้าใจว่า ตำนานนั้นเป็นของที่เขาสร้างมาจริง ส่วนตอนประวัตินั้นเป็นของที่ข้าพเจ้ารวบรวมเรียบเรียงขึ้น...”

“...คุณแสวงและคุณนายคำเอ้ย เชาวรัตน์.. ได้นำสำเนาตำนานมาขอให้ข้าพเจ้า(ฟู อตตฺสิโว-ผู้เขียน)ตรวจแก้และจัดการพิมพ์ขึ้น ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือกิจการทั้งนี้ เพราะพระธาตุศรีดอนคำเป็นปูชนียวัตถุที่เก่าแก่ เป็นที่รับรองต้องกันว่าพระนางจามเทวีแห่งนครลำพูนทรงเชิญมาประดิษฐาน นับเป็นเวลานานตั้งพันปีเศษ เป็น ปูชนียวัตถุที่เก่าที่สุดในลานนาไทย.. เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดแพร่ มีผู้บำรุงร่วมพันหลังคาเรือน และเป็นวัดที่สำคัญประจำอำเภอ.. องค์พระธาตุศรีดอนคำ สวยสดงดงามอร่ามตา เป็นศรีสง่าแก่ชาวเมืองลองตลอดกาลนาน...”

ด้วยความภาคภูมิใจในความเก่าแก่และความสำคัญ กลุ่มคนเมืองลองจึงนำมาเสนอให้เห็นตัวตนของความเป็นเมืองลอง ผ่านทั้งตำนานและองค์พระธาตุศรีดอนคำที่เป็นสัญลักษณ์เน้นย้ำมีรูปธรรมชัดเจน การจัดทำประวัติเมืองลองและแปลตำนานพระธาตุศรีดอนคำครั้งนี้จึงเป็นการร่วมมือกันจากหลายกลุ่มคน ทั้งพระสงฆ์ที่นำโดยพระครูเกษมรัตนคุณ(ครูบาแก้ว) เจ้าคณะอำเภอลอง(พ.ศ.๒๔๘๗ - ๒๕๔๖) วัดพระธาตุศรีดอนคำ(เปรียญธรรม ๔ ประโยค) คหบดีนำโดยพ่อเลี้ยงแสวง แม่เลี้ยงคำเอ้ย เชาวรัตน์ เจ้าของโรงเลื่อยไม้บ้านปิน มีบุตรเขยรับราชการและนักการเมือง(พันโท กฤษณ์ สีวะราห์และร้อยตำรวจโท เจียม ภุมมะภูติ)จึงอุปถัมภ์ส่งไปจัดพิมพ์ที่กรุงเทพฯ และเขียนประวัติโดยพ่อหนานบุญชู ชุ่มเชื้อ ปราชญ์ท้องถิ่น ที่มีมารดาเป็นคนในตระกูลชื่นสมบัติ(มีภรรยาคนลำปางรับราชการครูในอำเภอลอง) ได้นำเรื่องราวมาจากความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่ ตำนานของเมืองลอง(ตำนานพระธาตุแหลมลี่, ตำนานพระธาตุศรีดอนคำ) และหนังสือส่วนกลาง(พงศาวดารโยนก, พงศาวดารไทยใหญ่, พงศาวดารเหนือ) มารวบรวมเขียนเป็น “ประวัติเมืองลอง”

ภายในเล่มแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นตำนานพระธาตุศรีดอนคำ และส่วนที่สองกล่าวถึงประวัติความเป็นมา เหตุการณ์การก่อสร้างสิ่งสำคัญของบ้านเมือง รายนามเจ้าเมืองลอง ขุนนาง พระสงฆ์ พร้อมกับผลงานในแต่ละยุคสมัย ซึ่งการจัดพิมพ์ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเงินบริจาคในงานประเพณีขึ้นพระธาตุศรีดอนคำ ทั้งจากข้าราชการอำเภอ ทหาร ตำรวจ ครู โรงงานห้างร้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนประชาชนทุกตำบลในอำเภอลอง ซึ่งแต่ละคนที่บริจาคก็จะได้รับหนังสือ “ตำนานพระธาตุวัดศรีดอนคำ(ห้วยอ้อ)และประวัติเมืองลอง” เป็นการสมนาคุณ

ดังนั้นการสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง จึงเริ่มจากการนำทรัพยากรวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา ทั้งตำนานและองค์พระธาตุศรีดอนคำเป็นแกนหลัก ซึ่งการเริ่มต้นสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง เกิดจากผู้นำท้องถิ่นที่ผ่านการศึกษาหรือมีความสัมพันธ์กับส่วนกลาง จึงมีลักษณะเป็น “ประวัติเมืองลองท้องถิ่นไทย” ขณะเดียวกันก็เป็นจุดแรกเริ่มสร้างและคืนความทรงจำให้กับคนในท้องถิ่นเมืองลอง พร้อมไปกับสร้างการรับรู้เรื่องราวของเมืองลองให้แก่ภายนอกได้อย่างกว้างขวางขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องเมืองลองที่มีความผูกพันกับพระนางจามเทวี และ “ชื่อเมืองเชียงชื่น” หรือ “เมืองลอง คือ เมืองเชียงชื่น” ในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนา ที่ทรงกระทำสงครามกับพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์อยุธยา จะถูกนำมาผลิตซ้ำจากคนเมืองลองอีกหลายกลุ่มในช่วงเวลาต่อมา

ตำนานของเมืองลองที่จารในใบลานด้วยอักษรล้านนา

พระธาตุศรีดอนคำเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ (ที่มา : ข้อมูลสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดแพร่)

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 08 •เมษายน• 2013 เวลา 06:43 น.• )