การสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลอง ผ่านมรดกทุนวัฒนธรรม : ประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ - ๒๕๕๔ “เมืองลอง” ในอดีตไม่สามารถหวนกลับคืนมาได้อีกแล้ว แต่สำนึกในความเป็นเมืองลอง ที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยการผลิตซ้ำทางประเพณี พิธีกรรม และคติความเชื่อ ทำให้คนรุ่นต่อมายังคงเหลือความทรงจำบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับบ้านเมืองของตน จึงมีการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนของความเป็นเมืองลองภายใต้รูปหน่วยอำเภอลอง อันเป็นการปกครองหน่วยหนึ่งแบบราชการไทยที่อยู่ชายขอบของจังหวัดแพร่และสังคมไทยขึ้นมา โดยใช้ทุนหรือทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่เคยจรรโลงความเป็นเมืองลองในยุคจารีตกลับมาสร้างและรื้อฟื้นความเป็นตัวตนของเมืองลองขึ้นอีกครั้ง ที่เชื่อมโยงกับการนิยามความเป็น  “คนเมืองลอง”  อีกชั้นหนึ่ง

ลักษณะวิธีของการนำเอาทุนมรดกทางวัฒนธรรม กลับมาสร้างและรื้อฟื้นความเป็นเมืองลองใช่ว่าจะถูกนำมาใช้ทั้งหมด  แต่ได้ผ่านการเลือกสรรบางเศษเสี้ยว  บางแง่มุม  ของความเป็นเมืองลองที่เคยธำรงอยู่ในยุคจารีต  และสิ่งนั้นสามารถสนองตอบต่อการดำรงชีวิตของคนเมืองลองในยุคปัจจุบัน จึงถูกหยิบยกกลับขึ้นมาสร้างและรื้อฟื้นเพื่อแสดงถึงความมีตัวตนของท้องถิ่น “เมืองลอง” ในสังคมไทย  อีกทั้งเป็นการให้ความหมายแก่ตัวตนของคนในพื้นที่ เพื่อคนที่ได้นิยามตนว่าเป็น “คนเมืองลอง” จะสามารถมีส่วนเข้าใช้ทรัพยากรของเมืองลอง  ไปพร้อมกับทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองและท้องถิ่น  รู้สึกมี “ความหมาย” และมี “คุณค่า”  ในสังคม  แต่ขณะเดียวกันบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถตอบสนองหรือมีประโยชน์ต่อผู้คนในยุคปัจจุบัน  สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาสร้างและรื้อฟื้นในความเป็นเมืองลอง  แต่กลับจะถูกปล่อยให้ลับเลือนลางจางหายจากความทรงจำของท้องถิ่นเมืองลองไปตามกาลเวลา

ประกอบกับความเป็นเมืองลองแบบใหม่นี้ ได้ถูกสร้างและรื้อฟื้นขึ้นในท่ามกลางบริบทของการสร้างความเป็น “ชาติไทย” “ประเทศไทย” ที่มีรัฐธรรมนูญกฏหมายสูงสุดของประเทศระบุไว้ชัดเจนว่า “เป็นดินแดนอันหนึ่งอันเดียวกันซึ่งจะแบ่งแยกมิได้” ดังนั้นแต่ละกลุ่มคนภายใน   เมืองลอง จึงไม่ได้ผูกขาดการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนอย่างอิสระเสียทีเดียว แต่มีลักษณะเป็นการแสดงตัวตนในรูปแบบของ “ท้องถิ่นชาตินิยม” หรือ “ความเป็นเมืองลอง” ซ้อนทับอยู่กับหน่วย “อำเภอลองของประเทศไทย”  ทั้งทางด้านกายภาพและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

๑. การเกิดสำนึกท้องถิ่นของคนเมืองลอง “ล้านนาประเทศ” ได้ล่มสลายลงทั้งระบบโครงสร้างกลายเป็น “ภาคเหนือ” และ “นครประเทศราช” เป็นเพียง “จังหวัด” หน่วยการปกครองหนึ่งของประเทศไทยในปีพ.ศ.๒๔๔๒  เป็นต้นมา รวมถึง “เมืองลอง” และ “เมืองต้า” ที่เป็นหัวเมืองขึ้นขนาดเล็กในล้านนาก็ได้ล่มสลายลงไปพร้อมกันด้วย กลายเป็นเพียง “อำเภอลอง”(รวมอำเภอวังชิ้น) และ “ตำบลเวียงต้า”(รวมตำบลต้าผามอก) หน่วยการปกครองอันน้อยนิดของรัฐไทย ขณะเดียวกันเพื่อเชื่อมโยงให้ทุกภูมิภาคของประเทศไทยรวมถึง “ล้านนา” ที่เคยเป็น “บ้านเมืองต่างชาติต่างภาษา”  มีราชวงศ์กษัตริย์ปกครอง  มีตัวอักษรภาษาพูด  การแต่งกาย  ตลอดถึงมีขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมความเชื่อเป็นของตนเอง ให้ผู้คนมีความรู้สึกร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ “สยาม” รัฐไทยจึงได้สร้างประวัติศาสตร์ความเป็น “ชาติไทย” เข้าครอบงำ  เบียดขับ  กดทับประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของแต่ละพื้นที่เหล่านี้ไว้อย่างมั่นคง โดยส่งผ่านทั้งการศึกษา  รัฐพิธี  และข้าราชการ  ซึ่งเมืองลองก็ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากปริมณฑลอื่นของล้านนา ที่ถูกครอบงำและกดทับท้องถิ่นไว้นานกว่าครึ่งศตวรรษ จึงเริ่มปรากฏการสร้างและรื้อฟื้นตัวตนความเป็นเมืองลองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษเมืองลองที่เหลือให้ไว้เป็นมรดก

จากอดีตความเป็นเมืองลองในยุคจารีต ประกอบเข้าโดยกระบวนการการสร้างให้ผู้คนเกิดสำนึกเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันอยู่ภายใต้หน่วยการปกครองที่เรียกว่า “เมืองลอง” ที่ถูกสร้างขึ้นจากกลุ่มชนชั้นผู้ปกครอง(เจ้านาย,ขุนนาง,พระสงฆ์,ปราชญ์)  และมีการผลิตซ้ำส่งผ่านทางประเพณี พิธีกรรม และคติความเชื่อ อันเกี่ยวเนื่องกับทั้งพุทธและผีเข้าสู่ชาวเมืองในรูปของประเพณี  ๑๒  เดือนเมืองลอง  ขณะเดียวกันความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นทั้งพุทธและผีเหล่านี้  ก็สามารถสร้างให้เกิดความชอบธรรมและรักษาสถานภาพในการเป็นชนชั้นผู้ปกครอง โดยมีเจ้าเมืองเป็นผู้อยู่ชั้นสูงสุด  ดังนั้นหัวใจของความเป็นเมืองลองในยุคจารีตจึงประกอบขึ้นจากทั้ง  ๓  อย่างนี้โดยขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้  คือ  (๑) เจ้าเมือง  (๒) ความเชื่อพุทธศาสนาแบบท้องถิ่น  และ(๓) ความเชื่อผี   อันเป็นรากแก้วที่หล่อเลี้ยงจรรโลงความเป็นเมืองลองให้ธำรงอยู่ได้ตลอดมากว่าหลายศตวรรษ

จนกระทั่งทศวรรษ ๒๔๔๐ เมื่อมหาอำนาจสยามได้ขยายตัวเข้ากลืนกินทำลายความเป็นเมืองลองที่เคยธำรงอยู่ในแบบจารีต สิ่งที่กระทำเป็นอันดับแรกจึงเลือกทำให้กลุ่มผู้ปกครองโดยเฉพาะ “เจ้าเมืองลอง” อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเป็นเมือง และเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองให้ขาดจากการเป็นชนชั้นปกครอง(ปฏิรูปปกครอง) แล้วจึงขยายอิทธิพลปรับเปลี่ยนในส่วนโครงสร้างของพระพุทธศาสนา  โดยเฉพาะมหาครูบาหลวง(พระสังฆราชา)ผู้เป็นประมุขฝ่ายสงฆ์เมืองลอง  ที่เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณและนำพุทธศาสนามาสร้างเอกภาพในความเป็น   เมืองลอง และหนุนเสถียรทางอำนาจระหว่างกันกับเจ้าเมืองลองให้ขาดจากการเป็นผู้ปกครอง(ปฏิรูปสงฆ์) และค่อยปรับเปลี่ยนผีบ้านผีเมืองลองเท่าที่จะสามารถกระทำได้ตามลำดับ ส่งผลให้ความเป็นเมืองลองแบบจารีตได้ล่มสลายลงกลายเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของประเทศไทย

แต่ทว่ารัฐไทย สามารถทำลายได้เฉพาะรูปแบบโครงสร้างส่วนบนทางการปกครองของบ้านเมือง(เจ้าเมือง,ขุนนาง) และโครงสร้างการปกครองทางพุทธศาสนา(มหาครูบาหลวง)เท่านั้น เพราะไม่มีพลังมากพอจะเปลี่ยนถึงความสำนึกที่หยั่งลึกลงไปเกี่ยวกับ “เจ้าเมืองลอง” “พุทธศาสนาแบบท้องถิ่นเมืองลอง”  “ผีบ้านผีเมืองเมืองลอง”(ดังกล่าวรายละเอียดแล้วในบทก่อนหน้า)  ที่ถูกฝังตรึงแน่นอยู่ในจิตใจ  ผลิตซ้ำส่งผ่านทางประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อมาหลายศตวรรษได้อย่างฉลับพลัน เหมือนระบบโครงสร้างของกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นรูปธรรม และรัฐไทยเองก็จำเป็นต้องใช้วัฒนธรรมตลอดถึงกลุ่มผู้ปกครองเดิมเหล่านี้ เป็นเครื่องมือเพื่อจรรโลงความเป็นกลุ่มก้อนของท้องถิ่นเมืองลองให้ดำรงอยู่ต่อไปภายใต้อำนาจของรัฐไทย  ดังนั้น “เจ้า” “พุทธ” “ผี” จึงคงมีอิทธิพลต่อจิตใจ  มีความหมาย  และมีความสำคัญต่อผู้คนในเมืองลอง  ที่แม้ถูกลดทอนความทรงจำ  ความเชื่อศรัทธาลงไปบ้างตามกาลเวลา  แต่ภายใต้จิตสำนึกส่วนลึกที่ถูกแช่แข็งรักษาสำนึกนี้ส่งผ่านทางประเพณี  พิธีกรรม และความเชื่อ  ที่ถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอและอย่างสืบเนื่องจนถึงปัจจุบันยังคงอยู่ กอปรกับเมื่อบริบทสังคมทางการเมืองการปกครองของไทย เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นที่เคยกดทับเอาไว้สามารถแสดงความมีตัวตนได้มากขึ้น  ในลักษณะแสดงความเป็นท้องถิ่นในฐานะท้องถิ่นของประเทศไทย  คนกลุ่มต่างๆ  ที่ยังมีสำนึกมีความทรงจำเกี่ยวกับความเป็นเมืองลอง  จึงหยิบยกเอาทุนมรดกทางวัฒนธรรมหรือหัวใจความเป็นเมืองลองแบบจารีตทั้ง ๓ นำมาสร้างและรื้อฟื้นตัวตนความเป็นเมืองลองอีกครั้งในเวลาต่อมา  คือ

(๑) เจ้า เช่น ผ้าซิ่นตีนจก เครื่องเทียมยศ เครื่องอุปโภค และเชื้อสาย ฯลฯ

(๒) พุทธ เช่น  พระธาตุห้าองค์  ตำนานพระธาตุ, พระพุทธรูป, และครูบามหาเถระ ฯลฯ

(๓) ผี เช่น บ่อเหล็ก ตับเหล็ก(ก้อนแร่เหล็ก) และขมิ้นหิน(คตขมิ้น) ฯลฯ

การรื้อฟื้นความเป็นตัวตนของเมืองลองปรากฏชัดเจนขึ้นครั้งแรกในพ.ศ.๒๔๙๕ โดยการเขียนประวัติเมืองลองและนำตำนานพระธาตุศรีดอนคำแปลเป็นภาษาไทยจัดพิมพ์เป็นหนังสือ (ในเมืองต้าเริ่มปรากฏแสดงตัวตนชัดเจนในพ.ศ.๒๕๔๓ มีการเขียนประวัติเมืองต้าและรวบรวมตำนานบอกเล่าในท้องถิ่นจัดพิมพ์เป็นหนังสือ) ไปพร้อมกับในระดับภูมิภาคที่เกิดกระแสการรื้อฟื้นตัวตน “คนล้านนา”  ที่เริ่มเข้มข้น  มีการก่อตั้งสมาคมชาวเหนือและเริ่มออกนิตยสารชาวเหนือชื่อ “โยนก” ในพ.ศ.๒๔๙๐(มีสมาชิกกว่าพันคน)  อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตื่นตัวของเจ้านายและปราชญ์ล้านนาในจังหวัดเชียงใหม่  เช่น พระครูญาณลังกา และพระมหาหมื่น วุฑฺฒิญาโณ ที่เริ่มศึกษาค้นคว้าเรื่องท้องถิ่นมาตั้งแต่  ๔  ทศวรรษก่อนและขยายตัวมากขึ้นในช่วงนี้  นิตรสารโยนกมีบทความในหนังสือชี้ชัดแสดงถึงการแสวงหาที่มาและตัวตนของชาวล้านนา  โดยเฉพาะสำนึกทางประวัติศาสตร์  ที่มี ส.ธรรมยศ (พ.ศ.๒๔๕๗ - ๒๔๙๕)  นักคิดนักเขียนชาวลำปาง(มีเชื้อสายเจ้าผู้ครองนครลำปาง) ได้เป็นผู้มีบทบาทต่อการออกนิตยสารโยนก  และมีงานเขียนสำคัญทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เช่น ประวัติศาสตร์ลานนาไทย,  ประวัตินครลำปาง ฯลฯ  ขณะที่บุญช่วย  ศรีสวัสดิ์ (พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๕๑๖) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์(ส.ส.)จังหวัดเชียงราย(มารดามีเชื้อสายเจ้าเมืองเชียงราย)  ก็ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับท้องถิ่นที่มีมิติของท้องถิ่นชัดเจน  เช่น  ๓๐ ชาติในเชียงราย(พิมพ์พ.ศ.๒๔๙๓)  เชียงใหม่และภาคเหนือ  ฯลฯ  หรือพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(ฟู  อตฺตสิโว) เจ้าคณะจังหวัดแพร่ (พ.ศ.๒๔๗๖ - ๒๕๐๔)  (มารดามีเชื้อสายเจ้าผู้ครองนครแพร่)  ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้มีส่วนเขียนบทความในนิตยสารโยนก และเป็นบุคคลแรกที่จัดทำพจนานุกรมภาษาล้านนา “หลักภาษาไทยพายัพ” ในพ.ศ.๒๔๙๒ ซึ่ง     พระอุบาลีคุณูปมาจารย์  เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้พระครูเกษมรัตนคุณ(ครูบาแก้ว)  เจ้าคณะอำเภอลอง (พ.ศ.๒๔๘๗ - ๒๕๔๖) วัดพระธาตุศรีดอนคำ  พ่อหนานบุญชู ชุ่มเชื้อ ปราชญ์ท้องถิ่น(มีเชื้อสายเจ้าเมืองลองทั้งสองท่าน)  ได้เขียนประวัติเมืองลองและแปลตำนานวัดพระธาตุศรีดอนคำเป็นภาษาไทยในพ.ศ.๒๔๙๕

สังเกตว่าผู้ที่มีสำนึกในตัวตนของ “ล้านนา” หรือ “บ้านเมือง” ในช่วงแรก ส่วนใหญ่จะเริ่มจากผู้มีเชื้อสายของเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้าเมือง  ดังกรณีจังหวัดเชียงใหม่  จังหวัดลำปาง  จังหวัดเชียงราย  จังหวัดแพร่  และอำเภอลอง  แสดงให้เห็นว่าแม้ระบบเจ้านายของล้านนาได้ล่มสลาย     แต่กลุ่มทายาทยังคงแฝงสำนึกว่ามีบรรพบุรุษเคยเป็นชนชั้นนำของบ้านเมือง ซึ่งจะเป็นรากฐานให้เกิดการรื้อฟื้นความเป็น “เจ้า” อย่างเข้มข้นของพื้นที่ภาคเหนือในช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐ (จะกล่าวรายละเอียดต่อไป) ขณะเดียวกันก็เพื่อพยายามรักษาความเป็นตัวตนของท้องถิ่นไว้ไม่ให้ถูกรัฐไทยกลืนกินไปตามกาลเวลา อันเป็นสายใยเชื่อมโยงให้ปรากฏเกิดสำนึกท้องถิ่น และแสดงความเป็นตัวตนอย่างชัดเจน ผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ของล้านนาหรือประวัติของบ้านเมืองในยุคทศวรรษ ๒๔๙๐  ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ผู้ทรงพยายาม สร้างและรื้อฟื้นตัวตนความเป็นล้านนา (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

หนังสือตำนานพระธาตุศรีดอนคำและประวัติเมืองลอง  พิมพ์เมื่อพ.ศ.๒๔๙๕

ภูเดช แสนสา