การขยายตัวของชุมชนใหม่กับความผันแปรของสำนึกความเป็นเมืองลอง เมืองลองก่อนที่ระบบราชการไทยจะเข้ามา เป็นสำนึกร่วมของชาวเมืองที่มีความหมายมากกว่าหน่วยทางการเมืองการปกครอง แต่เป็นหน่วยที่มีชีวิต ตัวตน และจิตวิญญาณ (ดังกล่าวแล้วในบทที่ ๒) มีอิสระจัดการปกครองภายใน มีความทรงจำ มีตำนานทั้งลายลักษณ์อักษรและมุขปาฐะอธิบายประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบ้านเมือง ผู้คนจะผูกโยงพื้นที่ที่อาศัยร่วมกันกับความเชื่อเพื่อเป็นตัวกำหนดการใช้สอยพื้นที่ในส่วนต่างๆ ของเมือง และมีความทรงจำผูกพันกับพื้นที่โดยมีตำนานเป็นตัวกำหนดขอบเขตปริมณฑลของเมือง เมืองตามสำนึกของคนเมืองลองยุคจารีตจึงมีการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนว่าอยู่จุดไหนของเมืองลอง ที่เป็นเสมือนจักรวาลหรือโลกใบหนึ่ง โดยเฉพาะมโนทัศน์เรื่องจักรวาลที่คลี่คลายสืบเนื่องมาจากคติพราหมณ์และพุทธ ซึ่งปราชญ์ล้านนาอธิบายในคัมภีร์อรุณวดีสูตรว่า “...ชื่ออันว่าโลกธาตุอันหนึ่งนั้นมีทวีปใหญ่ ๔ อัน มีเขาสิเนรุราชตั้งอยู่ท่ามกลาง..ทวีปน้อย ๒ พันอันเปนบริวาร มีดอยขอบจักรวาลเปนที่สุดรอดทุกกล้ำ ได้ชื่อว่าจักวาลอันหนึ่งแล...” ดังนั้นจักรวาลทัศน์ของคนล้านนาจึงมีหลายจักรวาล เมื่อสร้างบ้านแปลงเมืองหรืออาณาจักรขึ้นตามหุบเขาใหญ่น้อยทั้งหลาย จึงจำลองจักรวาลน้อยใหญ่ให้เกิดขึ้นภายในเมืองหรือชุมชนนั้นๆ โดยสร้างศูนย์กลางชุมชนให้เป็นรูปธรรม ซึ่งเมืองลองใช้พระธาตุศรีดอนคำเป็นศูนย์กลางจักรวาลของเมืองมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นหัวเมือง กลางเมือง และหางเมืองอย่างชัดเจน และมีเขาที่ล้อมรอบทั้ง ๔ ทิศเป็นกำแพงจักรวาล ซึ่งจักรวาลทัศน์นี้ไม่ใช่มีเฉพาะในหน่วยเมืองแต่ยังซ้อนในระดับเล็กลงไปตั้งแต่หมู่บ้าน(หัวบ้าน กลางบ้าน หางบ้าน) เรือน(หัวเรือน กลางเรือน หางเรือน) จนถึงตัวคนที่อาศัยที่มีการแบ่งศักดิ์ของร่างกาย ดังเมืองลองสะท้อนถึงความคิดเรื่องตัวตนคนที่สัมพันธ์กับบ้านเมืองว่า “...ข้าน้อยรัสสะภิกขุกาวิไชยยนต์หงส์ ..เทวดารักสานอกตนในตนขนหัวปลายตีนแห่งข้า ..แลเทวดารักสาขอบขัณฑสีมาบ้านเมืองเหมืองฝายชู่ตนชู่องค์...”

เมืองลองจะเชื่อมโยงพื้นที่กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ โดยกำหนดใช้พื้นที่ต่างๆ สัมพันธ์กับทิศทั้ง 8 ที่มีความเป็นมงคลและอวมงคลหรือเรียกว่า “ทักษาเมือง” ซึ่งเป็นลักษณะร่วมกันของแต่ละเมืองในล้านนา ดังเช่นเมืองเชียงใหม่ มีเวียงเชียงใหม่เป็นเวียงศูนย์กลางการปกครอง ใช้ประตูช้างเผือก(ประตูหัวเวียง)ด้านทิศเหนือที่ถือว่าเป็น “เดชเมือง” เป็นประตูมงคลเข้าสู่เวียงเชียงใหม่ เมืองลำพูน มีเวียงลำพูนใช้ประตูช้างสี(ประตูหัวเวียง)ด้านทิศเหนือ เป็นประตูมงคลเข้าสู่เวียงลำพูน หรือเมืองแพร่ มีเวียงแพร่ใช้ประตูไชยอยู่ทิศตะวันออก เป็นประตูมงคลเข้าสู่เวียงแพร่ และแต่ละเมืองก็จะใช้ประตูเวียงด้านทิศใต้ที่ถือว่าเป็นทิศอวมงคล เป็นประตูนำศพออกจากเวียง ซึ่งกรณีของเมืองลองก็ถือว่าทิศเหนือ ทิศตะวันออก เป็นทิศมงคล และทิศใต้เป็นทิศอวมงคลเช่นกัน จึงปรากฏเมืองลองใช้ทิศเหนือเข้าเมือง ดังเวียงลองยุคแรก(บ้านไฮสร้อย) หากมีการสถาปนาเจ้าเมืองลองหรือเจ้าเมืองลองกลับจากทำภารกิจ ก็จะเข้าสู่เวียงลองทางประตูหัวเวียง ด้านทิศเหนือ แวะไหว้พระที่วัดหลวงหัวเวียง(วัดหัวข่วง, ห่างประตูหัวเวียง ๒๙๑ เมตร) ไหว้ผีเมือง(โฮงผีพ่อเฒ่าหลวง,โฮงผีแม่นางแก้ว)ที่ข่วงเวียง แล้วจึงเข้าประทับคุ้มหลวงที่ตั้งอยู่ถัดไปจากวัดหลวงหัวเวียงและข่วงเวียง หรือตำนานทุ่งข้าวสารเล่าว่า ข่วงหน้าประตูหัวเวียงเป็นสนามรบตั้งรับข้าศึกที่จะบุกเข้าเวียง ส่วนนอกเวียงด้านทิศใต้เป็นป่าช้าและลานประหาร ซึ่งความเชื่อนี้ยังใช้สืบมาถึงเมืองลองยุคที่ ๓ แม้ไม่มีการสร้างเวียงแต่เจ้าเมืองลองก็จะเข้าเมืองทางทิศเหนือ แวะไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดหลวงกลางเมือง(วัดพระธาตุศรีดอนคำ) ไหว้ผีเมือง(โฮงผีเจ้าเลาคำ,โฮงผีเจ้าช้างปาน) ก่อนเข้าพักโฮงไชย(คุ้ม)ที่ตั้งอยู่ถัดไปจากวัดหลวงกลางเมืองและข่วงเมือง หรือมีการสร้างศาลาที่พักไว้ทิศเหนือเมื่อแห่ครัวทานเข้าวัดพระธาตุศรีดอนคำก็พักที่นี่ก่อน ทิศตะวันออกเป็นโรงช้างของเจ้าเมือง ส่วนปลายแดนกลางเมืองชั้นในทิศใต้เป็นป่าช้าและลานประหาร  ในส่วนหน่วยหมู่บ้านก็มีการแบ่งความเชื่อตามศักดิ์เช่นกัน ดังปรากฏในตำราโหราศาสตร์ของเมืองลองว่า “...จักกล่าวผีเสื้อฅ้ายก่อนแล..วันดับอยู่หัวบ้านอย่ากะทำการที่นั้นบ่ดี วันรวายอยู่หางบ้าน..วันสง้าอยู่กลางบ้าน...” เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นในหมู่บ้าน “ขึดบ้าน” ต้องมีพิธีถอนขึดส่งขึด ถึงปีใหม่หรือคนภายในหมู่บ้านเสียชีวิตติดต่อกันก็มีพิธีเบิกบ้านและส่งเคราะห์บ้าน ซึ่งเป็นพิธีที่แสดงถึงความมีตัวตนและขอบเขตปริมณฑลของหมู่บ้านอย่างชัดเจน อันประสานความเชื่อทั้งพุทธ พราหมณ์ และผี ที่เน้นย้ำอาณาเขตของหมู่บ้านจากรุ่นสู่รุ่นและทำให้สมาชิกรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน ส่วนเรือนการสร้างทุกขั้นตอนมีความเชื่อและพิธีกรรมประกอบอยู่เสมอ เมื่อสร้างเสร็จจะมีพิธีสืบชะตาและเรียกขวัญขึ้นเรือนใหม่เพื่อเรียกขวัญไม้ที่ตัดฟันตลอดจนสู่ขวัญผู้อยู่อาศัย เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ “อุบาทว์” หรือ “ขึด” ภายในเรือนต้องส่งเคราะห์เรือน ส่งอุบาทว์ หรือถอนขึดส่งขึด ฯลฯ ปีใหม่(สงกรานต์)ต้องมีน้ำมะกรูดส้มป่อยดำหัวผีหัวขั้นใดที่รักษาบันไดเรือนที่เหยียบย่ำขึ้นลง ดำหัวข่มประตูเรือนที่ได้ก้าวล่วงข้ามไปมา และดำหัวแม่คีไฟ(เตาไฟ)ที่มีผีปู่ย่าหม้อนึ่งรักษาอยู่ ดังนั้นทุกหน่วยตั้งแต่ตัวมนุษย์ไปจนถึงเมืองจึงมีความเชื่อและจิตวิญญาณกำกับร่วมอยู่ด้วยเสมอ

ด้านการปกครองเมืองลองมี “กฎหมาย” หรือ “อาชญา” ที่เจ้าเมืองลองและเค้าสนามออกใช้ภายในเมือง ทั้งอาชญาเกี่ยวกับบ่อเหล็ก เช่น กำหนดให้ทั้งคนในและนอกเมืองลองขุดแร่เหล็กเพื่อใช้โดยส่วนบุคคลปีหนึ่งห้ามเกินคนละ ๓ หาบ(๑๘๐ กิโลกกรัม) กำหนดระยะเวลาเปิดบ่อเหล็กอนุญาตให้เข้าขุดตั้งแต่เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ(ประมาณเดือนธันวาคม)และปิดบ่อเหล็กตั้งแต่เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ(ประมาณเดือนมิถุนายน) ฯลฯ อาชญาเก็บค่าสินค้าผ่านเมือง เช่น ตั้งด่านหัวน้ำยมที่ด่านวังเงิน(เหนือแก่งหลวง)และหางน้ำยมที่ด่านผาขวาง(ใต้บ้านหาดรั่ว) ฯลฯ เมื่อเจ้าเมืองลองออกอาชญาเค้าสนามก็จะให้จเรหลวงบันทึกจารไว้ในใบลานและให้ล่ามออกป่าวประกาศไปทั่วเมืองโดยขึ้นต้นว่า “ฟังเนอๆ อาชญามีหื้อข้าได้กล่าว...” จึงถือว่าเป็นกฏหมายและรับรู้ทั่วกัน การที่เมืองลองมีจารีตและกฎหมาย หรือ “อาชญาเจ้าเมืองลอง” ที่บัญญัติขึ้นใช้ภายในเมือง อันแสดงถึงความเป็นอิสระภายในที่สามารถออกกฎหมายใช้ภายในเมืองได้ โดยไพร่บ้านพลเมืองก็มีความเกรงกลัวต่อเจ้าเมืองและขุนนางอย่างมาก ดังนั้นจึงพบอยู่เสมอในอดีตเมื่อชาวบ้านเข้าเฝ้าเจ้าเฝ้าขุนนางต้องใช้คาถาหรือยันต์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความกล้าและความมั่นใจ

นอกจากนี้ในเมืองลองยังมีตำราต่างๆ ที่ปรากฏความเชื่อเกี่ยวกับเมือง เช่น ดูดวงชะตาเมือง เคราะห์เมือง เคราะห์เจ้าเมือง ดูข้าศึกจะยกมาทางทิศไหนของเมือง ดูฟ้าฝนของเมือง ตลอดถึงดูข้าวของภายในเมืองแต่ละปีว่าถูกหรือแพง “...จักดูเมือง..เกณฑ์ปีตั้งนามเมืองบวก..เอาอักขระนามเมืองบวก..เสส ๐ ๓ จักมีอุปัททะใหญ่ ๔ ประการออกมาตั้งวันพระญาวัน การจักเสียเมือง บ่อั้นเจ้าเมือง บ่มีฅนจักกะทำโทสแก่เจ้าเมือง บ่มีไฟจักไหม้.. ดูเคราะห์เจ้าเมือง..หื้อตั้งเกณฑ์ปีนามเจ้าเมืองบวก ๓ คูณ ๔..ผิว่าเสส ๐ เมืองนั้นจักเสียแก่ท่าน เสส ๑ บ่เสียเท่าหื้อแหนไพร่ เสส๓ มีโจรในเมือง ถ้านนึ่งได้ผู้กินเมืองจักตาย..ถ้านนึ่งได้อามาจจ์จักตาย..ถ้านนึ่งอามาจจ์จักเปนโจร..แก้วหาญจักเปนโจร..เสส ๕ ทุกข์ตัวเสิก็จักมีมาตกเมือง..เมืองจักมืดมัวผีห่าเข้าเมือง กะทำบุญจิ่งดีสว่างหายชะแล.. เสิก็จักมาหนใดชา..เสสตกหนใดกาลกิณีเมืองอยู่หนนั้นแล เสิกจักมาเอาสกราชบัดนี้ตั้ง..เอานามเมืองคูณ..เสส ๐ มีหนบุพพา เสส ๓ ๔ ๕ มีหนทักขิณา ..แม่นมหาเถรเจ้าก็เอาอันนี้ แม่นนักปราชญ์ แม่นท้าวพระญาก็เอาอันนี้ทวายแล เชื่อแล้วอย่าสันเทหะ...”

ด้วยความเป็นเมืองเกิดขึ้นจากการร้อยรัดถักทอประสานกันของพุทธและผี ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม โดยเฉพาะผีจะมีอิทธิพลสูงและแนบชิดต่อความเป็นเมืองลองยุคจารีตมากกว่าพุทธศาสนา เมืองจึงมีความผูกพันและมีความหมายต่อผู้คนที่อยู่อาศัยภายในปริมณฑลสูง และเกิดการนิยามความหมายของตนเองเชื่อมโยงเข้ากับพื้นที่ว่าเป็น “คนเมืองลอง” หรือ “ชาวเมืองลอง” เหมือนกับบ้านเมืองอื่นๆ ที่นิยามตนเองว่าเป็น “คนเมืองต้า” “คนเมืองเมาะ” “คนเมืองจาง” “คนเมืองละกอน(ลำปาง)” “คนเมืองละปูน(ลำพูน)” หรือ “คนเมืองเชียงใหม่” ฯลฯ  แต่ภายหลังจากสยามสถาปนาระบบราชการขึ้นในพ.ศ.๒๔๔๒ ชาวเมืองที่อาศัยอยู่ภายใน หัวเมืองเล็กหัวเมืองน้อยทั้งหลายของล้านนาค่อยๆ ถูกลดทอนและถูกกลืนความทรงจำ เปลี่ยนให้รับรู้ไปกับหน่วยการปกครองแบบใหม่ที่ “รัฐไทย” สร้างขึ้นในรูปของจังหวัด อำเภอ และตำบล รวมถึงเมืองลอง(เมืองต้า)ได้ถูกจัดวางตำแหน่งแห่งที่ใหม่ในรูปของอำเภอ(แขวง) กลายเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดลำปางหรือจังหวัดแพร่ มีการพัฒนาผ่านระบบราชการที่รับมาจากสยาม จึงทำให้ข้าราชการที่เข้ามาปกครองในอำเภอลองกลายเป็นชนชั้นนำใหม่ของสังคม ข้าราชการจะเป็นตัวแทนของรัฐไทยสมัยใหม่ที่ได้รับคำสั่งมาจากส่วนกลาง แต่ระยะแรกอำนาจของสยามยังอยู่ในส่วนกรมการแขวงเท่านั้น จนกระทั่งหลังทศวรรษ ๒๔๖๐ เป็นต้นมาจึงพยายามขยายอำนาจถึงด้านทำนุบำรุงพุทธศาสนา เปลี่ยนความเป็นเมืองลองในยุคนี้ให้เป็นพุทธศาสนามากขึ้น และลงถึงกลุ่มข้าราชการระดับล่าง โดยการอวยยศและพระราชทานราชทินนามให้กับกำนันที่ให้การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เช่น

(๑) นายอ้าย คำมูล บ้านนามน กำนันตำบลหัวทุ่งคนที่ ๒ เป็น “ขุนสัก”

(๒)  หนานปัญญา จำปาแก้ว บ้านหัวทุ่ง กำนันตำบลหัวทุ่งคนที่ ๓ เป็น “ขุนนิคมศิระเขต”

(๓)  หนานวิชัย อุตมา บ้านเสี้ยว(ร่องบอน) กำนันตำบลปากกาง เป็น “ขุนปากกางไกรเดช”

(๔) กำนันตำบลเวียงต้าคนที่ ๒ เป็น “ขุนเวียงต้า”

(๕) สิบตรีวงศ์ ปัญญาฉลาด กำนันตำบลเวียงต้าคนที่ ๓ เป็น “ขุนระบิน”

ส่วนผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่เคยถูกเกณฑ์เป็นทหารมาแล้ว หรือชาวเมืองลองที่ได้เป็นตำรวจและทำหน้าที่สนองนโยบายของรัฐบาลก็ได้รับการอวยยศเช่นกัน ดังเช่น “สิบโทอาจ” ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หมื่นอาจ” (ภายหลังได้ภรรยาและตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านนาใหม่ ตำบลเวียงชิ้น อำเภอวังชิ้น) เมื่อมีการจัดตั้งแขวงเมืองลองเพื่อเป็นหน่วยปกครองแบบใหม่ จึงมีการจัดตั้งสถานที่ราชการขึ้นครั้งแรกในพ.ศ.๒๔๔๖ คือ ที่ว่าการกรมการแขวงและสถานีตำรวจ อยู่ในส่วนพื้นที่ตอนเหนือของกลางเมืองลองยุคจารีต โดยเฉพาะที่ว่ากรมการแขวงได้ตั้งทับอยู่บนพื้นที่ “ม่อนก็อก” สุสานของเจ้าเมืองลองและมหาครูบาหลวงเมือง กอปรกับเมื่อการค้าในแขวงเมืองลองเกิดการขยายตัวได้เปลี่ยนเส้นทางการค้าจากแม่น้ำยม และเส้นทางบกของสัตว์ต่างมานิยมใช้ทางรถไฟมากขึ้น ตามเส้นทางรถไฟและทางล้อเกวียนที่เชื่อมต่อกันจึงเกิดเป็นชุมชนที่มีผู้คนมาจากภายนอก เพื่อรับจ้างทำหมอนไม้รถไฟ รับจ้างระเบิดศิลา รับจ้างเลื่อยไม้ ฯลฯ และได้กลายเป็นหมู่บ้านขึ้นใหม่ เช่น บ้านแก่งหลวง บ้านผาคอ บ้านผาคัน ฯลฯ โดยเฉพาะแถบบ้านปินที่เป็นสถานีหลักของแขวงเป็นที่รับส่งสินค้าแทนท่าเรือปากกาง ดังนั้นบริเวณนี้จึงมีการเคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นโดยเฉพาะกลุ่มคนจีน มีการตั้งโรงแรมขนาดเล็กเพื่อรองรับผู้ที่สัญจรไปมา ตลอดถึงสร้างศาลเจ้าป้องเฒ่ากรุง(ปุงเถ่ากง) เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและประกอบพิธีกรรมของชาวจีนในแขวงเมืองลอง จนสามารถกล่าวได้ว่าบ้านปินกลายเป็นชุมชนชาวจีนยุคแรกของเมืองลอง

การขยายตัวของเมืองลองได้ขยายอย่างรวดเร็วภายหลังรถไฟมาถึงพ.ศ.๒๔๕๗ เพราะทำให้เกิดชุมชนการค้าแห่งใหม่บนพื้นที่ใกล้สถานีรถไฟ จากที่บ้านปินเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ และเป็นทุ่งนาตั้งอยู่บริเวณส่วนหัวเมืองลอง ได้เติบโตเป็นศูนย์กลางการค้าที่คึกคักไม่ด้อยไปกว่าตลาดห้วยอ้อที่เคยเป็นตลาดกลางเมืองที่มีมาแต่โบราณ โดยเฉพาะพ.ศ.๒๔๗๙ สภาจังหวัดแพร่ได้ผลักดันให้สร้างถนนจรูญลองรัฐเชื่อมระหว่างตัวอำเภอลอง ตำบลห้วยอ้อ กับสถานีรถไฟบ้านปิน ตำบลบ้านปิน “...การสร้างถนนหมายเลข ๓ (ถนนจรูญลองรัฐ)นั้นก็ควรทำก่อนสายอื่นๆ เหมือนกัน โดยเหตุที่เป็นถนนจากอำเภอเมืองลองและตลาด อำเภอ ตำบลห้วยอ้อ ไปติดต่อกับทางรถไฟที่สถานีบ้านปินมีระยะทางเพียง ๔ กิโลเมตรเศษเท่านั้น เพื่อสะดวกแก่พ่อค้าประชาชนในตลาดตำบลห้วยอ้อกับคณะกรมการอำเภอเมืองลอง ในการขนส่งสินค้าและทำการติดต่อกับจังหวัดแพร่ด้วย...”

ตัวเมืองลองสมัยใหม่จึงได้ขยายออกไปครอบคลุมถึงพื้นที่สถานีรถไฟบ้านปิน และได้กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญควบคู่กันกับบ้านห้วยอ้อ ดังภายหลังทั้ง ๒ พื้นที่ได้ยกขึ้นเป็นสุขาภิบาลและเทศบาลของอำเภอลอง บริเวณสถานีรถไฟบ้านปินมีพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยจากหมู่บ้านต่างๆ นำสิ่งของมาขาย หรือพ่อค้าเชื้อสายจีนรับหาบไปขายตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป ส่วนเส้นทางเรือก็ไม่ได้หมดไปเมื่อรถไฟมาถึงเพราะถนนส่วนใหญ่เป็นทางล้อเกวียน จึงนิยมใช้เส้นทางน้ำขนส่งสินค้าระหว่างหมู่บ้านภายในแขวงเมืองลองมากกว่า โดยเมื่อรับสินค้าจากสถานีรถไฟบ้านปินก็จะนำบรรทุกล้อเกวียนมาขายยังตลาดบ้านห้วยอ้อ หรือนำมาลงที่ท่าเรือปากกางนำไปขายตามหมู่บ้านต่างๆ ถึงบ้านหาดรั่ว บ้านวังไค้ ตำบลวังชิ้นแล้วจึงถ่อเรือกลับ โดยมีตลาดรับส่งสินค้าขนาดเล็กอยู่บ้านวังชิ้น ที่จะกระจายต่อไปให้หมู่บ้านที่ห่างไกลออกไปจนถึงบ้านแม่ขมิง บ้านแม่ขมวก(ต.สรอย) ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าหมู่บ้านต่างๆ แถบตำบลวังชิ้นก็จะนำสินค้าของป่า เช่น เขา หนัง สีเสียด เปลือกไม้ ฯลฯ บรรทุกเรือขึ้นมา หรือแถบตำบลเวียงต้าก็นำสินค้าบรรทุกล้อเกวียนหรือหาบมาขายที่สถานีรถไฟบ้านปินหรือตลาดห้วยอ้อ ดังนั้นการที่รถไฟเข้ามาถึง ทำให้เศรษฐกิจของแขวงเมืองลองขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยคนพื้นเมือง ก็จะนำผักผลไม้ขึ้นรถไฟนำสินค้าไปขายที่ตลาดเมืองลำปางหรือเมืองเชียงใหม่ แล้วซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยกลับเข้ามาขายที่เมืองลอง ประกอบกับเมื่อพัฒนาถนนเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟดีขึ้น ได้มีการนำรถม้าเข้ามาใช้ร่วมกับล้อเกวียนจึงเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ส่วนพ่อค้าเชื้อสายจีนในเมืองลำปางบางตระกูล เช่น “ตระกูลจิวะสันติการ” ที่เคยมาตั้งรกรากเมืองลองเมื่อพ.ศ.๒๔๗๐ ก่อนไปตั้งถิ่นฐานที่ตลาดเก๊าจาว เมืองลำปาง หรือตระกูลพานิชพันธ์ ภายหลังก็ได้ขยายสาขามาที่เมืองลอง จึงเกิดเป็นเครือข่ายทางการค้าระหว่างตัวเมืองจังหวัดลำปางกับอำเภอเมืองลองอีกทางหนึ่ง เช่น ร้านถ่ายรูป(ร้านฉลองศิลป์) ของนายฉลอง พานิชพันธ์ และร้านจำหน่ายเครื่องใช้ต่างๆ ฯลฯ ส่วนในแถบตำบลวังชิ้นเนื่องจากอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางแขวงเมืองลอง ภายหลังจึงขยายสาธารณูปโภคต่างๆ เข้าไปให้บ้านวังชิ้นเป็นศูนย์กลางของตำบลจนชุมชนขยายตัวเกิดหมู่บ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถจัดตั้งขึ้นเป็น “อำเภอวังชิ้น” ในเวลาต่อมา

เมื่อมีการปกครองแบบใหม่ ศูนย์กลางความเจริญและแผนผังของเมืองก็ได้ขยายวงกว้างขึ้น ส่งผลถึงหน่วยความเป็นเมืองลองแบบจารีตจึงได้ค่อยๆ ล่มสลายไปในส่วนความทรงจำของชาวเมือง ดังจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานที่จารขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๔๗๖ ว่า “...เขียนปลางเมื่ออยู่ปฏิบัตวัดสรีดอนไชย(นาตุ้ม)แม่ลองแก้วกว้าง ท่าท้างกลางเมืองลองวันนั้นแล...”

เดิมในยุคจารีตบ้านนาตุ้มอยู่ส่วน “หางเมืองลอง” เป็นหมู่บ้านระหว่างรอยต่อของ “กลางเมือง” กับ “หางเมือง” แต่พอในยุคนี้การรับรู้แปรเปลี่ยนไปเป็น “กลางเมืองลอง” แทน สะท้อนถึงการรับรู้เกี่ยวกับปริมณฑลความเป็นตัวตน “เมืองลอง” ของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วย และค่อยๆ เลือนหายไปจากการรับรู้และความทรงจำของคน “เมืองลอง” ในรุ่นปัจจุบัน

ภูเดช แสนสา

ดำหัวประตูเรือนประตูบ้านในวันปีใหม่(สงกรานต์) (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๘)

ผีปู่ย่าหม้อนึ่ง พิธีกรรมทายทักอย่างหนึ่งของชาวล้านนา

ส่งเคราะห์เรือน (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

ศาลเจ้าป้องเฒ่ากรุง(ปุงเถ่ากง) ที่บ้านปิน ศูนย์รวมจิตใจของคนเชื้อสายจีนในอำเภอลอง (ที่มา : พระปลัดสมบูรณ์ สิริวณฺโณ, ๒๕๕๒)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•พุธ•ที่ 30 •มกราคม• 2013 เวลา 10:30 น.• )