เหล็กจากต่างประเทศเข้ามาแทนที่เหล็กลอง เหล็กมีความสำคัญมากในยุคจารีตเพราะใช้ผลิตทั้งอาวุธ เครื่องมือเครื่องใช้ และสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ เหล็กจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ชุมชนหมู่บ้านพัฒนาขึ้นเป็นเมืองหรืออาณาจักร และผู้ผูกขาดก็ได้รับการยอมรับเป็นผู้นำ ดังกรณีปู่เจ้าลาวจก บนดอยปู่เจ้า(ดอยตุง) ผู้ครอบครองเครื่องมือเหล็กจำนวนมากภายหลังได้เป็น “ลวจักราช” ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ลาว แคว้นโยนก ที่สร้างฐานอำนาจมาถึงพญามังราย (พ.ศ.๑๘๐๔ - ๑๘๕๔) กษัตริย์ราชวงศ์ลาวลำดับ ๒๕ ที่ต่อมาได้เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังรายผู้รวบรวมเมืองน้อยใหญ่ขึ้นเป็นอาณาจักรล้านนา ด้วยความสำคัญดังนี้ปราชญ์ล้านนาโบราณจึงบัญญัติไว้ว่าเครื่องมือตีเหล็กเป็นของสร้างโลก ถ้าผู้ใดทำลายเรียกว่า “ม้างตีอก” จะเป็นมหาโลกาวินาศใหญ่หนึ่งใน ๗ ประการ  “...ผิแลได้กะทำ.. ในเวียงอันใด เวียงอันนั้น เมืองอันนั้น ก็จิ่งกิ่วเถียวหลิ่งคล้อยหม่นหมองไปบ่ก้านกุ่งรุ่งเรืองงามได้แล ผิว่าบ้านนอกขอกสีมาที่ใดก็จักฉิบหายไปบ่สงไสยชะแล...”

บ่อเหล็กในล้านนาที่มีการขุดขึ้นมาใช้มีหลายแห่ง เช่น บ่อเหล็กเมืองฮอด บ่อเหล็กเมืองแจ๋ม บ่อเหล็กเมืองเชียงแสน บ่อเหล็กเมืองอวน บ่อเหล็กเมืองต้า และบ่อเหล็กเมืองลอง ซึ่งแร่เหล็กเมืองลองยุคจารีตถือว่าเป็นเหล็กที่มีคุณภาพดี และสันนิษฐานว่านำไปใช้อย่างกว้างขวางในล้านนาดังมีคำเปรียบว่า “เหล็กดีเหล็กเมืองลอง ตองดีตองพะเยา” กล่าวกันว่าบ่อเหล็กเมืองลองเป็นบ่อเหล็กที่ใช้ทำศาสตราวุธหรือที่เรียกว่า “ดาบสรีกัญไชย” ของกษัตริย์ล้านนา โดยจะคัดเลือกเอา “ม้อนเหล็กลอง” คือ เม็ดก้อนแร่เหล็กที่เกิดอยู่ภายในก้อนแร่เหล็กลองที่หุ้มคล้ายตลับอยู่ภายนอกอีกชั้นหนึ่ง เมื่อเขย่าจะเกิดเสียงอยู่ภายในมีสีเขียวปีกแมลงทับ ช่างตีเหล็กจะนำมาตีผสมกับเหล็กปิว(เหล็กลองน้ำหนึ่งหลุมแรก)เป็นดาบสรีกัญไชยของกษัตริย์ ส่วนเหล็กปิวที่ไม่ตีผสมม้อนเหล็กลองใช้ทำอาวุธเจ้าเมืองและขุนนาง ประกอบกับภายในเมืองลองมีการสืบทอดช่างเหล็กเป็นตระกูลมาหลายชั่วอายุคน เช่น ตระกูลช่างเหล็ก ตระกูลฟูเหล็ก ฯลฯ อาวุธที่ผลิตขึ้นในเมืองลองจึงถือกันว่าเป็นอาวุธชั้นหนึ่ง มีคุณสมบัติสนิมไม่กินเนื้อเหล็ก มีความคมหากเอาเส้นผมวางบนคมแล้วเป่าเส้นผมจะขาดออกจากกันทันทีโดยเฉพาะเหล็กลองน้ำหนึ่งที่เรียกว่า “เหล็กปิว” มีความเหนียวหากตีเป็นดาบที่บางจะสามารถหักทบงอหรือขดม้วนได้ ถ้าตีหนาสามารถตัดดาบเหล็กลองที่น้ำต่ำกว่าหรือดาบจากเหล็กบ่ออื่นได้

นอกจากนี้ยังแฝงความเชื่อผีเมือง(ผีพ่อเฒ่าหลวง)เข้าไปด้วย เช่น เชื่อว่าก้อนแร่เหล็กลองที่เรียกว่า “ตับเหล็ก” หากพกพาจะอยู่ยงคงกระพัน อาวุธที่ทำจากแร่เหล็กลองหากถูกบาดจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด มีไว้ในบ้านเรือนโจรขโมยจะไม่ขึ้นเรือนและผีกลัว ฯลฯ ซึ่งคนภายนอกก็ยอมรับว่าอาวุธหรือเหล็กลองมีคุณภาพและเป็นเหล็กศักดิ์สิทธิ์ ดังปรากฏในวรรณกรรมของพญาพรหมโวหาร กวีราชสำนักเมืองนครลำปาง(ภายหลังเป็นกวีประจำราชสำนักเมืองนครเชียงใหม่) ว่า “...ชาติเหล็กปิวดำ บ่จัดเลือกเนื้อ ปืนเก่าเกื้อโบราณ... (เหล็กน้ำหนึ่งไม่รู้เลือกที่จะฟัน ก็ไม่ต่างกับปืนเก่าแก่คร่ำคร่า)”  “...จักขัดขวาง บ่เมือสู่ห้อง กลัวเหล็กเมืองลอง ว้องคัด...”  หรือศรีวิไชย(โข้) กวีเชื้อสายเจ้านายเมืองนครแพร่ กล่าวในค่าวฉลองคุ้มหลวงของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ เมื่อพ.ศ.๒๔๓๕ ว่า “...มีเจ็ดสิบสอง เหล็กลองกล๋มเกลี้ยง จดจันเจียง แซ่ไว้ . ..ห้าสิบสอง เหล็กลองไหลดั้น ข่ามคงกะพัน มากนัก...  ถ้วนเจ็ดสิบสอง เหล็กลองแข็งนัก ต๋ำหนักมิ่งแก้ว มงคล...”

แร่เหล็กเมืองลองจึงถูกขุดขึ้นใช้อย่างแพร่หลายไม่ใช่ใช้เฉพาะภายในเมืองลองเท่านั้น ดังช่างตีเหล็กทั้ง ๓ กลุ่มหลักของเมืองนครลำปางที่สืบทอดมาหลายรุ่น คือ กลุ่มในเวียง(บ้านกาดเมฆ) กลุ่มเกาะคา(บ้านสองแคว) และกลุ่มห้างฉัตร(บ้านขามแดง)ก็มาขุดแร่เหล็กในเมืองลอง หรือช่างตีเหล็กเมืองนครแพร่ที่แม้ไม่เข้ามาขุดเป็นประจำ เพราะอยู่ในเขตอำนาจของเจ้าผู้ครองนครลำปาง แต่ก็ปรากฏนำไปใช้ในงานก่อสร้างสำคัญและแฝงเรื่องอำนาจบารมีเช่น สร้างคุ้มหลวงเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ แต่ต่อมาเหล็กลองได้กลับลดความนิยมลงโดยมีเหล็กจากประเทศตะวันตกเข้ามาแทนที่ เดิมอาวุธและเครื่องมือที่ทำจากเหล็กมีพ่อค้าสัตว์ต่างจากยูนนาน รัฐฉาน หรือพม่านำเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนในล้านนาเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีผลทำให้ความต้องการเหล็กลองลดลงเพราะผู้คนยังอยู่ในระบบผลิตเพื่อยังชีพ ดังยังพบว่าในช่วงก่อนทศวรรษ ๒๔๖๐ ชาวบ้านยังขุดเหล็กลองขึ้นมาทำเครื่องมือเครื่องใช้นำไปแลกข้าวแถบอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย โดยอัตราแลกเปลี่ยนก้อนแร่เหล็กจำนวน ๓ หาบ(๑๘๐ กิโลกรัม)ผ่านการถลุงและหลอมเป็นลิ่ม(แท่ง)แลกข้าวได้ประมาณ ๕ กระสอบ ดังนั้นภายในท้องถิ่นจึงขุดเหล็กผลิตเป็นเครื่องมือขึ้นใช้เอง ขณะเดียวกันก็นำมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าสัตว์ต่างเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะพ่อค้าสัตว์ต่างนครเชียงตุงก็นิยมเข้ามาแลกเปลี่ยนเอาก้อนแร่เหล็กของเมืองลองกลับไปผลิตเช่นกัน แต่เหล็กที่เข้ามามีบทบาทแทนเหล็กลองสันนิษฐานว่าคือเหล็กแท่งจากประเทศตะวันตก ซึ่งเริ่มเข้ามาในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ พร้อมกับกลุ่มประเทศตะวันตกเข้ามาทำป่าไม้ในล้านนา เมื่อการค้าไม้ที่ล่องขายทางแม่น้ำปิง วัง ยม และน่านขยายตัวพ่อค้าจากหัวเมืองในล้านนาก็เริ่มค้าขายแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าในแถบอุตรดิตถ์ สวรรคโลก และตากมากขึ้น โดยพ่อค้าจีนที่เป็นคนในบังคับอังกฤษหรือฝรั่งเศสจะเป็นพ่อค้าคนกลางซื้อของจากกรุงเทพฯ เช่น เกลือ น้ำมันก๊าด เสื้อผ้า รวมถึงเครื่องมือเหล็ก และเหล็กแท่ง เพื่อแลกกับของป่าจากพ่อค้าล้านนา เครื่องมือเหล็กสำเร็จรูปที่เข้ามาขายจึงมีราคาถูก และสะดวกกว่าต้องขุดก้อนแร่เหล็กขึ้นมาผลิตเอง ประกอบกับหลังพ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้นมาเมืองลองได้ถูกยกเลิกการส่งส่วยเหล็กและช่างหรือพ่อค้าต้องเสียภาษีเหล็ก จึงทำให้ภูมิปัญญาการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จากเหล็กที่สืบทอดมาแต่รากเหง้าค่อยๆ ลดลงตามไปด้วยเป็นลำดับ ระยะแรกที่เหล็กประเทศตะวันตกเข้ามายังไม่ได้รับการยอมรับจากชาวล้านนา ที่ยังมีมโนทัศน์เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ผูกติดกับเหล็ก ดังเช่นพญาพรหมโวหารกล่าวในค่าวฮ่ำนางจมที่แต่งขึ้นในช่วงพ.ศ.๒๓๘๐ - ๒๓๙๐ ว่า “...เตมว่าเหล็กจำจอดบ้อง(เหล็กฝรั่ง-ผู้เขียน) ดีเหมือนแฅ่งข้องใบตอง เตมว่าเชือกกองท่านง่าน พรหมค็บ่พร่านตกใจ ..บ่ใช่ว่าฅนปุมใสท้องเปล่า ชาติงูเห่างูจอง...” หรือค่าวตุ๊ปู่หมู กวีบ้านปงป่าหวาย (อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่) กวีรุ่นหลังศรีวิไชย(โข้) เมืองนครแพร่ กล่าวว่า “...ชาติพร้ากาดเจ๊ก(พร้าจากตลาดของคนจีน-ผู้เขียน) บ่ถ้ามาถือ เถือเนื้อกระบือ มันบ่ใจ้เข้า มันบ่เหมือน พร้าโต้พ่อเฒ่า ชาติหัวเหล็กลอง อย่างเก๊า...”

แต่พอช่วงรถไฟขึ้นมาถึงหัวเมืองต่างๆ ในล้านนาช่วงพ.ศ.๒๔๖๔ ชาวเมืองเริ่มมีวิถีชีวิตแบบทุนนิยม พ่อค้าคนจีนได้นำเครื่องใช้เหล็กและเหล็กแท่งเข้ามาขายมากขึ้น ประกอบพื้นที่บ่อเหล็กลองกลายเป็นเขตป่าหวงห้าม ซึ่งในปีพ.ศ.๒๔๖๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธินทรงเสนอให้ทำเหมืองแร่เหล็ก แร่ทองแดง และแร่วุลแฟลม ในแขวงเมืองลอง เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อไม่ให้รถไฟเสียเที่ยว(รถไฟถึงเมืองลองพ.ศ.๒๔๕๗) และเพิ่มรายได้ของแผ่นดิน แต่กระทรวงมหาดไทยไม่อนุญาต ดังนั้นเครื่องมือเหล็กและเหล็กแท่งที่นำขึ้นมาทางรถไฟจึงเข้ามาแทนที่เหล็กเมืองลองตลอดถึงเหล็กเมืองต้า แม้แต่ช่างตีเหล็กในลำปางก็หันไปใช้เหล็กแท่งจากต่างประเทศที่ขายในตลาดลำปาง หรือช่วงสงครามโลกก็ใช้เหล็กจากแหนบรถแทน จึงปรากฏมีคำกล่าวล้อเลียนเครื่องมือเครื่องใช้เหล็กที่ผลิตในจังหวัดลำปาง จากคนในแถบจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูนขึ้นในช่วงนี้ว่า “ดาบเมืองละกอน ฟันใบบอนก็บ้าง”  ภายในอำเภอลองเมื่อเหล็กลองหมดบทบาทด้านหน้าที่ใช้สอย แต่บทบาทหน้าที่ทางด้านความเชื่อยังคงอยู่ โดยเฉพาะหลังมีกระแสการรื้อฟื้นความเป็นตัวตนของเมืองลองในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นต้นมา กระแสเหล็กลอง “เหล็กศักดิ์สิทธิ์” เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงในวงกว้างระดับประเทศ ส่วนช่างตีเหล็กที่นำเหล็กเก่าหรือซื้อเหล็กมาตีใช้เองและขายยังเหลืออยู่ตามหมู่บ้าน ในอำเภอลอง เพิ่งลดลงช่วงใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจในพ.ศ.๒๕๐๔ ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดต่อไป

ภูเดช แสนสา

ที่นั่ง (ร่างทรง) ของผีพ่อเฒ่าหลวงกำลังหักทบงอดาบเหล็กลอง ในวันประเพณีพิธีเลี้ยงผีบ่อเหล็กเมืองลอง (ที่มา : สภาวัฒนธรรมตำบลบ่อเหล็กลอง)

หอกเหล็กเมืองลอง (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๒)

แคะช้างหรือเหล็กคล้องเท้าช้างทำจากเหล็กลอง (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๒)

ดาบเหล็กเมืองลอง (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๒)

อุปกรณ์ตีเหล็กของชาวเมืองลองในอดีต ภาพซ้ายคือ “เส่า” ใช้สูบลมเร่งไฟขณะตีเหล็ก (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

อุปกรณ์ตีเหล็กของชาวเมืองลองในอดีต  ภาพขวาคือ “ทั่ง”  กับ “คีม”  ทั่งและคีมในภาพขุดได้บริเวณใกล้วัดบ่อแก้ว(ร้าง) บ้านปิน (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 22 •มกราคม• 2013 เวลา 10:07 น.• )