ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๒๑ ด้านการคลังและภาษีอากร การปกครองแบบใหม่ มีลักษณะรวบอำนาจและดึงดูดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้าสู่สยาม มีการแทรกซึมวางโครงสร้างไว้อย่างมั่นคงจนทำให้ทั้ง “นครประเทศราช” “เมืองขึ้น” รวมถึงเมืองลองที่เป็นเมืองขนาดเล็กไร้อำนาจการต่อรองต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม ผลประโยชน์ทั้งหลายที่เจ้าเมืองและกลุ่มผู้ปกครองเมืองลองเคยได้รับในอดีตต้องหมดไปโดยปริยาย เช่น ค่าไม้ขอนสัก เก็บค่าขุดเหล็ก เก็บค่าตอไม้ เก็บค่าล่องสินค้าผ่านเมือง และผลประโยชน์บางอย่างจากเมืองต้า ฯลฯ อีกทั้งไม่ได้รับเงินเดือนเหมือนเจ้าผู้ครองนครลำปางและเจ้านายบุตรหลาน เพราะเจ้าเมืองลองและขุนนางเค้าสนามถูกกันออกจากระบบราชการ

(๑) ค่าตอไม้ เดิมเป็นผลประโยชน์โดยตรงของเจ้านายเมืองนครลำปางและเมืองลอง ถือว่า ป่าไม้ในนครประเทศราชและหัวเมืองขึ้นเป็นของเจ้าผู้ครองนครทั้งหมด สามารถสืบทอดเป็นมรดกให้เจ้านายบุตรหลานได้ ภายหลังสยามค่อยเข้าแทรกแซงอำนาจและแบ่งผลประโยชน์ โดยเฉพาะหลังจัดตั้งกรมป่าไม้ในพ.ศ.๒๔๓๙ ต้องแบ่งค่าตอไม้ระหว่างเจ้านายนครลำปางกับสยามคนละครึ่ง และกำหนดให้เมื่อเจ้านายผู้ใดสิ้นชีพจะไม่สามารถรับค่าตอไม้สืบทอดเป็นมรดกได้ พร้อมทั้งพยายามให้เจ้าผู้ครองนครมอบป่าไม้ให้เป็นของสยาม ในที่สุดรายได้ในส่วนค่าตอไม้ทั้งหมดจึงตกเป็นของรัฐบาล เจ้าผู้ครองนครลำปางต้องขอรับอนุญาตสัมปทานทำป่าไม้เป็นช่วงปีตามรัฐบาลอนุญาต โดยรัฐบาลมีสิทธิ์อนุญาตให้ทำป่าไม้ที่เคยเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าผู้ครองนครทั้งหมด เช่น พ.ศ.๒๔๖๗ เจ้าราชบุตร(เจ้าน้อยแก้วเมืองพวน ณ ลำปาง) และบริษัทอิสต์เอเชียติก ต่างก็ขอทำป่าไม้ในแขวงเมืองลอง รัฐบาลจึงกันให้บริษัทอิสต์เอเชียติกไปทำป่าเมืองแจ๋ม(แม่แจ่ม) เชียงใหม่ หรือพ.ศ.๒๔๗๐ เจ้าหลวงแก้วนวรัฐ(เจ้าอินทแก้ว ณ เชียงใหม่) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ขอสัมปทานทำป่าไม้แขวงเมืองลองแทนเจ้าวงศ์เกษม ณ ลำปาง(บุตรเจ้าราชบุตร) แต่รัฐบาลไม่อนุญาตเพราะเห็นว่ามีอุปกรณ์ไม่พร้อม คือเจ้าหลวงแก้วนวรัฐมีช้างน้อยกว่าเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง(เจ้าตาของเจ้าวงศ์เกษม)เป็นจำนวนมาก รัฐบาลเกรงจะทำป่าไม้ไม่ไหว เพราะช่วงที่เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตรับสัมปทานป่าไม้เฉพาะในแขวงเมืองลองต้องใช้ช้างส่วนตัวกว่า ๒๐๐ เชือก เมื่อป่าไม้เป็นของรัฐบาลเจ้าเมืองลองแสนท้าวจึงไม่สามารถตัดฟันชักลากไม้ล่องขายเองได้ และหมดรายได้ค่าตอไม้ไปโดยปริยาย แต่เนื่องจากเจ้าเมืองลองและแสนท้าวมีช้างและล้อเกวียนในครอบครองอยู่แล้ว จึงขอรับเป็นลูกช่วงชักลากไม้ออกจากป่าในแขวงเมืองลองจากเจ้าผู้ครองนครลำปางอีกชั้นหนึ่ง และเจ้าเมืองแสนท้าวในส่วนเค้าสนามเมืองลอง ก็ได้รับส่วนค่าเหนื่อยในการเป็นเจ้าหน้าที่เก็บอากรค่าตอไม้ เพราะเป็นตัวแทนจัดเก็บส่งให้นครลำปางแต่ไม่ได้ส่วนแบ่งค่าตอไม้เป็นรายต้นดังเช่นอดีต

(๒) เสียเงินแทนเกณฑ์ ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้นมามีพระราชบัญญัติกำหนดให้ไพร่ชายอายุตั้งแต่ ๑๘ - ๖๐ ปีเสียเงินแทนเกณฑ์คนละ ๔ บาทต่อปี หรือที่เรียกภายในเมืองลองว่า “เงินค่าหัว” รัฐบาลต้องการในรูปของเงินมากกว่าในรูปของแรงงานเพื่อดึงรายได้เข้าสู่ส่วนกลาง ขณะที่แรงงานเกณฑ์ได้ประโยชน์เฉพาะในท้องที่รัฐบาลไม่ได้ผลประโยชน์ด้วยเลย ดังพ.ศ.๒๔๔๖ มีการคำนวณว่าเขตแขวงในนครลำปางหากเกณฑ์ทำงานคิดเป็นเงินได้เพียง ๑๔,๘๐๒ บาท แต่ถ้าจัดเก็บเป็นเงิน ๔ บาทแทนเกณฑ์รัฐบาลจะได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นถึง ๑๓๐,๓๖๘ บาทหรือเพิ่มขึ้นเกือบ ๙ เท่า โดยไพร่ที่ถูกเก็บเงินแทนเกณฑ์เดิมก็คือสามัญชนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นทาส และไม่ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้าเมืองเป็นขุนนาง ไพร่มีความสำคัญมากของการปกครองในระบบจารีต เพราะจำนวนไพร่จะแสดงถึงฐานะและอำนาจบารมีของผู้ปกครอง เจ้านายแต่ละองค์ในนครประเทศราชจึงมีไพร่ขึ้นสังกัดอยู่ ส่วนไพร่ในเมืองลอง เมืองต้า ก็ขึ้นสังกัดตรงกับเจ้าเมือง โดยเจ้าผู้ครองนครจะเป็นเจ้าของไพร่ในนครประเทศราชและหัวเมืองขึ้นทั้งหมด ซึ่งไพร่ในเมืองลองเดิมมีความเป็นอิสระสูงเพราะนานๆ ครั้งเจ้าเมืองจึงจะเกณฑ์ทำงานให้บ้านเมืองหรือให้เจ้าเมือง จึงมีคำกล่าวว่าในเมืองลองว่า “ท้าวบ่หา พญาบ่ฮ้อง ก็บ่ฮู้บ่หัน” แต่เมื่อจัดเก็บเงินแทนเกณฑ์ไพร่ถือเป็นพสกนิกรของกษัตริย์สยาม เจ้าผู้ครองนคร(กษัตริย์ล้านนา)รวมถึงเจ้าเมืองลองและขุนนาง ก็ไม่สามารถเกณฑ์ใช้ไพร่หรือชาวเมืองได้อีกต่อไป และเจ้าเมืองลองก็ไม่มีสิทธิ์รับเงินค่าแรงแทนเกณฑ์ เพราะเงินแทนเกณฑ์ทั้งหมดจำนวน ๖ ส่วนต้องแบ่งให้สยาม ๒ ส่วน เป็นเงินบำรุงเมืองนครลำปาง ๓ ส่วน และเจ้าผู้ครองนครลำปาง ๑ ส่วน ดังนั้นเจ้าเมืองลองและขุนนางนอกจากจะไม่ได้รับเงินยังต้องเสียเงินแทนเกณฑ์ เพราะยกเว้นให้เฉพาะข้าราชการได้รับตราตั้งตามแบบระบบราชการสยาม บุตรหลานเจ้าผู้ครองนครลำปาง พระสงฆ์สามเณร และคนทุพพลภาพเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ส่วนทาสเป็นเชลยซึ่งได้มาจากการทำสงคราม เมื่อได้รับชัยชนะเจ้าผู้ครองนครลำปางก็ประทานเชลยศึกให้เพื่อเป็นบำเหน็จความดีความชอบแก่เจ้าเมืองลอง แม่ทัพ ขุนนางที่ร่วมทำศึก เชลยบางส่วนจึงถูกแบ่งไว้ใช้งานในโฮงหลวงเจ้าเมือง เรือนแม่ทัพ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เรียกว่า “ข้าปลายหอกงาช้าง” และมีบุตรหลานสืบต่อมาเป็น “ข้าหอคนโฮง” ถือเป็นมรดกอย่างหนึ่งของผู้ครอบครองสามารถซื้อขายได้ โดยความสัมพันธ์ของเจ้าของกับทาสในล้านนาจะอยู่ในลักษณะของการอุปถัมภ์เลี้ยงดูเสมือนสมาชิกครอบครัวมากกว่ากดขี่ข่มเหงเพื่อกันทาสหลบหนี แต่พ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้นมาทาสก็ต้องเสียเงิน ๔ บาทด้วยโดยให้ผู้เป็นเจ้าของทาสเสียเงินแทน เมื่อมีทาสมากก็ต้องเสียเงินแทนเกณฑ์มากขึ้นเท่านั้น เจ้าของทาสจึงรู้สึกว่าทาสเริ่มกลายเป็นภาระ ทำให้ทาสในล้านนาและเมืองลองค่อยๆ หมดลงไปในที่สุด ซึ่งระยะแรกก็สร้างความลำบากให้กับทาส เพราะเดิมได้รับการดูแลอุปถัมภ์จากเจ้าของ แต่เมื่อเลิกทาสหากเจ้าของทาสไม่สามารถแบ่งทรัพย์สิน ที่ดินหรือที่นาให้ทาสไปตั้งตัวได้ทั่วถึง ก็ต้องปรับตัวหาเลี้ยงตนเองครอบครัวและหาเงินมาเสียภาษีต่างๆ ให้รัฐบาล ดังนั้นการเลิกทาสจึงเป็นการเพิ่มรายได้เข้าสู่ท้องพระคลังสยามอีกทางหนึ่ง

(๓) ส่วย เดิมไพร่ในเมืองลองที่ไม่ได้เป็นข้าวัด(ข้าพระธาตุ) ข้าผีเมือง หรือข้าทาส จะต้องส่งส่วยเหล็ก ส่วนกะเหรี่ยงหมู่บ้านต่างๆ ก็จะส่งส่วยผ้าตุ้ม(ผ้าห่ม)ให้เจ้าเมืองลอง แล้ว เจ้าเมืองลองจะจัดส่งส่วยจำนวนหนึ่งขึ้นถวายเจ้าผู้ครองนครลำปาง ส่วนที่เหลือจะจัดแบ่งกันในเจ้าเมืองกับขุนนางพ่อแคว้นแก่บ้าน เมื่อสยามเปลี่ยนระบบประเทศราชล้านนาเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล จึงยกเลิกราชประเพณีส่งเครื่องราชบรรณาการ และต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง เพื่อไม่ให้เป็นสัญลักษณ์ของนครประเทศราชที่มีอำนาจปกครองตนเองอีกต่อไป ทำให้ระบบส่งส่วยระหว่างเจ้าเมืองกับเจ้าผู้ครองนครที่เป็นจารีตปฏิบัติมาช้านานถูกยกเลิกตามไปด้วย เจ้าเมืองลองแสนท้าวจึงหมดผลประโยชน์ในรูปส่วยที่เคยรับจากภายในเมืองลองและเมืองต้าไปอีกอย่างหนึ่ง

(๔) เก็บภาษีอากร เดิมไม่ได้เก็บระบบเดียวกันทุกเมืองในล้านนา แต่จะคำนึงถึงความเหมาะสม ความพร้อมของพื้นที่และผู้คนเป็นหลัก บางเมืองที่เป็นเมืองส่งส่วยหรือเมืองหน้าด่านจึงไม่ต้องเสียภาษี บางเมืองที่อยู่ห่างไกลก็เสียภาษีเป็นผลผลิต หรือหากเป็นศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจภายในนครประเทศราชก็เก็บเป็นเงิน ในกรณีเมืองนครลำปางมีหัวเมืองขึ้นและหมู่บ้านที่ส่งส่วยให้เจ้าผู้ครองนคร เช่น เมืองลอง เมืองต้า ส่งส่วยเหล็ก, เมืองแจ้ซ้อน เมืองปาน เมืองสาด ส่งส่วยเมี่ยง, เมืองเตาะ บ้านทุ่ง บ้านสาด ส่งส่วยเสื่อ, เมืองเมาะ เมืองจาง หมู่บ้านลุ่มน้ำแม่จาง ส่งส่วยเจ้า(ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) เมี่ยง, กะเหรี่ยงและคนดอย(ชาวเขา)ทุกหมู่บ้านในนครลำปางและหัวเมืองขึ้นส่งส่วยผ้าห่ม ชาวเมืองและกลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่ต้องเสียภาษี แต่ในพ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้นมาสยามได้ยกเลิกระบบส่งส่วย ทั้งนครประเทศราชทั้ง ๕ และหัวเมืองขึ้นทุกเมืองต้องเสียภาษีจำนวนหลายอย่างและเก็บเป็นเงินแบบเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นเมืองลอง เมืองต้า ที่กลายเป็นแขวงเมืองลองจึงต้องเสียภาษีทุกถ้วนทั่วตัวคนแม้แต่ตัวเจ้าเมืองลองเอง โดยเฉพาะเสียค่านา(ภาษีที่นา)ที่ไม่มีการยกเว้นแม้แต่ที่นาของเจ้าผู้ครองนคร นาพระธาตุ(นาวัด) หรือนาผีเมือง มีการเก็บต่อพื้นที่แทนเก็บตามจำนวนพันธุ์ข้าวหรือผลผลิตที่ได้ในแบบจารีต คือ ไร่ละ ๓๒ อัฐ(๑ บาท) งานละ ๘ อัฐ(๑๒.๕ สตางค์) หากไม่ทำเก็บไร่ละ ๑๖ อัฐ(๕๐ สตางค์) และค่าเผาตอฟาง ๑ โสฬส(๐.๗๘ สตางค์) ส่วนผู้ที่ทำข้าวไร่ก็เก็บตามระบบเสียค่าไร่ คือ จำนวนพันธุ์ข้าว ๑ สัด(๒๐ ลิตร)เก็บ ๑๖ อัฐ แต่หัวเมืองทั้งหลายในล้านนามักประสบปัญหาฝนแล้งจำนวนผลผลิตแต่ละปีจึงไม่คงที่ เมื่อเก็บภาษีตามขนาดพื้นที่นาบางปีเก็บผลผลิตไม่ได้หรือได้น้อย จึงสร้างความเดือดร้อนทุกข์ยากให้กับชาวบ้าน ที่นอกจากไม่มีข้าวกินยังต้องหาเงินมาเสียภาษีค่าที่นา และหากไม่มีเงินเสียค่านาก็ถูกยึดเป็นของหลวงห้ามไม่ให้ใครเข้าไปทำจนกว่าจะมีเงินมาชำระ ดังนั้นนาที่เป็นของส่วนกลางจึงมักถูกยึดเป็นของรัฐบาล เช่น “นาหลวง” เป็นนาผีเมืองของเมืองต้า เดิมไว้ปลูกข้าวใช้ประกอบพิธีเลี้ยงผีเมืองและเลี้ยงผู้เข้าร่วมพิธีไม่มีเงินเสียจึงถูกยึดเป็นของหลวง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสภาตำบลเวียงต้า)

ด้วยเหตุนี้เฉพาะภาษีที่นาอย่างเดียวก็สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอย่างมาก แต่ระบบภาษีแบบใหม่ยังเก็บเพิ่มชนิดของภาษีอากรอีกหลายอย่าง เช่น ภาษีซื้อขายทองคำและเงิน ภาษีค่าแรงช้าง ภาษีไม้ขอนสักและไม้กระยาเลย ภาษีปืน ภาษีแร่ธาตุ(เหล็ก พลอย ฯลฯ) ภาษีที่ดิน ภาษีสุกร ภาษีของป่า(หวาย ไม้ไผ่ ไม้รวก เจาะน้ำมันจากไม้ ฯลฯ) ภาษีพืชสวน(ขนุน มะปราง นุ่น ยาสูบ ฯลฯ) ภาษีพืชไร่ไม้ล้มลุก(ฝ้าย เมี่ยง ฯลฯ) และอากรเตาสุรา ฯลฯ แต่ทว่าการเก็บภาษีเป็นเงินและเพิ่มขึ้นมากมายหลายชนิด ประการสำคัญคือเพื่อสะดวกในการดึงดูดผลประโยชน์และเพิ่มพูนรายได้เข้าสู่ท้องพระคลังสยาม ดังกงสุลฝรั่งเศสได้รับฟังจากคนในล้านนาว่า “...แม้ภาษีชนิดต่างๆ ได้เรียกเก็บจากชาวเมืองก็ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์แก่เมืองเลย เงินถูกไหลลงท่อส่งไปยังกรุงเทพฯ หมด การปกครองแบบใหม่จะเริ่มใช้มากกว่า ๒ ปีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีการกระทำใดๆ ในรูปงานสาธารณะประโยชน์เลย เงินในพื้นบ้านก็มีน้อยลงยากจนลงทุกปี...” ในขณะนั้นเงินตราก็หายากยังใช้ไม่แพร่หลายในล้านนา เพราะนิยมใช้ผลผลิตแลกเปลี่ยนกันเป็นหลัก ดังนั้นแม้เงินเพียงหนึ่งรูปี(ประมาณ ๗๘ - ๘๐ สตางค์)ก็ถือว่ามีค่าและหายากมากสำหรับชาวบ้าน ด้วยเหตุนี้การเก็บภาษีเป็นตัวเงินได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน และสร้างความไม่พอใจให้กับเจ้านายขุนนางล้านนาที่โดนบีบรัดการดำรงชีวิตด้วยระบบเงินตรา จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด “กบฏเงี้ยว” ต่อต้านการปกครองรูปแบบใหม่ของสยามในเวลาอีก ๓ ปีต่อมา

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 27 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 07:47 น.• )