ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๒๐ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต การปฏิรูปการปกครองสงฆ์เมืองลอง เดิมพระสงฆ์ในเมืองลองมีอำนาจปกครองเป็นการภายใน โดยมี “พระสังฆราชา” หรือ “มหาครูบาหลวง” มีสมณศักดิ์สูงสุดภายในเมือง ที่ได้รับการสถาปนาจากเจ้าเมืองลอง ขุนนางและชาวเมือง มีโครงสร้างการปกครอง คือ ตุ๊เจ้า(พระสงฆ์)และพระ(สามเณร)ภายในวัดอยู่ในความปกครองของตุ๊หลวงหรือครูบาเจ้าวัด(เจ้าอาวาส)และตุ๊บาละก๋า(รองเจ้าอาวาส) ครูบาเจ้าวัดขึ้นอยู่กับครูบาเจ้าหมวดอุโบสถ และครูบาเจ้าหมวดอุโบสถขึ้นกับมหาครูบาหลวงเมือง พระสงฆ์จะมีแนวทางปฏิบัติที่หลากหลายตามที่ได้รับมาจากครูบาอาจารย์ เช่น วัดพระธาตุไฮสร้อย วัดบ้านบ่อแก้ว วัดต้าม่อน วัดน้ำริน มีพระสงฆ์และศรัทธาส่วนใหญ่มาจากเชียงตุงจึงมีจารีตปฏิบัติแบบ “เงี้ยว” หรือหัววัดที่มีครูบาเจ้าอินทวิไชยอรัญวาสี วัดดอนมูล เป็นพระอุปัชฌาย์ก็รับแนวปฏิบัติสายครูบามหาป่าเกสรปัญโญอรัญวาสี วัดไหล่หิน เมืองลำปาง ฯลฯ ซึ่งขณะนั้นเฉพาะเมืองนครเชียงใหม่ก็มีแนวปฏิบัติกลุ่มใหญ่แบ่งออกเป็นถึง ๑๘ นิกาย เช่น นิกายเชียงใหม่, นิกายเชียงแสน, นิกายน่าน, นิกายลัวะ, นิกายเม็ง(มอญ), นิกายม่าน(พม่า), นิกายเงี้ยว, นิกายเขิน(เชียงตุง), นิกายเลน, นิกายคง และนิกายงัวลาย เป็นต้น แต่พระสงฆ์ทั้งหมดก็ไม่ได้มีความขัดแย้งกันสามารถร่วมทำสังฆกรรมกันได้ คง และนิกายงัวลาย เป็นต้น แต่พระสงฆ์ทั้งหมดก็ไม่ได้มีความขัดแย้งกันสามารถร่วมทำสังฆกรรมกันได้ เมื่อสยามทำการปฏิรูปการปกครอง ได้ขยายอิทธิพลเข้ามาปฏิรูปการปกครองฝ่ายสงฆ์ด้วย สยามมองว่าพระสงฆ์สามเณรในล้านนาไม่เคร่งครัดและมีแนวการปฏิบัติที่แตกต่างกัน จึงจะจัดให้มีรูปแบบเดียวกันกับส่วนกลาง เพื่อให้คณะสงฆ์อำนวยต่อการจัดการศึกษาที่กำลังปฏิรูป เพราะขณะนั้นวัดยังเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ในสังคม และเป็นกลุ่มที่เข้าถึงราษฎรได้มากที่สุด

ดังนั้นในพ.ศ.๒๔๔๕ จึงออกพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นแบบแผนเดียวกัน โดยยกเลิกจารีตสงฆ์ดั้งเดิมของล้านนาและดึงฝ่ายสงฆ์ออกจากอำนาจการปกครองของ เจ้าผู้ครองนครหรือเจ้าเมืองให้ขึ้นตรงต่อมหาเถรสมาคมที่ส่วนกลาง มีลำดับการปกครองเหมือนการปกครองฝ่ายบ้านเมือง คือ (๑)มหาเถรสมาคม (๒)เจ้าคณะมณฑล (๓)เจ้าคณะเมือง(จังหวัด) (๔)เจ้าคณะแขวง(อำเภอ) (๕)เจ้าคณะหมวด(ตำบล) และ(๖)เจ้าอาวาส ระยะแรกทำการปฏิรูปการปกครองสงฆ์ในเมืองใหญ่ก่อน และขยายเข้ามาปฏิรูปในแขวงเมืองลอง สยามได้แต่งตั้งครูบาเจ้าหมวดอุโบสถหรือพระอุปัชฌาย์ของแขวงเมืองลองรับตำแหน่งต่างๆ ในพ.ศ.๒๔๕๒ เช่น ครูบานันตา วัดพระธาตุขวยปู เป็นพระครูญาณวิลาศ เจ้าคณะแขวงเมืองลอง ครูบาเจ้าอินทวิไชยอรัญวาสี วัดศรีดอนมูล เป็นพระปลัดแขวงเมืองเมืองลอง และครูบาจันธิมา(ลูกศิษย์ครูบาเจ้าอินทวิไชยอรัญวาสี) วัดพระธาตุไฮสร้อย เป็นพระใบฎีกาแขวงเมืองลอง ฯลฯ แรกปฏิรูปหน่วยการปกครองสงฆ์ที่ยังเป็นแบบดั้งเดิมกับหน่วยการปกครองบ้านเมืองที่จัดแบ่งขึ้นใหม่ก็มีความเหลื่อมล้ำกัน เช่น เจ้าคณะหมวดอุโบสถวัดพระธาตุไฮสร้อยอยู่แคว้นหัวทุ่งแต่อุโบสถอยู่แคว้นปากกาง ฯลฯ และเจ้าคณะแขวงเมืองลอง ๒ รูปแรกไม่ได้เป็นคนเมืองลอง สันนิษฐานว่าเพราะการแต่งตั้งมาจากภายนอกไม่ได้คัดเลือกเป็นการภายในเหมือนอดีต จึงคัดเลือกพระสงฆ์ผู้เป็นที่รู้จักและส่วนกลางเห็นว่าจะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปได้ ดังครูบานันตา พระสงฆ์จากเมืองนครน่านเข้ามาศึกษาที่วัดนาตุ้ม โดยมีเจ้าพญาหลวงราชนันทวรธิปติปัญญามงคล ปฐมอรรคมหาเสนาบดี เค้าสนามหลวงเมืองนครน่านเป็นผู้อุปถัมภ์(พ่อออก) ในพ.ศ.๒๔๔๖ ได้เป็นผู้นำบูรณะพระธาตุขวยปู สร้างวิหารและก่อกำแพงวัด มีเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง เจ้านายเมืองนครลำปาง พ่อเมืองลองทั้ง ๔ และแสนท้าวเป็นผู้อุปถัมภ์ พร้อมศรัทธาจากหัวเมืองต่างๆ เข้าร่วมทำบุญจึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง อีก ๖ ปีต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งจากสยามเป็นพระครูญาณวิลาศ เจ้าคณะแขวงเมืองลองรูปที่ ๑ (พ.ศ.๒๔๕๒ - ๒๔๗๐) ส่วนครูบาเจ้าอินทวิไชยอรัญวาสี มหาครูบาหลวง หรือ พระสังฆราชารูปสุดท้ายของเมืองลอง เนื่องจากยังเป็นที่เคารพศรัทธาของคนในพื้นที่และเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งสยามจึงแต่งตั้งเป็น “พระปลัด” มีหน้าที่ตัดสินคดีความพระสงฆ์สามเณรในแขวงเมืองลอง และครูบาอภิไชย(คำน้อย คำฝั้น) จากเมืองนครน่านเข้ามาเรียนและเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีดอนคำ ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูจันทรังสี เจ้าคณะอำเภอเมืองลองรูปที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๘๗) หลังจากนี้เจ้าคณะอำเภอจึงเป็นคนเมืองลอง คือ พระครูเกษมรัตนคุณ(ครูบาแก้ว) เจ้าคณะอำเภอลองรูปที่ ๓ (พ.ศ.๒๔๘๗ - ๒๕๔๖) และพระครูบัณฑิตฑิตานุกุล(ครูบาหาญ) เจ้าคณะอำเภอลองรูปปัจจุบัน เนื่องจากช่วงนี้การปฏิรูปองค์กรสงฆ์ลงตัวเป็นแบบแผนเดียวกันทั้งหมด ประกอบกับระบบการศึกษาของพระสงฆ์ได้เปลี่ยนไป พระสงฆ์สามเณรจากที่อื่นไม่ได้เข้ามาศึกษาในอำเภอลองที่เป็นเพียงอำเภอเล็กๆ อยู่ห่างไกล “ตัวเมือง” แม้แต่พระสงฆ์สามเณรในอำเภอลองเอง ก็ออกไปศึกษาในโรงเรียนพระที่ตั้งในตัวจังหวัดต่างๆ ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ในท้องที่ได้รับสมณศักดิ์ทำการปกครองภายในท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งภายหลังกลุ่มพระสงฆ์เหล่านี้จะเป็นแกนนำสร้าง และรื้อฟื้นความเป็นตัวตนของเมืองลองขึ้นมาอีกครั้งในช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐

เมื่อมีการปฏิรูปทำให้จารีตต่างๆ ของพระสงฆ์เมืองลองที่เคยสืบทอดมายาวนานบางอย่างถูกกลืนหายไป เช่น ยกเลิกตั้งฉายาสามเณร ใช้อัฐบริขารตามอย่างส่วนกลางจากเดิมมีหลายอย่าง (พัด ลูกประคำ ไม้เท้า ว่อม(หมวก) ฯลฯ) ปัจจุบันเหลือเพียงใช้เป็นเครื่องบวช(จองอ้อย)หรือใส่ลูกประคำตอนบวชใหม่ การคัดลอกจารคัมภีร์ใบลานก็ลดความนิยมลงฉบับล่าสุดที่พบขณะนี้ในอำเภอลอง คือ พ.ศ.๒๕๑๐ ประกอบกับมีการปริวรรตพิมพ์คัมภีร์ธรรมเป็นภาษาไทย อักษรธรรมล้านนาจึงได้หายไปจากการเรียนการสอนภายในวัดของอำเภอลองในช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐ การเรียนการสอนงานช่างและศาสตร์แขนงต่างๆ ภายในวัดก็หมดลงตามไปด้วย พระสงฆ์สามเณรจึงถูกจำกัดให้ทำหน้าที่เพียงศึกษาพระธรรมวินัย และอบรมสั่งสอนศีลธรรมจริยธรรมให้แก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐ เป็นต้นมามีการนิยมบรรพชาอุปสมบทภาคฤดูร้อนมากขึ้น ทำให้จารีต “อยู่ก๋ำ” ของพระเณรบวชใหม่เริ่มหายไปกลายเป็นอบรมการปฏิบัติตนแบบส่วนกลางแทน แต่ทว่าแนวจารีตปฏิบัติหลายอย่างก็ไม่ได้ถูกกลืนเสียทั้งหมด บางอย่างยังสืบทอดกันถึงปัจจุบัน เช่น ศาสนพิธี ตั้งธรรมหลวง ขึ้นพระธาตุ เทศน์ธรรมระบำ(ทำนอง) สวดเบิก สวดมนต์แบบล้านนา ฯลฯ หรือครูบาอินทวิไชยอรัญวาสีและลูกศิษย์หัววัดต่างๆ ยังถือวัตรปฏิบัติ “เข้าก๋ำรุกขมูล” แบบจารีตที่ดอยแก้วเป็นประจำทุกปีตราบจนมรณภาพประมาณพ.ศ.๒๔๗๓ ปัจจุบันพระครูวิจิตรนวการโกศล(ครูบาสมจิต) วัดสะแล่งก็ยังคงสืบทอดแนวปฏิบัติสายอรัญวาสี กล่าวได้ว่าการปฏิรูปการปกครองสงฆ์ในแขวงเมืองลอง สามารถปฏิรูปสำเร็จเฉพาะในด้านโครงสร้างให้เป็นแบบเดียวกับส่วนกลาง แต่ในส่วนรายละเอียดไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทั้งหมด เนื่องจากเมืองลองมีจารีตประเพณีพุทธศาสนาสืบเนื่องมายาวนาน ได้หยั่งรากฝังลึกอยู่ในจิตใจและวิถีชีวิตของผู้คน จึงเป็นการยากที่จะเปลี่ยน “จารีต” ที่เคยปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอให้เป็นรูปแบบเดียวกัน แต่ปัจจัยสำคัญอยู่ที่คนภายในท้องถิ่นเองที่จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น

ผลจากการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรสงฆ์แบบจารีตของล้านนาได้หมดไป สยามได้ใช้บรรทัดฐานจากกรุงเทพฯ เข้ามาเป็นกรอบชี้วัด หากไม่เหมือนส่วนกลางผู้มีอำนาจบัญญัติก็ถือว่าผิด ดังพระราชบัญญัติระบุว่า “...ตั้งแต่วันที่ใช้พระราชบัญญัตินี้ในที่ใด ให้ยกเลิกบรรดากฎหมายแบบแผนประเพณีที่ขัดขวางต่อพระราชบัญญัตินี้ มิให้ใช้ในที่นั้นสืบไป...” ระยะแรกจึงทำให้พระสงฆ์ในล้านนาแตกเป็น ๒ กลุ่มหลัก คือ กลุ่มพระสงฆ์ที่ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์จากกรุงเทพฯ เช่น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะแขวง ฯลฯ กลุ่มนี้จะพยายามปรับตัวและยอมรับอำนาจสยามเพื่อเป็นตัวแทนดูแลให้เป็นไปตามระเบียบใหม่ กับกลุ่มพระสงฆ์ที่ไม่ได้รับสมณศักดิ์จะยังคงปฏิบัติตามจารีตที่สืบทอดมา พระสงฆ์กลุ่มหลังจึงถูกมองว่ากระด้างกระเดื่องและตั้งตนเป็นผู้นำต่อต้านสยาม โดยเฉพาะเรื่องเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อนบางรูปได้ถูกนำตัวไปสอบสวนถึงกรุงเทพฯ พระสงฆ์ยุคนี้ที่ต้องอธิกรณ์ เช่น ครูบาธนัญไชย แขวงเมืองเถิน นครลำปาง ครูบาคันธา(ศิษย์ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร) วัดเหมืองหม้อ นครแพร่ ครูบาศรีวิไชย(พ.ศ.๒๔๒๑ - ๒๔๘๑) วัดบ้านปาง นครลำพูน หรือครูบาอภิไชย(ศิษย์ครูบาศรีวิไชย) ที่ตอนหลังถูกจับสิกขาถึง ๓ ครั้งแต่ยังถือศีลแปดเป็นที่นับถือของชาวเมืองจึงยกย่องว่า “ครูบาผ้าขาวปี” ในแขวงเมืองลองก็เกิดกรณีครูบาหัววัดไผ่ล้อมถูกใส่ร้ายจนต้องอธิกรณ์และบีบให้ลาสิกขา แต่ยังถือศีลแปดอยู่วัดแม่ลองเป็นที่ศรัทธาของชาวเมืองลองจึงยกย่องว่า “ครูบาผ้าขาวป้อ” ซึ่งภายหลังจาก “ครูบา” รุ่นนี้มรณภาพก็ไม่ปรากฏมีพระสงฆ์ล้านนาต่อต้านอำนาจของสยาม อีก ครูบากลุ่มนี้จึงถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านปฏิรูปการปกครองสยาม ของชาวล้านนารวมถึงชาวเมืองลองในระลอกสุดท้าย

ภูเดช แสนสา

บุษบกศิลปะไทใหญ่กับสัตตภัณฑ์แบบไทลื้อ - ไทเขิน ที่วัดดอนมูล ตำบลห้วยอ้อ (ที่มา : วัดดอนมูล, ๒๕๕๐)

การอยู่ก๋ำตกหม่านับของพระภิกษุ และสามเณรที่บวชใหม่ของอำเภอลองในปัจจุบัน (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๔๙)

พระสงฆ์สวมว่อม แขวนลูกประคำ กุมผ้ารัดอกแบบจารีตล้านนา ในภาพคือ ครูบาปินตา วัดทุ่งม่าน จังหวัดลำปาง (ที่มา : หนังสือพระราชทานเพลิงศพพระครูวิศาลศีลวัฒน์)

พระ(สามเณร)วัดนาตุ้มตีกลองปู๋จาวันกินข้าวสลาก (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

ครูบาเจ้าศรีวิไชย ตนบุญล้านนา (ที่มา : วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน)

จองอ้อยในงานเป๊กข์ตุ๊(อุปสมบท)ที่บ้านนาตุ้ม อำเภอลอง (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๔๙)

พระเจ้าเววาทภาษีต์ภายในวิหารหลังเก่าวัดนาตุ้ม (ที่มา : วัดพระธาตุไฮสร้อยและวัดนาตุ้ม)

ครูบาอภิไชย วัดพระธาตุศรีดอนคำ ที่ตาลปัตรปักคำว่า “นายยศ งานฉลองพระวิหารวัดแม่จอก ลำปาง พ.ศ.๒๔๗๓”) (ที่มา : วัดพระธาตุศรีดอนคำ)

ครูบาสมจิต วัดสะแล่ง (ที่มา : วัดสะแล่ง)

พระ(สามเณร)วัดนาตุ้มออกบิณฑบาตร (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๘)

จองอ้อยในงานเป๊กข์ตุ๊(อุปสมบท)ที่บ้านนาตุ้ม  อำเภอลอง

“ดอยแก้ว” สถานที่เข้าก๋ำรุกขมูลของพระสงฆ์เมืองลองในอดีต เดิมเรียกว่า “ดอยเหรัญญปัพพัตตะ” หรือ “ดอยเงิน” (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

พระเจ้าไฮสร้อยภายในวิหารหลังเก่าวัดพระธาตุไฮสร้อย (ที่มา : วัดพระธาตุไฮสร้อยและวัดนาตุ้ม)

จารึกระฆังครูบาเจ้าอินทวิไชยอรัญวาสีวัดดอนมูล พ.ศ.๒๔๖๐ “จุลสกราชได้ ๑๒๗๙ ตัว ปีเมืองใส้(ปีมะเส็ง) พุทธสาสนาได้ ๒๔๖๐ พระวัสสา เดือน ๕ เพง เมงวัน ๑ ไทกาบเส็ด สัทธาพระปลัดอินทวิไชย วัดโฅกสิงห์คาราม(วัดดอนมูล)เปนเค้า ได้ส้างไว้ค้ำ ๕๐๐๐ พระวัสสาแล หล่อที่วัดพระหลวง เมืองด่านแพร่ ไชยลังกาภิกขุเปนผู้ริสสนาแล” (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 19 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 22:48 น.• )