ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๑๙ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ทำให้กลุ่มเจ้าเมืองขึ้นและขุนนางจำนวนมากมายได้ถูกลดบทบาทลง มีเพียงเจ้าเมืองหัวเมืองขึ้นชั้นที่ ๑ ที่ยังพอรักษาสถานภาพไว้ได้บ้าง เนื่องจากมีตำแหน่ง “พระยา” ของทางสยาม เป็นเครือญาติกับเจ้าผู้ครองนคร เป็นหัวเมืองขึ้นขนาดใหญ่ อีกทั้งข้าราชการชาวสยามยังขาดแคลน และเพื่อถนอมน้ำใจเจ้านายหัวเมืองขึ้น จึงแต่งตั้งเจ้าเมืองเป็นนายแขวง คือ เจ้าเมืองพะเยา เจ้าเมืองฝาง เจ้าเมืองเชียงของ เจ้าเมืองเชียงราย และเจ้าเมืองเชียงแสน ซึ่งเจ้านายบุตรหลานในบางเมืองก็ได้รับราชการเป็นรองนายแขวง สมุห์บัญชี ตลอดจนนายแคว้น แก่บ้าน เช่น รองอำมาตย์เอก พระยาราชวงศ์(เจ้าน้อยคำตั๋น) น้องชาย และรองอำมาตย์เอก พระยาราชบุตร(เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง บุญทาวงศา) บุตรชายเจ้าเมืองฝาง ได้เป็นรองนายแขวงเมืองฝาง บุตรชายพระยาราชวงศ์ได้เป็นนายแคว้น หรือเจ้าหนานบุษรศ จิตตางกูร บุตรเขยเจ้าเมืองเชียงของ เป็นสมุห์บัญชี แขวงเมืองเชียงของ ส่วนขุนนางบางคนก็ได้เป็นนายแคว้นและแก่บ้าน

แต่ถึงแม้ว่าเจ้าเมืองหัวเมืองขึ้นชั้นที่ ๑ ยังคงฐานะเป็นผู้ปกครองภายในแขวง(เมือง) แต่เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่แล้วถูกลดสถานะลงอย่างสิ้นเชิง จากเดิมเป็น “เจ้าชีวิต” ของคนภายในเมือง กลายเป็นเพียงนายอำเภอข้าราชการหรือกลไกชิ้นเล็กๆ ที่รอฟังคำสั่งมาจากส่วนกลาง(สยาม) เท่านั้น ประกอบกับระบบการปกครองแบบราชการมีการทำงานเป็นขั้นตอนแบบแผน ที่สยามรับแบบอย่างมาจากประเทศตะวันตก ต่างจากระบบจารีตล้านนาที่ปกครองโดยสืบทอดอำนาจทางสายโลหิตและความเป็นเครือญาติ เจ้าในหัวเมืองขึ้นเหล่านี้จึงปรับตัวไม่ทันกับระบบใหม่ ดังกรณีข้าหลวงบริเวณพายัพเหนือเสนอให้ปลดรองอำมาตย์เอก พระยาจิตวงศ์วรยศรังษี(เจ้าน้อยจิตวงษ์ จิตตางกูร) ออกจากตำแหน่งนายแขวงเชียงของพ.ศ.๒๔๔๙ โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอกับระบบราชการและไม่ได้รับความศรัทธาจากชาวเมืองเชียงของ ดังนั้นในช่วงทศวรรษ ๒๔๕๐ เมื่อรุ่นเจ้าเมืองหัวเมืองขึ้นชั้นที่ ๑ ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายแขวงถึงแก่อสัญกรรม ถูกปลด หรือ ลาออก และสยามก็สามารถผลิตข้าราชการได้พร้อมมากขึ้น รัฐบาลจึงจัดส่งข้าราชการชาวสยามขึ้นมาเป็นนายแขวงและตำแหน่งต่างๆ ภายในแขวงแทน ซึ่งได้สิ้นสุดไปตามลำดับ คือ

(๑) พระยาอุดรประเทศทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) เจ้าเมืองพะเยา เป็นนายแขวงแม่อิง(พะเยา)ถึงพ.ศ.๒๔๔๘

(๒) พระยารัตนอาณาเขต (เจ้าน้อยเมืองไชย เชื้อเจ็ดตน) เจ้าเมืองเชียงราย เป็นนายแขวงเชียงรายถึงพ.ศ.๒๔๔๘ (ถูกปลด)

(๓) อำมาตย์เอก พระยามหามหิทธิวงศา (เจ้าน้อยมหาวงศ์ บุญทาวงศา) เจ้าเมืองฝาง เป็นนายแขวงฝางถึงพ.ศ.๒๔๕๐

(๕) พระยาราชเดชดำรง (เจ้าน้อยไชยวงศ์ เชื้อเจ็ดตน) เจ้าเมืองเชียงแสน เป็นนายแขวงกาสา(เชียงแสน, แม่จัน)ถึงพ.ศ.๒๔๕๔

(๔) รองอำมาตย์เอก พระยาจิตวงศ์วรยศรังษี (เจ้าน้อยจิตวงษ์ จิตตางกูร) เจ้าเมืองเชียงของ เป็นนายแขวงเชียงของถึงพ.ศ.๒๔๖๐

ยกเว้นแขวงแม่อิง (พะเยา) ที่พระยาอุดรประเทศทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) เจ้าเมืองพะเยา ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายแขวงแม่อิงถึงแก่อสัญกรรมในพ.ศ.๒๔๔๘ ปีถัดมาสยามได้แต่งตั้งพระยาอุปราช(เจ้าน้อยมหาไชย ศีติสาร) เมืองพะเยา น้องชายเป็นพระยาประเทศอุดรทิศ นายแขวงพะเยาแทน(ลาออกพ.ศ.๒๔๕๖) เพราะได้รับการส่งเสริมจากเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต(เจ้าน้อยบุญทวงศ์ ณ ลำปาง) เจ้าผู้ครองนครลำปาง แต่หลังจากพ.ศ.๒๔๖๐ เป็นต้นมาเจ้าในหัวเมืองขึ้นกลุ่มนี้ก็ค่อยหมดบทบาทลงไปในที่สุด ส่วนกลุ่มเจ้าเมืองหัวเมืองขึ้นชั้นที่ ๒ หรือกลุ่มเจ้าเมืองหัวเมืองขึ้นขนาดใหญ่ชั้นที่ ๓ ที่เป็นศูนย์กลางแขวง เจ้าเมืองไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับสยามและสยามก็มองว่ามีฐานะเป็นเพียง “พ่อเมือง” อีกทั้งบางเมืองเจ้าเมืองก็มีเชื้อสายไทใหญ่(เงี้ยว) เช่น เจ้าเมืองพร้าว เจ้าเมืองขุนยวม เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน ฯลฯ จึงไม่ได้รับไว้วางใจให้เข้าทำงานระบบราชการ ยกเว้นเมืองเถินที่รองอำมาตย์เอก พระสถลบุรินทร์ (เจ้าหนานหมวก เถินบุรินทร์) เจ้าเมืองเถินคนสุดท้าย ได้เป็นนายแขวงเมืองเถิน เพราะขณะนั้นเมืองเถินขึ้นตรงกับสยามอยู่แล้ว และต่อมาได้โอนเป็นแขวงหนึ่งของเมืองนครลำปางในพ.ศ.๒๔๔๘ และยกเว้นเมืองที่มีราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ เช่น เมืองขุนยวม เมืองปาย เมืองแม่ฮ่องสอน เนื่องจากรักษาน้ำใจไว้รัฐบาลจะได้สะดวกในการปกครองและจัดเก็บผลประโยชน์ อีกทั้งเมืองขึ้นเหล่านี้อยู่ห่างไกลการคมนาคมติดต่อลำบาก ระยะแรกจึงให้เจ้าเมืองเข้าทำงานราชการในพื้นที่ภายหลังเมื่อเริ่มเข้ารูปจึงค่อยกันออกไป ดังข้าหลวงบริเวณเชียงใหม่ตะวันตกเสนอให้ปลด พญาเทพบำรุงรัตนาเขต(เจ้าส่างวงศ์) เจ้าเมืองขุนยวม, พญาพิทักษ์สยามเขตร(ขุนโท้ะ) เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน และพญาดำรงราชเสมา เจ้าเมืองปาย แล้วให้ส่งข้าราชการสยามขึ้นมาแทนในพ.ศ.๒๔๔๕ เจ้าเมืองกลุ่มนี้มีเพียงเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนที่พญาพิศาลฮ่องสอนบุรี(ขุนหลู่) บุตรชายของพญาพิทักษ์สยามเขตร(ขุนโท้ะ) ได้รับราชการต่อมาจนถึงแก่กรรมในพ.ศ.๒๔๘๑ เพราะเป็นชุมชนไทใหญ่ที่หนาแน่นกว่าบริเวณอื่น แต่หน้าที่การปกครองหลักอยู่ที่นายแขวงจึงมีฐานะเป็นเพียงที่ปรึกษาหรือผู้ช่วย ภายหลังก็ถูกเปลี่ยนเป็นข้าราชการสยามเข้ามาแทนที่เหมือนกับหัวเมืองอื่นๆ เจ้าเมืองหัวเมืองขึ้นขนาดเล็กชั้นที่ ๓ “เมือง” ถูกยุบเป็น “แคว้น” เนื่องจากไม่สำคัญนักและหาคนสยามจำนวนมากมาปกครองไม่ได้ จึงคงแต่งตั้งให้เจ้าเมืองเป็น “นายแคว้น(กำนัน)” เช่น พญาไชย (ต้นตระกูล “สะเอียบคง”) เจ้าเมืองสะเอียบคนสุดท้าย(เมืองสะเอียบขึ้นเมืองสา และเมืองสาขึ้นเมืองนครน่าน)ได้เป็นนายแคว้นสะเอียบคนแรก หรือพญาปราบพลมาร(ต้นตระกูล “แสนงาย”) เจ้าเมืองงาย(ขึ้นเมืองนครเชียงใหม่) เป็นนายแคว้นเมืองงายถึงพ.ศ.๒๔๔๖ และพญาวัง (วัง ใจบุญ) น้องชายพญาปราบพลมารเป็นนายแคว้นเมืองงายต่อมาถึงพ.ศ.๒๔๔๙ หรือ แสนหลวงไชยมงคล เจ้าเมืองงอบ(ขึ้นเมืองนครน่าน) เป็นนายแคว้นงอบถึงพ.ศ.๒๔๕๕ ต่อมาแสนยาวิราช(ภายหลังได้เป็น “ขุนงอบอินทะรังษี”) เป็นนายแคว้นงอบถึงพ.ศ.๒๔๗๕ หรือ พญาเทพาวัง (เทพ) เจ้าเมืองย่าง(ขึ้นเมืองนครน่าน) เป็นนายแคว้นเมืองย่างถึงพ.ศ.๒๔๔๖ ต่อมาพญาเพชรเมืองมูล (เมืองแก้ว ทีฆาวงศ์) เป็นนายแคว้นเมืองย่างมาจนถึงพ.ศ.๒๕๕๓(ลาออก) เป็นต้น แต่ก็อาจสามารถรักษาตำแหน่งถึงแค่รุ่นลูกหรืออย่างมากเพียงรุ่นหลานเท่านั้น เพราะตำแหน่งนายแคว้นในยุคนี้มีการคัดเลือกจากผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับผลงานและความพึงพอใจของเหล่าผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านภายในแคว้น กอปรกับหลังจากมีการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลเจ้าผู้ครองนครและเจ้าเมืองหมดอำนาจการแต่งตั้งขุนนาง เหล่าขุนนางแบบจารีตของล้านนาในหัวเมืองทั้งหลาย ก็ค่อยๆ หมดสิ้นลงตามไปด้วยเมื่อได้ถึงแก่กรรม เมืองลองจัดเป็นหัวเมืองขึ้นขนาดใหญ่ชั้นที่ ๓ กลุ่มศักดินาเก่าของเมืองลองได้ถูกกันออกไปจากระบบราชการของสยาม เนื่องจากเชื้อสายของเจ้าเมืองลองจัดเป็น “สกุลวงศ์ท้องถิ่น” ไม่ได้เป็นเครือญาติกับราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนและไม่ได้ขึ้นตรงกับสยาม ดังนั้นรัฐบาลจึงจัดส่งหลวงฤทธิภิญโญยศ(แถม) ข้าราชการชาวสยามขึ้นมาเป็นนายแขวงเมืองลองในพ.ศ.๒๔๔๒ ซึ่งกลุ่มผู้ปกครองเมืองลอง คือ พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง (พ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๔๕) พญาวังใน พญาราชสมบัติ พญาประเทศโสหัตติ พญาเมืองชื่นพ่อเมืองลองทั้ง ๔ และขุนนางเค้าสนามแสนท้าว ได้ถูกกันให้ทำหน้าที่ในด้านทำนุบำรุงพุทธศาสนาและจารีตประเพณี ซึ่งหลายเมืองก็มีสภาพเหมือนอย่างเมืองลองที่ถูกลดสถานะลงอย่างมาก เนื่องจากหน่วยการปกครอง “อำเภอ” ตามแบบสยามนั้นจะจัดตั้งขึ้นตรงบริเวณไหนก็ได้ โดยคำนึงถึงความสะดวกในการปกครองเป็นหลัก ถึงเเม้เคยมีประวัติศาสตร์เป็นเมืองโบราณ มีอำนาจการปกครองตนเอง หรือเป็นเพียงกลุ่มชุมชนที่ตั้งขึ้นไม่กี่ปี เมื่อถูกกำหนดให้เป็นอำเภอทุกหน่วยก็ต้องมีสถานะความเป็น “อำเภอ” ของสยามเท่าเทียมกัน ในกรณีของแขวงเมืองลองถึงแม้ไม่สามารถจัดตั้งกรมการแขวงขึ้นได้มั่นคง เพราะหลวงฤทธิภิญโญยศ(แถม) นายแขวงทนสภาพอากาศไม่ไหวได้เสียชีวิต แต่ความเป็นเมืองลองก็ถูกลดสถานะและจัดการปกครองเหมือนแขวงอื่นๆ เพราะแม้ไม่มีข้าราชการสยามประจำอยู่แต่ต้องขึ้นตรงกับกรมมหาดไทยเมืองนครลำปาง แต่ด้วยการปลอดจากข้าราชการเข้ามาประจำการหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นบริเวณพื้นที่ลับตาของสยาม จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ เมืองลอง เมืองต้า เป็นแหล่งเตรียมการ “กบฏเงี้ยว” เพื่อต่อต้านสยาม ที่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและรุนแรงที่สุดในอีก ๓ ปีต่อมา ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดต่อไป ส่วนเมืองต้าเป็นหัวเมืองขึ้นขนาดเล็กชั้นที่ ๓ จึงได้ถูกยุบเป็นหน่วยแคว้น(ตำบล) ทางรัฐบาลสยามยังคงให้เจ้าเมืองเดิมเป็นผู้ปกครองต่อด้วยเป็นเพียงหน่วยการปกครองเล็กๆ ของแขวงเมืองลอง จึงแต่งตั้งแสนไชยยะ(ไชย เชื้อผามอก) เจ้าเมืองต้าคนสุดท้ายต้นตระกูล “เชื้อผามอก” ให้เป็น “พญาไชย” หรือ “พญาไชยยะ” ทำหน้าที่เป็นนายแคว้น(กำนัน) แต่ก็ไม่สามารถสืบทอดอำนาจในกลุ่มเครือญาติได้ เพราะเดิมอำนาจตัดสินใจแต่งตั้งเจ้าเมืองต้าขึ้นอยู่กับ เจ้าผู้ครองนครลำปางร่วมกับความเห็นชอบของเจ้าเมืองลอง จึงคัดเลือกบุตรหลานของเจ้าเมืองต้าเป็นสำคัญ แต่ในระบบราชการสยามอาศัยผู้ทำประโยชน์ให้กับรัฐบาลและควบคุมได้ง่าย อีกทั้งระบบกลไกการปกครองรูปแบบใหม่มีผลต่อความคิดของผู้คน ดังนั้นภายหลังนายแขวงเมืองลองและแก่บ้านได้เลือก “ขุนเวียงต้า” แก่บ้านผู้มีฐานะจากการทำไม้ขึ้นเป็นนายแคว้นแทน หรือสิบตรีวงศ์ ปัญญาฉลาด ชาวบ้านทุ่งแล้ง(เมืองลอง) เคยรับราชการทหารและเป็นหลานเขยพ่อเฒ่าฮ้อยหลวง(ยอด) นายฮ้อยทำไม้ชาวเชียงตุง บ้านต้าม่อน(เมืองต้า) ได้รับเลือกเป็นนายแคว้นคนต่อมา ภายหลังได้เรี่ยไรเงินชาวบ้านในแคว้นเวียงต้าช่วยรัฐบาลซื้อเครื่องบินจึงได้รับบำเหน็จความชอบเป็น “ขุนระบิน” โดยเจ้าเมืองต้าได้ถูกลดบทบาทและสถานะลงอย่างมาก เนื่องจากเดิมถึงแม้ไม่มีสถานะเป็น “เจ้าชีวิต” แต่ก็มีอำนาจจัดการปกครองภายในบ้านเมืองของตนเอง เมื่อสยามขยายอิทธิพลเข้ามาปฏิรูปการปกครองกลายเป็นเพียง “กำนัน” ข้าราชการชั้นผู้น้อยทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาและจัดเก็บผลประโยชน์ส่งให้รัฐบาล ซึ่งตามระบบราชการสยามตำแหน่งกำนันก็ไม่จำเป็นต้องมาจากเชื้อสายเจ้านายหรือขุนนาง ส่วนบุตรหลานเจ้าเมืองและขุนนางในเมืองต้าก็ไม่มีสถานภาพเป็นกลุ่มผู้ปกครองบ้านเมืองอีกต่อไป แต่กลายเป็นพสกนิกรของกษัตริย์สยามคนหนึ่งเท่านั้น จากระบบจารีตเมืองลองมีระบบโครงสร้างการปกครองสูงขึ้นเป็นลำดับ คือ แก่บ้าน พ่อแคว้น เจ้าเมืองลอง และ “กษัตริย์นครลำปาง” แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นระบบราชการแบบใหม่จึงมีสายงานการบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้นที่ขึ้นตรงกับกษัตริย์สยาม คือ

(๑) รัฐบาลสยาม มีเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยบังคับบัญชาข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลในกองมณฑลต่างๆ

(๒) กองมณฑลพายัพ มีข้าหลวงเทศาภิบาล(ข้าหลวงใหญ่)เป็นตำแหน่งสูงสุดบังคับบัญชาเค้าสนามหลวงในเขตมณฑล คือ เชียงใหม่ ลำปาง(เถิน) ลำพูน น่าน และแพร่ มีข้าหลวงรองประกอบด้วย ข้าหลวงยุติธรรม ข้าหลวงสรรพากร ข้าหลวงคลัง ข้าหลวงโยธา และข้าหลวงป่าไม้

(๓) เมือง(จังหวัด)นครลำปาง เค้าสนามหลวง ประกอบด้วย มหาอำมาตย์โท พลตรีเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง พระมนตรีพจนกิจ ข้าหลวงประจำเมืองนครลำปาง(ผู้ว่าราชการจังหวัด) ข้าหลวงผู้ช่วย และข้าหลวงบริเวณ ด้านอำนาจหน้าที่แท้จริงเป็นของข้าหลวงประจำเมือง โดยเจ้าผู้ครองนครสูญสิ้น “ราชอำนาจ” เหลือเพียง “ราชศักดิ์” ไม่ได้มีฐานะเป็น “กษัตริย์” หรือ “เจ้ามหาชีวิต” ที่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองโดยตรงได้อีกต่อไป การประหารชีวิต จำคุกตลอดชีพ ออกกฎหมาย ตั้ง เจ้าเมืองขึ้น แต่งตั้งขุนนาง อนุญาตทำสัญญาป่าไม้ ตั้งจัดเก็บและอนุญาตผูกขาดภาษีอากร ฯลฯ เหล่านี้ต้องได้รับอนุญาตจากกษัตริย์สยาม และข้าหลวงประจำเมืองสามารถลบล้างพระราชอาชญาของเจ้าผู้ครองนครได้ ดังนั้นเจ้าผู้ครองนครจึงเพียงแต่ได้รับการยกย่องให้เกียรติในนามประมุขของบ้านเมือง แต่สถานะแท้จริงแล้วกลายเป็นเพียงข้าราชการสยามที่ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลคนหนึ่งเท่านั้น เช่น เจ้าหลวงแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายเดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท, เจ้าหลวงมหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายเดือนละ ๓,๖๐๐ บาท, เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้ายเดือนละ ๓,๕๐๐ บาท และเจ้าราชบุตร(เจ้าน้อยแก้วเมืองพวน ณ ลำปาง) เจ้าผู้รั้งนครลำปางเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท และค่อยหมดสิ้นไปพร้อมกับเจ้านายชั้นสัญญาบัตรทั้งหลาย เมื่อรัฐบาลมีนโยบายไม่รับรองแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครในล้านนาอีกหลังพ.ศ.๒๔๖๙ หากได้ทรงถึงแก่พิราลัย จึงทำให้สิ้นสุดหมดไปตามลำดับดังนี้

(๑) มหาอำมาตย์โท พลตรี เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต (เจ้าน้อยบุญทวงศ์ ณ ลำปาง) เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้ายทรงถึงแก่พิราลัยพ.ศ.๒๔๖๕

(๒) มหาอำมาตย์โท พลตรี เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (เจ้าน้อยมหาพรหม ณ น่าน) เจ้าผู้ครองนครน่านทรงถึงแก่พิราลัย พ.ศ.๒๔๗๔

(๓) มหาอำมาตย์โท พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ (เจ้าอินทแก้ว ณ เชียงใหม่) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทรงถึงแก่พิราลัยพ.ศ.๒๔๘๒

จึงมีข้าราชการสยามที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการในจังหวัดมีอำนาจสูงสุด ส่วนตำแหน่งรองเค้าสนามหลวง(เสนา)ทั้ง ๖ แรกปฏิรูปยังคงไว้เพื่อไม่ให้เจ้านายบุตรหลานที่ดำรงตำแหน่งอยู่ไม่พอใจ ภายหลังค่อยยกเลิกและจัดข้าราชการสยาม เช่น ปลัดเมือง ยกกระบัตร จ่าเมือง และสัสดี ฯลฯ เข้าดำรงตำแหน่งกรมการเมืองแทน(๔) มหาอำมาตย์โท พลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (เจ้าน้อยจักรคำ ณ ลำพูน) เจ้าผู้ครองนครลำพูนทรงถึงแก่พิราลัยพ.ศ.๒๔๘๖ (๔) กรมการแขวงเมืองลอง ประกอบด้วย หลวงฤทธิภิญโญยศ(แถม) นายแขวงเมืองลอง รองนายแขวง สมุหบัญชี และเสมียน ขึ้นกับกรมมหาดไทยเมืองนครลำปาง มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ หน้าที่หลักคือ จัดเก็บภาษีอากรต่างๆ ดูแลความเรียบร้อย และจัดการปกครองให้เป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนด โดยนายแคว้นและแก่บ้านทั้งหมดขึ้นตรงกับกรมการแขวงเมืองลอง และกรมการแขวงมีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน นายแคว้น แก่บ้านแทนเจ้าเมืองลอง เมืองนครลำปางหมดสิ้นเจ้าผู้ครองนคร เมื่อเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิตทรงถึงแก่พิราลัยในพ.ศ.๒๔๖๕ รัฐบาล(สยาม)ได้แต่งตั้งเพียงให้ รองหัวหมื่น เจ้าราชบุตร(เจ้าน้อยแก้วเมืองพวน ณ ลำปาง) สวามีของเจ้าหญิงสะเปาคำ ณ ลำปาง(เจ้าหญิงศรีนวล) ราชบุตรเขยเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต รั้งตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครลำปางและได้ทรงถึงแก่พิราลัยในพ.ศ.๒๔๖๘ กลุ่มเจ้านายเมืองนครลำปางจึงเหลือ พลตำรวจตรี เจ้าราชวงศ์(เจ้าน้อยแก้วปราบเมรุ ณ ลำปาง) บุตรของเจ้าบุรีรัตน์(เจ้าบุญเลิศ ณ ลำปาง, เจ้าบุรีรัตน์เป็นเชื้อสายของเจ้าอุปราชหมูหล้า) กับเจ้าหญิงคำปิ๋ว ณ ลำปาง ราชธิดาเจ้าหลวงวรญาณรังษี เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของลำปาง มีตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง (ได้เงินเดือนละ ๕๕๐ บาท ถึงอนิจกรรมพ.ศ.๒๔๘๒) ส่วนเจ้านายชั้นสัญญาบัตรอื่นๆ ก็กระจายออกไปตามราชการ เช่น อำมาตย์ตรี เจ้าวรวงศ์ หรือ เจ้าชวลิตวงศ์วรวุฒิ (เจ้าน้อยหมู ณ ลำปาง) ราชบุตรของเจ้าหลวงนรนัทไชยชวลิต เป็นเสนามหาดไทยจังหวัดลำปาง เจ้าราชสัมพันธวงศ์ (เจ้าเทพธำรง ณ ลำปาง) บุตรเจ้าอุปราช (เจ้าน้อยทิพจักร ณ ลำปาง, เจ้าอุปราชเป็นราชบุตรของเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต) กับเจ้าหญิงสะเปาแก้ว ณ ลำปาง(ราชธิดาของเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต) ไปเป็นนายอำเภอสอง จังหวัดแพร่ และเจ้าอุตรการโกศล เป็นปลัดอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง หลังทศวรรษ ๒๕๐๐ เจ้านายชั้นสัญญาบัตรเหล่านี้ก็ค่อยๆ หมดลงไปตามอายุขัย ส่วนบุตรหลานของเจ้านายเหล่านี้บางคนได้เข้ารับราชการ นักการเมือง หรือประกอบอาชีพส่วนตัว ซึ่งได้กลายเป็นราษฎรทั่วไปในปัจจุบัน ความผันแปรสถานภาพของเจ้านายที่เสื่อมสลายลงไปพร้อมกับความเป็นบ้านเมืองของล้านนา สะท้อนจากคำกล่าวแสดงความรู้สึกของเจ้าหญิงบุษบง ณ ลำปาง หรือ “เจ้าแก้วกำพร้า” ราชธิดาองค์เล็กของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ซึ่งเป็นเจ้าในชั้นราชบุตรราชธิดาองค์สุดท้ายของเจ้าผู้ครองนครในล้านนาที่ยังมีชีวิตอยู่ถึงช่วงพ.ศ.๒๕๔๖ ผู้เกิดขึ้นมาท่ามกลางรอยต่อความเปลี่ยนแปลงจากรัฐล้านนาแบบจารีตเข้าสู่รัฐไทย(ประเทศไทย)แบบสมัยใหม่ “... ฐานันดรศักดิ์และทรัพย์สมบัติที่ได้ด้วยชาติตระกูลนั้น เมื่อเวลาผ่านไป การปกครองเปลี่ยนไป ทุกสิ่งก็เสื่อมไปได้เช่นกัน แต่ชีวิตต่างหากที่ยังคงดำรงอยู่ ไม่ว่าสิ่งใดจะเสื่อมสลายลงไปก็ตาม...” 
(๕) แคว้น ประกอบด้วยนายแคว้น ผู้ช่วยนายแคว้น และล่าม หน้าที่หลักคือจัดเก็บเงินแทนเกณฑ์และภาษีต่างๆ และเป็นคนประสานงานระหว่างกรมการแขวงกับชาวบ้านภายในแคว้น

(๖) หมู่บ้าน มีแก่บ้านทำหน้าที่เหมือนนายแคว้นเพียงแต่มีเขตรับผิดชอบภายในหมู่บ้าน โดยนายแคว้น(กำนัน)และแก่บ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน)ในอำเภอลองก่อนทศวรรษ ๒๕๒๐ ส่วนใหญ่ล้วนมาจากคนที่ผ่านการเป็นทหารหรือทหารผ่านศึกมาแล้ว เช่น สิบตรีวงศ์ ปัญญาฉลาด นายแคว้นเวียงต้า คนที่ ๓ หรือ พ่อหลักตั๋น อินต๊ะคำ อดีตผู้ใหญ่บ้านนาตุ้มหมู่ที่ ๘ (หมู่ ๒ ในปัจจุบัน) พ.ศ.๒๔๙๐ – ๒๕๑๗ เคยเป็นทหารค่ายสุรศักดิ์มนตรี จังหวัดลำปาง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๘๔ ได้ออกรบถึงเมืองเชียงตุง เมืองพยาก เมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย(ประเทศพม่าในปัจจุบัน)

ภูเดช แสนสา

เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ กับพระชายาแม่เจ้าส่วนบุญ (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เจ้าหลวงมหาพรหมสุรธาดา กับพระชายาแม่เจ้าศรีโสภา (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พระยารัตนอาณาเขต (เจ้าน้อยเมืองไชย) เจ้าเมืองเชียงราย (พ.ศ.๒๔๓๓ - ๒๔๔๘) (ที่มา : วารสารล้อล้านนา)


เจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต (ที่มา : หนังสือพระราชทานเพลิงศพเจ้าทิพวรรณ  ณ เชียงตุง)

พระยาจิตวงศ์วรยศรังษี (เจ้าน้อยจิตวงศ์) เจ้าเมืองเชียงของ  (ถึงพ.ศ.๒๔๖๗) (ที่มา : วารสารไชยนารายณ์)

เจ้าอุปราช (เจ้าน้อยทิพจักร ณ ลำปาง) (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พญาพิศาลฮ่องสอนบุรี (ขุนหลู่) เจ้าฟ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนสุดท้ายและครอบครัว (ที่มา : หจช.ถ่ายประมาณ พ.ศ.๒๔๔๕ - ๒๔๕๓)

พ่อเฒ่าหนานปัญญาเถิง โลหะ บุตรชายของ พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลองคนสุดท้ายกับภรรยา แม่เฒ่าบัวคำ โลหะ (ที่มา : ประไพ วิบูลยศรินทร์, ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๘๐)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 06 •พฤศจิกายน• 2012 เวลา 19:43 น.• )