การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต ระบบการเกณฑ์ไพร่พลในเมืองลอง (๑) เกณฑ์ทำศึกสงคราม หัวศึกเมืองลอง(แม่ทัพ) มีสิทธิ์ขาดในการเกณฑ์ชายฉกรรจ์และเสบียงจากหมู่บ้านต่างๆ ส่วนแสนบ่อจะเกณฑ์ช่างแต่ละหมู่บ้านทำอาวุธ ซึ่งเอกสารมักบันทึกภาพรวมว่าเป็นกองทัพเมืองลำปาง แต่แท้จริงแล้วเป็นลักษณะกองทัพผสมที่มาจากหัวเมืองขึ้น รวมถึงกองทัพเมืองลองและกองทัพเมืองต้าด้วย เช่น พ.ศ.๒๓๐๘ ร่วมกับกองทัพเมืองนครลำปางของเจ้าชายคำสม (ภายหลังเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ ๔) เจ้าน้อยธรรมลังกา (ภายหลังเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๒) และกองทัพไทใหญ่ พม่า เข้าตีกรุงศรีอยุธยาจนแตกได้รับชัยชนะในพ.ศ.๒๓๑๐ เกณฑ์รบพม่าที่เมืองเชียงแสนช่วงพ.ศ.๒๓๔๕ - ๒๓๔๗ หรือ พ.ศ.๒๓๖๙ เกณฑ์กำลังปราบเจ้าอนุวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ ที่ทำการ “ฟื้นสยาม” หรือประกาศอิสรภาพจากสยาม เป็นต้น

(๒) เกณฑ์ทำส่วย แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ (๒.๑) เกณฑ์ทำส่วยเหล็ก ปีหนึ่งจะเกณฑ์ครั้งเดียวอยู่ในช่วงระหว่างเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำถึงเดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ (ประมาณเดือนธันวาคมถึงมิถุนายน) ที่เรียกว่า “เดือน ๓ เข้าเดือน ๙ หับ” กลุ่มแสนท้าวผู้รับผิดชอบเลี้ยงผีบ่อเหล็ก จัดเกณฑ์ และนำส่วยไปส่ง มี ๓ ตำแหน่ง คือ หมื่นกลางโฮง แสนบ่อ พ่อเมือง เมื่อพ่อเมืองได้รับอาชญาจากเจ้าเมืองลองก็จะให้ล่ามเมืองแจ้งพ่อแคว้นแก่บ้านทำการเกณฑ์ลูกบ้าน แบ่งหน้าที่เป็นฝ่าย เช่น ตัดไม้ เผาถ่าน ขุดก้อนแร่ หลอม และหล่อ โดยแต่ละกลุ่มจะตั้งเตาถลุงเหล็กอยู่ริมหนองน้ำหรือลำห้วย เช่น บ้านห้วยอ้อริมหนองเปื๋อย หนองบวกคำ(บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอลองในปัจจุบัน) บ้านนาตุ้มริมห้วยแม่ลอง(บริเวณสถานีอนามัยนาตุ้มในปัจจุบัน) บ้านดอนมูลริมหนองเหิง(หนองบวกหาด) บ้านผางัวเลียและบ้านวังชิ้น ริมห้วยสลก ฯลฯ ซึ่งเมื่อได้ก้อนแร่เหล็กจะนำมา “เอ่าเหล็ก” เผาแยกเนื้อแร่ออกจากหินกรวดให้ได้เหล็กหัว(เหล็กบริสุทธิ์) ที่ขุดเป็น ๔ หลุม ๔ ระดับให้น้ำแร่เหล็กไหลลงไปในหลุมแรกถือว่าเป็นเหล็กลองน้ำหนึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “เหล็กปิว” หลุมที่ ๒ เนื้อรองลงมาใช้ทำหอก ดาบ หลุมที่ ๓ ใช้ทำมีด พร้า อานม้า และหลุมที่ ๔ เนื้อเหล็กระดับต่ำใช้ทำจอบ เสียม ตีนล้อเกวียน หลุมเบ้าหลอมทำเป็นรูปตัว I เรียกว่า “เหล็กขา” รูปตัว V เรียกว่า “เหล็กสองขา” หรือรูปตีนกาเรียกว่า “เหล็กสามขา” เมื่อได้เนื้อเหล็กแล้วจะคัดเอาเฉพาะเหล็กปิวมาหลอมอีกครั้ง และหล่อเป็นก้อนกลมโตขนาดผลส้มเกลี้ยง โดยเกณฑ์ไพร่หนึ่งคนต่อน้ำหนักเหล็ก ๑๒ ชั่ง(ประมาณ ๑๕ กิโลกรัม) เมื่อครบแล้วก็นำมาส่งที่บ้านพ่อแคว้นแก่บ้านเพื่อส่งเค้าสนามเมืองลอง ส่วนเหล็กเนื้อรองลงมาที่เหลือชาวบ้านจะเก็บไว้ใช้หรือนำไปซื้อขายแลก เปลี่ยน เมื่อเค้าสนามคัดได้ครบ ๔๐ หาบ(๒,๔๐๐ กิโลกรัม) แสนบ่อจะเกณฑ์ช้างม้าแสนท้าวไปส่งเป็นเครื่องราชบรรณาการถวายเจ้าผู้ครองนครลำปาง ที่เหลือก็จัดแบ่งให้เจ้าเมือง ญาติวงศ์ ขุนนางเค้าสนาม พ่อแคว้น และแก่บ้านทั้งหลาย ส่วนเมืองต้ามีการเกณฑ์เหมือนเมืองลอง แหล่งใหญ่ในการถลุงและหลอมอยู่บ้านน้ำดิบริมน้ำแม่ต้า เมื่อแก่บ้านนำมาส่งเจ้าเมืองต้าและขุนเค้าสนามจะคัดให้ครบ ๘ หาบ(๔๘๐ กิโลกรัม) และจัดเหล็กต้าหรือของมีค่าไว้อีกส่วนหนึ่งเพื่อสระเกล้าดำหัวเจ้าเมืองลอง แล้วจึงแต่งแสนท้าวนำมาส่งที่เค้าสนามเมืองลอง เมื่อถึงกำหนดก็นำไปถวายเจ้าผู้ครองนครลำปางพร้อมกัน (๒.๒) การเกณฑ์ทำส่วยซิ่นตีนจกและส่วยผ้าห่ม การเกณฑ์ไม่ยุ่งยาก ภรรยาบุตรหลานเจ้าเมืองลอง เจ้านายเชียงแสน และขุนนางจะทอเองหรือให้ช่างทอ โดยซื้อหรือแลกเปลี่ยนไหมเงินไหมคำกับพ่อค้าม้าต่างวัวต่างที่มาจากเมืองนครเชียงตุง แบ่งหน้าที่ทอส่วนตีนจก ตัวซิ่น เอวซิ่น แล้วจึงนำมาต่อกัน ซึ่งตีนจกจะมีสัญลักษณ์บอกว่ามาจากเมืองลองคือหมายซิ่น ส่วนส่วยผ้าห่มเป็นของกะเหรี่ยงหมู่บ้านต่างๆ พ่อก๊างแต่ละหมู่บ้านจะเกณฑ์และนำมาส่งให้เค้าสนาม ทั้งส่วยซิ่นตีนจก ส่วยผ้าห่ม ตลอดจนส่วยสินน้ำใจอื่นๆ เจ้านายเมืองนครลำปางไม่ได้ระบุจำนวนแล้วแต่ทางเมืองลองจะจัดส่งขึ้นถวาย

(๓) เกณฑ์ทำงานให้บ้านเมือง คือเกณฑ์สร้างหรือซ่อมแซมศาสนาสถาน เช่น ในสมัยพญาชื่นสมบัติ มีอาชญาให้เกณฑ์ชาวเมืองขุดเหล็กจากบ่อเหล็กลองมาทำ “รั้วลำต้าย” ล้อมรอบพระธาตุศรีดอนคำ หรือเกณฑ์แผ้วถางถนนหนทาง ขุดเหมือง ล้องเหมือง และตีฝายในเดือน ๙ ลักษณะการเกณฑ์ เช่น เกณฑ์ตีฝายจะเกณฑ์ตามขนาดพื้นที่นาของแต่ละคน โดยกำหนดพันธุ์ข้าว ๑ กระบุงหมื่น(ประมาณ ๓๐ กก.) ต่อไม้หลักฝาย(ยาว ๒ ศอก = ๑ ม.) จำนวน ๒๐ เล่ม ไม้ข้าวฝาย(ยาว ๑ วา = ๒ ม.) จำนวน ๕ เล่ม หากปีไหนฝายเสียหายมากก็จะเกณฑ์ “ไม้แม่นอนทราย” ท่อนซุงขนาด ๓ กำ(รอบวง ๖๐ ซม.) ยาว ๖ ศอก อีก ๑ ท่อน ส่วนเมืองต้ามีพื้นที่นาจำนวนน้อยจึงใช้ระบบเกณฑ์ต่อหลังคาเรือนแทนต่อหน่วยพันธุ์ข้าว คือ หนึ่งหลังคาเรือนต่อไม้ข้าว ๑๐๐ เล่ม ไม้หลัก ๕๐๐ เล่ม

(๔) เกณฑ์ทำงานให้เจ้าเมือง ส่วนใหญ่จะเกณฑ์จากหมู่บ้านบริเวณกลางเมืองลอง คือ เกณฑ์สร้างหรือหยด(ซ่อม)โฮงไชยเจ้าเมือง โดยแบ่งออกเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มคนทำแป้นเกล็ด กลุ่มคนไพคา กลุ่มคนทำกะตู๊ตั่งบ่อง(เสารั้ว) กลุ่มคนเลื่อยไม้ ฯลฯ และเกณฑ์ทำนาหลวงหรือทำนาให้เจ้าเมือง ซึ่งที่นาของพญาชื่นสมบัติ เจ้าเมืองลอง อยู่บริเวณทุ่งฮ่องมั่ง บ้านนาม้อ, ที่นาของพญาเววาทะภาษิต เจ้าเมืองลอง อยู่บริเวณทุ่งหนองห้า บ้านนาจอมขวัญ และที่นาของพญาไชยชนะชุมภู เจ้าเมืองลองและพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง อยู่บริเวณทุ่งบ้านนาหลวง หรือพ่อเมืองลองทั้ง ๔ ก็มีการเกณฑ์ในลักษณะเดียวกันกับเจ้าเมืองลอง เช่น เกณฑ์ทำนาของพญาราชสมบัติที่ทุ่งตุ๊ดติ๊ด บ้านนาม้อ เป็นต้น

เจ้าหลวงธรรมลังกา(พระเจ้าช้างเผือก) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๒ (ที่มา : เจ้าหลวงเชียงใหม่)

 

แร่เหล็กลองที่ผ่านการถลุงแล้วทำเป็นเหล็กขาเดียว ในภาพเป็นฝีมือการถลุงเหล็กของหมื่นชุมพล บ้านนาแก (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

แร่เหล็กลองที่ผ่านการถลุงแล้วทำเป็นเหล็กสองขา ในภาพเป็นฝีมือการถลุงเหล็กของหมื่นชุมพล บ้านนาแก (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

ก้อนแร่เหล็กลองที่ขุดมายังไม่ได้ผ่านการถลุง (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

ซิ่นตีนจกเมืองลองมีหมายซิ่น ฝีมือแม่บัวคำ ไชยขันแก้ว ธิดาเจ้าเมืองลอง (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อาทิตย์•ที่ 07 •ตุลาคม• 2012 เวลา 18:02 น.• )