การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต ระบบการแต่งตั้ง ที่มาของอำนาจ และการรักษาสถานภาพของกลุ่มผู้ปกครองเมืองลอง เมืองลองมีอิสระเป็นการภายในในการคัดเลือกผู้ที่จะได้เป็นเจ้าเมือง หลังจากนั้นจึงเข้ารับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากเจ้าผู้ครองนครลำปาง เมื่อกลับมาถึงเมืองก็จะมีพิธีบอกกล่าวเลี้ยงผีอารักษ์บ้านเมือง พิธีรดสรง และทูลขวัญเจ้าเมืองลองคนใหม่อีกครั้งหนึ่ง การขึ้นเป็นเจ้าเมืองลองประการสำคัญคือ อ้างสิทธิธรรมการสืบเชื้อสายมาจากเจ้าช้างปาน ปฐมบรรพบุรุษของเจ้าเมืองลอง และต้องเป็น “เจ้า” ชั้นใกล้ชิดกับเจ้าเมืองคนก่อน โดยเฉพาะบุตรชายที่ถือกำเนิดจากเจ้าเมืองลองกับชายาเอกจะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรก เมื่อรับการแต่งตั้งแล้วจะได้รับเครื่องเทียมยศหรือเครื่องสูงประทานจากเจ้านครลำปางเพื่อแสดงความชอบธรรม เช่น กุบละแอจิกคำ จ้องคำ ง้าวคอเงิน หอกคอเงิน ดาบหลูบเงินบั้งคำด้ามงาแกะ มีดหลูบเงินด้ามงา เสื้อกระดุมทองคำ หมอนผา(หมอนสามเหลี่ยม)ปักไหมเงินไหมคำ ขันหมากทารักติดคำพร้อมชุดตลับเงิน น้ำต้น(คนโท)หลูบเงิน สลอบเงิน สลุงเงิน บูยา(กล้องยาสูบ)หลูบเงิน ขันข้าวตอกเงิน ขันข้าวตอกทารักติดคำ ขันโตกทารักติดคำพร้อมชุดสำรับเครื่องเคลือบ และกระโถนทองเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้เจ้าเมืองยังต้องสร้างสิทธิธรรมต่างๆ คือ เป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมของบ้านเมือง สร้างวัด สร้างถาวรวัตถุถวายแก่บวรพุทธศาสนา เช่น พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ(เจ้าหนานคันธิยะ โลหะ) สร้างวัดคันธารส(วัดแม่ลานเหนือ) หรือได้ครอบครองของวิเศษที่เกิดมาคู่บารมี เช่น พญาไชยชนะชุมพูได้ดอกต้นโพธิ์จากครูบาชุมพู(พ.ศ.๒๔๐๐ - ๒๔๑๑) วัดบ้านปิน, หรือได้ครอบครองของวิเศษที่เกิดมาคู่บารมี เช่น พญาขัณฑสีมาโลหะกิจ มีแหวนเป็กมะขูดมหานิลดำ (ครูบาหลวงจันทร์ วัดแม่ลานใต้นำมามอบให้) เล่าสืบมาว่าถ้าสวมแหวนวงนี้เอาหัวแหวนขึ้นจะอยู่ยงคงกระพัน หากเอาหัวแหวนลงจะล่องหนหายตัว ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เมื่อออกตรวจตราบ้านเมืองชาวเมืองมักได้ยินแต่เสียงฝีเท้าม้ากระทบพื้นแต่มองไม่เห็นตัวเพราะสวมแหวนวงนี้แล้วเอาหัวลง และยังเชื่ออีกว่าหากสวมแหวนวงนี้เมื่อคนข้าวในครกมอง(ครกกระเดื่อง)สากครกก็จะไม่ตำถูกมือ หรือ ไก่ปู้แก้ว (แสนมิ่งเมืองมูล บ้านนาตุ้มนำมามอบให้) เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นจะขันทั้ง ๔ ทิศๆ ละหนึ่งครั้ง เป็นต้น

กลุ่มตำแหน่ง ๑๒ ขุนเหนือเค้าสนามก็มีการคัดเลือกเป็นการภายในเช่นกัน เมื่อเจ้าเมืองลองเค้าสนามเห็นชอบก็ส่งรายนามให้เจ้าผู้ครองนครลำปางรับรองแต่งตั้ง และจะได้รับประทานเครื่องเทียมยศจากเจ้าผู้ครองนครลำปาง ส่วนแสนท้าวระดับรองลงมาหรือขุนนางนอกเค้าสนาม เจ้าเมืองลองเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งและมอบเครื่องเทียมยศให้ โดยการได้มาซึ่งยศถาบรรดาศักดิ์มีหลายปัจจัย คือ

(๑) เป็นเชื้อสายของเจ้าเมืองและขุนนาง เช่น เจ้าหนานคันธิยะ บุตรพญาไชยชนะชุมพู เจ้าเมืองลอง ได้เป็นพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง (ต้นตระกูล “โลหะ”), บุตรหนานคันธะกับแม่นายขันแก้ว เชื้อสายเจ้าเมืองลองได้เป็น พญาราชสมบัติ พ่อเมืองลอง หรือ เจ้าแก้วเมืองมูล บุตรแสนไชยยะปราบเมือง(เจ้าน้อยไชยสาร) ได้เป็นแสนมิ่งเมืองมูล(ต้นตระกูล “แสนสา” และ “แสนมูล”) เป็นต้น

(๒) เป็นบุตรเขยของเจ้าเมืองและขุนนาง เช่น สามีแม่เจ้าฮวกคำ(แม่เจ้าขี้ฮวก) ธิดาพญาเววาทะภาษิต(ต้นตระกูล “เววา”)ได้เป็นแสนเมือง, คหบดีบ้านนาครัว(อ.แม่ทะ)สมรสกับแม่นายกาบแก้ว เชื้อสายเจ้าเมืองลองได้เป็นหมื่นกลางโฮง บ้านนาตุ้ม หรือ น้อยคัมภีระ บุตรเขยหมื่นอินต๊ะ(ต้นตระกูล “อินต๊ะติ๊บ”) ได้เป็นหมื่นคำลือ หลักบ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน)นาหลวง เป็นต้น

(๓) เป็นนาคหลวงของเจ้าเมืองที่เรียกว่า “ลูกแก้วพญา” “นาคพญา” หรือเป็นนาคของขุนนางที่เรียกว่า “ลูกแก้วท้าว” หรือ “นาคท้าว” เช่น น้อยคัมภีระ บ้านนาหลวงเป็นลูกแก้วพญา สึกออกมาเป็นคนเลี้ยงช้างเจ้าเมืองลอง ภายหลังได้เป็น หมื่นคำลือ แก่บ้านนาหลวง เป็นต้น

(๔) มีความรู้ความสามารถจนเป็นที่ยอมรับ เช่น หมอยา บ้านแม่ลานอาษารักษาเจ้านรนันทไชยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น หมื่นอาสา (ต้นตระกูล “หมื่นอาษา”) เป็นต้น

เมืองลองมีการรักษาสถานภาพของกลุ่มผู้ปกครองโดยการสมรส ได้แก่

(๑) บุตรหลานเจ้าเมืองกับเจ้านายพลัดถิ่น เช่น แม่นายอุสาห์ ธิดาแม่นายกาบแก้ว เชื้อสายเจ้าเมืองลอง สมรสกับแสนไชยะปราบเมือง(เจ้าน้อยไชยสาร) บุตรเจ้าน้อยแสนเมืองฮอมกับแม่เจ้าสาปันดี เจ้านายเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนไว้เมืองลอง หรือเจ้าหนานคันธิยะ(บ้านดอนทราย) บุตรพญาไชยชนะชุมพู เจ้าเมืองลอง สมรสกับแม่เจ้าบุญมา(บ้านแม่ลานเหนือ) เชื้อสายเจ้านายเชียงแสน เป็นต้น

(๒) บุตรหลานเจ้าเมืองกับตระกูลขุนนาง เช่น แม่เจ้าแก้วกัญญา ธิดาพญาไชยชนะชุมพู สมรสกับแสนราชสมภาร บ้านดอนทราย(ต้นตระกูล “สมภาร”) หรือ แม่บัวทิพย์ ธิดาพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ สมรสกับหนานคำน้อย หลานหมื่นอาสา(ต้นตระกูล “หมื่นอาษา”) เป็นต้น

(๓) สมรสระหว่างตระกูลขุนนางด้วยกัน เช่น ตระกูลแสนไชยมงคล(ต้นตระกูล “ชัยมงคล”)กับตระกูลแสนมังคละ(ต้นตระกูล “ไชยแก้ว”) และตระกูลแสนไชยชนะ(ต้นตระกูล “ไชยชนะ”) กับตระกูลแสนมังคละ เป็นต้น

นอกจากนี้สันนิษฐานว่ามีการสมรสระหว่างบุตรหลานของเจ้าเมืองลองกับเจ้าเมืองต้า โดยเจ้าเมืองลองและขุนนางสามารถมีภรรยาได้จำนวนหลายคน ซึ่งภรรยาเอกมักมาจากเชื้อสายเจ้าเมืองหรือขุนนาง ส่วนภรรยารองลงไปสามารถมาจากตระกูลไพร่บ้านพลเมืองได้ ดังนั้นการสมรสนอกจากรักษาสถานภาพของกลุ่มผู้ปกครอง ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงเครือญาติระหว่างกลุ่มผู้ปกครองของเมืองลองกับเมืองต้า สกุลวงศ์ของเจ้าเมืองลองกับตระกูลขุนนาง ตลอดถึงระหว่างขุนนางตระกูลต่างๆ ภายในเมืองลอง อีกทั้งมีการสงวนรักษาตำแหน่งขุนนางระดับสูงหรือตำแหน่งสำคัญไว้เฉพาะกลุ่ม เช่น พ่อเมืองลอง หัวศึก(แม่ทัพ) และแสนบ่อ ฯลฯ ที่มักมาจากเครือญาติของตระกูลเจ้าเมืองลองทั้งสืบสายโลหิตและทางการสมรส

พันธะของเมืองลองต่อเมืองนครลำปาง เมืองนครลำปางต้องการความจงรักภักดี กำลังคนยามสงคราม หรือผลประโยชน์ในรูปของส่วย ส่วนเมืองลองก็ต้องการสิทธิธรรมจากเมืองนครลำปางให้ยอมรับความเป็น “เจ้า” เหนือพื้นที่ของตน ตลอดถึงขอความช่วยเหลือในกรณีที่ต้องการ เจ้าเมืองลองบุตรหลานและขุนเหนือ เค้าสนามจึงมีพันธะต่อเจ้าผู้ครองนครลำปางเหมือนกับหัวเมืองขึ้นอื่นๆ คือ

(๑) เข้าคารวะปีละ ๓ ครั้ง ในวันกินน้ำสัจจะที่วัดหลวงไชยสัณฐาน(วัดบุญวาทย์วิหาร)ว่าจะจงรักภักดีต่อเจ้าผู้ครองนครลำปางที่จัดขึ้นปีละ ๒ ครั้ง และวันเข้าคารวะเจ้าผู้ครองนครที่หอคำพร้อมมีนักดนตรี ช่างฟ้อนหญิง ช่างฟ้อนชายลายเชิงหอกดาบในเดือน ๘ ขึ้น ๑๓ ค่ำ(พฤษภาคม)

(๒) ส่งส่วยประจำปีเป็นเครื่องสระเกล้าดำหัวเจ้าผู้ครองนครลำปางในเดือน ๗ (เมษายน) คือ ส่วยเหล็ก เมืองลองปีละ ๔๐ หาบ เมืองต้าปีละ ๘ หาบ อาวุธตีจากเหล็กลอง(หอก ดาบ ง้าว) ผ้าห่มของกระเหรี่ยงหมู่บ้านต่างๆ ซิ่นตีนจกไหมเงินไหมคำของเจ้าเมืองลองและเจ้านายเชียงแสน (ภายหลังมีเงินค่าตอไม้เมืองลองเมืองต้า) ส่วนส่วยสินน้ำใจ เช่น ทองคำ งาช้าง สีผึ้ง หรือของมีค่าอื่นๆ แล้วแต่จะจัดส่งขึ้นถวาย

(๓) ของถวายกรณีพิเศษ คือ เมื่อพบของหายากหรือของแปลกประหลาดเกิดขึ้นภายในเมือง เช่น พ.ศ.๒๔๐๐ พญาไชยชนะชุมพู เจ้าเมืองลอง และครูบาชุมพู นำดอกต้นโพธิ์สีขาวอมชมพู ๙ ดอกจากวัดบ้านปิน(วัดโพธิบุปผาราม) ขึ้นถวายเจ้าหลวงวรญาณรังษี เป็นต้น

การที่กลุ่มผู้ปกครองเมืองลองได้เข้าคารวะ กินน้ำสัจจะ หรือส่งส่วยที่เมืองนครลำปาง แสดงถึงการยอมรับอยู่ภายใต้อำนาจการคุ้มครองของเมืองนครลำปาง แต่ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมราชประเพณีนี้แล้วย่อมแสดงว่ากำลัง “แข็งเมือง”หรือ“กบฏ” ต้องได้รับการลงโทษขั้นรุนแรง ดังนั้นช่วงปลายยุคจารีตเจ้าเมืองลองไม่ปฏิบัติตามราชประเพณีดังกล่าวข้างต้น จึงเกิดความขัดแย้งรุนแรงกับเจ้าผู้ครองนครลำปางถึงขั้นจะได้รับโทษประหารชีวิต ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในบทความฉบับต่อไป

 

มีดโกนของพญาเววาทะภาษิต เจ้าเมืองลอง ด้ามไม้แกะสลักใบมีดเป็นทองเหลือง

 

กุบละแอจิกคำ(หมวกเทียมยศ)ของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

ขันหมากของพญาขัณฑสีมาโลหะกิจ เจ้าเมืองลอง (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

หอกหลูบเงิน(หุ้มเงิน)ของพญาเววาทะภาษิต(เจ้าพญาเฒ่า) เจ้าเมืองลอง (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

กุบละแอของแสนไชยมงคล แม่ทัพเมืองลองคนสุดท้าย (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

กุบละแอของหมื่นชุมพล(หมื่นนำพล) หลักบ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน)นาแก (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

ขันข้าวตอกของพญาวังใน ปฐมเสนาบดี(พ่อเมือง) เมืองลอง (ที่มา : แม่อุ๊ยแก้ว ฝั้นมงคล, ๒๕๕๐)

 

หอก ดาบ ของแสนไชยมงคล แม่ทัพเมืองลองคนสุดท้าย (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

ขะอูบใส่สำรับอาหาร ของแสนไชยมงคล แม่ทัพเมืองลองคนสุดท้าย (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

หอคำเมืองนครลำปาง ที่เจ้าเมืองขุนนางบุตรหลานในหัวเมืองขึ้นเข้าถวายคารวะเจ้าผู้ครองนครลำปาง หอคำหลังนี้สร้างในสมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์(พ.ศ.๒๓๓๗ - ๒๓๖๘) (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ(หจช.))

 

คอกฟืมทอผ้าของแม่เจ้าบัวผัด ชายาในพญาชื่นสมบัติ เจ้าเมืองลอง (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง)

 

บุกฮักบุงหาง(กระบุงลงรักลงชาด)ของแม่บัวคำ ภรรยาแสนไชยมงคล (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

ก้อนเหล็กลอง(เหล็กหัว)ที่ส่งส่วยเจ้าผู้ครองนครลำปาง (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดพระเจ้าทันใจ จ.ลำปาง, ๒๕๔๙)

 

ต้นโพธิ์ต้นด้านทิศใต้ของวัดบ้านปินที่เคยออกดอกเมื่อพ.ศ.๒๔๐๐

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 01 •ตุลาคม• 2012 เวลา 11:07 น.• )