การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต ระบบโครงสร้างของเมืองลองแบบจารีต (ก่อนล้านนา – พ.ศ.๒๔๔๒) ระบบโครงสร้างของเมืองลองแบบจารีตสามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ ยุค คือ (๑) ยุคสกุลวงศ์เจ้าศรีกุกกุฏฏะ(ก่อนล้านนา - พ.ศ.๒๐๒๐) เป็นช่วงก่อตั้งสร้างความมั่นคง (๒) ยุคสกุลวงศ์เจ้าหัวเมืองแก้ว(ประมาณพ.ศ.๒๐๒๐ - พ.ศ.๒๐๖๐) เป็นช่วงเริ่มถูกดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเมืองหลวงเชียงใหม่และจัดการปกครองรัดกุมมากขึ้น (๓) ยุคสกุลวงศ์เจ้าช้างแดงถึงสกุลวงศ์เจ้าช้างปานตอนกลาง(พ.ศ.๒๐๖๐ - พ.ศ.๒๒๗๐) เป็นช่วงมีอิสระสูง และ(๔) ยุคสกุลวงศ์เจ้าช้างปานตอนกลางถึงตอนปลาย(พ.ศ.๒๒๗๐ - พ.ศ.๒๔๔๒) เป็นช่วงเจ้านครลำปางเข้าควบคุมอย่างใกล้ชิด (๑) เมืองลองยุคสกุลวงศ์เจ้าศรีกุกกุฏฏะ (ก่อนล้านนา - พ.ศ.๒๐๒๐) เมืองลองเริ่มก่อกำเนิดขึ้นโดยการขยายตัวของกลุ่มผู้ปกครองเมืองเขลางค์นคร นำโดยผู้ที่ตำนานเรียกชื่อว่า “เจ้าศรีกุกกุฏฏะ” โอรสเจ้าเมืองเขลางค์นคร สันนิษฐานว่าเมืองลองระยะแรกอยู่ในลักษณะเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับเมืองเขลางค์นคร สะท้อนจากมีชื่อเรียกเมืองลำปางว่า “เมืองกุกกุฏนครไก่เผือก” เรียกเมืองลองว่า “เมืองศิริกุกกุฏไก่เอิ้ก” และเป็นเมืองปลายอาณาเขตของแคว้นหริภุญไชย เมื่อพญามังรายตีได้เมืองหริภุญไชยและเมืองเขลางค์นคร เมืองลองจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาด้วย แต่เมืองลองก็มีอิสระมากพอสมควรจนกระทั่งหลังจากพญาเป็กขะจา เจ้าเมืองลองสิ้นชีวิต พระเจ้าติโลกราชได้ส่งพญาหัวเมืองแก้วจากเมืองเชียงใหม่มาเป็นเจ้าเมืองลองแทน จึงเป็นครั้งแรกที่ถูกแทรกแซงอำนาจทางการปกครองของเมืองลอง

จากจารึกหลักที่ ๑ สมัยพ่อขุนรามคำแหง(พ.ศ.๑๘๒๒ - ๑๘๔๒) เป็นยุคแคว้นสุโขทัยมีอาณาเขตกว้างขวางที่สุด“...รอดเมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองน..(น่าน) เมืองพลัว(ปัว)...” สันนิษฐานว่าในแอ่งลอง(อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น) แคว้นสุโขทัยไม่ได้มีอิทธิพลทางการเมืองการปกครอง เพียงแต่ส่งอิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนาให้เท่านั้น เนื่องจาก “เมืองม่าน” หรือ “เมืองมาน”(บริเวณอำเภอสูงเม่น)เป็นเมืองบริวารด้านทิศใต้ของเมืองแพร่มีน้ำแม่มานไหลผ่าน ดังเรียกบริเวณนี้ว่า “...เมืองมานใต้...” หรือ “...เมืองมาน ด่านใต้...” ดังนั้นแคว้นสุโขทัยจึงมีอำนาจเหนือแอ่งแพร่(อำเภอสอง อำเภอร้องกวาง อำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอเมือง อำเภอสูงเม่น และอำเภอเด่นชัย) เมื่อพญามังรายยึดเมืองหริภุญไชยและเมืองเขลางค์นครได้ในพ.ศ.๑๘๓๕ และเป็นพันธมิตรกับพ่อขุนรามคำแหง เมืองลองจึงมีสถานะเป็นเมืองกันชนในหุบเขาระหว่างอาณาจักรล้านนากับแคว้นสุโขทัย และเป็นฐานกำลังให้กับเมืองเชียงใหม่ขยายอำนาจเข้าตีเมืองแพร่ เมืองน่านในรัชสมัยพญาคำฟูและพระเจ้าติโลกราช

ช่วงนี้สถานะของชนชั้นปกครองกับผู้ถูกปกครองไม่ต่างกันมากนัก ดังตำนานกล่าวถึงพญาสถัมพหุลี เจ้าเมืองลอง ทำไร่ฝ้ายอยู่ที่ดอนลี่เหลี้ยมแหลม ชนชั้นผู้ปกครองกับชาวเมืองจึงมีความใกล้ชิดกัน แต่เจ้าเมืองอ้างความชอบธรรมจากการเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเขลางค์นครที่มีการติดต่อกันระหว่างญาติวงศ์ของทั้งสองเมือง ดังพญาลัมพกัณณราช เมืองเขลางค์นคร เข้ามาฟังพระธรรมที่เมืองลอง เจ้าเมืองมีอิสระในการจัดการปกครองสูงและมีการจัดโครงสร้างภายในเมืองพอสมควร เพราะปรากฏแบบแผนการใช้พื้นที่ภายในเวียงเหมือนแบบแผนของเมืองใหญ่ ไพร่พลยังมีจำนวนน้อยส่วนใหญ่อาศัยไม่ไกลจากเวียงลอง จึงเป็นการรวมหลายหมู่บ้านขึ้นเป็นเมืองโดยมี “พ่อเฒ่าบ้าน” หัวหน้าหมู่บ้านขึ้นตรงต่อ “พ่อเฒ่าหลวง”(เจ้าเมือง) และมีกลุ่มขุนนางช่วยบริหารในส่วนกลาง ช่วงนี้เนื่องจากเมืองลองยังมีอำนาจไม่มั่นคงนักสันนิษฐานว่ามีกลุ่ม ขุนนางทำหน้าที่เข้าไปเก็บส่วยยังชุมชนต่างๆ ภายในแอ่งมากกว่านำเข้ามาส่งเอง และจัดการปกครองเป็นระบบพันนา ดังปรากฏชื่อตำแหน่ง “สิบสองเมือง” ของเจ้าเมืองลอง ที่แสดงถึงการมีอำนาจปกครอง ๑๒ หน่วยหรือ ๑๒ พันนา หรือตำแหน่ง “เจ็ดเมือง” ของเจ้าเมืองต้า ที่แบ่งหน่วยการปกครองออกเป็น ๗ พันนา ด้านการจัดระบบควบคุมไพร่ เจ้าเมืองจะเกณฑ์ไพร่พลในยามสงคราม ยามปกติก็เกณฑ์ก่อสร้างบูรณะศาสนสถาน แบ่งเป็นแผนกต่างๆ เช่น ตัดไม้ ตีเหล็ก หรือปั้นอิฐ เกณฑ์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยเกณฑ์ในฤดูแล้งว่างจากการทำนาเป็นหมู่บ้านและเกณฑ์ต่อคน เกณฑ์ทั้งข้าพระภายในวัด “จี๋ข้าพระ” ไพร่ “ฐัทธิสาปั้น” หรือขุนนาง “...ขุนเรืองไชย...” ร่วมกันก่อสร้าง คนที่ถูกเกณฑ์ไม่จำเป็นต้องเป็นไพร่ที่มีฝีมือโดยเฉพาะ เมื่อมีการเกณฑ์ก็รวมกลุ่มกันทำเป็นแห่งๆ และการเกณฑ์ไม่ได้มีคนควบคุมหรือเฆี่ยนตีทำร้าย แต่ชาวบ้านก็ทำด้วยความศรัทธาในการสร้างเพื่อเป็นการ“...ค้ำชูเจ้าวัด...” เป็นการสะสมผลบุญให้กับตนเอง จึงพบอยู่เสมอว่าเมื่อปั้นอิฐก็มีการวาดภาพหรือจารึกคำอธิษฐานลงไปด้วย ในขณะที่เจ้าเมืองเมื่อมีการเกณฑ์ก็แอบอิงความศรัทธากับครูบามหาเถระที่ชาวเมืองนับถืออีกด้วย

(๒) เมืองลองยุคสกุลวงศ์เจ้าหัวเมืองแก้ว(ประมาณพ.ศ.๒๐๒๐ – พ.ศ.๒๐๖๐) ยุคนี้เมืองลองขึ้นตรงกับเมืองเชียงใหม่ ดังพระเจ้าติโลกราชทรงให้พญาหัวเมืองแก้วทหารผู้ที่ไว้วางพระทัยมาเป็นเจ้าเมืองลองประมาณพ.ศ.๒๐๒๐ เนื่องจากพระองค์ทรงทำสงครามกับอยุธยา เมืองลองและบรรดาเมืองชายแดนหรือเมืองหน้าด่านจึงถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดกว่ายุคก่อนด้วยวิธีการหากเมืองใดเจ้าเมืองว่างลงกษัตริย์จะจัดส่งผู้ที่ไว้วางพระทัยมาปกครองแทน ลักษณะการมาปกครองเมืองลองของพญาหัวเมืองแก้ว จึงเป็นการส่งตัวแทนมาประจำการหัวเมืองชายแดน ไม่มีฐานอำนาจอยู่ภายในเมืองแต่ต้องอาศัยอำนาจของกษัตริย์จากศูนย์กลางเป็นหลัก ซึ่งอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่พญาหัวเมืองแก้วได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองเมืองลอง มาตั้งแห่งใหม่ที่เวียงเหล่าเวียง(บ้านนาหลวง)ภายหลังสงครามยุติ เพื่อสร้างศูนย์กลางอำนาจขึ้นใหม่และลดศูนย์กลางอำนาจเดิมลง ดังนั้นการสร้างเสถียรภาพอำนาจของพญาหัวเมืองแก้วนอกจากใช้กองกำลังทหารที่ติดตามมา ยังใช้วิธีกันผู้มีสิทธิธรรมสูงให้ออกจากอำนาจการปกครอง ดังบรรดาญาติวงศ์ของพญาเป็กขะจา(พญาหูหิ้น)เจ้าเมืองลองคนก่อน คือ แม่นางคำฟุ่น เทวีขวา แม่นางคำเฟย เทวีซ้าย เจ้าคำฝั้น น้องชาย เจ้าแก้วของ้าวขาวคำแดงเป็กเก้าแสงแสนสุริยะ บุตรชาย และเสนาคนสนิท คือ แสนเป็กดินแตก เสนาขวา แสนคำฟ้า เสนาซ้าย ก็ถูกให้ย้ายออกจากในเวียงลองเดิม(บ้านไฮสร้อย)มาตั้งคุ้มภายนอกเวียงที่บ้านนาตุ้ม และให้คนในท้องถิ่นผู้พอมีอิทธิพลที่สามารถควบคุมได้ง่ายช่วยปกครอง ดังได้แต่งตั้งบุรุษชาวเมืองลองผู้จับช้างสีแดงมาให้เป็นแม่ทัพเมืองลอง

เหตุผลอีกประการที่พระเจ้าติโลกราชทรงเข้าควบคุมเมืองลองอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นเมืองที่ครอบครองแหล่งแร่เหล็กอันเป็นทรัพยากรสำคัญเพื่อใช้ผลิตอาวุธในศึกสงคราม สันนิษฐานว่าการนำมนุษย์มาใช้เลี้ยงผีบ่อเหล็ก(ผีเมืองลอง)ก็เริ่มขึ้นสมัยนี้ โดยนำเชลยศึกสงครามมาฆ่าเซ่นสังเวย เนื่องจากพระเจ้าติโลกราชทรงเคยนำกองทัพหลวงเชียงใหม่มาถึงบริเวณเมืองลองหลายครั้ง ประกอบกับพระเจ้าติโลกราชทรงพยายามควบคุมส่วยจากหัวเมืองทั้งหลาย ให้ส่งตรงกับเมืองเชียงใหม่ ดังพระองค์ทรงส่งคนเข้าเก็บส่วยถึงเมืองงาว ดังนั้นเมืองลองจึงมีการจัดการเรื่องส่วยรัดกุมมากยิ่งขึ้นทั้งส่วยเหล็กภายในเมืองลองเองและจัดเก็บส่วยจากเมืองบริวาร โดยเฉพาะเมืองต้าที่เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีแร่เหล็ก การจัดเก็บส่วยอย่างรัดกุมและแสดงถึงอิทธิพลของเมืองลองที่เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากเจ้าเมืองและขุนนางเมืองขึ้นต่างๆ ภายในแอ่งลองจะต้องนำส่วยมาส่งเองที่เมืองลอง ในบริเวณที่เรียกว่า “บ้านขุนจุ๊”(ด้านทิศเหนือบ้านนาหลวง) เป็นหมู่บ้านที่ขุนต่างเมืองมารวมตัวกันก่อนเข้าส่งส่วยให้เจ้าเมืองลองภายในเวียง แล้วเจ้าเมืองลองจะนำส่งให้เมืองพระนครเชียงใหม่อีกชั้นหนึ่ง ความสัมพันธ์กันระหว่างเมืองภายในแอ่งลอง สันนิษฐานว่ามีการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทางการสมรส ร่วมกับการใช้ทรัพยากรและความเชื่อเป็นตัวเชื่อมประสาน ดังเมืองลองเป็นแหล่งที่มี“จืน”(ตะกั่ว)มากจนเรียกชื่อบ้านนามเมืองลองอีกชื่อว่า “เมืองเชียงจืน” จืนจะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ร่วมกับทองแดงที่มีในเมืองช้างสารผลิตโลหะสำริดเพื่อหล่อเป็นพระพุทธรูปและเครื่องสำริดต่างๆ หรือพบการนำเอาเหล็กไปหล่อเป็นซี่รั้วและนำจืนหล่อเป็นหัวบัวล้อมองค์พระธาตุกลางเวียงที่เมืองตรอกสลอบ

เมืองลองขึ้นตรงกับพระนครเชียงใหม่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่หลังจากพระเจ้าติโลกราชเสด็จสวรรคตในพ.ศ.๒๐๓๐ สันนิษฐานว่าเมืองลองได้กลับมาขึ้นเมืองลำปาง เพราะเมื่อพญายอดเชียงราย(พ.ศ.๒๐๓๐ - ๒๐๓๘) ราชนัดดาขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ได้เกิดปัญหาขัดแย้งกับกลุ่มขุนนางภายในเมือง เชียงใหม่ อำนาจจึงได้กระจายอยู่ตามเจ้าเมืองหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเจ้าเมืองลำปางที่เป็นเชื้อพระวงศ์ในสายของเจ้าหมื่นด้งนคร ผู้เป็นพระปิตุลา(อาว์)ของพระเจ้าติโลกราช ประกอบกับพระนางสิริยศวดี(นางโป่งน้อย) เทวีของพญายอดเชียงรายก็เป็นธิดาของเจ้าเมืองลำปาง ซึ่งมีพระโอรสได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อมา คือ พระเมืองแก้ว (กษัตริย์ล้านนา พ.ศ.๒๐๓๘ - ๒๐๖๘) ด้วยความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด เจ้าเมืองอ้ายอ่ำ(บุตรเจ้าหาญแต่ท้อง หลานเจ้าหมื่นด้งนคร) เจ้าเมืองลำปาง จึงสามารถสั่งเสียให้ พระเมืองแก้วแต่งตั้งเจ้าหาญสีทัตถมหาสุรมนตรี เสนาคนสนิทขึ้นเป็นเจ้าเมืองลำปางแทนได้

เมื่อเจ้าเมืองลำปางมีอิทธิพลเข้าแทรกแซงกษัตริย์เมืองหลวงเชียงใหม่ ดังนั้นเมืองลองจึงได้ส่งส่วยและขึ้นกับเมืองลำปางตามเดิม ขณะที่พญาหัวเมืองแก้วก็สามารถสร้างฐานอำนาจในเมืองลองได้ระดับหนึ่ง เห็นจากได้เป็นเจ้าเมืองลองต่อมาอีกร่วม ๓๐ ปีหลังจากพระเจ้าติโลกราชสวรรคต แต่ด้วยเป็นคนต่างถิ่นขาดฐานอำนาจที่หยั่งลึก และการปกครองในยุคจารีตอยู่ในระบบเครือญาติเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อพญาหัวเมืองแก้วถึงแก่อนิจกรรมในพ.ศ.๒๐๖๐ จึงได้เปิดโอกาสให้แม่ทัพคนท้องถิ่นขึ้นเป็นพญาช้างแดง เจ้าเมืองลอง และเป็นต้นสกุลวงศ์ “เจ้าช้างแดง”

ภูเดช แสนสา

จารึกเมืองลอง ช่วงประมาณพ.ศ.๑๙๐๐ – ๒๐๐๐ พบที่วัดพระธาตุไฮสร้อย (ที่มา : ประชุมจารึกล้านนาเล่ม ๙)

 

จารึกเนียรพานนิราส ของเมืองลอง ช่วงประมาณพ.ศ.๑๙๐๐ – ๒๐๐๐ พบที่วัดพระธาตุไฮสร้อย (ที่มา : ประชุมจารึกล้านนาเล่ม ๙)

 

แผ่นศิลาจารึกพบที่วัดพระธาตุไฮสร้อย (ที่มา : วัดพระธาตุไฮสร้อยและวัดสะแล่ง)

 

ก้อนอิฐมอญมีจารึกอักษรพบที่วัดหัวข่วงร้าง (ที่มา : วัดพระธาตุไฮสร้อยและวัดสะแล่ง)

 

หัวบัวสำริดสวมปลายซี่รั้วล้อมพระธาตุตรอกสลอบขุดพบในเวียงตรอกสลอบ (ที่มา : วัดบางสนุก, ๒๕๕๐)

 

บริเวณที่ตั้งหอคำหรือท้องพระโรงของกษัตริย์ล้านนามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย ในภาพเป็นหอคำของกษัตริย์เมืองนครเชียงใหม่สมัยราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

กำแพงเวียงแก้วล้อมหอคำของกษัตริย์เมืองนครเชียงใหม่สมัยราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 11 •กันยายน• 2012 เวลา 19:55 น.• )