ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๙ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต การใช้ระบบพระธาตุและตำนาน(พุทธศาสนา)ควบคุมสังคมเมืองลอง คติการสร้างพระธาตุเพื่อเป็นพุทธบูชาปรากฏทั่วไปในล้านนา และความเชื่อเกี่ยวกับพระธาตุก็ถูกกลุ่มผู้ปกครองนำมาใช้เป็นกลไกในการควบคุมคนในสังคม มีการเขียนตำนานเพื่อเป็นคู่มืออธิบายสิ่งต่างๆ ซึ่ง “ตำนาน” เป็นการเขียนประวัติศาสตร์โบราณในล้านนา ที่ครั้งหนึ่งเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาและภายหลังได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องราวที่ตำนานกล่าวเชื่อกันว่าเกิดขึ้นจริงทั้งเหตุการณ์ที่ล่วงมาแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อถึงกาลเวลา ดังนั้นตำนานจึงมีอิทธิพลต่อความเชื่อและกำหนดพฤติกรรมร่วมของคนเมืองลอง โดยเฉพาะในยุคจารีตเป็นอย่างมาก ในเมืองลองมีพระธาตุสำคัญห้าองค์ แต่ละองค์ล้วนมีตำนานอธิบายประวัติความเป็นมา แต่ทว่านอกจากเป็นการเขียนขึ้นดังจุดประสงค์ข้างต้นแล้ว กลุ่มผู้ปกครอง(เจ้าเมืองลอง,พระสงฆ์, ขุนนาง,ปราชญ์)ยังใช้ความเชื่อเรื่องพระธาตุเพื่อควบคุมสังคม และความเป็นเอกภาพของคนเมืองลองด้วย เนื่องจากพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ผูกพันแนบแน่นกับวิถีชีวิตความเชื่อของผู้คน จึงมีพลังยึดเชื่อมคนให้มีสำนึกร่วมกัน ดังพระเจ้าติโลกราชทรงมีนโยบายดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่เมืองเชียงใหม่ นอกจากใช้วิธีทางการเมืองการสงครามแล้วยังสร้างเครือข่ายบูชาพระธาตุประจำปีเกิด โดยสถาปนาพระมหาธาตุหลักประจำแต่ละเมืองที่มีมาแต่เดิมให้อยู่ในระเบียบเดียวกัน

การสร้างความเป็นเอกภาพของเมืองลองโดยแต่งตำนานพระธาตุ ตำนานพระธาตุเป็นสื่อที่สำคัญที่นิยมคัดลอกแพร่หลาย เนื่องด้วยความเชื่อเรื่องอานิสงส์การทานธรรมที่กระทำได้ตลอดทั้งปี หากถวายแล้วก็มีการเทศน์ให้ฟังเป็นการฉลองศรัทธา เมื่อมีการเทศนาธรรมตำนานพระธาตุทั้งห้าองค์ จึงเท่ากับเป็นการเน้นย้ำสำนึกและศรัทธาร่วมกันของคนในเมืองลอง ที่ตำนานกำหนดให้เป็นคติบูชาพระธาตุประจำพระเจ้าห้าพระองค์ คือ พระธาตุไฮสร้อย ประจำพระกกุสันธะและพระโกนาคมนะ พระธาตุขวยปู ประจำพระกัสปะ พระธาตุแหลมลี่ ประจำพระโคตมะ และพระธาตุปูตั้บ ประจำพระศรีอริยเมตตรัย เป็นการจัดพระธาตุให้เป็นระบบตามคติพระเจ้าห้าพระองค์ที่จะเสด็จตรัสรู้ในภัทรกัปนี้ และตำนานยังสื่อถึงพระธาตุของเมืองลองว่าสำคัญเหนือกว่าเมืองอื่นๆ “...ต่อเท้าชุมนุมธาตุเจ้าสาสนาเสี้ยงมีหั้นชะแล เมื่อดั่งอั้นมหาธาตุเจ้าลัมพางแลมหาธาตุละพุนชื่อหริภุญไชยนั้นจักห่างสูญเสียชะแล เท่ามีแต่มหาธาตุเจ้าที่นี้รุ่งเรืองกาละเมื่อซ้อย มีหั้นชะแล...” และยังระบุว่าเมืองลอง ไม่ได้เป็นดินแดนที่รุ่งเรืองแล้วเสื่อมไปพร้อมกับพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าโคตมะองค์ปัจจุบัน แต่เมืองลองคงอยู่มาตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์แรกและจะคงอยู่ต่อไปถึงยุคพระศรีอริยเมตตรัย จนสิ้นไปพร้อมภัทรกัปนี้อันเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก

 

พระธาตุหริภุญไชยเมื่อพ.ศ.๒๔๕๐ (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

ซุ้มประตูโขง  พระวิหารหลวง  และพระธาตุหริภุญไชยก่อนพ.ศ.๒๔๕๖ (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

ซุ้มประตูโขง พระวิหารหลวง และพระธาตุลำปางหลวง (ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

นอกจากนี้ยังเน้นความสำคัญของเมืองลองว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วต้อง“...มาเทสนา ธัมม์อันชื่อว่า สารัมมจิตตสูตต์ แห่งพระพุทธเจ้าทังหลายอันเกิดมาในกัปนี้ชุตนแล...” ซึ่งถ้าผู้ใดอยากฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า ก็ต้องอยู่เมืองลองไม่ต้องไปเสาะแสวงหาที่ไหนเพราะ “...ในเมืองลองอันเปนพุทธภูมวิเสสแล ..เปนที่พระสัพพัญญูเจ้ามารอดจอดอยู่ปูชาสการคารวะ เขาใน ๘ หมื่น ๔ พันหลัง เท่ามี ๔ หลังนี้แล ...” ขณะที่ตำนานพระธาตุขวยปู ก็เน้นย้ำให้เมืองลองเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญสั่งสมบารมี ดังกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยชาติเป็นปูคำอยู่ในเมืองเววาทภาษิต(เมืองลอง) ได้ออกแสวงหาแหล่งบำเพ็ญบารมีจะไปถึงหนองแส แต่เมื่อปูคำขุดรูไปถึงเมืองเชียงตุงพระอินทร์ได้ลงมาห้ามว่าที่หนองแสไม่ใช่สถานที่เหมาะสร้างสมบารมี จึงกลับมาสร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ในเมืองลอง ส่วนพระธาตุศรีดอนคำ สันนิษฐานว่ากลุ่มผู้ปกครองเมืองลองคิดจะสร้างเพื่อให้สอดรับกับตำนานพระธาตุประจำพระพุทธเจ้าห้าพระองค์เช่นกัน จึงเริ่มสร้างพระธาตุศรีดอนคำตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๖๙ แต่ก็ล่าช้าเนื่องจากสงครามที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงใช้พระธาตุทั้ง ๔ องค์เป็นหลักก่อน และเมื่อสร้างเสร็จในพ.ศ.๒๒๑๕ จึงแต่งตำนานพระธาตุศรีดอนคำและนำมารวมกันครบห้าองค์ ดังสรุปท้ายตำนานว่า “...กรียาอันกล่าวแก้ไขยังตำนานธาตุห้าหลังในเมืองลอง ค็สมเร็จสระเด็จแล้วเท่านี้ก่อนแล” ซึ่งคติความเชื่อพระเจ้าห้าพระองค์ที่ผ่านทางตำนานพระธาตุ มีผลให้วัดในเมืองลองมีความนิยมสร้างพระประธานไว้ห้าองค์ เช่น “พระเจ้าหลวง” ในพระวิหารหลวง และ “พระเจ้าพร้าโต้” ที่วัดพระธาตุศรีดอนคำ ฯลฯ (ภายหลังมีการสร้างบูรณะพระธาตุที่อยู่ในตำนานบอกเล่าและความทรงจำของชาวเมืองลองมาแต่โบราณอีก ๒ องค์ คือ สร้างพระธาตุพระพิมพ์ในพ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๗๓ และบูรณะพระธาตุพระกัปป์(พระกับ)บนฐานอิฐโบราณในพ.ศ.๒๕๒๗)

พระประธาน ๕ องค์ในวิหารหลวงวัดหลวงฮ่องอ้อ(วัดพระธาตุศรีดอนคำ) (ที่มา : วัดพระธาตุศรีดอนคำ, ช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐)

 

พระเจ้าพร้าโต้องค์ใหญ่

 

องค์รองที่คงเหลืออยู่วัดพระธาตุศรีดอนคำ

 

พระเจ้าพร้าโต้องค์ที่สามอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดหลวง อำเภอเมืองแพร่ (ที่มา : ภัทรพงค์ เพาะปลูก)

 

พระเจ้าพร้าโต้องค์ที่สี่อยู่ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย (ที่มา : ภัทรพงค์ เพาะปลูก)

 

ลวดลายดุนโบราณบนแผ่นทองจังโกหุ้มพระธาตุศรีดอนคำ มีจารึกอักษรธรรมล้านนาว่า “มูลสัทธาพระมหาสวามีวัดนาพาง  เมืองแพร่  นิพฺพาน  ปจฺจโยโหตุ” (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

นอกจากนี้ตำนานยังมีอิทธิพลทำให้เมืองลองกลายเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ สะท้อนจากปรากฏชื่อพระธาตุของเมืองลองอยู่ในตำนานพระเจ้าตนหลวง เมืองพะเยา ตำนานพระธาตุสบแวน เมืองเชียงคำ ปรากฏในคำไหว้พระบาทพระธาตุที่ใช้ในเชียงใหม่และลำพูน(คำไหว้พระบาทพระธาตุของครูบาเจ้าศรีวิไชย วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน หรือโวหารแผ่กุศลอย่างม่วนที่สืบทอดกันมาของครูบาโสภา โสภโณ วัดท่าโป่ง เมืองเชียงใหม่ ก็ปรากฏชื่อพระธาตุองค์ต่างๆ ของเมืองลองร่วมอยู่ด้วย) หรือปรากฏจารึกคำไหว้พระธาตุเมืองลองร่วมกับพระธาตุประจำปีเกิดที่เมืองฮอด เพื่อ “...ไว้หื้อกุลบุตรทั้งหลาย ได้อ่านได้เรียน ไว้ไหว้ไปทุกค่ำเช้าแลงงาย...” เมื่อพระธาตุในเมืองลองเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง เมืองลองจึงกลายเป็นแหล่งแสวงบุญของผู้คนจากเมืองต่างๆ ได้เข้ามากระทำบุญร่วมกัน เช่น พ.ศ.๒๑๔๒ พระมหาสังฆราชา วัดฟ่อนสร้อย เมืองเชียงใหม่ มาไหว้พระธาตุขวยปู ปูตั้บ แหลมลี่, พระสังฆราชา วัดยอดไชย เมืองแพร่ เจ้าเมืองลองนำสร้างพระธาตุศรีดอนคำพ.ศ.๒๑๖๙, เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองแพร่ พระสังฆราชา วัดร่องน้อย เมืองแพร่ พระหลวงเจ้า พระสังฆราชา วัดดอนไฟ (ปัจจุบันอยู่ในตำบลดอนไฟ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง) เมืองลำปาง ร่วมกันนำสร้างและบูรณะพระธาตุศรีดอนคำในพ.ศ.๒๑๙๓, เจ้าเมืองฝาง เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยร่วมกับเจ้าเมืองลองบูรณะพระธาตุแหลมลี่พ.ศ.๒๑๓๐, เจ้าหลวงวรญาณรังษี เจ้านครลำปาง บูรณะพระธาตุแหลมลี่ พ.ศ.๒๔๐๐, พระครูอาโนชัยธรรมจินดามุนี(ครูบาอาโนไชย) วัดปงสนุกเหนือ บูรณะพระธาตุปูตั้บเมื่อเดือน ๑๑ ขึ้น ๙ ค่ำ พ.ศ.๒๔๐๙ , เจ้าหลวงพิมพิสารราชา เจ้าผู้ครองนครแพร่ทรงขออนุญาตจากเจ้าหลวงพรหมาภิพงษ์ธาดา เจ้าผู้ครองนครลำปางบูรณะพระธาตุปูตั้บเมื่อพ.ศ.๒๔๒๖, เจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง ทรงบูรณะพระธาตุไฮสร้อยพ.ศ.๒๔๕๓, หรือพ.ศ.๒๔๔๖ เจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิตพร้อมพระญาติวงศ์ พ่อเมืองลองทั้ง ๔ แสนท้าวบูรณะพระธาตุขวยปู มีศรัทธา“...ฅนไทเหนือ ชาวไทเชียงตุง ม่าน เงี้ยว ครูบาอาจารย์ พวกยาง สัทธาทัง ๒ คณะ แพ่ น่าน นคอรลัมพาง ละพุน เชียงใหม่ เมืองเถิน ระแหง...” ร่วมกันทำบุญ ดังนั้นด้วยการเป็นเมืองศูนย์กลางการแสวงบุญ กลุ่มราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนโดยเฉพาะเจ้านายเมืองนครลำปางจึงรับรู้สืบต่อกันว่าเมืองลองเป็น “เมืองมหาธาตุ” หรือ “เมืองบรมธาตุ” และเป็นเหตุผลสำคัญที่เจ้าผู้ครองนครลำปางยุคราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ใช้รับรองแต่งตั้ง เจ้าเมืองลองและขุนนางเพื่อให้เป็นผู้นำชาวเมืองทำการอุปฐากรักษาพระธาตุภายในเมืองลอง

 

“ควายคำ” แกะสลักจากหินทราย ตำนานกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นควายคำ  และผูกเรื่องราวเชื่อมโยงกัน ของหมู่บ้าน  วัด  และสถานที่ต่างๆ ในเขตตำบลห้วยอ้อกับตำบลบ้านปิน (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง)

 

แผ่นจารึกอักษรธรรมล้านนาของครูบานันตา(พระครูญาณวิลาศ) พ.ศ.๒๔๔๖ ติดด้านหน้าฐานพระธาตุขวยปู (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๔)

“สักกราชได้ ๑๒๖๕ (พ.ศ.๒๔๔๖) ตัว ปีก่าเหม้า(ปีเถาะ) หมายมีข้านันทาเปนเค้ากับด้วยสิกข์โยมชู่ตนอันเปนสัทธาชู่ฅน พายนอกมีเจ้าบุญวาทย์วงศ์วารมานิต เมืองนคอรลัมปาง แลเจ้าราชบุตร ปุรี(เจ้าบุรีรัตน์) ราชสัมภัร(เจ้าราชสัมพันธวงศ์) เจ้าไชย(เจ้าไชยสงคราม) วังซ้าย(เจ้าวังซ้าย) ครูบาเตชะ ครูบาหน่อแก้ว แม่เจ้าแม่ฅำมาพิง ย่าชองวัณณะ เมืองลองมีพญาวังใน พญาราชสมบัติ พญาประเทศ พ่อเมืองชื่น แสนอินทวิไชย แสนมังคละ แสนวงศ์ แสนเทพมงคล ปู่แสน ปู่ฟู น้อยนันทา หมื่นมหาวงศ์ ท้าวอินท์ ท้าวพัน หมื่นธา ท้าวจันท์ แสนเมืองมา หนานอินทะ หนานฟัก หนานฅำปลิว ปู่ซุย ฅนไทเหนือ ชาวไทเชียงตุง ม่าน(พม่า) เงี้ยว ครูบาอาจารย์ พวกยาง สัทธาทัง ๒ คณะ แพ่ น่าน นคอรลัมปาง ละพูน เชียงใหม่ เมืองเถิน ระแหง(ตาก) ฅนพายในเซิ่งพะดาสมณะพราหมณ์ ฅนพายนอกยิงชายน้อยใหญ่ชู่ฅน ได้มาพร้อมเปนสัทธาส้างพระมหาธาตุเจ้า แลวิหาร กำแพง ได้ฉลองหื้อทานในกองกุสลเยื่องนี้ ได้นำเอาตัวผู้ข้าได้ส้างแลหื้อทานนี้ หื้อพ้นจากทุกข์ หื้อได้เถิงสุขชู่ชาต ตราบต่อเท้าเข้าเถิงนิพพานแท้อย่าคลาดอย่าคลาดีหลี นิจํ ธุวํ”

คำไหว้พระธาตุไฮสร้อย (ยางหอย) เลทากะธาตุ มัทธลุงกัง นะกาลัง กะกุสันธัง อะหัง วันทามิสัพพะทา

 

คำไหว้พระธาตุแหลมลี่ อิมัง มหาปุระติ ปัคคะเต เวนะจะกุตตา อุทธะรา ภิเทยยา เสรัง ธาตุกัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

 

คำไหว้พระธาตุขวยปู อุปปายานิกะ ปัพพะเต ปุเรรัมเม อุททะโรมิ ธาตุง อะหัง วันทามิ สิระสา

 

คำไหว้พระธาตุปูตั้บ (พูทับ) นาคะปุระ ปัญญะเต สะทิเก มะโคหา คัพเพ เสลาธาตุโย ปะติฏฐิตา อะหัง วันทามิ สัพพะทา

 

คำไหว้พระธาตุศรีดอนคำ สุวัณณะจะเร มะโนรัมเม อุรุงคะธาตุง สุปติฏฐิตา ติฏฐวรัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

 

คำไหว้พระธาตุพระกัปป์ (พระกับ) กัปปันนะ กิริสสมิง ปะปัตเต อุตตะมังกะธาตุ หะยังวะระจิตตัง เสฏฐะ วะรัง อะหัง วันทามิ สุระโส

 

คำไหว้พระธาตุพระพิมพ์ มหาชะนะธาตุโย โพธิรุกขะเจติยัง พิมพัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สัพพะโส คันธะกุตติง สิงกุตตะลัง ลังกาทีเป ชมพูทีเป เกศาจุฬามณี ชะนะธาตุโย อะหังวันทามิ สัพพะโส อะหังวันทามิ สัพพะทา

 

พระธาตุเจดีย์ในเมืองลอง เมืองต้า ที่บูรณะบนฐานเดิมหรือสร้างขึ้นใหม่ในยุคทำป่าไม้ช่วง พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นต้นมา

พระธาตุศรีดอนมูล วัดดอนมูล

 

พระเจดีย์วัดบ้านปิน

 

พระธาตุม่อนดอยแก้ว ตำบลต้าผามอก

 

พระเจดีย์บนยอดดอยบ้านอิม(ต้าอิม)

 

พระธาตุเขาควาย วัดต้าม่อน

 

พระเจดีย์วัดสะแล่ง

 

พระเจดีย์บนยอดดอยบ้านต้าแป้น

 

พระธาตุดอยน้อย บ้านปิน

 

พระเจดีย์บนดอยโป่งหมื่น หลังวัดสะแล่ง

 

พระเจดีย์วัดนาจอมขวัญ

 

พระเจดีย์วัดนาหลวง

 

พระเจดีย์วัดทุ่งแล้ง

 

พระเจดีย์วัดดงลาน

 

พระเจดีย์วัดเชตวัน

 

พระธาตุพญาช้างปาน บ้านแม่ปาน

 

พระเจดีย์วัดแม่ลานใต้

 

พระธาตุดอยก๊อ ตำบลวังชิ้น

 

พระเจดีย์วัดสองแควล่าง

การสร้างความเป็นเอกภาพของเมืองลองโดยกำหนดวันขึ้นพระธาตุ การกำหนดวันขึ้น(ไหว้)พระธาตุเป็นการจำกัดผู้คนให้อยู่ในเมืองลองอีกวิธีหนึ่ง เพื่อไม่ให้ออกไปไหว้พระธาตุนอกเมือง ที่ถือว่าหากใครไม่เข้าร่วมพิธีได้กระทำ “ผิดฮีตพ่อฮอยแม่” จึงเป็นการสร้างความรู้สึกร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนเมืองลอง เหตุที่วันขึ้นพระธาตุสำคัญเพราะเป็นวันที่คนทุกชนชั้นของเมืองจะทำบุญร่วมกัน และเป็นวันที่แสดงบุญญาบารมีของเจ้าเมืองกลุ่มผู้ปกครองให้ประจักษ์แก่สายตาไพร่บ้านพลเมือง โดยเฉพาะวันขึ้นพระธาตุแหลมลี่ที่เรียกว่า “ล่องวัดเดือน ๖” หรือ“ล่องสะเปา” กำหนดเป็นคำพูดติดปากคนเมืองลองว่า “เดือนหกแหลมลี่ เดือนยี่ฮ่องอ้อ” วันนี้ทุกหมู่บ้านในเมืองลองต้องเข้าร่วมขาดไม่ได้เพราะเชื่อว่าถ้าหากไม่ล่องวัดเดือนหก “วัดจะเป็นป่า นาจะเป็นเหล่า” โดยเรือข้าวัดบ้านนาหลวงตีฆ้องหลวงนำ เจ้าเมืองลองจะนั่งเรือหลวงเป็นองค์ประธานพร้อมเครือญาติและขุนนาง ตามด้วยเรือขบวนปราสาทเครื่องไทยทานหัววัดต่างๆ ฟ้อนรำแห่ล่องตามแม่น้ำยมไปไหว้พระธาตุแหลมลี่ ดังปรากฏลำดับพิธีในล่องวัดเดือน ๖ ว่า การเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมของเจ้าเมืองลอง จึงแสดงถึงการสนับสนุนความเชื่อความศรัทธาของชาวเมือง ที่มีความสำคัญต่อความเชื่อและประเพณีของบ้านเมือง ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมของเจ้าเมืองและกลุ่มผู้ปกครอง ที่เชื่อมโยงกับผีเมืองซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเจ้าเมืองลอง ดังต้องมีการแห่เครื่องไทยทานไปบอกกล่าวอัญเชิญผีบ้านผีเมืองที่โฮงไชย(ศาล)ตามจุดต่างๆ ให้รับรู้และเข้าร่วมทำบุญกับชาวเมือง ด้วยความสำคัญของประเพณีขึ้นพระธาตุในเมืองลอง ดังนั้นตำนานพระธาตุแหลมลี่จึงกำหนดวันขึ้นพระธาตุไว้ชัดเจนว่า “...จักมาไหว้นบสักกระปูชาบ่ขาดทุกเดือน ๖ เพง...” ซึ่งวันขึ้นพระธาตุแหลมลี่นั้นตรงกับวันขึ้นพระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ พระธาตุแช่แห้ง เมืองน่าน และพระธาตุดอยตุง เมืองเชียงราย, พระธาตุขวยปูและพระธาตุปูตั้บตรงกับขึ้นพระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุวัดหัวข่วง เมืองแพร่ และพระธาตุหนองจันทร์ เมืองสอง และพระธาตุศรีดอนคำตรงกับขึ้นพระธาตุลำปางหลวง เมืองลำปาง ฯลฯ นอกจากประเพณีขึ้นพระธาตุองค์ต่างๆ แล้ว วัดพระธาตุศรีดอนคำยังมีประเพณีที่ปฏิบัติมาตั้งแต่พญาชื่นสมบัติ เจ้าเมืองลอง(พ.ศ.๒๓๑๘) ได้สถาปนาให้เป็นวัดหลวงกลางเมืองลอง คือให้ชาวเมืองได้ตักบาตรและทำบุญร่วมกันภายในวัดทุกวันพระ(ขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ หรือดับ ๑๔ ค่ำ)โดยจะกระทำตลอดทั้งปี และประเพณีนี้ยังปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้ปริมณฑลส่วนนี้เป็นศูนย์กลางของการปกครองและศูนย์กลางทางพุทธศาสนาของเมืองลองควบคู่กันไป

พระธาตุศรีดอนคำและวิหารหลวงหลังเก่า (ที่มา : ตำนานเมืองเหนือ)

 

พระธาตุแหลมลี่

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•จันทร์•ที่ 27 •สิงหาคม• 2012 เวลา 10:05 น.• )