ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๘ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต การสร้างเอกภาพในระบบโลกจักรวาลทัศน์ของเมืองลอง ระบบจักรวาลทัศน์ของล้านนา คลี่คลายสืบเนื่องมาจากคติพราหมณ์และพุทธเรื่องชมพูทวีปเป็นศูนย์กลางจักรวาลของอินเดีย อันมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง มีทวีปใหญ่ทั้ง ๔ และทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีปเป็นบริวาร เมื่อสร้างบ้านแปลงเมืองหรืออาณาจักรจึงจำลองจักรวาลน้อยใหญ่ให้เกิดขึ้นภายในชุมชนนั้นๆ โดยสร้างศูนย์กลางชุมชนให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นปริมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์รวมความเชื่อของคนภายในชุมชน เมืองลองก็ปรากฏการสร้างจักรวาลทัศน์ขึ้นเช่นกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ปรากฏจักรวาลทัศน์ทางพุทธเท่านั้น ยังปรากฏจักรวาลทัศน์ผีซ้อนครอบอีกชั้นหนึ่ง

ระบบความคิดเรื่องมีตัวตนและการจัดแบ่งพื้นที่ของเมืองลอง เมืองลองมีหน่วยการควบคุมคนในสังคมเริ่มจากหน่วยขนาดเล็กที่สุด คือ เรือน แต่ละเรือนอาจมีหลังเดียวหรือหลายหลังตั้งบนพื้นที่ว่างในรั้วเดียวกันเรียกว่าข่วงบ้าน กลุ่มเรือนหลายหลังรวมเป็นพ้งบ้าน หลายพ้งบ้านรวมเป็นหมู่บ้าน หลายหมู่บ้านรวมเป็นแคว้น และหลายแคว้นรวมกันเป็นเมือง ทุกหน่วยมีความเชื่อเรื่องมีชีวิต ตัวตน และจิตวิญญาณกำกับอยู่เสมอ โดยเมื่อมนุษย์เข้าไปอยู่อาศัยหรือเป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลนั้นๆ จึงใช้ตัวเองเป็นต้นแบบความคิด ซึ่งแต่ละหน่วยผู้อยู่อาศัยก็มีมโนทัศน์แบ่งออกเป็นส่วน “หัว” “กลาง” และ“หาง” หรือ “ตีน” เช่น หัวเรือน กลางเรือน หางเรือน หรือ หมู่บ้านที่มีหลายกลุ่มเครือญาติและถือผีปู่ย่าหลายสายตระกูลตั้งรวมกัน ผู้ปกครองมักเป็นคนในหมู่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองลองเป็น “หมื่น” “ท้าว” หรือ “แสน” ก็จัดแบ่งออกเป็นหัวบ้าน กลางบ้าน(ท้องบ้าน) และหางบ้าน(ตีนบ้าน) การจัดแบ่งศักดิ์พื้นที่นำมาสู่การใช้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม โดยหน่วยการปกครองขนาดย่อยทั้งหมดเหล่านี้เป็นเสมือนทวีปเล็กทวีปน้อยที่รวมกันอยู่ภายใต้จักรวาลเมืองลอง มีรายละเอียดของแต่ละหน่วยดังนี้ คือ

เรือนเป็นหน่วยการปกครองขนาดเล็กที่สุด ผู้ปกครองเรือนเรียกว่า พ่อเรือน แม่เรือน ความเชื่อปริมณฑลของเรือนปรากฏในยันต์หัวเสาทั้ง ๔ หรือ ๘ ทิศ และแต่ละส่วนของเรือนมีศักดิ์จึงจัดแบ่งใช้สอยพื้นที่ภายในเรือน เช่น บริเวณหัวเรือนในห้องนอนมีหิ้งผีปู่ย่าเป็นพื้นที่หวงห้ามเฉพาะคนภายในเรือนมีห้ามยนต์(หำยนต์)และข่มประตูเป็นสัญลักษณ์ขอบเขต หากมีการล่วงละเมิดถือว่าผิดผีต้องเสียผีเป็นการปรับไหม กลางเรือนมีเติ๋นรับรองแขก หางเรือนเป็นครัวไฟ(ห้องครัว)ที่มีกาทำอาหารและชะล้างสิ่งต่างๆ มี “ขี้หม่า” แอ่งน้ำขังและใต้ถุนเรือนเป็นที่เลี้ยงสัตว์ เป็นพื้นที่เกิดความสกปรกได้ง่าย การอยู่เรือนหลังเดียวกันนำมาสู่การนิยามว่า “คนร่วมหอร่วมเรือน” หรือ “คนเรือนเดียวกัน”

 

เรือนไม้รุ่นเก่าของชาวบ้านนาหลวง ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง (ที่มา : พระปลัดสมบูรณ์  สิริวณฺโณ, ๒๕๕๒)

ข่วงบ้าน หมายถึงอาณาบริเวณที่ปลูกเรือน บางครั้งอาจมีเรือน ๒ – ๓ หลังตั้งบริเวณข่วงบ้านเดียวกัน ผู้อาศัยจะรู้ขอบเขตปริมณฑลของตนเอง ดังมีคำสอนเกี่ยวกับการจัดการขอบเขตของข่วงบ้านว่า “ขด(รั้ว)ออกแพ้เจ้า ขด(รั้ว)เข้าแพ้ของ” โดยจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกตามศักดิ์ เช่น บริเวณหน้าเรือนจะทำความสะอาดทุกเช้า เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ต้อนรับแขก หรือทำงานในยามว่าง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศเหนือ หรือทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งตูบผีเจ้าที่หรือเสาท้าวทั้งสี่ หลังเรือนเป็นที่ปลูกผักสวนครัว(สวนฮี้)และเลี้ยงสัตว์

เรือนไม้รุ่นเก่าของชาวบ้านเกี๋ยงพา ตำบลต้าผามอก เรือนหลังนี้สร้างเมื่อพ.ศ.๒๔๙๗ (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๕๐)

พ้งบ้าน เปรียบได้กับหมวด เขต หรือคุ้มในปัจจุบัน เป็นกลุ่มเรือนที่ตั้งใกล้กันและมักเป็นเครือญาติหรือถือผีปู่ย่าสายตระกูลเดียวกัน มีผู้อาวุโสหรือผู้มีความรู้ เช่น เก๊าผี ปู่จ๋ารย์ เป็นผู้ปกครองไม่เป็นทางการ แต่ละพ้งบ้านมีผีเป็นที่นับถือของกลุ่มตน เช่น โฮงไชยผีปู่ย่า ผีเตาเหล็ก ผู้อาศัยอยู่ภายในพ้งบ้านจะรู้ขอบเขตปริมณฑลของตนและจะเรียกชื่อแต่ละพ้งบ้านตามทิศ ลักษณะพื้นที่ หรือสัญลักษณ์สำคัญ เมื่อพ้งบ้านมีจำนวนคนมากขึ้นก็สามารถแยกออกเป็นหมู่บ้านขึ้นใหม่ได้ในที่สุด พ้งบ้านเป็นหน่วยแบ่งทำกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน การเป็นเครือญาติช่วยเหลือเกื้อกูลกัน“พริกมีเรือนเหนือ เกลือมีเรือนใต้ หมากคำพลูใบ หกไปเรือนพี่เรือนน้อง” นำมาสู่การนิยามว่า “คนพ้งเดียวกัน” หรือ “ถือผีเดียวกัน”

ลักษณะพ้งบ้านที่บ้านปากจอก ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น (ที่มา : arch-and-i.blogspot.com)

หมู่บ้าน “บ้าน” หรือ “หมู่บ้าน” ในความหมายนี้เป็นหน่วยแบบโบราณ ไม่ได้หมายถึงหมู่บ้านที่แบ่งตามกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหมู่บ้านแบบจารีตในอดีตอาจหมายถึง ๒ - ๓ หมู่บ้านในปัจจุบันขึ้นไปรวมกัน เช่น บ้านห้วยอ้อในอดีตคือ บ้านนาม้อ หมู่ที่ ๗, บ้านดอนทราย หมู่ที่ ๘, บ้านห้วยอ้อ หมู่ที่ ๙, บ้านข่วงเปา หมู่ที่ ๑๐ และบ้านดอนมูล หมู่ที่ ๑๑ หรือ บ้านนาตุ้มในอดีตคือ คือ บ้านนาตุ้ม หมู่ที่ ๑, บ้านนาตุ้ม หมู่ที่ ๒, บ้านนาตุ้ม(ทุ่งเจริญ) หมู่ที่ ๓ และบ้านนาตุ้ม หมู่ที่ ๙ เป็นต้น ภายในหมู่บ้านหนึ่งจะมีหลายกลุ่มเครือญาติและถือผีปู่ย่าหลายสายตระกูลตั้งรวมกัน ผู้ปกครองมักเป็นคนในหมู่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองลองเป็น “หมื่น” “ท้าว” หรือ “แสน” แล้วแต่ความใกล้ชิดกับเจ้าเมือง ความรู้ความสามารถ ขนาด และความสำคัญของพื้นที่ปกครอง ชาวบ้านเรียกผู้ปกครองหมู่บ้านว่า พ่อเฒ่าบ้าน พ่อหลวง แก่บ้าน ปู่หลัก หรือปู่ก๊าง และเรียกภรรยาว่าแม่หลวง จัดแบ่งหมู่บ้านออกเป็นหัวบ้าน กลางบ้าน(ท้องบ้าน) และหางบ้าน(ตีนบ้าน) ดังปรากฏในจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานของหัววัดต่างๆ ในเมืองลองว่า “...กัญจนภิกขุแลเขียนปางเมื่ออยู่โชตกะสาสนากับสวาธุเจ้าอินทวิไชยสามิการามวัดสรีดอนมูล หางบ้านฮ่องอ้อ วันนั้นแล...” การจัดแบ่งศักดิ์พื้นที่นำมาสู่การใช้ประโยชน์ เช่น หัวบ้านเป็นที่ตั้งตูบผีเจ้าบ้าน กลางบ้านเป็นที่ตั้งวัด หางบ้านเป็นป่าช้า ผู้อาศัยภายในหมู่บ้านจะนิยามตัวตนว่า “คนบ้านเดียวกัน” “ตีนจองรองวัดเดียวกัน” หรือ “ศิษย์ร่วมหัววัดเดียวกัน” เป็นต้น

แคว้นรวมหลายหมู่บ้านเข้าไว้ด้วยกัน แต่เมืองขนาดเล็กอาจรวมหลายหมู่บ้านขึ้นเป็นเมือง เช่น เมืองต้า เมืองตีบ แคว้นจะแบ่งตามหมวดอุโบสถเป็นหลัก ผู้ปกครองแคว้นเจ้าเมืองลองแต่งตั้งให้กินตำแหน่ง “แสน” แคว้นเกิดจากการรวมกันของหมู่บ้านแบบหลวมๆ ไม่ปรากฏเป็นตัวตนชัดเจน แต่มีบางแคว้น เช่น แคว้นหัวทุ่ง มีบ้านหัวทุ่งอยู่หัวแคว้นและบ้านหางทุ่ง(บ้านทุ่งเจริญ)อยู่หางแคว้น การใช้อุโบสถหรือใช้ฝายร่วมกัน จึงนำมาสู่การนิยามตัวตนว่า “คนแคว้นเดียวกัน” “ศิษย์หมวดอุโบสถเดียวกัน” หรือ “คนใช้น้ำฝายเดียวกัน” เป็นต้น

เมือง คือรวมหน่วยการปกครองทั้งหมดข้างต้นเข้าไว้ด้วยกัน “เจ้าเมือง” เป็นศูนย์กลางและมีอำนาจสูงสุดภายในเมือง คติการมีชีวิต ตัวตน และจิตวิญญาณมีความสำคัญต่อความเป็นเมือง ดังกลุ่มไทยอาหมเมื่อสร้างเมืองก็กำหนดตำแหน่งหัวเมืองกับหางเมืองไว้เป็นอันดับแรก เมื่อเมืองมีชีวิตมีตัวตนจึงนำมาสู่การจัดแบ่งศักดิ์ของปริมณฑลภายในเมือง อันนำมาสู่การจัดการใช้พื้นที่ที่เชื่อมโยงอำนาจเหนือธรรมชาติกับอำนาจของเจ้าผู้ปกครองเมืองให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งในเมืองลองสามารถแบ่งคติตัวตนของเมืองได้ ๒ ช่วง คือ

(๑) แบ่งโดยใช้ปริมณฑลของเวียง เมืองลองรุ่นแรก(บ้านไฮสร้อย) หัวเวียงเป็นที่ตั้งของวัดหลวงหัวเวียง(วัดหัวข่วง) โฮงไชยผีเมือง(พ่อเฒ่าหลวง,แม่นางแก้ว) ถัดลงมาเป็นข่วงสนามหลวง กาดหลวง คุ้มหลวงเจ้าเมืองและญาติวงศ์ กลางเวียงเป็นที่ตั้งวัดมหาธาตุกลางเวียง(วัดพระธาตุไฮสร้อย) มีพระธาตุไฮสร้อยเป็นสะดือเมืองหรือศูนย์กลางจักรวาลเมืองลอง ซ้อนทับอยู่กับไม้ใจเมือง(ไม้ไฮสร้อย)ที่เป็นศูนย์กลางตามความเชื่อผีดั้งเดิมอยู่ภายในวัด และมีวัดบริวารอยู่สี่มุมเมือง คือ วัดหัวเวียง(วัดหัวข่วง) ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ วัดพระธาตุแหลมลี่ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ วัดม่อนโบสถ ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ วัดโกนหลวง ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หางเวียงเป็นที่ตั้งชุมชน นอกเวียงทิศใต้เป็นป่าช้าและแดนประหาร แสดงถึงการจัดลำดับศักดิ์พื้นที่และคติจักรวาลเมืองลองอย่างชัดเจน ส่วนเมืองลองรุ่นที่ ๒ (บ้านนาหลวง พ.ศ.๒๐๓๐ - พ.ศ.๒๓๑๘) ยังจัดแบ่งพื้นที่ภายในเวียงคล้ายยุคแรก คือ มีวัดหลวงหัวเวียง(วัดหัวข่วง) และมีวัดสะแล่งแก้วดอนมูล(วัดสะแล่ง)เป็นวัดอรัญวาสีอยู่มุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ต้นไทรย้อย หรือ ไม้ไฮสร้อย (ที่มา : ภูเดช  แสนสา, ๒๕๔๙)

 

วัดสะแล่งมีด้านหลังเป็นภูเขาด้านหน้าเป็นทุ่งนา (ที่มา : ประไพ วิบูลยศรินทร์)

(๒) แบ่งโดยใช้ปริมณฑลของเมือง เมืองลองช่วงที่ ๓ (บ้านห้วยอ้อ พ.ศ.๒๓๑๘ – ๒๔๔๒) ไม่มีการสร้างเวียงเป็นศูนย์กลางการปกครอง จึงแบ่งปริมณฑลของทั้งเมืองลองออกเป็นหัวเมือง กลางเมือง และหางเมือง คือ

แผนที่แสดงเวียงลองยุคแรก(บ้านไฮสร้อย)  (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - พ.ศ.๒๐๒๐)

หัวเมือง ตั้งแต่บ้านเค็ม(ตำบลหัวทุ่ง) บ้านนาจอมขวัญ บ้านนาหลวง(ตำบลห้วยอ้อ) บ้านปิน ถึงบ้านนาสาร(ตำบลบ้านปิน) ไปติดเขตแดนเมืองต้าที่หนองอ้อ

กลางเมือง ตั้งแต่บ้านนาไผ่ บ้านนาม้อ บ้านแม่ลาน(ตำบลห้วยอ้อ) ถึงบ้านแม่จอก บ้านหัวทุ่ง บ้านนามน(ตำบลหัวทุ่ง) บ้านวังเคียน บ้านไฮสร้อย บ้านหาดทรายคำ(ตำบลปากกาง)

พระธาตุศรีดอนคำและต้นไม้สักเลาคำที่อยู่ด้านทิศใต้ (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๗)

หางเมือง ตั้งแต่บ้านนาอุ่นน่อง(ตำบลหัวทุ่ง) บ้านนาตุ้ม(ตำบลบ่อเหล็กลอง) บ้านปากจอก บ้านทุ่งแล้ง(ตำบลทุ่งแล้ง) ลงไปติดเขตแดนเมืองเถิน และห้วยวังลึกเขตต่อแดนเมืองศรีสัชนาลัย เมื่อจัดแบ่งปริมณฑลเมืองลองโดยมีเทือกเขาสูงล้อมรอบเป็นกำแพงจักรวาล พื้นที่ทั้ง ๓ ส่วนได้ถูกใช้ตามศักดิ์ คือ หัวเมือง เป็นที่ตั้ง “วัดปิ่นลอง”(บ้านปิน) วัดหลวงหัวเมือง และ “วัดนาหลวง” วัดอรัญวาสี

พระเจ้าแสนตอง วัดต้าแป้น (ที่มา : วัดต้าแป้น ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง)

กลางเมือง แบ่งออกเป็นชั้นในและชั้นนอก กลางเมืองชั้นในคือปริมณฑลบ้านห้วยอ้อ เป็นที่ตั้ง “วัดหลวงฮ่องอ้อ” วัดหลวงกลางเมือง มีพระธาตุศรีดอนคำเป็นพระมหาธาตุกลางเมือง และเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าแก้ว” หรือ “พระแก้วดอนคำ” พระพุทธรูปประจำเมืองลอง ทิศใต้วัดเป็นกาดเมือง(กาดหมั้ว) ไม้ใจเมือง(ต้นสักเลาคำ) และโฮงไชยผีเจ้าเลาคำ ผีอารักษ์รักษากลางเมืองชั้นใน ถัดไป(บ้านดอนทราย)เป็นที่ตั้งโฮงไชย(คุ้ม)เจ้าเมืองและเรือนเครือญาติ ทิศตะวันออก(บ้านคอกช้าง)เป็นเพนียดและโรงช้างของเจ้าเมือง ทิศตะวันตกเฉียงใต้(บ้านดอนทราย)เป็นที่ตั้งโฮงไชยผีบรรพบุรุษ(ผีปู่ย่า)ของเจ้าเมือง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ(ม่อนก๊อก)เป็นป่าช้าของเจ้าเมืองและมหาครูบาหลวงเมือง ทิศใต้ปลายเขตกลางเมืองชั้นในเรียกว่า “ป่าดำ” หรือ “ป่ามะตัน” (บริเวณทิศใต้ของป่าช้าบ้านห้วยอ้อในปัจจุบัน)เป็นแดนประหารและป่าช้า ส่วนกลางเมืองชั้นนอกเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านทั่วไป

โฮงไชย(ศาล)ผีพญาช้างปานในปัจจุบัน ที่บ้านดอนทราย ผีบรรพบุรุษ(ผีปู่ย่า)ของเจ้าเมืองลอง  (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

หางเมือง เป็นจุดศูนย์กลางความเชื่อผีเมืองและเป็นที่ตั้ง “วัดหลวงนาตุ้ม” วัดหลวง หางเมือง ปริมณฑลหางเมืองมีอาณาบริเวณกว้างขวางมากที่สุดจึงให้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของผู้คนอพยพมาจากต่างเมือง ส่วนเมืองต้าเมืองขึ้นของเมืองลองก็ปรากฏความเชื่อเรื่องตัวตนของเมือง มีการจัดแบ่งปริมณฑลเมืองโดยใช้พระพุทธรูป คือ พระเจ้าแสนตอง เป็นพระเจ้าตนน้องไว้หัวเมืองต้า(วัดสบปุง ตำบลเวียงต้า) พระเจ้าล้านตื้อ เป็นพระเจ้าตนพี่ไว้หางเมืองต้า(วัดน้ำริน ตำบลต้าผามอก) เมื่อเมืองลองได้สร้างความเป็นตัวตนทางกายภาพแล้ว ขณะเดียวกันก็มีการสร้างตัวตนของเมืองลองในจินตภาพซ้อนทับอีกชั้นหนึ่ง

แผนที่แสดงส่วนต่างๆ ของปริมณฑลเมืองลองพ.ศ.๒๓๑๘ – ๒๔๔๒

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 21 •สิงหาคม• 2012 เวลา 11:44 น.• )