ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๔ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต การสร้างบ้านแปลงเมืองลองและเมืองบริวารในแอ่งลอง - วังชิ้น “เมือง” คือ หลายชุมชนหรือหลายหมู่บ้านรวมตัวกันอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำที่เรียกว่า “เจ้าฟ้า” หรือ “เจ้าเมือง” อาณาเขตของเมืองไม่มีความแน่นอนขึ้นอยู่กับอำนาจที่เข้มแข็งของเจ้าผู้ปกครองในแต่ละช่วงเวลาจะแผ่ครอบคลุมถึง  ตลอดจนได้รับความ “เชื่อศรัทธา” และการยอมรับอำนาจจาก “ไพร่ฟ้าข้าเมือง” ผู้อยู่ใต้การปกครองเป็นสำคัญ  เมื่อชุมชนได้พัฒนาขึ้นเป็นเมืองมีโครงสร้างสลับซับซ้อนอันประกอบด้วยเป็นศูนย์กลางการปกครอง  การค้า  และจิตวิญญาณ  ที่เชื่อมสัมพันธ์เกาะเกี่ยวกันอยู่ในรูปของเครือญาติ  เจ้านาย  ไพร่ข้า  ความเป็น “เมือง” จึงซ้อนทับกันอยู่ระหว่าง  “เมืองทางกายภาพ”  กับ  “เมืองทางจิตวิญญาณ”

รูป ที่ราบในแอ่งลอง – วังชิ้น ถ่ายจากพระธาตุดอยน้อย บ้านปิน ภูเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแอ่ง (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

 

รูป แอ่งที่ราบและลักษณะการตั้งชุมชนในแอ่งลำพูน แอ่งลำปาง และแอ่งลอง – วังชิ้น (ที่มา : ศิลปกรรมท้องถิ่นทางพุทธศาสนาในเขตอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง)

 

รูป ศาลเจ้าพ่อช้างปู้กล่ำงาเขียว ที่โรงเรียนลองวิทยา ตำบลห้วยอ้อ (ที่มา : ภูวดล แสนสา, ๒๕๕๔)

สันนิษฐานว่าผู้มีบทบาทชักนำให้สร้างเมืองลองคือ “เจ้ามโนฤาษี” ดอยตากฟ้า ดังกลุ่มผู้ปกครองจากเมืองเขลางค์นครต้องผ่านกิ่วระสีที่พักเจ้ามโนฤาษีก่อนลงมาสร้างเมืองลอง   เพราะสภาพขณะนั้นฤาษีได้ติดต่อกับภายนอกมีความรู้มากกว่าผู้อื่นในฐานะผู้นำชุมชน เมืองโบราณจึงมีฤาษีเป็นผู้นำสร้างขึ้น ดังสุเทวฤาษี ดอยอ้อยช้าง(สุเทพ)สร้างเมืองหริภุญไชย สุพรหมฤาษี ดอยเขลางค์(เขางาม)สร้างเมืองเขลางค์นคร หรือตุงคฤาษี สร้างเมืองเชียงตุง ซึ่งภายหลังเจ้ามโนฤาษีได้รับสถาปนาขึ้นเป็นผีอารักษ์แดนเมืองของเมืองลองกับเมืองนครลำปาง การขยายตัวเข้าครอบคลุมลุ่มน้ำแม่วัง ลุ่มน้ำยมของแคว้นหริภุญไชยและมีการเคลื่อนย้ายติดต่อกันอย่างสืบเนื่อง สะท้อนในหลากหลายตำนานของเมืองลำพูน เมืองลำปาง และเมืองลอง ที่นิยมกล่าวถึงพระนางจามเทวีเคยเสด็จไปตามสถานที่ต่างๆ หรือมีความเชื่อเรื่องช้างปู้กล่ำงาเขียวช้างคู่บารมีของพระนางจามเทวีของทั้ง ๓ เมือง และชาวเมืองลองถือว่าศูนย์กลางของผีเมืองลองยังอยู่ที่เมืองลำพูนจนถึงปัจจุบัน

การขยายตัวในแนวตะวันออกสู่ลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำยมของแคว้นหริภุญไชย รับกับหลักฐานทางโบราณคดีและตำนาน คือ ผังเวียงคล้ายรูปหอยสังข์ของเมืองลำพูน เมืองลำปาง เมืองเถิน เมืองลอง และเมืองแพร่   ก่อนพญามังรายทรงผนวกแคว้นหริภุญไชยเข้ากับแคว้นโยนกขึ้นเป็นอาณาจักรล้านนาในพ.ศ.๑๘๓๙ เจ้าเมืองลำปางและเจ้าเมืองแพร่ก็เป็นเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์ลำพูน  สันนิษฐานว่าเมืองลองในแอ่งลอง - วังชิ้นที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างแอ่งลำปางและแอ่งแพร่ได้สร้างขึ้นก่อนเมืองแพร่ เพราะเป็นรูปแบบนิยมกระทำของผู้ปกครองในยุคจารีตที่ค่อยสร้างเมืองเล็กเมืองน้อยขยายออกไปให้ไกลราชธานีออกเป็นชั้นๆ ตามคติจักรวาล ซึ่งเมืองแพร่เริ่มปรากฏตัวตนในตำนานที่ชัดเจนตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ดังนั้นเป็นไปได้สูงว่าตอนกลางแอ่งลอง - วังชิ้นอย่างช้าในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (พ.ศ.๑๖๐๑ – ๑๗๐๐) ได้สร้างบ้านแปลงเมืองลองขึ้นแล้ว

ขณะเดียวกันด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น ป้องกันกลุ่มคนทรัพย์สินให้ปลอดภัย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ตลอดถึงเพื่อความเชื่อ เช่น กำหนดขอบเขตให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แสดงสถานะอำนาจบารมีของเจ้าผู้ปกครอง จึงเกิดการสร้าง “เวียง” ที่มีขอบเขตแน่นอนโดยขุดคูน้ำก่อคันดินหรืออิฐล้อมรอบขึ้นภายในเมือง เวียงแต่ละแห่งจึงมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป เช่น เวียงศูนย์กลางการปกครอง เวียงที่ประทับของเจ้าผู้ปกครอง เวียงหน้าด่าน เวียงทางศาสนาหรือเวียงพระธาตุ ฯลฯ ดังนั้นบางเมืองจึงสร้างเวียงขึ้นหลายแห่งเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ โดยเฉพาะเมืองหลวง เมืองขนาดใหญ่ หรือเมืองสำคัญ

การสร้างเวียงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อผู้คนที่อาศัยรวมตัวกันเป็นเมือง ดังสะท้อนในความเชื่อของคนบริเวณแอ่งลอง - วังชิ้นสืบมาว่าถ้าเมืองไหนไม่สร้างเวียงเป็นขื่อบ้านขื่อเมือง เมื่อผีปู่กลิ้งหล้อง(กลิ้งโลงศพ)มาดูแล้วไม่เห็นจะลงมากินคนในบ้านเมืองนั้น จากลักษณะทางกายภาพของแอ่งลอง - วังชิ้นที่วางตัวทอดยาวในแนวเหนือ-ใต้ต่อขึ้นมาจากเมืองเถิน เมืองหน้าด่านด้านใต้ของอาณาจักรล้านนา บรรดาเมืองต้า เมืองลอง และเมืองตรอกสลอบที่ตั้งตามแนวนี้ จึงเป็นเมืองชายแดนหรือเมือง  กันชนให้กับหัวเมืองชั้นในและราชธานีพระนครเชียงใหม่ ดังในพ.ศ.๒๒๐๓ สมเด็จพระนารายณ์(กษัตริย์อยุธยา พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) ยกทัพขึ้นมาตีพระนครเชียงใหม่ เมื่อยึดได้เมืองเถิน เมืองลำปาง ก็เข้าตีเมืองลอง เมืองต้า ดังนั้นเพื่อเป็นแนวป้องกันข้าศึกและหลบภัยให้ชาวเมืองจึงได้สร้างขึ้นเป็นกลุ่มเวียงต่างๆ เมืองลองนั้นมีการก่อคันดินขุดคูน้ำสร้างเป็นเวียงขึ้นจำนวน ๕ เวียง แบ่งตามหน้าที่ออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ

(๑) เวียงศูนย์กลางการปกครอง ได้แก่ เวียงลอง(เวียงเชียงจืน)

(๒) เวียงบริวารหรือเวียงหน้าด่าน ได้แก่ เวียงเหล่าเวียง เวียงลัวะ และเวียงปงเหล่ารัง(เวียงแม่บงเหนือ)

(๓) เวียงพระธาตุ ได้แก่ เวียงพระธาตุแหลมลี่

 

(๑) เวียงศูนย์กลางการปกครอง เวียงลอง หรือ เวียงเชียงจืน(บ้านไฮสร้อย ตำบลปากกาง อำเภอลอง) ตั้งอยู่กึ่งกลางแอ่งเป็น  เวียงศูนย์กลางการปกครองของเมืองลอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ (พ.ศ.๑๖๐๑ – ๑๗๐๐)  ตัวเวียงเป็นรูปคล้ายหอยสังข์ ขนาดกว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร

กำแพงคูน้ำทั้งสี่ชั้น กว้าง ๕๗.๗๐ เมตร

กำแพงชั้นนอก สูง ๕ เมตร กว้าง ๙ เมตร

กำแพงถัดจากชั้นนอก สูง ๕ เมตร กว้าง ๗.๘๐ เมตร

กำแพงถัดจากชั้นใน สูง ๕ เมตร กว้าง ๓.๕๐ เมตร

กำแพงชั้นใน สูง ๕ เมตร กว้าง ๙ เมตร

คูน้ำชั้นนอก กว้าง ๖.๘๐ เมตร

คูน้ำชั้นกลาง กว้าง ๓ เมตร

คูน้ำชั้นใน กว้าง ๘.๖๐ เมตร

รูป สภาพของกำแพงและคูน้ำของเวียงลองด้านทิศตะวันตกในปัจจุบัน (ที่มา : พระครูพิศาลอรรถกิจ)

 

รูป ทุ่งข้าวสาร อยู่ด้านนอกติดกับประตูหัวเวียง มีตำนานเล่าถึงชื่อทุ่งนานี้ว่าอดีตเป็นที่ตั้งรับข้าศึกที่เข้ามาโจมตีเมืองลอง คนภายในเวียงลองจะนำข้าวสารและเสบียงอาหารออกมาส่งให้เหล่านักรบที่ตั้งอยู่บริเวณนี้ (ที่มา : พระครูพิศาลอรรถกิจ)

ร่องคูน้ำลึกลงเรื่อยๆ และลึกที่สุดในกำแพงชั้นใน ด้านทิศตะวันออกใช้แม่น้ำยมและด้านทิศใต้ใช้ห้วยแม่ลองที่ไหลอ้อมเวียงมาจากด้านทิศตะวันตกเป็นปราการธรรมชาติ จากการสำรวจของผู้เขียนพบว่าด้านตะวันออกของเวียงคือหน้าวัดพระธาตุไฮสร้อย เป็นตลิ่งสูงชันลงสู่แม่น้ำยมประมาณ ๑๐๐ เมตร  แม่น้ำยมที่ผ่านหน้าเวียงเรียกว่า “วังต๊ะครัว” ไหลหักโค้งเป็นวังน้ำวนใต้น้ำลึกและเชี่ยวเป็นพื้นทรายมีความกว้างประมาณ ๑๕๐ เมตร ส่วนห้วยแม่ลองปราการด้านทิศใต้ของเวียง ลึก ๑๓.๓๐ เมตร กว้าง  ๕๐.๗๐ เมตร

รูป พระธาตุไฮสร้อยก่อด้วยศิลาแลง (ที่มา : วัดพระธาตุไฮสร้อย, ถ่ายก่อนพ.ศ.๒๕๓๕)

รูป ห้วยแม่ลองช่วงที่ไหลผ่านเวียงลอง (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๖)

รูป หัวบัวสำริดสวมปลายซี่รั้วล้อมพระธาตุขุดพบในวัดโกนหลวง (ร้าง) (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

รูป ผางประทีป(ตะคัน) สำริด ของวัดพระธาตุไฮสร้อย (ที่มา : วัดพระธาตุไฮสร้อย, ๒๕๕๓)

มีการชักน้ำจากลำห้วยแม่ฮ่องมอก(ห้วยหางมอก)ที่ติดกำแพงเวียงด้านเหนือเข้ามาใช้ในคูเวียง อีกทั้งลำห้วยนี้ได้ไหลโอบล้อมเวียงเป็นปราการธรรมชาติด้านทิศเหนืออีกชั้นหนึ่ง   เวียงลองมี ๒ ปะตู คือ ประตูหัวเวียง ด้านทิศเหนือ และประตูโกนหลวง ด้านทิศตะวันตก เวียงลองในยุคแรกมีผลผลักดันจากระบบการค้าระดับภูมิภาคขยายตัว การเลือกชัยภูมิตั้งเวียงขึ้นใกล้แม่น้ำสายหลักจึงเหมาะสมที่สุด สันนิษฐานว่าแต่เดิมกำแพงมีเพียง ๑ - ๒ ชั้น และก่อสร้างเพิ่มเป็น ๔ ชั้นในสมัยพญาเป็กขะจา(พญาหูหิ้น) เจ้าเมืองลอง ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช  การสร้างเวียงอย่างมั่นคงแน่นหนาขึ้นในช่วงนี้ นอกจากเพื่อเป็นศูนย์กลางการควบคุมเวียงต่างๆ ภายในแอ่งลอง ยังแสดงถึงวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวียงหน้าด่านอันเข้มแข็ง ตั้งรับข้าศึกด้านตะวันออกของอาณาจักรล้านนา เพราะจากเวียงลองในด้านทิศตะวันออกข้ามดอยแปเมืองและดอยเขาพลึง ก็จะประจัญหน้ากับเมืองทุ่งยั้งและเมืองพิชัย เมืองหน้าด่านของอาณาจักรอยุธยา โดยมีพระบรมไตรโลกนาถขึ้นมาบัญชาการอยู่ที่เมืองพิษณุโลก(พ.ศ.๒๐๐๖)

ดังนั้นเวียงลองจึงเป็นเวียงศูนย์กลางของเมืองลองที่คอยรับศึกเส้นทางนี้ คู่กับเมืองเถินตั้งรับข้าศึกที่ยกขึ้นมาทางเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งบริเวณวัดโกนหลวง(วัดหนองสระน้ำเส้า หรือวัดม่วงคำ) ตั้งอยู่นอกมุมเวียงลองทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ยังพบอุโมงค์ใต้ดินก่อด้วยอิฐหน้าวัวยาวประมาณ ๓๐ เมตร ลาดชันเข้าไปใต้พระวิหารหลวงและพระธาตุ สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่หลบลี้ภัยของเจ้านายและพระสงฆ์ที่อาศัยภายในเวียงลอง

รูป ปากทางเข้าอุโมงค์ที่ลึกลงไปใต้วิหารวัดโกนหลวง

รูป ประตูโกนหลวง ประตูเวียงลองด้านทิศตะวันตก (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๖)

รูป กองเนินดินที่เคยเป็นพระธาตุวัดโกนหลวง

อิฐก่อพระธาตุวัดโกนหลวงที่พังทลายลงมา (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๖)

รูป กำแพงดิน ๔ ชั้นและคูน้ำ ๓ ชั้นของเวียงลองรุ่นแรก (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๖)

รูป ทุ่งต้นตาลที่ราบนอกเวียงลองด้านทิศตะวันตก

แจ่งเวียงลองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือปัจจุบันบริเวณคูเวียงยังมีน้ำขังอยู่ (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๔๖)

(๒) เวียงบริวารหรือเวียงหน้าด่าน  มี ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มเวียงทิศเหนือ และกลุ่มเวียงทิศใต้

(๒.๑) กลุ่มเวียงทิศเหนือ ประกอบด้วยเวียงเหล่าเวียง (บ้านนาหลวงและบ้านนาปง ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง) และเวียงลัวะ (บ้านนาหลวง ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง) ห่างจากเวียงลองไปด้านทิศเหนือประมาณ ๙ กิโลเมตร เป็นเวียงแฝดตั้งขนาบห้วยแม่

รูป หอกทำจากเหล็กรูปแบบต่างๆ ขุดพบบริเวณเวียงเหล่าเวียง(บ้านนาปง) (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

กางลำน้ำสาขาแม่น้ำยม โดยเวียงเหล่าเวียงตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกและเวียงลัวะตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก เวียงเหล่าเวียงมีลักษณะเป็นรูปวงรี มีคูน้ำ ๒ ชั้น กำแพงดิน ๓ ชั้น กว้างประมาณ ๓๐๐ เมตร และยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร ภายในเวียงมีวัด ๑ แห่งคือวัดหัวข่วงหรือวัดกลางเวียง แสดงถึงเป็นเวียงที่มีผู้คนอาศัยอยู่ในยามปกติ ส่วนเวียงลัวะ ตัวเวียงเป็นรูปวงกลมขนาดรัศมี ๑๐๐ เมตร ตั้งอยู่บนเนินสูงห่างจากเวียงเหล่าเวียงทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๕๐๐ เมตร ปรากฏกำแพงดิน ๑ ชั้น ด้านทิศใต้ติดร่องน้ำ ภายในเวียงไม่พบโบราณสถาน สันนิษฐานว่าเวียงลัวะเป็นเวียงป้อมปราการและหลบภัย เพราะชัยภูมิที่ตั้งเวียงเป็นเนินสูงมองเห็นบริเวณรายรอบได้ทั่ว และระยะทางจากศูนย์กลางเวียงไปโดยรอบมีรัศมีเท่ากันสะดวกในการตั้งรับข้าศึก เวียงเหล่าเวียงและเวียงลัวะจัดเป็นเวียงหน้าด่านในยามสงครามและเป็นเวียงบริวารยามสงบที่ส่งผลผลิตทางการเกษตรให้กับเวียงลอง จากการพบภาชนะเคลือบแบบล้านนาและสุโขทัยกระจายอยู่ตามผิวดินในทั้ง ๒ เวียงสันนิษฐานสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ.๑๙๐๑ – ๒๐๐๐)

รูป คูน้ำคันดินของเวียงเหล่าเวียงในปัจจุบัน (ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๑) กำแพงดินเวียงปงเหล่ารังบริเวณบ้านแม่บงเหนือ (ที่มา : ข้อมูลชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่)

 

รูป กระจกทำจากสำริด

บัณเฑาะว์สำริด ขุดพบที่เวียงเหล่าเวียง (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

ดาบสะหรีกัญไชย(พระขรรค์)และดาบขนาดใหญ่ด้ามทำจากสำริดขุดพบที่เวียงเหล่าเวียง (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

(๒.๒) กลุ่มเวียงทิศใต้ คือ เวียงปงเหล่ารัง(บ้านแม่รัง ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง)หรือเวียงแม่บงเหนือ(บ้านแม่บงเหนือ ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น) ห่างจากเวียงลองไปด้านทิศใต้ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เป็นเวียงขนาดใหญ่ ตัวเวียงเป็นรูปวงรีหยักตรงกลาง มีคูน้ำ ๑ ชั้น กำแพงดิน ๒ ชั้น กว้างประมาณ ๖๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร ภายในมีวัดร้าง ๑ วัด มีการขยายคูน้ำคันดินลงไปทางทิศใต้ บริเวณบ้านแม่บงเหนือ  ตัวเวียงส่วนขยายนี้เป็นรูปเมล็ดถั่ว มีคูน้ำ ๑ ชั้น กำแพงดิน ๒ ชั้น กว้างประมาณ ๗๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร เวียงปงเหล่ารังและเวียงแม่บงเหนือส่วนที่ขยายตั้งอยู่ระหว่างห้วยแม่รังด้านเหนือและห้วยแม่บงด้านใต้ไหลลงสู่แม่น้ำยม  การสร้างเวียงขนาดใหญ่มีการขยายต่อเติมและปรากฏโบราณสถานภายในเวียง แสดงถึงเป็นชุมชนหนาแน่นที่เป็นแหล่งผลผลิตสำคัญ เป็นเวียงปราการอันแข็งแรงด้านทิศใต้ก่อนเข้าสู่เวียงลองและข้ามกิ่วระสีเข้าสู่เมืองลำปาง จากการพบเศษภาชนะดินเผาแบบธรรมดาและแบบเผาแกร่ง(Stoneware) ภาชนะเคลือบแบบล้านนาและสุโขทัยกระจายอยู่ตามผิวดินอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ สันนิษฐานว่าเวียงปงเหล่ารังสร้างขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ.๑๙๐๑ – ๒๐๐๐) และขยายสร้างเวียงแม่บงเหนือในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ (พ.ศ.๒๐๐๑ – ๒๑๐๐)

ลูกฆ้องวงสำริดขุดพบในวัดร้างบริเวณเวียงปงเหล่ารัง (ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง, ๒๕๕๔)

 

พื้นที่ของเวียงปงเหล่ารังบริเวณบ้านแม่รัง (ที่มา : ข้อมูลชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่)

ภาพถ่ายทางอากาศของเวียงปงเหล่ารัง และเวียงแม่บงเหนือ (ที่มา : โครงการวิจัยชุมชนโบราณจากภาพถ่ายทางอากาศ)

(๓) เวียงพระธาตุ เวียงพระธาตุแหลมลี่(บ้านวังต้นเกลือ ตำบลปากกาง อำเภอลอง) ห่างจากเวียงลองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นเวียงที่มีลักษณะพิเศษ คือ ตั้งอยู่ “ดอนลี่เหลี้ยมแหลม” กลางแม่น้ำยมล้อมรอบเกือบเป็นเกาะกลางน้ำ และอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยมซึ่งไม่ปรากฏการตั้งชุมชนก่อนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (ช่วงต้นพ.ศ.๒๔๐๐) สาเหตุที่สร้างให้ไกลจากที่ตั้งชุมชน เพราะเป็นวัดอรัญวาสีและเป็นเวียงพระธาตุของเมืองลอง ดังตำนานพระธาตุแหลมลี่กล่าวว่า สร้างเป็นเวียงมหาธาตุโดยใช้แม่น้ำยมเป็นคูน้ำ กำหนดให้ตัวเวียงยาว ๗๐๐ วา กว้าง ๕๐๐ วา ภายในเวียงมีพระธาตุแหลมลี่เป็นพระมหาธาตุกลางเวียง พระธาตุน้อยปากถ้ำ(พระธาตุน้อย)และพระธาตุอีกองค์หนึ่งที่ปัจจุบันปรากฏเพียงซากฐานตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระธาตุแหลมลี่เป็นพระธาตุบริวาร มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบพระธาตุแหลมลี่ อุโบสถ และวิหารหลวงเป็นเขตพุทธาวาส  ซึ่งวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้านอน “พระเจ้าเววาทะภาษีต์” และประดิษฐาน “พระเจ้าสิกขี” หรือ “พระเจ้าฝนแสนห่า” พระพุทธรูปประจำเวียงพระธาตุแหลมลี่และฆ้องหลวง ซึ่งฆ้องหลวงของเมืองลองลูกนี้ ใช้ตีแห่นำขบวนเรือเครื่องครัวทานทางแม่น้ำยมของแต่ละหัววัดในประเพณีขึ้น(ไหว้)พระธาตุแหลมลี่ ที่เรียกว่า “ล่องวัดใต้” “ล่องวัดเดือนหก” หรือ “ล่องสะเปา” ซึ่งชาวบ้านนาหลวงที่เป็นข้าวัดพระธาตุแหลมลี่ผู้รักษาฆ้องหลวง และเป็นกลุ่มที่ต้องตีฆ้องใบนี้แห่ครัวทานเข้าวัดก่อน ได้สั่งสืบลูกสืบหลานมาถึงปัจจุบันว่า “แม่นว่าฆ้องหลวงเหลือแต่เศษเฟื้องก็หือตือ(ถือ)นำเรือครัวทานล่องน้ำแม่ยมเข้าวัดไป ก่อน”  ซึ่งคติการสร้างเวียงพระธาตุแพร่หลายในล้านนา เช่น เวียงพระธาตุสวนดอกไม้ เมืองเชียงใหม่ เวียงพระธาตุลำปางหลวง เมืองลำปาง เวียงพระธาตุแช่แห้ง เมืองน่าน และเวียงพระธาตุจอมทอง เมืองพะเยา ฯลฯ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเป็นเวียงพระธาตุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ (พ.ศ.๑๙๐๑ – ๒๑๐๐)  เพื่อกำหนดเขตสังฆกรรมตามคตินทีสีมาที่กำลังแพร่หลายช่วงนี้ในอาณาจักรล้านนา

พระประธานในอุโบสถวัดพระธาตุแหลมลี่ก่อนบูรณะครั้งหลังสุด (ที่มา : ข้อมูลสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดแพร่, ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๕๓๓)

 

อุโบสถวัดพระธาตุแหลมลี่ก่อนมีการบูรณะครั้งหลังสุด (ที่มา : ข้อมูลสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดแพร่, ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๕๓๓)

 

พระธาตุน้อยปากถ้ำ วัดพระธาตุแหลมลี่ (ที่มา : ข้อมูลสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดแพร่, ถ่ายประมาณพ.ศ.๒๕๓๓)

 

แนวอิฐกำแพงแก้วล้อมรอบ พระธาตุแหลมลี่ วิหารหลวง  และอุโบสถ (ที่มา : รายงานการขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดีเจดีย์น้อย, พ.ศ.๒๕๔๐)

 

พระธาตุน้อยปากถ้ำ(พระธาตุน้อย) ก่อนการขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดี เมื่อพ.ศ.๒๕๔๐ (ที่มา : รายงานการขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดีเจดีย์น้อย, พ.ศ.๒๕๔๐)

 

วิหารหลวงของวัดพระธาตุแหลมลี่ ที่ถูกไฟไหม้เมื่อพ.ศ.๒๕๔๐ (ที่มา : รายงานการขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดีเจดีย์น้อย, พ.ศ.๒๕๔๐)

ภูเดช แสนสา

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 24 •กรกฏาคม• 2012 เวลา 14:15 น.• )