การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในยุคจารีต บทความฉบับนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชุมชนในแอ่งลอง และพัฒนาขึ้นเป็นเมืองที่มีความเป็นลักษณะเฉพาะของเมืองลอง คือ มีเจ้าสืบสกุลวงศ์ปกครองของตนเอง ใช้พุทธและผีสร้างเป็นจักรวาลหรือโลกของเมืองลอง รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเมืองลองกับเมืองภายในแอ่งลองและเมืองภายนอก ก่อนระบบความเป็นเมืองลองแบบจารีตล่มสลายลงเมื่อสยามขยายตัวเข้ามาจัดปฏิรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล

การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองลองในฐานะเมืองขนาดเล็ก(ก่อนยุคล้านนา - พ.ศ.๒๔๔๒) การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในแต่ละแห่ง ย่อมมีความสัมพันธ์กับลักษณะสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพของพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ ตลอดถึงทรัพยากร อันจะนำมาสู่การพัฒนาขึ้นเป็นหน่วยชุมชนมีความสลับซับซ้อนที่เรียกว่า “เมือง”

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแอ่งลอง - วังชิ้น สภาพทางภูมิศาสตร์ของดินแดนภาคเหนือตอนบน มีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบทั้งขนาดใหญ่และเล็กล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูงเป็นแอ่งที่ราบแคบๆ ระหว่างภูเขา อันเกิดจากรอยเลื่อนของแผ่นธรณียุคเทอร์เซียรี(Tertiary)เมื่อ ๖๕ – ๑ ล้านปีมาแล้ว ตอนใกล้จะสิ้นยุคครีเทเซียส(Certaceous)ได้เริ่มเกิดการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกซึ่งดำเนินต่อมาและสิ้นสุดลงตอนกลางยุคเทอร์เซียรี ทำให้ผืนแผ่นดินบางส่วนยกตัวขึ้นเป็นภูเขาและที่ราบสูง และบางส่วนทรุดตัวลงเป็นแอ่งที่ราบระหว่างภูเขา  แอ่งขนาดใหญ่ เช่น แอ่งเชียงใหม่ - ลำพูน แอ่งเชียงราย - พะเยา แอ่งลำปาง และแอ่งแพร่  ส่วนแอ่งขนาดเล็ก เช่น แอ่งฝาง แอ่งลี้ แอ่งงาว แอ่งแม่เมาะ และแอ่งลอง - วังชิ้น ฯลฯ

แอ่งลอง ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาผีปันน้ำกลาง เป็นแอ่งที่ราบลักษณะยาวแคบวางตัวในแนวทิศเหนือ – ใต้ กว้างประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๒,๖๐๗ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑,๖๒๙,๗๗๕ ไร่ มีเทือกเขาสูงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน คือ

ที่ราบในแอ่งลอง - วังชิ้น ถ่ายจากบนยอดดอยแม่ต๋าผู ภูเขาด้านทิศตะวันตกของแอ่ง

(ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

แม่น้ำสายสำคัญและที่ตั้งเมืองหลักในเขตล้านนา(ภาคเหนือตอนบน)

(ที่มา : ชุมชนโบราณในเขตล้านนา)

ด้านทิศตะวันตก

ดอยผาหิ่ง(ผาหิ้ง), ดอยหลวง กั้นระหว่าง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ กับ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

ดอยหนองม้า, ดอยแม่แขม, ดอยสิบเก้าง่อม กั้นระหว่าง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ กับ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

ดอยม่อนขาตุ้ย, ดอยม่อนขาเซา, ดอยแปเมือง, ดอยแม่เกิ๋ง กั้นระหว่าง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ กับ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

ดอยขุนจึง(ขุนจืม), ดอยไม้ยางกางจ้อง กั้นระหว่าง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ กับ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง

ภูเขาสลับซับซ้อนของแอ่งลอง - วังชิ้น

(ที่มา : ตากล้องดอทคอม(aim), ๒๕๕๒)

ด้านทิศตะวันออก

ดอยม่อนกระทิง, ดอยหน้าบาก, ดอยบ่อแฮม, ดอยม่อนผาถาก, ดอยม่อนผานาง กั้นระหว่าง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ กับ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่  
ดอยห้วยน้ำจำ, ดอยแปเมือง, ดอยก่อ กั้นระหว่าง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ กับ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

ดอยปลาก่อ, ดอยผาคำ, ดอยปง กั้นระหว่าง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ กับ อำเภอเมืองแพร่และอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่

ด้านทิศเหนือ

ดอยแปเมือง, ดอยซับเปาะ, ดอยโตน, ดอยดง กั้นระหว่าง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ กับ อำเภอสอง จังหวัดแพร่

ด้านทิศใต้

ดอยขุนแม่มอก กั้นระหว่าง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ กับ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

ดอยหลวง, ดอยโป่ง, ดอยป่าซาง, ดอยแม่แปง, ดอยห้วยเขต กั้นระหว่าง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ กับ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

แอ่งลอง - วังชิ้นถูกขนาบข้างด้วยแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ คือ แอ่งลำปาง ด้านทิศตะวันตก และแอ่งแพร่ ด้านทิศตะวันออก พื้นที่มีลักษณะลาดเอียงลงสู่แม่น้ำยมด้านทิศตะวันออก มีแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่านตอนกลางและตอนใต้ของแอ่งความยาวประมาณ ๕๐ กิโลเมตร และมีลำห้วยสาขาประมาณ ๓๐๐ สายไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำยม ลำห้วยสาขาสายสำคัญที่ไหลสู่ลงสู่แม่น้ำยมและเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของคนในแอ่งลอง – วังชิ้น ตั้งแต่ตอนเหนือลงไปถึงตอนใต้แอ่ง เช่น น้ำผาเลียน, ห้วยแก้ว, ห้วยวังมน, ห้วยปุงจี้, ห้วยแม่สูด, น้ำแก้ว, น้ำแม่ต้า, น้ำแม่สวก, น้ำแม่หลู้, น้ำแม่ขี้ลิม, น้ำปะหลวง, น้ำปะน้อย, น้ำปง, น้ำสองแคว, น้ำสุนเตา, น้ำยอง, น้ำควาย, น้ำสะอิม, ห้วยกองกอย, ห้วยน้ำโจ้, ห้วยหม้อแตก, น้ำควาย, ห้วยน้ำคุ้ม, น้ำแม่ลาน, น้ำแม่อ้อ(ห้วยอ้อ), น้ำแม่กาง, น้ำร่องผวย, น้ำนาไม้, น้ำแม่เสาะ, แม่ฮ่องมอก(ห้วยหางมอก), ห้วยแม่พริก, ห้วยแม่ตาปู(ต๋าผู), น้ำแม่ลอง, ห้วยเหี้ย, ห้วยแม่ควาย, ห้วยแม่ควายน้อย, ห้วยร่องกูน(ห้วยล้างก้น), ห้วยร่องทราย, น้ำผาตั๊ด(ป๋าตั๊ด), ห้วยนาน้อย, ห้วยแม่สา, ห้วยงาช้าง , ห้วยแม่สีก, ห้วยแม่แขม, ห้วยแม่บง, ห้วยสนาน, ห้วยแม่ป้าก, ห้วยนา, ห้วยม่อนมองก่อง, ห้วยขาอง, น้ำแม่สลก, ห้วยหมู, ห้วยแม่สีทิ, น้ำแม่สรวย, ห้วยหินเหล็กไฟ, ห้วยหลวง, ห้วยเกี๋ยง, ห้วยผาหัด, ห้วยแม่กะบาน, ห้วยลึก, ห้วยต้นเดื่อ, ห้วยผักกะดอน, ห้วยทรายขาว, ห้วยกั้ง, ห้วยเหี๊ยะ, ห้วยยางหลอด, ห้วยนาปู, ห้วยระแอน้ำ, ห้วยกั้ง, ห้วยไม้, ห้วยมาก, ห้วยตอง, ห้วยหัวควาย และห้วยเขต  เป็นต้น

ห้วยแม่ต๋าผูบนดอยแม่ต๋าผู ลำห้วยต้นน้ำสาขาสายหนึ่งของน้ำแม่ลอง

(ที่มา : ภูเดช แสนสา, ๒๕๕๐)

แผนที่แสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์และเวียงทั้ง ๙ ของแอ่งลอง - วังชิ้น

เงื่อนไขของการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในแอ่งลอง - วังชิ้น

แนวเทือกเขาหินปูนบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยผากลอง

ในยุคหินมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ อาศัยกระจายตัวอยู่หนาแน่นทางตอนเหนือและตอน กลางแอ่งบริเวณตำบลเวียงต้าถึงตำบลห้วยอ้อ เนื่องจากเป็นเทือกเขาหินปูนมีถ้ำเพิงผาจำนวนมาก    มีที่ราบแม่น้ำสาขาไหลผ่าน ซึ่งค้นพบ “เสียมตุ่น” เครื่องมือหินจำนวนมากในบริเวณตำบลเวียงต้า และพบแหล่งกะเทาะผลิตเครื่องมือหินขนาดใหญ่ที่ดอยโป่งมื่น หลังหมู่บ้านนาแกและบ้านนาหลวง ตำบลห้วยอ้อ หรือการขุดโดยชาวบ้านพบหม้อบรรจุกระดูกคล้ายการฝังศพครั้งที่สองที่บ้านนาหลวงในพ.ศ.๒๕๔๓ เป็นหลักฐานสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่หนาแน่นบริเวณนี้ และปรากฏร่องรอยเบาบางทางตอนใต้ลงไป เพราะมีแม่น้ำยมไหลผ่านเป็นที่ลุ่มน้ำไม่เหมาะอยู่อาศัยสำหรับคนในสมัยนี้ การพบเครื่องมือหินกะเทาะและหินขัดในแอ่งลอง - วังชิ้น แสดงว่ามีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เข้ามาอาศัยตั้งแต่ยุคหินเก่า(Palaeolithic Period) สืบเนื่องถึงยุคหินใหม่(Neolithic Period) มีการเคลื่อนย้ายและติดต่อสัมพันธ์กันกับภายนอกแอ่งอยู่เสมอ เพราะมนุษย์ยุคหินจัดเป็นยุคสังคมล่าสัตว์ เมื่อสัตว์ เริ่มหายากแต่พื้นที่ใกล้เคียงมีสัตว์อุดมสมบูรณ์กว่า หรือประชากรเพิ่มขึ้นถ้ำเพิงผาเดิมคับแคบก็ย้ายไปหาที่ใหม่ ดังค้นพบเครื่องมือหินอายุ ๕๐๐,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปี ที่ อำเภอสอง และอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เขตติดต่อทางด้านเหนือ พบกะโหลกของมนุษย์โฮโมอิเรคตัส อายุประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปี ตำบลนาแส่ง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง พบเครื่องมือหินกรวด(Pebble Tools) อายุ ๙๕๐,๐๐๐ - ๖๙๐,๐๐๐ ปี อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง  หรือพบแหล่งโบราณคดีของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนืออายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เขตติดต่อทางด้านตะวันตกของแอ่ง ที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวและกระจายตัวของมนุษย์ยุคหิน เข้ามาอาศัยอยู่ระหว่างเทือกเขาผีปันน้ำกลาง บริเวณแอ่งลอง - วังชิ้นและแอ่งใกล้เคียงเมื่อประมาณ ๙๕๐,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว

ขวานหิน (เสียมตุ่น)ที่พบบริเวณแอ่งลอง

(ที่มา : ประวัติศาสตร์เมืองแพร่)

ต่อมาในยุคหินใหม่มนุษย์เริ่มค้นพบว่าข้าวป่ากินได้และนำมาเพาะปลูก จึงมีความมั่นคงทางอาหารมากกว่าเดิมทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นจนไม่อาจอาศัยในถ้ำและเพิงผาได้ การเพาะปลูกข้าวเริ่มส่งผลให้มีการตั้งถิ่นฐานอยู่กับที่ และเมื่อค้นพบว่าโลหะสามารถนำมาทำเครื่องมือช่วยบุกเบิกป่าลงได้ การปลูกข้าวจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและได้พัฒนาเข้าสู่ยุคโลหะ(Metal Age) ยุคนี้มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในแอ่งลอง - วังชิ้น ที่เคยกระจายตัวอาศัยอยู่ตามถ้ำและเพิงผาทางตอนกลางและตอนเหนือได้เคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานใกล้กับแหล่งแร่ธาตุ จึงปรากฏชุมชนโบราณ ๓ แหล่งใหญ่ คือ ตอนเหนือบริเวณแหล่งแร่เหล็ก ม่อนโตน(บริเวณบ้านหัวฝาย ตำบลเวียงต้าในปัจจุบัน), แหล่งแร่ทองแดง ห้วยแม่สวก(อยู่บริเวณด้านในของสวนหินมหาราชในปัจจุบัน) และตอนกลางบริเวณแหล่งแร่เหล็กและแร่ทองเหลือง ห้วยแม่ลอง(บริเวณบ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลองในปัจจุบัน) มีการตั้งถิ่นฐานเป็นกระจุก(cluster)บริเวณลำห้วยสาขาแม่น้ำยม เพราะน้ำไม่ท่วมถึงปลอดภัยจากสัตว์แมลงมีพิษต่างๆ ที่หนีน้ำท่วมขึ้นมาบ้านเรือน และลำห้วยเหล่านี้ก็เป็นแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ทั้งคนและสัตว์ เป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์น้ำและใช้ในการเพาะปลูก

ผาลไถเหล็กขุดพบที่วัดต้นหมุ้น(ร้าง)

(ที่มา : พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง)

การพัฒนาโลหกรรมมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการเทคโนโลยีการเกษตร เพราะประสิทธิภาพของเครื่องมือส่งผลต่อการขยายพื้นที่และเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูก จึงมีการถลุงเหล็กหล่อเป็นเครื่องมือทางการเกษตร ดังขุดพบผาลไถเหล็กขนาดใหญ่กว้างประมาณ ๑๗ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔๐ เซนติเมตร มีขนาดเป็น ๒ เท่าของผาลไถปัจจุบันที่วัดต้นหมุ้น(ร้าง) บ้านนาหลวง พบเครื่องมือโลหะและสำริด “ขวานฟ้า” หรือ “ขวานฟ้าผ่า” กระจายอยู่ทั่วไปบริเวณแอ่งลอง  ดังนั้นในยุคโลหะตอนกลาง แอ่งลอง - วังชิ้นบริเวณ ตำบลบ่อเหล็กลอง ตำบลหัวทุ่ง มีการตั้งชุมชนหนาแน่นกว่าบริเวณอื่น เพราะเป็นแหล่งแร่เหล็กขนาดใหญ่ มีที่ราบกว้างขวางเหมาะแก่การเพาะปลูก ตั้งอยู่บริเวณชุมทางกึ่งกลางและใกล้แม่น้ำยมที่ใช้ติดต่อคมนาคมกับชุมชนภายนอกแอ่ง คือ ชุมชนถลุงเหล็กและทองแดงลุ่มน้ำยมอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปี ที่บ้านวังหาด บ้านตลิ่งชัน เขตรอยต่อ จังหวัดสุโขทัย กับ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง(ทิศใต้ประมาณ ๘๐ กม.)  ชุมชนถลุงเหล็ก(น้ำพี้)ลุ่มน้ำน่าน อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์(ทิศตะวันออกประมาณ ๑๐๐ กม.) และชุมชนวัดพระธาตุจอมปิง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง พบกลุ่มเครื่องมือยุคโลหะลุ่มน้ำวัง(ทิศตะวันตกประมาณ ๔๐ กม.)

เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ยุคโบราณทำจากเหล็กขุดพบบริเวณตำบลเวียงต้า อำเภอลอง

(ที่มา : ประวัติศาสตร์เมืองแพร่)

จากการพบกลองมโหระทึก(ฆ้องกบ)ใกล้แม่น้ำยมที่วัดพระธาตุปูตั้บเมื่อพ.ศ.๒๔๒๖ และค้นพบชิ้นส่วนกลองรูปกบซ้อนกันที่ริมฝั่งห้วยแม่ลองหน้าวัดนาตุ้มเมื่อพ.ศ.๒๔๖๐ แสดงถึงมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในแอ่งลองมีการติดต่อกับภายนอก ซึ่งอาจมีการผลิตโลหะเพื่อขายหรือแลกเปลี่ยน เพราะกลองมโหระทึกมีรูปหล่อกบซ้อนกันบนหน้ากลองเป็นแบบหลิงชานและแบบซีเหมิ่ง พบกระจายทั่วไปในเวียดนาม ลาว พม่า และจีน  ซึ่งในยุคโลหะนี้บริเวณลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำน่านมีความเคลื่อนไหวอย่างมาก และมีพัฒนาการเป็นหมู่บ้านหรือชุมชนขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป

เงื่อนไขการก่อรูปเมืองลอง

แอ่งลองพบร่องรอยมนุษย์ยุคหินสืบเนื่องถึงยุคโลหะ แต่ก็เป็นเพียงชุมชนหรือหมู่บ้านที่รวมตัวกันเพื่อทำโลหกรรมยังไม่พัฒนาขึ้นเป็นเมือง จากตำนานบอกเล่า และตำนานบ่อเหล็กลอง  สะท้อนถึงคนกลุ่มตระกูลมอญ - เขมรที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ลัวะ” หรือ “แจ๊ะ” ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน  มีความถนัดถลุงโลหะเหล็กและติดต่อกันอยู่เสมอระหว่างแหล่งเหล็กในหุบเขาต่างๆ ทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (พ.ศ.๑๓๐๑ – ๑๔๐๐) มีกลุ่ม “ลัวะ” และ “เม็ง” จากลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง เคลื่อนย้ายเข้ามาในแอ่งลอง - วังชิ้น ที่เกิดจากการขยายตัวของเมืองหริภุญไชยลงมาสร้างบ้านแปลงเมืองเขลางค์นครในแอ่งลำปาง และขยายตัวสู่ลุ่มน้ำยมในแอ่งลอง - วังชิ้นเพื่อแสวงหาทรัพยากรโดยเฉพาะเหล็ก ผู้นำลัวะและเม็งกลุ่มนี้ต่อมารู้จักกันในชื่อ “พ่อเฒ่าหลวง” มาจากเมืองหริภุญไชย โดยมี “พญาแก้ว” บุตรชาย “แสนคำลือ” บุตรคนรอง “เจ้าตนซ้อย” บุตรคนเล็ก และล่ามชื่อ “ท้าวคำลือ” ติดตามมาด้วย  คนกลุ่มนี้ตำนานใช้สัญลักษณ์ว่าเป็น “ยักษ์” สะท้อนว่าไม่ได้นับถือพุทธศาสนา แต่ได้รับการยอมรับจากคนในท้องถิ่นเพราะมีความรู้ด้านโลหกรรม ยา และการรักษาโรค ดังตำนานกล่าวถึงลัวะกลุ่มเดิมที่นี่เกิดโรคระบาด แต่ได้กลุ่มของพ่อเฒ่าหลวงช่วยรักษาจึงยกย่องให้เป็นผู้นำ สันนิษฐานว่านอกจากคนกลุ่มใหม่มีความรู้ในด้านโลหกรรมขั้นสูงและการบำบัดรักษาโรค อาจนำเทคโนโลยีด้านการเพาะปลูกเข้ามาเพิ่มผลผลิตในแอ่งลอง - วังชิ้นด้วย เพราะปรากฏลัวะลุ่มน้ำปิงสามารถประดิษฐ์ระหัดวิดน้ำ(หลุก)ชักน้ำปิงใส่พื้นที่นาได้แล้ว

ด้วยปัจจัยแอ่งลองมีแหล่งแร่เหล็กที่ดึงดูดให้ผู้คนที่สัญจรไปมาระหว่างลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำยมเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และแร่เหล็กก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเพาะปลูกขยายตัวมีผลต่อการเพิ่มจำนวนประชากร จากตำนานกล่าวว่ามีลัวะตั้งถิ่นฐานอยู่ ๓๐๐ คนสะท้อนว่าเป็นชุมชนระดับหมู่บ้านที่มีคนกลุ่มใหญ่พอสมควรและมีความชำนาญเฉพาะด้านทางโลหกรรม แสดงถึงมีการจัดแบ่งหน้าที่ภายในชุมชน ไม่ใช่กลุ่มคนที่มีวิถีผลิตทางการเกษตรหรือเพื่อยังชีพแต่เพียงอย่างเดียว มีพิธีกรรมใช้ควายเลี้ยงผีบ่อเหล็กที่หลอมรวมและเป็นศูนย์กลางความเชื่อของชุมชน ประกอบกับกลุ่มของพ่อเฒ่าหลวงได้นำวิทยาการด้านต่างๆ เข้ามา จึงเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมครั้งสำคัญของแอ่งลอง - วังชิ้น ดังนั้นกลุ่มคนในแอ่งลอง - วังชิ้นจึงพร้อมรับความเจริญจากภายนอกและสามารถพัฒนาขึ้นเป็นเมืองลองในเวลาต่อมา

ประเพณีเลี้ยงผีบ่อเหล็กเมืองลองที่ยังสืบทอดปฏิบัติมาถึงปัจจุบัน

(ที่มา : สภาวัฒนธรรมตำบลบ่อเหล็กลอง)

•แก้ไขล่าสุด• ( •วัน•อังคาร•ที่ 17 •กรกฏาคม• 2012 เวลา 08:57 น.• )